สถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ

รูปแบบสถาปัตยกรรมที่พบในเกาะบริเตน

สถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ (อังกฤษ: English Gothic architecture) เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่รุ่งเรืองขึ้นในอังกฤษระหว่างราวปี ค.ศ. 1180 ถึงราวปี ค.ศ. 1520 ลักษณะของสถาปัตยกรรมกอทิกของอังกฤษก็เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมกอทิกของส่วนอื่น ๆ ในยุโรป ที่บ่งลักษณะได้จากการใช้ซุ้มโค้งแหลม, เพดานโค้งแหลม, ค้ำยัน, หน้าต่างกว้างและสูง และหอหรือหลังคาที่เป็นยอดแหลม (spire) สถาปัตยกรรมกอทิกเข้ามาในอังกฤษจากฝรั่งเศส เมื่อองค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีลักษณะที่เรียกว่า “กอทิก” ได้รับการสร้างรวมกันในวัดเดียวที่บาซิลิกาแซงต์เดอนีส์นอกกรุงปารีสเป็นครั้งแรกโดยแอบบ็อตซูแกร์ ที่ได้รับการสถาปนาในปี ค.ศ. 1144 คริสต์ศาสนสถานแรกในอังกฤษที่ใช้สถาปัตยกรรมกอทิกอย่างเป็นทางการคือมหาวิหารแคนเตอร์บรีและแอบบีเวสต์มินสเตอร์ ลักษณะหลายอย่างของสถาปัตยกรรมกอทิกวิวัฒนาการมาจากสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ (หรือที่รู้จักกันในอังกฤษว่าสถาปัตยกรรมนอร์มัน) การวิวัฒนาการเห็นได้ชัดที่มหาวิหารเดอแรมที่เป็นมหาวิหารแบบนอร์มันแต่เริ่มแสดงลักษณะที่ออกไปทางกอทิกโดยมีเพดานสันที่สูงและแหลมขึ้น

ท้องพระโรงเวสต์มินสเตอร์ที่เป็นเพดานแบบ “hammerbeam roof” ภาพจากคริสต์ศตวรรษที่ 18

สถาปัตยกรรมกอทิกที่วิวัฒนาการต่อมาในอังกฤษบางครั้งก็คู่ขนานกับการวิวัฒนาการในยุโรป แต่บางครั้งลักษณะการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นเฉพาะในอังกฤษ นักประวัติศาสตร์มักจะแบ่งสถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษออกเป็นสมัย แต่ละสมัยก็มีลักษณะที่ต่าง ๆ กันที่เป็นลักษณะเฉพาะที่ทำให้แตกต่างจากสมัยอื่น ๆ สถาปัตยกรรมกอทิกในอังกฤษยังคงเป็นที่นิยมกันราวหนึ่งร้อยปีหลังจากการริเริ่มสถาปัตยกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยาในฟลอเรนซ์เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ความนิยมสถาปัตยกรรมกอทิกในอังกฤษมาแทนที่ด้วยสถาปัตยกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่หันกลับมาเป็นที่นิยมกันอีกครั้งในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในสถาปัตยกรรมสถาบันที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิก ซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมกันตลอดมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19

สถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่สำคัญ ๆ ในอังกฤษโดยเฉพาะมหาวิหารในยุคกลาง (Architecture of the medieval cathedrals of England) ส่วนใหญ่แล้วเป็นสิ่งก่อสร้างแบบกอทิก เช่นเดียวกับปราสาท, วัง, คฤหาสน์สำคัญ (Great house), มหาวิทยาลัย และสิ่งก่อสร้างขนาดย่อมลงมาที่รวมทั้งสิ่งก่อสร้างเช่น บ้านสงเคราะห์ (almshouse) หรือหอการค้าขาย สิ่งก่อสร้างอีกกลุ่มหนึ่งของสถาปัตยกรรมกอทิกคือวัดประจำท้องถิ่น (parish church) ซึ่งก็เช่นเดียวกับมหาวิหารที่มีพื้นฐานเดิมมาจากสิ่งก่อสร้างแบบนอร์มัน

