ราชวงศ์เมรอแว็งเฌียง
ราชวงศ์เมรอแว็งเฌียง (อังกฤษ: Merovingian; ฝรั่งเศส: Mérovingiens; ค.ศ. 481 - ค.ศ. 751; พ.ศ. 1024 - พ.ศ. 1294) เป็นราชวงศ์ของชนเผ่าแฟรงก์หรือฟรอง ปกครองดินแดนฝรั่งเศสเป็นราชวงศ์แรกหลังเข้ายึดดินแดนโกล กษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์คือพระเจ้าโคลวิสที่ 1 (Clovis I) ทรงประกาศพระองค์เป็นคริสต์ศาสนิกชน ได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์จากสมเด็จพระสันตะปาปา พระเจ้าโคลวิสทรงขยายอาณาเขตของฝรั่งเศสไปเกือบครอบคลุมอาณาเขตประเทศในปัจจุบันและดินแดนทางตะวันตกของเยอรมนี หลังสิ้นพระชนม์อาณาจักรฝรั่งเศสแบ่งแยกเป็นส่วน ๆ อยู่ภายใต้การปกครองของพระโอรสหลายพระองค์ ก่อนที่จะรวมเป็นปึกแผ่นอีกครั้งในสมัยพระเจ้าโกลแตร์ที่ 1 (Clotaire I)
กษัตริย์ในยุคหลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือพระเจ้าดาโกแบร์ที่ 1 (Dagobert I) (ครองราชย์ พ.ศ. 1172-1182) หลังจากรัชสมัยของพระองค์ อาณาจักรฝรั่งเศสถูกแบ่งแยกเป็นเขตต่าง ๆ อยู่ในอำนาจของขุนนางนักรบหลายตระกูล ตระกูลที่มีอำนาจมากที่สุดคือตระกูลการอแล็งเฌียง (Carolingian) ขุนนางในตระกูลนี้เริ่มดำรงตำแหน่งสำคัญในราชสำนักและควบคุมกษัตริย์เมรอแว็งเฌียงจนไร้พระราชอำนาจ ในที่สุด เปแปง หัวหน้าตระกูลจึงถอดถอนพระเจ้าชิลเดริกที่ 3 (Childeric III) ออกจากราชบัลลังก์และตั้งตนเป็นกษัตริย์องค์ใหม่แห่งราชวงศ์การอแล็งเฌียง
ต้นกำเนิด
แก้ชาวแฟรงก์
แก้ชาวริปัวเรียนแฟรงก์ (หรือชาวแฟรงก์บนที่ลุ่ม) ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่ลาดทางตะวันตกของแม่น้ำไรน์มาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ในปี ค.ศ. 463 ชาวริปัวเรียนแฟรงก์ได้เข้ายึดและตั้งนครเคิลน์ (หรือโคโลญ) เป็นเมืองหลวง ชาวริปัวเรียนแฟรงก์แผ่ขยายอำนาจบริเวณหุบเขาแม่น้ำไรน์ ตั้งแต่นครอาเคินถึงนครแม็ส ชาวแฟรงก์ที่อาศัยอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไรน์เรียกว่าชาวฟรังโกเนีย (หรือฟรังเคิน) และมีชาวแฟรงก์อีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าชาวแซเลียนแฟรงก์ ซึ่งคำว่า แซเลียน อาจมาจากชื่อของแม่น้ำแซลา (ปัจจุบันคือแม่น้ำเอเซลอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์) ชาวแซเลียนแฟรงก์ได้เคลื่อนตัวไปทางใต้และทางตะวันออก ในช่วงปี ค.ศ. 356 ชาวแซเลียนแฟรงก์ได้ยึดครองอาณาบริเวณที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำเมิซ, มหาสมุทร และแม่น้ำซอมม์ ในปี ค.ศ. 430 ครึ่งหนึ่งของประชาชนของกอลตอนเหนือเป็นชาวแฟรงก์ ชาวแฟรงก์พูดภาษาเจอร์แมนิกและนับถือลัทธิเพแกน
