สถาปัตยกรรมอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
สถาปัตยกรรมการก่อสร้างอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก เป็นบทความที่บรรยายถึงลักษณะสิ่งก่อสร้างของอาสนวิหารทางคริสต์ศาสนา ที่รวมทั้งสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะใกล้เคียงกับอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก
อาสนวิหาร คือโบสถ์ประจำตำแหน่งของมุขนายก ที่ใช้เป็นศูนย์กลางของมุขมณฑลมุขนายกตามที่กำหนดไว้[1] อาสนวิหารเป็นที่เป็นที่ตั้งของ “คาเทดรา” (bishop's cathedra) และเป็นสถานที่ทางคริสต์ศาสนาที่ใช้ในการนมัสการ (โดยเฉพาะสำหรับนิกายที่มีระบบฐานันดรการปกครองเช่น โรมันคาทอลิก ออร์ทอดอกซ์ หรือแองกลิคัน) ขนาดของสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาสนวิหารไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตเสมอไป อาจจะมีขนาดเล็กอย่างเช่นอาสนวิหารออกซฟอร์ด หรือ อาสนวิหารเชอร์ที่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก็ได้ แต่โดยทั่วไปแล้วอาสนวิหารมักจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดและเด่นที่สุดในท้องถิ่นที่ตั้งอยู่[2]
บทบาทของอาสนวิหาร
แก้เหตุผลที่ทำให้อาสนวิหารมักจะเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่คือ:
- อาสนวิหารเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้า ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดและโอฬารที่สุดเท่าที่ฐานะและความเชี่ยวชาญจะอำนวย[3]
- อาสนวิหารเป็นโบสถ์ประจำตำแหน่งของมุขนายกและเป็นที่กระทำคริสต์ศาสนพิธี หรือการบวชซึ่งเป็นพิธีที่มีผู้เข้าร่วมพิธีกันมากทั้งเคลอจีและคริสต์ศาสนิกชนอื่น ๆ
- อาสนวิหารเป็นที่ประชุมและพบปะทั้งทางศาสนาและทางกิจกรรมของชุมชน ไม่เฉพาะแต่ชุมชนในท้องถิ่น ในบางโอกาสจะเป็นสถานที่สำหรับการพบปะหรือประชุมทั้งคริสต์มณฑล หรือในการประชุมระดับชาติ
- อาสนวิหารส่วนใหญ่เคยเป็นอารามมาก่อน จึงอาจจะเคยมีนักพรตอาศัยอยู่จำนวนมาก นักพรตจะอยู่อาศัยและทำงานในอารามรวมทั้งกิจการหลักคือใช้อารามเป็นที่อธิษฐานและรำพึงธรรมกันวันละหลายครั้ง และบางครั้งก็อาจจะอธิษฐานแยกกันออกไปตามคูหาสวดมนต์เล็ก หรือรำพึงธรรมป็นส่วนตัวภายในอาสนวิหาร
- อาสนวิหารในบางครั้งใช้เป็นที่ฝังศพของผู้อุปถัมภ์ที่ร่ำรวย ซึ่งอาจจะยกเงินถวายวัดเพื่อการขยายเพิ่มเติมหรือบูรณปฏิสังขรณ์ อาสนวิหารจึงต้องมีขนาดใหญ่เพื่อให้สมกับฐานะของผู้ศรัทธา
- บางครั้งอาสนวิหารมักจะเป็นที่เก็บรักษาเรลิกของนักบุญหรือผู้มีความสำคัญทางศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งดึงดูดผู้มาแสวงบุญเป็นจำนวนมาก
- อาสนวิหารเป็นสิ่งก่อสร้างคู่บ้านคู่เมืองที่แสดงถึงฐานะความมีหน้ามีตาของเมืองที่ตั้ง
มุขนายกริ่มมีบทบาททางการบริหารมาตั้งแต่ศาสนาคริสต์ยุคแรกราวคริสต์ศตวรรษที่ 1[4] หลังจากนั้นอีกสองร้อยปีต่อมาจึงได้มีการก่อสร้างอาสนวิหารขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงโรม หลังจากคริสต์ศาสนาถูกประกาศให้เป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมายของจักรวรรดิโรมันโดยจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 313 การก่อสร้างโบสถ์ก็แพร่ขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่โรมเองก็มีการสร้างอาสนวิหารใหญ่ถึงห้าแห่ง โบสถ์ทั้งห้าแห่งนี้ถึงจะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้งแต่ก็ยังเป็นโบสถ์ที่ใช้ในการทำพิธีศาสนากันมาจนถึงทุกวันนี้ เช่นอาสนวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรันที่วาติกัน[5]
รูปทรงของอาสนวิหารก็ขึ้นอยู่กับการใช้สอยทางคริสต์ศาสนพิธีและองค์ประกอบอื่น ๆ อาสนวิหารก็เช่นเดียวกับโบสถ์คริสต์โดยทั่วไป คือเป็นสถานที่สำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นที่อ่านคัมภีร์ไบเบิล เป็นที่เทศนา เป็นที่ร้องเพลงสวด และเป็นที่สวดมนต์ของนักบวชและคริสต์ศาสนิกชน ความแตกต่างของอาสนวิหารจากโบสถ์ธรรมดาคือสิ่งใดที่ทำในอาสนวิหารจะใหญ่กว่าและมีกระบวนการมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดพิธีการสำคัญ ๆ ที่บาทหลวงเป็นผู้ประธานเช่น การโปรดศีลกำลัง (Confirmation) หรือการบวช (Ordination) นอกจากนั้นอาสนวิหารยังเป็นสถานที่ทำพิธีที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นหรือรัฐบาลที่ไม่ใช่พิธีทางศาสนาโดยตรง เช่นการแต่งตั้งนายกเทศมนตรี หรือพิธีราชาภิเษก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของอาสนวิหาร[3]
นอกจากนั้นอาสนวิหารมักจะเป็นสถานที่ที่นักแสวงบุญพากันมาสมโภชวันสำคัญ ๆ ทางศาสนา หรือมาสักการะคูหาที่เป็นที่เก็บเรลิกของนักบุญองค์ใดองค์หนึ่ง ฉะนั้นทางปลายด้านตะวันออกของอาสนวิหารที่มักใช้เป็นที่เก็บร่างหรือเรลิกของนักบุญจึงมักจะต้องทำให้กว้างใหญ่เพียงพอทีจะต้อนรับขบวนนักแสวงบุญที่พาเข้ากันมาสักการะเรลิกของนักบุญ[6]
สิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง
แก้แม้ว่าสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ที่ครอบคลุมในบทความนี้จะกล่าวถึงสถาปัตยกรรมทางศาสนาของอาสนวิหาร แต่นอกจากอาสนวิหารแล้วก็ยังรวมสถาบันที่มีองค์ประกอบคล้ายอาสนวิหารข้างล่างนี้ด้วย
- มหาวิหาร (Basilica) คำว่า “บาซิลิกา” ใช้ได้สองอย่าง ความหมายแรกทางสถาปัตยกรรมตามคำบรรยายของศาลโรมันคือเป็นสถานที่สำหรับการพบปะและทำธุรกิจ ความหมายที่สองทางศาสนาเป็นคำที่ใช้เรียกโบสถ์โรมันคาทอลิกบางแห่งซึ่งอาจจะเป็นวิหารหรือไม่เป็นก็ได้ แต่เป็นที่ใช้ประกอบพิธีที่สำคัญและเป็นวัดที่แต่งตั้งโดยพระสันตะปาปาให้เป็น “บาซิลิกา”
- มินสเตอร์ หรือ มึนสเตอร์ (Minster หรือ Münster) เป็นคำที่ใช้เรียกอาสนวิหารที่เคยเป็นอารามมาก่อน ในบางกรณีอารามอาจจะได้รับเลื่อนฐานะขึ้นเป็นอาสนวิหารโดยเฉพาะในอังกฤษและเยอรมนีระหว่างการปฏิรูปศาสนา
- โบสถ์อีก 5 แห่งที่มีลักษณะเช่นอาสนวิหาร
- อาสนวิหารซันตามาเรียมัจโจเร (Basilica of Santa Maria Maggiore) โรม ประเทศอิตาลี
- อาสนวิหารซันวีตาเล (Basilica of San Vitale) ราเวนนา ประเทศอิตาลี
- บาซิลิกาซันมาร์โก (St. Mark's Basilica) เวนิส ประเทศอิตาลี
- เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ (Westminster Abbey) ลอนดอน อังกฤษ
- อาสนวิหารเซนต์ปีเตอร์ นครรัฐวาติกัน ประเทศอิตาลี
- ซากราดาแฟมมิเลีย (Sagrada Familia) บาร์เซโลนา ประเทศสเปน
ยุคสถาปัตยกรรม
แก้การสร้างอาสนวิหารเริ่มกันมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน และเผยแพร่ไปทั่วโลก เมื่อเริ่มแรกสิ่งก่อสร้างจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นและวิธีการก่อสร้างก็เจาะจงเฉพาะในท้องถิ่นนั้น แต่ต่อมาลักษณะของอาสนวิหารจะเปลี่ยนไปตามยุคของสถาปัตยกรรม และตามการเผยแผ่ของคณะนักบวชต่าง ๆ ในคริสต์ศาสนา เพราะเมื่อลัทธิเหล่านี้ขยายตัวก็ทำให้มีความจำเป็นต้องสร้างอารามขึ้นเพื่อให้เป็นที่สำหรับนักบวชอาศัยและเป็นศูนย์กลางของการปกครองของมุขนายกที่ถูกส่งไปจาก “โบสถ์แม่” (Mother Church) สถาปัตยกรรมลักษณะต่างก็จะติดตามไปด้วยกับมุขนายกและช่างแกะสลักหินผู้ติดตามสังฆราช และเป็นผู้มีหน้าที่เป็นสถาปนิกของอารามไปด้วยในตัว[7]
ลักษณะการก่อสร้างอาสนวิหารแบ่งเป็นลักษณะที่ใช้กันทั่วไปได้ดังนี้[8]
- สถาปัตยกรรมคริสเตียนยุคแรก (Early Christian architecture) คริสต์ศตวรรษที่ 1 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 10
- สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์ (Byzantine architecture) ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12
- สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ (Romanesque architecture) ราวคริสต์ศตวรรษที่ 10 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12
- สถาปัตยกรรมกอธิค (Gothic architecture) คริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16
- สถาปัตยกรรมเรอเนซองส์ (Renaissance architecture) คริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17
- สถาปัตยกรรมบาโรก (Baroque architecture) คริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18
- สถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค (Neo-gothic architecture) หรีอ สถาปัตยกรรมวิคตอเรีย (Victorian architecture) ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
- สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern architecture) ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา
จากลักษณะทั่วไปที่กล่าวมานี้แล้ว แต่ละท้องถิ่นก็ยังมีลักษณะเฉพาะตัวผสมเข้าไปด้วย ทำให้สถาปัตยกรรมบางแบบจะปรากฏเฉพาะบางประเทศหรือบางท้องที่เท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้จากการก่อสร้างอาสนวิหารที่ใช้เวลาก่อสร้างในช่วงเวลาที่ห่างกันเป็นร้อยๆปี[8]
ที่มาของสิ่งก่อสร้าง
แก้โครงสร้างของอาสนวิหารวิวัฒนาการมาจากสิ่งก่อสร้างโรมันโบราณซึ่งประกอบด้วย
- โบสถ์ในบ้าน (house church)
- เอเทรียม (atrium)
- บาซิลิกา (basilica)
- ยกพื้น (bema)
- ที่เก็บศพ (mausoleum)
- ผังที่เป็นกากบาท (Greek cross) หรือ กางเขน (Latin cross)
โบสถ์ในบ้าน
แก้การสร้างโบสถ์ใหญ่ ๆ ทางคริสต์ศาสนาเริ่มสร้างกันที่กรุงโรมเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 4 เมื่อจักรพรรดิคอนแสตนตินที่ 1 ประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมายของจักรวรรดิโรมัน โบสถ์ใหญ่ ๆ ที่สร้างสมัยนั้นก็ได้แก่ “อาสนวิหารซันตามาเรียมัจโจเร” “อาสนวิหารนักบุญเปโตร ” และ “อาสนวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน” ทั้งสามอาสนวิหารล้วนแต่มีรากฐานมาจากคริสต์ศตวรรษที่ 4 แต่ที่สำคัญที่สุดคืออาสนวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน ซึ่งถือว่าเป็นอาสนวิหารแห่งกรุงโรม โครงสร้างจากศตวรรษที่ 4 ของโบสถ์นี้เหลืออยู่เพียงฐาน[9]
