ไอทีวี
บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นกลุ่มบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อโทรทัศน์ โดยได้รับอนุมัติให้ดำเนินการสัมปทานสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 1 ช่อง ส่งโทรทัศน์สีในระบบยูเอชเอฟ ทางช่อง 26 (ต่อมาเปลี่ยนเป็นช่อง 29) โดยใช้ชื่อว่า สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ปัจจุบันสถานีฯ ได้ถูกโอนกิจการไปให้แก่ทั้งสองหน่วยงานของรัฐ ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ด้านล่าง) เดิมชื่อ บริษัท สยามอินโฟเทนเมนท์ จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 โดย ธนาคารไทยพาณิชย์ และ บริษัทอื่นๆ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2541 และ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนี้ จนกระทั่งปิดกิจการเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2567
ตราสัญลักษณ์สุดท้ายของไอทีวี ในปี พ.ศ. 2566 | |
ประเภท | บริษัทมหาชนจำกัด |
---|---|
ก่อตั้ง | 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 |
ผู้ก่อตั้ง | ธนาคารไทยพาณิชย์ สหศินิมา และอื่น ๆ |
เลิกกิจการ | 17 กันยายน 2567 |
ถัดไป | สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี |
สำนักงานใหญ่ | 87 อาคารเอ็มไทย ทาวเวอร์ ออลซีซั่นส์ เพลส ชั้น 27 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน, , |
บุคลากรหลัก | ไตรภพ ลิมปพัทธ์-ประธานบริษัท (พ.ศ. 2547-2549) นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล-ประธานกรรมการ และ ทรงศักดิ์ เปรมสุข-ประธานกรรมการบริหาร (พ.ศ. 2550) สมคิด หวังเชิดชูวงศ์-ประธานกรรมการ (พ.ศ. 2552) |
ผลิตภัณฑ์ | สถานีโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ |
บริษัทในเครือ | อาร์ตแวร์ มีเดีย มีเดีย คอนเน็คซ์ (ปิดกิจการแล้ว) |
เว็บไซต์ | www |
ประวัติ
แก้แนวคิดการก่อตั้งไอทีวี เกิดขึ้นในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 เนื่องจากในขณะเกิดเหตุการณ์ สื่อโทรทัศน์ จำนวน 5 ช่อง ในขณะนั้น คือ ไทยทีวีสีช่อง 3 ททบ.5 ช่อง 7 สี (BBTV) ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. สทท. มิได้รายงานข่าวเหตุการณ์นองเลือด ตามความเป็นจริง ประกอบกับมีเสียงเรียกร้องจากประชาชน ให้เปิดดำเนินการสถานีโทรทัศน์เสรี ในระบบยูเอชเอฟ เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องเป็นกลางอย่างแท้จริง
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) โดย นายมีชัย วีระไวทยะ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการเปิดสัมปทานสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ กำหนดเงื่อนไขของสัมปทานไว้ว่า ผู้รับสัมปทานจะต้องมีผู้ถือหุ้น 10 ราย แต่ละรายต้องมีสัดส่วนหุ้นที่เท่ากัน พร้อมกับแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เพื่อป้องกันการผูกขาด และมีสัดส่วนเนื้อหารายการข่าวและสาระ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และรายการบันเทิงไม่เกินร้อยละ 30
บริษัทผู้เข้าประมูล มีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่[1] คือ
- กลุ่มสยามทีวี มีแกนหลักคือ ธนาคารไทยพาณิชย์, บจก.สหศินิมา (มีสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถือหุ้นใหญ่), หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, บจก.บอร์น แอนด์ เอสโซซิเอทท์ ของนายไตรภพ ลิมปพัทธ์, สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, หนังสือพิมพ์ดอกเบี้ย และหนังสือพิมพ์ตงฮั้ว กลุ่มนี้เสนอผลตอบแทนสูงสุดประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท ตลอดทั้งอายุสัมปทาน 25 ปี ประมาณ 25,000 ล้านบาท
