บรุนฮิลดา พระราชินีแห่งออสเตรเชีย

บรุนฮิลดา (อังกฤษ: Brunhild, Brunhilda, Brunhilde, ละติน: Brunechildis, ฝรั่งเศส: Brunehaut) (ค.ศ. 534 – ค.ศ. 613) เป็นเจ้าหญิงวิซิกอธ พระธิดาของพระเจ้าอัตธานากิลด์กับกอยสวินธา และเป็นพระราชินีแห่งออสเตรเชียจากการแต่งงาน ทรงมีส่วนร่วมในความขัดแย้งและการทำสงครามกับนูสเตรียอันมีสาเหตุมาจากการถูกฆาตกรรมของกัลสวินธา พระเชษฐภคินีของพระองค์ ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแห่งออสเตรเชียและบูร์กอญ

ภาพการทรมานบรุนฮิลดา

ต้นชีวิต

แก้

บรุนฮิลดาพระชนมายุ 11 พรรษาในตอนที่อัตธานากิลด์ พระบิดาของพระองค์ได้รับเลือกเป็นกษัตริย์วิซิกอธแห่งอิสปาเนีย ทรงเป็นคนสุดท้องในพระธิดาสองคนของกษัตริย์ ทรงได้รับการศึกษาที่ราชสำนักโตเลโด เมืองหลวงของราชอาณาจักรวิซิกอธที่กำลังเกรียงไกรในเวลานั้นและนับถือศาสนาคริสต์นิกายอาเรียน

ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างชาวแฟรงก์กับชาววิซิกอธมีปัญหามากขึ้น และราวปี ค.ศ. 565 พระเจ้าซิเชอแบต์ที่ 1 กษัตริย์แห่งออสเตรเชียของบรุนฮิลดาแต่งงาน พระเจ้าซิเชอแบต์ที่ 1 มีพระชนมายุ 30 พรรษา ส่วนบรุนฮิลดามีพระชนมายุ 22 พรรษา

 
พิธีอภิเษกสมรสของบรุนฮิลดากับพระเจ้าซิเชอแบต์ที่ 1 ในมหาพงศาวดารแห่งฝรั่งเศส

การแต่งงานครั้งนี้เป็นประโยชน์กับทั้งสองอาณาจักร ทำให้อาณาจักรวิซิกอธของพระเจ้าอัตธานากิลด์หมดปัญหากับชาวแฟรงก์และมุ่งมั่นกับการทำศึกกับชาวไบเซนไทน์และชาวสวาเบียได้อย่างเต็มที ส่วนพระเจ้าซิเชอแบต์ที่ 1 ชาวเมโรวินเจียนก็ได้กำลังเสริมในการทำศึกสงครามกับพี่น้องชายของตน พระเจ้าซิเชอแบต์ที่ 1 เป็นหนึ่งในพระโอรสสี่คนของพระเจ้าโคลธาร์ที่ 1 ที่ราชอาณาจักรพระองค์ถูกแบ่งออกหลังพระองค์สิ้นพระชนม์

บรุนฮิลดายอมเปลี่ยนศาสนาจากนิกายอาเรียนมาเป็นนิกายโรมันคาทอลิก[1] และมีสินเดิมชั้นดีติดตัวมา พิธีเฉลิมฉลองการแต่งงานถูกจัดขึ้นในนครเม็ตซ์ เมืองหลวงของราชอาณาจักรออสเตรเชีย ในปี ค.ศ. 566

หนึ่งปีหลังแต่งงาน กัลสวินธา พระเชษฐภคินีของบรุนฮิลดาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าชิลเปริคที่ 1 พระอนุชาต่างมารดาของพระเจ้าซิเชอแบต์ที่ 1 ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งนูสเตรีย[1] โดยมีสินเดิมก้อนโตติดตัวมาด้วย กษัตริย์แต่งงานอยู่แล้วกับออโดเวราซึ่งมีพระโอรสธิดากับพระองค์สี่คน แต่ก็หาทางจนทำให้การแต่งงานถูกประกาศเป็นโมฆะเพื่อจะแต่งงานกับกัลสวินธา แต่พระองค์ไม่ยอมทิ้งเฟรเดกุนด์ คนรักของพระองค์ การแต่งงานล้มเหลวในทันทีเนื่องจากพระเจ้าชิลเปริคที่ 1 ไม่ยอมทิ้งชีวิตสำมะเลเทเมา

