ดอนัลด์ ทรัมป์

ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ
(เปลี่ยนทางจาก Donald Trump)

ดอนัล ทรัมป์ (อังกฤษ: Donald John Trump;[a] เกิด 14 มิถุนายน ค.ศ. 1946) เป็นนักการเมือง ผู้มีชื่อเสียงทางสื่อ และนักธุรกิจชาวอเมริกัน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 ตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2021[1] และเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ซึ่งจะดำรงตำแหน่งสมัยที่สองในปี 2025 ถึง 2029[2] ในฐานะสมาชิกพรรคริพับลิกัน ทรัมป์ยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเดอะทรัมป์ ออร์แกไนเซชั่น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ และเป็นผู้ก่อตั้งทรัมป์เอนเตอร์เทนเมนต์ รีสอร์ตที่มีกิจการกาสิโนและโรงแรมทั่วโลก[3] และด้วยการใช้ชีวิตที่หรูหรา[4] และการพูดจาที่โผงผางทำให้เขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงและได้รับการจับตามองจากสื่อมากที่สุดในโลก[5]

ดอนัล ทรัมป์
Donald Trump
ภาพถ่ายทางการ ค.ศ. 2017
ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ
ว่าที่ตำแหน่ง
20 มกราคม ค.ศ. 2025
รองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ (ว่าที่)
รับช่วงจากโจ ไบเดิน
ประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 45
ดำรงตำแหน่ง
20 มกราคม ค.ศ. 2017 – 20 มกราคม ค.ศ. 2021
(4 ปี 0 วัน)
รองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์
ก่อนหน้าบารัก โอบามา
ถัดไปโจ ไบเดิน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ดอนัลด์ จอห์น ทรัมป์

(1946-06-14) 14 มิถุนายน ค.ศ. 1946 (78 ปี)
ควีนส์ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
พรรคการเมืองริพับลิกัน (1987–1999, 2009–2011, 2012–ปัจจุบัน)
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
คู่สมรส
บุตร
ความสัมพันธ์ตระกูลทรัมป์
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (วท.บ.)
อาชีพ
รางวัลรายการทั้งหมด
ลายมือชื่อDonald J Trump stylized autograph, in ink
เว็บไซต์

ทรัมป์เกิดและเติบโตในนครนิวยอร์ก เป็นบุตรของเฟร็ด ทรัมป์ เศรษฐีผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในนครนิวยอร์ก เขาได้รับอิทธิพลจากพ่อของเขาในการเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์[6] และเมื่อจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากโรงเรียนธุรกิจวอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในปี 1968 ทรัมป์ได้เข้าร่วมบริษัททรัมป์ออร์กาไนเซชันของผู้เป็นพ่อ เริ่มงานโดยการปรับปรุงโรงแรมคอมมอดอร์ เขายังคงดำเนินงานทรัมป์ทาวเวอร์ในนิวยอร์ก และหลายโครงการที่พักอยู่อาศัย ต่อมาทรัมป์ขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรมการบิน[7] และธุรกิจกาสิโนแอตแลนติกซิตี รวมถึงการซื้อทัชมาฮาลกาสิโนแต่ก็ประสบภาวะล้มละลาย ในปลายทศวรรษ 1990 หลังจากฟื้นด้านธุรกิจและชื่อเสียง ในปี 2001 เขาสร้างทรัมป์เวิลด์ทาวเวอร์ อาคารที่พักอาศัยซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามสำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ[8] เขายังเริ่มสร้างทรัมป์เพลซกลุ่มอาคารหลายหลังริมแม่น้ำฮัดสัน ทรัมป์ยังเป็นเจ้าของพื้นที่การค้าในทรัมป์อินเตอร์แนชชันแนลโฮเตลแอนด์ทาวเวอร์ และพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ในแมนแฮตตันหลายล้านตารางฟุต[9] ทรัมป์ยังเป็นเจ้าของกิจการการประกวดนางงามจักรวาล และเป็นผู้อำนวยการสร้างและดำเนินรายการเรียลลิตีโชว์ The Apprentice ระหว่างปี 2004 ถึง 2015 ธุรกิจของเขามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินคดีทางกฎหมายมากกว่า 4,000 ครั้ง รวมถึงการถูกฟ้องล้มละลายหกครั้ง ทรัมป์ยึดอาชีพทางธุรกิจรวมทั้งงานบันเทิงหลายปีก่อนจะประกาศเจตนารมณ์ต่อสาธารณะในการลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี

ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 โดยชนะฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต ด้วยวัย 70 ปี ทรัมป์จึงเป็นบุคคลอายุมากที่สุดในขณะนั้น และมีทรัพย์สินมากที่สุดที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นบุคคลแรกที่ไม่เคยรับราชการทหารหรือข้าราชการมาก่อน และเป็นบุคคลที่สี่ที่ได้รับเลือกตั้งโดยไม่ได้คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งข้างมากทั่วประเทศ ทรัมป์กล่าวข้อความเท็จหรือชักจูงให้เข้าใจผิดหลายครั้งทั้งก่อนดำรงตำแหน่งและในตำแหน่งซึ่งมีผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงบันทึกไว้ และสื่ออธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างกว้างขวางว่าไม่เคยมีมาก่อนในการเมืองสหรัฐ ความเห็นและการกระทำหลายอย่างของเขามีลักษณะแบบนิยมเชื้อชาติอันเป็นชนวนให้เกิดการประท้วง และนำสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองและลัทธิบูชาบุคคลอย่างกว้างขวาง[10][11][12]

แนวนโยบายของทรัมป์เน้นการเจราความสัมพันธ์สหรัฐ–จีนและความตกลงการค้าเสรีใหม่ เช่น นาฟตาและความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก การบังคับใช้กฎหมายการเข้าเมืองอย่างแข็งขัน การสร้างกำแพงใหม่ตามชายแดนสหรัฐเม็กซิโก จุดยืนอื่นของเขาได้แก่การมุ่งอิสระทางพลังงานขณะที่ค้านข้อบังคับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอื่น เช่น แผนพลังงานสะอาดและความตกลงปารีส, ปฏิรูปกิจการทหารผ่านศึก, การแทนที่รัฐบัญญัติคุ้มครองผู้ป่วยและการบริบาลที่เสียได้, การยกเลิกมาตรฐานการศึกษาคอมมอนคอร์, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน, การลดความยุ่งยากของประมวลรัษฎากร (ประมวลกฎหมายภาษี) ขณะที่ลดภาษีแก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และกำหนดภาษีนำเข้าต่อบริษัทที่จ้างงานนอกประเทศทำให้เกิดสงครามการค้ากับจีน ทรัมป์ส่งเสริมแนวนโยบายต่างประเทศที่ไม่แทรกแซงเสียส่วนใหญ่ และเพิ่มรายจ่ายทางด้านกลาโหม รวมทั้ง "การตรวจสอบภูมิหลังเต็มที่" ของผู้อพยพเข้าเมืองชาวมุสลิมเพื่อป้องกันการก่อการร้ายอิสลามในประเทศ และรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล รวมถึงการถอนกำลังทหารออกจากซีเรีย เขาพบ คิม จ็อง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือสามครั้ง แต่การเจรจาเรื่องลดอาวุธนิวเคลียร์ล้มเหลว นักวิชาการและนักวิจารณ์อธิบายจุดยืนของทรัมป์ว่าเป็นประชานิยม ลัทธิคุ้มครองและชาตินิยม เขาได้รับการวิจารณ์ในกรณีการรับมือการระบาดของโควิด-19 ล่าช้า

ภายหลังทรัมป์ปลดเจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอในปี 2017 กระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งโรเบิร์ต มอลเลอร์เป็นที่ปรึกษาพิเศษในการสืบสวน และหาความเชื่อมโยงระหว่างการรณรงค์หาเสียงของทรัมป์และรัฐบาลรัสเซียในการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐของรัสเซียปี 2016 ผลการสอบสวนระบุว่าทรัมป์และคณะรณรงค์หาเสียงของเขาส่งเสริมการแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งนั้น แต่ไม่พบหลักฐานเพียงพอตั้งข้อหาสมคบคิดหรือร่วมมือกับรัสเซีย มอลเลอร์ยังสอบสวนทรัมป์ฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรายงานของเขาสรุปโดยไม่ได้ฟ้องคดีอาญาอุกฉกรรจ์หรือว่าเขาพ้นจากความรับผิดในข้อหานั้น หลังทรัมป์ร้องขอให้ยูเครนสอบสวนโจ ไบเดิน คู่แข่งทางการเมืองของเขา สภาผู้แทนราษฎรดำเนินกระบวนพิจารณาและลงมติให้ถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2019 ฐานละเมิดอำนาจและขัดขวางรัฐสภา แต่วุฒิสภาลงคะแนนเสียงว่าทรัมป์ไม่มีความผิดทั้งสองข้อหาในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ต่อมา ใน ค.ศ. 2021 เขาถูกยื่นถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งเป็นครั้งที่สอง จากการปลุกระดมกลุ่มผู้สนับสนุนในเหตุการณ์จลาจล ณ อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2021 ส่งผลให้เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐที่ถูกยื่นถอดถอนโดยสภาผู้แทนราษฎรสองครั้ง

ทรัมป์แพ้การเลือกตั้งให้แก่ไบเดินใน ค.ศ. 2020 แต่ปฏิเสธการยอมรับผลเลือกตั้ง และเรียกร้องให้นับคะแนนใหม่[13] หลังพ้นจากตำแหน่ง เขายังมีบทบาททางการเมืองในพรรค และในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 เขาประกาศลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2024[14] ต่อมา ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2022 คณะกรรมการสอบสวนเหตุจลาจลวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2021 ตั้งข้อหาทางอาญาต่อทรัมป์ ฐานมีส่วนร่วมในความพยายามพลิกผลการเลือกตั้งปี 2020 รวมทั้งสนันสนุนการก่อจลาจล และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 คณะลูกขุนใหญ่แห่งแมนแฮตตันได้ตั้งข้อหาต่อทรัมป์ในความผิดฐานปลอมแปลงบันทึกทางธุรกิจมากถึง 34 กระทง รวมถึงความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศและหมิ่นประมาทอดีตคอลัมนิสต์ชาวอเมริกันใน ค.ศ. 2024 ส่งผลให้เขาเป็นอดีตประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกตั้งข้อหาทางอาญา[15][16] ทรัมป์ได้รับการจัดอันดับโดยนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์บางกลุ่มให้เป็นหนึ่งในประธานาธิบดีสหรัฐที่แย่ที่สุด[17][18] เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 ทรัมป์รอดชีวิตจากเหตุลอบสังหารในขณะหาเสียงในรัฐเพนซิลเวเนีย ในขณะที่ผู้ก่อเหตุได้ถูกวิสามัญ[19]

ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 เหนือกมลา แฮร์ริส และเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่สองที่ชนะการเลือกตั้งสองสมัยแบบไม่ต่อเนื่องกันต่อจากโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ค.ศ. 1892 และด้วยวัย 78 ในวันที่ชนะเลือกตั้ง เขาจึงกลายเป็นว่าที่ประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุด

ประวัติและชีวิตช่วงต้น

แก้

ทรัมป์เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1946 ทีควีนส์, รัฐนิวยอร์ก เขาเป็นบุตรคนที่สี่จากทั้งหมดจำนวนห้าคน พ่อของทรัมป์ชื่อ เฟเดอริก คริส เฟรด ทรัมป์ (1905 -1999) และแม่ แมรี่ แอนนี่ ทรัมป์ (1912 - 2000)[20][21] ทรัมป์ยังมีพี่น้องทางสายเลือด แมรี แอนนี , เฟรด จูเนียร์ , แอลิซาเบธ และ โรเบิร์ต เฟรด จูเนียร์ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตเสียชีวิตปี 1981 จากแอลกอฮอลล์ ซึ่งทรัมป์กล่าวว่านั้นเป็นสาเหตุทำให้เลิกแอลกอฮอลล์รวมทั้งบุหรี่ด้วย[22] ทรัมป์ไม่ชอบการจับมือ เมื่อสถานการณ์บังคับให้ต้องมีการจับมือ ทรัมป์จะใช้การดึงเอาตัวของฝ่ายตรงข้ามให้เข้ามาใกล้กับตัวเขา