- กลุ่มผู้ผลิตรายการ ประกอบด้วย เครือเนชั่น, บจก.แปซิฟิค อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่นส์ ของนายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา โดยมี ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล เป็นผู้ควบคุมเนื้อหา, บมจ.มติชน และ บมจ.สามารถ กลุ่มนี้ได้คะแนนเนื้อหาเป็นอันดับหนึ่ง แต่เสนอผลตอบแทนตามเกณฑ์ขั้นต่ำประมาณปีละ 500 ล้านบาท
ในปี พ.ศ. 2538 ผลการประมูล สรุปว่า กลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับสัมปทานและได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ดำเนินงานบริหารสถานีฯ เป็นเวลา 30 ปี (สิ้นสุดวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2568) โดยให้ออกอากาศทางช่อง 26 จากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ค่าสัมปทาน 25,200 ล้านบาท จากราคากลาง 10,000 ล้านบาท และได้มีการลงนามในสัญญากับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 โดยมีนายอภิลาศ โอสถานนท์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงนามสัญญากับนายเกษม จาติกวณิช ประธานกรรมการ และนายโอฬาร ไชยประวัติ รองประธานกรรมการบริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด
ต่อมา ไอเอ็นเอ็น ดอกเบี้ย และตงฮั้วถอนตัวออกไป[2] กลุ่มสยามอินโฟเทนเมนท์ จึงดึงเครือเนชั่น คู่แข่งที่เข้าร่วมประมูลแต่ไม่ได้รับเลือก เข้าร่วมทุนด้วย ดังนั้นจึงมีผู้ร่วมทุนทั้งหมดประกอบด้วย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ผ่าน สหศินิมา) เนชั่น กันตนา วัฏจักร เดลินิวส์ ล็อกซ์เลย์ บอร์น และไจแอนท์
โดยตั้งชื่อสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ว่า สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (สถานีฯ) เริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 โดยวางนโยบาย ให้เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับรายการข่าว และสถานการณ์ปัจจุบัน
และในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ไอทีวีได้เปลี่ยนแปลงช่องสัญญาณระบบยูเอชเอฟที่เป็นระบบเดียวกัน โดยเปลี่ยนจากการส่งสัญญาณช่อง 26 มาเป็นการส่งสัญญาณทางช่อง 29 ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ใหม่แล้วจากหน่วยงานรัฐบาล และช่องสัญญาณใหม่ดังกล่าวนั้นก็ยังคงใช้มาจนถึงยุคของทีไอทีวี และ ไทยพีบีเอส
การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น
แก้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2540 บริษัทฯ ขาดทุนอย่างหนัก ธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้รายใหญ่ ได้เปลี่ยนแปลงประธานกรรมการไอทีวี จากนายโอฬาร ไชยประวัติ เป็นนายประกิต ประทีปะเสน อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.ไทยพาณิชย์ และมีนโยบายที่จะแก้ปัญหาการขาดทุน โดยต้องการอำนาจการบริหารเบ็ดเสร็จ โดยผลักดันให้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน โดยเฉพาะในเรื่องการกระจายผู้ถือหุ้น และจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรี ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีมติเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 อนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ด้วยเหตุผลว่าเพื่อให้สอดคล้องกับ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และเป็นไปตามข้อบังคับของ ตลท. และมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2543