กัลสวินธาจึงอยากกลับไปที่ราชสำนักวิซิกอธ แต่ในปีเดียวกันนั้นพระเจ้าอัตธานากิลด์ พระบิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ทำให้สถานะทางการเมืองของพระองค์อ่อนแอลง ส่งผลให้พระองค์ถูกลอบสังหาร โดยเฟรเดกุนด์ถูกมองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ในเวลาต่อมาพระเจ้าชิลเปริคที่ 1 ได้อภิเษกสมรสกับเฟรเดกุนด์

การถูกฆาตกรรมของพระเชษฐภคินีทำให้บรุนฮิลดาเคียดแค้นทั้งคู่มาก[1] ทรงเรียกร้องให้พระเจ้าชิลเปริคที่ 1 คืนสินเดิมของกัลสวินธา แต่กษัตริย์แห่งนูสเตรียไม่ยอมคืน

พระเจ้าซิเชอแบต์ที่ 1 ขอร้องพระเจ้ากุนทรัมที่ 1 แห่งบูร์กอญ พี่น้องชายอีกคนของพระองค์ให้เข้ามาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง พระเจ้ากุนทรัมประชุมสภาขุนนางและแก้ปัญหาด้วยการจ่ายเงินชดเชยและยกเมืองบอร์โดซ์, ลิโมช, กาฮอร์, เบอาร์น และบิกอร์ให้บรุนฮิลดาและทายาท แต่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข พระเจ้าชิลเปริคที่ 1 อยากได้เมืองกลับคืนมา ส่วนบรุนฮิลดาก็ไม่ลืมเรื่องที่พระเชษฐภคินีของพระองค์ถูกฆาตกรรม

สงครามเข่นฆ่าพี่น้อง

แก้

ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 567 ถึง ค.ศ. 570 พระโอรสธิดาสามคนของพระเจ้าซิเชอแบต์ที่ 1 กับบรุนฮิลดา คือ อินกุนด์, โคลโดซินด์ และชิลเดอแบต์ ถือกำเนิด

การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างพระเจ้าซิเชอแบต์ที่ 1 กับพระเจ้าชิลเปริคที่ 1 พระอนุชายังคงดำเนินต่อไป ครั้งนี้ถูกเติมเชื้อไฟโดยพระราชินีคู่สมรสทั้งสอง คือ บรุนฮิลดาและเฟรเดกุนด์ นักบุญแชร์แมง บิชอปแห่งปารีสพยายามยุติความขัดแย้งและเขียนจดหมายถึงบรุนฮิลดา ใช้อิทธิพลของตนของร้องพระนาง แต่ไม่สำเร็จ

ปี ค.ศ. 575 พระเจ้าชิลเปริคที่ 1 พยายามใช้กำลังต่อสู้เอาเมืองทั้งห้ากลับคืนมา ธูเดอแบต์ พระโอรสที่พระองค์มีกับออโดเวราสิ้นพระชนม์ พระเจ้าซิเชอแบต์ที่ 1 เริ่มการยึดครองนูสเตรีย แต่ด้วยความมุทะลุและเจ้าเล่ห์เพทุบาย เฟรเดกุนด์ได้ส่งนักฆ่าสองคนมาฆาตกรรมพระองค์ในตอนที่พระองค์กำลังจะได้ชัยชนะ ทำให้พระเจ้าชิลเปริคที่ 1 รอดพ้นจากสถานการณ์อันน่าสิ้นหวังและถึงขั้นเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายอ้างสิทธิ์ในออสเตรเชีย