ศัพท์ที่ใช้ในสถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษ

แก้

การกล่าวถึงสถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษเป็นไปตามลักษณะที่มาจากคำบรรยายของทอมัส ริคแมน (Thomas Rickman) ผู้ที่เริ่มใช้คำว่าสถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษเป็นคนแรก เพื่อที่จะพยายามแสดงลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมกอทิกของอังกฤษ นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวถึงลักษณะสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ของอังกฤษเป็น “สมัย” (period) เช่น “สมัยเพอร์เพ็นดิคิวลาร์” (Perpendicular period) เช่นเดียวกับการบรรยายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ลักษณะต่าง ๆ ที่วิวัฒนาการขึ้นในอังกฤษเห็นได้ชัดในการก่อสร้างมหาวิหาร, แอบบี และคริสต์ศาสนาอื่น ๆ แต่ลักษณะการก่อสร้างมหาวิหารทุกมหาวิหารยกเว้นก็แต่มหาวิหารซอลสบรีแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่แตกต่าง ๆ กันออกไปตามลักษณะสถาปัตยกรรมที่วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลา 400 ปีของการก่อสร้าง สถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษแบ่งได้เป็นสามสมัย:

  • “กอทิกอังกฤษตอนต้น” (Early English) (ราว ค.ศ. 1180−ค.ศ. 1275)
  • “กอทิกอังกฤษตกแต่ง” หรือ “กอทิกตกแต่ง” (Decorated) (ราว ค.ศ. 1275−ค.ศ. 1380)
  • “กอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์” หรือ “กอทิกสูง” (Perpendicular) (ราว ค.ศ. 1380−ค.ศ. 1520)

กอทิกอังกฤษตอนต้น หรือ กอทิกแลนเซ็ท

แก้
 
มหาวิหารซอลสบรี (นอกจากหอและยอด) เป็นแบบกอทิกอังกฤษตอนต้นทั้งหมด ที่ใช้หน้าต่างแลนเซ็ท (Lancet window) โดยตลอดและไม่มีสิ่งตกแต่งตัวสถาปัตยกรรมและส่วนประกอบเช่นเดียวกับสิ่งก่อสร้างแบบโรมาเนสก์ และไม่มีการใช้ลวดลาย (tracery) ที่มาใช้กันในสมัยกอทิกต่อมา
 
หน้าต่างแลนเซ็ทที่ไม่มีการแบ่งเป็นช่อง ๆ ภายในแต่และหน้าต่างและไม่มีซี่หินตกแต่งอย่างสมัยต่อมา แต่ใช้การนำมาเรียงกันเช่นเรียงกันเป็นห้าบานบนผนังทางด้านเหนือของแขนกางเขนที่เรียกว่า “พี่น้องห้าสาว” ที่มหาวิหารยอร์ค สังเกตความใหญ่โตของหน้าต่างได้จากชายที่เดินผ่านที่มุมล่างขวาของหน้าต่าง

“กอทิกอังกฤษตอนต้น” รุ่งเรืองระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 ตามที่กำหนดโดยเซอร์นิโคลัส เพฟเนอร์ (Nikolaus Pevsner) หรือระหว่าง ค.ศ. 1189 ถึง ค.ศ. 1307 ตามที่กำหนดโดยทอมัส ริคแมนผู้กำหนดช่วงเวลาโดยใช้รัชสมัยของพระมหากษัตริย์เป็นหลัก

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 สถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษตอนต้นก็เข้ามาแทนที่สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ หรือสถาปัตยกรรมนอร์มัน และในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 ลักษณะนี้ก็วิวัฒนาการไปเป็น “กอทิกตกแต่ง” ที่รุ่งเรืองไปจนกระทั่งถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 แต่การเปลี่ยนแปลงค่อยเป็นค่อยไปซึ่งบางครั้งก็ทำให้ออกมาเป็นสถาปัตยกรรมคาบระหว่างสองสมัย เมื่อรสนิยมทางสถาปัตยกรรมเปลี่ยนไปบางครั้งก็จะมีการใช้ลักษณะใหม่เคียงข้างกับลักษณะเก่าโดยเฉพาะการก่อสร้างใหญ่ ๆ เช่นคริสต์ศาสนสถานเช่นมหาวิหาร ที่เป็นสิ่งก่อสร้างที่มักจะใช้เวลานานในการก่อสร้าง ฉะนั้นความสามารถในการบอกได้ว่า “ลักษณะคาบสมัย” (transitional phase) จึงเป็นสิ่งสำคัญ

