สถานีโทรทัศน์ไอทีวี

อดีตสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทย

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (อังกฤษ: Independent Television ชื่อย่อ: itv) เป็นสถานีโทรทัศน์ทีวีเสรี และเป็นอดีตสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินที่ออกอากาศในระบบยูเอชเอฟ ก่อตั้งโดย บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) สถานีโทรทัศน์ในยุคปัจจุบันนี้คือ "สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส" (Thai PBS) (องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย) (ส.ส.ท.)

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี
สัญลักษณ์ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี
ตราสัญลักษณ์สุดท้ายที่ใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ก่อนยุติออกอากาศในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 และแทนที่โดยสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี
ประเทศไทย
พื้นที่แพร่ภาพไทย
เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ
คำขวัญทีวีเสรี (2539 - 2546)
ทีวีคนรุ่นใหม่ (2546 - 2547)
ความสุขของทุกคนในครอบครัว (2548 - 2550)
สำนักงานใหญ่เลขที่ 87 อาคารเอ็มไทยทาวน์เวอร์ ชั้น 27
ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
แบบรายการ
ระบบภาพ576ไอ (คมชัดปกติ/แพล)
ความเป็นเจ้าของ
เจ้าของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)
บุคลากรหลักอัชฌา สุวรรณปากแพรก
ผู้อำนวยการสถานีฯ (พ.ศ. 2550)
ประวัติ
เริ่มออกอากาศ1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539
ยุติออกอากาศ7 มีนาคม พ.ศ. 2550
แทนที่โดยสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี
และไทยพีบีเอส (องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย) (ส.ส.ท.)
ลิงก์
เว็บไซต์www.itv.co.th
ออกอากาศ
ภาคพื้นดิน
ยูเอชเอฟช่อง 26 (พ.ศ. 2539)
ช่อง 29 (พ.ศ. 2542)
เคเบิลทีวี
ยูบีซีช่อง 6

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ได้เริ่มต้นออกอากาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 เวลา 19.00 น. โดยเริ่มต้นจากการนำเสนอ ข่าวภาคค่ำประจำวัน เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกและรายการสำหรับผู้ใหญ่ ในช่วง เวลา23.00-01.01นาที และเป็นสถานีที่เรียกรายการข่าวโดยไม่มีคำว่าภาคและมีชื่อสถานีเรียกทุกครั้ง เช่น ข่าวเช้าไอทีวี ข่าวเที่ยงไอทีวี ข่าวค่ำไอทีวี เป็นต้น เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นสถานีข่าวและสาระความรู้ โดยผู้ประกาศข่าวคู่แรกของสถานี คือ กิตติ สิงหาปัด และ เทพชัย หย่อง ออกอากาศทางช่อง หมายเลข 26[1] และต่อมาได้ย้ายไปออกอากาศทางช่องหมายเลข 29 โดยมีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นเจ้าของคลื่นความถี่ และผู้กำกับสัมปทาน เป็นสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินที่ก่อตั้งเป็นแห่งที่ 6 ของประเทศไทย จนกระทั่งต้องยุติการออกอากาศ ตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 เนื่องจากไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานส่วนต่าง ๆ และค่าปรับแก่ สปน.ได้ตามเวลาที่กำหนด

ประวัติ

แก้

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถือกำเนิดจากดำริของรัฐบาลในสมัยที่ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ที่ต้องการให้มีสถานีโทรทัศน์เสรี เพื่อการนำเสนอข่าวสาร และสาระความรู้สู่ประชาชน โดยเปิดให้เอกชนเช่าสัมปทาน เพื่อให้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยในโครงการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรีดังกล่าวนั้น ระบุวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งไว้ว่า ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 สถานีโทรทัศน์ทั้งหมด อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ซึ่งสามารถบิดเบือนการนำเสนอข่าว ให้เป็นไปตามที่ตนต้องการได้ ประชาชนจึงไม่สามารถรับรู้ข่าวที่ทหารเข้าปราบปรามประชาชนในช่วงนั้นได้ ประจวบเหมาะกับการที่มีเสียงเรียกร้องของประชาชน ให้รัฐบาลใช้นโยบายจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรีดังกล่าว เพื่อเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง และรายการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2538 สปน.ได้เปิดประมูลสัมปทานการดำเนินงานสถานีโทรทัศน์เสรีขึ้น โดยกลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ซึ่งนำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูล และได้รับอนุมัติให้ดำเนินงาน โครงการสถานีโทรทัศน์เสรีช่องใหม่ ในระบบยูเอชเอฟ ออกอากาศทางช่อง 26 นับเป็นสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟช่องแรกของประเทศไทย จากนั้น กลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ได้ก่อตั้ง บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด เพื่อเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินการสถานีฯ โดยมีการลงนามในสัญญาสัมปทานฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 พร้อมทั้งเชิญชวนให้บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมถือหุ้น และบริหารสถานีฯ ด้วย