บรุนฮิลดาที่ตอนนี้กลายเป็นม่ายอยู่กับพระโอรสธิดาของพระองค์ในปารีส (เมืองหลวงของราชอาณาจักรนูสเตรีย) และถูกพระเจ้าชิลเปริคที่ 1 จับตัวเป็นนักโทษ[1] แต่บรุนฮิลดาก็หาทางหนีออกมาได้พร้อมกับชิลเดอแบต์ พระโอรสคนสุดท้อง และอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ออสเตรเชียให้พระโอรส โดยทรงทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ขุนนางออสเตรเชียยอมรับในสิทธิอันชอบธรรมของทายาท แต่ไม่ยอมรับการสำเร็จราชการแผ่นดิน และแต่งตั้งพระเจ้ากุนทรัมแห่งบูร์กอญให้ทำหน้าที่ดังกล่าว พระเจ้าชิลเปริคที่ 1 แยกบรุนฮิลดาออกจากพระธิดาและส่งพระองค์เข้าคอนแวนต์ในรูอ็อง

เมโรเวค พระโอรสอีกคนของพระเจ้าชิลเปริคที่ 1 กับออโดเวราปรากฏตัวในรูอ็องและแต่งงานกับบรุนฮิลดา เจ้าชายพระชนมายุ 19 พรรษา ส่วนพระนางพระชนมายุ 32 พรรษา การแต่งงานทำให้บรุนฮิลดาถูกกล่าวหาว่าร่วมประเวณีกับญาติสนิทและหมกมุ่นในกามตัณหา

พระเจ้าชิลเปริคที่ 1 หาทางทำให้การแต่งงานเป็นโมฆะได้ ทรงโกรธเมโรเวคอย่างมาก ทรงห้ามพระโอรสไม่ให้ใช้อาวุธ จับกล้อนหัวเพื่อบวชเป็นพระซึ่งจะทำให้หมดสิทธิ์ในการสืบทอดบัลลังก์ แต่เจ้าชายก็หาทางหนีไปได้ บรุนฮิลดาทำทุกวิถีทางให้พระองค์สามารถหลบภัยอยู่ในออสเตรเชียได้อย่างปลอดภัย แต่ขุนนางออสเตรเชียต่อต้านอย่างหนัก แย้งว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้พระเจ้าชิลเปริคโกรธจัด หลังประสบเคราะห์กรรมมากมาย เมโรเวคที่ถูกรังควานไม่เลิกทั้งจากพระบิดาและจากบรุนฮิลดาก็สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 577 ว่ากันว่าทรงถูกคนของพระองค์ที่กลัวว่าจะถูกทรมานจนตายอนาถสังหาร เฟรเดกุนด์ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในการวางแผนฆ่า และยังพยายามลอบสังหารบรุนฮิลดาหลังการแต่งงานถูกประกาศให้เป็นโมฆะ

การสำเร็จราชการครั้งแรก

แก้

บรุนฮิลดากลับไปที่ราชสำนักออสเตรเชีย แต่การต่อต้านของขุนนางบีบให้พระองค์ต้องลี้ภัยไปอยู่ในราชสำนักของพระเจ้ากุนทรัมแห่งบูร์กอญ ในเวลาต่อมาทรงกลับมาอ้างสิทธิ์ในการสำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระโอรส[1] และเริ่มทำหน้าที่เป็นพระมหากษัตริย์ของออสเตรเชีย ทรงวางโครงสร้างและปรับโครงสร้างภายในราชอาณาจักร ทรงซ่อมแซมถนนหนทาง, สร้างโบสถ์ วิหาร และปราสาท, ทรงปฏิรูปการเงิน และทรงปรับโครงสร้างกองทัพ แต่ทำให้ขุนนางสูญเสียผลประโยชน์และแสดงความเป็นศัตรู

บรุนฮิลดาใช้อำนาจของกษัตริย์ตอบโต้ พระองค์ขอให้พระเจ้ากุนทรัมแห่งบูร์กอญที่ไม่มีพระโอรสธิดาที่มีชีวิตอยู่รับชิลเดอแบต์ พระโอรสของพระองค์เป็นบุตรบุญธรรม กษัตริย์แห่งบูร์กอญรับพระองค์เป็นบุตรบุญธรรมในปี ค.ศ. 577

