บารอก[1] (ฝรั่งเศส: Baroque) หรือ บาโรก เป็นสมัยหนึ่งของศิลปะตะวันตกซึ่งเริ่มประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี บารอกจะเน้นความเป็นนาฏกรรม ศิลปะจะแสดงความขัดแย้ง (tension) และความหรูหรา โอ่อ่า บารอกเป็นลักษณะของ ประติมากรรม จิตรกรรม วรรณกรรม นาฏศิลป์ และดนตรี ถ้ากล่าวถึงดนตรีแบบบารอกก็จะหมายถึงสมัยสุดท้ายของเคาน์เตอร์พ็อยต์ (Counterpoint) ที่กล่างวถึงความสัมพันธ์ของการเล่นระหว่างเสียงหรือเครื่องดนตรีมากกว่าสองชนิดที่อาจจะสะท้อนกันและกัน แต่คนละระดับเสียง หรือบางครั้งก็อาจจะสลับเสียงสะท้อน หรือไม่อีกทีก็อาจจะย้อนแก่นสาร (reversing theme) ของดนตรีชิ้นนั้นไปเลย

“การแต่งงานของนักบุญแคทเธอรินแห่งอเล็กซานเดรีย” (The Mystic Marriage of St. Catherine) โดย อันโตนิโอ ดา คอร์เรจจิโอ

ยุคบารอกรุ่งเรืองขึ้นมาด้วยการสนับสนุนจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก ระหว่างการประชุมสภาสังคายนาแห่งเทรนต์ เมื่อปี ค.ศ. 1545-1563 ประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันที่นั่นก็คือเรื่องความหมายและความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและศาสนา ทางที่ประชุมตกลงกันว่าศิลปะควรจะสิ่งที่สื่อสารเรื่องศาสนาโดยใช้วิธีจูงใจและสะเทือนอารมณ์ผู้ดูโดยตรง ในขณะเดียวกันอภิชน (Aristocracy) สมัยนั้นก็เห็นว่าแบบบารอกเป็นศิลปะที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ดู เป็นศิลปะที่แสดงความถึงความมีอำนาจของเจ้าของ วังแบบบารอกจะสร้างต่อเนี่องกัน (sequence) จากห้องพักรอ (anterooms) ถึงบันไดใหญ่ (grand staircases) ไปจนถึงห้องรับรองใหญ่ (reception rooms) แต่ละตอนก็เพิ่มความโอ่อ่าขึ้นตามลำดับ รายละเอียดตกแต่งหรูหราและอลังการเช่นนี้เป็นลักษณะของศิลปะสมัยนี้ ลักษณะเช่นนี้ครอบคลุมศิลปะทุกแขนง ศิลปินบารอกจะนิยมใช้รายละเอียดใกล้เคียงกัน (repeated and varied patterns) ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ ๆ ละครั้งจะค่อย ๆ แปรเปลี่ยนลวดลายไปทีละเล็กละน้อย ลักษณะของศิลปะแบบบารอกที่เด่นและแตกต่างจากสมัยอื่นคือ จะออกไปทางที่เรียกกันว่าอลังการ จะเต็มไปด้วยลวดลายประดิดประดอย สีจัด หน้าตารูปปั้นจะไม่จงใจให้เหมือนจริงแต่จะเป็นหน้าอิ่มเอิบเหมือนเทพ

คำว่า Baroque เป็นภาษาฝรั่งเศสซึ่งสันนิษฐานกันว่ามาจากคำว่า barroco ในภาษาโปรตุเกสโบราณซึ่งหมายถึงหอยมุกที่มีรูปร่างอ่อนไหวม้วนไปมา แต่ที่มาในภาษาอังกฤษไม่ทราบแน่ว่ามาจากภาษาใดหรือจะมาจากแหล่งอื่น[2] คำว่าบารอกเองนอกจากจะหมายถึงศิลปะที่รุ่งเรืองระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึง คริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้วก็ยังหมายถึงความโอ่อ่าที่เต็มไปด้วยรายละเอียด บางครั้งคำนี้อาจจะพูดถึงศิลปะที่มีการตกแต่งจนค่อนข้างจะไปทางอลังการ

วิวัฒนาการ แก้

 
Assumption of the Virgin Mary โดยอันนีบาเล การ์รัชชี (โรม, อิตาลี)
 