ในระยะแรก สถานีโทรทัศน์ไอทีวี มีที่ทำการอยู่บนชั้นที่ 16, 17 และ 21 ของตึกฝั่งตะวันออก อาคารไทยพาณิชย์ ปาร์ค พลาซ่า ถนนรัชดาภิเษก โดยมีระบบการบริหาร ที่เน้นภาพลักษณ์ของการนำเสนอข่าวสารและสาระเป็นหลัก โดยมี เทพชัย หย่อง เป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าว พร้อมทั้งนำทีมงานจากเครือเนชั่น เข้าเป็นบุคลากรหลักในการดำเนินงาน ทั้งนี้ ในช่วงแรกของไอทีวี มีรายการข่าว และรายการสารคดีเชิงข่าว ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ ข่าวภาคค่ำ, ไอทีวี ทอล์ค, สายตรงไอทีวี, ถอดรหัส, ย้อนรอย เป็นต้น ซึ่งทำให้ไอทีวีมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในการนำเสนอข่าวสารในเวลาต่อมา รวมถึงการเป็นผู้นำในเชิงข่าวสืบสวนสอบสวนอีกด้วย

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2541 บจก.สยาม อินโฟเทนเมนท์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และในราวปี พ.ศ. 2542 หน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงช่องสัญญาณให้กับไอทีวี จากช่อง 26 มาเป็นช่อง 29 โดยส่งสัญญาณจากยอดอาคารใบหยก 2 และมีสถานีเครือข่ายทั้งสิ้น 52 แห่งทั่วประเทศ นับเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีเครือข่ายมากที่สุด ครอบคลุมจำนวนผู้รับชม ประมาณร้อยละ 98 ของประชากรในประเทศไทย

ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้นของ บมจ.ไอทีวี จากธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่แสดงความจำนงจะขายหุ้น หลังประสบปัญหาในการบริหารสถานีฯ ส่งผลให้พนักงานฝ่ายข่าวของสถานีฯ บางส่วนไม่เห็นด้วย และเมื่อบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้นเป็นผลสำเร็จ กลุ่มผู้บริหารและพนักงานฝ่ายข่าวบางส่วน ที่นำโดย เทพชัย หย่อง ตัดสินใจลาออกจากสถานีฯ และหลังจากนั้น ไอทีวีก็เคลื่อนย้ายที่ทำการ จากอาคารไทยพาณิชย์ ปาร์ค พลาซ่า มาอยู่บนอาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ถนนวิภาวดีรังสิต

ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2546 นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บอร์น ออพปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์ จำกัด และ จาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (เอ็มโอยู) ร่วมกับ บมจ.ไอทีวี พร้อมเข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 10 และมีผลให้นายไตรภพมีสถานะเป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไอทีวีด้วย ซึ่งถือเป็นการกลับสู่ไอทีวีอีกครั้ง หลังจากที่ในระยะเริ่มแรกของสถานีฯ นายไตรภพ เคยเข้าร่วมกับกลุ่มสยามทีวี ในการประมูลสถานีโทรทัศน์เสรีมาแล้ว แต่ไม่นานนักก็ได้ถอนตัวออกไป