“กฎหมายแซลิก” กล่าวว่าชาวแซเลียนแฟรงก์ไม่ใช่กลุ่มอนารยชน แต่เป็นผู้ได้รับการปลดปล่อยที่มีเสรีภาพ คำว่า แฟรงก์ แปลว่า อิสรภาพ ชาวแซเลียนแฟรงก์มีรูปร่างสูง ผิวขาว มัดผมหางม้า ไว้หนวดแต่ไม่ไว้เครา สวมเสื้อทูนิก รัดเอวด้วยเข็มขัดหนังประดับเหล็กชุบ พกดาบและขวานสงคราม สวมเครื่องประดับทั้งชายและหญิง ได้แก่ แหวน กำไลแขน และสร้อยลูกปัด ชายสุขภาพสมบูรณ์ทุกคนเป็นนักรบที่ได้รับการฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก มีคุณธรรมสูงสุดคือความกล้าหาญ ชาวแฟรงก์ชนะศึกนับครั้งไม่ถ้วน แผ่ขยายดินแดนจนกว้างไกล รู้จักการทำกสิกรรมและงานหัตถกรรม ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของกอลจึงรุ่งเรืองและเป็นสังคมชนบทที่สันติ
กษัตริย์แห่งชาวแฟรงก์
แก้กษัตริย์แฟรงก์คนแรกที่รู้ชื่อ คือ พระเจ้าโคลดิโอ พระองค์ยึดครองกอลจนถึงแม่น้ำซอมม์และตั้งนครตูร์แนเป็นเมืองหลวง ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์ คือ พระเจ้าเมโรเวก ชื่อของพระองค์เป็นที่มาของชื่อราชวงศ์เมรอแว็งเฌียงที่ปกครองชาวแฟรงก์จนถึงปี ค.ศ. 751 พระเจ้าเมโรเวกมีพระโอรส คือ พระเจ้าชิลเดอริก บาซินา พระมเหสีของกษัตริย์แห่งทูริงเงินทิ้งพระสวามีมาสมรสกับพระเจ้าชิลเดอริก ทั้งคู่มีพระราชบุตรด้วยกัน คือ พระเจ้าโคลวิส
พระเจ้าโคลวิสขึ้นครองบัลลังก์ในปี ค.ศ. 481 ขณะพระชนมายุ 15 พรรษา ในตอนนั้นราชอาณาจักรของพระองค์เป็นเพียงมุมเล็ก ๆ มุมหนึ่งของกอล ชาวแฟรงก์อีกกลุ่มหนึ่งปกครองไรน์ลันท์ ในกอลตอนใต้มีราชอาณาจักรของชาววิซิกอทและชาวบูร์กอญ กอลตะวันตกเฉียงเหนือยังอยู่ภายใต้การปกครองของชาวโรมันซึ่งอ่อนแอมาก พระเจ้าโคลวิสจึงรุกรานพื้นที่ส่วนนั้นจนได้สมบัติมามากมาย จากนั้นพระองค์นำทัพไปปราบกองทัพโรมันที่นครซวยซงในปี ค.ศ. 486 ตลอดสิบปีต่อมาทรงพิชิตดินแดนอย่างต่อเนื่องจนแผ่ขยายไปถึงแคว้นเบรอตาญและแม่น้ำลัวร์ พระองค์ปล่อยให้ชาวกอลเหล่านั้นปกครองดินแดนของตัวเองและให้ความเคารพนักบวชของศาสนาคริสต์นิกายออร์ธอด็อกซ์ ในปี ค.ศ. 493 พระองค์สมรสกับโคลทิลด์ พระนางเป็นชาวคริสต์และต่อมาได้เปลี่ยนศรัทธาของพระองค์จากลัทธิเพแกนเป็นศาสนคริสต์นิกายไนซีน บิชอปรามีได้ประกอบพิธีศีลล้างบาปให้พระองค์ที่นครแร็งส์ ทหาร 3000 นายได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ตามพระเจ้าโคลวิส การเปลี่ยนศาสนาอาจเป็นกุศโลบายเพื่อยึดครองบริเวณเมดิเตอร์เรเนียน ประชาชนชาววิซิกอทและชาวบูร์กอญซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ธอด็อกซ์ไม่ไว้ใจผู้ปกครองที่นับถือลัทธิเอเรียสจึงสานสัมพันธไมตรี ทั้งในทางลับและอย่างเปิดเผย กับกษัตริย์แฟรงก์ซึ่งเป็นชาวคริสต์