ปี ค.ศ. 579 ทรงจับอินกุนด์ พระธิดาวัย 13 พรรษาแต่งงานกับเจ้าชายเฮร์เมเนกิลด์ชาววิซิกอธ การแต่งงานจบลงด้วยโศกนาฏกรรม ทั้งคู่สิ้นพระชนม์ ซึ่งเป็นผลมาจากการวางแผนสมคบคิดและการต่อสู้กันระหว่างชาวอาเรียน, ชาวคาทอลิก และชาวไบเซนไทน์ในอิสปาเนีย

พระเจ้าชิลเดอแบต์ที่ 2 พระโอรสของพระองค์เริ่มครองราชย์ในฐานะกษัตริย์ในราวปี ค.ศ. 582 ด้วยพระชนมายุ 13 พรรษา

พระอัยกีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

แก้

ปี ค.ศ. 584 พระเจ้าชิลเปริคที่ 1 แห่งนูสเตรียถูกลองสังหาร ทั้งบรุนฮิลดาและเหรเดกุนด์ถูกมองว่าเป็นตัวการในอาชญากรรมครั้งนี้ เฟรเดกุนด์อ้างสิทธิ์ในการสำเร็จราชการแผ่นดินนูสเตรียให้โคลธาร์ที่ 2 พระโอรสวัยแรกเกิดของพระองค์ และทรงพยายามเอาชีวิตของบรุนฮิลดาอีกครั้ง

ปี ค.ศ. 586 ธูเดอแบต์เสด็จพระราชสมภพ ตามด้วยธูเดอริคในปีต่อมา ทั้งคู่เป็นพระโอรสของพระเจ้าชิลเดอแบต์ที่ 2 และเป็นพระนัดดาของบรุนฮิลดา เฟรเดกุนด์ ศัตรูของพระองค์พยายามเอาชีวิตกษัตริย์ พระราชินีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และพระนัดดาคนแรก

พระราชินีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไม่ได้มีศัตรูแค่ในราชสำนักนูสเตรีย ขุนนางส่วนหนึ่งของออสเตรเชียก็ต่อต้านพระองค์อย่างรุนแรง พวกเขาเผชิญหน้ากับพระราชินีและวางแผนลอบสังหารพระเจ้าชิลเดอแบต์ที่ 2 จึงถูกประหารชีวิตตามคำสั่งของบรุนฮิลดาในปี ค.ศ. 587

ความสัมพันธ์ระหว่างพระกุนทรัมแห่งบูร์กอญกับพระเจ้าชิลเดอแบต์ที่ 2 ย่ำแย่ลง การต่อสู้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 587 ด้วยการลงนามในสนธิสัญญาอ็องเดอโลต์ ซึ่งได้ทำข้อตกลงกันว่าหากคนใดคนหนึ่งตาย อีกฝ่ายจะได้สืบทอดราชอาณาจักรของคนนั้น

ในปี ค.ศ. 587 เช่นกันที่พระเจ้าเร็กกาเร็ดที่ 1 ชาววิซิกอธได้จับมือเป็นพันธมิตรกับพระเจ้าชิลเดอแบต์ที่ 2 และขอแต่งงานกับโคลโดซินด์ พระเชษฐภคินีของกษัตริย์ บรุนฮิลดายอมรับการแต่งงานด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่พระเจ้ากุนทรัมที่ 1 แห่งบูร์กอญไม่ยอมรับ

ปี ค.ศ. 593 พระเจ้ากุนทรัมที่ 1 สิ้นพระชนม์ พระเจ้าชิลเดอแบต์ที่ 2 ได้ขึ้นครองบัลลังก์บูร์กอญ กษัตริย์หนุ่มพยายามทำสงครามกับราชอาณาจักรนูสเตรียแต่ล้มเหลว บรุนฮิลดาเองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านการเมือง