เอเทรียม
แก้ชุมชนคริสต์ศาสนิกชนและชาวโรมันจะทำการสักการบูชาภายในที่อยู่อาศัยของตนเอง ในสมัยต่อมาก็มีการสร้างวัดขึ้นจากบ้านที่เดิมเคยใช้เป็นสถานที่สักการะ บ้านเหล่านี้ก็ยังเห็นกันอยู่บ้างในปัจจุบัน โครงสร้างเดิมไม่เหลือนอกจากส่วนที่เป็นเอเทรียม หรือ ลานที่มีซุ้มรอบ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือที่บาซิลิกาซานเคลเมนท์เท (Basilica of San Clemente) ที่โรม เอเทรียมกลายมาเป็นโครงสร้างที่นิยมใช้กันต่อมาที่มาเรียกกันว่าระเบียงฉันนบถโดยเฉพาะอาราม ระเบียงคดที่ว่านี้มักจะสร้างติดกับตัวอาสนวิหารทางด้านใต้เป็นซุ้มรอบลานสี่เหลี่ยม ระเบียงฉันนบถที่ยังหลงเหลือในปัจจุบันส่วนใหญ่จะสร้างมาตั้งแต่สมัยโรมาเนสก์ แต่ที่เป็นแบบกอธิคก็มีบ้างเช่นที่ อาสนวิหารซอลสบรี หรือ อาสนวิหารกลอสเตอร์ ที่อังกฤษ
บาซิลิกา
แก้โบสถ์ในสมัยแรกมิได้เริ่มจากโบสถ์โรมันเพราะโบสถ์โรมันมิใช่เป็นสถานที่สำหรับการพบปะกันของคนกลุ่มใหญ่ ส่วนใหญ่ภายในโบสถ์โรมันจะไม่มีที่ว่างมากสำหรับผู้มาชุมนุมกัน สิ่งก่อสร้างที่ชาวโรมันใช้ในการประชุมหรือพบปะสำหรับคนกลุ่มใหญ่ หรือที่ใช้เป็นตลาด หรือศาลคือสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า “บาซิลิกา” (basilica) ซึ่งนำเอามาเป็นแบบอย่างในการสร้างโบสถ์คริสต์ใหญ่ ๆ และบางแห่งก็ยังคงเรียกกันว่าบาซิลิกา ทั้งบาซิลิกาและสถานที่อาบน้ำสาธารณะของโรมันจะสร้างภายใต้หลังคาโค้งสูงมีคูหารอบ ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมบาซิลิกาโรมันคือด้านหน้าและด้านหลังจะเป็นมุขโค้งที่ยื่นเป็นครึ่งวงกลมออกมา (exedra หรือ apse) ซึ่งจะใช้เป็นที่นั่งศาล ลักษณะมุขโค้งนี้ก็เอามาใช้ในสถาปัตยกรรมการสร้างอาสนวิหาร[9] โดยเฉพาะทางด้านตะวันออกหรือด้านหลังของวัด ซึ่งเป็นบริเวณที่สำคัญที่สุดของวัด ทางด้านหน้าส่วนใหญ่จะปาดเรียบ
โบสถ์ใหญ่แห่งแรกที่สร้างคืออาสนวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรันที่กรุงโรม ด้านหนึ่งเป็นมุขยื่นออกมาและอีกด้านหนึ่งเป็นซุ้มรอบโถงกลาง เมื่อคริสต์ศาสนพิธีวิวัฒนาการขี้น กระบวนแห่ของนักบวช นักร้องเพลงสวด หรือสิ่งประกอบพิธีเข้ามาในวัดก็เป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมา จึงเกิดการทำประตูสำหรับให้ขบวนเดินเข้ามาในโบสถ์ ประตูนี้มักจะอยู่มุมใดมุมหนึ่งของวัด ในขณะที่ประตูสำหรับคริสต์ศาสนิกชนผู้เข้าร่วมทำพิธีจะอยู่กลางด้านใดด้านหนึ่งของสิ่งก่อสร้างตามกฎของการสร้างบาซิลิกา ซึ่งสถาปัตยกรรมการก่อสร้างอาสนวิหารใช้เป็นหลักต่อมา[10]
ยกพื้น
แก้เมื่อมีนักบวชเพิ่มขึ้นความต้องการเนี้อที่ในการทำพิธีภายในก็มากขึ้น มุขโค้งท้ายโบสถ์ซึ่งเป็นที่ตั้งแท่นบูชาหรือแท่นซึ่งเป็นที่วางเครื่องสำหรับทำพิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ เช่น ขนมปังและเหล้าองุ่นก็ใหญ่ไม่พอที่จะรับนักบวชที่เข้ามาร่วมทำพิธี จึงจำเป็นต้องมีการขยายบริเวณนั้นโดยการยกบริเวณพิธีให้สูงขึ้นจากระดับพื้นของวัดอย่างที่สถาปัตยกรรมแบบโรมันเรียกว่า “bema” ยกพื้นจึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณพิธี เช่นที่อาสนวิหารนักบุญเปโตรที่ยกพื้นยื่นเลยออกไปจนถึงทางขวางจนทำให้เหมือนรูปตัว “T” และมีมุขโค้งยื่นออกไปด้านหลัง รูปทรงของโบสถ์จึงเริ่มกลายมาเป็นทรงกางเขนแบบละติน (Latin cross) ซึ่งเป็นผังที่นิยมกันในการสร้างอาสนวิหารส่วนใหญ่ทางยุโรปตะวันตก โดยที่แนวดิ่งของกางเขน หรือแนวตะวันตกตะวันออก หรือส่วนที่ยาวกว่าของกางเขนเรียกว่า “ทางเดินกลาง” (Nave) กระหนาบด้วย “ทางเดินข้าง” (Aisle) ส่วนที่เป็นแขนกางเขนที่ตัดกับทางเดินกลางเรียกว่า “แขนกางเขน” หรือ “ปีกซ้ายขวา” (Transept) [10]
ที่บรรจุศพ
แก้สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการสร้างอาสนวิหารมากที่สุดก็เห็นจะเป็น ที่บรรจุศพ (Mausoleum) ที่บรรจุศพของผู้มีฐานะของโรมันมักจะเป็นสิ่งก่อสร้างทรงสี่เหลี่ยมหรือกลมหลังคาเป็นโดม ที่บรรจุศพใช้เป็นที่เก็บศพในโลงหิน จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงสร้างที่บรรจุศพสำหรับพระราชธิดาคอนสแตนตินาและเฮเลนา ซึ่งเป็นทรงกลมล้อมรอบด้วยซุ้มทางเดิน ต่อมาที่บรรจุศพของนักบุญคอนสแตนตินากลายมาเป็นสถานที่สำหรับสักการะและเป็นสิ่งก่อสร้างทางศาสนาสิ่งแรกที่เป็นทรงกลมแทนที่จะเป็นทรงกางเขน สิ่งก่อสร้างสำหรับการสักการะอีกสิ่งหนึ่งในกรุงโรมที่เป็นทรงกลมคือตึกแพนธีอัน ซึ่งมีภายในเป็นคูหารายด้วยรูปปั้น ลักษณะการวางจัดรูปปั้นในคูหาแบบนี้กลายมาเป็นลักษณะสำคัญในการสร้างคูหาสวดมนต์ ภายในอาสนวิหาร[5][9] ซึ่งมักจะเป็นมุขโค้งและมีรูปปั้นแสดงอยู่กลางมุข
ทรงกางเขน และ ทรงกากบาท
แก้โบสถ์ยุโรปตะวันตกมักจะนิยมผังแบบกางเขนละติน (Latin cross) ขณะที่ทางตะวันออกหรือทางไบแซนไทน์จะนิยมแบบกากบาท (Greek cross) ล้อมรอบด้วยมุขโค้งและหลังคาโดม สิ่งก่อสร้างที่สำคัญที่สุดในลักษณะนี้คือ Hagia Sophia ที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ซึ่งเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 4 เป็นโบสถ์คริสต์ศาสนาสร้างโดยจักรพรรดิคอนแสตนตินที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมัน หรือโบสถ์เซ็นต์แมรีผู้ศักดิ์สิทธิ ที่เมือง เอเธนส์ ประเทศกรีซ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่มีอิทธิต่อสถาปัตยกรรมการก่อสร้างอาสนวิหารต่อมาในยุโรปตะวันตก[8][9]
องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมภายนอกของอาสนวิหาร
แก้องค์ประกอบที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นองค์ประกอบที่มีในอาสนวิหารส่วนใหญ่ในยุโรปตะวันตก ลักษณะหรือส่วนประกอบบางอย่างอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ผู้ออกแบบ เนื้อที่ที่ตั้ง หรือปัจจัยอื่น รายการนี้รวบรวมจากแบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์ (Banister Fletcher) [8]
แผนผัง
แก้- ดูบทความหลักที่ แผนผังอาสนวิหาร
ผังอาสนวิหารส่วนใหญ่ของยุโรปตะวันตกจะเป็นกางเขนโดยมีทางเดินกลางหรือทางเดินสู่แท่นบูชาขวางกับแขนกางเขนละติน แขนกางเขนอาจจะยื่นออกไปมากเช่นที่อาสนวิหารยอร์ค ที่อังกฤษ หรือยื่นไปไม่เกินกว่าทางเดินข้าง จนดูเหมือนตัววัดเป็นรูปเกือบสี่เหลี่ยมยกเว้นแต่มุขที่ยื่นออกไปจากด้านหลังอย่างเช่นอาสนวิหารอาเมียงที่ประเทศฝรั่งเศส
ตำแหน่ง
แก้การวางตัววัดส่วนใหญ่จะวางไปทางตะวันออก/ตะวันตกโดยเน้นด้านหน้าโบสถ์ทางด้านตะวันตกที่เรียกกันว่า “West front” ภายในจะเน้นด้านตะวันออกที่เป็นบริเวณที่ใช้ประกอบพิธี ที่เรียกว่า “East end” แต่ไม่ใช่ทุกโบสถืที่สามารถตั้งได้เช่นนี้ แต่ถึงแม้โบสถ์จะไม่ตั้งไปทางตะวันออก/ตะวันตกได้ก็ยังใช้คำว่า “West front” หรือ “West end” สำหรับเรียกด้านหน้าของโบสถ์ และ “East end” สำหรับเรียกด้านตรงข้ามที่เป็นบริเวณพิธี หรือ ด้านหลังโบสถ์
เน้นความสูง
แก้อาสนวิหารจะเน้นเรื่องความสูงโดยใช้องค์ประกอบภายนอกที่พุ่งขึ้นไปซึ่งอาจจะเป็นโดม หรือหอกลางตรงจุดที่ทางเดินกลางกับแขนกางเขนตัดกัน หรือหอสองหอทางด้านตะวันตก หรือหอทั้งหัวและท้ายวัด เช่นที่อาสนวิหารเวิมส์ ที่ประเทศเยอรมนีซึ่งมีทั้งหมดห้าหอ สองหอด้านหน้า สองหอด้านหลัง และหอกลาง บนหออาจจะมีมณฑปข้างบน หรือไม่มีมณฑปก็ได้ เช่นที่อาสนวิหารวินเชสเตอร์ หรือ อาจจะเป็นเพียงโดมเล็กๆก็ได้
ด้านหน้าอาสนวิหาร
แก้ด้านหน้าของวัดที่เรียกว่า “West front” จะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดภายนอกของวัดและจะมีการตกแต่งมากที่สุด ส่วนใหญ่จะมีประตูหลักสามประตู แต่ละประตูก็จะตกแต่งด้วยรูปแกะสลักที่ทำด้วยหิน หรือ หินอ่อนที่แกะสลักอย่างวิจิตร ด้านหน้ามักจะมีหน้าต่างใหญ่หรือบางทีก็จะมีหน้าต่างกุหลาบ หรือรูปปั้นที่เด่นสง่า นอกจากนั้นมักจะมีหอคอยสองหอขนาบเช่นที่อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส ประเทศฝรั่งเศส
“ช่องทางเดินกลาง” และ “ช่องทางเดินข้าง”
แก้อาสนวิหารส่วนใหญ่จะมี “ช่องทางเดินกลาง” (Nave) หรือ ทางเดินสู่แท่นบูชา ที่ทั้งสูงและกว้าง ส่วน “ช่องทางเดินข้าง” (aisle) ที่ประกบทางเดินกลางมักจะต่ำกว่าและแยกจากทางเดินกลางด้วยซุ้มตรงหรือโค้งเป็นแนวตลอดสองข้าง บางครั้งถ้าทางเดินข้างสูงเท่ากับทางเดินกลางก็จะเป็นทรงที่เรียกว่า “Hallenkirche” หรือ “F[l5Nโถง” ซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยการก่อสร้างแบบกอธิคที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งมองแล้วเหมือนโถงกว้าง อาสนวิหารบางแห่งจะมีทางเดินประกบข้างข้างละสองทางเช่นที่อาสนวิหารเซ็นต์สตีเฟน ที่เมืองบอร์ก (Cathédrale Saint-Étienne de Bourges) ประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น
แขนกางเขน
แก้แขนกางเขน หรือ ปีกซ้ายขวา คือส่วนขวางที่ตัดกับทางเดินกลาง อาสนวิหารในประเทศอังกฤษบางอาสนวิหารที่เคยเป็นสำนักสงฆ์มาก่อนจะมีแขนซ้อนกันสองชั้นเช่นที่อาสนวิหารซอลสบรี ที่อังกฤษ ตรงที่แขนกางเขนตัดกับทางเดินกลางเรียกกันว่าจุดตัด (crossing) เหนือจุดตัดขึ้นไปมักจะเป็นหอหรือมณฑปที่เรียกว่า “fleche” ที่อาจจะทำด้วยไม้ หิน หรือโลหะก็ได้ เช่นที่อาสนวิหารออทุง (Autun Cathedral) ที่ประเทศฝรั่งเศส หรือมณฑปที่ทำด้วยหินที่อาสนวิหารซอลสบรี หรืออาจจะเป็นโดม หรือเป็นหอเฉยๆไม่มีมณฑปก็ได้เช่นที่อาสนวิหารวินเชสเตอร์ ที่อังกฤษ
ด้านหลังโบสถ์
แก้ด้านหลังวัด หรือ “East end” ซึ่งเป็นที่ตั้งของแท่นบูชาเอก จะเป็นบริเวณที่แตกต่างจากกันมากที่สุดทางรูปทรงสถาปัตยกรรมจากโบสถ์หนึ่งไปอีกโบสถ์หนึ่ง
- โรมาเนสก์แบบอิตาลีและเยอรมนี – มุขด้านนี้จะโค้งและอาจจะเป็นส่วนที่ต่ำกว่าที่ยื่นออกมาจากตัววัดสี่เหลี่ยม ถ้าเป็นกอธิคแบบอิตาลีมุขหลังโบสถ์ก็มักจะสูงโดยไม่มีจรมุข หรือทางเดินรอบมุข (Ambulatory) ก็ได้
- กอธิคแบบฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี – ด้านหลังโบสถ์จะยาวและยื่นไปสู่มุขโค้งที่มีเพดานโค้งเหนือทางเดินรอบมุข นอกจากนั้นอาจจะมีคูหาสวดมนต์กระจายออกมาจากมุข ที่เรียกว่า “Chevet”
- แบบอังกฤษ – ด้านหลังจะมีหลายลักษณะเช่นที่อาสนวิหารนอริช ซึ่งมีมุขและจรมุข หรืออาสนวิหารยอร์คที่เป็นสี่เหลี่ยม
อาสนวิหารหลายแห่งจะมีคูหาสวดมนต์ยื่นออกไปด้านหลังหลายรูปหลายทรง แต่ไม่มีอาสนวิหารใดในอังกฤษที่สร้างก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่มีคูหาสวดมนต์ “Chevet” อย่างเต็มที่ บางแห่งเช่นที่อาสนวิหารลิงคอล์น ด้านหลังจะเป็นสี่เหลี่ยมคล้ายผาแต่มี Lady Chapel มาช่วยทำให้ลักษณะสิ่งก่อสร้างหายแข็งไปบ้าง บางอาสนวิหารที่มีจรมุขต่ำรอบด้านหลังที่เป็นสี่เหลี่ยม
หมายเหตุ: ส่วนนี้เก็บความมาจาก แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์ [8] วิม สวอน [3] ลารูส [11]
องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมภายในของอาสนวิหาร
แก้“ทางเดินกลาง” และ “ทางเดินข้าง”
แก้“ทางเดินกลาง” เป็นเนื้อที่หลักของตัวอาสนวิหารจะเป็นส่วนที่ยาวกว่าแขนกางเขนขวาง เป็นที่ชุมนุมของคริสต์ศาสนิกชนมาเข้าร่วมพิธีศาสนา คำว่า “nave” มาจาก ภาษาละตินที่แปลว่าเรือ อาสนวิหารก็เปรียบเหมือนเรือสำหรับบรรทุกผู้ศรัทธาในพระเจ้าฝ่าอุปสรรคต่างๆในชีวิตเพื่อจะนำไปสู่พระองค์ ในสมัยโบราณเพดานอาสนวิหารจะทำด้วยไม้และโค้งเหมือนท้องเรือ[12]
“ทางเดินกลาง” จะประกบสองข้างด้วย “ทางเดินข้าง” ที่ส่วนใหญ่จะมีระดับต่ำกว่าแยกด้วยแนวเสา ประโยชน์ของ “ทางเดินข้าง” คือช่วยแบ่งเบาการจราจรจาก “ทางเดินกลาง” โดยเฉพาะเมื่อวัดแน่นไปด้วยผู้เข้าร่วมพิธี นอกจากนั้นยังช่วยทำให้สิ่งก่อสร้างแข็งแรงขึ้นเพราะจะใช้เป็นผนังค้ำยันไปในตัวทำให้สามารถรับน้ำหนักกดดันจากหลังคาและกำแพงได้เพิ่มขึ้น ทางเดินข้างแต่ละข้างอาจจะมีมากกว่าหนึ่งก็ได้ถ้าเป็นวัดใหญ่มากๆ แต่จะเป็นส่วนน้อยที่มีถึงห้าประตูเข้าด้านหน้า
อ่างล้างบาป แท่นอ่านคัมภีร์ไบเบิล และ ธรรมาสน์
แก้ภายในบริเวณโถงกลางส่วนใหญ่จะเป็นที่ตั้งของอ่างล้างบาป แท่นอ่านคัมภีร์ไบเบิล และ ธรรมาสน์ อ่างล้างบาปใช้ในการทำพิธีศีลจุ่มมักจะตั้งอยู่ทางด้านหน้าวัดใกล้ประตูทางเข้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์การรับเข้าสู่คริสตจักร แท่นอ่านคัมภีร์จะอยู่ไม่ไกลจากแท่นบูชาจะเป็นที่ใช้อ่านคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ แท่นนี้บางครั้งก็จะเป็นรูปอินทรีกางปีกรองรับหนังสือเพราะอินทรีเป็นสัญลักษณ์ของนักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสาร ผู้เป็นหนึ่งใน “ผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่ท่าน” ผู้เขียนพระวรสาร สิ่งที่สามที่ตั้งอยู่ที่ทางเดินกลางคือธรรมาสน์ซึ่งอาจจะทำด้วยไม้ หิน หินอ่อนแกะสลักอย่างงดงาม หรือปูนปั้น บางธรรมาสน์จะตกแต่งด้วยมนุษย์ นกอินทรี วัว และ สิงโตมีปีกเพราะทั้งสี่อย่างเป็นสัญลักษณ์ของผู้นิพนธ์พระวรสารสี่องค์คือ น.มัทธิว น.ยอห์น น.ลูกา และ น.มาระโก [13]
-
“ทางเดินกลาง” และ “ทางเดินข้าง” ที่อาสนวิหารฟลอเรนซ์ ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี
-
ธรรมาสน์ที่อาสนวิหารอาลบี (Albi cathedral) ประเทศฝรั่งเศส
-
แท่นอ่านคัมภีร์รูปนกอินทรีที่วัดมาดอนนาเดลลากราซี (Chiesa Madonna delle Grazie) พิสโตเอีย
ประเทศอิตาลี -
อ่างล้างบาปที่อาสนวิหารเวิมส์ ประเทศเยอรมนี
-
แท่นบูชาเอกที่อาสนวิหาร
เซียนนา ที่เมืองเซียนนา ประเทศอิตาลี เป็นหินอ่อนหลากสี และ มีซุ้มชิโบเรียมและ เชิงเทียนทีทำด้วยสำริด
บริเวณสวดมนต์และร้องเพลงสวด
แก้บริเวณที่สองภายในอาสนวิหารคือบริเวณที่เรียกว่าบริเวณร้องเพลงสวด เป็นบริเวณที่ใช้สวดมนต์และร้องเพลงสวด บริเวณนี้บางครั้งอาจจะแยกจากทางเดินกลางด้วยฉาก ซึ่งอาจจะทำด้วยไม้ฉลุอย่างละเอียด หรือหินแกะสลัก นอกจากที่นั่งแล้วบริเวณนี้ก็จะมีออร์แกนอยู่ด้วย ที่นั่งภายในบริเวณนี้เรียกว่า “Choir stall” หรือที่นั่ง บางอาสนวิหารที่นั่งในบริเวณนี้จะสลักเสลาอย่างงดงาม บางครั้งก็อาจจะมีอาสนะหรือบัลลังก์ของบาทหลวงตั้งอยู่ในบริเวณนี้ด้วย ที่ตั้งออร์แกนถ้าไม่อยู่ในบริเวณนี้ก็อาจจะอยู่เหนือฉากกางเขน เช่นที่อาสนวิหารกลอสเตอร์ หรือ อาสนวิหารรอเชสเตอร์ที่อังกฤษ หรือบางครั้งอาจจะตั้งอยู่เหนือประตูด้านตะวันตกก็ได้
บริเวณศักดิ์สิทธิ์
แก้จากบริเวณทำพิธีและบริเวณร้องเพลงสวดไปก็เป็น “บริเวณศักดิ์สิทธิ์” (Sanctuary) ซึ่งเป็นวางสิ่งของสำหรับพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ บนแท่นบูชาสำหรับพิธีศีลมหาสนิท คำว่า “Sanctuary” แปลว่าสถานที่ศักดิ์สิทธิ แต่ในภาษาอังกฤษปัจจุบันความหมายมาเปลี่ยนไปใช้สำหรับสถานที่นักโทษสามารถเข้ามาอาศัยโดยไม่ต้องถูกจับจึงเท่ากับเป็นการให้ “เขตปลอดภัย” ของวัด
คูหาสวดมนต์
แก้บางอาสนวิหารจะมีบริเวณต่อไปที่เรียกว่า “บริเวณสงฆ์” (Presbytery) ซึ่งใช้เป็นที่ที่นักบวชสามารถทำการสวดมนต์ต์ส่วนตัวแยกจากสวดมนต์ร่วมกับนักบวชอื่นๆ และมักจะมีคูหาสวดมนต์ยื่นออกไปจากบริเวณนี้ทางหลังวัด คูหาสวดมนต์ตรงกลางตรงกับแท่นบูชาทางตะวันออกสุดของวัดมักจะเป็นคูหาสวดมนต์ที่อุทิศให้พระแม่มารี ที่เรียกว่า “Lady Chapel” เช่นที่อาสนวิหารกลอสเตอร์ หรือ อาสนวิหารอาเมียง คูหาสวดมนต์พระแม่มารีมักจะเป็นคูหาสวดมนต์ที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดภายในอาสนวิหาร ภายในอาจจะเป็นเหมือนวัดเล็กๆ มีที่นั่ง แท่นบูชา หน้าต่างกระจกประดับสีอย่างสวยงาม
บางอาสนวิหารในอังกฤษจะที่มีแขนกางเขนสองชั้น ชั้นที่สั้นกว่ามักจะใช้เป็นที่สร้างคูหาสวดมนต์[14]
คูหาสวดมนต์อาจจะอยู่สองฝั่งทางเดินข้าง ถ้าเป็นคูหาสวดมนต์แบบนี้ก็เรียกว่า “คูหาสวดมนต์ข้าง” (Side chapel) ลักษณะสถาปัตยกรรมของแต่ละคูหาภายในอาสนวิหารเดียวกันก็อาจจะแตกต่างจากกันมากไม่ว่าจะเป็นขนาด ลักษณะทางสถาปัตยกรรม และการตกแต่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะอุทิศให้สร้าง ถ้าผู้ออกเงินสร้างร่ำรวยคูหาก็อาจจะตกแต่งอย่างวิจิตร และอาจจะใช้เป็นที่ที่ผู้รับจ้างสวดมนต์มาสวดมนต์แทนให้ผู้ว่าจ้างก็ได้
เผยแพร่คำสอน
แก้ไม่ว่าสถาปัตยกรรมของอาสนวิหารจะเป็นรูปแบบใด ความประสงค์ของการสร้างอาสนวิหารคือเป็นที่สร้างความประทับใจ ความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้เห็น และทำให้ผู้เห็นรู้สึกเกรงขาม เป็นที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ผู้ศรัทธา และเป็นที่เผยแพร่คำสอนของคริสต์ศาสนา ความประสงค์อันหลังนี้เป็นความประสงค์สำคัญที่สุดของคริสต์ศาสนสถาน ไม่ว่าจะเป็นอาสนวิหารหรือวัดประจำท้องถิ่น
การตกแต่งเพื่อการเผยแพร่คำสอนจะเริ่มมาจากด้านนอกที่มีรูปปั้นหรือกลุ่มรูปปั้นซึ่งอาจจะเป็นฉากจากชีวิตของพระเยซู, พระแม่มารี, นักบุญ หรือคนสำคัญๆ ในคริสต์ศาสนา เรื่อยเข้าไปภายในโดยเริ่มจากทางเข้าด้านตะวันตกไปจนถึงแท่นบูชา ซึ่งอาจจะเป็นในรูปของ จิตรกรรมฝาผนัง, จิตรกรรม หรือ ประติมากรรม ไม่ว่าจะเป็นบนผนังวัด หรือ ในคูหาสวดมนต์ ด้านข้างและด้านหลังแท่นบูชา หรือหน้าต่างประดับกระจกสีรอบวัด เรื่องราวที่แสดงก็อาจจะเป็นฉากชีวิตของนักบุญเช่นที่ชั้นบนของ อาสนวิหารเซนต์ฟรานซิสแห่งอาซิซิ ที่เมืองอาซิซิ ประเทศอิตาลี ที่ผนังด้านบนสองข้างทางเดินกลางจะเป็นจิตรกรรมฝาผนังฉากชีวิตของนักบุญฟรานซิสโดย จอตโต ดี บอนโดเน จิตรกรผู้มีชื่อเสียงของอิตาลี หรือ ภาพเขียนในคูหาสวดมนต์ทางด้านข้างของอาสนวิหารโวลแทร์ราในประเทศอิตาลี ที่แสดงให้เห็นนักบุญเซบาสเตียนถูกยิงด้วยธนู ศิลปะเหล่านี้ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเพิ่มความเข้าใจและความศรัทธาให้แก่ผู้เลื่อมใสรวมทั้งผู้มีการศึกษาน้อย จนบางครั้งเรียกกัน “พระคัมภีร์คนยาก”
การตกแต่งประตูทางเข้า
แก้อาสนวิหารแบบโรมาเนสก์และกอธิคมักจะมีรูปสลักหิน “พระเยซูผู้ทรงเดชานุภาพ” บนหน้าบันเหนีอประตูกลาง รูปนี้จะพบเหนือประตูอาสนวิหารหลายแห่งในประเทศฝรั่งเศสเช่นที่อาสนวิหารโนเทรอดามแห่งชาร์ทร์ และ อาสนวิหารอ็องเฌ อีกรูปหนึ่งที่นิยมกันคือ “การตัดสินครั้งสุดท้าย” ที่มีพระเยซูทรงนั่งเป็นประธาน และ การชั่งวิญญาณ เช่นที่อาสนวิหารอาเมียง จุดประสงค์การมีภาพไว้เหนือประตูก็คือเป็นการเตือนสติผู้มีศรัทธารู้สึกสำนึกตัวและเตรียมตัวก่อนที่พระเยซูจะเสด็จกลับมาเป็นครั้งที่สอง เมื่อถึงวันนั้นผู้ที่ทำความดีก็จะได้ถูกเลือกขึ้นสวรรค์ ผู้ที่ทำความชั่วก็จะถูกส่งลงนรก ภาพที่เห็นกันบ่อยอีกภาพหนึ่งคือรูปหญิงพรหมจารีดีและไม่ดี 10 คน (The Ten Virgins) ที่เป็นคติเตือนให้รู้จักเตรียมตัวล่วงหน้าต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น
รายรอบรูปสลักใหญ่เหนือประตูก็จะเป็นซุ้มโค้งที่มีรูปแกะสลักเล็กลงของศาสดาจากในคัมภีร์ นักบุญต่าง หรือ ผู้ที่ทำความดีต่อศาสนา อาสนวิหารที่อังกฤษหลายแห่งจะมีรูปแกะสลักจำนวนมากและขนาดใหญ่ด้านหน้าวัดเช่น อาสนวิหารลิงคอล์น อาสนวิหารซอลสบรี อาสนวิหารเอ็กซีเตอร์ หรือ อาสนวิหารเวลส์ แต่รูปสลักเหล่านี้ถูกทำลายหรือถูกกัดกร่อนเพราะสภาวะอากาศไปมากจนเกือบไม่เหลือรูปทรงเดิม[11][15] อาสนวิหารที่ฝรั่งเศสก็เช่นกันจะมีประตูใหญ่ที่มีรูปสลักมากมาย เช่นที่ อาสนวิหารอาเมียง หรือ อาสนวิหารรีมส์
พระคัมภีร์คนยาก
แก้“พระคัมภีร์คนยาก” คือการใช้วัดเป็นที่สอนศาสนาสำหรับผู้ที่ไม่มีการศึกษาหรือไม่มีเงินพอที่จะซื้อพระคัมภีร์เป็นของตนเองได้ คนเหล่านี้ก็สามารถจะเรียนรู้เรื่องราวทางคริสต์ศาสนาได้โดยดูจากทัศนศิลป์ที่ใช้ตกแต่งทั้งภายนอกและภายในวัด หัวเรื่องมักจะเป็นเรื่องราวที่เอามาจากพันธสัญญาเดิม พันธสัญญาใหม่ “กิจการของสาวก” (Acts of the Apostles) บางครั้งก็เป็นภาพประวัติชีวิตของพระเยซู ประวัติชีวิตของพระแม่มารี ประวัติของนักบุญ หรือบางครั้งก็จัดเรื่องที่มีคำสอนคล้ายคลึงกันเช่นเอาภาพการนำร่างพระเยซูลงจากกางเขน มาคู่กับรูปโจเซฟถูกจับโยนลงไปในบ่อ หรือ เอารูป “พระเยซูฟื้นชีพ” ตั้งคู่กับปลาโลมาที่กำลังขย้อนโจนาห์ออกมาจากท้องหลังจากที่กลืนไปสามวัน ลักษณะของศิลปะที่ใช้อาจจะเป็นงานโมเสก จิตรกรรมฝาผนัง รูปสลักแผ่น หรือ หน้าต่างประดับกระจกสี ที่ตั้งของศิลปะอาจจะทำบนกำแพงโดยตรง บนผนัง บนเพดาน บนฉากรอบบริเวณพิธี ในคูหาสวนมนต์ และ สถานศักดิ์สิทธิ์หลังแท่นบูชา หน้าต่างกระจกสีที่เด่นก็มีหลายแห่งโดยเฉพาะในอังกฤษและฝรั่งเศสเช่นที่ อาสนวิหารแคนเตอร์บรี หรือ อาสนวิหารแซงต์เอเตียนน์แห่งบูร์ก[16]