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ดึงกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ป) เข้ามาถือหุ้นไอทีวีด้วยวงเงิน 1,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 39% ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ได้แปลงหนี้เป็นทุน มีสัดส่วน 55% โดยมอบสิทธิ์การบริหารให้กับชินคอร์ป [3] โดยชินคอร์ปได้เสนอซื้อหุ้นสามัญฯ จากผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ด้วย ส่งผลให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ และส่งผู้บริหารเข้ามาบริหารไอทีวี ประกอบด้วย บุญคลี ปลั่งศิริ, สรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล, ทรงศักดิ์ เปรมสุข [4]
ช่วงเวลาที่กลุ่มชินคอร์ปของตระกูลชินวัตรเข้าถือหุ้นใหญ่ในไอทีวี เป็นเวลาเดียวกับการลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของ พรรคไทยรักไทย ที่มี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค
กรณีกบฏไอทีวี
แก้การเข้ามาถือหุ้นในไอทีวีของชินคอร์ป ถูกคัดค้านโดยพนักงานฝ่ายข่าวของไอทีวี นำโดยนายจิระ ห้องสำเริง บรรณาธิการบริหารขณะนั้น ต่อมาเมื่อชินคอร์ปเข้ามาถือหุ้นในไอทีวีเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 มีการเข้าแทรกแซงของฝ่ายผู้บริหาร ในการทำข่าวการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นการรายงานร่วมระหว่าง ไอทีวี และเครือเนชั่น [5] ดังนี้ [6][7]
- มีคำสั่งเปลี่ยนตัวนักข่าวที่ไปตั้งคำถาม พ.ต.ท.ทักษิณ เรื่องการโอนหุ้น
- มีการสั่งไม่ให้ออกอากาศข่าวเรื่องสนามกอล์ฟอัลไพน์
- มีความพยายามเข้ามากำหนดและชี้นำประเด็นในฝ่ายข่าวมากขึ้น สั่งห้ามผู้ประกาศข่าวในรายการสายตรงไอทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ลงข่าวเรื่องการโอนหุ้น และที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์
- มีเหตุการณ์พรรคไทยรักไทยเช่ารถโอบีของไอทีวี เพื่อถ่ายทอดการปราศรัยของพรรค ในทางตรงกันข้าม เมื่อเจ้าหน้าที่ข่าวเข้าไปทำข่าวปราศรัยหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จังหวัดชลบุรี กลับถูกสั่งเรียกรถโอบีกลับสถานีโดยผู้บริหารชินคอร์ป โดยไม่มีหนังสือหรือบันทึกถึงฝ่ายข่าว
- กรณีเจ้าหน้าที่ข่าวบันเทิง ที่ไม่ได้ไปทำข่าวเปิดตัวนักร้องใหม่ในเครือของค่ายชินคอร์ป (ชยาภา วงศ์สวัสดิ์ บุตรสาว เยาวภา วงศ์สวัสดิ์) ได้สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายบริหาร และมีคำสั่งให้ไปทำข่าวชิ้นนั้นออกอากาศในทันที
- มีการสั่งให้กองบรรณาธิการยกเลิกการวิเคราะห์ข่าวของสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่วิเคราะห์พาดพิงถึงหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ติดต่อกัน 3 วัน เกี่ยวกับปัญหาการถือหุ้น
- มีการสั่งถอดรายการวิเคราะห์ข่าวการเมือง เปรียบเทียบฟอร์มระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ และ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
ทั้งหมดนำมาสู่การออกแถลงการณ์ข้อเรียกร้องจำนวน 7 ข้อ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ, นายบุญคลี ปลั่งศิริ ผู้บริหารชินคอร์ป และ นายสรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล กรรมการผู้จัดการไอทีวี มีเนื้อหาโดยรวมคือให้ยุติการครอบงำ กดดัน กลั่นแกล้ง และแทรกแซงสื่อ ซึ่งถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 41 นำโดยนายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว ซึ่งลาออกในช่วงปลายปี พ.ศ. 2543 ในเวลาต่อมา
วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2544 กลุ่มผู้สื่อข่าวไอทีวี นำโดยนายจิระ ห้องสำเริง บรรณาธิการบริหารออกแถลงการณ์ถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขอให้ยุติการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายข่าว โดยเชื่อว่าการแทรกแซงจะทำให้ไม่สามารถเสนอข่าวอย่างเป็นกลางและไม่สามารถรักษาความน่าเชื่อถือของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีไว้ได้ จากนั้นไม่กี่วัน จิระ ห้องสำเริง ก็ได้ลาออก