บรรพบุรุษ

แก้

ทรัมป์มีบิดาที่มีเชื้อสายเยอรมัน และมารดาเชื้อสายสก็อตแลนด์ แม่ของทรัมป์และรวมทั้งปู่ย่าตายายเกิดในยุโรป ปู่ยาตายายของทรัมป์เป็นผู้อพยพมายังคาลล์ชตัดท์, เยอรมนี และพ่อของทรัมป์ที่เป็นนักอสังหาริมทรัพย์ในนิวยอร์กเกิดในควีนส์[23][24] ส่วนแม่ของทรัมป์อพยพเข้านิวยอร์กในวันเกิดของเธอจากเกาะเลวิส สกอตแลนด์ [25] เฟรดและแมรีพบกันในนิวยอร์ก ทั้งคู่ตกลงแต่งงานกันในปี 1936 และอพยพครอบครัวไปยังควีนส์[25][26]

จอห์น เค ทรัมป์ ลุงของทรัมป์ เป็นอาจารย์ในสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ระหว่างปี ค.ศ. 1936 ถึง ค.ศ. 1973 ลุงของทรัมป์มีส่วนคิดค้นเรดาร์ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และคิดค้นเครื่องเอ็กซเรย์เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคมะเร็ง ในปี 1943 สำนักงานสอบสวนกลางมีคำสั่งให้จอห์น ทรัมป์ ตรวจสอบกระดาษและอุปกรณ์ของนิโคลา เทสลา เมื่อครั้งที่นิโคลาเสียชีวิตในห้องของเขาที่โรงแรมนิวยอร์กเกอร์[27] เฟดริก ทรัมป์ ปู่ของทรัมป์ เปิดร้านอาหารในซีแอตเทิลและครอนไลค์ (แคนาดา)[28]ครอบครัวทรัมป์แรกเริ่มนับถือนิกายลูเทอแรน แต่พ่อแม่ของทรัมป์นับถือนิกายคริสตจักรปฏิรูป[29] ครอบครัวทรัมป์แรกเริ่มสะกดชื่อสกุลว่า Drumpf แต่ถูกเปลี่ยนเป็น Trumps ในช่วงสงครามสามสิบปี ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17[30] ทรัมป์กล่าวเขารู้สึกภูมิใจสำหรับการมีเชื้อสายจากเยอรมัน และเคยเป็นผู้นำขบวนพาเหรดออร์เคสตราปี 1999 German-American Steuben Parade นครนิวยอร์ก[31]

การศึกษา

แก้
 
ดอนัลด์ ทรัมป์ ขณะกำลังเข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยนิวยอร์ก ช่วงฤดูใบไม้ผลิ 1964

ทรัมป์จบการศึกษาโรงเรียน The Kew-Forest School ในวัย 13 เขาสมัครโรงเรียนนายร้อยนิวยอร์ก[32] ที่คอร์นวอลล์ รัฐนิวยอร์ก ทรัมป์ศึกษาที่มหาวิทยาลัยฟอร์ดัมในเดอะบร็องซ์ เป็นเวลาสองปี หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม 1964 ทรัมป์ย้ายไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นแห่งแรก ๆ ในสหรัฐอเมริกา[33][34] ขณะนั้น เขาทำงานในบริษัทของครอบครัว Elizabeth Trump & Son โดยชื่อบริษัทตั้งจากชื่อย่าของทรัมป์ เขาจบการศึกษาจากฟิลาเดลเฟียในพฤษภาคม 1968 ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตด้านเศรษฐกิจ[34][35][36] ทรัมป์ไม่ได้เกณฑ์ทหารในช่วงสงครามเวียดนาม[37] เขาได้รับการผ่อนผันเกณท์ทหาร 4 ครั้ง[38] ในปี 1966 เขาได้รับการตรวจสอบทางการแพทย์ซึ่งมีความสำคัญที่จะทำให้เขาสามารถบรรจุเป็นทหารเกณฑ์ ปี 1968 ได้รับการตัดสินโดยคณะกรรมการท้องถิ่นซึ่งมีมติให้ผ่อนผัน ในตุลาคม 1968[39] ในบทสัมภาษณ์ชีวประวัติของทรัมป์ ปี 2015 เขาให้เหตุผลว่าที่เขาได้ใบผ่อนผันจากแพทย์เนื่องจากเขามีอาการปวดส้นเท้า[39].[40]

สุขภาพ

แก้

ทรัมป์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับแอลกอฮอล์และบุหรี่รวมทั้งสิ่งเสพติดทุกประเภท เขามีพฤติกรรมการนอนหลับที่น้อยมากในแต่ละวัน โดยเฉลี่ยเขาจะนอนเพียง 4-5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น[41] โดยให้เหตุผลว่าการนอนมากเกินไปทำให้เสียเวลาและโอกาสในการทำเรื่องสำคัญในชีวิตและเขาไม่ค่อยออกกำลังกายเท่าไรนักเนื่องจากคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ในระหว่างการหาเสียงในปี 2015 แพท์ประจำตัวของทรัมป์อย่าง แฮโรลด์ บอร์นสไตน์ ระบุว่าทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีที่มีสุขภาพแข็งแรงที่สุดเท่าที่สหรัฐเคยมีมา[42]

ครอบครัวและชีวิตสมรส

แก้
 
ดอนัลด์ ทรัมป์ และ เมลาเนีย ทรัมป์ ในงานเลี้ยงฉลองภายหลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมปี 2020

 ดอนัลด์ ทรัมป์ สมรสกับอีวานา เซลนิชโควา นางแบบชาวเช็กเกียในปี 1977[43] ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 3 คน ได้แก่ ดอนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์, อิวานกา ทรัมป์, และ อีริก ทรัมป์ ซึ่งต่อมาลูกทั้ง 3 คนก็ได้มรดกจากผู้เป็นพ่อด้วยตำแหน่งรองประธานบริษัททรัมป์ออร์กาไนเซชันที่ซึ่งทรัมป์เป็นประธานบริหารมาอย่างยาวนาน ทรัมป์และอีวานาหย่าขาดในปี 1990 และต่อมาในปี 1993 ทรัมป์ได้สมรสครั้งที่สองกับมาร์ลา เมเปิลส์ และมีบุตร 1 คนคือ ทิฟฟานี ซึ่งตั้งชื่อตามร้านเพชรชื่อดังอย่างทิฟฟานีแอนด์โค ก่อนที่ทั้งสองจะแยกกันอยู่ในปี 1997 และหย่าขาดในปี 1999

  ทรัมป์หมั้นกับเมลาเนีย คเนาส์ นางแบบชาวสโลเวเนียในปี 2004 และเข้าพิธีสมรสในปี 2005 ก่อนที่เมลาเนียจะได้รับสัญชาติอเมริกันในปี 2006 และในเดือนมีนาคมปีเดียวกันนั้นเอง เมลาเนียได้ให้กำเนิดบุตรชายนามว่า บาร์รอน ทรัมป์[44] ซึ่งตั้งชื่อตามนามปากกาของทรัมป์ เมลาเนียได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งสหรัฐ เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2017 ภายหลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์[45]

การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก (ค.ศ. 2017–2021)

แก้
 
ดอนัลด์ ทรัมป์ ขณะหาเสียง ณ มลรัฐแอริโซนาในเดือนมีนาคม 2016

แม้โพลแทบทุกสำนักต่างรายงานตรงกันว่า ทรัมป์มีแนวโน้มสูงที่จะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง โดยโพลต่างระบุว่าตั้งแต่เริ่มต้นการหาเสียงช่วงต้นปีจนกระทั่งถึงการเสร็จสิ้นการดีเบตทั้งสามครั้งกับฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต ทรัมป์มีคะแนนตามหลังคลินตัน อย่างไรก็ตาม ทรัมป์สามารถชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 ภายใต้คอนเซ็ปต์ "Make America Great Again" [46] ส่งผลให้ในวัย 70 ปี ทรัมป์เป็นบุคคลอายุมากที่สุด และมีทรัพย์สินมากที่สุดที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นบุคคลแรกที่ไม่เคยรับราชการทหารหรือข้าราชการมาก่อน และเป็นบุคคลที่สี่ที่ได้รับเลือกตั้งโดยไม่ได้คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งข้างมากทั่วประเทศด้วยคะแนนเสียง 63 ล้านเสียง[47] และเป็นหนึ่งในประธานาธิบดีไม่กี่คนที่แพ้คะแนนมหาชนแต่สามารถชนะด้วย Electoral vote (คะแนน 304 - 227) โดย ไมค์ เพนซ์ ก็ได้ก้าวขึ้นรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ในส่วนของการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภานั้น พรรคริพับลิกันชนะได้เสียงข้างมากในวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียง 51 ต่อ 47 เสียง ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผลปรากฏว่า ริพับลีกันครองเสียงข้างมากด้วยคะแนน 232 ต่อ 175 เสียง

นโยบาย

แก้

100 วันแรก

แก้

ทรัมป์ประกาศถอนสหรัฐออกจาก TPP (ข้อตกลงการค้าในภาคพื้นแปซิฟิก) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 12 ประเทศซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด โดยทรัมป์ต้องการให้สหรัฐเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่จำเป็นต้องอิงกับใครในการพัฒนาเศรษฐกิจ[48] และให้คำมั่นจะสร้างงานให้ชาวอเมริกันอย่างมั่นคงอีกครั้ง เขายืนยันว่าตัวเลขประชาชนผู้ตกงานตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาในสหรัฐจะต้องลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีหลักการคือทำเพื่ออเมริกาให้กลับมาเป็นที่หนึ่งอีกครั้ง ทรัมป์และทีมงานจะปรับแก้กฎหมายและสร้างงานให้แก่อเมริกันชนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก, รถยนต์ ไปจนถึงยารักษาโรค เป็นต้น ทรัมป์ต้องการให้เกิดกระบวนการผลิตและนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้นแก่คนอเมริกัน นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้เพิ่มงบประมาณทางการทหารมากขึ้นถึง 10% จากรัฐบาลโอบามา[49] ต่อมาเมื่อ วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 2017 ฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาว ประกาศว่าทรัมป์จะบริจาคเงินเดือนทั้งหมดในช่วงไตรมาสแรกกว่า 78,333 ดอลลาร์ให้กับหน่วยงานอุทยานแห่งชาติเพื่อพัฒนาในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ในด้านการต่างประเทศในช่วง 3 เดือนแรกของการดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ออกมาเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือที่แข็งกร้าวมากขึ้น ภายหลังจากเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ รวมทั้งทำการออกคำสั่งยิงจรวดโจมตีฐานทัพอากาศในเมืองฮอมของซีเรีย เพื่อตอบโต้การใช้อาวุธเคมีโจมตีเขตพลเรือน

เศรษฐกิจและสังคม

แก้

ทรัมป์ประกาศอย่างชัดเจนก่อนการเลือกตั้งว่าเขาจะปฏิรูปนโยบายต่าง ๆ ที่บารัค โอบามาทำไว้ และบริหารประเทศภายใต้คอนเซ็ปต์ "Make America Great Again" ซึ่งเป็นนโยบายที่ โรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีคนที่ 40 เคยใช้หาเสียง[50] ตลอดระยะเวลา 4 ปีในการดำรงตำแหน่ง เขาให้ความสำคัญกับนโยบายด้านเศรษฐกิจมาก[51] โดยมีการปรับภาษีให้เท่าเทียมกัน และมีการลดหย่อนภาษีลงอย่างทั่วถึง โดยรวมถึงการลดค่าใช่จ่ายในการเลี้ยงบุตรและค่ารักษาพยาบาลทั่วไปอีกด้วย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อลดจำนวนคนว่างงานลงให้มากที่สุด นอกจากนี้ทรัมป์ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นประธานาธิบดีที่ให้ความใส่ใจกับนโยบายด้านการควบคุมผู้อพยพเข้าประเทศมากที่สุดคนหนึ่ง[52][53][54] เขาต้องการผลักดันกฎหมายแรงงานให้ชาวอเมริกันมีสิทธิ์มากกว่าชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในสหรัฐ ซึ่งจุดนี้จะเป็นการรับประกันเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวอเมริกันได้ รวมถึงการประกันรายได้การมีงานที่ดีรองรับโดยคำถึงถึงสิทธิ์ของคนอเมริกันเป็นอันดับแรก และเขาได้มีการเพิ่มมาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการก่อการร้าย โดยมีเป้าหมายหลักคือการลดจำนวนผู้อพยพจากพรมแดนเม็กซิโกและแถบละตินอเมริกาลงให้มากที่สุด[55] เขาและภรรยามีการลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหลายครั้งในหลายรัฐ และแสดงจุดยืนในการเสริมสร้างความมั่นใจของประชาชนต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