สัญลักษณ์ของพระเจ้า
แก้ส่วนหนึ่งของการตกแต่งมักจะมาจากการแสดงเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นผู้สร้างจักรวาล พร้อมกับที่แสดงให้เห็นการที่พระองค์ทรงก่อสร้างโลกตามที่ทรงกำหนดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยใช้ภาพจักรราศี และ “แรงงานสิบสองเดือน” (Labours of the Months) ซึ่งเป็นหัวข้อที่เหมาะมากกับการตกแต่งด้วยหน้าต่างกุหลาบ[3][11]
การตกแต่งด้วยสิงสาราสัตว์และยุวเทพ
แก้- ดูบทความหลักที่ ปนาลี
นอกจากตกแต่งด้วยเรื่องราวทางศาสนาแล้ว อาสนวิหารก็ยังตกแต่งด้วย สิงสาราสัตว์หรืออสุรกาย ตามจินตนาการหรือมนุษย์กึ่งสัตว์ ซึ่งบางทีก็ไม่เกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา สิงสาราสัตว์เหล่านี้มักจะเป็นสัญลักษณ์ความควรความไม่ควร หรือความดีและความชั่ว และเป็นการให้คติแก่ผู้มีศรัทธา ที่ใช้กันบ่อยคือรูปนกพิลลิแกนจิกอกตนเองเพื่อเลี้ยงลูก การกระทำของนกพิลลิแกนเป็นความเสียสละอันใหญ่หลวงที่เป็นสัญลักษณ์ของความรักพระเยซูผู้มีต่อคริสต์ศาสนิกชนพอที่พระองค์เองยอมพลีชีพเพื่อไถ่บาปให้มวลมนุษย์ได้[11]
สัตว์อื่นๆ ที่ใช้ตกแต่งก็มี กระต่าย ห่าน ลิง หมาจิ้งจอก สิงโต อูฐ ผึ้ง นกตะกรุม หรือสัตว์ในตำนานเช่น กริฟฟิน หรือยูนิคอร์น ตำแหน่งหรือที่ตั้งของรูปแกะหรือปั้นก็จะทำตามหัวเสา แกะนูนบนกำแพงหรือผนัง รอบซุ้มโค้ง เพดาน หรือ บนปุ่มหินบนเพดาน หรือการตกแต่งตามขอบคัน สิ่งตกแต่งเช่นปนาลีหรือที่เรียกว่าการ์กอลยที่อาสนวิหารโนเตรอดามมีชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป หรือสัตว์อื่นเช่น “Blemyah” และ “คนป่า” (Green Man) ทีอาสนวิหารริพพอน (Ripon Cathedral) ที่อังกฤษและบางประเทศจะมีการแกะสลักที่ยื่นออกมาจากใต้ม้านั่งพับที่ใช้กันในบริเวณที่ร้องเพลงสวดมนต์ที่เรียกว่าเก้าอี้อิง [3][17]
กางเขนเอก
แก้กางเขนเอก มาจากคำว่า “Rood” ซึ่งมาจากคำว่า “Roda” ในภาษาแซ็กซอนเก่าหมายถึงกางเขนขนาดใหญ่ที่ตั้งเด่นภายในวัด กางเขนเอกจะเป็นกางเขนที่มักจะแขวนห้อยลงมาจากเพดานเหนือบริเวณที่ทำพิธีหรือตั้งอยู่บนฉากที่ใช้แยกระหว่างบริเวณสงฆ์และบริเวณทางเดินกลาง กางเขนเอกอาจจะแกะจากไม้แล้วทาสีหรือเป็นภาพเขียนบนกางเขน ในอังกฤษตัวกางเขนเอกส่วนใหญ่จะถูกทำลายไป จะเหลืออยู่ก็แต่เพียงฉากที่เคยเป็นที่ตั้งของกางเขนเอกที่เรียกว่า “ฉากกางเขน” กางเขนเอกมักจะประกบด้วยพระแม่มารีและจอห์นอีแวนเจลลิส หรือจอห์นแบ็พทิสต์ผู้ถือป้ายที่มีตัวอักษรว่า นี่คือพระเยซูผู้เป็นสาวกของพระเจ้า (“Behold, the Lamb of God”) กางเขนเอกที่ประเทศอิตาลีในบางวัดจะสร้างโดยจิตกรคนสำคัญๆ เช่น จอตโต ดี บอนโดเน ที่ สเปลโล (spello) ฟีลิปโป บรูเนลเลสกี และ โดนาเทลโล
แท่นบูชา
แก้-
แท่นบูชาที่อาสนวิหารเชอร (Choeur Cathédrale) ประเทศฝรั่งเศส
-
แท่นบูชาที่อาสนวิหารปอยเตียร์ (Cathédrale Saint-Pierre) ประเทศฝรั่งเศส
-
แท่นบูชากอธิคที่อาสนวิหาร
ชเลสวิช (Schleswiger Dom) ประเทศเยอรมนี -
แท่นบูชาที่อาสนวิหารซาเล็ม
(Salemer Münster)
ประเทศเยอรมนี -
แท่นบูชาฟื้นฟูกอธิคที่
อาสนวิหารวูสเตอร์ อังกฤษ
สิ่งที่เป็นหลักและที่สำคัญที่ทาง “ตะวันออก” ของอาสนวิหารคือ “บริเวณศักดิ์สิทธิ์” และ “แท่นบูชาเอก” (High altar) ความหมายสำคัญที่ทางวัดจะสื่อสารกับผู้มีศรัทธาก็จะเป็นเช่นเดียวกันคือความเสียสละและการไถ่บาปของมนุษย์โดยพระเยซู แต่วิธีแสดงออกจะแตกต่างกันเป็นหลายแบบ ในประเทศอิตาลีทางด้านนี้อาจจะตกแต่งด้วยโมเสกทองเป็นประกายภายใต้มุขโค้งเหนือแท่นบูชาเช่นที่อาสนวิหารปิซา หรือที่ประเทศเยอรมนีและสเปนก็อาจจะเป็นการตกแต่งแท่นบูชาแบบบาโรกอย่างหรูหราเช่นที่เรียกกันว่า “Transparente” เช่นที่อาสนวิหารโทเลโด (Toledo cathedral) เป็นต้น [18]
ฉากแท่นบูชา (altarpiece) ที่แกะด้วยไม้ทำด้วยปูนปั้นใช้กันมากในประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศสและบางอาสนวิหารในอังกฤษ บางครั้งที่อังกฤษจะใช้หน้าต่างประดับกระจกสีขนาดใหญ่หลังแท่นบูชาเป็นฉากหลังประกอบแท่นบูชาเช่นที่อาสนวิหารยอร์คที่เป็นเรื่องราวของไฟล้างโลก (Apocalypse) หรือที่อาสนวิหารกลอสเตอร์ที่มีหน้าต่างขนาดใหญ่กว่าสนามเทนนิสที่เรียกว่า “The Great East Window”
หมายเหตุ: ส่วนนี้เก็บความมาจาก อเลค คลิฟตัน-เทย์เลอร์ [19] และเพฟเนอร์[18]
ลักษณะสถาปัตยกรรมของอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก
แก้สถาปัตยกรรมคริสเตียนยุคแรก
แก้- ดูบทความหลักที่ ศิลปะคริสเตียนยุคแรก
ลักษณะสถาปัตยกรรมคริสเตียนยุคแรกในการก่อสร้างอาสนวิหารจะเห็นได้จาก อาสนวิหารซานตามาเรียมายอเรที่โรม ภายในอาสนวิหารนี้ยังรักษารูปทรงเดิมตั้งแต่เมื่ออาสนวิหารสร้างเป็นครั้งแรก โถงกลางภายในจะกว้างใหญ่อย่างบาซิลิกาทางท้ายวัดเป็นมุขยื่นออกไปอย่างง่ายๆ ทางเดินกลางประกบสองข้างด้วยเสาเป็นเส้นตรงรับด้วยบัวคอร์นิซแทนที่จะเป็นซุ้มโค้ง และการตกแต่งภายในจะเป็นโมเสกโดยเฉพาะบริเวณบริเวณพิธีโดยเฉพาะภายใต้มุขตะวันออก อีกสองอาสนวิหารที่โรมที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะสถาปัตยกรรมคริสเตียนยุคแรกเช่นกันก็คือซานตาซาบินา (Santa Sabina) และ อาสนวิหารอควิลเลีย (Cathedral of Aquileia) ที่จะเห็นได้จากสิ่งก่อสร้างแบบบาซิลิกาซึ่งจะตกแต่งอย่างเรียบง่ายซึ่งเป็นลักษณะของการสร้างอาสนวิหารยุคแรก[8][5][9]
สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์
แก้- ดูบทความหลักที่ สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์
เมืองราเวนนาทางตะวันออกของอิตาลีเต็มไปด้วยวัดและอาสนวิหารที่ใช้โครงสร้างเป็นแบบบาซิลิกาที่สร้างมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิจัสติเนียน (Emperor Justinian) เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 6 ผังของอาสนวิหารซานอพอลลินาเรนูโอโว (San Apollinare Nuovo) ก็คล้ายกับอาสนวิหารซานตามาเรียมายอเรที่โรมแต่รายละเอียดการแกะสลักจะไม่เป็นลักษณะแบบโรม การตกแต่งด้วยโมเสกภายในวัดนี้เก็ยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก
อีกอาสนวิหารหนึ่งในราเวนนาที่สร้างในสมัยเดียวกันคืออาสนวิหารซานวิทาลเล ผังของอาสนวิหารนี้เป็นแบบศูนย์กลางที่มีโดมตรงกลาง มีเนื้อที่ภายในด้วยกันทั้งหมด 25 ตารางเมตร โดมกลางล้อมรอบด้วยคูหาโค้ง 8 คูหาแยกกระจายออกจากโถงกลาง แต่ละคูหาคลุมด้วยโดมครึ่งวงกลมทำให้ผังดูเหมือนรูปดอกไม้ การตกแต่งก็เริ่มซับซ้อนขึ้นโดยการเล่นซุ้มโค้งซ้อนกันหลายชั้นซึ่งไม่มีสิ่งก่อสร้างใดที่จะเปรียบได้จนมาถึงวัดบาโรกซานตามาเรียเดลลาซาลูเท (Santa Maria della Salute) ใกล้เมืองเวนิสที่สร้างราวพันปีต่อมา อาสนวิหารที่พยายามสร้างเลียนแบบอาสนวิหารซานวิทาลเลก็ได้แก่อาสนวิหารอาเคินที่ประเทศเยอรมนี
อาสนวิหารสำคัญที่สุดวัดหนึ่งของสถาปัตยกรรมแบบไบแซนไทน์คืออาสนวิหารซานมาร์โค (San Marco Basilica) ที่เมืองเวนิส ที่เรียกว่าบาซิลิกานี้มิใช่เป็นเพราะลักษณะการก่อสร้างเป็นแบบบาซิลิกา แต่เป็นฐานะของอาสนวิหารที่ได้รับแต่งตั้งจากพระสันตะปาปาให้เป็นบาซิลิกา ถึงแม้ว่าอาสนวิหารนี้จะมีการต่อเติมเปลี่ยนแปลงมาตลอดแต่โครงสร้างตัววัดโดยทั่วไปยังรักษาทรงดั้งเดิมไว้ คือเป็นผังแบบศูนย์กลางแบบไบแซนไทน์ทรงกากบาท เหนือโถงกลางเป็นโดมใหญ่ล้อมด้วยโดมเล็กกว่าอีกสี่โดม การตกแต่งทั้งภายนอกและภายในเป็นลักษณะศิลปะไบแซนไทน์แท้ โดยตกแต่งด้วยโมเสกอย่างวิจิตรและหินอ่อนฝังแบบหน้าไม้หลากสี[8][11]
สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์
แก้- ดูบทความหลักที่ สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์
หลังจากที่จักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจลงเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 5 การสร้างวัดใหญ่ๆ ในยุโรปตะวันตกก็เริ่มแพร่หลายกันมากขึ้นตามการขยายตัวของสำนักสงฆ์เช่น ลัทธิออกัสติเนียน หรือ ลัทธิเบ็นนาดิคติน และลัทธิอื่นๆ ภายใต้การนำของสาวกของลัทธิ สำนักสงฆ์ขนาดใหญ่อย่างสำนักสงฆ์คลูนี (Cluny Abbey) ก็สร้างในสมัยนั้น แต่ปัจจุบันเหลือสิ่งก่อสร้างอยู่เพียงไม่กี่สิ่ง ลักษณะของวัดคลูนีเป็นแบบโรมัน เสาอ้วน กำแพงหนา หน้าต่างแคบเล็ก และซุ้มโค้ง
สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์เผยแพร่ไปพร้อมกับการเผยแพร่ของสำนักสงฆ์ลัทธิต่างๆ ไปทั่วยุโรป วิธีการสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีหลังคาโค้งสูงก็เริ่มมาฟื้นฟูขึ้นอีก แต่การตกแต่งจะหันกลับไปหาการตกแต่งของศิลปะที่ไม่ใช่ศิลปะศาสนาซึ่งมาจากศิลปะสมัยก่อนคริสต์ศาสนาและเป็นศิลปะท้องถิ่นเช่นการใช้ลวดลายหยักซิกแซก ลายม้วนก้นหอย หรือรูปสลักหัวสัตว์หรือสัตว์/มนุษย์ในจินตนาการที่หน้าตาน่าเกรงขาม หรืออสุรกาย ผนังจะทาสีแบบจิตรกรรมฝาผนังแต่ฝีมือจะยังค่อนข้างหยาบ สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์เผยแพร่มาถึงอังกฤษพร้อมกับพระเจ้าวิลเลียมที่ 1จากนอร์ม็องดี (ทางเหนือของประเทศฝรั่งเศส) เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 ฉะนั้นอังกฤษจึงมักจะเรียกสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ว่า “สถาปัตยกรรมนอร์มัน”
อาสนวิหารที่เป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ก็ได้แก่แอบเบย์โอกสซอม (Abbaye aux Hommes) ที่เมืองแคน (Caen) ประเทศฝรั่งเศส อาสนวิหารเวิมส์ ที่เยอรมนี อาสนวิหารปิซา (Pisa Cathedral) และ อาสนวิหารพาร์มา (Parma Cathedral) ที่ประเทศอิตาลี และ อาสนวิหารเดอแรม ที่อังกฤษ[15][8][11]