บาซิลิกาซูแปร์กา (Basilica Superga) ตูริน, อิตาลี)
 
การตรึงนักบุญเปโตรบนกางเขน (การาวัจโจ)” (Crucifixion of St. Peter) โดยการาวัจโจ
(โบสถ์ซันตามาเรีย เดล โปโปโล,โรม, อิตาลี)

ศิลปะแบบบารอกเริ่มมีความนิยมกันครั้งแรกเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 หลังจากการประชุมแห่งเมืองเทรนต์ ทางที่ประชุมเรียกร้องให้ศิลปินเปลี่ยนแนวคิดในการสร้างศิลปะ โดยให้สร้างจิตรกรรมและประติมากรรมทางศาสนาเพื่อคนไร้การศึกษา เพื่อให้คนเหล่านี้มีความเข้าใจในศาสนาและมีความศรัทธาเพี่มขึ้น แทนที่จะสร้างศิลปะเฉพาะผู้มีการศึกษาเท่านั้น การใช้ศิลปะเพื่อศาสนา มีอิทธิพลเริ่มมาจากผลงานของ การาวัจโจ และ พี่น้องการ์รัชชี ทั้งสองกลุ่มนี้ทำงานอยู่ที่กรุงโรมในระยะนั้น

ศิลปะแบบบารอกแยกตัวจากศิลปะแบบจริตนิยมของสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเน้นการประเทืองปัญญา มาเป็นศิลปะที่เน้นทางอารมณ์และความรู้สึก และทางนาฏกรรม (dramatic presentation) จุดมุ่งหมายคือทำให้ผู้ดูเข้าใจศิลปะได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องตีความหมายที่ศิลปินแอบแฝงเอาไว้ นอกจากนั้นเข้าใจแล้วยังเกิดความสะเทือนอารมณ์ เนื้อหาของศิลปะแบบบารอกมักจะเอามาจากเรื่องของวีระชนต่าง ๆ เช่น ประวัติพระเยซู หรือนักบุญต่าง ๆ อย่างเช่นผลงานของอันนีบาเล การ์รัชชี และศิลปินในกลุ่มเดียวกัน คารัคชีซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก การาวัจโจ และ Federico Barocci สองคนหลังนี้ถือว่าอยู่ในกลุ่มโปรโตบารอก (proto-Baroque) ศิลปินอีก 2 คนที่ถือกันว่ามีอิทธิพลต่อการวิวัฒนาการของศิลปะแบบบารอกคือ มีเกลันเจโล และ Correggio ด้วย

เมื่อพูดถึงดนตรีบารอกก็จะเป็นดนตรีที่เน้นเคาน์เตอร์พ็อยท์ และความกลมกลืน แทนที่ใช้เครื่องดนตรีอย่างสลับซับซ้อนอย่างออเค้สตร้า ลักษณะนี้เป็นลักษณะเดียวกับกวีนิพนธ์บารอกซึ่งจะเน้นถึงความไม่ซับซ้อนแต่จะเน้นไปทางนาฏกรรม จะเลี่ยงการใช้อุปมาอุปมัยอย่างงานของจอห์น ดัน (John Donne) ซึ่งเป็นงานเขียนแบบแมนเนอริสซึม วรรณคดีที่ถือกันว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของวรรณคดีแบบบารอก คืองานที่มีอิทธิพลมาจากภาพเขียนของ จอห์น มิลตัน ชื่อ “สวรรค์หาย” (Paradise Lost) พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1667

ถึงแม้ว่าศิลปะแบบร็อกโคโคจะเข้ามาแทนศิลปะแบบบารอกเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะการตกแต่งภายใน ภาพเขียน หรือมัณฑนศิลป์ แต่ทางด้านสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมแบบบารอกก็ยังเป็นที่นิยมกันมาจนถึงสมัยศิลปะแบบ Neoclassics เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือปราสาทนีอาโพลิทันที่คาเซอร์ทา (Neapolitan palace of Caserta) ซึ่งไม่ได้เริ่มสร้างจนกระทั่งปี ค.ศ. 1752

