อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส[1] (ฝรั่งเศส: Cathédrale Notre-Dame de Paris [nɔtʁə dam də paʁi] ( ฟังเสียง)) เป็นอาสนวิหารประจำอัครมุขมณฑลปารีส ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คำว่า Notre Dame แปลว่า แม่พระ (Our Lady) ซึ่งเป็นคำที่ชาวคาทอลิกใช้เรียกพระนางมารีย์พรหมจารี ปัจจุบันอาสนวิหารก็ยังใช้เป็นโบสถ์โรมันคาทอลิกและเป็นที่ตั้งคาเทดราของอาร์ชบิชอปแห่งปารีส อาสนวิหารน็อทร์-ดามถือกันว่าเป็นโบสถ์ที่สวยงามที่สุดในลักษณะกอทิกแบบฝรั่งเศส โบสถ์นี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยเออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก ผู้เป็นสถาปนิกคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศส
อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส Cathédrale Notre-Dame de Paris | |
---|---|
ด้านหน้าอาสนวิหารทางฝั่งตะวันตก | |
48°51′11″N 2°20′59″E / 48.85306°N 2.34972°E | |
ที่ตั้ง | กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส |
ประเทศ | ประเทศฝรั่งเศส |
นิกาย | โรมันคาทอลิก |
เว็บไซต์ | www |
สถานะ | อาสนวิหาร |
ประเภทสถาปัตย์ | กางเขน |
รูปแบบสถาปัตย์ | กอทิกแบบฝรั่งเศส |
ปีสร้าง | ค.ศ. 1163 |
แล้วเสร็จ | ค.ศ. 1345 |
ความสูงอาคาร | 69 เมตร (226 ฟุต) |
ขนาดอื่น ๆ | กว้าง 69 เมตร (226 ฟุต) ยาว 128 เมตร (420 ฟุต) |
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ (ค.ศ. 1862) |
การก่อสร้างเป็นแบบกอทิก นับเป็นอาสนวิหารแรกที่สร้างในลักษณะนี้ และการก่อสร้างก็ทำต่อเนื่องมาตลอดสมัยกอทิก ประติมากรรม และหน้าต่างประดับกระจกสี (stained glass) มีอิทธิพลจากศิลปะแบบแนทเชอราลลิสม์ ทำให้แตกต่างจากศิลปะโรมาเนสก์ที่สร้างก่อนหน้านั้น
น็อทร์-ดามเป็นหนึ่งในบรรดาสิ่งก่อสร้างแรกที่ใช้ "ครีบยันลอย" ตามแบบเดิมไม่ได้บ่งถึงกำแพงค้ำยันรอบอาสนวิหาร "บริเวณร้องเพลงสวด" หรือ รอบบริเวณกลางโบสถ์ เมื่อเริ่มสร้างกำแพงโบสถ์สูงขึ้นกำแพงก็เริ่มร้าวเพราะน้ำหนักของสิ่งก่อสร้าง เพราะสถาปนิกสมัยกอทิกจะเน้นการสร้างสิ่งก่อสร้างที่สูง บาง และโปร่ง เมื่อสร้างสูงขึ้นไปกำแพงก็ไม่สามารถรับน้ำหนักและความกดดันของกำแพงและหลังคาได้ทำให้กำแพงโก่งออกไปและร้าว สถาปนิกจึงใช้วิธีแก้ด้วยการเติม "กำแพงค้ำยัน" ที่กางออกไปคล้ายปีกนกด้านนอกตัววัด เพื่อให้กำแพงค้ำยันนี้หนุนหรือค้ำกำแพงตัวโบสถ์เอาไว้ เมื่อทำไปแล้วนอกจากจะมีประโยชน์ทางการใช้สอยแล้วยังกลายเป็นเครื่องตกแต่งที่ทำให้สิ่งก่อสร้างความสวยงามขึ้น ฉะนั้นวิธีแก้ปัญหานี้จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งของโบสถ์ที่สร้างแบบกอทิกไปในตัว
ในปี ค.ศ. 1793 ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส โบสถ์ก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ประติมากรรมและศิลปะทางศาสนาถูกทำลายไปมาก อาสนวิหารได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนมีสภาพเหมือนก่อนหน้าที่ถูกทำลาย
เมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 2019 เกิดเหตุเพลิงไหม้อาสนวิหาร สร้างความเสียหายอย่างหนัก โดยไฟได้โหมไหม้ตรงด้านบนของอาสนวิหาร (สาเหตุเพลิงไหม้ คาดว่าเกิดมาจากการบูรณะวิหารตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 จนถึงปัจจุบัน) บริเวณยอดแหลมของอาสนวิหารได้พังลง กระจกสีเกี่ยวกับเรื่องราวของพระเยซูและคริสต์ประวัติได้รับความเสียหาย งานศิลปะบางส่วนก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน เหลือทิ้งไว้เพียงโครงเหล็ก และคาดการณ์ว่าไฟอาจจะลามมายังอาสนวิหารทางฝั่งตะวันตกได้ โดยทางโฆษกของอาสนวิหารน็อทร์-ดามระบุว่า โครงสร้างทั้งหมดกำลังไหม้ และ "จะไม่มีอะไรเหลือ"[2][3]
วันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 2019 หลังจากการระดมกำลังร่วมกันดับไฟที่โหมกระหน่ำอยู่ภายในอาสนวิหาร เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว โดยสามารรักษาโครงสร้างหลักของอาสนวิหารเอาไว้ได้ ซึ่งกางเขนและแท่นมิซซาที่อยู่ภายในไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
ทางด้านประธานาธิบดีของฝรั่งเศส นายแอมานุเอล มาครง ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อขณะลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายว่า "จะบูรณะอาสนวิหารให้กลับมามีสภาพดังเดิม โดยอาจจะต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาชาติ และจะจัดตั้งกองทุนระดมเงินสำหรับการบูรณะในครั้งนี้" พร้อมทั้งขอบคุณเจ้าหน้าที่ดับเพลิงทุกนายที่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
การก่อสร้าง
แก้เมื่อปี ค.ศ. 1160 บิชอปมอริส เดอ ซูว์ลี (Maurice de Sully) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นบิชอปแห่งปารีส ท่านเห็นว่าโบสถ์ที่ตั้งอยู่เดิมไม่สมฐานะ จึงสั่งให้รื้อทิ้งไม่นานหลังจากที่ท่านได้รับตำแหน่งใหม่ ตามตำนานว่ากันว่าบิชอปเห็นภาพลักษณ์ของอาสนวิหารแห่งปารีสอันสวยงาม ท่านจึงรีบร่างแบบที่เห็นไว้บนทรายนอกโบสถ์เดิม ก่อนจะสร้างวิหารใหม่ก็ต้องรื้อบ้านเรือนบริเวณนั้นออกไปหลายหลัง และต้องสร้างถนนใหม่เพื่อจะได้สะดวกต่อการขนวัสดุก่อสร้างได้สะดวก
อาสนวิหารเริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1163 ระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ส่วนผู้วางศิลาฤกษ์นั้นไม่แน่ชัด บางหลักฐานก็ว่าบิชอปซุลยีเอง บางหลักฐานก็ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3 เป็นผู้วาง แต่ที่แน่คือทั้งสองคนเข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ และตั้งแต่นั้นมาบิชอปซุลยีก็อุทิศชีวิตให้กับการสร้างอาสนวิหารนี้
เริ่มการก่อสร้างทางด้านหน้าหรือด้านตะวันตก (west front) ซึ่งมีหอคอยสองหอ เมื่อราวปี ค.ศ. 1200 ก่อนที่จะสร้างโถงกลางของตัวโบสถ์เสร็จ ซึ่งไม่ตรงกับหลักการสร้างสิ่งก่อสร้างตามแบบฉบับ โบสถ์นี้มีสถาปนิกหลายคนที่มีส่วนในการก่อสร้าง จะเห็นได้จากความเปลี่ยนแปลงของรูปทรงไปตามสมัยนิยมของสถาปนิก เป็นต้นว่าหอสองหอทางด้านตะวันตกจะไม่เท่ากัน
ระหว่างปี ค.ศ. 1210 ค.ศ. 1220 สถาปนิกคนที่สี่เป็นผู้ดูแลการสร้างระดับหน้าต่างกลมและโถงภายใต้หอ หอสร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1245 และอาสนวิหารสร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1345
เหตุการณ์สำคัญ
แก้- ค.ศ. 1160 บิชอปซูว์ยีสั่งรื้อวิหารเดิม
- ค.ศ. 1163 วางศิลาฤกษ์และเริ่มก่อสร้าง
- ค.ศ. 1182 มุขโค้งด้านสกัด (apse) และบริเวณร้องเพลงสวด (choir) เสร็จ
- ค.ศ. 1196 ตัวโบสถ์เสร็จ บิชอปซูว์ยีถึงแก่อนิจกรรม
- ค.ศ. 1200 เริ่มสร้างด้านตะวันตก
- ค.ศ. 1225 ด้านหน้าโบสถ์ (façade) ทางตะวันตกเสร็จ
- ค.ศ. 1250 หอด้านตะวันตกและหน้าต่างกลมเสร็จ
- ค.ศ. 1250–1345 เสร็จ
- ค.ศ. 1991 อาสนวิหารและสิ่งก่อสร้างจำนวนหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำแซน ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้ชื่อ "ปารีส ริมฝั่งแม่น้ำแซน"
- ค.ศ. 2019 เหตุเพลิงไหม้อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่บริเวณหลังคาของอาสนวิหาร
อ้างอิง
แก้- ↑ ตาม ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาฝรั่งเศส
- ↑ "Paris' Notre Dame Cathedral on fire". CNBC (ภาษาอังกฤษ). 15 April 2019. สืบค้นเมื่อ 15 April 2019.
- ↑ https://www.bbc.com/thai/international-47940254
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้48°51′10″N 2°21′0″E / 48.85278°N 2.35000°E