สถาปัตยกรรมกอธิค
แก้- ดูบทความหลักที่ สถาปัตยกรรมกอธิค
พอมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 อาสนวิหารและสำนักสงฆ์ใหญ่ๆ ก็สร้างกันเสร็จ ความชำนาญของสถาปนิกในการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตเช่นอาสนวิหารที่ประกอบด้วยโค้งสูง หลังคาหิน หอคอยสูงเป็นต้นก็เพิ่มมากขึ้น ลักษณะการก่อสร้างจึงวิวัฒนาการขึ้นทำให้สิ่งก่อสร้างเริ่มลดความเทอะทะลง หน้าต่างก็เริ่มกว้างกว่าเดิมบ้าง เพดานโค้งสูงที่รับน้ำหนักก็มีลักษณะเบาขึ้น เพดานที่เคยเป็นโค้งครึ่งวงกลมเริ่มแหลมขึ้น เพดานโค้งแหลมกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของเพดานกอธิคที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ ในสมัยนี้มีการวิวัฒนาการใช้ค้ำยันที่เรียกว่าค้ำยันแบบปีกที่กางออกไปจากสิ่งก่อสร้าง ซึ่งช่วยแบ่งเบาการรับน้ำหนักของหลังคาและตัวกำแพงเอง สถาปนิกจึงสามารถสร้างกำแพงที่บางลงได้ เป็นผลที่สามารถทำให้สร้างหน้าต่างได้กว้างใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะการแบ่งหน้าต่างเป็นส่วนๆ ด้วยช่องหินที่ตกแต่งอย่างสวยงามคล้ายลูกไม้ ตัวอย่างของการสร้างหน้าต่างใหญ่จะเห็นได้ชัดในประเทศอังกฤษโดยเฉพาะที่อาสนวิหารกลอสเตอร์ที่มีหน้าต่างขนาดมหึมาด้วยกันทั้งหมด 5 บานโดยเฉพาะในคูหาสวดมนต์พระแม่มารีทางตะวันออกสุดของวัดหน้าต่างแต่ละหน้าต่างจะจรดกำแพงสองด้านทำให้ทั้งคูหาดูคล้ายห้องกระจก
ตัวหน้าต่างก็อาจจะตกแต่งด้วยกระจกสีเป็นเรื่องราวจากพันธสัญญาเดิม พันธสัญญาใหม่ ประวัตินักบุญ ประวัตินักบวชที่มีบทบาทในการสร้างอาสนวิหาร พระเจ้าแผ่นดิน หรือบุคคลสำคัญๆ ในท้องถิ่น
ตัวอย่างของอาสนวิหารสำคัญๆ ที่แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมกอธิคก็ได้แก่
- ฝรั่งเศส – อาสนวิหารโนเตรอดามแห่งปารีส อาสนวิหารชาร์ทร อาสนวิหารรูออง และอาสนวิหารสตราสเบิร์ก
- เบลเยียม -- อาสนวิหารอันเวิร์พ (Antwerp Cathedral)
- เยอรมนี – อาสนวิหารโคโลญ (Cologne Cathedral)
- ออสเตรีย -- อาสนวิหารเซนต์สตีเฟน (St Stephen's Cathedral) กรุงเวียนนา
- อิตาลี -- อาสนวิหารเซียนนา (Siena Cathedral) และอาสนวิหารมิลาน (Milan Cathedral)
- สเปน -- อาสนวิหารเบอร์โกส และ อาสนวิหารโทลีโด (Toledo Cathedral)
- อังกฤษ -- อาสนวิหารแคนเตอร์บรี อาสนวิหารซอลสบรี และ อาสนวิหารกลอสเตอร์[3][8][11][19]
สถาปัตยกรรมเรอเนซองส์
แก้- ดูบทความหลักที่ สถาปัตยกรรมเรอเนซองส์
เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ทางอาสนวิหารฟลอเรนซ์ได้จัดให้มีการประกวดการออกแบบหอกลางเหนือจุดตัดระหว่างแขนกางเขนและทางเดินกลาง สถาปนิกที่ชนะการประกวดคือฟีลิปโป บรูเนลเลสกี ผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากโดมที่ได้ไปเห็นมาระหว่างการท่องเที่ยว เช่นที่อาสนวิหารซานวิทาลเลที่ราเวนนา หรือตึกแพนธิออนที่โรม บรูเนลเลสกีจึงออกแบบโดมใหญ่แบบโรมันและมีหลังคาอย่างแพนธิออน สิ่งก่อสร้างนี้ถือว่าเป็นสิ่งก่อสร้างชิ้นแรกของสมัยเรอเนซองส์ หรือ ฟื้นฟูศิลปวิทยา แต่จริงแล้วลักษณะหลังคาโค้งของบรูเนลเลสกีไม่ใช้หลังคาโดมครึ่งวงกลมแต่เป็นหลังคาโค้งแหลมแบบมีสัน (ribbed vault) ซึ่งเป็นลักษณะกอธิคโดยแท้ สถาปัตยกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยาจึงเป็นการมองย้อนไปถึงเทคนิคโครงสร้างแบบโรมัน
บรูเนลเลสกีและสถาปนิกคนอื่นๆ มีแรงบันดาลใจที่จะปรับปรุงรูปแบบสถาปัตยกรรมโรมัน ซึ่งรูปทรงและการตกแต่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การวางสัดส่วนซึ่งสถาปนิกสมัยก่อนหน้าสถาปัตยกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยาได้ละทิ้งไป สถาปนิกกลุ่มนี้จึงพยายามเอากฎเหล่านี้กลับมาปฏิบัติอีกครั้ง สมัยนี้จึงเป็นสมัยที่มีการตั้งสมมุติฐานทางทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมและการทดลองทฤษฎีต่างๆที่ตั้งไว้ บรูเนลเลสกีเองก็สร้างวัดใหญ่ๆสองวัด -- วัดซานลอเรนโซ และวัดซานโตสปิริตโต (San Lorenzos และ Santo Spirito) -- ในเมืองฟลอเรนซ์ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าสมมุติฐานทางทฤษฎีที่เขาตั้งขึ้นสามารถนำมาปฏิบัติได้ วัดนี้คือทฤษฎีศิลปะคลาสสิกที่ประกอบด้วยแนวเสากลม หัวเสาโครินเธียน (Corinthian) ส่วนที่อยู่ระหว่างเสาและหลังคา (entablatures) โค้งครึ่งวงกลม และคูหาสวดมนต์[20]
อาสนวิหารที่เป็นตัวอย่างที่ดีของสถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูศิลปวิทยาก็คืออาสนวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่โรมซึ่งเป็นผลงานของ โดนาโต ดันเจโล บรามันเต, ราฟาเอล, จูลิอาโน ดา ซานกาลโล, คาร์โล มาเดอร์โน และ ไมเคิลแอนเจโล ซึ่งเป็นผู้สร้างโดมที่สูงและแคบกว่าโดมของบรูเนลเลสกีที่สร้างก่อนหน้านั้นร้อยปีที่ฟลอเรนซ์เพียงหนึ่งฟุต โดมเป็นองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างที่เป็นจุดสนใจทั้งภายนอกและภายใน โดมของอาสนวิหารเซนต์ปีเตอร์จะอยู่เหนือบริเวณพิธีมณฑล (chancel) และแขนกางเขน ทำให้เป็นผังของวัดเป็นทรงกากบาทแบบไบแซนไทน์ ทางเดินกลางที่เห็นยาวที่เห็นความจริงแล้วเป็นส่วนต่อเติมภายหลังที่ทำให้ผังของอาสนวิหารกลายมาเป็นแบบกางเขน
สมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ทรงมีอำนาจพอที่จะเรียกศิลปินคนใดมาออกแบบอาสนวิหารเซนต์ปีเตอร์ก็ได้ ในสมัยนั้นยังมิได้มีการแยกระหว่างสถาปนิก ประติมากร หรือช่างก่อสร้าง ผลที่ออกมาก็คืออาสนวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ที่เป็นผลงานของผู้มีความสามารถดีเด่นที่สุดในสมัยนั้น ซึ่งมีทั้งความใหญ่โต ความน่าประทับใจ และมีความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสิ่งก่อสร้าง[21][8][5]
สถาปัตยกรรมบาโรก
แก้- ดูบทความหลักที่ สถาปัตยกรรมบาโรก
เมื่ออาสนวิหารเซนต์พอลสร้างเสร็จก็แสดงให้เห็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่เป็นผลจากการที่สถาปนิกได้เรียนรู้หลักเกณฑ์ต่างๆ ของการก่อสร้างแต่จงใจที่จะละเลย ผลก็คือสถาปัตยกรรมที่มีไดนามิค (Dynamic) ซึ่งรูปทรงของสิ่งก่อสร้างเหมือนจะมีชีวิตจิตใจเป็นของตัวเอง ราวกับว่าจะเคลื่อนไหวได้ดังเช่นคำว่าบาโรก (“Baroque”) ที่หมายถึงรูปทรงที่บิดวนอย่างหอยมุก (“Mis-shapen pearl”)
สมัยบาโรกมีการสร้างวัดใหญ่ๆ มากแต่ที่เป็นอาสนวิหารมีเพียงไม่กี่แห่ง ที่เด่นที่สุดก็คืออาสนวิหารเซนต์พอลที่กรุงลอนดอนที่กล่าวถึงข้างบน และอาสนวิหารเซ็นต์กอล (St. Gall Cathedral) ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อาสนวิหารบางแห่งอาจจะมีองค์ประกอบบางส่วนที่มาต่อเติมภายหลังที่เป็นแบบบาโรกเช่นการตกแต่งด้านหน้าวัด ฉากหลังแท่นบูชา หรือคูหาสวดมนต์ อย่างเช่นด้านหน้าของอาสนวิหารซานติเอโก เดอ คอมโพสเตลลา (Santiago de Compostela) หรือ อาสนวิหารวัลลาโดลิด (Valladolid Cathedral) ที่ประเทศสเปน ซึ่งมาต่อเติมเป็นแบบบาโรกภายหลัง แต่ที่จะเห็นเป็นอาสนวิหารแบบบาโรกทั้งอาสนวิหารค่อนข้างจะหายาก
สิ่งที่น่าสนใจของอาสนวิหารเซนต์พอลก็คือเป็นอาสนวิหารที่ออกแบบโดยสถาปนิกคนเดียวและสร้างเสร็จในระยะสั้น สถาปนิกที่กล่าวถึงคือเซอร์คริสโตเฟอร์ เร็น (Sir Christopher Wren) ซึ่งเป็นสถาปนิกคนสำคัญของอังกฤษ ตัวอาสนวิหารสร้างแทนอาสนวิหารเดิมที่ถูกไฟไหม้ระหว่างที่เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในลอนดอน เมื่อ ค.ศ. 1666 สถาปัตยกรรมของอาสนวิหารเป็นแบบบาโรกแต่เป็นบาโรกแบบอังกฤษที่ค่อนข้างจะรัดตัวไม่เช่นบาโรกแบบทางใต้ของประเทศเยอรมนีซึ่งจะเต็มไปด้วยชีวิตชีวา สีสันและการมีลูกเล่น แต่ผลของสิ่งก่อสร้างของเร็นคือสิ่งก่อสร้างที่แสดงความสง่าภูมิฐานโดยเฉพาะการใช้โดมอย่างเช่นการใช้โดมของบรูเนลเลสกีที่ฟลอเรนซ์ ซึ่งไม่แต่จะคลุมแต่เฉพาะทางเดินกลางวัดแต่เลยออกไปถึงทางเดินข้างทำให้มีความรู้สึกว่าพื้นที่กลางวัดกว้างกว่าที่เป็นจริงและโล่ง[19][22][18]
สถาปัตยกรรมฟื้นฟู
แก้- ดูบทความหลักที่ สถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค, สถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิก
สถาปัตยกรรมฟื้นฟู เป็นสมัยที่สถาปนิกหันไปฟื้นฟูการก่อสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมยุคเดิมเช่น ไบแซนไทน์ กอธิค หรือ เรอเนซองส์ ถ้าเลียนแบบกอธิคก็จะเรียกว่า “สถาปัตยกรรมกอธิคฟื้นฟู” หรือ ถ้าเลียนแบบเรอเนซองส์ ก็เรียกว่า “สถาปัตยกรรมเรอเนซองส์ฟื้นฟู” เป็นต้น
ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึง 19 เป็นช่วงเวลาของการขยายอาณานิคมไปทั่วโลกโดยประเทศในทวีปยุโรปตะวันตกขณะเดียวกับเกิดการฟื้นฟูความสนใจทางคริสต์ศาสนาโดยเฉพาะในประเทศอังกฤษที่หันกลับให้ความสนใจกับนิกายโรมันคาทอลิกมากขึ้น นอกจากนั้นความเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรมทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชน ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดมีความต้องการในสิ่งก่อสร้างทางศาสนาเพิ่มมากขึ้น ลักษณะสถาปัตยกรรมกอธิคเป็นลักษณะที่สถาปนิกสมัยฟื้นฟูเชื่อกันว่าเป็นลักษณะที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาทั้งในทวีปยุโรปเองและในประเทศที่อยู่ในเครืออาณานิคมที่ปกครอง
ตัวอย่างของอาสนวิหารแบบกอธิคฟื้นฟูก็ได้แก่ อาสนวิหารลิเวอร์พูล (Liverpool Cathedral) ที่อังกฤษ อาสนวิหารเซ็นต์จอห์นดิไวน์ (Cathedral of Saint John the Divine) ที่นิวยอร์ก และอาสนวิหารเซ็นต์แพททริค (St Patrick's Cathedral) ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
