ยอห์นผู้ให้บัพติศมา

ยอห์นผู้ให้บัพติศมา[1] (โปรเตสแตนต์เดิมเรียกว่ายอห์นผู้ให้รับบัพติศมา) ยอห์นผู้ทำพิธีล้าง[2](คาทอลิก) หรือนักบุญยอห์น บัปติสต์[3](คาทอลิก) (อังกฤษ: John the Baptist; John the Baptizer) เป็นนักเทศน์ชาวยิวในคริสศตวรรษที่ 1 ถือว่าเป็นผู้เผยพระวจนะในสี่ศาสนาคือ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาบาไฮ และศาสนามันดาอี ท่านถูกกล่าวถึงในพระวรสาร คัมภีร์อัลกุรอาน และคัมภีร์ของศาสนาบาไฮ นักบุญยอห์นบัปติสต์บางทีก็รู้จักกันในชื่อ “ยอห์นผู้มาก่อน” (John the Forerunner) เพราะถือกันว่านักบุญยอห์นเป็นผู้มาล่วงหน้าก่อนพระเยซู

นักบุญยอห์น
ภาพ John the Baptist Preaching in the Wilderness
ผู้ให้บัพติศมา ผู้เผยพระวจนะ และมรณสักขี
เกิดราว 6–2 ปีก่อน ค.ศ.
เสียชีวิตราว ค.ศ. 30
นิกายศาสนาคริสต์, ศาสนาอิสลาม, ศาสนาบาไฮ, ศาสนามันดาอี, ดรูซ
วันฉลอง24 มิถุนายน (เกิด)
สัญลักษณ์กางเขน ลูกแกะ ศีรษะของนักบุญยอห์นแบปติสต์เอง
องค์อุปถัมภ์แคนาดา ฝรั่งเศส เปอร์โตริโก อัศวินฮอสปิทัลเลอร์ ฟลอเรนซ์ เจนัว และที่อื่น ๆ

ประวัติ

แก้

พระวรสารนักบุญลูกากล่าวว่ายอห์นเป็นบุตรของนักบุญเศคาริยาห์ปุโรหิตและนักบุญเอลีซาเบธจากตระกูลปุโรหิตอาโรน ฉะนั้นยอห์นจึงมีตำแหน่งเป็นปุโรหิตโดยปริยาย ก่อนการกำเนิดของยอห์นผู้ให้บัพติศมา ขณะที่เศคาริยาห์กำลังทำพิธีอยู่ในพระวิหารในกรุงเยรูซาเลม ทูตสวรรค์กาเบรียลได้มาบอกเขาถึงการกำเนิด ชื่อ และงานของยอห์น ทูตสวรรค์องค์นั้นยังไปบอกมารีย์ว่า “ดูซิ ถึงนางเอลีซาเบธญาติของเธอชราแล้ว ก็ยังตั้งครรภ์มีบุตรเป็นชายด้วย บัดนี้ นางนั้นที่คนเขาถือว่าเป็นหญิงหมัน ก็มีครรภ์ได้หกเดือนแล้ว” (ลก 1:7) ลูกาผู้นิพนธ์พระวรสารกล่าวว่ายอห์นเกิดก่อนพระเยซูราว 6 เดือนและความตื่นเต้นที่เศคาริยาห์ได้มีลูกจีงทำให้พูดไม่ออกไปจนยอห์นได้ทำพิธีสุหนัต (ลก 1:64)

เมื่อโตขึ้นยอห์นกลายเป็นผู้เผยพระวจนะ และได้วิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์เฮโรด อันทีพาส จากการที่ทรงรับนางเฮโรเดียส พระชายาของเจ้าชายฟิลิป พระอนุชา มาเป็นมเหสี นางเฮโรเดียสพยาบาทยอห์นมาก จึงขอให้กษัตริย์เฮโรดมาประหาร พระองค์ก็จับยอห์นมาขังไว้แต่ยังไม่กล้าประหาร เพราะทรงทราบว่ายอห์นเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และชอบธรรม และทรงโปรดฟังคำสอนของยอห์นด้วย[4]

ในงานฉลองวันคล้ายวันประสูติของกษัตริย์เฮโรด ธิดาของนางเฮโรเดียส (เชื่อกันว่าคือนางสะโลเม) ได้เต้นรำถวายในงานจนเป็นที่พอพระทัย จนตรัสว่าจะให้ทุกสิ่งที่นางปรารถนาเป็นรางวัล นางไปปรึกษามารดาและได้รับคำแนะนำให้ทูลขอศีรษะของยอห์นใส่ถาดมาถวาย เมื่อพระเจ้าเฮโรดทราบก็เสียพระทัยมาก แต่ออกพระโอษฐ์ไปแล้วและไม่อยากเสียหน้ากับแขกที่มาในงาน จึงรับสั่งให้เพชฌฆาตไปตัดศีรษะยอห์นในคุกแล้วใส่ถาดส่งไปให้ตามที่นางขอ นางก็นำไปให้นางเฮโรเดียสต่อ ศิษย์ของยอห์นทราบว่าท่านถูกประหารแล้วก็มารับศพไปฝังไว้ในอุโมงค์[4]