พระเจ้าอลาริกที่ 2 เล็งเห็นปัญหาและพยายามหาทางแก้ พระองค์ได้เชิญพระเจ้าโคลวิสมาประชุมร่วมกันที่อ็องบวซเพื่อจับมือเป็นพันธมิตรกัน แต่เมื่อกลับไปนครตูลูซ พระเจ้าอลาริกจับกุมบิชอปออร์ธอด็อกซ์จำนวนหนึ่งด้วยข้อหาสมคบคิดกับชาวแฟรงก์ พระเจ้าโคลวิสจึงเรียกประชุมสภาอัยการศึกและประกาศทำสงครามพิชิตชาวเอเรียส ในปี ค.ศ. 507 พระเจ้าอลาริกที่ 2 ถูกพระเจ้าโคลวิสสังหารและยึดสมบัติมากมายของพระองค์ไปจากนครตูลูซ พระเจ้าโคลวิสพักรบในช่วงฤดูหนาว จากนั้นทรงยกทัพไปปิดล้อมอ็องกูแลมซึ่งเจ้าเมืองยอมทำข้อตกลงกับพระองค์แต่โดยดี ชาวเอเรียสที่ถูกพิชิตถูกเปลี่ยนให้นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ธอด็อกซ์ พระเจ้าโคลวิสได้ย้ายเมืองหลวงของพระองค์มาอยู่ที่นครปารีส ทรงสวรรคตในอีกสี่ปีต่อมาด้วยพระชนมายุ 45 พรรษา
ยุคเรืองอำนาจของราชวงศ์เมรอแว็งเฌียง ค.ศ. 511-614
แก้พระเจ้าโคลวิสมีพระโอรสหลายคน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามแย่งชิงบัลลังก์ พระองค์ได้แบ่งราชอาณาจักรให้แก่พระโอรสทุกคน โดยยกปารีสให้ชิลเดอแบร์, ยกออร์เลอ็องให้โคลโดแมร์, ยกซวยซงให้โคลทาร์ และยกแม็สกับแร็งส์ให้เทอเดอริก กลุ่มอนารยชนเข้ายึดทือริงเงินในปี ค.ศ. 530 ต่อด้วยบูร์กอญในปี ค.ศ. 534, พรอว็องส์ในปี ค.ศ. 536, ไบเอิร์นและชวาเบินในปี ค.ศ. 555 พระเจ้าโคลทาร์ที่ 1 มีพระชนมายุยืนยาวกว่าพี่น้องทุกคน พระองค์จึงได้ครองครองราชอาณาจักรทั้งหมด กอลที่พระองค์ปกครองใหญ่กว่าราชอาณาจักรฝรั่งเศสในยุคต่อมา พระองค์สวรรคตในปี ค.ศ. 561 กอลถูกแบ่งอีกครั้งให้แก่พระโอรสสามคน คือ ซิเกอแบร์ ได้แร็งส์และแม็สที่รวมกันเป็นออสเตรเซีย (หรือพื้นที่ทางตะวันออก), กุนแทรม ได้บูร์กอญ และชิลเปอริก ได้ซวยซงที่เปลี่ยนชื่อเป็นเนิสเตรีย (หรือพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ)
พระเจ้าซิเกอแบร์ได้มอบของขวัญล้ำค่าให้พระเจ้าอทานากิลด์ กษัตริย์วิซิกอทแห่งสเปนเพื่อขอสมรสกับบรุนฮิลดา พระธิดาของพระองค์ พระเจ้าอทานากิลด์หวาดกลัวชาวแฟรงก์จึงยอมทำตามอย่างว่าง่าย บรุนฮิลดากลายเป็นพระราชินีแห่งออสเตรเซียในปี ค.