เมื่อเข้าบริหารไอทีวี นายไตรภพได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของสถานีฯ ใหม่ในหลายด้าน เช่น เปลี่ยนแปลงเวลานำเสนอข่าวภาคค่ำ จาก 19.00 น. มาเป็น 18.00 น., ปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอรายการประเภทข่าวใหม่ และเปลี่ยนแปลงผังรายการในช่วงเวลา 15.00-24.00 น. โดยเพิ่มเติมรายการข่าวและบันเทิง เช่น ร่วมมือร่วมใจ, ไอทีวี ฮอตนิวส์, บุปผาแฟนคลับ และ โซนนิ่ง (ของ บมจ.กันตนา กรุ๊ป), ทไวไลท์ไทยลูกทุ่ง และ ชวนชื่นคาเฟ่ (ของ บจก.บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์) เป็นต้น พร้อมทั้งนำรายการทั้งหมดของ บจก.บอร์นฯ ได้แก่ ทไวไลท์โชว์ ซึ่ง (บมจ.กันตนา กรุ๊ป มีส่วนร่วมในการผลิตรายการ), เกมเศรษฐี, วอท อีส อิท? อะไรกันนี่ และ จู๊กบ็อกซ์เกม ซึ่งเดิมออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 มาออกอากาศทางไอทีวีด้วย และยังมีละครที่ (บมจ.กันตนา กรุ๊ป ดำเนินการผลิต) แต่ในเวลาต่อมา บจก.บอร์น และ บมจ.กันตนา กรุ๊ป ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ตกลงไว้ในบันทึกความเข้าใจได้ จึงส่งผลให้ทั้งสองบริษัทกลายเป็นผู้เช่าเวลาของสถานีฯ เท่านั้น พร้อมกันนั้น นายไตรภพก็ต้องสิ้นสุดการเป็นผู้อำนวยการสถานีฯ ลงเฉพาะตัว โดยมี นายทรงศักดิ์ เปรมสุข และ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เข้ามาเป็นผู้บริหารสถานีฯ แทน

ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้ขาดให้ สปน. ลดค่าสัมปทานแก่สถานีฯ เป็นเงิน 230 ล้านบาท ตลอดจนการปรับเพิ่มสัดส่วนรายการบันเทิงในผังรายการ เป็นร้อยละ 50 เท่ากับรายการข่าวและสาระ รวมถึงการจ่ายค่าชดเชยโดย สปน. ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ศาลปกครองสูงสุดก็พิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ส่งผลให้ บมจ.ไอทีวี ต้องจ่ายค่าสัมปทานสำหรับเช่าเวลาออกอากาศสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เป็นเงิน 1,000 ล้านบาทต่อปีตามเดิม และต้องปรับเพิ่มสัดส่วนให้รายการข่าวและสาระ เป็นร้อยละ 70 ต่อรายการบันเทิง ร้อยละ 30 ตามเดิม นอกจากนี้ บมจ.ไอทีวี ยังต้องเสียค่าปรับจากการผิดสัญญาสัมปทาน จากการเปลี่ยนแปลงผังรายการที่ไม่เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน คิดเป็นร้อยละ 10 ของค่าสัมปทานในแต่ละปี คิดเป็นรายวัน วันละ 100 ล้านบาท นับตั้งแต่เริ่มมีการปรับผังรายการ รวมระยะเวลา 2 ปี

จากนั้น สถานีฯ จึงต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการออกอากาศโดยทันที ประกอบกับที่ผู้ผลิตรายการบางส่วน เริ่มถอนรายการออกจากสถานีฯ เป็นผลให้ความนิยม (เรตติ้ง) ของสถานีฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2549 นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศให้ บมจ.ไอทีวี ชำระค่าสัมปทานที่ค้างอยู่ จำนวนทั้งสิ้น 2,210 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 เป็นจำนวนเงินรวม 464 ล้าน 5 แสนบาท มาชำระกับ สปน. ภายใน 45 วัน และให้ชำระค่าปรับ กรณีทำผิดสัญญาเรื่องปรับผังรายการ อีกกว่า 97,760 ล้านบาท ทั้งนี้ สปน. กับ บมจ.ไอทีวี ได้เปิดการเจรจา ขอให้ต่อเวลาเรียกชำระออกไปอีก 30 วัน ไปสิ้นสุดในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2550 แต่อย่างไรก็ตาม บมจ.ไอทีวี ก็ไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานและชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว ให้กับ สปน. ได้ ที่สุดแล้ว ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรี ระหว่าง สปน. กับ บมจ.ไอทีวี และสั่งให้ยุติการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ในวันเดียวกัน เมื่อเวลา 00.00 น. รวมระยะเวลาการออกอากาศทั้งสิ้น 10 ปี 8 เดือน 6 วัน 5 ชั่วโมง (รวมอายุสัมปทาน 11 ปี 8 เดือน 4 วัน)