มีการร่วมกันจัดตั้งสหภาพแรงงานและจัดการประชุมครั้งแรกเพื่อเลือกคณะกรรมการสหภาพ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ผู้บริหารไอทีวี มีคำสั่งเลิกจ้างพนักงาน 23 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ร่วมเคลื่อนไหว ประกอบด้วยกลุ่มแรก จำนวน 8 คน ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลว่าไปร่วมแถลงข่าวต่อสาธารณชนทำให้บริษัทเสื่อมเสีย และกลุ่มหลังเป็นกรรมการสหภาพจำนวน 15 คน ด้วยสาเหตุว่าบริษัทมีนโยบายปรับลดพนักงาน เพราะประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง พนักงานที่ถูกเลิกจ้างประกอบด้วย
|
กลุ่มนักข่าวจำนวน 21 คน (มี 2 คนไม่ยื่นฟ้อง) ที่ถูกเรียกว่า “กบฏไอทีวี” ได้นำเรื่องการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมยื่นคำร้องไปยังคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ว่าบริษัทกระทำการอันไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 121 ของพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์
ครส.วินิจฉัยว่าการกระทำของไอทีวีไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกเลิกจ้าง และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ให้บริษัทไอทีวีรับพนักงานทั้ง 21 คนกลับเข้าทำงานเช่นเดิม แต่บริษัทกลับปฏิเสธและได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่ง ครส.
กลุ่ม “กบฏไอทีวี” จึงได้ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2545 ศาลแรงงานวินิจฉัยให้ ฝ่ายโจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดี และให้บริษัทรับพนักงานกลับเข้าทำงานพร้อมทั้งจ่ายเงินเดือนในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างชดเชยด้วย อย่างไรก็ดี บริษัทไอทีวีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานได้พิพากษายืนตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2548
การเพิ่มทุนจดทะเบียน และแก้ไขสัญญาสัมปทาน
แก้ชินคอร์ป ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทฯ เป็น 1,200 ล้านบาท และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2545 และได้เสนอขายหุ้นของบริษัทฯ แก่ประชาชนทั่วไป
เมื่อ พ.ศ. 2546 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนอีกครั้ง เป็น 7,800 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญใหม่ จำนวน 300 ล้านหุ้น เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อจัดสรรเป็นการเฉพาะ ให้กับพันธมิตร คือ นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ และ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สถานีฯ จึงได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ ด้วยการปรับผังรายการใหม่ และเพิ่มรายการบันเทิง แต่ต่อมาใน พ.ศ. 2548 พันธมิตรทั้งสองราย ปฏิเสธที่จะซื้อหุ้นร่วมทุน แต่ยังคงผลิตรายการให้กับสถานีฯ ต่อไป
ในปี พ.ศ. 2547 ชินคอร์ป ได้ยื่นเรื่องต่อ อนุญาโตตุลาการ[8] ขอแก้ไขสัญญาสัมปทาน และขอลดค่าสัมปทาน ที่ต้องจ่ายให้รัฐ ปีละ 1,000 ล้านบาท โดยอ้างว่า เอกชนรายอื่นจ่ายต่ำกว่า ช่อง 3 สัมปทาน 30 ปี (2533-2563) 3,207 ล้านบาท ปีละ 107 ล้านบาท / ช่อง 7 (BBTV) สัมปทาน 25 ปี (2541-2566) 4,670 ล้านบาท ปีละ 187 ล้านบาท / ททบ. 5 โมเดิร์นไนน์ทีวี และ สทท. ไม่ต้องเสียค่าสัมปทาน เนื่องจากเจ้าของคลื่นความถี่ดำเนินการออกอากาศเอง) [9]
คณะอนุญาโตตุลาการ ประกอบด้วย ตัวแทนจาก 2 ฝ่าย และคนกลาง รวม 3 คน ได้แก่