 
ประธานาธิบดีทรัมป์พร้อมด้วยสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง และวุฒิสมาชิก จอห์น คอร์นีย์ ขณะไปเยี่ยมผู้รอดชีวิตจากเหตุกราดยิงที่ เอล ปาโช ค.ศ. 2019

ทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายการควบคุมอาวุธปืนโดยทั่วไป[56] แม้ว่ามุมมองของเขาจะเปลี่ยนไปบ้างหลังจากเกิดเหตุกราดยิงกันหลายครั้งในระหว่างดำรงตำแหน่ง[57] ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะเสนอกฎหมายเพื่อลดความรุนแรงในการใช้ปืน แต่ต่อมาได้ถูกยกเลิกในเดือนพฤศจิกายนปี 2019 ฝ่ายบริหารของทรัมป์ได้แสดงจุดยืนต่อต้านการใช้กัญชา โดยเพิกถอนนโยบายของโอบามาในยุคที่ให้ความคุ้มครองสำหรับรัฐทีอนุญาตให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายโดยกำหนดโทษถึงประหารชีวิต ทรัมป์อนุมัติการให้มีการประหารชีวิตโดยรัฐบาลกลางครั้งแรกในรอบหลายปี ภายใต้การบริหารประเทศของทรัมป์ รัฐบาลกลางประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดรวม 13 ราย มากที่สุดในรอบ 56 ปี ในปี 2017 ทรัมป์กล่าวว่าเขาสนับสนุนการใช้วิธีการทรมานด้วยการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ตามกฎหมาย แต่ภายหลังนโยบายดังกล่าวได้ถูกคัดค้านโดยเจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ใน ค.ศ. 2018 ทรัมป์ปฏิเสธการลงนามในร่างกฎหมายการจัดสรรใด ๆ จากสภาคองเกรส หากแต่จะจัดสรรเงินจำนวน 5.6 พันล้านดอลลาร์สำหรับการพัฒนากำแพงชายแดน ส่งผลให้รัฐบาลกลางปิดตัวลงบางส่วนเป็นเวลากว่า 35 วัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 2018 ถึงมกราคม 2019 ถือเป็นการปิดตัวที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ[58] พนักงานรัฐประมาณ 800,000 รายถูกเลิกจ้างหรือต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน[59] ทรัมป์และสภาคองเกรสยุติการปิดระบบด้วยการอนุมัติเงินทุนชั่วคราวเพื่อชดเชยการจ่ายเงินล่าช้าแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ[60] การปิดระบบส่งผลให้เศรษฐกิจสูญเสียประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์[61] ตามข้อมูลของสำนักงานงบประมาณรัฐสภา ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวโทษทรัมป์ที่เป็นต้นเหตุของการปิดระบบ และคะแนนนิยมของทรัมป์ลดลงอย่างมากจากเหตุการณ์ดังกล่าว[62]

รัฐบาลทรัมป์ได้รับเสียงชื่นชมในการขจัดปัญหาการว่างงาน พบว่ามีอัตราการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วยจำนวนหลายล้านราย[63]

ประกันสุขภาพและการศึกษา

แก้

เจตนารมณ์ที่ชัดเจนที่สุดของทรัมป์อีกประการหนึ่งตั้งแต่ช่วงรณรงค์หาเสียงคือการยกเลิกประกันสุขภาพโอบามา แคร์ ของโอบามา[64] เนื่องจากเขาเล็งเห็นว่ามันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆกับประชาชนในระดับกลางและระดับล่าง[65] ทั้งยังเป็นการเพิ่มภาระในการเสียภาษีฟุ่มเฟือยที่มากขึ้นอีกด้วย เขาได้มีนโยบายในการเปลี่ยนไปใช้ระบบการซื้อประกันสุขภาพในราคาที่ถูกลงและยังครอบคลุมสิทธิการรักษาเมื่อเดินทางข้ามรัฐได้อีกด้วย ในส่วนของนโยบายด้านการศึกษา ทรัมป์ได้เล็งเห็นว่าเด็กคืออนาคตของชาติและต้องการสร้างความมั่นใจแก่ชาวโลกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก เขามีการผลักดันการพัฒนาด้านการศึกษาทางสายอาชีพมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้เยาวชนได้เรียนรู้ด้วยตนเองและจบมามีงานที่ดีทำและสามารถพึ่งพาตนเองได้[66]

การต่างประเทศ

แก้

ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ สหรัฐได้ตั้งคำถามต่อความสำคัญขององค์การระหว่างประเทศ และดำเนินนโยบายการค้าและการทหารซึ่งสอดคล้องของกับสโลแกน America First ที่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐ​เป็นอันดับหนึ่งซึ่งในบางครั้งได้เพิ่มความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น เขาได้ประกาศอย่างแข็งกร้าวในการกล้าที่จะเผชิญหน้ากับจีนและเกาหลีเหนือในฐานะประเทศคู่แข่งและผู้เป็นภัยคุกคามทางความมั่นคง ทรัมป์เน้นการใช้นโยบายแบบเอกาภาคีนิยม หรือ "Unilateralism" คือให้อเมริกาลุยเดี่ยว ‘Go It Alone’ ไม่จำเป็นต้องอิงกับพันธมิตรชาติใดเป็นพิเศษซึ่งตรงข้ามกับไบเดินอย่างสิ้นเชิง[67] (เดโมแครตเน้นการใช้เครื่องมือพหุภาคีระหว่างประเทศและใช้พันธมิตรเป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารงานด้านการต่างประเทศ) ยิ่งไปกว่านั้น ในสมัยที่โอบามาเป็นประธานาธิบดี และไบเดินเป็นรองประธานาธิบดี เขามีผลงานสำคัญด้านการต่างประเทศ คือการจัดทำข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์กับอิหร่านในปี 2015 แต่ต่อมาภายหลังทรัมป์ได้ทำการฉีกข้อตกลงดังกล่าวทำให้เกิดวิกฤตอิหร่านขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายของการดำรงตำแหน่ง[68]

 
ทรัมป์ และ คิม จอง-อึน ในการประชุมครั้งแรก ณ โรงแรมคาเปลลา เกาะเซนโตซา สาธารณรัฐสิงคโปร์ มิถุนายน ค.ศ. 2018

ในปี 2017 เมื่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามมากขึ้นเรื่อย ๆ ทรัมป์ได้ยกระดับคำสั่งเตือนว่าเกาหลีเหนือจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่กำลังทำ และเท่ากับเป็นการประกาศตัวเป็นศัตรูต่อสหรัฐและชาวโลก ในปลายปี 2017 ทรัมป์ประกาศว่าเขาต้องการให้เกาหลีเหนือ[69] "เลิกใช้นิวเคลียร์โดยสมบูรณ์" และติดต่อกับคิม จอง-อึนเพื่อยุติแผนการดังกล่าว ในห้วงเวลาแห่งความตึงเครียดนี้ ทรัมป์และคิมได้แลกเปลี่ยนจดหมายกันอย่างน้อย 27 ฉบับซึ่งทั้งสองคนอธิบายถึงมิตรภาพส่วนตัวที่อบอุ่นและมีแนวโน้มทีจะดีขึ้น โดยคิมได้ยื่นข้อเสนอที่จะพบกับทรัมป์ 3 ครั้ง[70] ได้แก่: ที่สิงคโปร์ในปี 2018 ในฮานอยในปี 2019 และในเขตปลอดทหารเกาหลีภายในในปี 2019 โดยทรัมป์ได้กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ได้พบกับผู้นำเกาหลีเหนือและได้เดินทางมาเกาหลีเหนือ[71] ทรัมป์ยังยกเลิกการคว่ำบาตรบางส่วนที่สหรัฐมีต่อเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือมิได้ยุติการพัฒนานิวเคลียร์แต่อย่างใด และการเจรจาในเดือนตุลาคม 2019 ก็ยุติลง

 
ทรัมป์และปูตินในการประชุมสุดยอด G20 ที่เมืองโอซากะ ปี 2019

ในขณะที่ความสัมพันธ์กับรัสเซียไม่รุนแรงและตึงเครียดเท่าเกาหลีเหนือ ทรัมป์มักกล่าวชื่นชมและไม่ค่อยวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน[72] แต่ก็มีการต่อต้านการกระทำบางอย่างของรัฐบาลรัสเซียโดยฝ่ายบริหารของทรัมป์ยกเลิกการคว่ำบาตรของสหรัฐที่บังคับใช้กับรัสเซียหลังจากการผนวกไครเมียในปี 2014 และทรัมป์ยังสนับสนุนให้รัสเซียกลับเข้าสู่การเป็นสมาชิกกลุ่ม 7[73] และภายหลังจากที่เขาได้พบกับปูตินในการประชุมสุดยอดผู้นำที่เฮลซิงกิเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2018 ทรัมป์ได้วิพากษ์วิจารณ์สมาชิกพรรคการเมืองทั้งทางฝั่งริพับลิกันและเดโมแครตในการปฏิเสธการแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 แทนที่จะยอมรับการพิสูจน์เหตุการณ์ดังกล่าวของหน่วยข่าวกรองสหรัฐว่ารัสเซียได้ทำการแทรกแซงการเลือกตั้งดังกล่าวจริง

รัฐบาลทรัมป์ให้การสนับสนุนการแทรกแซงของซาอุดีอาระเบียในสงครามกลางเมืองเยเมนอย่างเปิดเผย เขาลงนามในข้อตกลงมูลค่า 110 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อขายอาวุธให้แก่ซาอุดีอาระเบียใน ค.ศ. 2017[74] ภายหลังเหตุโจมตีโรงงานผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียเมื่อ ค.ศ. 2019 สหรัฐ และซาอุดีอาระเบียร่วมกันประนามการกระทำดังกล่าวโดยเชื่อกันว่าอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ทรัมป์อนุมัติการส่งกองกำลังสหรัฐเพิ่มเติมกว่า 3,000 นาย ซึ่งรวมถึงฝูงบินขับไล่ไปยังซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง

ในขณะที่ความสัมพันธ์กับอิหร่านเต็มไปด้วยความตึงเครียด ทรัมป์มีคำสั่งให้สหรัฐถอนตัวจากแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม ข้อตกลงเพื่อสันติซึ่งยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ต่ออิหร่านแลกกับข้อจำกัดในโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ทรัมป์และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐใช้ส่วนหนึ่งของข้อตกลงดังกล่าวกดดันให้สหประชาชาติกลับมาพิจารณามาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านอีกครั้ง นักวิเคราะห์ทางการเมืองแสดงทรรศนะว่าการถอนตัวของสหรัฐจากแผนดังกล่าว ส่งผลให้อิหร่านอ้างความชอบธรรมในการกลับมาพัฒนาโครงการอาุวธนิวเคลียร์อีกครั้ง[75] ทรัมป์มีบัญชาให้สหรัฐปฏิบัติการในเหตุโจมตีทางอากาศที่ท่าอากาศยานนานาชาติแบกแดด นำมาซึ่งการเสียชีวิตของนายพลกอเซม โซเลย์มอนี และและอะบู มะฮ์ดี อัลมุฮันดิสซึ่งสร้างความโกรธแค้นแก่รัฐบาลอิหร่าน หนึ่งสัปดาห์ต่อมา อิหร่านตอบโต้ด้วยการใช้ขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอากาศสหรัฐสองแห่งในอิรัก ทหารหลายสิบรายได้รับบาดเจ็บสาหัส[76]

ทรัมป์โจมตีจีนต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย โดยกล่าวว่าจีนเอาเปรียบสหรัฐทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม การเพิ่มจำนวนภาษีศุลกาการมหาศาลนำไปสู่สงครามการค้าจีน–สหรัฐ ได้รับการวิจารณ์ในวงกว้างว่าเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง[77] รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรห้ามนำเข้าสินค้าจากหัวเว่ยฐานให้การสนับสนุนอิหร่าน[78] รวมถึงเพิ่มข้อจำกัดทางการตรวจลงตราต่อนักวิชาการและนักศึกษาจีนจำนวนมาก[79] ทรัมป์ยังใช้วาจาโจมตีจีน พร้อมยกย่องสี จิ้นผิง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน[80] ซึ่งเป็นผลมาจากการเจรจาสงครามการค้า หลังจากชื่นชมจีนในการจัดการกับการระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรก ท่าทีของทรัมป์เปลี่ยนไป และเริ่มวิพากษ์วิจารณ์การรับมือดังกล่าวตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 ทรัมป์แสดงจุดยืนต่อต้านการลงโทษจีนสำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยในภูมิภาคซินเจียง เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อการเจรจาการค้า[81] ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 ฝ่ายบริหารของทรัมป์บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร และข้อจำกัดด้านการตรวจลงตราต่อเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน เพื่อตอบสนองต่อการขยายค่ายกักกันที่ควบคุมชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์มากกว่าหนึ่งล้านคน