สถาปัตยกรรมสมัยนี้มิได้เป็นการฟื้นฟูสถาปัตยกรรมกอธิคไปทั้งหมด เช่น อาสนวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Cathedral) ที่กรุงลอนดอนซึ่งเป็นอาสนวิหารของนิกายโรมันคาทอลิกที่มีอาร์ชบิชอบเวสท์มินสเตอร์เป็นประมุข อาสนวิหารเวสท์มินสเตอร์เป็นสถาปัตยกรรมลักษณะลูกผสม ที่ส่วนใหญ่จะเป็นสถาปัตยกรรมแบบไบแซนไทน์โดยมีการตกแต่งด้วยกำแพงหลากสี โดม และมีหอระฆังสูงแบบอิตาลี สถาปัตยกรรมของอาสนวิหารแมรีควีนออฟสก็อตที่ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบเรอเนซองส์ฟื้นฟูที่สร้างเลียนแบบอาสนวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่กรุงโรม[19][8]
สถาปัตยกรรมสมัยใหม่
แก้ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 สิ่งก่อสร้างทางคริสต์ศาสนายังเลียนแบบสถาปัตยกรรมยุคกลางแต่ “ปอก” รายละเอียดออกจนมีลักษณะเกลี้ยงและมักจะใช้อิฐเป็นวัสดุก่อสร้างแทนที่จะเป็นหินอย่างที่เคยทำกันมา ตัวอย่างคืออาสนวิหารกิลด์ฟอร์ด ที่อังกฤษ หรือ อาสนวิหารอาร์มิเดล (Armidale Cathedral) ที่ประเทศออสเตรเลีย
หลัง สงครามโลกครั้งที่สอง สถาปนิกก็ละทิ้งรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบที่เคยทำกันมาเมื่อสร้างอาสนวิหารโคเวนทรี (Coventry Cathedral) ใหม่แทนอาสนวิหารเดิมที่ถูกระเบิดทำลายไป อาสนวิหารเดิมเคยเป็นวัดประจำท้องถิ่นมาก่อนที่จะได้เลื่อนขึ้นเป็นอาสนวิหาร สิ่งที่มิได้ถูกทำลายคือมณฑป อาสนวิหารโคเวนทรีใหม่เป็นแผงอิฐสลับกับหน้าต่างประดับกระจกสีเพื่อให้สิ่งก่อสร้างใหม่เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อมต่อกับอาสนวิหารเก่าโดยมิได้ลอกเลียนของเดิม
อาสนวิหารลิเวอร์พูล (Liverpool Metropolitan Cathedral) ออกแบบโดยเซอร์เฟรดเดอริค กิบเบิร์ด (Sir Frederick Gibberd) ที่สร้างในศตวรรษที่ 20 เป็นสิ่งก่อสร้างกลมใหญ่เป็นผังแบบศูนย์กลางเป็นและมีบริเวณศักดิ์สิทธิ อยู่กลางวัด[19]แทนที่จะอยู่ท้ายวัดทางบริเวณพิธีตามที่ทำกันมา โครงสร้างนี้เป็นผลโดยตรงจากปรัชญาที่มาจากการประชุมสภาวาติกันครั้งที่สองเมื่อปี ค.ศ. 1962 (Second Vatican Council) ที่เน้นให้ผู้เข้าร่วมพิธีเป็นส่วนหนึ่งของคริสต์ศาสนพิธีมิใช่เพียงแต่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์อย่างที่เคยทำกันมา
ตัวอย่างลักษณะทางสถาปัตยกรรม
แก้ความประสงค์ของตัวอย่างข้างล่างก็เพื่อแสดงลักษณะสถาปัตยกรรมการก่อสร้างหรือการออกแบบของอาสนวิหารบางแห่งที่มีลักษณะเด่นและน่าสนใจของแต่ละสมัยและของบางประเทศ มิใช่เป็นการบรรยายรายละเอียดของอาสนวิหารทุกแห่งและทุกประเทศ อาสนวิหารแต่ละแห่งที่บรรยายจะกล่าวถึง แผนผังของสิ่งก่อสร้าง ด้านตะวันตกหรือด้านหน้า ด้านตะวันออกหรือด้านท้ายวัด หอเหนือจุดตัดระหว่างแขนกางเขนกับทางเดินกลาง ทัศนศิลป์ที่ใช้เป็นการสอนเรื่องราวในคริสต์ศาสนา และ ลักษณะที่แตกต่างไปจากอาสนวิหารอื่นเช่นแสง เงา การตกแต่ง และรายละเอียด และสาเหตุที่สิ่งก่อสร้างนั้นแตกต่างจากสิ่งก่อสร้างอื่นในท้องถิ่นเดียวกัน
ข้อควรระวังคือลักษณะของแต่ละอาสนวิหารที่กล่าวถึงมักจะไม่เป็นสถาปัตยกรรมลักษณะใดลักษณะหนึ่งล้วนๆ เพราะอาสนวิหารส่วนใหญ่จะใช้เวลาสร้าง หรือขยายต่อเติมเป็นเวลาหลายร้อยๆ ปี ซึ่งย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงมากบ้างน้อยบ้างไปตามสมัยของสถาปัตยกรรม
หมายเหตุการเปรียบเทียบลักษณะอาสนวิหารที่กล่าวถึงข้างล่างใช้คำบรรยายจาก “ลักษณะสถาปัตยกรรม” ของแบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์เป็นหลัก[8]
ประเทศอิตาลี
แก้อาสนวิหารปิซา (ภาษาอังกฤษ: Cathedral of Pisa) เป็นสิ่งก่อสร้างที่ซับซ้อนและเป็นส่วนหนึ่งของ จัตุรัสปาฏิหาริย์ (ภาษาอังกฤษ: Campo dei Miracoli) ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของอาสนวิหารอิตาลีที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบโรมันเนสก์อย่างแท้จริง อาสนวิหารสร้างระหว่างปี ค.ศ. 1063 ถึงปี ค.ศ. 1092 โดยมีการเพิ่มเติมลักษณะกอธิคเข้าไปบ้าง ลักษณะต่างที่ใช้สร้างอาสนวิหารปิซายังคงใช้ในการสร้างสิ่งก่อสร้างในอิตาลีมาจนถึงสมัยบาโรก แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์บรรยายถึงอาสนวิหารนี้ว่าเป็น “อาสนวิหารที่สวยที่สุดในลักษณะโรมันเนสก์” ที่มี “เอกลักษณ์ที่เด่น” และมี “ความสวยและความละเอียดอ่อนของสิ่งตกแต่ง” [8]
-
ด้านหน้าอาสนวิหาร
-
หอศีลจุ่ม
-
มุขด้านหลังอาสนวิหาร
-
ภายในมุขด้านหลังอาสนวิหารตกแต่งด้วยโมเสก
-
ธรรมาสน์โดยนิโคลา ปิซาโน
สรุปลักษณะสำคัญของอาสนวิหารปิซา [8]
- ผังเป็นแบบกางเขนอย่างชัดเจน
- ทางท้ายวัดเป็นมุขโค้งครึ่งวงกลมแต่ไม่มีจรมุขหรือทางเดินล้อมรอบมุข
- เหนือจุดตัดระหว่างทางเดินกลางและแขนกางเขนเป็นโดมรูปไข่แทนที่จะกลม ซึ่งเป็นลักษณะแปลกและสามารถทำให้ผสมกับศิลปะบาโรกที่มาทีหลังได้อย่างกลมกลืน
- องค์ประกอบแต่ละส่วนจะแยกจากกันอย่างชัดเจนโดยการใช้วิธียื่นและถอยและเส้นตัด สิ่งตกแต่งใช้เป็นเครื่องแยกองค์ประกอบแต่ละส่วนแทนที่จะพยายามทำให้แต่ละส่วนกลืนเข้าด้วยกัน แนงดิ่งจะถูกแยกโดยใช้แนวขวาง คูหาภายในแยกจากหน้าต่างชั้นบนโดยใช้บัวคอร์นิช
- การใช้สอยต่างๆ ภายในวัดจะแยกจากกันโดยการแยกสิ่งก่อสร้างหลัก เช่นหอระฆังที่สร้างอิสระออกมาจากตัวอาสนวิหาร หอศีลจุ่มก็สร้างเป็นสิ่งก่อสร้างอิสระใหญ่โตจากตัวอาสนวิหาร ทั้งนี้เป็นเพราะดินในประเทศอิตาลีจะไม่แน่นหรือเป็นดินทรายและบางครั้งก็อาจจะทรุดได้ หรือบางครั้งก็มีภัยจากแผ่นดินไหวมากกว่าประเทศอื่นในยุโรป ถ้ารวมสิ่งก่อสร้างเข้าด้วยกันเมื่อมีเหตุการณ์ร้ายอย่างน้อยก็อาจจะมีอะไรเหลืออยู่บ้าง
- ซุ้มโค้งเป็นสิ่งตกแต่งที่เด่นมาก เป็นแถบสองสีแนวนอนตัดกันรอบอาสนวิหาร หอระฆัง และหอศีลจุ่ม โดยเฉพาะหอระฆังที่ใช้แถบแยกชั้นเป็นแปดชั้นจากกัน การตกแต่งลายขวางสลับสีกลายมาเป็นแบบที่เรียกว่า “ลักษณะปิซา” ซึ่งเป็นลักษณะที่เห็นในการก่อสร้างวัดหลายวัดในบริเวณทัสเคนีทางตอนกลางของประเทศอิตาลี
- ลักษณะสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะโรมันซึ่งประกอบด้วยเสาโครินเธียน
- การตกแต่งด้วยสีสันที่เป็นแถบตัดกันระหว่างหินอ่อนสีเขียวเข้ม เทา และ แดงทำให้สิ่งก่อสร้างดูสวยงามและเด่นขึ้น
- ทัศนศิลป์ที่ใช้ก็สื่อเรื่องราวทางคริสต์ศาสนาก็มีโมเสกเหนือมุข รูปปั้นในแผ่นกรอบสี่เหลี่ยม เช่นรูปปั้นรอบแท่นเทศน์แปดเหลี่ยม หรือภาพบนช่องแผ่นบนบานประตูสัมฤทธิ์หล่อ
หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนนี้ย่อมาจาก: แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์[8] และ ลารูส[11]
ตัวอย่างอาสนวิหารอื่นๆ ในประเทศอิตาลี:
-
อาสนวิหารมิลาน (Cathedral of Milan) ด้านหน้าแบบกอธิคมีประตูหน้าห้าประตู -
อาสนวิหารฟลอเรนซ์ (Florence Cathedral) ยอดกลางเป็นโดมโดยบรูเนลเลสกี
-
ระเบียงแกะสลักภายในอาสนวิหารโมดีนา (Duomo di Modena)
-
ด้านหน้าอาสนวิหารเซียนนา (Duomo di Siena) - กอธิคแบบอิตาลี
-
อาสนวิหารอเรสโซ (Arezzo Cathedral) - กอธิคแบบอิตาลีสมัยต้น มีหน้าต่างกุหลาบ และลายลอมบาร์ดรอบเชิงชาย
ประเทศฝรั่งเศส
แก้อาสนวิหารอาเมียง (ภาษาอังกฤษ: Amiens Cathedral) เป็นอาสนวิหารแบบกอธิคที่สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1220 และปี ค.ศ. 1288 เป็นอาสนวิหารที่เป็นตัวอย่างของลักษณะโดยทั่วไปของอาสนวิหารทางภาคเหนือของฝรั่งเศส วิม สวอนกล่าวว่า “ที่ทางเดินกลางของอาเมียง, โครงสร้างกอธิคและการใช้ศิลปะคลาสสิก, (ที่ใช้) ยกพื้นสามชั้นที่ทำที่อาสนวิหารชาร์ทร, ทำให้ (สิ่งก่อสร้างมีลักษณะ) สมบูรณ์แบบ” [3]
-
การตกแต่งด้านหน้าด้วยรูปสลักหินละเอียดจนเหมือนลูกไม้ เริ่มด้วยประตูทางเข้าสามประตู เหนือประตูรายด้วยรูปปั้น ตรงกลางเป็นหน้าต่างกุหลาบ กระหนาบด้วยหอสองหอ
-
ประตูด้านหน้าสามประตู หน้าบันเหนือประตูกลางสลักเป็นรูปการตัดสินครั้งสุดท้าย
-
ด้านหลังรายด้วยกำแพงค้ำยันแบบปีกรอบจรมุขที่ยื่นออกมาทางตะวันออก เหนือจุดตัดเป็นมณฑปปรุที่เรียกว่า “fleche”
-
ภายในเส้นดิ่งไล่จากพื้นไปจนถึงเพดานบนสุดทำให้ดูสูงกว่าเป็นจริง
-
ทัศนศิลปประวัติของนักบุญจอห์น แบ็พทิสต์บนผนังด้านนอกของบริเวณสงฆ์
สรุปลักษณะสำคัญของอาสนวิหารอาเมียง [8]
- ผังแบบกางเขนแต่แขนขวางไม่ยาวไปกว่าตัววัดทำให้มีลักษณะตัน
- ด้านหลังมีมุขโค้งล้อมรอบด้วยคูหาสวดมนต์กระจายออกมาจากมุขที่เรียกว่า “chevet”
- เน้นความสูง มีกำแพงค้ำยันแบบปีก ด้านข้างและด้านหลังรอบ chevet ที่รับน้ำหนักกำแพงและเพดานโค้งแบบกอธิค
- เหนือจุดตัดระหว่างทางเดินกลางและแขนกางเขนเป็นมณฑปแบบเปิดที่เรียกว่า “fleche”
- ส่วนต่างๆ ของสิ่งก่อสร้างกลมกลืนต่อเนื่องกันโดยใช้องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมเป็นตัวเชื่อม เส้นที่ใช้จะแล่นส่งต่อกันไปเช่นเสาที่เริ่มจากพื้นต่อตรงขึ้นไปถึงซุ้มโค้ง หน้าต่างชั้นบน และเรื่อยเลยขึ้นไปถึงสันภายใต้เพดานโค้ง
- ด้านหน้ามีประตูขนาดใหญ่สามประตูที่ตกแต่งด้วยกลุ่มรูปปั้นขนาบข้างและล้อมรอบ มีหอใหญ่สองหอเหนือประตูซ้ายและขวา และหน้าต่างกุหลาบตรงกลาง
- ด้านหน้าแบ่งตามนอนและตามขวางเป็นช่องๆทำให้เกิดเงาที่สาดลงไปทั้งดิ่งและขวางพร้อมกัน
- การตกแต่งที่เด่นก็ได้แก่การแกะสลักหินละเอียดจนเหมือนลูกไม้ด้านหน้า และ บนกำแพงค้ำยันแบบปีกที่ล้อมรอบอาสนวิหาร
- ทัศนศิลป์ที่ใช้ก็สื่อเรื่องราวก็มี หน้าต่างประดับกระจกสี รูปปั้นบนและรอบประตูหน้าวัด รูปปั้นบนด้านหน้าของวัด และรูปปั้นนูนภายในวัดเป็นฉากๆ รอบและใกล้บริเวณคริสต์ศาสนพิธีที่เป็นประวัติของนักบุญ เช่นเรื่องของจอห์น แบ็พทิสต์
หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนนี้ย่อมาจาก: แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์[8] ลารูส[11] และ สวอน [3]
ตัวอย่างอาสนวิหารอื่นๆ ในประเทศฝรั่งเศส:
-
อาสนวิหารชาร์ทร (Chartres Cathedral) - หอด้านหน้าไม่เท่ากัน
-
ด้านหน้า อาสนวิหารรีมส์ เป็นลักษณะแบบอาสนวิหารทางเหนือของฝรั่งเศส
-
อาสนวิหารรูอองแสดงให้เห็นมณฑปแบบเปิดที่เรียกว่า “fleche”
-
ด้านตะวันออกของอาสนวิหารบอร์ก (Bourges Cathedral) แสดงให้เห็นคูหาสวดมนต์ที่ยื่นออกมาด้านหลังที่เรียกว่า “chevet”