เมื่อพูดถึงจิตรกรรม การวางท่าของแบบในภาพเขียนแบบบารอกจะกว้างกว่าแบบแมนเนอริสซึม เนื้อหาของภาพจะไม่กำกวมหรือมีเลศนัยหรือต้องตีความหมาย การวางท่าอาจจะเปรียบเทียบได้กับท่าทางอย่างโอ่อ่าแบบตัวละครโอเปร่า โอเปร่าเองก็ถือกันว่าเป็นศิลปะแบบบารอกโดยแท้ ท่าบารอกจะขึ้นอยู่กับความขัดแย้งในตัวแบบ โดยจะเห็นได้จากการวางไหล่และสะโพก จะวางบิดจากกัน การวางท่าอย่างขัดแย้งกันอย่างนี้ทำให้ผู้ดูภาพหรือรูปปั้นมีความรู้สึกเหมือนตัวแบบกำลังจะเคลื่อนไหวออกจากรูป ตัวอย่างของการวางที่ที่กล่าวมาจะเห็นได้ชัดจากรูปปั้นชื่อ Ecstasy of St. Teresa[1] ที่วัดซานตามาเรีย เดลลา วิตอเรีย (Santa Maria della Vittoria) ที่กรุงโรม แกะจากหินอ่อนโดยจัน โลเรนโซ แบร์นีนี

ศิลปะแบบบารอกยุคหลังเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จะค่อนข้างขาดชีวิตจิตใจและสีสันจะไม่ฉูดฉาดเมื่อเทียบกับสมัยแรก ๆ สถาปัตยกรรมสมัยนี้บางทีก็แยกออกมาเป็นสมัยปลายบารอก อย่างเช่นงานของ คลอด เปอโรลด์ (Claude Perrault) สมัยนี้เรียกกันว่านีโอพาลลาเดียน (neo-Palladian) งานที่เด่น ๆ สมัยนี้ก็คืองานของวิลเลียม เคนต์ จิตรกรชาวอังกฤษ ที่เชี่ยวชาญทางการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบโดยเค้นท์มีอิทธิพลโดยตรงมาจากเฟอร์นิเจอร์แบบบารอกที่กรุงโรมและเมืองเจนัว

ไฮริช เวิฟฟริน (Heinrich Wölfflin) ตีความหมายศิลปะแบบบารอกว่าเป็นยุคที่รูปรีใช้เป็นศูนย์กลางขององค์ประกอบแทนวงกลม ศิลปะความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแทนความสมดุล ความมีสีสัน (painterly) กลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดส่วนหนื่ง

นักประวัติศาสตร์ศิลปะโดยเฉพาะชาวโปรเตสแตนต์ เน้นว่าศิลปะแบบบารอกเริ่ม วิวัฒนาการขึ้นมาระหว่างที่ทางคาธอลิกมีปฏิกิริยาต่อการการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ และสันนิษฐานกันว่าศิลปะแบบบารอกเป็นศิลปะที่ทำให้ศาสนจักรคาทอลิกรักษาเกียรติศักดิ์และยังมีหน้ามีตา หรืออาจจะได้ว่าเรียกว่าเป็นการปฏิรูปคาทอลิกก็ได้ อันนี้จะจริงหรือไม่ศิลปะแบบบารอกก็เริ่มเจริญขึ้นมาที่กรุงโรม

ดนตรียุคบารอก แก้

การใช้คำว่า "บารอก" ในดนตรียุคบารอก เป็นคำที่เกิดพัฒนาขึ้นไม่นาน มีการใช้คำว่า "บารอก" ในดนตรีในปี 1919 โดยเคิร์ต ซาชส์ จนกระทั่งในปี 1940 จึงมีใช้ในภาษาอังกฤษ (ตีพิมพ์ในบทความของแมนเฟรด บูคอฟเซอร์) มีหลายรูปแบบดนตรีที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น คอนเซอร์โตและซินโฟเนีย และโอราโทริโอ

การพัฒนาดนตรียุคบารอกเริ่มเกิดขึ้น ราวปี ค.ศ. 1600

คีตกวีดนตรียุคบารอก แก้

อ้างอิง แก้

  1. "ศัพท์บัญญัติ ราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-15. สืบค้นเมื่อ 2012-02-23.
  2. OED Online. Accessed 6 June 2008.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ศิลปะบารอก   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ประติมากรรมบารอกที่โบสถ์ออทโทบอยเริน

รูปภาพ แก้

งานแบบบารอกของศิลปินบางคน