รัฐบาลทรัมป์สนับสนุนเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล โดยรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และสนับสนุนอธิปไตยของอิสราเอลเหนือที่ราบสูงกอราน นำไปสู่การประณามจากนานาชาติรวมทั้งจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ, สหภาพยุโรป และสันนิบาตอาหรับ[82] ในปี 2020 ทำเนียบขาวเป็นเจ้าภาพการลงนามข้อตกลงชื่อ Abraham Accords ระหว่างอิสราเอล, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ทรัมป์มีคำสั่งให้โจมตีด้วยขีปนาวุธในพื้นที่ภูมิภาคอัสซาดในซีเรีย เพื่อตอบโต้การโจมตีเคมีที่คอนชัยคูน ค.ศ. 2020 และการโจมตีเคมีที่ดูมาในปีต่อมาตามลำดับ[83] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2018 ทรัมป์ประกาศว่า "เรามีชัยเหนือรัฐอิสลามแล้ว" ซึ่งขัดแย้งกับการประเมินของกระทรวงกลาโหม และมีคำสั่งถอนทหารออกจากซีเรีย[84] ในวันต่อมา พลเอกเจมส์ แมตทิส ประกาศลาออกเพื่อต่อต้านการกระทำดังกล่าว โดยกล่าวว่าการตัดสินใจของทรัมป์ว่าเป็นการละทิ้งพันธมิตรชาวเคิร์ดของสหรัฐที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับไอซิส (รัฐอิสลาม) ในเดือนตุลาคมปี 2019 หลังจากการหารือกับเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี ทหารจากกองทัพบกสหรัฐในซีเรียตอนเหนือก็ถูกถอนออกจากพื้นที่ และตุรกีได้บุกโจมตีตอนเหนือซีเรียโดยโจมตีและขับไล่ชาวเคิร์ดที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ[85] ในเดือนนั้น สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 354–60 เสียง ประณามการที่ทรัมป์ถอนทหารสหรัฐออกจากซีเรียในฐาน "ละทิ้งพันธมิตรสหรัฐ และเป็นบ่อนทำลายการต่อสู้กับ ISIS และก่อให้เกิดหายนะด้านมนุษยธรรม"

การจัดสรรบุคลากร

แก้

ฝ่ายบริหารในรัฐบาลทรัมป์มีอัตราการหมุนเวียนสูงโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงาน ณ ทำเนียบขาว ข้อมูลระบุว่ามีเจ้าหน้าที่กว่าร้อยละ 34 ลาออกหรือถูกไล่ออกเมื่อสิ้นสุดปีแรกในการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2018 ผู้ช่วยอาวุโสของฝ่ายบริหารกว่าร้อย 61 ลาออกจากตำแหน่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ 141 คนจากฝ่ายบริหารทั่วไปซึ่งลาออกในปีที่แล้วซึ่งตัวเลขทั้งสองรายการถือเป็นสถิติสูงสุดของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงสองปีแรก ในจำนวนนี้รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งเพียง 25 วัน และเลขาธิการสื่อมวลชนอย่างฌอน สไปเซอร์ ทรัมป์เป็นที่วิจารณ์จากการดูหมิ่นและแสดงความเห็นต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาในที่สาธารณะ โดยใช้คำพูดเสียดสีรุนแรง เช่น ไร้ความสามารถและโง่[86]

มีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวหรือผู้ช่วยประธานาธิบดีสี่รายในรัฐบาลทรัมป์ หัวหน้าคนแรกอย่าง ไรนซ์ พรีบัส ดำรงตำแหน่งเพียง 7 เดือนก่อนจะถูกแทนที่ด้วยพลเอก จอห์น เอฟ. เคลลี ซึ่งประกาศลาออกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2018 จากความไม่พอใจกรณีการถูกลดบทบาทและได้รับการดูหมิ่นจากทรัมป์[87] มิค มัลเวนีย์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและงบประมาณ (OMB) เข้ามารับตำแหน่งต่อ และถูกแทนที่โดยมาร์ก มีโดวส์ เดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 นอกจากนี้ ทรัมป์ยังสูญเสียสมาชิกคณะรัฐมนตรีเดิมไปถึง 3 รายจากทั้งหมด 15 คนภายในปีแรกของการรับตำแหน่ง[88] ทอม ไพรซ์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขถูกบังคับให้ลาออกในเดือนกันยายน ค.ศ. 2017 จากกรณีการใช้เครื่องบินส่วนตัว และเครื่องบินของกองทัพมากเกินความจำเป็น[89]

ทรัมป์ยังมีการตอบสนองต่อการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งระดับสองในฝ่ายบริหารที่ล่าช้า โดยให้เหตุผลว่าหลายตำแหน่งไม่มีความจำเป็นต่อการบริหาร จากข้อมูลในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2017 พบว่าผู้ดำรงตำแหน่งย่อยในคณะรัฐมนตรีกว่า 100 ตำแหน่งยังไม่ได้รับการเสนอชื่อ นอกจากนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อในตำแหน่งระดับสูงเพียง 433 รายจากตำแหนงว่าง 706 ตำแหน่ง

การรับมือกับไวรัสโคโรนา

แก้

ในเดือนธันวาคม 2019 ไวรัสโคโรนาได้แพร่ระบาดขึ้นในอู่ฮั่น และแพร่กระจายทั่วโลกภายในไม่กี่สัปดาห์[90] ผู้ติดเชื้อรายแรกได้รับการยืนยันในสหรัฐเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2020[91] การระบาดได้รับการประกาศทางการว่าเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโดย Alex Azar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและการบริการมนุษย์ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2020 ในเดือนต่อมา ทรัมป์กล่าวต่อสาธารณชนว่าการระบาดในสหรัฐร้ายแรงน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่และอยู่ภายใต้การควบคุม ในขณะเดียวกันเขากลับกล่าวยอมรับสิ่งที่ตรงกันข้ามออกมาในการสนทนาส่วนตัวกับ บ็อบ วูดวาร์ด ในเดือนมีนาคม โดยทรัมป์บอกกับวูดวาร์ดว่าเขาจำเป็นต้องให้สัมภาษณ์ในเชิงบวกเพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2020 การจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ และไบออนเทคล็อตแรกได้เดินทางถึงสหรัฐ และถูกส่งไปยัง 50 รัฐทั่วประเทศ

พ้นจากตำแหน่ง

แก้
 
ผลการเลือกตั้งทั่วประเทศอย่างเป็นทางการในปี 2020 ซึ่งทรัมป์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไบเดนไปด้วยคะแนน Electoral Vote 232 - 306

ดอนัลด์ ทรัมป์ ประสบกับความยากลำบากในการหาเสียงในการเลือกตั้งสมัยที่สอง[92] โพลทุกสำนักต่างรายงานว่าเขามีคะแนนตามหลังไบเดินมากถึง 10 จุด คะแนนความนิยมของเขายิ่งลดน้อยลงในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และความรุนแรงจากการประท้วงในประเทศทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อดีตเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญของทำเนียบขาว และคณะรัฐมนตรีต่างทยอยออกมาพูดถึงทรัมป์ในแง่ลบ และสมาชิกพรรคแทบทุกคนต่างถอดใจว่าเขาจะแพ้การเลือกตั้ง

ทรัมป์แพ้การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปี 2020 ส่งผลให้เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ที่ไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้เป็นสมัยที่สอง (และคนแรกในรอบ 28 ปีต่อจากจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช)[93] แม้เขาจะสามารถรักษาฐานเสียงของตนเองไว้ได้ในหลายรัฐ[94] (โดยเฉพาะตอนกลางและทางเหนือของประเทศที่ประชากรมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม) แต่ก็เสียคะแนนให้แก่ไบเดินในหลายรัฐทางตะวันตกและตะวันออก[95] โดยจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งพบว่า ทรัมป์ล้มเหลวในการรับมือโควิด-19[96] และไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในด้านสิทธิมนุษยชน และการเหยียดผิวจากกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์[97] รวมทั้งการประกาศสงครามการค้า, การตั้งกำแพงภาษีกับจีน และอีกหลายประเทศได้ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจลามไปทั้งโลก[98] ในขณะที่ประชาชนกว่า 74 ล้านเสียง ที่ยังคงเชื่อมั่นและเทคะแนนให้เขาเนื่องมาจากความมั่นใจในนโยบายทางเศรษฐกิจและการปราบปรามผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งการแก้ปัญหาการว่างงาน รัฐจอร์เจียได้ประกาศนับคะแนนใหม่ในขณะที่ไบเดินมีคะแนนนำทรัมป์ 14,000 คะแนน ท้ายที่สุดไบเดินเอาชนะได้ในรัฐนี้ โดยในช่วงแรกของการนับคะแนนทั่วประเทศทรัมป์มีคะแนนนำไบเดิน แต่เมื่อนับบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ คะแนนของไบเดินก็ตีตื้นขึ้นมาและเอาชนะไปได้หลายรัฐ[99] ไบเดินยังถือเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ที่ได้รับคะแนนมหาชนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์จำนวน 81 ล้านเสียง[100] ทรัมป์ลงจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2021

ดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง (ค.ศ. 2025–2029)

แก้

การหาเสียง

แก้
 
ทรัมป์ขณะหาเสียงในเมืองฟีนิกซ์ (รัฐแอริโซนา) 6 มิถุนายน ค.ศ. 2024

ทรัมป์ประกาศลงสมัครเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 พร้อมกับจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการเลือกตั้ง[101] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2023 ศาลสูงสดแห่งรัฐโคโลราโดได้ตัดสินให้ทรัมป์ถูกตัดสิทธิ์การเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคริพับลิกัน เนื่องจากการสนับสนุน และยุยงเหตุโจมตีรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2021 ต่อมา ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2024 ศาลสูงสุดสหรัฐรับรองคุณสมบัติให้แก่ทรัมป์อีกครั้ง โดยตัดสินว่าศาลแห่งรัฐโคโลราโดขาดอำนาจในการบังคับใช้มาตรา 3 จากการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14 ซึ่งห้ามผู้ก่อความไม่สงบจากการดำรงตำแหน่งของรัฐบาลกลาง[102]

ทรัมป์มีการใช้วาทกรรมที่รุนแรงมากขึ้นในการหาเสียงครั้งนี้เทียบกับครั้งที่ผ่านมา[103][104] เขาวิจารณ์ความล้มเหลวในการบริหารของไบเดิน และมุ่งเป้าโจมตีผู้สมัครจากเดโมแครตซึ่งก็คือกมลา แฮร์ริส ในฐานะรองประธานาธิบดีคนปัจจุบันซึ่งมีส่วนทำให้การบริหารประเทศล้มเหลว ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะติดอาวุธให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมและเอฟบีไอเพื่อต่อต้านฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของเขา รวมถึงสนับสนุนการใช้กำลังทหารติดตามนักการเมืองจากพรรคเดโมแครตซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองตรงข้าม ทรัมป์ใช้ถ้อยคำต่อต้านผู้อพยพเข้าเมืองที่รุนแรง และลดทอนความเป็นมนุษย์มากกว่าในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี การยอมรับและสนับสนุนลัทธิหัวรุนแรงฝ่ายขวาจัดของเขา และการใช้วาทศิลป์ที่รุนแรงมากขึ้นต่อศัตรูทางการเมืองได้รับการอธิบายโดยนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการว่าเป็นประชานิยม และเผด็จการฟาสซิสต์ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในการหาเสียงของประธานาธิบดีคนใดมาก่อน[105] ทรัมป์แสดงเจตนาในการปฏิวัตินโยบายการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลของไบเดิน โดยใช้คำพูดเปรียบเปรยถึงผู้อพยพเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการก่ออาชญากรรมในสหรัฐ