- นายประดิษฐ์ เอกมณี อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการ
- นายชัยเกษม นิติสิริ รองอัยการสูงสุด (ขณะนั้น) อนุญาโตตุลาการฝ่ายสำนักนายกรัฐมนตรี
- นายจุมพต สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุญาโตตุลาการฝ่ายสถานีโทรทัศน์ไอทีวี
คณะอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยชี้ขาดในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2547 ลดค่าสัมปทานให้สถานีฯ ลง เป็นปีละ 230 ล้านบาท พร้อมทั้ง อนุญาตให้สถานีฯ แก้ไขสัดส่วนการออกอากาศ รายการสาระ ต่อรายการบันเทิง จากร้อยละ 70 ต่อ 30 เป็นร้อยละ 50 ต่อ 50 และวินิจฉัยให้รัฐ จ่ายค่าชดเชยแก่บริษัทฯ เป็นเงิน 20 ล้านบาท เนื่องจาก สปน. ทำผิดสัญญา มิได้ให้ความคุ้มครองแก่บริษัทฯ และสถานีฯ ตามที่ได้ทำสัญญาสัมปทานไว้ ในขณะเดียวกัน กองทัพบกต่อสัญญาฉบับใหม่กับ ช่อง 7, อสมท อนุญาตให้ยูบีซี มีโฆษณาได้ และกรมประชาสัมพันธ์อนุญาตให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยมีโฆษณาได้ ซึ่งส่งผลกระทบ ต่อฐานะและรายได้ของบริษัทฯ
การตัดสินของศาลปกครองฯ เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
แก้สปน.ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครอง ในคดีหมายเลขดำที่ 476/2547 ในประเด็นที่มีคำวินิจฉัย มีการระบุให้แก้ไขในสัญญาร่วมการงาน เรียกร้องให้ศาลปกครองกลาง พิจารณาเพิกถอนคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่ผิดเจตนารมณ์ และ สปน.ระบุว่า อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยเกินขอบเขตอำนาจ
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ให้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้ขาดให้ สปน. ลดค่าสัมปทานให้สถานีฯ และให้ สปน. จ่ายค่าชดเชยให้บริษัทฯ
จากคำพิพากษาดังกล่าว ส่งผลให้ สถานีฯ ต้องจ่ายค่าสัมปทาน ปีละ 1,000 ล้านบาท เช่นเดิม และ ต้องปรับสัดส่วน รายการข่าวและสาระ ต่อรายการบันเทิง กลับไปเป็น ร้อยละ 70 ต่อ 30 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังต้องเสียค่าปรับ จากการผิดสัญญาสัมปทาน จากการเปลี่ยนแปลงผังรายการ ที่ไม่เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน คิดเป็นร้อยละ 10 ของค่าสัมปทานในแต่ละปี โดยคิดเป็นรายวัน วันละ 100 ล้านบาท นับตั้งแต่ เริ่มมีการปรับผังรายการ รวมระยะเวลา 2 ปี เป็นค่าปรับทั้งสิ้น ประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาท
โดยศาลปกครองกลาง ได้ให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาว่า การที่อนุญาโตตุลาการ ชี้ขาดให้ลดค่าสัมปทาน มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และเป็นการแก้ไขสัญญาสัมปทานของรัฐ ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของอนุญาโตตุลาการ บริษัทฯ จึงได้ยื่นอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด
ต่อมา ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืน ตามคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ส่งผลให้ บริษัทฯ ยังต้องจ่ายค่าสัมปทาน ปีละ 1,000 ล้านบาท เช่นเดิม และ สถานีฯ ต้องปรับผังรายการ ตามสัดส่วนเดิม โดยปรับใช้ในวันรุ่งขึ้นทันที เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับเพิ่ม ในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้
ส่วนราคาหุ้น ITV เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา นักลงทุนก็ขายหุ้นออกมาเป็นจำนวนมาก ด้านราคาก็ลดลงอย่างหนัก จนกระทั่ง ลงไปอยู่ใน จุดต่ำสุด (New Low) นับแต่เข้ามาซื้อขายในตลาดฯ ที่ 1.98 บาทซึ่งเป็นราคาพื้น (Floor Price) หลังจากนั้น ได้มีผู้ซื้อกลับมาเล็กน้อย ส่งผลให้ราคาปิดตลาดฯ สูงขึ้นมาอีกเล็กน้อย ที่ 2.06 บาท แต่ก็เป็นราคาที่ลดลง จากราคาปิดตลาดวันก่อนหน้า ร้อยละ 26.4
วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2549 นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดแถลงข่าว เรียกให้ ไอทีวี ชำระค่าสัมปทานที่ค้างอยู่ทั้งสิ้น 2,210 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 15% เป็นจำนวนเงินรวม 464.5 ล้านบาท มาชำระให้ สปน.ภายใน 45 วัน และให้ชำระค่าปรับกรณีทำผิดสัญญาเรื่องผังรายการ อีกกว่า 97,760 ล้านบาท จากนั้นมีการต่อเวลาเรียกชำระมาอีก 30 วัน (สิ้นสุด วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2550)
การยกเลิกสัมปทาน
แก้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ว่า หากไอทีวีไม่สามารถจ่ายค่าปรับและค่าสัมปทานค้างจ่าย คิดเป็นเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทได้ภายในวันที่ 7 มีนาคม ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเลิกสัมปทานกับไอทีวี
ในวันเดียวกัน นายบุญคลี ปลั่งศิริ ในฐานะตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ส่วนนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร ออกแถลงข่าวว่า ไอทีวีพร้อมให้ความร่วมมือ ที่รัฐจะให้หน่วยงานใหม่เข้ามาใช้สถานที่ และอุปกรณ์เพื่อออกอากาศสถานีโทรทัศน์ยูเอชเอฟ อย่างต่อเนื่อง หากไอทีวีถูกยกเลิกสัญญาสัมปทาน
คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของไอทีวี จำนวน 9 คน ประชุมเป็นนัดแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2550 มีมติเปลี่ยนชื่อสถานีเป็น ทีไอทีวี (Thailand Independent Television) และประชุมหาข้อยุติเรื่องกฎหมายและแผนดำเนินงานเข้าบริหารสถานี ภายหลังการยกเลิกสัมปทานในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550[10]
คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ประกอบด้วย
- คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธาน
- นายจุลยุทธ์ หิรัญยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รองประธาน
- นายพุฒิศักดิ์ นามเดช ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการ
- นายจีระ หงส์ลดารมภ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กรรมการ
- คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ
- นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ
- นายคัมภีร์ แก้วเจริญ อดีตอัยการสูงสุด กรรมการ
- นายชิตณรงค์ คุณะกฤดาธิการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กรรมการ
- นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ
พร้อมกันนี้ ได้แต่งตั้ง นายจีระ หงส์ลดารมภ์ เป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ด้วย
คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันอังคารที่ 6 มีนาคม ว่าหากไอทีวีไม่สามารถจ่ายค่าปรับ และค่าสัมปทานค้างจ่าย รวมประมาณ 1 แสนล้านบาท ภายใน 7 มีนาคม ได้ ให้ยุติการออกอากาศเป็นการชั่วคราว เพื่อส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า รัฐสามารถดำเนินการออกอากาศต่อเนื่องได้หรือไม่ ในวันที่ 9 มีนาคม ขณะเดียวกัน ให้ยึดเครื่องส่งโทรทัศน์ยูเอชเอฟ มาเก็บรักษาไว้ที่กรมประชาสัมพันธ์
หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี ประชาชนจำนวนมาก ได้เดินทางไปแสดงความเสียใจ และให้กำลังใจ พนักงานไอทีวี ที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวี จำนวนมาก ในจำนวนนี้ มีบุคคลในวงการโทรทัศน์หลายท่าน อาทิ สรยุทธ สุทัศนะจินดา, ปนัดดา (วงศ์ผู้ดี) พิพิธสุขสันต์, สาธิต ยุวนันทการุญ, นิธิ สมุทรโคจร, สำราญ ช่วยจำแนก (อี๊ด วงฟลาย) เป็นต้น