ผู้ประกาศข่าวและผู้รายงานข่าว

แก้

บทความที่สามารถคลิกอ่านได้ด้านบนนั้น คือรายชื่อผู้ประกาศข่าวและผู้รายงานข่าวของสถานีฯในขณะนั้นทั้งหมด แต่ในเวลาต่อมาเมื่อสถานีฯได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็นทีไอทีวี และไทยพีบีเอสแล้วนั้น บางรายก็ยังคงหรือกลับมาปฏิบัติงานต่อในแต่ละยุคของสถานี และบางรายย้ายไปปฏิบัติงานที่สถานีแห่งอื่นๆหรืองานด้านอื่นแทน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

ผลงานที่สำคัญ

แก้

คลื่นความถี่

แก้

โครงการสถานีโทรทัศน์เสรีในระบบยูเอชเอฟ ในนามสถานีโทรทัศน์ไอทีวีนั้น มีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ โดยทำสัญญาสัมปทานให้ บริษัท สยามอินโฟเทนเมนท์ จำกัด (ภายหลังคือ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)) ดำเนินการจัดตั้งสถานีฯ ได้ ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 และออกอากาศทางช่อง 26 มาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539

ต่อมา ราวปี พ.ศ. 2542 ไอทีวีได้รับอนุญาตจาก สปน.ให้เปลี่ยนแปลงช่องสัญญาณที่ออกอากาศ ในระบบยูเอชเอฟ จากช่อง 26 มาเป็นช่อง 29[ต้องการอ้างอิง] และในปีเดียวกัน ไอทีวีดำเนินการย้ายเสาส่งสัญญาณในส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร จากอาคารเอสซีบีปาร์คพลาซ่า , อาคารสินสาธร ทาวเวอร์ และ อาคาร เนชั่น ทาวเวอร์ มาอยู่ที่ อาคารใบหยก 2 แทน โดยไอทีวีดำเนินการแพร่ภาพนิ่ง เพื่อแจ้งให้ผู้ชมทราบการเปลี่ยนแปลงช่องสัญญาณ และการย้ายเสาส่งของสถานีฯ ไว้ทางช่อง 26 พร้อมไปกับการแพร่ภาพออกอากาศตามปกติ ทางช่อง 29 ในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2542[2]ก่อนที่จะยุติการแพร่ภาพทางช่อง 26 อย่างสมบูรณ์ ในปีเดียวกัน และออกอากาศทางช่อง 29 เรื่อยมาจนกระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ตามลำดับ ปัจจุบันช่อง 26 ในกรุงเทพมหานคร ถูกใช้งานโดยกรมประชาสัมพันธ์เพื่อแพร่ภาพในระบบดิจิทัล

อนึ่ง ไอทีวีเคยพักการออกอากาศทางสถานีฯ ตามเวลาปกติ ในช่วงเวลา 01.30 - 05.30 น. ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2539 - พ.ศ. 2543 โดยใช้ภาพทดสอบ ไม่มีเสียง

การโฆษณา

แก้

เวลาเปิด-ปิดสถานี

แก้
  • ปี 2539 - 2543 เปิดสถานีเวลา 05:30 น. ปิดสถานีเวลา 01:30 น.
  • ปี 2543 - 2550 ออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง

อัตลักษณ์

แก้

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี กำหนดคำขวัญในยุคแรก (1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2547) ไว้ว่า ไอทีวี ทีวีเสรี ต่อมา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2547 สถานีฯ เปลี่ยนแปลงคำขวัญใหม่เป็น ไอทีวี ความสุขของทุกคนในครอบครัว โอกาสนี้ ไอทีวีประกาศเริ่มใช้   สีแดง เป็นสีประจำสถานีฯ จนกระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี

คำขวัญ สโลแกน

แก้
  • ทีวีเสรี (1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 - 28 กุมภาพันธ์​ พ.ศ. 2546)
  • ทีวีคนรุ่นใหม่ (1 มีนาคม พ.ศ. 2546 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2547)
  • ความสุขของทุกคนในครอบครัว (1 เมษายน พ.ศ. 2547 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2550)

การปรับปรุงตราสัญลักษณ์

แก้

เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2547 ไอทีวีปรับปรุงตราสัญลักษณ์ที่ใช้ในยุค พ.ศ. 2543 โดยนำแถบสีเทา ตัวอักษร ทีวีเสรี และแถบแม่สีแสง คือสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน ออกเสีย คงเหลือเพียงตัวอักษรภาษาอังกฤษ itv พร้อมเปลี่ยนเป็นสีขาวทั้งหมด และอยู่บนพื้นสีแดง จนกระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี

เกร็ดข้อมูล

แก้
  • ในช่วงที่มีการเริ่มต้นการบริหารงานของสถานีฯ ก็ได้มีผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการหลายบริษัท เช่น บุญรอดบริวเวอรี่, การบินไทย, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, สหพัฒนพิบูล, เนสท์เล่, โซนี่, เครือซีเมนต์ไทย, ทีพีไอ โพลีน, ปตท., ตรีเพชรอีซูซุ เป็นต้น
  • การออกอากาศของข่าวภูมิภาคของ ไอทีวี ได้มีการออกอากาศแยกพื้นที่ในส่วนภูมิภาคไว้ 4 ส่วน คือ
    • ภาคเหนือ ออกอากาศจากศูนย์ข่าวภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมสถานีลูกข่ายส่ง 11 สถานี
    • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออกอากาศจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ครอบคลุมสถานีลูกข่ายส่ง 12 สถานี
    • ภาคกลางและภาคตะวันออก ออกอากาศจากสถานีกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมสถานีลูกข่ายส่ง 6 สถานี
    • ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ออกอากาศจากศูนย์ข่าวภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ครอบคลุมสถานีลูกข่ายส่ง 10 สถานี
    • ซึ่งทั้งหมดนี้ออกอากาศภายในเวลา 17:00 น. ถึง 17:10 น. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ถึง พ.ศ. 2547

สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี

แก้

ดูรายละเอียดที่ สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งหนังสือยกเลิกสัญญามายัง บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ยุติการออกอากาศ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ผ่านระบบยูเอชเอฟ ช่อง 29 อย่างเป็นทางการ ในเวลา 00.00 น. ของวันดังกล่าว ทั้งนี้ ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้พนักงานไอทีวีดำเนินการออกอากาศได้ต่อไป ในคลื่นความถี่เดิมอย่างต่อเนื่อง โดยให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ดำเนินการ ใช้ชื่อว่า สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันที่ 8 มีนาคม เป็นต้นไป

ต่อมา บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้เสนอข้อพิพาท กรณี สปน.บอกเลิกสัญญาสัมปทานโดยมิชอบ โดยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 คณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินชี้ขาดว่า สปน.บอกเลิกสัญญาสัมปทานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่ ไอทีวี และ ไอทีวี ก็ต้องชำระค่าตอบแทนส่วนต่างเช่นกัน คำชี้ขาดจึงสรุปว่าทั้งสองฝ่ายไม่มีหนี้ที่ต้องชำระต่อกัน ทั้งนี้ สปน. ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดต่อศาลปกครองกลาง และในวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ศาลปกครองกลางพิพากษายกคำร้องของ สปน. ด้วยเหตุว่า คดีไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดได้

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถัดไป
ก่อตั้งสมัยแรก   สถานีโทรทัศน์ไอทีวี
(1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2550)
  สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี
(8 มีนาคม พ.ศ. 2550 - 14 มกราคม พ.ศ. 2551) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (15 มกราคม พ.ศ. 2551-ปัจจุบัน)