หอล้างบาป

(เปลี่ยนทางจาก หอศีลจุ่ม)

หอล้างบาป หรือ หอบัพติศมา (อังกฤษ: Baptistery หรือ Baptistry[1]) เป็นคริสต์ศาสนสถาน ที่สร้างเป็นอิสระจากสิ่งก่อสร้างอื่นโดยมีอ่างล้างบาปเป็นศูนย์กลาง หอล้างบาปอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์หรืออาสนวิหารซึ่งมีแท่นบูชาและคูหาสวดมนต์ของตนเอง ในศาสนาคริสต์ยุคแรกหอล้างบาปจะเป็นสถานสำหรับผู้จะเข้ารีตเรียนรู้เรื่องศาสนาก่อนจะรับศีลล้างบาป และเป็นที่ทำพิธีล้างบาป

หอล้างบาปกลมเมืองปีซาตั้งอยู่ข้างตัวมหาวิหาร
หอล้างบาปประจำมหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน
หอล้างบาปที่ฟลอเรนซ์

การสร้างหอล้างบาปอย่างสวยงามเป็นการแสดงถึงความสำคัญของการล้างบาปในศาสนาคริสต์ หอล้างบาปทรงแปดเหลี่ยมของมหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรันเป็นหอล้างบาปแรกที่สร้างเพื่อการพิธีนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นแบบลักษณะตัวอย่างของหอล้างบาปที่สร้างกันต่อมา ซึ่งบางครั้งจะเป็นสิบสองเหลี่ยม หรือกลมอย่างที่ปิซา ในบริเวณโถงทางเข้าโบสถ์คริสต์เป็นบริเวณที่ใช้สำหรับใช้เรียนคำสอนและสารภาพความศรัทธาก่อนที่จะทำการรับศีลล้างบาป โถงกลางจะมีอ่างล้างบาปป็นหลัก ซึ่งจะเป็นที่ที่ผู้รับศีลจะลงไปใต้น้ำสามหน จากอ่างจะเป็นบันไดสามขั้นลงไปในอ่าง ห้อยอยู่เหนืออ่างอาจจะเป็นนกพิลาปทองหรือเงินซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ รูปเคารพที่ทำจากโมเสกบนผนัง หรือจิตรกรรมฝาผนังมักจะเป็นฉากชีวิตของนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา อ่างล้างบาปในระยะแรกมักจะทำด้วยหิน แต่ต่อมาก็มีการทำด้วโลหะบ้าง

แหล่งน้ำของหอล้างบาปของมหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรันมาจากน้ำพุธรรมชาติ ก่อนที่จะมาเป็นมหาวิหารสิ่งก่อสร้างเดิมเป็นวังของครอบครัวพลอติอิ แลเตอร์รัน (Plautii Laterani) ผู้เป็นผู้บริหารของจักรพรรดิโรมัน จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 เป็นผู้ถวายวังนี้ให้กับบิชอปมิลทิอาเดส (Bishop Miltiades) น้ำพุธรรมชาติเป็นแหล่งน้ำของสิ่งก่อสร้างหลายสิ่งก่อสร้างภายในวัง เมื่อมีการเปลี่ยนศาสนาผู้เปลี่ยนก็ต้องรับล้างบาปทำให้แหล่งน้ำกลายเป็นความจำเป็น คาสสิโอโดรัสนักการเมืองและนักเขียนชาวโรมันบรรยายไว้ในปี ค.ศ. 527 ถึงการจัดงานเทศกาลฉลองที่โบสถ์เดิมของผู้นอกศาสนาทางใต้ของอิตาลีที่ยังมีวัฒนธรรมกรีก ที่เปลี่ยนเป็นมาเป็นหอล้างบาปสำหรับโบสถ์คริสต์ (“วาเรีย” 8.33) ในเอกสาร ค.ศ. 1999, ซามูเอล เจ บาร์นิช เก็บถาวร 2006-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ยกตัวอย่างของการเปลี่ยนจากน้ำพุศักดิ์สิทธิ์เป็นหอล้างบาปจากนักบุญเกรกอรีแห่งตูร์ (เสียชีวิตราว ค.ศ. 594) และนักบุญมักซิมุสแห่งตูริน (เสียชีวิตราว ค.ศ. 466)

หอล้างบาปเกิดขึ้นในสมัยที่มีผู้เข้ารีตที่เป็นผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากที่ต้องรับศึลล้างบาปก่อนเป็นคริสต์ศาสนิกชนเต็มตัว และเมื่อกฎบังคับว่าการรับศีลล้างบาปต้องเป็นการดำลงใต้น้ำมิใช่แต่เพียงพรมน้ำอย่างสมัยหลัง หอล้างบาปมาสร้างกันภายหลังสมัยคอนสแตนตินผู้ประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมายของจักรวรรดิโรมัน ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 อ่างล้างบาปจะสร้างภายในบริเวณซุ้มหน้าหรือภายในตัวโบสถ์ หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 9 จำนวนเด็กที่รับล้างบาปเพิ่มมากขึ้น แต่การสร้างหอล้างบาปลดน้อยลง หอล้างบาปเดิมที่สร้างบางหอก็มีขนาดใหญ่จนสามารถใช้เป็นที่ประชุมสังคายนาได้ การสร้างหอล้างบาปใหญ่ในศาสนาคริสต์ยุคแรกก็เพื่อให้บิชอปทำพิธีศึลล้างบาปหมู่ให้กับผู้ต้องการมานับถือคริสต์ศาสนาในมุขมณฑลได้ ฉะนั้นหอล้างบาปจึงมักเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างติดกับมหาวิหารซึ่งเป็นโบสถ์ของบิชอปและไม่สร้างสำหรับโบสถ์ประจำท้องถิ่น นอกจากนั้นการทำพิธีศึลล้างบาปหมู่ก็ทำกันเพียงสามครั้งต่อปี ซึ่งก็หมายความว่าก็จะมีผู้รับศีลและผู้เข้าร่วมพิธีมาก