ในช่วงเย็น นายจาตุรงค์ สุขเอียด ผู้แทนพนักงานไอทีวี เข้ายื่นไต่สวนฉุกเฉินต่อศาลปกครอง เพื่อให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวีสามารถออกอากาศต่อไปได้ โดยศาลปกครองรับเรื่องไว้ และจะให้มารับทราบผลการวินิจฉัย ในเวลา 13.00 น. วันที่ 7 มีนาคม
หลังจากการที่ถูก สปน.บอกเลิกสัญญาสัมปทานว่าด้วยการบริหารกิจการสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟไป ในปี พ.ศ. 2550 มีการพยายามเจรจาต่อรองกันหลายรอบ แต่ท้ายที่สุดวันที่ 7 มี.ค. 2550 คณะรัฐมนตรีมติให้ "ยกเลิกสัญญาสัมปทานจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรี และสั่งให้ยุติการออกอากาศ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี" ในวันเดียวกัน เมื่อเวลา 00.00 น.รวมระยะเวลาการออกอากาศทั้งสิ้น 10 ปี 8 เดือน 6 วัน 5 ชั่วโมง
ในด้านของกิจการสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ก็ได้โอนกิจการย้ายไปสังกัดที่กรมประชาสัมพันธ์ ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2550 และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 ตามลำดับ ผลที่ตามมาก็คือสถานีโทรทัศน์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี และในปัจจุบันใช้ชื่อว่า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หลังจากถูกยกเลิกสัมปทานไปทำให้ ITV จำเป็นต้องยุติการออกอากาศ แต่หากย้อนดูการจดทะเบียนแปรสภาพบริษัทในตอนแรกกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2541 พบว่า ITV เปิดตัวด้วยทุนจดทะเบียน 7,800 ล้านบาท พร้อมวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจประเภทการเผยแพร่ภาพยนตร์วีดิทัศน์และรายการโทรทัศน์
แม้ว่าปัจจุบัน “ITV” จะไม่ได้ประกอบกิจการเป็นสถานีโทรทัศน์แล้ว แต่จากงบการเงิน ปี พ.ศ. 2565 ยังคงมีรายได้อยู่ที่ 20.6 ล้านบาท ซึ่งมาจากผลตอบแทนเงินลงทุน และดอกเบี้ยรับ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจสื่อ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังได้มีมติให้เพิกถอนหุ้นสามัญของบริษัทฯ ที่เคยทำการซื้อขาย ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้บริษัทฯ ต้องพ้นจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว[11]
ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ITV ทั้งหมด 75% คือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดยมี “สารัชถ์ รัตนาวะดี” เป็นหัวเรือใหญ่ จากการเป็นผู้ถือหุ้นหลักอันดับ 1 คือ 41.19 % และ GULF ENERGY DEVELOPMENT PCL. 5.42 % รวมทั้งสิ้น 46.61%
ข้อพิพาทหลังยกเลิกสัญญาสัมปทาน
แก้ต่อมา บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้เสนอข้อพิพาท กรณี สปน. บอกเลิกสัญญาสัมปทานโดยมิชอบ โดยเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559 คณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินชี้ขาดว่า สปน. บอกเลิกสัญญาสัมปทานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่ ไอทีวี และ ไอทีวี ก็ต้องชำระค่าตอบแทนส่วนต่างเช่นกัน คำชี้ขาดจึงสรุปว่าทั้งสองฝ่ายไม่มีหนี้ที่ต้องชำระต่อกัน[12] ทั้งนี้ สปน. ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 29 เมษายน ศาลปกครองกลางรับคำร้องเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน[13] และในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ศาลปกครองกลางพิพากษายกคำร้องของ สปน. ด้วยเหตุว่า คดีไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดได้ แต่ สปน. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564[14] หลังจากนั้นในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2567 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ทำให้ไอทีวีไม่ต้องชำระหนี้อีก[15]