ปี ค.ศ. 596 พระเจ้าชิลเดอแบต์ที่ 2 ถูกวางยาพิษในวัย 26 พรรษา เฟรเดกุนด์ถูกมองว่าเป็นตัวการในการก่ออาชญากรรม แต่บางแหล่งข้อมูลก็บอกว่าเป็นการสมคบคิดของขุนนางออสเตรเชีย บางแหล่งข้อมูลถึงขั้นสงสัยบรุนฮิลดา บรุนฮิลดาเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและอ้างสิทธิ์ในการสำเร็จราชการแผ่นดินอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นการสำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระนัดดาวัยเยาว์ทั้งสอง พระเจ้าธูเดอแบต์ที่ 2 กลายเป็นกษัตริย์แห่งออสเตรเชีย ส่วนพระเจ้าธูเดอริคที่ 2 กลายเป็นกษัตริย์แห่งบูร์กอญ

ปี ค.ศ. 597 เฟรเดกุนด์ คู่แข่งของพระองค์สิ้นพระชนม์จากการล้มป่วยระหว่างกลับมาจากการออกไปทำศึกกับออสเตรเชียที่ได้รับชัยชนะ พระเจ้าโคลธาร์ที่ 2 พระโอรสวัย 13 พรรษาของพระองค์ถูกประกาศชื่อเป็กษัตริย์แห่งนูสเตรีย บรุนฮิลดาพยายามล้มล้างอำนาจของพระเจ้าโคลธาร์ที่ 2 และอ้างสิทธิ์ในอำนาจเหนือราชอาณาจักรแฟรงก์ทั้งหมด แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอ ความพยายามจึงล้มเหลว

ด้วยการยุยงของขุนนางออสเตรเชีย พระเจ้าธูเดอแบต์ที่ 2 พระนัดดาวัย 13 พรรษาของพระองค์ยึดบัลลังก์ไปในปี ค.ศ. 599 และกำจัดพระอัยกีออกจากอำนาจ ขับไล่พระนางออกจากราชสำนักออสเตรเชีย บรุนฮลดาลี้ภัยไปอยู่ในราชสำนักบูร์กอญในนครออร์ลีย็องที่ทรงได้รับการต้อนรับอย่างดีจากพระเจ้าธูเดอริคที่ 3 พระนัดดาอีกคน

บั้นปลายชีวิต

แก้

บรุนฮิดาในวัย 60 พรรษายังคงทำให้ราชอาณาจักรแฟรงก์แย่งชิงอำนาจกัน ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าธูเดอริคที่ 2 กับพระเจ้าธูเดอแบต์ที่ 2 ไม่มั่นคงอย่างมาก แต่สองพี่สองก็ร่วมมือกันเป็นครั้งคราวเพื่อต่อสู้กับคนอื่น

ในสองสมรภูมิ หนึ่งคือในดอร์แมลในปี ค.ศ. 600 และอีกหนึ่งคือในอีท็อมป์ในปี ค.ศ. 604 ทั้งคู่มีชัยเหนือพระเจ้าโคลธาร์ที่ 2 แห่งนูสเตรีย ในสมรภูมิครั้งหลังที่ต่อสู้กันในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 604 พระเจ้าธูเดอริคที่ 2 เกือบจับกุมตัวและปราบพระเจ้าโคลธาร์ที่ 2 ได้อย่างเด็ดขาด แต่ขุนนางออสเตรเชียบีบให้พระองค์ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเพื่อแลกกับอาณาเขต

ความสัมพันธ์ของสองพี่น้องย่ำแย่ลงเรื่อยๆ พระเจ้าธูเดอแบต์ที่ 2 ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของขุนนางออสเตรเชีย ส่วนพระเจ้าธูเดอริคที่ 2 ฟังคำแนะนำของบรุนฮิลดามากกว่าขุนนางบูร์กอญ ความไม่ลงรอยหลักๆ คือความขัดแย้งเรื่องอาณาเขต