 
ภาพประชาชนผู้สนับสนุนพรรคริพับลิกันในการหาเสียงปี 2024

ประชาชนและผู้ติดตามจำนวนหนึ่งแสดงความกังวลต่ออายุที่มากขึ้นและปัญหาทางสุขภาพของทรัมป์ เขายังยืนกรานปฏิเสธการยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว และยังเชื่อว่ามีการโกงเลือกตั้งอย่างเปิดเผย และจะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ต่อมา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 ทรัมป์รอดชีวิตจากเหตุลอบสังหารในขณะหาเสียงในรัฐเพนซิลเวเนีย ในขณะที่ผู้ก่อเหตุได้ถูกวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่ ประธานาธิบดีไบเดินออกมาประณามการกระทำดังกล่าว และกล่าวว่าสหรัฐไม่มีพื้นที่สำหรับความรุนแรงหรือการปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างด้วยกำลังและการประทุษร้าย[106] สองวันต่อมา ในการประชุมสามัญของริพับลิกัน พรรคมีมติเสนอชื่อทรัมป์พร้อมด้วยวุฒิสภาชิกอย่าง เจดี แวนซ์ เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ทรัมป์กล่าวกับผู้ฟังในขณะหาเสียงถึงความพยายามลอบสังหารเขาเมื่อเร็ว ๆ นี้ และกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าพยายามขัดขวางความพยายามของเขา การชุมนุมครั้งนี้มีผู้มีชื่อเสียงได้รับเชิญหลายคน ซึ่งล้วนสะท้อนความรู้สึกที่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ ในขณะที่การสืบสวนเรื่องภัยคุกคามต่อทรัมป์ยังคงดำเนินต่อไป[107]

การหาเสียงครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากอีลอน มัสก์ นักธุรกิจชื่อดัง โดยมัสก์มีชื่อเป็นผู้บริจาคให้แก่แคมเปญหาเสียงของทรัมป์สูงสุดเป็นอันดับสองเมื่อสิ้นปี 2023 มัสก์สนับสนุนแนวคิดของทรัมป์ในการบอกกับประชาชนว่าแดโมแครตคือภัยต่อความมั่นคงของชาติ[108][109] ทีมงานของทรัมป์เน้นลงพื้นที่ใน 7 รัฐสำคัฐซึ่งล้วนแต่เป็นรัฐสมรภูมิหรือรัฐที่มีแนวโน้มว่าผลการเลือกตั้งอาจผันผวน อันประกอบไปด้วย แอริโซนา, วิสคอสซิน, มิชิแกน, เพนซิลเวเนีย, เนวาดา, นอร์ทแคโรไลนา และฟลอริดา แม้โพลหลายสำนักจะรายงานไปในทิศทางเดียวกันว่าทรัมป์มีคะแนนตามหลังในรัฐดังกล่าวเล็กน้อย

ได้รับชัยชนะ

แก้

ทรัมป์คว้าชัยเหนือกมลา แฮร์ริส ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการพบว่าทรัมป์เอาชนะได้ถึง 30 รัฐซึ่งรวมถึง 7 รัฐสมรภูมิสำคัญ[110] นอกจากนี้ เขายังรักษาฐานเสียงในรัฐอนุรักษ์นิยมได้ทุกรัฐในภูมิภาคตอนกลางและตอนเหนือ โดยได้รับชัยชนะขาดลอยในหลายรัฐ เช่น ไวโอมิง, ยูทาห์, โอคลาโฮมา, ลุยเซียนา และอาร์คันซอ เขายังได้รับเสียงสนับสนุนในรัฐแคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์กซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของเดโมแคตรมาเกือบหนึ่งศตวรรษด้วยคะแนนเกือบ 5 ล้าน และ 3.5 ล้านคะแนนตามลำดับ ด้วยวัย 78 ปีในวันเลือกตั้ง เขาจึงเป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทรัมป์ประกาศชัยชนะอย่างไม่เป็นทางการในช่วงดึกตามเวลาท้องถิ่น ณ เวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา โดยเจดี แวนซ์ จะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่ 50 ทั้งคู่มีกำหนดเข้าพิธีสาบานตนในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2025[111]

ทรัมป์ถือเป็นประธานาธิบดีคนที่สองที่ดำรงตำแหน่งสองสมัยแบบไม่ต่อเนื่องกัน นับตั้งแต่โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ชนะการเลือกตั้งใน ค.ศ. 1892 เขายังกลายเป็นผู้สมัครคนแรกในรอบกว่า 20 ปีจากพรรครีพับลิกันที่ชนะคะแนนมหาชน (Popular Vote) ซึ่งเขาล้มเหลวมาสองครั้งก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้ง ค.ศ. 2016 และ 2020 ในครั้งนี้เขาได้รับคะแนนมหาชนเกือบ 75 ล้านเสียง

นโยบาย

แก้

ทรัมป์ประกาศอย่างแข็งกร้าวตั้งแต่ก่อนหาเสียงว่าจะกลับมาฟื้นฟูประเทศภายใต้นโยบาย "Make America Great Again" อีกครั้ง โดยเฉพาะการปราบปราบผู้ลักลอบอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และการตั้งกำแพงภาษีเพื่อลดการถูกเอาเปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมจากชาติมหาอำนาจด้วยกัน

การต่างประเทศ

แก้

แม้จะยังไม่เข้าพิธีสาบานตนเพื่อดำรงตำแหน่งในสมัยที่สอง ทว่าในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 ทรัมป์เริ่มต้นนโยบายต่างประเทศด้วยการแต่งตั้งทูตสหรัฐประจำประเทศอิสราเอล รวมทั้งแต่งตั้งสตีฟ วิตคอฟฟ์ ในฐานะผู้แทนพิเศษประจำภูมิภาคตะวันออกกลางเพื่อกำกับดูแลนโยบายตามบัญชาของประธานาธิบดี นอกจากนี้ บีบีซียังรายงานว่า ทรัมป์แต่งตั้งพีท เฮกเซธ และมาร์โก รูบิโอ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนต่อไปตามลำดับ[112][113]

การจัดสรรบุคลากร

แก้

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 ทรัมป์แต่งตั้งอีลอน มัสก์ และวิเวก รามสวามี เข้ารับตำแหน่งผู้ดูแลกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลซึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ โดยเป็นหน่วยงานที่ไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล[114] ต่อมา เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ทรัมป์เสนอชื่อโรเบิร์ต เอฟ.เคนเนดี จูเนียร์ รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐ นำมาซึ่งกระแสวิจารณ์และการต่อต้านจากสมาชิกพรรคเนื่องจากจุดยืนการต่อต้านวัคซีนของนายโรเบิร์ต[115][116] นอกจากนี้ ทรัมป์ยังแต่งตั้งแคโรไลน์ เลวิตต์ ดำรงตำแหน่งโฆษกหญิงประจำทำเนียบขาว โดยเลวิตต์มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ช่วยรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ตั้งแต่การเลือกตั้งสมัยแรกในช่วง และเป็นอดีตผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของพรรคริพับลิกัน โดยเลวิตต์จะเป็นว่าที่โฆษกประจำทำเนียบขาวที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์[117]

สื่อสังคม

แก้

ทรัมป์ถือเป็นหนึ่งในบุคคลระดับโลกที่มีชื่อเสียงในด้านการใช้โซเชียลมีเดีย[118] โดยเขามีผู้ติดตามจำนวนมากนับตั้งแต่สมัครบัญชีทวิตเตอร์ใน ค.ศ. 2009 และมีจำนวนผู้ติดตามสูงถึง 90 ล้านคนทั่วโลก โดยตลอดระยะเวลา 12 ปี เขาทำการโพสต์ในทวิตเตอร์ไปถึง 57,000 ครั้ง โดยเป็นการโพสต์ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง 25,000 ครั้ง[119] เขายังชื่นชอบการติดต่อสื่อสารผ่าน เฟซบุ๊ก โดยมักใช้เป็นพื้นที่ส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โจมตีคู่แข่งทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่ก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง เช่น บารัก โอบามา และโจ ไบเดิน รวมถึง แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับทรัมป์มาตลอดตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งในช่วงแรก[120] บัญชีเฟซบุ๊กของทรัมป์ถูกระงับในเดือนมกราคมปี 2021[121]

งานอื่น

แก้

ใน ค.ศ. 2004 ทรัมป์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยทรัมป์ ณ เมืองนิวยอร์ก บริษัทที่ขายด้านอสังหาริมทรัพย์ในราคาสูงถึง 35,000 ดอลลาร์[122] อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการเปลี่ยนชื่อเป็น Trump Entrepreneur Initiative ในปี 2010 เนื่องจากการใช้ชื่อ "University" โดยที่บริษัทดังกล่าวไม่มีสถานะเป็นสถานศึกษาถือว่าขัดต่อกฎหมายรัฐ นำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อบริษัทโดยรัฐนิวยอร์กในข้อหาการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อสาธารณะและเข้าข่ายฉ้อโกงผู้บริโภค รวมถึงการฟ้องร้องโดยรัฐบาลกลางต่อทรัมป์และบริษัทในข้อหาให้ข้อมูลเท็จและสร้างความเข้าใจผิดแก่นักศึกษา ไม่นานหลังจากชนะเลือกตั้งใน ค.ศ. 2016 ทรัมป์ยอมจ่ายเงินจำนวน 25 ล้านดอลลาร์เพื่อยุติการฟ้องร้องดังกล่าว

ทรัมป์ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ ดอนัลด์ เจ. ทรัมป์ มูลนิธิเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1988[123] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 ถึง 2006 ทรัมป์บริจาคเงินให้กับมูลนิธิของเขาจำนวน 5.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากบริจาคเงินทั้งหมด 65,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2007-08 เขายุติการบริจาคเงินส่วนบุคคลใด ๆ ให้กับองค์กรการกุศลซึ่งได้รับเงินสนับสนุนหลายล้านดอลลาร์จากกองทุนอื่น ๆ ในปี 2016 หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์รายงานว่าองค์กรการกุศลดังกล่าวได้กระทำการละเมิดกฎหมายและจริยธรรมที่อาจเกิดขึ้นหลายประการ รวมถึงการถูกกล่าวหาว่าเป็นการจัดการตนเองและการหลีกเลี่ยงภาษี นอกจากนี้ ในปี 2016 อัยการสูงสุดของนิวยอร์กได้ตัดสินให้มูลนิธิดังกล่าวฝ่าฝืนกฎหมายของรัฐ สำหรับการเรี่ยไรเงินบริจาคโดยไม่ผ่านการตรวจสอบภายนอกประจำปี และสั่งให้ยุติกิจกรรมระดมทุนในนิวยอร์กทันที ทีมงานของทรัมป์ประกาศยุติการเคลื่อนไหวของมูลนิธิในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2016[124] ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2018 สำนักงานอัยการสูงสุดแห่งนิวยอร์กได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อมูลนิธิของทรัมป์ และบุตรทุกคนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว โดยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน 2.8 ล้านดอลลาร์และกำหนดบทลงโทษเพิ่มเติม[125] มูลนิธิภายใต้ความดูแลของเขายุติบทบาทสิ้นเชิงในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2018 รวมถึงยุติการเบิกจ่ายทรัพย์สินให้แก่องค์การการกุศลอื่น ๆ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 ผู้พิพากษาแห่งรัฐนิวยอร์กมีคำสั่งให้ทรัมป์จ่ายเงินชดเชยจำนวน 2 ล้านดอลลาร์ให้กับกลุ่มองค์กรการกุศลที่ใช้เงินของมูลนิธิในทางที่ผิด ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นเงินทุนในการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา[126][127]

ในช่วงทศวรรษ 1980 ธนาคารมากกว่า 70 แห่งให้เงินกู้ยืมแก่ทรัมป์เป็นจำนวนเงินสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์ หลังจากการล้มละลายของบริษัทของเขาในต้นทศวรรษ 1990 ธนาคารรายใหญ่ส่วนใหญ่ ยกเว้นดอยซ์แบงก์ปฏิเสธที่จะอนุมัติการกู้ยืมแก่เขา หลังเหตุการณ์โจมตีรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ธนาคารได้ตัดสินใจที่จะไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเงินใด ๆ กับทรัมป์หรือบริษัทของเขาอีก[128]

ยูเอสเอทูเดย์ รายงานว่าทรัมป์และธุรกิจของเขามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินคดีทางกฎหมายของรัฐและรัฐบาลกลางมากกว่า 4,000 ครั้ง[129]

ทรัมป์ยังมีส่วนร่วมในวงการมวยปล้ำของสหรัฐ โดยในปี 2013 ดับเบิลยูดับเบิลยูอี สมาคมมวยปล้ำชื่อดังได้บรรจุชื่อทรัมป์เข้าสู่หอเกียรติยศประจำปี 2013 ในหมวด Celebrity (ผู้มีชื่อเสียงที่ได้รับการจดจำในการมีบทบาทและมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับสมาคม)[130] โดยในการแข่งขันเรสเซิลเมเนียครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2007 ทรัมป์ได้เป็นแขกรับเชิญในรายการ ณ เวลานั้น ทรัมป์มีสถานะเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์และนักธุรกิจ เขาได้รับบทบาทเป็นหุ้นส่วนของสมาคมก่อนจะแตกคอกับวินซ์ แม็คมาน ประธานบริหารสมาคม ทำให้ทั้งคู่มาเผชิญหน้ากันในครั้งนี้ โดยต่างฝ่ายต่างสนับสนุนนักมวยปล้ำฝั่งละ 1 คน ซึ่งทรัมป์อยู่ฝั่งของ บ็อบบี้ แลชลีย์ ส่วนแม็คมานเลือกอูมากา พร้อมกับเดิมพันว่าหากนักมวยปล้ำของใครแพ้ ฝั่งนั้นจะต้องโกนหัวต่อหน้าผู้ชมในสนาม ปรากฏว่า แลชลีย์ เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะได้สำเร็จ ทำให้ทรัมป์จัดการจับแม็คมานโกนหัวบนเวที

ทรัมป์ยังเป็นที่จดจำในฐานะนักเขียนกำบัง โดยมีผลงานเขียนหนังสือ 19 เล่ม[131] เล่มแรกคือ Trump: The Art of the Deal (ค.ศ. 1987) มียอดขายอันดับหนึ่งโดยอันดับหนังสือขายดีเดอะนิวยอร์กไทมส์ แม้ทรัมป์จะได้รับเครดิตในฐานะผู้เขียนร่วม แต่เนื้อหาเกือบทั้งหมดนั้นเขียนโดยโทนี ชวาร์ตซ์ หนังสือเล่มนี้ทำให้ทรัมป์มีชื่อเสียงในฐานะ "สัญลักษณ์ของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ"[132]

ความสัมพันธ์กับสื่อ

แก้
 
ทรัมป์ขณะให้สัมภาษณ์กับสื่อ ณ ทำเนียบขาวในปี 2017

ทรัมป์มีชื่อเสียงในด้านการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมาตลอดหลายปี โดยเฉพาะเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2016 เขามีความสัมพันธ์ในแง่ที่เรียกว่า "ทั้งรักทั้งเกลียด" (Love - Hate relationship) กับสื่อต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ[133] เขามักเรียกสื่อที่เขียนข่าวโจมตีเขาในแง่ลบว่าเป็นสื่อจอมลวงโลก (Fake News Media) และกล่าวว่าสื่อเหล่านี้เป็นศัตรูต่อประชาชนรวมทั้งประเทศชาติ ในฐานะประธานาธิบดีทรัมป์เปิดเผยต่อสาธารณะชนอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการเพิกถอนหนังสือรับรองของนักข่าวที่เขามองว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงไม่สร้างสรรค์[134] ทีมกฎหมายของเขาทำการเพิกถอนบัตรประจำตัวของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาว 2 คน ซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการกระทำดังกล่าว หลายต่อหลายครั้งที่ทรัมป์ถูกโจมตีว่ามักใช้วาจาข่มขู่ผู้สื่อข่าวหลายครั้ง ในช่วงต้นปี 2020 ทีมแคมเปญหาเสียงของทรัมป์ฟ้องร้องหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ เดอะวอชิงตันโพสต์ และ ซีเอ็นเอ็นในข้อหาหมิ่นประมาท ก่อนที่คดีดังกล่าวจะถูกยกฟ้อง

ภาพลักษณ์ต่อสาธารณชน

แก้

จากผลสำรวจโดย "C-Span" ในปี 2021 นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มจัดอันดับให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่แย่ที่สุดเป็นอันดับสี่ในการเมืองสหรัฐ เขาได้รับคะแนนต่ำสุดในหัวข้อความเป็นผู้นำทั้งอำนาจทางศีลธรรมและทักษะการบริหาร ในขณะที่ผลสำรวจของสถาบันวิจัยวิทยาลัยเซียนาจัดอันดับให้ทรัมป์อยู่ในอันดับ 43 จากประธานาธิบดีจำนวน 45 คน รวมถึงได้รับการจัดอันดับในกลุ่มท้าย ๆ ในอีกหลายประเภท รวมถึงการจัดอันดับโดยสมาคมวิชาชีพนักรัฐศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับดังกล่าวได้รับการวิจารณ์ในด้านความเป็นกลาง ซึ่งคะแนนทั้งหมดอาจมาจากผลสำรวจจากประชาชนเพียงบางกลุ่มและไม่สามารถสะท้อนความนิยมในภาพรวมทั้งประเทศ

ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีคนเดียวที่ไม่เคยได้รับคะแนนเสียงในการอนุมัติ (คะแนนความเชื่อถือในฐานะประธานาธิบดี) ถึงร้อยละ 50 ในการสำรวจความคิดเห็นของ Gallup ซึ่งมีขึ้นในปี 1938 คะแนนของเขาแสดงให้เห็นช่องว่างระหว่างพรรคริพับลิกันที่สูงเป็นประวัติการณ์กว่าร้อยละ 88 และร้อยละ 7 ในบรรดาสมาชิกพรรคเดโมแครตจนถึงเดือนกันยายน 2020[135] ภายหลังการดำรงตำแหน่งครบวาระ คะแนนนิยมของทรัมป์อยู่ระหว่าง 29 ถึง 34 เปอร์เซ็นต์ซึ่งต่ำที่สุดในบรรดาประธานาธิบดีทุกคนนับตั้งแต่เริ่มระบบการเลือกตั้งสมัยใหม่ และมีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 41 เปอร์เซ็นต์ตลอดการดำรงตำแหน่งของเขา[136]

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่บ้างในประชากรหลายล้านคน จากผลสำรวจชาวอเมริกันในหัวข้อชายที่เป็นที่นิมยมที่สุดในสหรัฐพบว่า ทรัมป์มีคะแนนเป็นอันดับสองรองจากบารัก โอบามา ในปี 2017 และ 2018 และเป็นอันดับหนึ่งร่วมกับโอบามาในปีต่อมา ก่อนจะได้รับคะแนนอันดับหนึ่งในปี 2020[137][138] นับตั้งแต่ Gallup ทำผลสำรวจในปี 1948 ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่ได้คะแนนนิยมอันดับหนึ่งในปีแรกของการดำรงตำแหน่ง[139] จากผลสำรวจในอีก 134 ประเทศยังชี้ให้เห็นอีกว่าทรัมป์เป็นที่ยอมรับเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเท่านั้น โดยจำนวน 29 ประเทศระบุว่าเขาเป็นที่ชื่นชอบมากกว่าโอบามา[140] คะแนนนิยมของเขายังลดลงอย่างมากในบรรดาประเทศพันธมิตรหลักของสหรัฐ และกลุ่มผู้นำของประเทศมหาอำนาจกลุ่ม 7 เมื่อเทียบกับประธานาธิบดีคนก่อนหน้า คะแนนนิยมของทรัมป์ตกต่ำและใกล้เคียงกับคะแนนในช่วงสองปีสุดท้ายของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในช่วงกลางปี 2020 จากผลสำรวจของสำนักวิจัยพิว พบว่าคะแนนความน่าเชื่อถือของเขาน้อยกว่าสี จิ้นผิง และ วลาดีมีร์ ปูติน[141]

ทรัมป์เป็นที่วิจารณ์ถึงการกล่าวข้อความเท็จจำนวนมาก ทั้งก่อนและระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี[142] ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นอัตลักษณ์ทางการเมืองของเขาอย่างหนึ่ง[143] คำให้การที่เป็นเท็จและก่อให้เกิดการเข้าใจผิดของทรัมป์ได้รับการบันทึกไว้โดยผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายครั้ง (Fact-checking) ซึ่งรวมถึงสื่อหลักอย่างเดอะวอชิงตันโพสต์ ซึ่งรวบรวมคำกล่าวที่เป็นเท็จหรือทำให้เข้าใจผิดได้ 30,573 รายการตลอดระยะเวลาสี่ปีในตำแหน่งของเขา อัตราดังกล่าวเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ยมากถึง 6 รายการต่อวันในช่วงปีแรกของการดำรงตำแหน่ง และ 39 รายการต่อวันในปีสุดท้าย แม้ในบรรดาข้อความดังกล่าวอาจไม่ส่งผลกระทบใด ๆ เช่น การกล่าวอ้างว่ามีผู้สนับสนุนออกมาต้อนรับเขามากเป็นประวัติการณ์ในระหว่างการรณรงค์หาเสียง แต่อีกหลายข้อความก็นำมาซึ่งความเสียหายในวงกว้าง เช่น การให้ข้อมูลเท็จกรณีการระบาดทั่วของโควิด-19 ซึ่งเขาถูกกกล่าวหาว่าบิดเบือนข้อเท็จจริง[144] ทำให้การตอบสนองล่าช้าและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

การโจมตีวิธีการลงคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าทางไปรษณีย์ในการเลือกตั้ง 2020 ส่งผลให้คะแนนนิยมของเขาต่ำลง สื่อแสดงความกังวลเพิ่มเติมว่าการใช้วาทกรรทของเขาอาจนำสู่ความขัดแย้งในวงกว้างและสร้างความเกลียดชังมากขึ้น ผู้ต้องหาจำนวนมากถูกสอบสวนหรือดำเนินคดีในข้อหากระทำความรุนแรงและปลุกปั่นอาชญากรรมในระหว่างการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ รวมถึงผู้เข้าร่วมเหตุการณ์โจมตีรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2021 โดยบางส่วนอ้างถึงวาทกรรมของทรัมป์ในการโต้แย้งว่าพวกเขาไม่สมควรถูกตำหนิหรือควรได้รับการลดโทษ

การแสดงความเห็นหรือวาทกรรมในหลายบริบทของทรัมป์ถูกมองเป็นการเหยียดเชื้อชาติ[145][146] การศึกษาและการสำรวจหลายรายการพบว่าทัศนคติเหยียดเชื้อชาติดังกล่าว กระตุ้นให้ทรัมป์ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลทางการเมือง และมีความสำคัญมากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจในการพิจารณาความจงรักภักดีของผู้มีสิทธิเลือกตั้งของทรัมป์[147] ในขณะที่อาการกลัวอิสลามและการเหยียดเชื้อชาติเป็นตัวบ่งชี้ทัศนคติของกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์อย่างมีนัยสำคัญ[148] ในปี 1975 เขาได้ยุติคดีฟ้องร้องของกระทรวงยุติธรรม โดยกล่าวหาว่ามีการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยต่อผู้เช่าซึ่งเป็นประชากรผิวดำ นอกจากนี้ เขายังถูกกล่าวหาว่าเจตนาเหยียดเชื้อชาติโดยแสดงความเห็นว่ากลุ่มวัยรุ่นผิวดำ และวัยรุ่นชาวลาตินมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราสตรีผิวขาวในคดีนักวิ่งจ๊อกกิ้งที่เซ็นทรัลพาร์คเมื่อปี 1989 แม้ว่าพวกเขาจะพ้นผิดจากหลักฐานดีเอ็นเอในปี 2002 ก็ตาม

ทรัพย์สิน

แก้

ทรัมป์ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีฐานะร่ำรวยมากที่สุดของสหรัฐ[6] เขาเริ่มสร้างเนื่อสร้างตัวจากธุรกิจที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากรุ่นพ่อ[149] และได้ขยายกิจการไปยังหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น กาสิโน โรงแรม ที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม[150] อีกทั้งยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัททรัมป์ออร์กาไนเซชัน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา[6] ในปี 2018 เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานชีวประวัติและข้อมูลความร่ำรวยของทรัมป์ว่าทรัมป์มีความมั่งคั่งกว่า 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่รวมอสังหาริมทรัพย์และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ทั้งนี้ ความมั่งคั่งของทรัมป์ยังคงมีความคลุมเคลือ โดยเขาเคยเคยเปิดเผยว่ามีทรัพย์สินมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์[151] ในขณะที่บลูมเบิร์กประเมินว่าเขามีทรัพย์สิน 3 พันล้านดอลลาร์ และนิตยสารฟอร์จูนประเมินว่าเขามีทรัพย์สิน 3.9 พันล้านดอลลาร์[152]