ประเทศอังกฤษ
แก้อาสนวิหารลิงคอล์น (ภาษาอังกฤษ: Lincoln Cathedral) เริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1074 และมาเสร็จราวปี ค.ศ. 1540 เป็นอาสนวิหารแบบอังกฤษทั้งรูปแบบและความหลากหลายของสถาปัตยกรรม อเลค คลิฟตัน-เทย์เลอร์บรรยายว่า “เมื่อพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว (อาสนวิหารลิงคอล์น) ก็เป็นอาสนวิหารที่เลิศมากที่สุดในอังกฤษ”[19]
-
ด้านหน้าที่ดูไม่กลมกลืนกัน แสดงให้เห็นประตูแบบนอร์มัน ฉากกอธิค และหอและจั่วที่สร้างคนละสมัย
-
หอประชุมสงฆ์สิบเหลี่ยมหนุนด้วยค้ำยันแบบปีก
-
สันนูนแล่นตลอดแนวบนเพดานทำให้ดึงสายตาตามแนวเพดานไปยังบริเวณคริสต์ศาสนพิธี
-
ฉากกางเขนกันระหว่างทางเดินกลางกับบริเวณสงฆ์หรือบริเวณร้องเพลงสวด
-
หน้าต่างกุหลาบทางด้านแขนกางเขน
สรุปลักษณะสำคัญของอาสนวิหารลิงคอล์น[8]
- ผังเป็นกางเขนสองชั้น (double cross) แขนกางเขนแรกกางยื่นออกไป แขนกางเขนสองใกล้บริเวณพิธีมีมุขชาเปล ระเบียงคดสร้างอิสระจากตัววัด และหอประชุมสงฆ์เป็นสิบเหลี่ยมหนุนด้วยค้ำยันแบบปีกขนาดใหญ่
- ด้านหลังวัดเป็นสี่เหลี่ยมตกแต่งด้วยหน้าต่างประดับกระจกสีขนาดใหญ่เป็นลวดลายเรขาคณิต
- ภายในเน้นความยาวและแนวนอน เส้นดิ่งของคูหาโค้ง ระเบียงแนบเหนือทางเดินกลาง และหน้าต่างชั้นบนทำให้เด่นด้วยเส้นขวางตลอดแนว บนเพดานโค้งแหลมมีสันนูนแล่นตลอดแนวทำให้ดึงสายตาตามแนวเพดานไป
- เหนือจุดตัดระหว่างทางเดินกลางและแขนกางเขนเป็นหอใหญ่สูง 270 ฟุตซึ่งรองรับมณฑปมาร่วมสามร้อยปีแล้ว
- ด้านหน้าให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่แต่ไม่ดูไม่สอดคล้องกัน จั่วและหอสูงสองหอที่พุ่งขึ้นมาเป็นการก่อสร้างคนละสมัย -- นอร์มัน และกอธิค -- อยู่หลังฉากกอธิคมหึมาที่เต็มไปด้วยรูปปั้นที่ประกบด้วยหอแหลมสองหอทางตอนปลายที่มีขนาดใหญ่พอที่จะทำเป็นหอหลักได้ ตรงกลางเป็นโค้งใหญ่สามโค้งรอบหน้าต่าง และมีประตูแบบนอร์มัน
- หอเน้นความสูงมีกำแพงค้ำยันหลายเหลี่ยมค้ำทำให้เกิดเงาดิ่งเวลาพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก ซุ้มโค้งที่เว้าลึกเข้าไปก็ทำให้เกิดเงาเช่นเดียวกันขณะที่ความใหญ่ของฉากรูปปั้นด้านหน้าทำให้ลดความรู้สึกว่าสูงลง
- การตกแต่งที่เด่นภายในคือความตัดกันของบัวหินอ่อนสีมืดและสันตัดกับหินสีอ่อนของตัววัด การย้ำการใช้ซุ้มโค้งไม่เฉพาะแต่ซุ้มโค้งสองข้างทางเดินกลางแต่คูหาโค้งเล็กตลอดแนวผนังสองข้างด้วย และ การใช้เพดานโค้งแหลมแบบสัน (rib vault) ซ้อนกัน การย้ำรูปทรงง่ายๆ นี้จะเห็นได้จากการตกแต่งฉากหน้าวัดและการจัดหน้าต่างด้วย
- ทัศนศิลป์ที่ใช้ก็สื่อเรื่องราวก็มี หน้าต่างประดับกระจกสี และรูปแกะสลัก แต่ส่วนใหญ่ถูกทำลายไปมากระหว่างสมัยยุบอาราม ในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 8
หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนนี้ย่อมาจาก: แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์[8] ลารูส[11] และ คลิฟตัน-เทย์เลอร์ [19]
ตัวอย่างอาสนวิหารอื่นๆ ในประเทศอังกฤษ:
ดูเพิ่ม: อาสนวิหารในสหราชอาณาจักร
-
อาสนวิหารยอร์ค - หน้าต่างกุหลาบบนจั่ว
-
อาสนวิหารกลอสเตอร์ - คูหาสวดมนต์ Lady chapel ด้านตะวันออกที่ล้อมรอบด้วยหน้าต่างจนเหมือนห้องกระจก
-
อาสนวิหารวูสเตอร์ - จากแท่นเทศน์มองผ่านฉากที่กั้นระหว่างบริเวณสงฆ์ไปสู่แท่นบูชาภายใน
ประเทศเยอรมนี
แก้อาสนวิหารเวิมส์ (ภาษาอังกฤษ: Worms Cathedral) เป็นอาสนวิหารแบบโรมาเนสก์ที่สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1110 ถึงปี ค.ศ. 1181 อาสนวิหารเวิมส์ อาสนวิหารสเปเยอร์ และ อาสนวิหารไมนทซ์ ถือกันว่าเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของเยอรมนีและมีเอกลักษณ์พิเศษที่แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์บรรยายว่าเป็น “ลักษณะที่สวยเหมือนรูป” ลักษณะนี้ต่อมาสถาปัตยกรรมแบบบาโรกนำเอาไปเป็นแบบอย่างในการสร้างวัดแบบบาโรก[8]
-
หอกลมสองหอและหอกลางแปดเหลี่ยม เกือบไม่มีการตกแต่งผนัง
-
ประตูทางเข้าแบบกอธิค
-
โถงกลาง การตกแต่งภายในเรียบง่าย
-
มองไปสู่แท่นบูชา
-
ทางสู่กางเขนรายสองข้างทางเดินข้าง
สรุปลักษณะสำคัญของอาสนวิหารเวิมส์[8]
- ผังเป็นกางเขนแปลง แขนกางเขนยื่นออกไปเล็กน้อย ทางเข้าแทนที่จะอยู่ด้านตะวันตกไปอยู่ทางใต้
- ด้านตะวันออกมีมุขโค้งแต่ไม่มีจรมุข และทางตะวันตกมีมุขเตี้ยซึ่งเป็นลักษณะโดยเฉพาะของโรมาเนสก์แบบเยอรมนี ซึ่งอาจจะมีอิทธิพลมาจากการสร้างหอศีลจุ่มที่เป็นอิสระจากตัววัด
- เหนือจุดตัดระหว่างทางเดินกลางและแขนกางเขนเป็นหอเตี้ยแปดเหลี่ยม ตัววัดมีหอใหญ่สองหอด้านหน้าและอีกสองหอด้านหลัง แต่ละหอก็มีมณฑปเป็นโคนและแปดเหลี่ยม
- ส่วนประกอบต่างๆ ของอาสนวิหารจะใหญ่หนักแต่ละส่วนจะชัดเจนแต่เมื่อมองรวมกันจะคล้องจองกัน การจัดกลุ่มจะเน้นทรงเรขาคณิตและความเป็นสามมิติ
- ทางเข้าเป็นแบบกอธิคที่ตกแต่งอย่างสวยงามประกบสองข้างด้วยคูหาสวดมนต์ซึ่งเป็นการเน้นความสำคัญของสิ่งก่อสร้าง เพราะวัดไม่มีด้านหน้าจึงไม่มีการตกแต่งด้านหน้าอย่างวัดอื่น เป็นการเน้นการมองสิ่งก่อสร้างทั้งชิ้นรวมอย่างกันอย่างอ็อบเจกต์สามมิติ
- แสงอาทิตย์สามารถส่องลงมาบนกำแพงวัดโดยไม่มีสิ่งตกแต่งกีดขวางเป็นการเน้นตัวสิ่งก่อสร้างมากกว่าเครื่องตกแต่ง
- ภายนอกตกแต่งอย่างง่ายๆ ด้วยเสาอิง และซุ้มบอด (blind arcading) เช่นเดียวกับการตกแต่งของอาสนวิหารปิซาที่ประเทศอิตาลี
- การตกแต่งภายในเน้นช่องว่างและความโปร่งมากกว่าจะใช้สิ่งตกแต่งที่รุงรัง ยกเว้นแท่นบูชา
- ทัศนศิลป์ที่ใช้ก็สื่อเรื่องราวก็แท่นบูชาแบบบาโรกซึ่ง “ระเบิด” ออกมาจากมุขด้านตะวันออกเต็มไปด้วยรูปปั้นและยุวเทพ
หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนนี้ย่อมาจาก: แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์[8] ลารูส[11] และ โทมาน (Toman) [15]
ตัวอย่างอาสนวิหารอื่นๆ ในประเทศเยอรมนี:
-
อาสนวิหารอาเคิน
ประมาณ ค.ศ. 1900 -
อาสนวิหารเรเกนส์บวร์ก
มีหอที่มีมณฑปแบบปรุ
ประเทศสเปน
แก้อาสนวิหารเบอร์โกส (ภาษาอังกฤษ: Burgos Cathedral) เริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1221 เป็นสถาปัตยกรรมหลายแบบตามที่แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์บรรยายว่าเป็น “อาสนวิหารของสเปนที่มีอรรถรสที่สุด” (“the most poetic of Spanish cathedrals”) [8]
-
ด้านหน้าลักษณะคล้ายอาสนวิหารแบบฝรั่งเศสตอนเหนือ
มีหอแหลมปรุแบบเยอรมนี -
ประตูหน้า
-
หอแปดเหลี่ยมภายนอก
-
มองขึ้นไปบนมณฑปแปดเหลี่ยมลักษณะการ
ตกแต่งแบบมัวร์ -
ระเบียงคดด้านข้างลักษณะ
โรมาเนสก์
สรุปลักษณะสำคัญของอาสนวิหารเบอร์โกส[8]
- ผังเป็นกางเขนที่มีทางเดินกลางค่อนข้างกว้าง ผังภายในจะสลับซับซ้อนด้วยคูหาสวดมนต์ที่ผนวกกับตัววัดไปทั่วทุกมุมแต่ไม่เห็นชัดจากภายนอกเพราะมีวังของบาทหลวงที่สร้างติดด้านใต้ของวัดพรางไว้
- ด้านหลังมีมุขโค้งล้อมรอบด้วยคูหาสวดมนต์กระจายออกมาจากมุขที่เรียกว่า “chevet” แบบฝรั่งเศส คูหาสวดมนต์ใหญ่ในบริเวณนี้ที่ควรจะกล่าวถึงคือ Capilla del Condestable
- ภายในที่น่าสนใจที่สุดคือทางเดินที่กว้างและโครงสร้างมีลักษณะโปร่ง
- การจัดแต่งภายในเป็นลักษณะของอาสนวิหารสเปนที่จะเอาคริสต์พิธีมณฑลไว้ทางด้านตะวันตกของแขนกางเขนแทนที่จะเป็นทางตะวันออกเช่นประเทศอื่น
- เหนือจุดตัดระหว่างทางเดินกลางและแขนกางเขนเป็น “หอโคมไฟ” (lantern tower)
- ภายนอกไม่สามารถมองสิ่งก่อสร้างทั้งหมดพร้อมกันทีเดียวได้ นอกจากจะมองจากไกลๆ ซึ่งจะเห็นหอมหึมาสองหอและมณฑปโคมไฟของ Capilla del Condestable ซึ่งเป็นโครงร่างที่น่าดู
- ด้านหน้าเป็นลักษณะแบบทางเหนือของฝรั่งเศสแต่ยังมีพื้นที่ที่มิได้มีการตกแต่งทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างบริเวณที่มีการตกแต่งกับบริเวณที่เรียบของพื้นผิวของสิ่งก่อสร้าง
- หอใหญ่โตสองหอมีมณฑปตกแต่งด้วยลายฉลุแบบเยอรมนี
- นอกจาก facade ด้านหน้าวัดแล้วก็ยังมีอีกสอง facade ที่ปลายสองข้างของแขนกางเขน แต่ละ facade ก็มีประตูที่แกะสลักอย่างวิจิตร
- การตกแต่งเป็นการผสมศิลปะจากหลายยุค รวมทั้งกอธิคแบบเยอรมนีและฝรั่งเศส พร้อมด้วยโค้งครึ่งวงกลมจากโรมาเนสก์ ลวดลายแบบมัวร์ และที่ประตูกลางเป็นมีจั่วแบบเรอเนสซองซ์ สิ่งที่น่าสนใจคือฉากใหญ่สองฉากที่ดูคล้ายหน้าต่างฉลุ
- ทัศนศิลป์ที่ใช้ก็สื่อเรื่องราวก็มี รูปปั้น หน้าต่างประดับกระจกสี และภาพเขียน
หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนนี้ย่อมาจาก: แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์[8]และ ลารูส[11]
ตัวอย่างอาสนวิหารอื่นๆ ในประเทศสเปน:
-
อาสนวิหารโทลีโด
(Cathedral of Toledo) -
อาสนวิหารซานติเอโกเดอคอมโพสเตลลาสร้างบนฐานโรมาเนสก์
-
อาสนวิหาร Ceuta มีหน้าต่างกลมเป็นแนวใต้เชิงชาย
-
อาสนวิหารบาร์เซโลนา หอกลางเป็นหินปรุ
-
บาซิลิกาซากราดาแฟมมิเลีย (Sagrada Família) ที่ บาร์เซโลนา
สรุปลักษณะสถาปัตยกรรมอาสนวิหาร
แก้- อิตาลี - วัสดุหลากสี, รูปทรงแจ่มชัด, ผังมีความสมมาตร, โดมกลางจุดตัด, หอสร้างต่างหาก
- ฝรั่งเศส - เน้นความสูง, ลักษณะภายนอกคล้องจองกัน, ผังกระชับ, ยอด “flèche” แหลมบนจุดตัด, ด้านหน้ามีหอคู่ หรือ หอด้านแขนกางเขน
- อังกฤษ - เน้นแนวนอน, สถาปัตยกรรมหลายสมัย, ผังขยาย, หอบนจุดตัดใหญ่บางทีมียอด, ด้านหน้ามีหอคู่
- เยอรมนี - ใหญ่, สี่เหลี่ยม, ผังกว้าง, หอบนจุดตัดเป็นแปดเหลี่ยม, หอหลายหอ, หอแหลมหอสองหอสมัยกอธิค หอเป็นหินปรุ
- สเปน - โปร่ง, ตกแต่งอย่างวิจิตร, ผังซับซ้อน, หลังคาหลายแบบ, ด้านหน้ามีหอคู่
หมายเหตุ การสรุปข้างบนมิได้แยกความแตกต่างที่เกิดขึ้นในเวลาที่สร้างหรือความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ ด้วยเหตุผลหลายประการ ประการหนึ่งความแตกต่างของลักษณะขึ้นอยู่กับการย้ายถิ่นฐานของ master masons ผู้ซึ่งเป็นสถาปนิกไปในตัวด้วย ฉะนั้นวิลเลียมแห่งเซ็นส์จากฝรั่งเศสจึงมีมาอิทธิพลต่อลักษณะของอาสนวิหารแคนเตอร์บรีที่อังกฤษ หรือ อาสนวิหารมิลานที่อิตาลีจะเป็นแบบกอธิคแบบเยอรมนี เป็นต้น