ศ. 566 สร้างความอิจฉาแก่พระเจ้าชิลเปอริกที่มีพระมเหสีเป็นเพียงหญิงธรรมดาชื่อเอาโดเวรากับพระชายานอกสมรสเป็นหญิงชั้นต่ำชื่อเฟรอเดอกุนดา พระองค์จึงขอสมรสกับกัลสวินทา พระเชษฐภคนีของพระนางบรุนฮิลดา แต่หลังสมรสพระเจ้าชิลเปริกหวนกลับไปหาเฟรอเดอกุนดา พระนางกัลสวินทาจึงคิดจะกลับสเปน พระเจ้าชิลเปอริกฆ่ารัดคอพระนางในปี ค.ศ. 567 พระเจ้าซิเกอแบร์ประกาศศึกกับพระเจ้าชิลเปอริกและได้รับชัยชนะ แต่พระองค์ถูกทาสสองคนที่เฟรอเดอกุนดาส่งมาลอบสังหาร พระนางบรุนฮิลดาถูกจับกุมตัวแต่ทรงหนีออกมาได้และได้ทำพิธีสวมมงกุฎให้พระโอรสขึ้นเป็นพระเจ้าชิลเดอแบร์ที่ 2
พระเจ้าชิลเปอริกเป็นคนโหดเหี้ยม ฆ่าคนได้ราวกับผักปลา ทรงหมกมุ่นในกาม ละโมบโลภมาก และกระหายในทองคำ ทรงคบค้ากับชาวยิว หมางเมินศาสนาคริสต์ ทรงขายดินแดนในปกครองของบิชอปชาวคริสต์ให้แก่ผู้ที่เสนอราคาสูงสุด พระองค์ถูกแทงจนสวรรคตในปี ค.ศ. 584 ผู้ลงมืออาจเป็นคนของพระนางบรุนฮิลดา พระโอรสของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าโคลทาร์ที่ 2 แต่ด้วยยังเป็นทารก พระนางเฟรอเดอกุนดาจึงบริหารเนิสเตรียแทน พระนางมีทักษะฝีมือแต่คดโกงและโหดเหี้ยม ทรงส่งนักบวชหนุ่มไปสังหารพระนางบรุนฮิลดา แต่นักบวชหนุ่มทำไม่สำเร็จจึงถูกพระนางตัดมือตัดเท้า ในปี ค.ศ. 614 พระเจ้าโคลทาร์ที่ 2 สนับสนุนให้เหล่าขุนนางออสเตรเซียก่อปฏิวัติต่อพระนางบรุนฮิลดา พระนางถูกถอดจากตำแหน่งในวัย 80 พรรษาและถูกทรมานอยู่สามวันก่อนสวรรคต พระเจ้าโคลทาร์ที่ 2 ได้ครองทั้งสามอาณาจักร ทำให้ดินแดนแฟรงก์ถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง
การลอบสังหาร, การทำปิตุฆาต, การเข่นฆ่าพี่น้อง, การทรมาน, การทำให้พิการ, การทรยศหักหลัง, การคบชู้ และการร่วมประเวณีกันในเครือญาติเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในราชวงศ์เมรอแว็งเฌียงจนทำให้ประชาชนเริ่มเสื่อมศรัทธา ไล่มาตั้งแต่พระเจ้าชิลเปอริกที่สั่งทรมานซิกิลาผู้เป็นชาวกอทอย่างโหดเหี้ยมทารุณ, พระเจ้าชาริแบร์ที่มีสนมเป็นสองพี่น้องซึ่งคนหนึ่งเป็นแม่ชี และพระเจ้าดาโกแบร์ซึ่งมีพระมเหสีพร้อมกันสามคนในเวลาเดียว แต่กษัตริย์เมรอแว็งเฌียงอาจมีกรรมพันธุ์เป็นหมัน ในบรรดาพระโอรสสี่คนของพระเจ้าโคลวิสมีพระเจ้าโคลทาร์เพียงคนเดียวที่มีลูก ในบรรดาพระโอรสสี่คนของพระเจ้าโคลทาร์ก็มีพระโอรสเพียงคนเดียวที่มีลูก กษัตริย์หลายคนสมรสตอนพระชนมายุ 15 พรรษาและสวรรคตก่อนพระชนมายุ 28 พรรษา ในปี ค.ศ. 614 ราชวงศ์เมรอแว็งเฌียงเริ่มเสื่อมอำนาจและถูกแทนที่
การขึ้นมาของราชวงศ์การอแล็งเฌียง