แม้ว่าจะเรียกกันว่า “กอทิกตอนต้น” แต่อันที่จริงแล้วเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่มาจากบริเวณปารีสก่อนที่จะเข้ามาแพร่หลายในอังกฤษ และเดิมเรียกกันว่าสถาปัตยกรรม “แบบฝรั่งเศส” บริเวณในสิ่งก่อสร้างที่ใช้การก่อลักษณะนี้เป็นครั้งแรกคือในบริเวณร้องเพลงสวดของมหาวิหารแซงต์เดอนีส์ที่ได้รับการสถาปนาในปี ค.ศ. 1144 แต่ก่อนหน้านั้นก็ได้มีการใช้ลักษณะการก่อสร้างแบบกอทิกบ้างแล้วในอังกฤษที่มหาวิหารเดอแรมที่รวมลักษณะโรมาเนสก์เข้ากับลักษณะก่อนกอทิก

เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1175 กอทิกอังกฤษตอนต้นก็ใช้กันอย่างทั่วไปหลังจากการสร้างบริเวณร้องเพลงสวดของมหาวิหารแคนเตอร์บรีเสร็จโดยวิลเลียมแห่งเซนส์ (William of Sens)

องค์ประกอบของกอทิกตอนต้น

แก้

ลักษณะสำคัญที่สุดของการวิวัฒนการของสถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษตอนต้นคือโค้งแหลมที่เรียกกันว่า “แลนเซ็ต” (lancet) โค้งแหลมใช้กันโดยทั่วไปในตัวสิ่งก่อสร้างไม่แต่จะเป็นการสร้างช่องทางเดินกลาง หรือซุ้มโค้ง (arcade) แต่ยังรวมทั้งประตูและหน้าต่าง หน้าต่างในยุคนี้ยังคงมีลักษณะแคบเมื่อเทียบกับความสูงและยังไม่มีการใช้ลวดลายตกแต่ง (tracery) ฉะนั้นบางครั้งลักษณะสถาปัตยกรรมในช่วงนี้จึงเรียกว่า “กอทิกแลนเซ็ต” หรือ “กอทิกแหลม” (First Pointed) โดยทั่วไปแล้วโค้งที่ใช้ก็จะได้สัดส่วน แต่ “โค้งแลนเซ็ต” มักจะเป็นโค้งที่แหลมจัดเช่นที่พบในการก่อสร้างซุ้มโค้งแหลมในบริเวณมุขตะวันออกของแอบบีเวสต์มินสเตอร์

หน้าต่างแลนเซ็ตมักจะแบ่งเป็นกลุ่ม เช่นกลุ่มสองบานคู่ที่เห็นได้ในมหาวิหารซอลสบรีตามแนวช่องทางเดินข้าง หรือกลุ่มสามบนแนวหน้าต่างชั้นบน แต่มหาวิหารยอร์คมีหน้าต่างแลนเซ็ตถึงห้าบานเรียงกันทางผนังทางด้านเหนือของแขนกางเขนที่เรียกว่า “พี่น้องห้าสาว” (Five Sisters) แต่ละบานสูงห้าสิบฟุต และกระจกบนบานหน้าต่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ยังคงเป็นกระจกประดับจากสมัยโบราณ

ช่างก่อสร้างโรมาเนสก์มักจะใช้โค้งครึ่งวงกลมแต่บางทีก็ใช้โค้งที่แหลมขึ้นไปเล็กน้อยเช่นที่มหาวิหารเดอแรมในการสร้างช่องทางเดินกลาง เมื่อเทียบกับโค้งครึ่งวงกลมของโรมาเนสก์แล้วโค้งแหลมของกอทิกตอนต้นก็ดูงดงามกว่า นอกจากนั้นก็ยังมีประโยชน์ในการช่วยแบ่งรับน้ำหนักจากผนังหินเหนือบานหน้าต่าง ซึ่งเป็นผลทำให้สามารถสร้างหน้าต่างให้มีช่วงสูงและกว้างขึ้นกว่าเดิมได้ และใช้เสาที่แคบกว่าเดิม

แทนที่จะเป็นสิ่งก่อสร้างที่เทอะทะหรือคอลัมน์ที่มีลักษณะหนาหนัก คอลัมน์ของสมัยกอทิกตอนต้นมักจะเป็นกอหรือกลุ่มคอลัมน์ (ที่ล้อมคอลัมน์กลางหรือเสาอิง) ที่เพรียว บางครั้งก็จะมีการสลับสีระหว่างคอลัมน์ที่อยู่ในกอเดียวกันเป็นสีอ่อนและสีแก่ที่ทำด้วยหินอ่อนเพอร์เบ็ค (Purbeck Marble) และตอนบนของกลุ่มคอลัมน์เป็นบัววงแหวนรัดรอบเสา