 
ทรัมป์ทาวเวอร์ ตึกระฟ้าหรูหราย่านแมนแฮตตันในนิวยอร์กถือเป็นกิจการหลักที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่ทรัมป์

อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทรัมป์เปิดเผยว่าธุรกิจของตนได้รับความเสียหายจากการล็อกดาวน์ โดยรายได้จากโรงแรมในเครือของทรัมป์ทั้งในวอชิงตันและลาสเวกัสลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง รวมถึงธุรกิจกีฬากอล์ฟ ทำให้รายได้โดยรวมของเขาลดลงจนเหลืออยู่ที่ประมาณ 273-308 ล้านดอลลาร์ ในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินครั้งสุดท้ายในฐานะประธานาธิบดี ทรัมป์ได้ลงรายละเอียดความเสียหายที่เกิดจากโควิด-19 ในตอนที่ธุรกิจท่องเที่ยวมากมายได้รับผลกระทบ โดยสมัยที่เป็นผู้นำสหรัฐทรัมป์ได้ต่อต้านนโยบายที่จะชะลอการแพร่ระบาดผ่านการใส่หน้ากากอนามัยและยืนยันว่าสามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้อย่างปลอดภัย ข้อมูลการเงินที่ครอบคลุมตลอดทั้งปี 2020 จนถึง 20 วันแรกของปี 2021 ชี้ให้เห็นว่า รายได้จากโรงแรมทรัมป์ในวอชิงตัน ลดลงเหลือ 15.1 ล้านดอลลาร์จากเดิม 40.5 ล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อนหน้า[153] ขณะที่สาขาลาสเวกัส ยอดขายที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมลดลงเหลือ 9.2 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 23.3 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ กอล์ฟรีสอร์ตที่เมืองไมแอมี ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญอีกแห่งของทรัมป์ ก็มีรายได้ลดลงเหลือ 44 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 77 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า ขณะที่สนามกอล์ฟทั้งในอังกฤษและไอร์แลนด์ก็มีรายได้ลดลงประมาณ 2 ใน 3 ของที่เคยทำได้ในปีก่อนหน้า โดยข้อมูลจากการจัดอันดับมหาเศรษฐีของบลูมเบิร์ก พบว่า ทรัพย์สินของทรัมป์ลดลงราว 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 21,525 ล้านบาท เหลือ 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 70,725 ล้านบาทหลังก้าวลงจากตำแหน่ง[6]

วัฒนธรรมร่วมสมัย

แก้

ทรัมป์เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลกที่ปรากฎตัวในสื่อล้อเลียนทางโทรทัศน์และเพลงจำนวนมาก ชื่อของเขาปรากฎในเนื้อเพลงหลายร้อยเพลงระหว่างปี 1989 ถึง 2015 แม้จะส่งผลในเชิงบวกต่อการทำธุรกิจของเขาในช่วงก่อนลงเล่นการเมือง ทว่าได้ส่งผลเชิงลบในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ[154]

