อาสนวิหารนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมาและนักบุญสเทเฟนแห่งลียง (ฝรั่งเศส: La Primatiale Saint-Jean-Baptiste-et-Saint-Étienne) หรือเรียกโดยทั่วไปว่า อาสนวิหารนักบุญยอห์น (Cathédrale Saint-Jean) และ อาสนวิหารลียง (Cathédrale de Lyon) เป็นอาสนวิหารโรมันคาทอลิกที่อยู่ในระดับสูงกว่าอาสนวิหารทั่วไปหรือที่เรียกว่า primatial cathedral เป็นที่ตั้งของอัครมุขนายกประจำอัครมุขมณฑลลียง โดยตามตำแหน่งแล้ว อัครมุขนายกแห่งลียงยังรั้งตำแหน่งผู้นำแห่งชาวกอลทั้งปวง (Primat des Gaules) อีกด้วย

อาสนวิหารนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา
และนักบุญสเทเฟน
แห่งลียง
ด้านหน้าของอาสนวิหาร
แผนที่
45°45′38″N 4°49′39″E / 45.76056°N 4.82750°E / 45.76056; 4.82750
ที่ตั้งลียง จังหวัดโรน
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
เว็บไซต์http://cathedrale-lyon.cef.fr
สถานะอาสนวิหารประเภทไพรเมต
เหตุการณ์นาฬิกาดาราศาสตร์ สมัยคริสต์ศตววรษที่ 14
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์โรมาเนสก์
กอธิก
แล้วเสร็จค.ศ. 1480
ความสูงอาคาร32.50 เมตร
ขนาดอื่น ๆยาว 80 เมตร
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ (ค.ศ. 1862)[1]

อาสนวิหารตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าของเมืองลียง จังหวัดโรน แคว้นโอแวร์ญ-โรนาลป์ ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่สองอัครทูตสำคัญ คือนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมาและนักบุญสเทเฟน โดยแต่แรกอาสนวิหารนี้ตั้งใจสร้างเพื่ออุทิศให้แก่นักบุญสเทเฟน และให้เกียรติแก่ผู้ให้ศีลล้างบาปแก่พระองค์ด้วย นั่นคือนักบุญยอห์น จึงเป็นที่มาของชื่อทั้งสองของอาสนวิหารแห่งนี้

อาสนวิหารแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1862[2]

ประวัติ

แก้

บริเวณที่ตั้งแห่งแรกก่อนจะมาเป็นอาสนวิหารหลังนี้ เป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารโบราณทางคริสต์ศาสนาราวสมัยราชวงศ์เมรอแว็งเฌียง จากหลักฐานงานเขียนของซีดออีน อาปอลีแนร์ รวมทั้งหลักฐานต่าง ๆ ที่ค้นเจอในบริเวณนั้นด้วย

 
ผังแสดงกลุ่มอาคารในสมัยราชวงศ์เมรอแว็งเฌียง

การก่อสร้างได้เริ่มต้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 เริ่มจากผนังของวิหารคดที่ตั้งอยู่เหนือห้องเก็บศพใต้โบสถ์สมัยโบราณ[3] ต่อมาระหว่างปี ค.ศ. 1165–1180 มีการสร้างบริเวณฐานสำหรับมุขโค้ง ชาเปลด้านในทั้งสองแห่ง และสำหรับแขนกางเขนตามแบบสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ ต่อมาบริเวณหลังคาโค้งของมุขโค้ง ตามด้วยแขนกางเขน ได้แล้วเสร็จในแบบสถาปัตยกรรมกอทิก พร้อม ๆ กับหอทั้งสองฝั่ง รวมทั้งโถงทางเดินโบสถ์ในความยาวสี่ช่วงเสาพร้อมหลังคาโค้ง ได้เสร็จสิ้นตามในช่วงระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13

ต่อมางานกระจกสีบริเวณร้องเพลงสวดและหน้าต่างกุหลาบทั้งสองบานบริเวณแขนกางเขนได้เสร็จสิ้นลงในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 ต่อมา บริเวณช่วงฐานของโถงทางเดินโบสถ์ในความยาวสี่ช่วงเสาสุดท้าย และบริเวณช่วงล่างของหน้าบันของอาสนวิหาร ได้เสร็จสิ้นช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ส่วนหลังคาโค้งของสี่ช่วงที่เหลือ พร้อมทั้งหน้าต่างกุหลาบของหน้าบันได้เสร็จสิ้นเมื่อ ค.ศ. 1392

ส่วนยอดของหน้าบันและหอทั้งสองข้างได้เสร็จสิ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 15 งานประติมากรรมพระเจ้าพระบิดาได้ติดตั้งบริเวณปลายยอดของหน้าบันเมื่อปี ค.ศ. 1481

ต่อมาได้มีการก่อสร้างโบสถ์น้อย (Chapelle des Bourbons) โดยตั้งชื่อตามนามสกุลของอัครมุขนายกที่ริเริ่มการก่อสร้าง เป็นชาเปลในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบกอทิกตอนปลาย ซึ่งแล้วเสร็จช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16

ต่อมาในปี ค.ศ. 1562 อาสนวิหารได้ถูกทำลายโดยกองกำลังฝ่ายโปรเตสแตนต์ของบารงเดซาแดรในยุคสงครามศาสนาของฝรั่งเศส

กระจกสีตั้งแต่สมัยยุคกลางบริเวณโถงทางเดินโบสถ์ และรูปสลักหน้าบันบริเวณประตูทางเข้าได้ถูกทำลายลงในคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยกลุ่ม Ordre des Chanoines และในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส อาสนวิหารได้ถูกปล่อยทิ้งตามสภาพขาดการดูแล

ต่อมาระหว่างปี ค.ศ. 1791–1793 อัครมุขนายกลามูแร็ตได้สั่งให้มีการปรับแต่งบริเวณร้องเพลงสวด ทำให้ฉากกางเขนของเก่าถูกทำลายลง ซึ่งต่อมาได้ถูกบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ให้กลับมาอยู่ในสภาพตามแบบเดิมเมื่อปี ค.ศ. 1935–1936 และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1944 หน้าต่างกระจกสีบางส่วนก็ได้ถูกทำลายลงในสงครามอย่างน่าเสียดาย

หน้าบันของอาสนวิหารได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1982 และ ค.ศ. 2011

ระเบียงภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. http://www.culture.gouv.fr/public/mistral/merimee_fr?ACTION=CHERCHER&FIELD_1=REF&VALUE_1=PA00117785 กระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
  2. http://www.culture.gouv.fr/public/mistral/merimee_fr?ACTION=CHERCHER&FIELD_1=REF&VALUE_1=PA00117785 กระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
  3. Régis Neyret, Le livre de Lyon : Lugdunoscopie, Éditions Lyonnaises, 1995 ISBN 978-2910979003

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้