สมุหราชมนเทียร
สมุหราชมนเทียร[1] (อังกฤษ: Mayor of the Palace) เป็นตำแหน่งขุนนางตำแหน่งหนึ่งในทวีปยุโรปช่วงต้นสมัยกลาง ใช้ในราชอาณาจักรแฟรงก์ราวคริสต์ศตวรรษที่ 6-7
ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 สมุหราชมนเทียรได้กลายเป็นผู้มีอำนาจเบื้องหลังราชบัลลังก์ออสเตรเชีย (ดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของราชอาณาจักรแฟรงก์สมัยราชวงศ์เมรอแว็งเฌียง) มีอำนาจว่าการต่าง ๆ ในราชอาณาจักร ส่วนพระมหากษัตริย์ถูกลิดรอนพระราชอำนาจลงมาเหลือเพียงบทบาทด้านพิธีการ สมุหราชมนเทียรจึงมีอำนาจคล้ายโชกุนในประเทศญี่ปุ่น หรือนายกรัฐมนตรีในประเทศที่ปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจบริหารจริง ส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเพียงผู้นำแต่ในทางพิธี
ตำแหน่งนี้ยังสืบทอดตามสายโลหิตในตระกูลของพวกพิปปินิด ชาร์ล มาร์แตลถือเป็นหนึ่งในสมุหราชมนเทียรทรงอิทธิพลซึ่งมาจากตระกูลนี้และได้สถาปนาตนเองเป็นดยุกแห่งชาวแฟรงก์ด้วย เมื่อออสเตรเชียและนิวสเตรียรวมกันเป็นอาณาจักรเดียว เปแป็งซึ่งดำรงตำแหน่งสมุหราชมนเทียรมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 747 ก็ยึดอำนาจจากราชวงศ์เมรอแว็งเฌียง แล้วสถาปนาราชวงศ์การอแล็งเฌียงโดยพระองค์เป็นปฐมกษัตริย์ พระเจ้าชาร์เลอมาญพระราชโอรสของพระองค์ก็ได้รับราชาภิเษกจากพระสันตะปาปาให้เป็นจักรพรรดิโรมันในปี ค.ศ. 800 นับเป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ยุโรป
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 188