ลักษณะที่แตกต่างอีกอย่างหนึ่งของกอทิกตอนต้นคือการใช้บัวตกแต่งที่กลวงที่ทำให้ดูลึกขึ้นแทนที่การตกแต่งโค้งด้วยลายหยัก (dog-tooth) รอบโค้ง และการใช้แป้นหัวเสา (abacus)

การใช้โค้งแหลมทำให้สามารถลดความเทอะทะของกำแพงลงได้ ซึ่งทำให้สร้างหน้าต่างได้กว้างขึ้นและสร้างให้ใกล้กันมากขึ้นกว่าเดิมได้ สถาปนิกสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างที่ทำให้รู้สึกเปิดโล่ง, เบา และสง่างามกว่าเดิม กำแพงที่สูงขึ้นและเพดานหินโค้งมักจะรับด้วยค้ำยันแบบปีก ที่เป็นโค้งที่กางออกไปจากตัวสิ่งก่อสร้าง ที่ใช้ในการช่วยกระจายน้ำหนักของตัวสิ่งก่อสร้างหลักออกไปยังค้ำยัน ที่ตั้งอยู่ภายนอกตัวอาคาร

โค้งของกำแพงตกแต่งและระเบียงบางครั้งจะเป็นโค้งแหลมเดี่ยว บางครั้งก็จะมีวงกลมที่ตกแต่งด้วยจิกสามกลีบ (trefoil), จิกสี่กลีบ (quatrefoil) ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของลวดลายสถาปัตยกรรม (tracery) ของระเบียงและหน้าต่างกุหลาบที่สร้างบนผนังของแขนกางเขนหรือช่องทางเดินกลางเช่นที่เห็นที่มหาวิหารลิงคอล์น (ค.ศ. 1220) นอกจากนั้นก็ยังมีการตกแต่งด้วยด้วยใบไม้ต่าง ๆ ตามหัวเสาหรือเลยขึ้นไปถึงปุ่มหินบนเพดาน และอื่น ๆ เช่นการตกแต่งบริเวณสามเหลี่ยมรอบโค้ง (spandrel) ของช่องทางเดินกลาง ซึ่งเป็นการตกแต่งที่พบในแอบบีเวสต์มินสเตอร์

โดยสรุปแล้ว “กอทิกอังกฤษตอนต้น” เป็นลักษณะที่เรียบง่ายไม่รุงรังและเน้นความสูงของสิ่งก่อสร้างราวจะสร้างขึ้นไปให้ถึงสวรรค์

ตัวอย่างสำคัญ

แก้

สถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษตอนต้นเป็นลักษณะการก่อสร้างที่มักจะใช้ในการสร้างแอบบีซิสเตอร์เชียน (ทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศส) เช่นที่แอบบีวิทบีย์ (Whitby Abbey) หรือ แอบบีรีวอลซ์ (Rievaulx Abbey) ในมณฑลยอร์คเชอร์ การที่มหาวิหารซอลสบรีสร้างรวดเดียวเสร็จระหว่างปี ค.ศ. 1200 ถึงปี ค.ศ. 1275 ทำให้ลักษณะสถาปัตยกรรมแทบจะไม่มีการผสมกับลักษณะอื่นนอกไปจากการสร้างด้านหน้าและหอแหลมที่มาสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งคือซุ้มกาลิลีที่มหาวิหารอีลี หรือช่องทางเดินกลางของมหาวิหารเวลล์ส ที่สร้างระหว่าง ค.ศ. 1225 ถึง ค.ศ. 1240 หรือด้านหน้าด้านตะวันตกของมหาวิหารปีเตอร์บะระห์ หรือที่มินส์เตอร์เบเวอร์ลีย์ และแขนกางเขนด้านใต้ของมหาวิหารยอร์ค

กอทิกวิจิตร

แก้
 
หน้าต่างที่แบ่งเป็นซี่ที่ทำด้วยแกนหินที่แล่นขึ้นไปจนถึงส่วนที่เป็นฐานที่เป็นส่วนโค้งหน้าต่าง จากนั้นซี่ก็แตกม้วนเป็นลวดลายต่าง ๆ ในส่วนที่เป็นโค้งที่เรียกกันว่า ลวดลายตกแต่งที่เห็นบนหน้าต่าง “หัวใจของยอร์คเชอร์” ที่มหาวิหารยอร์ค
 
ด้านหน้าของมุขด้านตะวันตกของมหาวิหารยอร์คเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของสถาปัตยกรรมกอทิกวิจิตรโดยเฉพาะในการใช้ลวดลายตกแต่งบนหน้าต่างบานกลางเหนือประตูทางเข้า กอทิกวิจิตรเป็นสมัยที่ใช้การตกแต่งอย่างวิจิตรในการสร้างหน้าต่างและหัวเสาที่มักจะเป็นลวดลายดอกไม้ไบไม้ต่าง ๆ

สมัย “กอทิกวิจิตร” (อังกฤษ: Decorated Gothic หรือ Decorated Period หรือเรียกง่าย ๆ ว่า Decorated) เป็นคำที่ใช้โดยเฉพาะสำหรับสถาปัตยกรรมกอทิกของอังกฤษ ที่แบ่งย่อยออกเป็นอีกสองสมัย สมัยแรก “กอทิกเรขาคณิต” (Geometric style) ที่รุ่งเรืองระหว่าง ค.ศ. 1250 ถึง ค.ศ. 1290 ต่อจากนั้นก็กลายเป็น “กอทิกลายโค้งม้วน” (Curvilinear) ที่รุ่งเรืองระหว่าง ค.ศ. 1290 ถึง ค.ศ. 1350

ตามคำจำกัดความของนิโคลัส เพฟเนอร์กอทิกวิจิตรที่รุ่งเรืองระหว่าง ค.ศ. 1250 จนถึง ค.ศ. 1350 เป็นลักษณะที่วิวัฒนาการมาจาก “กอทิกอังกฤษตอนต้น” ของคริสต์ศตวรรษที่ 13 ที่ตามมาด้วย “กอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์” ที่รุ่งเรืองต่อมาจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ส่วนทอมัส ริคแมนกำหนดว่ากอทิกวิจิตรรุ่งเรืองระหว่าง ค.ศ. 1307 จนถึง ค.ศ. 1377

องค์ประกอบของกอทิกวิจิตร

แก้

ลักษณะที่บ่งว่าเป็นสถาปัตยกรรมกอทิกวิจิตรคือการตกแต่งหน้าต่างด้วยลวดลายตกแต่ง (tracery) หน้าต่างเดี่ยวที่ไม่มีลวดลายไม่มีการแบ่งเป็นช่องจากสมัยกอทิกตอนต้นวิวัฒนาการมาเป็นหน้าต่างที่แบ่งเป็นช่องแคบ ๆ หรือเป็นซี่ (mullion) ที่ทำด้วยแกนหินที่แล่นขึ้นไปจนถึงส่วนที่เป็นฐานที่เป็นส่วนโค้งหน้าต่าง จากนั้นซี่ก็แตกม้วนเป็นลวดลายต่าง ๆ ในส่วนที่เป็นโค้งที่เรียกกันว่า ลวดลายตกแต่ง (tracery) ที่มักจะเป็นจิกสามกลีบ หรือ จิกสี่กลีบ ในระยะแรกการตกแต่งก็เป็นแบบ “เรขาคณิต” ต่อมาก็ค่อย ๆ อ่อนช้อยขึ้นโดยเฉพาะเมื่อนำวงกลมที่เคยใช้ตกแต่งออกไปจากใต้โค้งมาเปลี่ยนเป็นการตกแต่งอย่างละเอียดอ่อนช้อยเริ่มทำกันในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ที่นิยมกันอยู่ราวห้าสิบปี

การตกแต่งภายในในสมัยนี้มักจะใช้คอลัมน์ที่สูงและเพรียวที่งามกว่าที่ใช้กันในสมัยกอทิกตอนต้น ที่ใช้ในการช่วยรับน้ำหนักของเพดานโค้งแหลมที่สร้างอย่างซับซ้อนมากขึ้น โค้งที่ใช้เป็นโค้งสมมาตรและบัวตกแต่งรอบโค้งมักจะเด่นชัดกว่าที่ใช้กันในสมัยกอทิกตอนต้นแต่ลวดลายไม่ลึกเท่า และมักจะใช้การตกแต่งที่มีลักษณะเป็นแถบแคบ ๆ ตกแต่งรอบโค้ง นอกจากนั้นก็ยังมีการใช้ดอกไม้กลม[1] (Ball flower) และดอกไม้สี่กลีบแทนการใช้บัวหยัก หรือลายฟันหมา[2] (dog-tooth) ที่นิยมใช้กันในสมัยนอร์มัน ลวดลายไบไม้ดอกไม้หัวเสาก็แปลกใหม่และอ่อนช้อยและแตกต่างกันไปมากกว่าเดิม บางครั้งก็เป็นลวดลายแกะสลักจากพืชพันธุ์ไม้ที่พบในท้องถิ่น เช่นเดียวกับการตกแต่งผนังด้วยลายไขว้ (diaper) ต่าง ๆ

ตัวอย่างสำคัญ

แก้

ตัวอย่างของสิ่งก่อสร้างที่เป็นแบบกอทิกวิจิตรพบได้ในการตกแต่งมหาวิหารหลายแห่งในอังกฤษแต่ที่สำคัญ ๆ คือการตกแต่งมุขตะวันออกของมหาวิหารลิงคอล์น และมหาวิหารคาร์ไลล์ ทางด้านหน้าของมุขตะวันตกของมหาวิหารยอร์ค และมหาวิหารลิคฟิล์ด มหาวิหารเอ็กซิเตอร์เกือบทั้งหมดสร้างในลักษณะนี้ เช่นเดียวกับการสร้างจุดตัดของมหาวิหารอีลี (รวมทั้งหอตะเกียงแปดแหลี่ยมที่มีชื่อเสียงที่สร้างระหว่าง ค.ศ. 1322 ถึง ค.ศ. 1328 แทนหอเก่าที่ทลายลงมา และในการสร้างช่วงสามช่วงภายในบริเวณร้องเพลงสวดของชาเปลพระแม่มารี ในสกอตแลนด์ แอบบีเมลโรส (Melrose Abbey) ก็เป็นตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่ง แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วจะเหลืออยู่เพียงซากก็ตาม

กอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์

แก้
 
“กรงหินและกระจก” ภายในมหาวิหารกลอสเตอร์แสดงให้เห็นลักษณะที่ดูเหมือนเรือนกระจก ที่ปราศจากกำแพงซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ การใช้ลวดลายตกแต่งอันละเอียดละออที่นิยมกันในสมัยกอทิกวิจิตรก็หายไป เส้นบนกำแพงทั้งสองด้านและหน้าต่างเฉียบแหลมชัดขึ้นและลดความ “วิจิตร” (flamboyant) ลง
 
การตกแต่งซุ้มทางเข้าสองชั้นทางด้านใต้ของวัดที่นอร์ธลีชในกลอสเตอร์เชอร์ (ค.ศ. 1480)

“กอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์” หรือ “กอทิกแนวดิ่ง” (อังกฤษ: Perpendicular Gothic หรือเรียกง่าย ๆ ว่า Perpendicular) เป็นสถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษสมัยที่สาม การเรียกว่า “กอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์” ก็เพราะลักษณะของสถาปัตยกรรมนี้เน้นการใช้เส้นแนวดิ่ง ที่บางครั้งก็จะเรียกว่ากอทิกนานาชาติ หรือ “กอทิกตอนปลาย”

กอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ที่เริ่มขึ้นราวปี ค.ศ. 1350 วิวัฒนาการมาจากกอทิกวิจิตรของปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 และนิยมกันมาจนกระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16

ในตอนปลายของสมัยกอทิกวิจิตรก็เริ่มมีการละทิ้งการใช้วงกลมในลวดลายตกแต่งหน้าต่างที่นำไปสู่การใช้โค้งเดี่ยวและโค้งซ้อนและลวดลายตกแต่งวิจิตรต่าง ๆ แต่เมื่อมาถึงสมัยเพอร์เพ็นดิคิวลาร์เส้นโค้งก็เปลี่ยนไปเป็นเส้นดิ่ง

องค์ประกอบของกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์

แก้

การเน้นเส้นดิ่งของกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์เห็นได้ชัดในการออกแบบหน้าต่างที่มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นกว่าเดิม บางครั้งก็มีขนาดที่เรียกว่ามหึมาเช่นขนาดเท่ากับสนามเทนนิสของบานหน้าต่างบนมุขด้านตะวันออกของมหาวิหารยอร์คเป็นต้น แต่ซี่หินที่ใช้แบ่งช่องภายในบานหน้าต่างกลับบอบบางลงกว่าสมัยก่อนหน้านั้น ซึ่งทำให้สามารถทำให้ช่างประกอบกระจกสีมีเนื้อที่ในการแสดงความสามารถเพิ่มขึ้น ซี่หินแทนที่หยุดที่ฐานของส่วนที่เริ่มโค้งของหน้าต่างแบบบานหน้าต่างของสมัยกอทิกวิจิตรก็แล่นตรงขึ้นไปจนจรดโค้งตอนบนที่แบ่งออกเป็นซี่ย่อยลงอีก ค้ำยันหรือผนังก็เช่นกันแบ่งเป็นช่องแผงสูง

ประตูก็มักจะอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมโดยมีส่วนโค้งอยู่เหนือบัว สามเหลี่ยมประกบโค้ง (spandrel) ก็มักจะตกแต่งด้วยลายจิกสี่กลีบ หรือลวดลายตกแต่งอื่นเช่นเทวดาส่ายผอบกำยาน โค้งแหลมก็ยังใช้กันอยู่ตลอดสมัยนี้ แต่ก็มีการเริ่มใช้โค้งหัวหอม[3] (ogee) และ “โค้งทิวดอร์” กันมากขึ้น

ภายในวัดระเบียงแนบใต้หน้าต่างชั้นบนก็มาแทนที่ด้วยแผงและหันไปเน้นการก่อสร้างหน้าต่างชั้นบนที่มักจะกลายเป็นส่วนประกอบที่เด่นที่สุดในสิ่งก่อสร้างของสถาปัตยกรรมยุคนี้ บัวตกแต่งแบนลงและไม่ดีเท่าสมัยก่อนหน้านั้น

วิวัฒนาการที่สำคัญสองอย่างของยุคนี้อีกอย่างหนึ่งคือการสร้างเพดานพัด และการสร้างเพดานไม้อันวิจิตรที่เรียกว่าเพดานแฮมเมอร์บีม (hammerbeam roof) เช่นที่พบในท้องพระโรงเวสต์มินสเตอร์ (ค.ศ. 1395) หรือที่วัดไครส์เชิร์ช, ออกซฟอร์ดเป็นครั้งแรก ทางใต้ของอังกฤษก็มีการใช้หินเหล็กไฟในการก่อสร้าง, การตกแต่งกำแพงด้านนอกอย่างวิจิตรโดยการใช้หินเหล็กไฟและแอชลาร์ (ashlar) โดยเฉพาะการก่อสร้าง “วัดขนแกะ” หรือวัดที่สร้างเงินที่มาจากเศรษฐกิจอันรุ่งเรืองของการค้าขายขนแกะของบริเวณอีสต์แองเกลีย

ตัวอย่างสำคัญ

แก้

ตัวอย่างแรก ๆ ของสถาปัตยกรรมกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์จะเห็นได้จากสิ่งก่อสร้างที่สร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1360 เช่นที่มหาวิหารกลอสเตอร์ ที่ดูเหมือนช่างหินจะมีความก้าวหน้ามากกว่าช่างหินในสมัยเดียวกันในเมืองอื่น ผู้สร้างเพดานพัดอันละเอียดละออภายในระเบียงคด

สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ก็ได้แก่:

สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่มีลักษณะเด่นของกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ก็ได้แก่ แอบบีเชอร์บอร์น (ค.ศ. 1475–ราว ค.ศ. 1580) ที่เป็นที่รู้จักกันในความงามของเพดานพัดขนาดใหญ่, มหาวิหารบาธ (แม้ว่าจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในคริสต์ทศวรรษ 1860) และ ชาเปลพระแม่มารีในพระเจ้าเฮนรีที่ 7 ที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์ (ค.ศ. 1503-ค.ศ. 1519)

กอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์มักจะเป็นลักษณะที่นิยมกันจนเมื่อมาถึงสมัยสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิก ที่เห็นได้ในตัวอย่างสำคัญคือพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ และตึกอนุสรณ์วิลล์ของมหาวิทยาลัยบริสตอล (ค.ศ. 1915-ค.ศ. 1925)

อ้างอิง

แก้

  บทความนี้ ประกอบด้วยข้อความจากสิ่งพิมพ์ซึ่งปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติChisholm, Hugh, บ.ก. (1911). สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. {{cite encyclopedia}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษ   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษตอนต้น   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สถาปัตยกรรมกอทิกวิจิตร   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สถาปัตยกรรมกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์