พระเจ้าธูเดอริคที่ 2 กับบรุนฮิลดา พระอัยกีเรืองอำนาจในปี ค.ศ. 612 จากการพิชิตอาณาเขตขนาดใหญ่และจัดการโจมตีพระเจ้าธูเดอแบต์ที่ 2 ที่พายแพ้อย่างรวดเร็ว พระองค์ถูกกล้อนผลตามคำสั่งของบรุนฮิลดา ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติในยุคนั้นพระองค์ไม่สามารถเอาบัลลังก์กลับคืนมาได้ อย่างน้อยก็จนกว่าผมของพระองค์จะกลับมา ทรงถูกขังไว้ในอารามร่วมกับพระโอรสและสิ้นพระชนม์ที่นั่นในปีเดียวกัน บรุนฮิลดาที่สั่งให้เปลี่ยนทั้งคู่เป็นพระเพื่อให้พระเจ้าธูเดอริคที่ 2 พระนัดดาคนโปรดเป็นกษัตริย์แห่งออสเตรเชียอย่างไร้การโต้แย้งถูกมองเป็นตัวการในการสิ้นพระชนม์ครั้งนี้ แม้ว่าอาจจะเป็นคำสั่งโดยตรงจากพระเจ้าธูเดอริคที่ 2 เอง

พระเจ้าธูเดอริคที่ 2 ยึดบัลลังก์ออสเตรเชีย แต่ไม่นานก็ป่วยเป็นโรคบิดและสิ้นพระชนม์ในวัย 26 พรรษาในปี ค.ศ. 613 ขณะกำลังเตรียมการโจมตีพระเจ้าโคลธาร์ที่ 2

 
การฆาตกรรมบรุนฮิลดา จาก De Casibus Virorum Illustrium ซึ่งถูกมองว่าเป็นผลงานของเมเตรอ ฟร็องซัวส์, ปารีส, ค.ศ. 1475

บรุนฮิลดาในวัย 70 พรรษาอ้างสิทธิ์ในตำแหน่งกษัตริย์ให้พระเจ้าซิเชอแบต์ที่ 2 พระปนัดดาและประกาศตนเป็นพระมหากษัตริย์ของทั้งสองราชอาณาจักร แต่ขุนนางออสเตรเชียนำโดยเปแป็งแห่งล็องเด็น สมุหราชมณเฑียรแห่งออสเตรเชีย และนักบุญอาร์นูล์ฟ บิชอปแห่งเม็ตซ์ ไม่ยอมรับ และตกลงเป็นพันธมิตรกับพระเจ้าโคลธาร์ที่ 2 แห่งนูสเตรียที่บุกราชอาณาจักรออสเตรเชียตามคำเชื้อเชิญของทั้งคู่ พระนางยังถูกวาร์นาชาร์ สมุหราชมณเฑียรแห่งบูร์กอญ ผู้บัญชาการกองทัพบูร์กอญหักหลังไปเข้าร่วมกับพระเจ้าโคลธาร์ที่ 2 แทนที่จะต่อสู้กับพระองค์

เมื่อเห็นว่าไร้การสนับสนุนจากทหาร บรุนฮิลดาจึงหันไปขอความช่วยเหลือจากชนเผ่าเจอร์มานิกที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำไรน์ แต่การหลบหนีของพระองค์ถูกจับได้และทรงถูกจับกุมตัวในออร์บ ทรงถูกจับพิจารณาคดีในเรอเนฟที่พระองค์ต้องรับผิดชอบในการเสียชีวิตของผู้คนมากมายที่ความจริงแล้วถูกฆาตกรรมตามคำสั่งของเฟรเดกุนด์ พระมารดาของพระเจ้าโคลธาร์ที่ 2 และมีสองคนที่ถูกฆาตกรรมตามคำสั่งของพระเจ้าโคลธาร์ที่ 2 เอง

บรุนฮิลดาสิ้นพระชนม์อย่างทรมานในวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 613 พระองค์ถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน อัฐิของพระองค์ถูกฝากไว้ในโลงหินของอารามแซ็งต์มาร์แต็งในโอเติงที่ทรงก่อตั้งในปี ค.ศ. 602

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Weber, Patrick (2006). Les reines de France (in French) . p. 17-18.