วันฉลอง

แก้

ปฏิทินโรมันคาทอลิกกำหนด "วันสมโภชนักบุญยอห์นแบปติสต์บังเกิด" ตรงกับวันที่ 24 มิถุนายนซึ่งเป็นเวลา 6 เดือนก่อนวันคริสต์มาสซึ่งสมมติกันว่าเป็นการประสูติของพระเยซู และกำหนดให้วันที่ 29 สิงหาคม เป็น "วันระลึกถึงนักบุญยอห์นแบปติสต์ถูกตัดศีรษะ"

ข้อวิจารณ์

แก้

พระวรสารนักบุญลูการะบุว่าพระเยซูกับยอห์นเป็นญาติกัน โดยกล่าวว่ามารีย์กับเอลีซาเบธเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน (ลก 1:36) แต่ข้อความนี้ไม่มีกล่าวในพระวรสารฉบับอื่น เรมอนด์ อี บราวน์ ผู้เป็นนักวิชาการคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าความเกี่ยวข้องกันนี้ออกจะเป็นที่น่าสงสัย[5] เกซา เวิรมเมส (Geza Vermes) นักวิชาการทางคริสต์ศาสนากล่าวว่า “ไม่เป็นความจริง, และไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าเป็นสิ่งที่ลูกาสร้างขึ้น”[6]

ในศิลปะ

แก้

ในประเทศไทยมีการสร้างรูปประติมากรรมของยอห์นโคลงภาพฤๅษีดัดตนในเขามอ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า "โยฮันปริพาชก" อยู่ในส่วน แก้ขัดแข้ง ขัดขา[7] ดังปรากฏความตอนหนึ่งว่า

๏ ปริพาชกนี้ชื่อ โยฮัน แลแฮ
น้ำพึ่งตั๊กแตนฉัน เช่นเข้า
อยู่ยังฝั่งโยระดัน หนังอูฐ ครองนา
นั่งดัดหัดถ์ถ่างเท้า ขัดแข้งขาหาย ฯ
พระองค์เจ้าทินกร[8]

มีความหมายว่า ปริพาชกโยฮัน ผู้รับประทานน้ำผึ้งตั๊กแตนแทนข้าว จาริกอยู่ ณ ดินแดนแถบแม่น้ำจอร์แดน ดินแดนแห่งอูฐ นั่งถ่างเท้า ถ่างมือ และดีดนิ้วด้วยท่าวิตรรกมุทรา ดัดตนแก้ลมขัดแย้ง ลมขัดขา[9] โดยคำว่าปริพาชกแปลว่า ผู้จาริกไป ผู้ท่องเที่ยวไป แต่คนไทยใช้เรียกนักบวชนอกศาสนาพุทธแทน ส่วนที่นำยอห์นมาแสดงท่าทางดัดตนนี้ เพราะคนไทยในสมัยนั้นถือว่าเป็นการนำบุคคลพิเศษเท่าที่รู้จักมาเรียบเรียงไว้ในจักรวาลวิทยาของไทย[7]

อ้างอิง

แก้
  1. "พระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับมาตรฐาน มัทธิว 3:1". Bible.is. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กรกฎาคม 2012.
  2. "ลก 1:5-25 ทูตสวรรค์แจ้งข่าวการเกิดของยอห์นผู้ทำพิธีล้าง". คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกพระคัมภีร์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 กันยายน 2012.
  3. "ประวัตินักบุญตลอดปี:นักบุญยอห์น แบปติสต์ บังเกิด". Catholic.or.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 ตุลาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2011.
  4. 4.0 4.1 "มาระโก บทที่ 6". พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน. Hosanna. 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 สิงหาคม 2013.
  5. Raymond Edward Brown (1973). The Virginal Conception and Bodily Resurrection of Jesus. Paulist Press. p. 54. ISBN 0-8091-1768-1.
  6. Geza Vermes (2010). The Nativity: History and Legend. Crown Publishing Group. p. 143. ISBN 978-0-307-49918-9.
  7. 7.0 7.1 ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (24 มีนาคม 2021). "ฤๅษีดัดตน : ผู้วิเศษนานาชาติ ในจักรวาลวิทยาที่วัดโพธิ์". On History. มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2023.
  8. จารึกวัดพระเชตุพนตอนโคลงภาพฤๅษีดัดตน โคลงภาพคนต่างภาษา และ โคลงด้านการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน. พระนคร: การพิมพ์พาณิชย์. 1964. p. 81. OCLC 1281277427.
  9. Chalengsak Chuaorrawan. "โคลงบทที่ 84 ดัดตนแก้ขัดแข้ง ขัดขา". โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2023.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้