อ้างอิง
แก้- ↑ New Standard Encyclopedia, 1992 by Standard Educational Corporation, Chicago, Illinois; page B-262c (สารานุกรมฉบับใหม่, ค.ศ. 1992)
- ↑ "From the earliest part of the Gothic era it was practically inconceivable to build a cathedral that was less than a hundred yards long" p.23 Francois Icher,Building the Great Cathedrals (การสร้างอาสนวิหารสำคัญ)
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 Wim Swaan, The Gothic Cathedral (อาสนวิหารกอธิค โดยวิม สวอน)
- ↑ Ignatius of Antioch, in Letter to the Ephesians written c.100 CE (จดหมายถึงอีฟิเซียน โดย อิกเนเชียสแห่งอันติโอก)
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 Pio V. Pinto, The Pilgrim's Guide to Rome (คู่มือการเดินทางไปแสวงบุญที่โรม โดย พิโอ วี พินโต)
- ↑ Santiago de Compostella, (อาสนวิหารซานติอาโก เดอ คอมโพสเตลลา)
- ↑ John Harvey, The Gothic World (โลกกอธิค โดย จอห์น ฮาร์วีย์)
- ↑ 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 8.13 8.14 8.15 8.16 8.17 8.18 8.19 8.20 8.21 8.22 8.23 8.24 Sir Banister Fletcher, “History of Architecture on the Comparative Method” (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมโดยการเปรียบเทียบ โดย แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์ )
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Andre Grabar, The Beginnings of Christian Art (จุดเริ่มต้นของศิลปกรรมคริสต์ศาสนา โดย อันเดร เกรเบอร์)
- ↑ 10.0 10.1 Beny and Gunn, Churches of Rome (โบสถ์ของโรม โดยเบนี และกัน)
- ↑ 11.00 11.01 11.02 11.03 11.04 11.05 11.06 11.07 11.08 11.09 11.10 11.11 Larousse Encyclopedia of Byzantine and Medieval Art (สารานุกรมของไบแซนไทน์และยุคกลางของลารูส)
- ↑ W. H. Auden, "Cathedrals, Luxury liners laden with souls, Holding to the East their hulls of stone" (อาสนวิหาร, "เรือที่เต็มไปด้วยวิญญาณที่มุ่งสู่ตะวันออกด้วยหางเสือหิน" โดย ดับเบิลยู เอช ออเด็น)
- ↑ T. Francis Bumpus, “The Cathedrals and Churches of Belgium” (อาสนวิหารและโบสถ์ในประเทศเบลเยียม โดย ที ฟรานซิส บัมพัส)
- ↑ Gerald Randall, Church Furnishing and Decoration (เฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่งของวัด โดยเจอราลด์ แรนดัล)
- ↑ 15.0 15.1 15.2 Rolf Toman, Romanesque- Architecture, Sculpture, Painting (โรมาเนสก์-สถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม โดยโรลฟ โทมัน)
- ↑ Walter P. Snyder (ถามพระ โดย ดับเบิลยู พี สไนเดอร์)
- ↑ The Green Man (คนป่า) [1] เก็บถาวร 2007-01-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 18.0 18.1 18.2 Nikolaus Pevsner, An Outline of European Architecture (โครงร่างของสถาปัตยกรรมยุโรป โดย นิโคลัส เพฟเนอร์)
- ↑ 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 19.5 19.6 Alec Clifton-Taylor, The Cathedrals of England (อาสนวิหารของอังกฤษ โดย อเล็ค คลิฟตัน-เทย์เลอร์)
- ↑ Giovanni Fanelli, “Brunelleschi” (บรูเนลเลสกี โดย จิโอวานนี ฟาเนลลี)
- ↑ James Lees-Milne, St Peter's (นักบุญปีเตอร์ โดย เจมส์ ลีส์-มิลน)
- ↑ John Summerson, Architecture in Britain (สถาปัตยกรรมในอังกฤษ โดย จอห์น ซัมเมอร์ซัน)
บรรณานุกรม
แก้- Banister Fletcher, A History of Architecture on the Comparative method, 2001, Elsevier Science & Technology ISBN 0-7506-2267-9 (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมโดยการเปรียบเทียบ โดย แบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์ )
- Helen Gardner, Fred S Kleiner, Christin J Mamiya, Gardner's Art through the Ages, 2004, Thomson Wadsworth ISBN 0-15-505090-7 (การ์ดเนอร์ ประวัติศาสตร์ทุกสมัย โดยเฮเล็น การ์เนอร์, เฟรด เอส ไคลเนอร์, คริสติน เจ มามิยา)
- Nikolaus Pevsner, An Outline of European Architecture, 1964, Pelican Books, ISBN (โครงร่างของสถาปัตยกรรมยุโรป โดย นิโคลัส เพฟเนอร์)
- Rolof Beny, Peter Gunn, The Churches of Rome, 1981, Simon and Schuster, ISBN 0-671-43447-0 (วัดของโรม โดยโรโลฟ เบ็นนี และ ปีเตอร์ กัน)
- T. Francis Bumpus, The Cathedrals and Churches of Belgium, 1928, T. Werner Laurie Ltd. ISBN (อาสนวิหารและวัดของเบลเยียม โดย ที เวอร์เนอร์ ลอรี)
- Alec Clifton-Taylor, The Cathedrals of England, 1967, Thames and Hudson, ISBN (อาสนวิหารของอังกฤษ โดย อเล็ค คลิฟตัน-เทย์เลอร์)
- Giovanni Fanelli, Brunelleschi, 1980, Becocci, ISBN (บรูเนลเลสกี โดย จิโอวานนี ฟาเนลลี)
- Andre Grabar, The Beginnings of Christian Art, Thames and Hudson, 1967, ISBN (ศิลปะศาสนาคริสต์ยุคแรก โดย อันเดร เกรเบอร์)
- John Harvey, The Gothic World, 1100-1600, 1950, Batsford, ISBN (โลกของกอธิคปีค.ศ. 1100-ปีค.ศ. 1600 โดย จอห์น ฮาวีย์)
- John Harvey, English Cathedrals, 1961, Batsford, ISBN (อาสนวิหารอังกฤษ โดย จอห์น ฮาวีย์)
- Howard Hibbard, Masterpieces of Western Sculpture, 1966, Thames and Hudson, ISBN (งานชิ้นเอกของประติมากรรมยุโรปตะวันตก โดย โฮวาร์ด ฮิบเบิร์ด)
- Rene Huyghe editor, Larousse Encyclopedia of Byzantine and Medieval Art, 1963, Paul Hamlyn, ISBN (สารานุกรมศิลปะไบแซนไทน์และศิลปะยุคกลางของลารูส)
- Francois Icher, Building the Great Cathedrals, 1998, Harry N. Abrams, ISBN 0-8109-4017-5 (การสร้างอาสนวิหารสำคัญ โดย ฟรองซัวส์ อีเชอร์)
- James Lees-Milne, Saint Peter's, 1967, Hamish Hamiliton ISBN (นักบุญปีเตอร์ โดย เจมส์ ลีส์-มิลน)
- Pio V. Pinto, The Pilgrim's Guide to Rome, 1974, Harper and Row, ISBN 0-06-013388-0 (คู่มือการเดินทางไปแสวงบุญที่โรม โดย พิโอ วี พินโต)
- Gerald Randall, Church Furnishing and Decoration, 1980, Holmes and Meier Publishers, ISBN 0-8419-0602-5 (เฟอร์นิเชอร์และเครื่องตกแต่งของวัด โดยเจอราลด์ แรนดัล)
- John Summerson, Architecture in Britain, 1530-1830, 1983, Pelican History of Art, ISBN 0-14-056003-3 (สถาปัตยกรรมในอังกฤษ ค.ศ. 1530-ปีค.ศ. 1830 โดย จอห์น ซัมเมอร์ซัน)
- Wim Swaan, The Gothic Cathedral, 1988, Omega Books ISBN 0-9078593-48-X (อาสนวิหารกอธิค โดย วิม สวอน)
- Wim Swaan, Art and Architecture of the Late Middle Ages, Omega Books, ISBN 0-907853-35-8 (ศิลปะและสถาปัตยกรรมสมัยปลายยุคกลาง โดย วิม สวอน)
- Tim Tatton-Brown, John Crook, The English Cathedral, 2002, New Holland Publishers, ISBN 1-84330-120-2 (อาสนวิหารกอธิค โดยทิม แททท้น-บราวน์ และ จอห์น ครุค)
- Rolf Toman, editor, Romanesque- Architecture, Sculpture, Painting, 1997, Konemann, ISBN 3-89508-447-6 (โรมานาสก์-สถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม โดยโรลฟ โทมัน)
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์
- อาสนวิหารซานมาร์โค, ประเทศอิตาลี - [2]
- สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์
- อาสนวิหารปิซา, ประเทศอิตาลี - [3] เก็บถาวร 2006-06-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- อาสนวิหารเดอแรม, อังกฤษ - [4]
- สถาปัตยกรรมกอธิคตอนต้น คริสต์ศตวรรษที่ 12 - 13
- อาสนวิหารแคนเตอร์บรี, อังกฤษ - [5]
- อาสนวิหารโนเทรอดามแห่งชาร์ทร์, ประเทศฝรั่งเศส - [6] เก็บถาวร 2006-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- อาสนวิหารโนเทรอดามแห่งปารีส, ประเทศฝรั่งเศส - [7]
- อาสนวิหารลิงคอล์น, อังกฤษ - [8]
- อาสนวิหารเซนต์แพ็ททริค, ดับลิน, ประเทศไอร์แลนด์ - [9]
- สถาปัตยกรรมกอธิคตอนกลาง คริสต์ศตวรรษที่ 13 - 16
- อาสนวิหารฟลอเรนซ์ - [10]
- อาสนวิหารเซนต์สตีเฟน, เวียนนา, ประเทศออสเตรีย - [11] เก็บถาวร 2007-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- อาสนวิหารโคโลญ, ประเทศเยอรมนี - [12]
- อาสนวิหารอาเมียง, ประเทศฝรั่งเศส - [13]
- อาสนวิหารวูสเตอร์, อังกฤษ - [14] เก็บถาวร 2016-02-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สถาปัตยกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยา
- อาสนวิหารเซนต์ปีเตอร์, ประเทศอิตาลี - [15]
- สถาปัตยกรรมบาโรก
- อาสนวิหารเซนต์พอล, อังกฤษ - [16]
- คริสต์ศตวรรษที่ 19
- อาสนวิหารเวสต์มินสเตอร์, อังกฤษ
- คริสต์ศตวรรษที่ 20
- อาสนวิหารกิลด์ฟอร์ด, อังกฤษ - [17]
- อาสนวิหารลิเวอร์พูล, อังกฤษ - [18]
ภาพอาสนวิหารจากประเทศต่างๆ
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อาสนวิหารในประเทศออสเตรีย
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อาสนวิหารในประเทศเบลเยียม
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อาสนวิหารในสาธารณรัฐเช็ก
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อาสนวิหารในประเทศเดนมาร์ก
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อาสนวิหารในประเทศฝรั่งเศส
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อาสนวิหารในประเทศเยอรมนี
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อาสนวิหารในประเทศอิตาลี
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อาสนวิหารในประเทศโปแลนด์
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อาสนวิหารในประเทศสเปน
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อาสนวิหารในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อาสนวิหารในอังกฤษ