ปิดบริษัท
แก้เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2567 คณะกรรมการบริษัทของ บมจ.ไอทีวี มีมติให้จัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2567 ในวันที่ 13 กันยายน เพื่อพิจารณาอนุมัติการเลิกบริษัท เนื่องจากไอทีวีไม่สามารถหาโอกาสและแผนธุรกิจที่เหมาะสมต่อการฟื้นตัวของบริษัทได้ในสภาพเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในปัจจุบัน[16]
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กันยายน เมโธ เปี่ยมทิพย์มนัส ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโสส่วนงานการเงิน และ รักษาการหัวหน้าสายงานการเงินและบัญชีของอินทัช โฮลดิ้งส์ ได้รายงานให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีใจความสำคัญระบุถึงการจดทะเบียนเลิกบริษัทของ บมจ.ไอทีวี ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในวันเดียวกัน[17]
ดูเพิ่ม
แก้- สถานีโทรทัศน์ไอทีวี
- สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี (สำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยู เอช เอฟ เฉพาะกิจ (หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ))
- สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
- องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
อ้างอิง
แก้- ↑ จุดเริ่มต้น ไอทีวี คือจุดจบ โทรทัศน์เสรี / แปรสู่จุดเริ่มต้น สื่อเพื่อสาธารณะ ยุคดิจิทัล
- ↑ มติชนสุดสัปดาห์, 9-15 มีนาคม 2550, หน้า 22
- ↑ มติชนสุดสัปดาห์, 9-15 มีนาคม 2550, หน้า 23
- ↑ เนชั่นสุดสัปดาห์, 9 มีนาคม 2550, หน้า12,13,
- ↑ จุดเริ่มต้น ไอทีวี คือจุดจบ โทรทัศน์เสรี / แปรสู่จุดเริ่มต้น สื่อเพื่อสาธารณะ ยุคดิจิทัล
- ↑ มติชน วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1282
- ↑ บุญเลิศ ช้างใหญ่, ไอทีวีกับความเป็นกลาง, หนังสือพิมพ์มติชน 21 ธันวาคม พ.ศ. 2549
- ↑ "การเมือง - ข่าวไอทีวีอ้างเสียหาย1.8พันล้านรัฐบาล'ทักษิณ'ให้เคเบิลโฆษณา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2021-10-11.
- ↑ "เสวนาวิชาการ"ปัญหาสัมปทาน ITV" 11ก.พ.47". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2006-12-16.
- ↑ คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของไอทีวี
- ↑ รายงานประจำปี 2559 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เก็บถาวร 2021-04-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนโปรดอ่านรายละเอียดได้ที่หน้า 3 เมื่อใช้กับ PDF (หน้า 1 ของเล่มจริง)
- ↑ "บทสรุปข้อพิพาทไอทีวี". วอยซ์ทีวี. 8 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ปลุกผีค่าเสียหายไอทีวี 2.9 พันล้านสปน.หืดขึ้นคอ". ฐานเศรษฐกิจ. 22 เมษายน 2020. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "16 ปี แห่งความหลัง ITV มีแต่ คดี-คดี-คดี". ไทยพีบีเอส. 14 มิถุนายน 2023. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ด่วน ศาลพิพากษา ไอทีวี ชนะคดีข้อพิพาท สปน. บอกเลิกสัญญา". ประชาชาติธุรกิจ. 25 มกราคม 2024. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ไอทีวี นัดประชุมวิสามัญ 13 ก.ย. 67 ขอมติผู้ถือหุ้น 'ปิดบริษัท'". มติชน. 4 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "INTUCH แจ้งเลิกกิจการ "ไอทีวี" ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีผลทันที". ข่าวหุ้นธุรกิจ. 17 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์ทางการ
- รวมบทความ จาก เว็บรากฐานไทย เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน