อดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (เยอรมัน: Adolf Hitler [ˈadɔlf ˈhɪtlɐ] ( ฟังเสียง); 20 เมษายน ค.ศ. 1889 – 30 เมษายน ค.ศ. 1945) เป็นนักการเมืองชาวเยอรมันเชื้อชาติออสเตรีย หัวหน้าพรรคนาซี ฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระหว่าง ค.ศ. 1933–1945 และเป็นฟือเรอร์ของเยอรมนี ตั้งแต่ ค.ศ. 1934–1945 ฮิตเลอร์เป็นผู้นำสูงสุดของไรช์เยอรมัน ผู้จุดชนวนสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป โดยเป็นที่ทราบกันดีในประวัติศาสตร์ว่าหนึ่งในนโยบายทางการเมืองของเขาที่มีต่อเยอรมนีได้นำไปสู่การทำลายล้างปฏิปักษ์ทางการเมืองของลัทธิชาติสังคมนิยมเยอรมันและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฮอโลคอสต์ทั่วทั้งทวีปยุโรป
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ | |
---|---|
Adolf Hitler | |
ภาพถ่ายทางการ ค.ศ. 1938 | |
ฟือเรอร์แห่งเยอรมนี | |
ดำรงตำแหน่ง 2 สิงหาคม ค.ศ. 1934 – 30 เมษายน ค.ศ. 1945 | |
ก่อนหน้า | เพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค (ประธานาธิบดี) |
ถัดไป | คาร์ล เดอนิทซ์ (ประธานาธิบดี) |
นายกรัฐมนตรีเยอรมนี | |
ดำรงตำแหน่ง 30 มกราคม ค.ศ. 1933 – 30 เมษายน ค.ศ. 1945 | |
ประธานาธิบดี | เพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค |
รอง | ฟรันทซ์ ฟ็อน พาเพิน ตำแหน่งว่าง |
ก่อนหน้า | ควร์ท ฟ็อน ชไลเชอร์ |
ถัดไป | โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 20 เมษายน ค.ศ. 1889 เบราเนาอัมอิน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี |
เสียชีวิต | 30 เมษายน ค.ศ. 1945 เบอร์ลิน นาซีเยอรมนี | (56 ปี)
สาเหตุการเสียชีวิต | ยิงตัวตายด้วยอาวุธปืน |
สัญชาติ |
|
พรรคการเมือง | พรรคนาซี (ตั้งแต่ 1920) |
การเข้าร่วม พรรคการเมืองอื่น | พรรคกรรมกรเยอรมัน (1919–1920) |
คู่สมรส | เอฟา เบราน์ (สมรส 1945; เสียชีวิต 1945) |
บุพการี | |
รัฐบาล | คณะรัฐมนตรีฮิตเลอร์ |
รางวัล | |
ลายมือชื่อ | |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | |
สังกัด | |
ประจำการ | 1914–1920 |
ยศ |
|
ผ่านศึก | |
ฮิตเลอร์เป็นทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่หนึ่งผู้ได้รับเหรียญกางเขนเหล็ก ต่อมา ฮิตเลอร์ได้เข้าร่วมพรรคกรรมกรเยอรมันใน ค.ศ. 1919 ซึ่งเป็นพรรคการเมืองก่อนหน้าพรรคนาซี ก่อนจะได้เป็นหัวหน้าพรรคนาซีใน ค.ศ. 1921 เขาพยายามก่อรัฐประหารซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ กบฏโรงเบียร์ ในเมืองมิวนิก เมื่อวันที่ 8–9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1923 แต่ล้มเหลว ฮิตเลอร์ถูกจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งในระหว่างนั้นเองที่เขาเขียนบันทึกความทรงจำ ไมน์คัมพฟ์ ("การต่อสู้ของข้าพเจ้า") หลังได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1924 เขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนโดยการโจมตีสนธิสัญญาแวร์ซาย และการเสนออุดมการณ์รวมกลุ่มเยอรมัน การต่อต้านยิว และการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ด้วยวาทศิลป์อันมีเสน่ห์ดึงดูดและการโฆษณาชวนเชื่อนาซี หลังได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 เขาเปลี่ยนสาธารณรัฐไวมาร์เป็นไรช์ที่สาม รัฐเผด็จการพรรคการเมืองเดียว ภายใต้อุดมการณ์นาซีอันมีลักษณะเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จและอัตตาธิปไตย เป้าหมายของเขาคือ ระเบียบโลกใหม่ ที่ให้นาซีเยอรมนีครอบงำยุโรปภาคพื้นทวีปอย่างสมบูรณ์
นโยบายต่างประเทศและในประเทศของฮิตเลอร์มีความมุ่งหมายเพื่อยึดเลเบินส์เราม์ ("พื้นที่อยู่อาศัย") เป็นของชาวเยอรมัน เขานำการสร้างเสริมกำลังอาวุธขึ้นใหม่และการบุกครองโปแลนด์ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 อันนำไปสู่การปะทุของสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป[1] ภายในสามปีใต้การนำของฮิตเลอร์ กองทัพเยอรมันและพันธมิตรในยุโรปยึดครองดินแดนยุโรปและแอฟริกาเหนือส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ค่อยพลิกผันหลัง ค.ศ. 1941 กระทั่งกองทัพสัมพันธมิตรเอาชนะกองทัพเยอรมันใน ค.ศ. 1945 นโยบายความสูงสุดและที่กระตุ้นด้วยการถือชาติพันธุ์ของฮิตเลอร์ลงเอยด้วยการฆาตกรรมผู้คนนับ 17 ล้านคนอย่างเป็นระบบ[2] ในจำนวนนี้เป็นชาวยิวเกือบหกล้านคน
ปลายสงคราม ระหว่างยุทธการเบอร์ลินใน ค.ศ. 1945 ฮิตเลอร์แต่งงานกับเอฟา เบราน์ ทั้งสองทำอัตวินิบาตกรรมเมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกกองทัพแดงของโซเวียตจับตัว และสั่งให้เผาร่างของตน[3]
บรรพบุรุษ
แก้อาล็อยส์ ฮิตเลอร์ บิดาของฮิตเลอร์ เป็นบุตรนอกกฎหมายของมารีอา อันนา ชิคเคิลกรูเบอร์ (Maria Anna Schicklgruber)[4] ดังนั้นชื่อบิดาจึงไม่ปรากฏในสูติบัตรของอาล็อยส์ เขาใช้นามสกุลของมารดา ใน ค.ศ. 1842 โยฮัน เกออร์ค ฮีดเลอร์ (Johann Georg Hiedler) สมรสกับมารีอา อันนา หลังมารีอา อันนา เสียชีวิตใน ค.ศ. 1847 และโยฮันเสียชีวิตใน ค.ศ. 1856 อาล็อยส์ได้รับการเลี้ยงดูโดยครอบครัวของโยฮัน เนโพมุค ฮีดเลอร์ พี่ชายของฮีดเลอร์ กระทั่ง ค.ศ. 1876 อาล็อยส์จึงได้มาเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และทะเบียนพิธีศีลจุ่มถูกนักบวชเปลี่ยนต่อหน้าพยานสามคน[5]
ระหว่างรอการพิจารณาที่เนือร์นแบร์คใน ค.ศ. 1945 ข้ารัฐการนาซี ฮันส์ ฟรังค์ เสนอการมีอยู่ของจดหมายที่อ้างว่า มารดาของอาล็อยส์ได้รับการว่าจ้างเป็นแม่บ้านแก่ครอบครัวยิวในกราซ และว่า บุตรชายวัย 19 ปีของครอบครัวนั้น เลโอพ็อลท์ ฟรังเคินแบร์เกอร์ (Leopold Frankenberger) เป็นบิดาของอาล็อยส์[6] อย่างไรก็ดี ไม่มีครอบครัวฟรังเคินแบร์เกอร์หรือชาวยิวปรากฏในทะเบียนในกราซช่วงนั้น นักประวัติศาสตร์สงสัยการอ้างที่ว่า บิดาของอาล็อยส์เป็นยิว[7][8]
เมื่อมีอายุได้ 39 ปี อาล็อยส์เปลี่ยนไปใช้นามสกุล "ฮิตเลอร์" ซึ่งสามารถยังสะกดได้เป็น ฮีดเลอร์ (Hiedler), ฮึทเลอร์ (Hüttler, Huettler) ชื่อนี้อาจถูกใช้ตามระเบียบโดยเสมียนธุรการ ที่มาของชื่อดังกล่าวอาจหมายถึง "ผู้อาศัยอยู่ในกระท่อม" (Hütte; "กระท่อม"), "คนเลี้ยงแกะ" (hüten; "เฝ้า") หรือมาจากคำภาษาสลาฟ ฮิดลาร์ และฮิดลาเร็ค[9]
ชีวิตช่วงต้น
แก้วัยเด็ก
แก้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์เกิดวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1889 ที่กัสท์โฮฟซุมพ็อมเมอร์ (Gasthof zum Pommer) โรงแรมแห่งหนึ่งในรันส์โฮเฟิน (Ranshofen)[10] หมู่บ้านซึ่งถูกรวมเข้ากับเทศบาลเบราเนาอัมอิน (Braunau am Inn) จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ใน ค.ศ. 1938 เขาเป็นบุตรคนที่สี่จากทั้งหมดหกคนของอาล็อยส์ ฮิตเลอร์ และคลารา เพิลท์เซิล พี่ทั้งสามคนของฮิตเลอร์ (กุสทัฟ อีดา และอ็อทโท) เสียชีวิตตั้งแต่เป็นทารก[11] เมื่อฮิตเลอร์อายุได้สามขวบ ครอบครัวของเขาย้ายไปพัสเซา เยอรมนี[12] ที่ซึ่งทำให้ฮิตเลอร์มีสำเนียงท้องถิ่นแบบบาวาเรียล่างมากกว่าสำเนียงเยอรมันออสเตรีย และเป็นสำเนียงที่ฮิตเลอร์ใช้ตลอดชีวิต[13][14][15] ใน ค.ศ. 1894 ครอบครัวได้ย้ายอีกหนหนึ่งไปยังเลอ็อนดิง ใกล้กับลินทซ์ และต่อมา เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1895 อาล็อยส์ได้เกษียณไปยังที่ดินเล็ก ๆ ที่ฮาเฟ็ลท์ ใกล้ลัมบัค ที่ซึ่งเขาพยายามประกอบอาชีพกสิกรรมและเลี้ยงผึ้งด้วยตนเอง ฮิตเลอร์เข้าศึกษาที่โรงเรียนที่ฟิชเชิลฮัม (Fischlham) ในละแวกใกล้เคียง ขณะที่ยังเป็นเด็ก ฮิตเลอร์ได้เริ่มติดการสงครามหลังพบหนังสือภาพเกี่ยวกับสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียท่ามกลางบรรดาสมบัติส่วนตัวของบิดา[16][17]
การย้ายไปยังฮาเฟ็ลท์เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการเริ่มต้นความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพ่อลูก ซึ่งเกิดจากที่ฮิตเลอร์ปฏิเสธไม่เชื่อฟังกฎระเบียบอันเข้มงวดของโรงเรียนเขา[18] ความพยายามทำกสิกรรมที่ฮาเฟ็ลท์ของอาล็อยส์สิ้นสุดลงด้วยความล้มเหลว และใน ค.ศ. 1897 ครอบครัวฮิตเลอร์ย้ายไปลัมบัค ฮิตเลอร์เข้าศึกษาที่โรงเรียนคาทอลิกแห่งหนึ่งในระเบียงฉันนบถเบเนดิกติน (Benedictine) คริสต์ศตวรรษที่ 11 ซึ่งที่บนธรรมาสน์นั้นมีสัญลักษณ์สวัสติกะที่ถูกปรับให้เข้ากับแบบบนตราอาร์มของเทโอโดริช ฟ็อน ฮาเกิน อดีตอธิการวัด[19] ฮิตเลอร์วัยแปดขวบเข้าเรียนร้องเพลง ร่วมอยู่ในวงประสานเสียงของโบสถ์ และกระทั่ง วาดฝันว่าตนจะเป็นนักบวช[20] ใน ค.ศ. 1898 ครอบครัวฮิตเลอร์กลับไปอาศัย ณ เลอ็อนดิงอย่างถาวร การเสียชีวิตของเอ็ทมุนท์ (น้องชาย) จากโรคหัด เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1900 กระทบต่อฮิตเลอร์อย่างลึกซึ้ง จากที่เคยเป็นเด็กที่มั่นใจ เข้าสังคม และเป็นนักเรียนที่ยอดเยี่ยม ฮิตเลอร์เป็นเด็กอารมณ์ขุ่นมัว เฉยชา และบึ้งตึงที่มีปัญหากับบิดาและครูอย่างต่อเนื่อง[21]
อาล็อยส์ประสบความสำเร็จในอาชีพในสำนักงานศุลกากร และต้องการให้ลูกชายเจริญตามรอยเขา[22] ภายหลัง ฮิตเลอร์เล่าถึงช่วงนี้เกินความจริงเมื่อบิดาพาเขาไปชมที่ทำการศุลกากร โดยบรรยายว่า มันเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การต่อต้านอย่างไม่อาจให้อภัยระหว่างพ่อลูกที่ต่างมีความตั้งใจแรงกล้าทั้งคู่[23][24][25] โดยไม่สนใจความต้องการของบุตรที่อยากเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมคลาสสิกและจบมาเป็นศิลปิน ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1900 อาล็อยส์ส่งฮิตเลอร์ไปยังเรอัลชูเลอ (Realschule) ในลินทซ์[26] ฮิตเลอร์ขัดขืนต่อการตัดสินใจนี้ และใน ไมน์คัมพฟ์ ได้เปิดเผยว่า เขาตั้งใจเรียนไม่ดีในโรงเรียน ด้วยหวังว่าเมื่อบิดาเห็นว่า "ข้าพเจ้ามีความคืบหน้าน้อยเพียงใดที่โรงเรียนอาชีวะ เขาจะได้ปล่อยให้ข้าพเจ้าอุทิศตนแก่ความใฝ่ฝันของข้าพเจ้าเอง"[27]
ฮิตเลอร์เริ่มหลงใหลในลัทธิชาตินิยมเยอรมันตั้งแต่เยาว์วัย[28] ฮิตเลอร์แสดงความภักดีต่อเยอรมนีเท่านั้น โดยเหยียดหยามราชวงศ์ฮาพส์บวร์คที่กำลังเสื่อมลงรวมถึงการปกครองของราชวงศ์เหนือจักรวรรดิที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ[29][30] ฮิตเลอร์และเพื่อนของเขาใช้คำทักทายภาษาเยอรมัน "ไฮล์" และร้องเพลงชาติเยอรมัน "เยอรมันเหนือทุกสรรพสิ่ง" แทนเพลงชาติจักรวรรดิออสเตรีย[31]
หลังการเสียชีวิตกะทันหันของอาล็อยส์เมื่อวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1903 พฤติกรรมของฮิตเลอร์ที่โรงเรียนอาชีวะยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นไปอีก มารดาเขาอนุญาตให้เขาลาออกในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1905 เขาลงเรียนที่เรอัลชูเลอในชไตเออร์ (Steyr) ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1904 พฤติกรรมและผลการเรียนของเขาแสดงถึงพัฒนาการเล็กน้อยและต่อเนื่องอยู่บ้าง[32] ในฤดูไบ้ไม้ร่วง ค.ศ. 1905 หลังผ่านข้อสอบปลายภาค ฮิตเลอร์ก็ได้ออกจากโรงเรียนโดยไม่แสดงความทะเยอทะยานใด ๆ ต่อการศึกษาต่อ หรือแผนการที่ชัดเจนสำหรับอาชีพในอนาคต[33]
วัยผู้ใหญ่ช่วงต้นในเวียนนาและมิวนิก
แก้นับจาก ค.ศ. 1907 ฮิตเลอร์ออกจากลินทซ์เพื่อจะไปอาศัยและศึกษาในเวียนนาด้วยเงินสงเคราะห์เด็กกำพร้าและการสนับสนุนจากมารดา เขาทำงานเป็นกรรมกรชั่วคราว และท้ายสุด เป็นจิตรกรขายภาพวาดสีน้ำ สถาบันวิจิตรศิลป์เวียนนาปฏิเสธเขาสองครั้ง ใน ค.ศ. 1907 และ 1908 เพราะ "ความไม่เหมาะสมที่จะวาดภาพ" ของเขา ผู้อำนวยการแนะนำให้ฮิตเลอร์เรียนสถาปัตยกรรม[34] แต่เขาขาดเอกสารแสดงวิทยฐานะเพราะยังไม่เคยจบชั้นมัธยมศึกษา[35] วันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1907 มารดาของเขาเสียชีวิตในวัย 47 ปี หลังสถาบันฯ ปฏิเสธเป็นครั้งที่สอง ใน ค.ศ. 1909 ฮิตเลอร์ก็หมดเงินและจำเป็นต้องใช้ชีวิตแบบโบฮีเมียโดยอาศัยอยู่ในที่พักคนไร้ที่บ้าน และใน ค.ศ. 1910 เขาย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านพักชายรับจ้างยากจนบนถนนเม็ลเดอมัน[36] ขณะที่ฮิตเลอร์อยู่ที่นั่น เวียนนาเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อคติทางศาสนาและคตินิยมเชื้อชาติแบบคริสต์ศตวรรษที่ 19[37] ความกลัวว่าจะถูกผู้อพยพจากตะวันออกล่วงล้ำแพร่ขยาย และนายกเทศมนตรีประชานิยม คาร์ล ลือเกอร์ (Karl Lueger) ใช้วาทศิลป์เกลียดชังยิวรุนแรงเพื่อประโยชน์ทางการเมือง คติเกลียดชังยิวรวมเยอรมันของเกออร์ก เชอเนเรอร์ (Georg Schönerer) มีผู้สนับสนุนอย่างแข็งแกร่งและฐานในย่านมาเรียฮิลฟ์ ที่ฮิตเลอร์อาศัยอยู่[38] ฮิตเลอร์อ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่าง ดอยท์เชส โฟลค์สบลัทท์ (Deutsches Volksblatt) ที่กระพืออคติและเล่นกับความกลัวของคริสเตียนว่าจะต้องแบกภาระจากการไหล่บ่าเข้ามาของยิวตะวันออก[39] ความเป็นปรปักษ์ต่อสิ่งที่ฮิตเลอร์เห็นว่าเป็น "โรคกลัวเยอรมัน" ของคาทอลิก เขาจึงเริ่มยกย่องมาร์ติน ลูเธอร์[40]
จุดกำเนิดและการพัฒนาคติเกลียดชังยิวของฮิตเลอร์นั้นยังคงเป็นประเด็นถกเถียง[41] ฮิตเลอร์เขียนใน ไมน์คัมพฟ์ ว่า เขาเกลียดชังยิวครั้งแรกในเวียนนา[42] ไรน์โฮลด์ ฮานิช(Reinhold Hanisch) หุ้นส่วนที่มีส่วนช่วยเหลือในการขายภาพวาดของฮิตเลอร์ ได้โต้แย้งว่า ฮิตเลอร์ยังคงติดต่อกับชาวยิวในขณะที่อยู่ในเวียนนา[43][44][45] เพื่อนสนิทของฮิตเลอร์ เอากุสท์ คูบีเซค (August Kubizek) อ้างว่า ฮิตเลอร์เป็น "ผู้เกลียดชังยิวที่ยืนยันแล้ว" ตั้งแต่ก่อนเขาออกจากลินทซ์[46] บันทึกของคูบีเซคถูกนักประวัติศาสตร์ บรีกิทเทอ ฮามัน (Brigitte Hamann) เขียนโต้แย้ง เขาเขียนว่า "ในบรรดาพยานคนแรก ๆ ทั้งหมดที่สามารถเชื่อถือได้อย่างจริงจัง มีคูบีเซคคนเดียวที่บรรยายฮิตเลอร์วัยหนุ่มว่าเกลียดชังยิว และชัดเจนในประเด็นนี้ว่า เขาเชื่อถือไม่ค่อยได้"[47] แหล่งข้อมูลหลายแหล่งให้หลักฐานหนักแน่นว่าฮิตเลอร์มีเพื่อนยิวในหอพักของเขาและในที่อื่นในเวียนนา[48][49] ฮามันยังสังเกตว่า ฮิตเลอร์ไม่มีบันทึกความเห็นเกลียดชังยิวระหว่างช่วงนี้[50] นักประวัติศาสตร์ เอียน เคอร์ชอว์ (Ian Kershaw) เสนอว่า หากฮิตเลอร์ได้ออกความเห็นเช่นนั้นจริง ความเห็นเหล่านั้นก็อาจไม่เป็นที่สังเกต เพราะคติเกลียดชังยิวที่มีอยู่ทั่วไปในเวียนนาขณะนั้น[51] นักประวัติศาสตร์ ริชาร์ด เจ. อีแวนส์ ว่า "ปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์ส่วนมากเห็นว่า คติเกลียดชังยิวอย่างแรงกล้าและฉาวโฉ่ของเขาเกิดขึ้นหลังจากความพ่ายแพ้ของเยอรมนี [ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง] อันเป็นผลของคำอธิบายมหันตภัยว่าเป็นเพราะ 'การแทงข้างหลัง' ประเภทหวาดระแวง"[52]
ฮิตเลอร์ได้รับมรดกส่วนสุดท้ายจากทรัพย์สินของบิดาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1913 และย้ายไปมิวนิก[53] นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าฮิตเลอร์ย้ายออกจากเวียนนาเพื่อหลบเลี่ยงการเกณฑ์เข้าสู่กองทัพออสเตรีย-ฮังการี[54] ภายหลัง ฮิตเลอร์อ้างว่า เขาไม่ประสงค์จะรับใช้ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คเพราะการผสมผสาน "เชื้อชาติ" ในกองทัพ[53] หลังเขาถูกเห็นว่าไม่เหมาะสมกับราชการทหาร เพราะไม่ผ่านการตรวจร่างกายในซัลทซ์บวร์คเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1914 เขากลับไปยังมิวนิก[55]
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
แก้เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุ ฮิตเลอร์สมัครเข้ารับราชการในกองทัพเยอรมัน เขาได้รับการตอบรับในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 ซึ่งมีแนวโน้มว่าเป็นผลมาจากความปล่อยปละละเลยทางธุรการ เพราะเขายังเป็นพลเมืองออสเตรีย[56] เขาถูกจัดไปยังกรมทหารราบกองหนุนบาวาเรีย 16 (กองร้อยที่ 1 แห่งกรมลิสท์)[57][56] เขาปฏิบัติหน้าที่เป็นพลนำสารส่งแนวรบด้านตะวันตกในฝรั่งเศสและเบลเยียม[58] ใช้เวลาเกือบครึ่งหนึ่งอยู่หลังแนวหน้า[59][60] เขาเข้าร่วมในยุทธการอีเปอร์ครั้งที่หนึ่ง, ยุทธการที่แม่น้ำซอม ยุทธการที่อารัส และยุทธการพัสเชนแดเลอ และได้รับบาดเจ็บที่แม่น้ำซอม[61]
ฮิตเลอร์ได้รับเชิดชูเกียรติสำหรับความกล้าหาญ ได้รับกางเขนเหล็กชั้นที่สอง ใน ค.ศ. 1914[61] และโดยการแนะนำของ ฮูโก้ กัทมันนท์ เขาได้รับกางเขนเหล็กชั้นที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1918[62] อิสริยาภรณ์ซึ่งน้อยครั้งนักจะมอบให้แก่ทหารชั้นผู้น้อยเช่นพลทหารอย่างเขา ตำแหน่งของฮิตเลอร์ที่กองบัญชาการกรม ทำให้เขามีปฏิสัมพันธ์บ่อยครั้งกับนายทหารอาวุโส อาจช่วยให้เขาได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์นี้[63] แม้พฤติการณ์ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลอาจเป็นความกล้าหาญ แต่ก็อาจไม่ใช่เรื่องพิเศษมากมายนัก[64] เขายังได้รับเครื่องหมายบาดเจ็บสีดำ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1918[65]
ระหว่างรับราชการที่กองบัญชาการ ฮิตเลอร์ยังสร้างสรรค์งานศิลปะของตนต่อไป โดยวาดการ์ตูนและคำชี้แจงแก่หนังสือพิมพ์กองทัพ ระหว่างยุทธการแม่น้ำซอม ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1916 เขาได้รับบาดเจ็บที่บริเวณขาหนีบ[66] หรือต้นขาซ้ายเมื่อกระสุนปืนใหญ่ระเบิดในหลุมของพลนำสารระหว่างยุทธการแม่น้ำซอม[67] ฮิตเลอร์ใช้เวลาเกือบสองเดือนในโรงพยาบาลกาชาดที่บีลิทซ์ เขากลับมายังกรมของเขาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1917[68] วันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1918 ฮิตเลอร์ตาบอดชั่วคราวจากการโจมตีด้วยแก๊สมัสตาร์ด และรับการรักษาในโรงพยาบาลในพาเซวัลค์[69] ขณะรักษาตัวอยู่ ฮิตเลอร์ทราบข่าวการพ่ายแพ้ของเยอรมนี[70] และ จากบันทึกของเขา เมื่อทราบข่าว เขาก็ตาบอดอีกเป็นครั้งที่สอง[71]
ฮิตเลอร์รู้สึกขมขื่นต่อการพังทลายของความพยายามทำสงคราม และการพัฒนาอุดมการณ์เริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่างมั่นคง[72] เขาอธิบายสงครามว่าเป็น "ประสบการณ์ยิ่งใหญ่ที่สุดเหนืออื่นใด" และได้รับการยกย่องจากนายทหารผู้บังคับบัญชาสำหรับความกล้าหาญของเขา[73] ประสบการณ์นี้ส่งผลให้ฮิตเลอร์เป็นผู้รักชาติเยอรมันอย่างหลงใหล และรู้สึกช็อกเมื่อเยอรมนียอมจำนนในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918[74] เช่นเดียวกับพวกชาตินิยมเยอรมันอื่นทั้งหลาย เขาเชื่อในตำนานแทงข้างหลัง ซึ่งอ้างว่ากองทัพเยอรมัน "ไม่แพ้ในสมรภูมิ" ได้ถูก "แทงข้างหลัง" โดยผู้นำพลเรือนและพวกมากซิสต์จากแนวหลัง นักการเมืองเหล่านี้ภายหลังถูกขนานนามว่า "อาชญากรพฤศจิกายน"[75]
สนธิสัญญาแวร์ซายกำหนดให้เยอรมนีต้องสละดินแดนหลายแห่งและให้ไรน์ลันท์ปลอดทหาร สนธิสัญญากำหนดการลงโทษทางเศรษฐกิจและเรียกเก็บค่าปฏิกรรมสงครามจากประเทศ ชาวเยอรมันจำนวนมากเข้าใจว่าสนธิสัญญานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 231 ซึ่งประกาศให้เยอรมนีรับผิดชอบต่อสงคราม เป็นความอัปยศอดสู[76] สภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในเยอรมนีได้รับผลกระทบจากสงครามและสนธิสัญญาแวร์ซายภายหลังถูกฮิตเลอร์ใช้แสวงประโยชน์ทางการเมือง[77]
เข้าสู่การเมือง
แก้สมาชิกพรรคกรรมกร
แก้หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติ ฮิตเลอร์กลับมายังมิวนิก[78] เพราะไม่มีแผนหรือโอกาสการศึกษาและอาชีพอย่างเป็นทางการ เขาจึงพยายามอยู่ในกองทัพให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้[79] เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1919 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นแวร์บินดุงสมันน์ (เจ้าหน้าที่การข่าว) แห่งเอาฟ์แคลรุงส์คอมมันโด (คอมมานโดลาดตระเวน) ของไรชส์แวร์ เพื่อมีอำนาจบังคับทหารอื่นและเพื่อแทรกซึมพรรคกรรมกรเยอรมัน (DAP) ระหว่างที่เขาเฝ้าติดตามกิจกรรมของพรรค DAP ฮิตเลอร์ถูกดึงดูดโดยแนวคิดต่อต้านยิว ชาตินิยม ต่อต้านทุนนิยม และต่อต้านมากซิสต์ของอันโทน เดร็คส์เลอร์ ผู้ก่อตั้งพรรค[80] เดร็คส์เลอร์สนับสนุนรัฐบาลที่มีศักยะแข็งขัน สังคมนิยมรุ่นที่ "ไม่ใช่ยิว" และความสามัคคีท่ามกลางสมาชิกทั้งหมดของสังคม ด้วยความประทับใจกับทักษะวาทศิลป์ของฮิตเลอร์ เดร็คส์เลอร์จึงเชิญเขาเข้าร่วมพรรคกรรมกรฯ ฮิตเลอร์ยอมรับเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1919[81] เป็นสมาชิกพรรคคนที่ 55[82]
ที่พรรคกรรมกรฯ ฮิตเลอร์พบดีทริช เอคคาร์ท หนึ่งในสมาชิกคนแรก ๆ ของพรรคและสมาชิกของลัทธิทูเลอโซไซตี (Thule Society)[83] เอคคาร์ทได้กลายมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ฮิตเลอร์ แลกเปลี่ยนความคิดกับเขา และแนะนำเขาให้รู้จักกับบุคคลในสังคมมิวนิกอย่างกว้างขวาง[84] เพื่อเพิ่มความน่าดึงดูดแก่พรรค ทางพรรคได้เปลี่ยนชื่อเป็น "นาซิโยนอัลโซซีอัลลิสทีเชอ ดอยท์เชอ อาร์ไบแทร์พาร์ไท" หรือ พรรคสังคมนิยมกรรมกรแห่งชาติเยอรมัน (ย่อเป็น NSDAP)[85] ฮิตเลอร์ออกแบบธงของพรรคเป็นสวัสติกะในวงกลมสีขาวบนพื้นหลังสีแดง[86]
หลังถูกปลดประจำการในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1920 ฮิตเลอร์เริ่มทำงานกับพรรคเต็มเวลา ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921 ฮิตเลอร์ ซึ่งสามารถปราศรัยต่อผู้ฟังจำนวนมากได้เป็นผลดีแล้ว ปราศรัยแก่ฝูงชนมากกว่าหกพันคนในมิวนิก[87] ในการประกาศเผยแพร่การชุมนุมดังกล่าว ผู้สนับสนุนพรรคสองคันรถบรรทุกขับไปรอบเมืองและโบกธงสวัสติกะและโยนใบปลิว ไม่นานฮิตเลอร์ก็มีชื่อเสียงในทางไม่ดีจากความเอะอะโวยวายและการปราศรัยโจมตีสนธิสัญญาแวร์ซาย นักการเมืองคู่แข่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกมากซิสต์และยิว[88] ขณะนั้นพรรคนาซีมีศูนย์กลางอยู่ในมิวนิก แหล่งเพาะหลักของลัทธิชาตินิยมเยอรมันต่อต้านรัฐบาลซึ่งตั้งใจบดขยี้ลัทธิมากซ์และบ่อนทำลายสาธารณรัฐไวมาร์[89]
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1921 ระหว่างที่ฮิตเลอร์และเอคคาร์ทกำลังอยู่ระหว่างการเดินทางไประดมทุนยังเบอร์ลิน ได้เกิดการจลาจลขึ้นภายในพรรคกรรมกรฯ ในมิวนิก สมาชิกคณะกรรมการบริหารพรรคกรรมกรฯ ซึ่งบางคนมองว่าฮิตเลอร์ยโสเกินไป ต้องการผนวกรวมกับพรรคสังคมนิยมเยอรมัน (DSP) คู่แข่ง[90] ฮิตเลอร์เดินทางกลับมิวนิกเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1921 และยื่นใบลาออกจากพรรคด้วยความโกรธ สมาชิกกรรมการตระหนักว่าการลาออกของเขาจะหมายถึงจุดจบของพรรค[91] ฮิตเลอร์ประกาศจะกลับเข้าพรรคอีกครั้งเมื่อเขาเป็นหัวหน้าพรรคแทนเดร็คส์เลอร์ และที่ทำการพรรคจะยังอยู่ในมิวนิกต่อไป[92] คณะกรรมการตกลง เขาเข้าร่วมพรรคอีกครั้งเป็นสมาชิกคนที่ 3,680 เขายังเผชิญกับการคัดค้านภายในพรรคบ้าง แฮร์มันน์ เอสแซร์และพันธมิตรของเขาพิมพ์แผ่นพับ 3,000 แผ่นโจมตีฮิตเลอร์ว่าเป็นผู้ทรยศพรรค[92] ไม่กี่วันให้หลัง ฮิตเลอร์กล่าวแก้ต่างและได้รับเสียงปรบมือดังสนั่น ยุทธศาสตร์ของเขาพิสูจน์แล้วว่าประสบผล ที่การประชุมใหญ่สมาชิกพรรคกรรมกรฯ เขาได้รับอำนาจเต็มในฐานะหัวหน้าพรรค โดยได้รับเสียงคัดค้านเพียงเสียงเดียว[93] ฮิตเลอร์ยังได้รับการชดใช้จากคดีหมิ่นประมาทกับหนังสือพิมพ์สังคมนิยม มึนเชแนร์ โพสต์ ซึ่งตั้งคำถามถึงวิถีชีวิตและรายได้ของเขา[94]
สุนทรพจน์โรงเบียร์ที่เผ็ดร้อนของฮิตเลอร์เริ่มดึงดูดผู้ฟังขาประจำ เขาเริ่มช่ำชองในการใช้แก่นประชานิยมต่อผู้ฟังของเขา รวมทั้งการใช้แพะรับบาปผู้ซึ่งสามารถใช้กล่าวโทษแก่ความยากลำบากทางเศรษฐกิจของผู้ฟังเขา[95][96][97] นักประวัติศาสตร์ได้สังเกตปรากฏการณ์สะกดจิตของวาทศิลป์ที่เขาใช้ต่อผู้ฟังกลุ่มใหญ่ และของตาเขาในกลุ่มเล็ก เคสเซลเขียนว่า "อย่างล้นหลาม ... ชาวเยอรมันเอ่ยกับการร่ายมนต์ของความดึงดูดใจ 'สะกดจิต' ของฮิตเลอร์ คำนี้ปรากฏขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฮิตเลอร์กล่าวกันว่าได้สะกดจิตประเทศชาติ ยึดพวกเขาอยู่ในภวังค์ที่ถอนตัวไม่ขึ้น"[98] นักประวัติศาสตร์ ฮิวจ์ เทรเวอร์-โรเปอร์ อธิบาย "ความมีเสน่ห์ของดวงตาคู่นั้น ซึ่งสะกดชายที่ดูสุขุมมานักต่อนัก"[99] เขาใช้อำนาจดึงดูดส่วนตัวของเขาและความเข้าใจในจิตวิทยาฝูงชนเป็นประโยชน์แก่เขา ระหว่างพูดในที่สาธารณะ[100][101] อัลฟอนส์ เฮค อดีตสมาชิกยุวชนฮิตเลอร์ อธิบายปฏิกิริยาที่มีต่อสุนทรพจน์ของฮิตเลอร์ว่า "เราปะทุเข้าสู่ความบ้าคลังของความภูมิใจชาตินิยมที่อยู่ติดกับฮิสทีเรีย เป็นเวลาหลายนาทีติดกัน เราตะโกนสุดปอดของเรา ด้วยน้ำตาที่ไหลลงมาตามใบหน้าของเรา ซีก ไฮล์, ซีก ไฮล์, ซีก ไฮล์! นับแต่ชั่วขณะนั้น ผมเป็นของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ทั้งร่างกายและวิญญาณ"[102] แม้ทักษะวาทศิลป์และคุณสมบัติส่วนตัวของเขาโดยทั่วไปจะได้รับการตอบรับดีจากฝูงชนขนาดใหญ่และในงานทางการ แต่บางคนที่พบฮิตเลอร์เป็นการส่วนตัวสังเกตว่า ลักษณะภายนอกและบุคลิกของเขาไม่อาจให้ความประทับใจสุดท้ายแก่พวกเขาได้[103][104]
ผู้ติดตามคนแรก ๆ มีรูด็อล์ฟ เฮ็ส, อดีตนักบินกองทัพอากาศ แฮร์มัน เกอริง และร้อยเอกกองทัพบก แอ็นสท์ เริห์ม ผู้ซึ่งต่อมา เป็นหัวหน้าองค์การกำลังกึ่งทหารของนาซี ชตวร์มอัพไทลุง (SA, "กองพลวายุ") ซึ่งคอยคุ้มครองการประชุมและโจมตีคู่แข่งการเมืองอยู่บ่อยครั้ง อิทธิพลสำคัญต่อการคิดของเขาในช่วงนี้คือ เอาฟเบา เวไรนีกุง[105] กลุ่มสมคบคิดอันประกอบด้วยกลุ่มพวกรัสเซียขาวเนรเทศและพวกชาติสังคมนิยมช่วงแรก ๆ กลุ่มดังกล่าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากกองทุนที่มาจากนักอุตสาหกรรมอันมั่งคั่งอย่างเฮนรี ฟอร์ด แนะนำเขาสู่แนวคิดของการสมคบคิดยิว โดยเชื่อมโยงการเงินระหว่างประเทศกับบอลเชวิค[106]
กบฏโรงเบียร์
แก้ฮิตเลอร์ขอการสนับสนุนจากพลเอกสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เอริช ลูเดินดอร์ฟ สำหรับพยายามก่อรัฐประหารที่เรียกว่า "กบฏโรงเบียร์" พรรคนาซีได้ใช้ลัทธิฟาสซิสต์อิตาลีเป็นแบบภาพลักษณ์และนโยบาย และใน ค.ศ. 1923 ฮิตเลอร์ต้องการเลียนแบบ "การสวนสนามแห่งโรม" ของเบนิโต มุสโสลินี (ค.ศ. 1922) โดยจัดรัฐประหารของเขาเองในบาวาเรีย ตามด้วยการท้าทายรัฐบาลในเบอร์ลิน ฮิตเลอร์และลูเดินดอร์ฟฟ์แสวงหาสการสนับสนุนจากสทาทสคอมมิสซาร์ (ผู้ตรวจการรัฐ) กุสทัฟ ฟ็อน คาร์ ผู้ปกครองบาวาเรียโดยพฤตินัย อย่างไรก็ดี คาร์ ร่วมกับหัวหน้าตำรวจ ฮันส์ ริทแทร์ ฟอน ไซส์แซร์ และพลเอกแห่งไรชส์แวร์ อ็อทโท ฟอน ลอสซอว์ ต้องการสถาปนาลัทธิเผด็จการชาตินิยมโดยปราศจากฮิตเลอร์[107]
ฮิตเลอร์ต้องการฉวยโอกาสสำคัญเพื่อการปลุกปั่นและการสนับสนุนของประชาชนอย่างได้ผล[108] วันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1923 เขาและ SA โจมตีการประชุมสาธารณะที่มีผู้เข้าร่วม 3,000 คน ซึ่งจัดโดยคาฮร์ในเบือร์แกร์บรอยเคลแลร์ โรงเบียร์ขนาดใหญ่ในมิวนิก ฮิตเลอร์ขัดจังหวะปราศรัยของคาฮร์และประกาศว่า "การปฏิวัติแห่งชาติเริ่มต้นขึ้นแล้ว" ประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่กับลูเดินดอร์ฟฟ์[109] โดยชักปืนพกออกมา ฮิตเลอร์ต้องการและได้รับการสนับสนุนจากคาฮร์ ไซส์แซร์และลอสซอ[109] กองกำลังของฮิตเลอร์ประสบความสำเร็จช่วงแรกในการยึดไรชส์แวร์และกองบังคับการตำรวจท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ไม่มีกองทัพหรือตำรวจรัฐเข้าร่วมกับกองกำลังของเขา[110] คาฮร์และเพื่อนของเขารีบถอนการสนับสนุนของตนและหนีไปเข้ากับฝ่ายต่อต้านฮิตเลอร์[111] วันรุ่งขึ้น ฮิตเลอร์และผู้ติดตามเดินขบวนจากโรงเบียร์ไปยังกระทรวงสงครามเพื่อล้มรัฐบาลบาวาเรียระหว่าง "การสวนสนามแห่งเบอร์ลิน" แต่ตำรวจสลายการชุมนุม[112] สมาชิกพรรคนาซีสิบหกคนและเจ้าหน้าที่ตำรวจสี่นายถูกสังหารไปในรัฐประหารที่ล้มเหลว[113]
ฮิตเลอร์ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงได้หลบหนีไปยังบ้านของแอ็นสท์ ฮันฟ์สทาเองล์ และหลักฐานบางชิ้นชี้ว่า เขาคิดทำอัตวินิบาตกรรม[114] เขารู้สึกหดหู่แต่สงบลงเมื่อถูกจับกุมในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1923 ด้วยข้อหากบฏ[115] การพิจารณาคดีของเขาเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1924 ต่อหน้าศาลประชาชนพิเศษในมิวนิก,[116] และอัลเฟรด โรเซนแบร์กเป็นผู้นำชั่วคราวของพรรคนาซีแทน วันที่ 1 เมษายน ฮิตเลอร์ถูกตัดสินจำคุกห้าปีในเรือนจำลันด์สแบร์ก[117] เขาได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นมิตรจากผู้คุม และได้รับอนุญาตให้รับจดหมายจำนวนมากจากผู้สนับสนุนและมีการเข้าเยี่ยมเป็นประจำจากเพื่อนร่วมพรรค ศาลสูงสุดบาวาเรียอภัยโทษและเขาถูกปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1924 แย้งต่อการทัดทานของอัยการรัฐ[118] ซึ่งหากรวมเวลาระหว่างคุมขังรอการพิจารณาคดีแล้ว ฮิตเลอร์ได้รับโทษในเรือนจำทั้งสิ้นเกินหนึ่งปีเล็กน้อยเท่านั้น[119]
ขณะถูกจองจำอยู่ที่เรือนจำลันด์สแบร์ก เขาได้อุทิศการเขียนหนังสือที่ชื่อว่า ไมน์คัมพฟ์ ("การต่อสู้ของข้าพเจ้า" เดิมชื่อ "สี่ปีครึ่งกับการต่อสู้กับคำโกหก ความเขลาและความขลาด") ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกส่วนใหญ่ แก่ผู้ช่วยของเขา รูด็อล์ฟ เฮ็ส[119] ไมน์คัมพฟ์ ซึ่งอุทิศให้กับสมาชิกทูเลอโซไซตี ดีทริช เอคคาร์ท เป็นทั้งอัตชีวประวัติและการแถลงอุดมการณ์ของเขา ไมน์คัมพฟ์ได้รับอิทธิพลจากหนังสือ The Passing of the Great Race โดยเมดิสัน แกรนท์ ซึ่งฮิตเลอร์เรียกว่า "ไบเบิลของข้าพเจ้า"[120] ไมน์คัมพฟ์ได้รับการตีพิมพ์สองครั้งใน ค.ศ. 1925 และ 1926 ขายได้ประมาณ 228,000 เล่มระหว่าง ค.ศ. 1925 และ 1932 ใน ค.ศ. 1933 ซึ่งเป็นปีที่ฮิตเลอร์เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขายได้หนึ่งล้านเล่ม[121]
การสร้างพรรคใหม่
แก้เมื่อฮิตเลอร์ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำนั้น การเมืองในเยอรมนีสงบลงและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจำกัดโอกาสของฮิตเลอร์ในการปลุกระดมทางการเมือง ผลของกบฏโรงเบียร์ที่ล้มเหลว ทำให้พรรคนาซีและองค์การสืบเนื่องถูกกฎหมายห้ามในรัฐบาวาเรีย ในการประชุมกับนายกรัฐมนตรีบาวาเรีย ไฮน์ริช เฮลด์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1925 ฮิตเลอร์ตกลงที่จะเคารพอำนาจโดยชอบของรัฐ และเขาจะมุ่งแสวงหาอำนาจทางการเมืองเฉพาะผ่านกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น การประชุมดังกล่าวนำไปสู่การยกเลิกการห้าม NSDAP[122] อย่างไรก็ดี ฮิตเลอร์ยังถูกห้ามมิให้ปราศรัยต่อสาธารณะ[123] ซึ่งยังมีผลไปจนถึง ค.ศ. 1927[124] ในการรุกหน้าความทะเยอทะยานทางการเมืองแม้จะมีการสั่งห้ามนี้ ฮิตเลอร์แต่งตั้งเกรกอร์ ชตรัสเซอ, อ็อทโท ชตรัสเซอ และโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ ให้จัดการและขยายพรรคนาซีทางตอนเหนือของเยอรมนี ด้วยความเป็นผู้จัดที่ยอดเยี่ยม เกรกอร์ ชตรัสเซอ ได้เดินหน้าวิถีการเมืองที่เป็นอิสระมากขึ้น โดยเน้นองค์ประกอบของสังคมนิยมในโครงการพรรค[125]
ฮิตเลอร์ปกครองพรรคนาซีโดยอัตโนมัติโดยอ้างฟือเรอร์พรินซิพ ("หลักการผู้นำ") ตำแหน่งภายในพรรคไม่ถูกกำหนดโดยการเลือกตั้ง แต่จะถูกบรรจุผ่านการแต่งตั้งโดยผู้มีตำแหน่งสูงกว่า ซึ่งต้องการการเชื่อฟังโดยไม่มีการตั้งคำถามต่อประสงค์ของผู้นำ[126]
ตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาตกเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1929 ผลกระทบในเยอรมนีนั้นเลวร้ายมาก หลายล้านคนตกงานและธนาคารหลักหลายแห่งต้องปิดกิจการ ฮิตเลอร์และพรรคนาซีเตรียมฉวยโอกาสจากเหตุฉุกเฉินเพื่อเรียกเสียงสนับสนุนแก่พรรค พวกเขาสัญญาว่าจะบอกเลิกสนธิสัญญาแวร์ซาย เสริมสร้างเศรษฐกิจและจัดหางาน[127]
การเถลิงอำนาจ
แก้วันที่ | คะแนนเสียงทั้งหมด | ร้อยละคะแนนเสียง | ที่นั่งในไรช์สทาค | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
พฤษภาคม ค.ศ. 1924 | 1,918,300 | 6.5 | 32 | ฮิตเลอร์อยู่ในเรือนจำ |
ธันวาคม ค.ศ. 1924 | 907,300 | 3.0 | 14 | ฮิตเลอร์ได้รับการปล่อยตัว |
พฤษภาคม ค.ศ. 1928 | 810,100 | 2.6 | 12 | |
กันยายน ค.ศ. 1930 | 6,409,600 | 18.3 | 107 | หลังวิกฤตการณ์การเงิน |
กรกฎาคม ค.ศ. 1932 | 13,745,000 | 37.3 | 230 | หลังฮิตเลอร์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี |
พฤศจิกายน ค.ศ. 1932 | 11,737,000 | 33.1 | 196 | |
มีนาคม ค.ศ. 1933 | 17,277,180 | 43.9 | 288 | ระหว่างฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี |
รัฐบาลบรือนิง
แก้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในเยอรมนีเป็นโอกาสทางการเมืองสำหรับฮิตเลอร์ ชาวเยอรมันลังเลต่อสาธารณรัฐรัฐสภา ซึ่งเผชิญกับปัญหาคุกคามสำคัญจากทั้งพวกขวาและซ้ายจัดสุดโต่ง พรรคการเมืองสายกลางไม่สามารถหยุดยั้งกระแสแห่งลัทธิสุดโต่งเพิ่มขึ้นทุกที และการลงประชามติเยอรมนี ค.ศ. 1929 ช่วยยกระดับอุดมการณ์นาซี[129] การเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1930 ส่งผลให้รัฐบาลผสมชุดใหญ่แตกหักและแทนที่โดยคณะรัฐมนตรีข้างน้อย นายกรัฐมนตรีไฮน์ริช บรือนิงแห่งพรรคกลาง ผู้นำคณะรัฐมนตรีชุดนั้น ปกครองโดยกฤษฎีกาฉุกเฉินจากประธานาธิบดี เพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค การปกครองโดยกฤษฎีกาจะกลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่และปูทางแก่รัฐบาลแบบอำนาจนิยม[130]พรรคนาซีเติบโตจากพรรคที่ไม่มีใครรู้จักและได้คะแนนเสียง 18.3% และ 107 ที่นั่งในรัฐสภาในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1930 กลายมาเป็นพรรคใหญ่ที่สุดอันดับสองในสภา[131]
ฮิตเลอร์ปรากฏกายครั้งสำคัญในการพิจารณาคดีของนายทหารไรชส์แวร์สองนาย ร้อยตรีริชาร์ด เชรินแกร์ และฮันส์ ลูดิน ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1930 ทั้งสองถูกตั้งข้อหาเป็นสมาชิกพรรคนาซีซึ่งขณะนั้น กฎหมายไม่อนุญาตให้กำลังพลไรชส์แวร์เป็นสมาชิก[132] อัยการให้เหตุผลว่าพรรคนาซีเป็นพรรคสุดโต่ง ทนายฝ่ายจำเลย ฮันส์ ฟรังค์จึงเรียกฮิตเลอร์มาให้การเป็นพยานในศาล[133] วันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1930 ฮิตเลอร์ ให้การว่า พรรคของเขาจะแสวงหาอำนาจทางการเมืองเฉพาะผ่านการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตยเท่านั้น[134] การให้การนั้นทำให้เขาได้รับการสนับสนุนมากในหมู่นายทหารในกองทัพ[135]
มาตรการรัดเข็มขัดของบรือนิงทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยและไม่เป็นที่นิยมอย่างยิ่ง[136] ฮิตเลอร์ฉวยความอ่อนแอนี้โดยส่งข้อความทางการเมืองของเขาเจาะจงไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เช่น ชาวนา ทหารผ่านศึก และชนชั้นกลาง[137]
ฮิตเลอร์สละสัญชาติออสเตรียของเขาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1925 แต่ในขณะนั้น เขายังไม่ได้สัญชาติเยอรมัน เป็นเวลาเกือบเจ็ดปีที่ฮิตเลอร์ไร้สัญชาติ ไม่สามารถเข้าชิงตำแหน่งทางการเมืองได้ และเสี่ยงต่อการถูกเนรเทศ[138] วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1932 รัฐมนตรีมหาดไทยแห่งเบราน์ชไวก์ ผู้เป็นสมาชิกพรรคนาซีแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นผู้บริหารตัวแทนของรัฐในไรช์สรัท (สภาล่าง) ในเบอร์ลิน ทำให้ฮิตเลอร์เป็นพลเมืองเบราน์ชไวก์[139] และจึงเป็นพลเมืองเยอรมันอีกทอดหนึ่งเช่นกัน[140]
ค.ศ. 1932 ฮิตเลอร์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแข่งกับฟ็อน ฮินเดินบวร์ค เขาได้รับการสนับสนุนจากนักอุตสาหกรรมที่ทรงอำนาจที่สุดของเยอรมนีหลายคน หลังสุนทรพจน์วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1932 ต่อสภาอุตสาหกรรมในดึสเซลดอร์ฟ[141] อย่างไรก็ดี ฮินเดินบวร์คได้รับการสนับสนุนจากพรรคชาตินิยม กษัตริย์นิยม คาทอลิกและสาธารณรัฐนิยม ตลอดจนสังคมประชาธิปไตยบางพรรค ฮิตเลอร์ใช้คำขวัญระหว่างหาเสียงว่า "ฮิตเลอร์อือแบร์ดอยท์ชลันด์" (ฮิตเลอร์เหนือเยอรมนี) โดยอ้างถึงทั้งความทะเยอทะยานทางการเมืองและการหาเสียงโดยเครื่องบินของเขา[142] ฮิตเลอร์มาเป็นอันดับสองในการเลือกตั้งทั้งสองรอบ โดยได้เสียงมากกว่า 35% ในการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย แม้จะพ่ายต่อฮินเดินบวร์ค การเลือกตั้งครั้งนี้ได้ทำให้ฮิตเลอร์เป็นกำลังสำคัญในการเมืองเยอรมนี[143]
การได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
แก้การขาดรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพทำให้นักการเมืองทรงอิทธิพลสองคน ฟรันทซ์ ฟ็อน พาเพิน และอัลเฟรด ฮูเกนแบร์ก ตลอดจนนักอุตสาหกรรมและนักธุรกิจหลายคน เขียนจดหมายถึงฮินเดินบวร์ค ผู้ลงนามกระตุ้นให้ฮินเดินบวร์คแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นหัวหน้ารัฐบาล "ซึ่งเป็นอิสระจากพรรคการเมืองในรัฐสภา" ซึ่งอาจแปรเปลี่ยนเป็นขบวนการซึ่งอาจ "สร้างความยินดีแก่ประชากรหลายล้านคน"[144][145]
ฮินเดินบวร์คตกลงแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างไม่เต็มใจ หลังการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปอีกสองครั้ง คือ ในเดือนกรกฎาคมและพฤศจิกายน ค.ศ. 1932 ไม่มีพรรคใดจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ฮิตเลอร์จะเป็นหัวหน้ารัฐบาลผสมช่วงสั้น ๆ จัดตั้งโดยพรรคนาซีและพรรคประชาชนแห่งชาติเยอรมัน (DNVP) ของฮูเกนแบร์ก วันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งระหว่างพิธีการที่กระชับและเรียบง่ายในสำนักงานของฮินเดินบวร์คพรรคนาซีนั่งเก้าอี้สามจากสิบเอ็ดตำแหน่ง ฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี แฮร์มัน เกอริงเป็นรัฐมนตรีลอย และวิลเฮล์ม ฟริคเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย[146]
เหตุการณ์เพลิงไหม้ไรชส์ทาค
แก้ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฮิตเลอร์ดำเนินการต่อต้านความพยายามของคู่แข่งพรรคพรรคนาซีในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก เพราะการคุมเชิงทางการเมือง ฮิตเลอร์จึงขอประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คให้ยุบสภาไรชส์ทาคอีกครั้ง และกำหนดการเลือกตั้งไว้ต้นเดือนมีนาคม วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 อาคารไรชส์ทาคถูกวางเพลิง เกอริงกล่าวโทษว่าเป็นแผนการของคอมมิวนิสต์ เพราะมารีนึส ฟัน เดอร์ลึบเบอ ถูกพบตัวในอาคารที่เพลิงกำลังลุกโหมอยู่นั้น[147] ด้วยการกระตุ้นของฮิตเลอร์ ฮินเดินบวร์คตอบสนองโดยออกกฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรชส์ทาค 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งยับยั้งสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งหมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาล (habeas corpus) กิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันถูกปราบปราม และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ราว 4,000 คนถูกจับกุม[148] นักวิจัย รวมทั้งวิลเลียม แอล. ชิเรอร์ และอลัน บูลล็อก เห็นว่าพรรคนาซีเองที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อการวางเพลิงนั้น[149][150]
นอกเหนือไปจากการรณรงค์ทางการเมืองแล้วพรรคนาซียังมีส่วนกับความรุนแรงกึ่งทหารและการขยายการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้ง 6 มีนาคม ค.ศ. 1933 ส่วนแบ่งคะแนนเสียงของพรรคนาซีเพิ่มขึ้นเป็น 43.9% และพรรคได้รับที่นั่งมากที่สุดในรัฐสภา อย่างไรก็ดี พรรคของฮิตเลอร์ไม่สามารถครองเสียงข้างมากอย่างสมบูรณ์ได้ จำต้องร่วมรัฐบาลกับ DNVP อีกหน[151]
วันพ็อทซ์ดัมและรัฐบัญญัติมอบอำนาจ
แก้วันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1933 มีการตั้งไรชส์ทาคใหม่ขึ้นในพิธีเปิดที่โบสถ์แกริซันในพ็อทซ์ดัม "วันพ็อทซ์ดัม" นี้จัดขึ้นเพื่อแสดงความสามัคคีระหว่างขบวนการนาซีกับอภิชนและทหารปรัสเซียเก่า ฮิตเลอร์ปรากฏกายในชุดมอร์นิงโค้ต ซึ่งเป็นชุดพิธีการกลางวัน และทักทายประธานาธิบดีฟ็อน ฮินเดินบวร์คอย่างถ่อมตน[152][153]
เพื่อให้ได้มาซึ่งการควบคุมทางการเมืองเต็มที่โดยไม่ต้องกุมเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภา รัฐบาลของฮิตเลอร์นำแอร์แมคทิกุงสเกเซตซ์ (รัฐบัญญัติมอบอำนาจ) ขึ้นออกเสียงในไรชส์ทาคที่เพิ่งเลือกตั้งใหม่ รัฐบัญญัติดังกล่าวมอบอำนาจนิติบัญญัติเต็มให้แก่คณะรัฐมนตรีของฮิตเลอร์เป็นเวลาสี่ปีและอนุญาตให้เปลี่ยนวิธีปฏิบัติจากรัฐธรรมนูญได้ (โดยมีข้อยกเว้นบางประการ)[154] ร่างรัฐบัญญัติต้องการเสียงข้างมากสองในสามจึงผ่าน พรรคนาซีใช้บทบัญญัติแห่งกฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรชส์ทาคกันมิให้ผู้แทนสังคมประชาธิปไตยหลายคนเข้าประชุม ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ถูกยุบไปก่อนแล้ว[155]
วันที่ 23 มีนาคม ไรชส์ทาคประชุมที่โรงอุปรากรครอลล์ ภายใต้สถานการณ์วุ่นวาย ชายเอ็สอาเป็นแถวปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในอาคาร ขณะที่คนกลุ่มใหญ่ด้านนอกคัดค้านกฎหมายที่เสนอตะโกนคำขวัญและคุกคามสมาชิกรัฐสภาที่กำลังมาถึง[156] ฐานะของพรรคกลาง พรรคใหญ่ที่สุดอันดับสามในไรชส์ทาค กลายมาเป็นเด็ดขาด หลังฮิตเลอร์ให้คำมั่นด้วยวาจาแก่ ผู้นำพรรค ลุดวิก คาส ว่า ประธานาธิบดีฟ็อน ฮินเดินบวร์คจะยังคงมีอำนาจยับยั้ง (veto) คาสจึงประกาศว่า พรรคจะสนับสนุนรัฐบัญญัติมอบอำนาจ ท้ายสุด รัฐบัญญัติมอบอำนาจผ่านด้วยเสียง 441-84 โดยมีทุกพรรค ยกเว้นพรรคสังคมประชาธิปไตย เห็นชอบ รัฐบัญญัติมอบอำนาจ รัฐบัญญัติมอบอำนาจ ร่วมกับกฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรชส์ทาค เปลี่ยนรัฐบาลของฮิตเลอร์เป็นเผด็ตการตามกฎหมายโดยพฤตินัย[157]
การปลดวิสัยที่เหลือ
แก้เมื่อมีอำนาจควบคุมเต็มเหนืออำนาจนิติบัญญัติและบริหารแล้ว ฮิตเลอร์และพันธมิตรทางการเมืองของเขาเริ่มการปราบคู่แข่งการเมืองที่เหลืออย่างเป็นระบบ พรรคสังคมประชาธิปไตยถูกยุบตามพรรคคอมมิวนิสต์และสินทรัพย์ทั้งหมดถูกยึด[158] ขณะที่ตัวแทนสหภาพแรงงานจำนวนมากอยู่ในกรุงเบอร์ลินเพื่อร่วมกิจกรรมเมย์เดย์ พลรบวายุของเอ็สอาได้ทำลายสำนักงานสหภาพแรงงานทั่วประเทศ วันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1933 สหภาพแรงงานทั้งหมดถูกบีบให้ยุบและผู้นำถูกจับกุม บางคนถูกส่งไปยังค่ายกักกัน[159] องค์การสหภาพใหม่ถูกจัดตั้งขึ้น โดยเป็นตัวแทนของคนงาน นายจ้างและเจ้าของบริษัททุกคนเป็นกลุ่มเดียว สหภาพแรงงานใหม่นี้สะท้อนแนวคิดชาติสังคมนิยมในวิญญาณแห่ง "โฟล์คสเกไมน์ชัฟท์" (ชุมชนเชื้อชาติเยอรมัน) ของฮิตเลอร์[160]
เมื่อถึงปลายเดือนมิถุนายน พรรคอื่น ๆ ก็ได้ถูกยุบไปจนหมด และด้วยความช่วยเหลือของเอ็สอา ฮิตเลอร์กดดันให้พรรครัฐบาลผสมในนามของเขา ฮูเกนแบร์ก ลาออก วันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1933 พรรคนาซีของฮิตเลอร์ได้รับการประกาศให้เป็นพรรคการเมืองชอบด้วยกฎหมายพรรคเดียวในเยอรมนี[160][158] ข้อเรียกร้องของเอ็สอาให้มีอำนาจทางการเมืองและการทหารเพิ่มขึ้นสร้างความกังวลอย่างมากในหมู่ผู้นำทางทหาร อุตสาหกรรมและการเมือง ฮิตเลอร์สนองโดยกวาดล้างผู้นำเอ็สอาทั้งหมด ในเหตุการณ์ซึ่งต่อมาเรียกว่า "คืนมีดยาว" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายนถึง 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1934[161] ฮิตเลอร์ตั้งเป้าหมายที่แอ็นสท์ เริห์ม และคู่แข่งการเมืองคนอื่น (เช่น เกรกอร์ ชตรัสเซอร์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ควร์ท ฟ็อน ชไลเชอร์) เริห์มและผู้นำเอ็สอาคนอื่น ๆ ร่วมกับคู่แข่งการเมืองของฮิตเลอร์จำนวนหนึ่ง ถูกล้อม จับกุม และยิงทิ้ง[162] ขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศและชาวเยอรมันบางคนตระหนกต่อการฆาตกรรม ชาวเยอรมันหลายคนมองว่าฮิตเลอร์กำลังฟื้นฟูระเบียบ[163]
วันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1934 ประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คถึงแก่อสัญกรรม หนึ่งวันก่อนหน้านั้น คณะรัฐมนตรีได้ผ่านกฎหมายให้มีผลใช้บังคับเมื่อฮินเดินบวร์คเสียชีวิต ซึ่งล้มล้างตำแหน่งประธานาธิบดีและรวมอำนาจของประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรี ฮิตเลอร์จึงกลายมาเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและประมุขรัฐบาล มีชื่อทางการว่า ฟือเรอร์อุนด์ไรชส์คันซเลอร์ (ผู้นำและนายกรัฐมนตรี)[164] กฎหมายนี้แท้จริงแล้วละเมิดรัฐบัญญัติมอบอำนาจ ขณะที่รัฐบัญญัติมอบอำนาจจะให้ฮิตเลอร์เปลี่ยนวิธีปฏิบัติจากรัฐธรรมนูญได้ แต่ห้ามเขาชัดเจนมิให้ผ่านกฎหมายใด ๆ ที่ขัดกับตำแหน่งประธานาธิบดี ใน ค.ศ. 1932 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประธานศาลยุติธรรมสูงสุด มิใช่นายกรัฐมนตรี รักษาการแทนประธานาธิบดีระหว่างที่มีการเลือกตั้งใหม่[165] ด้วยกฎหมายนี้ ฮิตเลอร์ได้ปลดทางแก้สุดท้ายตามกฎหมายที่จะถอดเขาออกจากตำแหน่ง
ในฐานะประมุขแห่งรัฐ ฮิตเลอร์จึงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย การมอบสัตย์ปฏิญาณของทหารและกะลาสีตามประเพณีถูกเปลี่ยนเป็นการยืนยันความภักดีต่อฮิตเลอร์โดยตรง มากกว่าตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุด[166] วันที่ 19 สิงหาคม การรวมตำแหน่งประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีได้รับการอนุมัติโดยการลงประชามติ ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุน 90% ของผู้ออกมาใช้สิทธิ[167]
มันอาจจะถูกมองเป็นเรื่องเหลวไหล ถ้าผมจะบอกคุณว่าขบวนการชาติสังคมนิยม (นาซี) จะคงอยู่ต่อไปอีกเป็นพันปี! ... อย่าลืมพวกที่เคยหัวเราะใส่ผมเมื่อ 15 ปีที่แล้วตอนผมบอกว่าวันหนึ่งผมจะปกครองเยอรมันสิ ลองให้พวกนั้นมาหัวเราะตอนนี้คงไม่ต่างอะไรจากพวกโง่ ตอนผมประกาศว่าผมจะอยู่ในอำนาจ!
— ฮิตเลอร์ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าว, มิถุนายน 1934[168]
ต้น ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์บีบให้รัฐมนตรีว่าการสงคราม จอมพล แวร์เนอร์ ฟ็อน บล็อมแบร์ค ลาออก เมื่อสำนวนตำรวจพบว่า ภรรยาใหม่ของบล็อมแบร์คเคยมีประวัติเป็นโสเภณี[169][170] ฮิตเลอร์ถอดผู้บัญชาการทหารบก พลเอก แวร์แนร์ ฟอน ฟริทช์ หลังหน่วยเอ็สอาสกล่าวหาว่าเขามีส่วนในความสัมพันธ์ร่วมเพศ[171] นายทหารทั้งสองเริ่มดวงตกเมื่อพวกเขาคัดค้านคำสั่งของฮิตเลอร์ที่สั่งให้ทั้งสองเตรียมกองทัพบกให้พร้อมเข้าสู่สงครามภายในปี ค.ศ. 1938[172] ฮิตเลอร์เรียกเหตุการณ์ทั้งสองนี้ว่า "เหตุอื้อฉาวบล็อมแบร์ค-ฟริทซ์" และใช้มันเป็นข้ออ้างเพื่อควบรวมสายบัญชาการกองทัพ ฮิตเลอร์ตั้งตัวเองเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแทนบล็อมแบร์ค ทำให้เขาสามารถบังคับบัญชากองทัพได้โดยตรง เขาเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการสงครามกับโอเบอร์คอมมันโดแดร์เวร์มัคท์ (กองบัญชาการทหารสูงสุด หรือ OKW) นำโดย พลเอก วิลเฮ็ล์ม ไคเทิล และในวันเดียวกัน นายพลสิบหกนายถูกถอดจากตำแหน่ง และ 44 นายถูกย้าย ทั้งหมดถูกสงสัยว่าไม่ภักดีต่อนาซีเพียงพอ[173] เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 นายพลอื่นอีกสิบสองนายถูกปลด[174]
หลังได้เสริมสร้างอำนาจการเมืองของเขาแล้ว ฮิตเลอร์ปราบปรามหรือกำจัดคู่แข่งของเขาด้วยกระบวนการชื่อ ไกลช์ชัลทุง ("จัดแถว") เขาพยายามหาการสนับสนุนจากสาธารณะเพิ่มเติมโดยสัญญาจะกลับผลของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและสนธิสัญญาแวร์ซาย
ไรช์ที่สาม
แก้เศรษฐกิจและวัฒนธรรม
แก้ใน ค.ศ. 1935 ฮิตเลอร์แต่งตั้งฮียัลมาร์ ชัคท์ เป็นผู้มีอำนาจเต็มด้านเศรษฐกิจสงคราม รับผิดชอบการเตรียมเศรษฐกิจเพื่อสงคราม การฟื้นฟูบูรณะและการติดอาวุธใหม่ได้รับจัดหาเงินทุนผ่านเมโฟบิล การพิมพ์เงิน และการยึดสินทรัพย์ของผู้ที่ถูกจับกุมในข้อหาเสี้ยนหนามแผ่นดิน รวมทั้งยิว[175] การว่างงานลดลงอย่างมาก จากหกล้านคนใน ค.ศ. 1932 เหลือหนึ่งล้านคนใน ค.ศ. 1936[176] ฮิตเลอร์เป็นผู้ดูแลหนึ่งในโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคหนึ่งในครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เยอรมนี ซึ่งนำไปสู่การก่อสร้างเขื่อน ทางหลวงพิเศษ ทางรถไฟและงานสาธารณะอื่น ๆ ค่าแรงลดลงเล็กน้อยในช่วงปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อเทียบกับในสมัยไวมาร์ ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น 25%[177]
รัฐบาลฮิตเลอร์สนับสนุนสถาปัตยกรรมอย่างกว้างขวาง อัลแบร์ท สเพร์ ผู้นำการตีความแบบคลาสสิกของฮิตเลอร์นำไปปรับกับวัฒนธรรมเยอรมัน ถูกกำหนดให้รับผิดชอบการปฏิสังขรณ์สถาปัตยกรรมในเบอร์ลิน[178] ฮิตเลอร์เปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในเบอร์ลิน
การสร้างเสริมอาวุธและพันธมิตรใหม่
แก้ในการประชุมกับผู้นำทางทหารของเยอรมนีเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์กล่าวถึง "การพิชิตเพื่อเลเบินส์เราม์ในทางตะวันออกและทำให้เป็นเยอรมันอย่างไร้ความปรานี" เป็นความมุ่งหมายนโยบายต่างประเทศสูงสุดของเขา[179] ในเดือนมีนาคม เจ้าชายแบร์นาร์ด วิลเฮล์ม ฟอน บือโลว์ เลขานุการเอาสวแวร์ทีเกส อัมท์ (กระทรวงการต่างประเทศ) ออกแถลงการณ์ใหญ่ถึงเป้าประสงค์ของนโยบายต่างประเทศกับเยอรมนี คือ อันชลูสส์กับออสเตรีย การฟื้นฟูพรมแดนแห่งชาติของเยอรมนีใน ค.ศ. 1914 การปฏิเสธการจำกัดทางทหารภายใต้สนธิสัญญาแวร์ซาย การได้อดีตอาณานิคมเยอรมนีในแอฟริกาคืน และเขตอิทธิพลของเยอรมนีในยุโรปตะวันออก ฮิตเลอร์พบว่าเป้าหมายของบือโลว์นั้นถ่อมเกินไป[180] ในสุนทรพจน์ของเขาช่วงนี้ เขาเน้นย้ำเป้าหมายของนโยบายและความเต็มใจทำงานภายในความตกลงระหว่างประเทศอย่างสันติ[181] ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกใน ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์จัดลำดับรายจ่ายทางทหารมาก่อนเงินช่วยเหลือผู้ว่างงาน[182]
เยอรมนีถอนตัวจากสันนิบาตชาติและการประชุมปลดอาวุธโลกในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1933[183] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1935 ฮิตเลอร์ประกาศขยายกำลังพลเวร์มัคท์เป็น 600,000 นาย หกเท่าของจำนวนที่สนธิสัญญาแวร์ซายอนุญาต รวมถึงการพัฒนากองทัพอากาศ (ลุฟท์วัฟเฟอ) และการเพิ่มขนาดกองทัพเรือ (ครีกสมารีเนอ) อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลีและสันนิบาตชาติประณามแผนการเหล่านี้ว่าเป็นการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซาย[184] ความตกลงนาวิกอังกฤษ-เยอรมัน วันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1935 อนุญาตให้ระวางน้ำหนักของกองทัพเรือเยอรมันเพิ่มขึ้นเป็น 35% ของราชนาวีอังกฤษ ฮิตเลอร์เรียกการลงนามความตกลงดังกล่าวว่าเป็น "วันที่สุขที่สุดในชีวิตเขา" ดังที่เขาเชื่อว่าความตกลงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของพันธมิตรอังกฤษ-เยอรมันที่เขาได้ทำนายไว้ในไมน์คัมพฟ์[185] ฝรั่งเศสและอิตาลีไม่ได้รับการปรึกษาก่อนลงนาม ซึ่งเป็นการบั่นทอนสันนิบาตชาติโดยตรง และทิ้งสนธิสัญญาแวร์ซายบนหนทางสู่ความไม่ลงรอยกัน[186]
เยอรมนียึดครองเขตปลอดทหารในไรน์ลันท์อีกครั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 อันเป็นการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซาย ฮิตเลอร์ส่งกำลังเข้าไปในสเปนเพื่อสนับสนุนพลเอกฟรังโก หลังได้รับการขอความช่วยเหลือในเดือกรกฎาคม ค.ศ. 1936 ในขณะเดียวกัน ฮิตเลอร์พยายามสร้างพันธมิตรอังฤษ-เยอรมนีอย่างต่อเนื่อง[187] ในการสนองต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามขึ้นอันเกิดจากความพยายามสร้างเสริมอาวุธขึ้นใหม่ ฮิตเลอร์จึงออกบันทึกข้อความสั่งแฮร์มัน เกอริงเพื่อดำเนินการแผนการสี่ปีเพื่อให้เยอรมนีพร้อมทำสงครามภายในสี่ปีข้างหน้า[188] "บันทึกข้อความแผนการสี่ปี" เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1936 กำหนดการต่อสู้สุดกำลังระหว่าง "ยิว-บอลเชวิค" กับชาติสังคมนิยมเยอรมัน ซึ่งในมุมมองของฮิตเลอร์ จำเป็นต้องมีความพยายามที่ผูกมัดในการเสริมสร้างอาวุธโดยไม่คำนึงถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจ[189]
เคานต์กาเลอัซโซ ซีอาโน รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเบนิโต มุสโสลินี ประกาศอักษะระหว่างเยอรมนีกับอิตาลี และในวันที่ 25 พฤศจิกายน เยอรมนีลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากลกับญี่ปุ่น อังกฤษ จีน อิตาลีและโปแลนด์ได้รับเชิญให้เข้าร่วมสนธิสัญญาดังกล่าวด้วย แต่มีเพียงอิตาลีเท่านั้นที่ลงนามใน ค.ศ. 1937 ฮิตเลอร์ละทิ้งความฝันพันธมิตรอังกฤษ-เยอรมนี โดยกล่างโทษว่าผู้นำอังกฤษ "ไม่เหมาะสม"[190] เขาจัดการประชุมลับที่ทำเนียบรัฐบาลไรช์กับรัฐมนตรีสงครามและต่างประเทศ ตลอดจนหัวหน้าทางทหารในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น ตามบันทึกการประชุมฮ็อสบัค ฮิตเลอร์แถลงเจตนาในการได้มาซึ่งเลเบินส์เราม์สำหรับชาวเยอรมัน และสั่งเตรียมทำสงครามในทางตะวันออก ซึ่งจะเริ่มขึ้นไม่ช้ากว่า ค.ศ. 1943 เขาแถลงว่าบันทึกการประชุมถือว่าเป็น "พินัยกรรมการเมือง" ในกรณีเขาเสียชีวิต[191] เขารู้สึกว่าวิกฤตเศรษฐกิจเยอรมนีได้มาถึงจุดที่มาตรฐานการครองชีพในเยอรมนีถดถอยรุนแรงจนต้องใช้เฉพาะนโยบายก้าวร้าวทางทหาร คือ ยึดออสเตรียและเชโกสโลวาเกีย เท่านั้น[192][193] ฮิตเลอร์กระตุ้นการปฏิบัติอย่างรวดเร็ว ก่อนที่อังกฤษและฝรั่งเศสจะเป็นผู้นำการแข่งขันอาวุธอย่างถาวร[192] ต้น ค.ศ. 1938 ตามติดกรณีอื้อฉาวบล็อมแบร์ค-ฟริทช์ ฮิตเลอร์ถือสิทธิ์ควบคุมระบบนโยบายทางทหาร-ต่างประเทศ โดยปลดนอยรัทจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เขาครองบทบาทและตำแหน่งโอแบร์สเทียร์ เบเฟลชาแบร์ แดร์ เวร์มัคท์ (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด)[188] จากต้น ค.ศ. 1938 สืบมา ฮิตเลอร์ดำเนินนโยบายต่างประเทศซึ่งมีสงครามเป็นเป้าหมายสูงสุด[194]