ในเดือนที่มิได้ทำพิธีศีลล้างบาปประตูหอล้างบาปก็ปิดตายโดยตราของบิชอปเพื่อรักษากฎปฏิบัติอย่างเคร่งครัดของการทำพิธีล้างบาปภายในมุขมณฑล การทำพิธีล้างบาปบางครั้งแบ่งเป็นสองตอน ๆ หนึ่งเป็นพิธีสำหรับผู้ชายและอีกตอนหนึ่งเป็นพิธีสำหรับผู้หญิง บางครั้งหอล้างบาปก็จะแยกเป็นสองหอ ๆ หนึ่งสำหรับผู้ชายและอีกหอหนึ่งสำหรับผู้หญิง บางครั้งก็อาจจะมีเตาผิงเพื่ออุ่นผู้ที่ขึ้นจากน้ำ

แม้ว่าประกาศจากสภาสังคายนาที่อ็อกแซร์ (Council of Auxerre) ในปี ค.ศ. 578 จะระบุห้ามการใช้หอล้างบาปเป็นที่ฝังศพ แต่ก็ยังมีการทำกัน พระสันตะปาปาเท็จจอห์นที่ 23 ถูกฝังไว้ที่หอล้างบาปซันโจวันนีที่ฟลอเรนซ์ (Battistero di San Giovanni (Florence) หน้ามหาวิหารฟลอเรนซ์ เป็นพิธีใหญ่โตเมื่อสร้างอนุสรณ์ อาร์ชบิชอปสมัยแรกๆ ของมุขมณฑลแคนเตอร์บรี ก็ฝังไว้ภายในหอล้างบาปของมหาวิหารแคนเทอร์เบอรี

การเปลื่ยนการรับศีลล้างบาปจากการดำลงไปทั้งตัวมาเป็นการพรมน้ำทำให้ความจำเป็นในการใช้หอล้างบาปทึ่มีอ่างล้างบาปใหญ่เพื่อการนั้นลดน้อยลง ในปัจจุบันก็มีการใช้กันอยู่บ้างเช่นในเมืองฟลอเรนซ์และปีซา

หอล้างบาปของมหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรันเห็นจะเป็นหอล้างบาปที่เก่าที่สุดที่ยังใช้กันอยู่ ตัวสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ยังเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างโดยจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 ตรงกลางหอเป็นอ่างล้างบาปแปดเหลี่ยมล้อมรอบด้วยคอลัมน์หินพอร์ไฟรี (Porphyry) สีม่วงแดง หัวเสาเป็นหินอ่อนและการตกแต่งตอนบนเป็นแบบคลาสสิก (กรีกโรมัน) รอบเป็นจรมุขหรือทางเดินรอบและผนังแปดเหลี่ยม ด้านหนึ่งทางด้านมหาวิหารเป็นซุ้มพอร์ไฟรีที่ตกแต่งอย่างวิจิตร

โบสถ์ซันตากอสตันซาจากคริสต์ศตวรรษที่ 4 ใช้เป็นหอล้างบาปและเป็นที่เก็บศพของคอนสแตนตินาพระราชธิดาของจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 โครงสร้างยังอยู่ในสภาพที่ดีมากโดยมีโดมกลาง, คอลัมน์, และงานโมเสกแบบคลาสสิก ในซุ้มเล็กสองซุ้มเป็นงานโมเสกที่เก่าที่สุดที่เป็นเรื่องคริสต์ศาสนา ภาพหนึ่งเป็นโมเสส รับพระกฎบัตรเดิม และอีกภาพหนึ่งเป็นพระเยซูมอบพันธสัญญาใหม่ที่ประทับด้วยอักษร “XP” ให้นักบุญเปโตร

สิ่งก่อสร้างที่เก่าที่สุดอีกแห่งหนึ่งที่เคยใช้เป็นหอล้างบาปที่มีลักษณะเหมือนที่เก็บศพก็คือหอล้างบาปที่ดูรา-ยูโรพาส (Dura-Europas) [2] เก็บถาวร 2005-05-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน และทึ่ขุดพบที่อควิเลเอีย หรือที่ ซาโลนา (Salona) ราเวนนามีหอล้างบาปที่ภายในตกแต่งด้วยโมเสกอย่างงดงาม หอหนึ่งสร้างในสมัยกลางคริสต์ศตวรรษที่ 5 และอีกหอหนี่งที่ 6 ซึ่งเป็นสมัยเดียวกัยอีกหอหนี่งที่เนเปิลส์

ทางตะวันออกหอล้างบาปที่อิสตันบูลยังอยู่ติดด้านข้างของสุเหร่าซึ่งเดิมเป็นมหาวิหารเซนต์โซเฟีย หอล้างบาปที่พบที่อื่นก็มีซีเรีย, ฝรั่งเศส และ อังกฤษ

อ้างอิง แก้

  1. Catholic Encyclopedia. Baptistery. [1]

ดูเพิ่ม แก้

สมุดภาพ แก้