แก้ราชวงศ์เมรอแว็งเฌียงดูยิ่งใหญ่เมื่อเข้าสู่ยุคของพระเจ้าโคลทาร์ที่ 2 ไม่เคยมีราชวงศ์ใดปกครองดินแดนใหญ่โตขนาดนี้มาก่อน แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความช่วยเหลือจากกลุ่มขุนนางออสเตรเซียและบูร์กอญ พระเจ้าโคลแทร์จึงให้อิสระแก่กลุ่มดังกล่าวมากขึ้น ชาวออสเตรเซียและชาวบูร์กอญได้ปกครองดินแดนที่ใหญ่ขึ้นและได้เลือกขุนนางคนหนึ่ง คือ เปแป็งที่ 1 ผู้อาวุโส เป็น “สมุหราชมนเทียร” เป็นผู้ควบคุมดูแลครัวเรือนของกษัตริย์และพระราชอาณาเขต ในช่วงที่กษัตริย์เมรอแว็งเฌียงหมกมุ่นอยู่กับโลกีย์และการเข่นฆ่ากันเอง สมุหราชมนเทียรเริ่มมีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มกลืนกินราชสำนัก กองทัพ และระบบการเงิน ในยุคของพระเจ้าดาโกแบร์ (ค.ศ. 628-639) สมุหราชมนเทียรถูกจำกัดอำนาจ พระเจ้าดาโกแบร์เป็นกษัตริย์ที่ดูแลทั้งคนรวยและคนจนอย่างเท่าเทียม ทรงทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี แต่ทรงมีพระราชินีสามคนในเวลาเดียวกันและมีชายานอกสมรสอีกมากมาย ทั้งยังทรงมัวเมาในกาม หลังยุคของพระองค์ กษัตริย์เมรอแว็งเฌียงกลายเป็นเพียง “กษัตริย์ไม่เอาถ่าน” อำนาจตกไปอยู่ที่สมุหราชมนเทียรอีกครั้ง เปแป็งที่ 2 ผู้อ่อนวัยกว่าปกครองกอลทั้งหมดยกเว้นอากีแตน บุตรชายของเปแป็งที่ 2 คือ ชาร์ล มาร์แตล ครองตำแหน่งเป็นสมุหราชมนเทียรและดยุคแห่งออสเตรเซีย ปกครองกอลทั้งหมดในยุคของพระเจ้าโคลทาร์ที่ 4 (ค.ศ. 717-719) ชาร์ลได้ขับไล่ชาวฟริเชียและชาวซัคเซินที่เข้ามารุกรานกอลและทำสงครามในตูร์จนสามารถปกป้องยุโรปส่วนคริสต์จากชาวมุสลิม แต่เมื่อเกิดวิกฤตทางการเงิน ชาร์ลได้ริบดินแดนมาจากคริสตจักร ขายดินแดนในปกครองของบิชอปให้เหล่าแม่ทัพ ตั้งค่ายทหารในพื้นที่อาราม และตัดหัวพระที่ต่อต้านตน
ในปี ค.ศ. 751 เปแป็งที่ 3 บุตรชายของชาร์ลซึ่งเป็นสมุหราชมนเทียรในพระเจ้าชิลเดอริกที่ 3 ได้ส่งทูตไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาซาคารีเพื่อถามว่าการปลดหุ่นเชิดจากราชวงศ์เมรอแว็งเฌียงออกจากตำแหน่งเพื่อขึ้นเป็นกษัตริย์แทนเป็นการกระทำที่เป็นบาปหรือไม่ ในตอนนั้นพระสันตะปาปาซาคารีกำลังต่อกรอยู่กับชาวลอมบาร์ดและต้องการการสนับสนุนจากแฟรงก์จึงตอบไปว่าไม่เป็นบาป เปแป็งจึงเรียกประชุมกลุ่มขุนนางและเหล่าพระราชาคณะที่ซวยซง ที่ประชุมได้เลือกเปแป็งเป็นกษัตริย์แห่งชาวแฟรงก์ กษัตริย์ไม่เอาถ่านคนสุดท้ายถูกกล้อนผมและส่งเข้าอาราม นำมาสู่จุดเริ่มต้นของราชวงศ์การอแล็งเฌียงที่ปกครองตั้งแต่ ค.ศ. 751-987
อ้างอิง
แก้- Durant, Will (1992). The Age of Faith: A History of Medieval Civilization. MJF Books.
- Microsoft Encarta Encyclopedia Standard 2003.