เชิงอรรถ

แก้
  1. เสียงอ่านภาษาอังกฤษ: /trʌmp/

อ้างอิง

แก้
  1. "Donald Trump". Biography (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  2. Samuels, Brett (2024-11-06). "Donald Trump wins presidency, Kamala Harris loses in tight election". The Hill (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  3. "The Trump Organization | Luxury Real Estate Portfolio". www.trump.com (ภาษาอังกฤษ).
  4. https://edition.cnn.com/2021/04/07/politics/donald-trump-forbes-billionaires/index.html
  5. "Donald Trump's life story: From hotel developer to president". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2021-03-01. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 "Donald (John) Trump biography". biography.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-08. สืบค้นเมื่อ 2008-07-06.
  7. "The Art of the Greater Fool: How the Shuttle Business Got Grounded". The Washington Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-12. สืบค้นเมื่อ 2008-05-22.
  8. "Trump World Tower". Emporis. สืบค้นเมื่อ 2008-05-22.
  9. "What is Trump Worth?". Forbes. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-08. สืบค้นเมื่อ 2008-07-04.
  10. Franks, Andrew S.; Hesami, Farhang (2021-09). "Seeking Evidence of The MAGA Cult and Trump Derangement Syndrome: An Examination of (A)symmetric Political Bias". Societies (ภาษาอังกฤษ). 11 (3): 113. doi:10.3390/soc11030113. ISSN 2075-4698. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  11. Haltiwanger, John. "Republicans have built a cult of personality around Trump that glosses over his disgraced presidency". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  12. Ben-Ghiat, Ruth (2020-12-09). "Op-Ed: Trump's formula for building a lasting personality cult". Los Angeles Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  13. Fowler, Stephen (2020-11-22). "Trump Requests Georgia Recount, Meaning 5 Million Votes Will Be Tabulated A 3rd Time". NPR (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-12-26.
  14. "เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 : โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่กำลังเสียเปรียบ". BBC News ไทย. 2022-11-16.
  15. "Donald Trump pictured in New York court as he pleads not guilty to 34 felony counts". Sky News (ภาษาอังกฤษ).
  16. Valle, Jeremy Herb,Kara Scannell,Lauren del (2023-04-04). "Donald Trump pleads not guilty to 34 felony counts of falsifying business records | CNN Politics". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  17. Institute, Siena College Research. "American Presidents: Greatest and Worst" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  18. Sheehey, Maeve. "Trump debuts at 41st in C-SPAN presidential rankings". POLITICO (ภาษาอังกฤษ).
  19. "Trump injured but 'fine' after attempted assassination at rally, shooter and one attendee are dead". AP News (ภาษาอังกฤษ). 2024-07-13.
  20. New York City Department of Health (มิถุนายน 14, 1946). "Donald Trump Birth Certificate" (PDF). ABC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 12, 2016. สืบค้นเมื่อ November 26, 2016.
  21. Jamaica Hospital (June 14, 1946). "Certificate of Birth: Donald John Trump" (PDF). Fox News Channel. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ April 9, 2011. สืบค้นเมื่อ May 31, 2016.
  22. Horowitz, Jason (January 2, 2016). "For Donald Trump, Lessons From a Brother's Suffering". The New York Times. สืบค้นเมื่อ July 24, 2016.
  23. Blair, Gwenda (August 24, 2015). "The Man Who Made Trump Who He Is". Politico. สืบค้นเมื่อ July 24, 2016.
  24. "Mary MacLeod Trump Philanthropist, 88". The New York Times (Obituary). August 9, 2000. สืบค้นเมื่อ May 12, 2016.
  25. 25.0 25.1 Pilon, Mary (June 24, 2016). "Donald Trump's Immigrant Mother". The New Yorker.
  26. McGrane, Sally (April 29, 2016). "The Ancestral German Home of the Trumps". The New Yorker.
  27. Davidson, Amy (April 8, 2016). "Donald Trump's Nuclear Uncle". The New Yorker. สืบค้นเมื่อ July 24, 2016.
  28. "Donald Trump's grandfather ran Canadian brothel during gold rush". CBC News. September 19, 2015. สืบค้นเมื่อ December 10, 2015.
  29. Blair, Gwenda (2001). The Trumps: Three Generations of Builders and a Presidential Candidate (1st ed.). Simon & Schuster. pp. 28–29, 453; ISBN 9780743210799.
  30. Blair, Gwenda (2001). The Trumps: Three Generations That Built an Empire. New York: Simon & Schuster. p. 26. ISBN 978-0-7432-1079-9.
  31. Frates, Chris (August 24, 2015). "Donald Trump's Immigrant Wives". CNN. สืบค้นเมื่อ September 3, 2015.
  32. Strauss, Valerie (July 17, 2015). "Yes, Donald Trump really went to an Ivy League school". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ February 27, 2016.
  33. Blair, Gwenda (2005). Donald Trump: Master Apprentice. Simon and Schuster. pp. 16–. ISBN 978-0-7432-7510-1.
  34. 34.0 34.1 Viser, Matt (August 28, 2015). "Even in college, Donald Trump was brash". Boston Globe.
  35. "The Best Known Brand Name in Real Estate". The Wharton School. Spring 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-12. สืบค้นเมื่อ 2017-02-26.
  36. "Two Hundred and Twelfth Commencement for the Conferring of Degrees" (PDF). University of Pennsylvania. May 20, 1968. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ July 19, 2016. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |deadurl= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  37. Montopoli, Brian (April 29, 2011). "Donald Trump avoided Vietnam with deferments, records show". CBS News. สืบค้นเมื่อ July 17, 2015.
  38. Lee, Kurtis (August 4, 2016). "How deferments protected Donald Trump from serving in Vietnam". Los Angeles Times. ISSN 0458-3035. สืบค้นเมื่อ August 4, 2016.
  39. 39.0 39.1 Whitlock, Craig (July 21, 2015). "Questions linger about Trump's draft deferments during Vietnam War". The Washington Post.
  40. Barbaro, Michael (September 8, 2015). "Donald Trump Likens His Schooling to Military Service in Book" – โดยทาง NYTimes.com.
  41. https://www.sleepadvisor.org/donald-trump-sleep/
  42. III, Alex Marquardt,Lawrence Crook (2018-05-01). "Exclusive: Bornstein claims Trump dictated the glowing health letter | CNN Politics". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  43. https://www.townandcountrymag.com/trump-family-news/
  44. "Donald J. Trump". The White House (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  45. https://www.businessinsider.com/trump-family-history-from-immigrants-to-americas-first-family-2020-6
  46. "2016 presidential election results". edition.cnn.com (ภาษาอังกฤษ).
  47. "US election 2016 result: Trump beats Clinton to take White House". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2016-11-09. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  48. "Trump executive order pulls out of TPP trade deal". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2017-01-24. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  49. https://edition.cnn.com/specials/politics/100-days-donald-trump
  50. "Reagan: 'Making America great' the first time — United States Studies Centre". www.ussc.edu.au.
  51. U.S, Full Bio Follow Linkedin Kimberly Amadeo is an expert on; Economies, World; investing; Analysis, With Over 20 Years of Experience in Economic; Balance, business strategy She is the President of the economic website World Money Watch As a writer for The; economy, Kimberly provides insight on the state of the present-day; Amadeo, as well as past events that have had a lasting impact Read The Balance's editorial policies Kimberly. "President Donald Trump's Economic Plans and Policies". The Balance (ภาษาอังกฤษ).
  52. "Immigration – The White House". trumpwhitehouse.archives.gov.
  53. Anderson, Stuart. "A Review Of Trump Immigration Policy". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
  54. "President Trump's Executive Orders on Immigration and Refugees". The Center for Migration Studies of New York (CMS) (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-01-29.
  55. U.S, Full Bio Follow Linkedin Kimberly Amadeo is an expert on; Economies, World; investing; Analysis, With Over 20 Years of Experience in Economic; Amadeo, business strategy She is the President of the economic website World Money Watch Read The Balance's editorial policies Kimberly. "The Impact of Donald Trump's Immigration Policies". The Balance (ภาษาอังกฤษ).
  56. https://www.bbc.com/news/av/world-us-canada-41479161
  57. https://www.factcheck.org/2019/08/trumps-mixed-record-on-gun-control/
  58. Pramuk, Jacob (2019-01-25). "Trump signs bill to temporarily reopen government after longest shutdown in history". CNBC (ภาษาอังกฤษ).
  59. Fritze, John. "By the numbers: How the government shutdown is affecting the US". USA TODAY (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  60. Gambino, Lauren; Walters, Joanna (2019-01-26). "Trump signs bill to end $6bn shutdown and temporarily reopen government". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2024-11-09.
  61. Mui, Ylan (2019-01-28). "The government shutdown cost the economy $11 billion, including a permanent $3 billion loss, Congressional Budget Office says". CNBC (ภาษาอังกฤษ).
  62. Jr, Perry Bacon (2019-01-25). "Why Trump Blinked". FiveThirtyEight (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  63. "2017: A Year of Promises Fulfilled with a Strong Labor Market – The White House". trumpwhitehouse.archives.gov.
  64. https://www.npr.org/sections/health-shots/2019/10/14/768731628/trump-is-trying-hard-to-thwart-obamacare-hows-that-going
  65. "Trump says Obamacare must die. Biden says he'll make it into 'Bidencare.'". NBC News (ภาษาอังกฤษ).
  66. "Education Policy Ideas for President Trump". Education Strategy Group (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  67. Welle (www.dw.com), Deutsche. "US election: How Donald Trump has changed global foreign policy | DW | 24.10.2020". DW.COM (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  68. https://theconversation.com/the-foreign-policy-legacy-that-donald-trump-leaves-joe-biden-148573
  69. https://www.pbs.org/newshour/show/trumps-legacy-on-foreign-policy-and-the-challenges-facing-biden
  70. "Trump-Kim Summit". AP NEWS.
  71. "Trump meets Kim Jong Un, steps into North Korea". NBC News (ภาษาอังกฤษ).
  72. https://www.bbc.com/news/world-us-canada-48797485
  73. "G7 leaders reject Russia's return after Trump summit invite". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  74. News, A. B. C. "Trump signs $110 billion arms deal with Saudi Arabia on 'a tremendous day'". ABC News (ภาษาอังกฤษ). {{cite web}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  75. https://www.npr.org/2023/05/30/1178919266/trump-abandoned-the-nuclear-deal-5-years-ago-could-the-u-s-stop-a-bomb-from-iran
  76. Hennigan, W. J. (2021-11-24). "U.S. General: Iran Is Nearly Able to Build a Nuclear Weapon". TIME (ภาษาอังกฤษ).
  77. "How China Won Trump's Trade War and Got Americans to Foot the Bill". Bloomberg.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-01-11. สืบค้นเมื่อ 2024-11-09.
  78. Liedtke, Frank Bajak and Michael. "Huawei sanctions: Who gets hurt in dispute?". USA TODAY (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  79. Bloomberg (2019-06-04). "Trump's Next Trade War Target: Chinese Students in the U.S." TIME (ภาษาอังกฤษ).
  80. Bloomberg (2018-04-11). "Trump Praises China's Xi's Trade Speech, Easing Tariff Tensions". IndustryWeek (ภาษาอังกฤษ).
  81. "Trump held off sanctioning Chinese over Uighurs to pursue trade deal" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-06-22. สืบค้นเมื่อ 2024-11-09.
  82. "Outcry as Trump backs Israeli sovereignty over Golan Heights". euronews (ภาษาอังกฤษ). 2019-03-22.
  83. Joyce, Kathleen (2018-04-13). "US strikes Syria after suspected chemical attack by Assad regime". Fox News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  84. Borger, Julian (2018-12-20). "Trump shocks allies and advisers with plan to pull US troops out of Syria". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2024-11-09.
  85. McKernan, Bethan; Borger, Julian; Sabbagh, Dan (2019-10-09). "Turkey unleashes airstrikes against Kurds in north-east Syria". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2024-11-09.
  86. Cillizza, Chris (2020-06-19). "Donald Trump makes terrible hires, according to Donald Trump | CNN Politics". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  87. Collins, John Fritze, Courtney Subramanian and Michael. "Trump says former chief of staff Gen. John Kelly couldn't 'handle the pressure' of the job". USA TODAY (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  88. Jones-Rooy, Andrea (2017-11-29). "The Incredibly And Historically Unstable First Year Of Trump's Cabinet". FiveThirtyEight (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  89. "Tracking turnover in the Trump administration". Brookings (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  90. Editors, History com. "First confirmed case of COVID-19 found in U.S." HISTORY (ภาษาอังกฤษ). {{cite web}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  91. Taylor, Derrick Bryson (2021-03-17). "A Timeline of the Coronavirus Pandemic". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  92. Hart, Roderick P. (2021-03-03). "Why Trump Lost and How? A Rhetorical Explanation". American Behavioral Scientist (ภาษาอังกฤษ): 0002764221996760. doi:10.1177/0002764221996760. ISSN 0002-7642.
  93. "George H. W. Bush". The White House (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  94. "2020 presidential election results". www.cnn.com (ภาษาอังกฤษ).
  95. https://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-politics/trump-lost-2020-election-coronanvirus-pandemic-b1796315.html
  96. Westenfeld, Adrienne (2020-11-16). "Barack Obama Broke Down Every Way Donald Trump Failed to Handle COVID-19". Esquire (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  97. "George Floyd: What happened in the final moments of his life". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-07-16. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  98. https://claremontreviewofbooks.com/why-trump-lost/
  99. "2020 presidential election results". www.cnn.com (ภาษาอังกฤษ).
  100. https://www.nbcnews.com/think/opinion/trump-lost-2020-election-biden-could-he-win-2024-ncna1247805
  101. Schouten, Fredreka (2022-11-16). "Questions about Donald Trump's campaign money, answered | CNN Politics". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  102. Levine, Sam (2024-03-04). "Trump was wrongly removed from Colorado ballot, US supreme court rules". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2024-11-09.
  103. Stone, Peter (2023-11-22). "'Openly authoritarian campaign': Trump's threats of revenge fuel alarm". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2024-11-09.
  104. "Trump's vow to only be a dictator on 'day one' follows growing worry over his authoritarian rhetoric". AP News (ภาษาอังกฤษ). 2023-12-08.
  105. Applebaum, Anne (2024-10-18). "Trump Is Speaking Like Hitler, Stalin, and Mussolini". The Atlantic (ภาษาอังกฤษ).
  106. "AP PHOTOS: Shooting at Trump rally in Pennsylvania". AP News (ภาษาอังกฤษ). 2024-07-14.
  107. Strauss, Daniel (2024-10-06). "Musk calls for people to register to vote | CNN Politics". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  108. Mallinder, Lorraine. "The Elon Musk effect: How Donald Trump gained from billionaire's support". Al Jazeera (ภาษาอังกฤษ).
  109. "Elon Musk: How Trump's presidency could benefit the Tesla boss". www.bbc.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  110. "Donald Trump projected to pull-off historic White House comeback". www.bbc.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  111. "Donald Trump elected 47th US president". Al Jazeera (ภาษาอังกฤษ).
  112. Forrest, Jeremy Herb, Haley Britzky, Oren Liebermann, Kristen Holmes, Jack (2024-11-13). "Trump picks Fox News host and Army veteran Pete Hegseth to serve as secretary of defense | CNN Politics". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  113. "Trump to name Marco Rubio as US Secretary of State: Report". www.aa.com.tr.
  114. Egan, Piper Hudspeth Blackburn, Tami Luhby, Aaron Pellish, Matt (2024-11-13). "Elon Musk and Vivek Ramaswamy will lead new 'Department of Government Efficiency' in Trump administration | CNN Politics". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  115. Mangan, Dan (2024-11-14). "Trump picks vaccine skeptic RFK Jr. for Health and Human Services secretary". CNBC (ภาษาอังกฤษ).
  116. News, A. B. C. "Trump picks Robert F. Kennedy Jr. to head Department of Health and Human Services". ABC News (ภาษาอังกฤษ). {{cite web}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  117. Boromsuk, Surat (2024-11-16). ""ทรัมป์" เลือก "แคโรไลน์ เลวิตต์" เป็นโฆษกหญิงประจำทำเนียบขาว". สำนักข่าวไทย อสมท (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  118. https://www.theverge.com/2021/5/4/22419850/donald-trump-social-media-platform-ban-twitter-facebook
  119. https://www.bbc.com/news/technology-57018148
  120. https://www.bbc.com/news/av/world-us-canada-48386303
  121. https://www.nytimes.com/2021/05/05/technology/facebook-trump-ban-upheld.html
  122. Cohan, William D. (2013-12-03). "Big Hair on Campus: Did Donald Trump Defraud Thousands of Real-Estate Students?". Vanity Fair (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  123. Roberts, Andrea Suozzo, Alec Glassford, Ash Ngu, Brandon (2013-05-09). "Donald J Trump Foundation Inc - Nonprofit Explorer". ProPublica (ภาษาอังกฤษ).
  124. https://www.theguardian.com/us-news/2016/dec/24/trump-university-shut-down-conflict-of-interest
  125. Thomsen, Jacqueline (2018-06-15). "Five things to know about the lawsuit against the Trump Foundation". The Hill (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  126. "Judge orders Trump to pay $2m for misusing Trump Foundation funds" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2019-11-07. สืบค้นเมื่อ 2024-11-09.
  127. News, A. B. C. "President Donald Trump ordered to pay $2M to collection of nonprofits as part of civil lawsuit". ABC News (ภาษาอังกฤษ). {{cite web}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  128. Egan, Charles Riley,Matt (2021-01-12). "Deutsche Bank won't do any more business with Trump | CNN Business". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  129. "USA TODAY Network: Dive into Donald Trump's thousands of lawsuits - USA TODAY". web.archive.org. 2018-04-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-17. สืบค้นเมื่อ 2024-11-09.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  130. Murphy, Ryan. "Donald Trump announced for WWE Hall of Fame". WWE.
  131. "Trump just boasted about writing many books. His biographer's response has gone viral". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2018-07-04.
  132. Mayer, Jane (2016-07-18). "Donald Trump's Ghostwriter Tells All". The New Yorker (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0028-792X. สืบค้นเมื่อ 2024-11-09.
  133. https://www.pressgazette.co.uk/trump-vs-media-freedom-of-press-distrust/
  134. https://www.rutgers.edu/news/how-trump-shaped-media
  135. Inc, Gallup (2021-01-18). "Last Trump Job Approval 34%; Average Is Record-Low 41%". Gallup.com (ภาษาอังกฤษ).
  136. Enten, Harry (2021-01-16). "Analysis: Trump finishes with worst first term approval rating ever | CNN Politics". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  137. Inc, Gallup (2006-12-28). "Most Admired Man and Woman". Gallup.com (ภาษาอังกฤษ).
  138. Budryk, Zack (2020-12-29). "Trump ends Obama's 12-year run as most admired man: Gallup". The Hill (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  139. Panetta, Grace. "Donald Trump and Barack Obama are tied for 2019's most admired man in the US". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  140. Datta, Monti (2019-09-16). "3 countries where Trump is popular". The Conversation (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  141. Mordecai, Richard Wike, Janell Fetterolf and Mara (2020-09-15). "U.S. Image Plummets Internationally as Most Say Country Has Handled Coronavirus Badly". Pew Research Center (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  142. "Scope of Trump's falsehoods unprecedented for a modern presidential candidate". Los Angeles Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2016-09-25.
  143. Glasser, Susan B. (2018-08-03). "It's True: Trump Is Lying More, and He's Doing It on Purpose". The New Yorker (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0028-792X. สืบค้นเมื่อ 2024-11-09.
  144. "Coronavirus: The human cost of virus misinformation" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-05-27. สืบค้นเมื่อ 2024-11-09.
  145. "Trump: 'I am the least racist person there is anywhere in the world' – video". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2019-07-30. ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2024-11-09.
  146. "Donald Trump was accused of racism long before his presidency, despite what online posts claim". AP News (ภาษาอังกฤษ). 2023-07-28.
  147. Lopez, German (2017-12-15). "The past year of research has made it very clear: Trump won because of racial resentment". Vox (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  148. Lajevardi, Nazita; Oskooii, Kassra A. R. (2018). "Old-Fashioned Racism, Contemporary Islamophobia, and the Isolation of Muslim Americans in the Age of Trump". Journal of Race, Ethnicity, and Politics. 3 (1): 112–152. doi:10.1017/rep.2017.37.
  149. https://edition.cnn.com/2021/04/07/politics/donald-trump-forbes-billionaires/index.html
  150. "Donald Trump's life story: From hotel developer to president". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2021-03-01. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  151. https://www.forbes.com/sites/danalexander/2020/09/28/yes-donald-trump-is-still-a-billionaire-that-makes-his-750-tax-payment-even-more-scandalous/?sh=22de81152885
  152. "Mary MacLeod Trump Philanthropist, 88". The New York Times (Obituary). August 9, 2000. สืบค้นเมื่อ May 12, 2016.
  153. "The Trump Organization | Luxury Real Estate Portfolio". www.trump.com (ภาษาอังกฤษ).
  154. McCann, Allison (July 14, 2016). "Hip-Hop Is Turning On Donald Trump". FiveThirtyEight. สืบค้นเมื่อ October 7, 2021.

ข้อมูลอ้างอิง

แก้

แม่แบบ:Cite whitelink


แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า ดอนัลด์ ทรัมป์ ถัดไป
บารัก โอบามา    
ประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 45
(20 มกราคม พ.ศ. 2560 - 20 มกราคม พ.ศ. 2564)
  โจ ไบเดิน
อังเกลา แมร์เคิล   บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์
(พ.ศ. 2559)
  กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการคุกคามทางเพศ