สถาปัตยกรรมสมัยใหม่
สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (อังกฤษ: Modern architecture) คือสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับลักษณะที่เรียกว่า “สมัยใหม่ (Modernism)” มิได้หมายถึงวิวัฒนาการล่าสุดของสถาปัตยกรรม
บน: พิพิธภัณฑ์ศิลปะตะวันตกแห่งชาติ ญี่ปุ่น, โดยเลอกอร์บูซีเย (1927); ตึกเอ็มไพร์สเตต สหรัฐฯ, โดย Shreve, Lamb & Harmon (1931): กลาง: Palácio do Planalto บราซิล, โดยออสการ์ นีเอไมเยร์ (1960); Fagus Factory เยอรมนี, โดยวัลเทอร์ โกรพีอุสและอดอล์ฟ เมเยอร์ (1911–1913): ล่าง: ฟอลลิงวอเทอร์ สหรัฐ, โดยแฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ (1935); โรงอุปรากรซิดนีย์ ออสเตรเลีย, โดยโรงอุปรากรซิดนีย์ (1973) | |
ช่วงเวลา | 1920–2000 |
---|---|
ภูมิภาค | ทั่วโลก |
สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการก่อสร้าง โดยเฉพาะการใช้กระจก เหล็กและคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายใต้คติว่าการออกแบบอาคารควรยึดวัตถุประสงค์ของอาคารนั้น ๆ ตามหลักคติคำนึงประโยชน์ (functionalism) เน้นความเรียบง่ายตามคติจุลนิยม (minimalism) และการปราศจากการตกแต่ง[1] แนวคิดดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 และโดดเด่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ก่อนที่จะค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยสถาปัตยกรรมหลังสมัยใหม่สำหรับอาคารสถาบันและองค์กร[2]
ที่มา
แก้นักประวัติศาสตร์บางท่านให้ความเห็นว่าการวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เป็นผลจากสังคมวิทยาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัจจัยกระตุ้นหลักจากสภาวะความเป็นสมัยใหม่ (modernity ) ซึ่งก็คือ ยุคภูมิปัญญา การวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่จึงเป็นผลโดยตรงมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและทางการเมือง
อีกทฤษฎีหนึ่งก็ว่าสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เป็นผลสะท้อนจากการวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีและวิศวกรรม ซึ่งจะเห็นได้จากวัสดุก่อสร้างใหม่ ๆ เช่น เหล็ก เหล็กกล้า คอนกรีต และ แก้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ทำให้เกิดวิธีการก่อสร้างใหม่ ๆ เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 18
เมื่อปี ค.ศ. 1796 ชาร์ล เบจ (Charles Bage) เจ้าของโรงสีที่เมืองชรูสบรี (Shrewsbury) ที่อังกฤษเป็นนักอุตสาหกรรมคนแรกที่ใช้วัสดุก่อสร้างที่สามารถกันไฟได้ในการออกแบบ เช่นเหล็กหลอม และอิฐ และใช้พื้นหิน (flag stone floors) การใช้วัสดุก่อสร้างเหล่านี้ทำให้สิ่งก่อสร้างแข็งแรงขึ้นและสามารถใช้เป็นที่ตั้งเครื่องจักรใหญ่ ๆ ได้
ในสมัยแรกของการใช้เหล็กเป็นวัสดุในการก่อสร้าง สถาปนิกยังไม่มีความรู้เรื่องเหล็กดีพอจึงทำให้โรงงานหลายโรงงานที่สร้างในสมัยนั้นพังลงมา มาจนกระทั่งราวปี ค.ศ. 1830 เมื่ออีตัน ฮอดจ์คินสัน (Eaton Hodgkinson) พบวิธีทำให้สิ่งก่อสร้างแข็งแรงขึ้นโดยการใช้คานช่วง (section beam) ทำให้การก่อสร้างด้วยเหล็กจึงได้เผยแพร่มากขึ้นอย่างรวดเร็ว
การก่อสร้างสิ่งก่อสร้างทางอุตสาหกรรมลักษณะที่เรียบง่ายขึงขังนี้เป็นการปฏิวัติรูปทรงของสิ่งก่อสร้างที่เคยทำกันมา โดยเฉพาะทางตอนเหนือของอังกฤษแถวแมนเชสเตอร์ และ ทางตะวันตกของมณฑลยอร์คเชอร์ จนมารู้จักกันในนามว่า “โรงงานซาตาน” (Dark satanic mills)
“วังแก้ว” (The Crystal Palace) ออกแบบโดยโจเซฟ แพกซ์ตัน ที่งานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์และอุตสาหกรรม เมื่อ ค.ศ. 1851 เป็นตัวอย่างของสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยเหล็กและแก้ว ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของสิ่งก่อสร้างที่พัฒนามาเป็นการก่อสร้างตึกระฟ้าที่เมืองชิคาโก เมื่อปี ค.ศ. 1890 โดย วิลเลียม เลอ บารอน เจนนี (William Le Baron Jenney) และ หลุยส์ ซัลลิแวน โครงสร้างระยะแรกที่ใช้คอนกรีตเป็นหลักไม่เฉพาะแต่เป็นการใช้เป็นสิ่งก่อสร้างเท่านั้นแต่การใช้คอนกรีตเป็นการแสดงออกถึงลักษณะสถาปัตยกรรมยุคนั้นด้วย จะเห็นได้จากวัดยูนิตี (Unity Temple) ที่ออกแบบและสร้างโดย แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์เมื่อปี ค.ศ. 1906 ไม่ไกลจากชิคาโก และ ตึกเกอเธนนุมที่ 2 (Second Goetheanum) ใกล้เมืองบาเซล (Basel) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่สร้างโดย รูดอล์ฟ สไตน์เนอร์ (Rudolf Steiner) เมื่อปี ค.ศ. 1926
นักประวัติศาสตร์คนอื่น ๆ เห็นว่าลัทธิความเป็นสมัยใหม่ เป็นเรื่องของรสนิยม ปฏิกิริยาต่อความผสมผสานทางศิลปะ (Eclecticism) และชีวิตที่ฟุ่มเฟือยในสมัยวิคตอเรีย, สมัยเอ็ดเวิร์ด และ สมัยอาร์ตนูโว
แต่ไม่ว่าจะเป็นสาเหตใด เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1900 สถาปนิกหลายคนทั่วโลกก็เริ่มใช้วิธีการก่อสร้างสมัยใหม่ในการปรับปรุงลักษณะการก่อสร้างสมัยเดิมเช่นสมัยกอธิค เราจึงเห็นความขัดแย้งกันระหว่างสถาปัตยกรรมเก่ากับใหม่ในผลงานของสถาปนิกบางคนเช่น หลุยส์ ซุลลิแวน แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ ที่ชิคาโก หรือ วิคเตอร์ ฮอร์ตา (Victor Horta) จาก บรัสเซลส์ อันโทนี กอดี (Antoni Gaudi) จาก บาร์เซโลนา ออตโต วากเนอร์ (Otto Wagner) จาก เวียนนา และ ชาร์ล เร็นนี แม็คคินทอช (Charles Rennie Mackintosh) จาก กลาสโกว์
องค์การที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ความคิดทางศิลปะ หัตถกรรม และ ลัทธิความสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นมาราว ค.ศ. 1920 คือ “องค์การสหภาพแรงงานเยอรมนี” (Deutscher Werkbund หรือ German Work Federation) ซึ่งเป็นกลุ่มของสถาปนิก นักออกแบบ และนักอุตสาหกรรม ที่ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1907 ที่ มิวนิก มูเธเชียส (Muthesius) ผู้เขียนตำราสามเล่มชื่อ “บ้านแบบอังกฤษ” (The English House) เมื่อ ค.ศ. 1905 เป็นการสำรวจบทเรียนจากขบวนการทางศิลปะและหัตถกรรมในอังกฤษและความคิดเห็นทางการเมืองและทางวัฒนธรรม[3]
จุดประสงค์ขององค์การสหภาพแรงงานก็เพื่อส่งเสริมความพยายามในการผสมผสานวิธีการสร้างศิลปะและหัตถกรรมแบบที่เคยทำกันมาโดยใช้วิธีการสมัยใหม่ของการผลิตเพื่อมวลชนหรือการค้าเข้าไปช่วย เดิมองค์การประกอบด้วยสถาปนิก 12 คน และ บริษัท 12 บริษัท แต่ไม่นานก็ต้องขยายตัว สถาปนิกที่เป็นสมาชิกขององค์การก็มีปีเตอร์ เบหเรนส์, ทีโอดอร์ ฟิชเชอร์, โจเซฟ ฮอฟมันน์ และริชาร์ด ไรเมอร์ชมิด โดยมีโจเซฟ เอากุส ลุกซ์ เป็นผู้จัดหัวข้อในรายการประชุม [4]
สถาปัตยกรรมสมัยใหม่มิใช่สถาปัตยกรรมร่วมสมัยแต่เป็นคำที่ใช้บรรยายสิ่งก่อสร้างที่มีองค์ประกอบคล้ายคลึงกันตามคำจำกัดความ ซึ่งโดยทั่วไปคือรูปทรงจะเกลี้ยงเกลาและปราศจากการตกแต่ง ลักษณะนี้เริ่มใช้กันเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่โดยทั่วไปแล้วลักษณะเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในปัจจุบันก็ยังสรุปกันไม่ได้และยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
สิ่งก่อสร้างตามแบบสมัยไหม่ที่ว่านี้มิได้เริ่มสร้างกันอย่างจริงจังจนกระทั่งครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 คำว่าสถาปัตยกรรมสมัยใหม่อยู่ในชื่อหนังสือโดย ออตโต วากเนอร์.[5][6] สถาปัตยกรรมสมัยใหม่มาเริ่มนิยมกัยแพร่หลายหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นเวลาประมาณ 30 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งก่อสร้างแบบสถาบันและธุรกิจ
สมุดภาพ
แก้-
ตึกเทศบาลเมืองฮิลเวอร์ซุม (City hall of Hilversum) โดยวิลเล็ม มารินุส ดูด็อค (Willem Marinus Dudok) สถาปนิกชาวเนเธอร์แลนด์
-
วิทยาลัยซาลค (Salk Institute) โดยหลุยส์ คาห์น (Louis Kahn) สถาปนิกชาวอเมริกัน
-
มหาวิหารบราซิล
ข้อมูลเพิ่มเติม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "What is Modern architecture?" (ภาษาอังกฤษ). Royal Institute of British Architects. สืบค้นเมื่อ 15 October 2018.
- ↑ Tietz 1999, pp. 6–10.
- ↑ Lucius Burckhardt (1987) . The Werkbund. ? : Hyperion Press. ISBN. Frederic J. Schwartz (1996). The Werkbund: Design Theory and Mass Culture Before the First World War. New Haven, Conn. : Yale University Press. ISBN.
- ↑ Mark Jarzombek. "Joseph August Lux: Werkbund Promoter, Historian of a Lost Modernity," Journal of the Society of Architectural Historians 63/1 (June 2004) : 202-219.
- ↑ Otto Wagner. Moderne Architektur: Seinen Schülern ein Führer auf diesem Kunstgebiete. Anton Schroll. 1902.
- ↑ Otto Wagner. Translated by Harry Francis Mallgrave. Modern Architecture: A Guidebook for His Students to This Field of Art. Getty Center for the History of Art and the Humanities. 1988. ISBN 0226869385
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Harrison, Stuart (20 พฤศจิกายน 2019). "South Australian modernism exhibition a study in modesty". ArchitectureAU. Review of the exhibition Modernism & Modernist SA Architecture: 1934–1977. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2021.
- Six Building Designers Who Are Redefining Modern Architecture, รายงานวิทยุและอินเทอร์เน็ตเดือนเมษายน 2011 โดย the Special English service of the Voice of America.
- Architecture and Modernism
- "Preservation of Modern Buildings" edition of AIA Architect เก็บถาวร 2010-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Brussels50s60s.be, ภาพรวมของสถาปัตยกรรมยุค 1950s และ 1960s ในบรัสเซลส์
- A Grand Design: The Toronto City Hall Design Competition เก็บถาวร 2023-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Modernist designs จากการแข่งขันระดับนานาชาติปี 1958