การล้างชาติ
แก้มโนทัศน์หลักของนาซี คือ แนวคิดความสะอาดเชื้อชาติ วันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1935 เขาเสนอกฎหมายสองฉบับ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ กฎหมายเนือร์นแบร์ค แก่ไรชส์ทาค กฎหมายนี้ห้ามการสมรสระหว่างผู้ที่มิใช่ยิวกับเยอรมันเชื้อสายยิว และห้ามการจ้างสตรีมิใช่ยิวอายุต่ำกว่า 45 ปีในครัวเรือนยิว กฎหมายกีดกันผู้ที่ "มิใช่อารยัน" จากประโยชน์ของพลเมืองเยอรมัน[195] นโยบายสุพันธุศาสตร์ช่วงแรกของฮิตเลอร์มุ่งไปยังเด็กที่บกพร่องทางกายและการพัฒนาในโครงการที่ถูกขนานนามว่า การปฏิบัติบรันดท์ (Action Brandt) และภายหลังอนุมัติโครงการการุณยฆาตแก่ผู้ใหญ่ที่บกพร่องทางจิตและกายอย่างร้ายแรง ซึ่งปัจจุบันมักเรียกว่า การปฏิบัติเท4 (Action T4)[196]
แนวคิดเลเบินส์เราม์ของฮิตเลอร์ ซึ่งรับหลักการในไมน์คัมพฟ์ มุ่งการได้มาซึ่งดินแดนใหม่สำหรับการตั้งถิ่นฐานของชาวเยอรมันในยุโรปตะวันออก[197] เจเนรัลพลันโอสท์ ("แผนการทั่วไปสำหรับทางตะวันออก") กำหนดให้ประชากรในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตส่วนที่ถูกยึดครองเนรเทศไปยังไซบีเรียตะวันตก เพื่อใช้เป็นแรงงานทาสหรือสังหารทิ้ง ดินแดนที่ถูกพิชิตจะถูกตั้งเป็นอาณานิคมของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวเยอรมันหรือที่ถูก "ทำให้เป็นเยอรมัน"[198] แผนการเดิมกำหนดให้กระบวนการนี้เริ่มต้นหลังการพิชิตสหภาพโซเวียต แต่เมื่อไม่เป็นผล ฮิตเลอร์จึงเลื่อนแผนการออกไป[199][200] จนถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1942 การตัดสินใจนี้ได้นำไปยังการสังหารชาวยิวและผู้ถูกเนรเทศอื่นซึ่งถูกพิจารณาว่าไม่พึงปรารถนา[201]
ฮอโลคอสต์ (อังกฤษ: The Holocuast) (Endlösung der jüdischen Frage หรือ "การแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย") จัดขึ้นและดำเนินการโดยไฮน์ริช ฮิมเลอร์และไรนาร์ด ไฮดริช บันทึกการประชุมวันน์เซ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1942 และนำโดยไรนาร์ด ไฮดริช ร่วมกับเจ้าหน้าที่นาซีอาวุโสอื่นอีกสิบห้าคน เป็นหลักฐานชัดเจนที่สุดถึงการวางแผนฮอโลคอสต์อย่างเป็นระบบ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ มีบันทึกคำกล่าวของฮิตเลอร์ต่อเพื่อนร่วมงานว่า "สุขภาพดีของเราจะฟื้นคืนก็ด้วยการสังหารยิวเท่านั้น"[202] มีค่ายกักกันและค่ายมรณะนาซีประมาณสามสิบแห่งใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้[203] จนถึงฤดูร้อน ค.ศ. 1942 สถานที่ตั้งค่ายกักกันเอาชวิทซ์ถูกดัดแปลงให้สามารถรองรับผู้ถูกเนรเทศจำนวนมากเพื่อสังหารหรือใช้แรงงานทาส[204]
แม้ไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งเจาะจงจากฮิตเลอร์ที่อนุมัติการสังหารหมู่[205] เขาได้อนุมัติไอน์ซัทซกรุพเพน หน่วยสังหารซึ่งติดตามกองทัพเยอรมันผ่านโปแลนด์และรัสเซีย เขายังได้รับรายงานอย่างดีเกี่ยวกับพฤติกรรมของหน่วยนี้ด้วย[206] ระหว่างการสอบสวนโดยสายลับโซเวียต บันทึกซึ่งได้รับการเปิดเผยในอีกกว่าห้าสิบปีให้หลัง คนขับรถของฮิตเลอร์ ไฮนซ์ ลินเกอ และผู้ช่วยของเขา อ็อทโท กึนเชอ แถลงว่าฮิตเลอร์มีความสนใจโดยตรงในการพัฒนาห้องรมแก๊ส[207]
ระหว่าง ค.ศ. 1939 ถึง 1945 เอ็สอาส ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผู้ให้ความร่วมมือและทหารเกณฑ์จากประเทศที่ถูกยึดครอง รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตถึงสิบเอ็ดถึงสิบสี่ล้านชีวิต รวมทั้งชาวยิวหกล้านคน คิดเป็นสองในสามของประชากรยิวในยุโรป[208][209] และชาวโรมาระหว่าง 500,000 ถึง 1,500,000 คน[210] การเสียชีวิตเกิดขึ้นในค่ายกักกันและค่ายมรณะ ย่านชาวยิว และการประหารชีวิตหมู่ เหยื่อการล้างชาติหลายคนถูกรมแก๊สจนเสียชีวิต ขณะที่บ้างเสียชีวิตเพราะหิวโหยหรือป่วยขณะใช้แรงงานทาส[211]
นโยบายของฮิตเลอร์ยังส่งผลให้มีการสังหารชาวโปแลนด์[212] และเชลยศึกโซเวียต พวกคอมมิวนิสต์และศัตรูการเมืองอื่น พวกรักร่วมเพศ ผู้พิการทางกายหรือใจ[213][214] ผู้นับถือลัทธิพยานพระยาเวห์ นิกายแอดเวนติสต์ และผู้นำสหภาพแรงงาน ฮิตเลอร์ไม่เคยปรากฏว่าเยือนค่ายกักกันและมิได้พูดถึงการสังหารอย่างเปิดเผย.[215]
สงครามโลกครั้งที่สอง
แก้ความสำเร็จทางการทูตช่วงต้น
แก้พันธมิตรกับญี่ปุ่น
แก้ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 ด้วยการแนะนำจากรัฐมนตรีต่างประเทศที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งใหม่ เชโกสโลวาเกีย ผู้นิยมญี่ปุ่นอย่างแข็งขัน ฮิตเลอร์จึงยุติพันธมิตรจีน-เยอรมันกับสาธารณรัฐจีนและเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นที่ทันสมัยและทรงอำนาจกว่า ฮิตเลอร์ประกาศรับรองแมนจูกัว รัฐที่ญี่ปุ่นยึดครองในแมนจูเรีย ของเยอรมนี และสละการอ้างสิทธิ์ของเยอรมนีเหนืออดีตอาณานิคมในแปซิฟิกที่ญี่ปุ่นถือครองอยู่ ฮิตเลอร์สั่งยุติการส่งอาวุธไปยังจีน และเรียกนายทหารเยอรมันที่ทำงานกับกองทัพจีนทั้งหมดกลับ[216] เพื่อเป็นการตอบโต้ พลเอก เจียง ไคเช็ก ของจีนยกเลิกความตกลงเศรษฐกิจจีน-เยอรมนีทั้งหมด ทำให้เยอรมนีขาดวัตถุดิบจากจีน แม้จีนจะยังขนส่งทังสเตนซึ่งเป็นโลหะสำคัญในการผลิตอาวุธ ต่อไปจนกระทั่ง ค.ศ. 1939[217]
ออสเตรียและเชโกสโลวาเกีย
แก้วันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์ประกาศรวมออสเตรียเข้ากับนาซีเยอรมนีในอันชลุส[218][219] จากนั้นฮิตเลอร์มุ่งความสนใจของเขาไปยังประชากรเชื้อชาติเยอรมันในเขตซูเดเทินลันท์ของเชโกสโลวาเกีย[220]
วันที่ 28-29 มีนาคม ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์จัดการประชุมลับขึ้นหลายครั้งในกรุงเบอร์ลินกับคอนรัด เฮนไลน์ แห่งซูเดเตนไฮม์ฟรอนท์ (Heimfront, "แนวสนับสนุน") พรรคการเมืองเชื้อชาติเยอรมันใหญ่ที่สุดในซูเดเทินลันท์ ทั้งสองตกลงว่าเฮนไลน์จะเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองสำหรับชาวเยอรมันซูเดเตนเพิ่มขึ้นจากรัฐบาลเชโกสโลวาเกีย ซึ่งจะเป็นข้ออ้างสำหรับการปฏิบัติทางทหารต่อเชโกสโลวาเกีย ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1938 เฮนไลน์บอกรัฐมนตรีต่างประเทศฮังการีว่า "ไม่ว่ารัฐบาลเช็กจะเสนออะไร เขาจะเรียกร้องสูงขึ้นเสมอ ... เขาต้องการบ่อนทำลายความเข้าใจทุกทาง เพราะนี่เป็นเพียงวิธีเดียวที่จะระเบิดเชโกสโลวาเกียอย่างรวดเร็ว"[221] โดยส่วนตัว ฮิตเลอร์มองว่าปัญหาซูเดเตนไม่สำคัญ เจตนาที่แท้จริงของเขานั้นคือสงครามพิชิตเชโกสโลวาเกีย[222]
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์สั่งให้ OKW เตรียมการสำหรับฟัลกรึน (Fall Grün, "กรณีเขียว") ชื่อรหัสสำหรับการบุกครองเชโกสโลวาเกีย[223] ด้วยผลของแรงกดดันทางการทูตอย่างหนักจากฝรั่งเศสและอังกฤษ วันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1938 ประธานาธิบดีเชโกสโลวาเกีย เอ็ดวาร์ด เบเนช จึงประกาศ "แผนการที่สี่" เพื่อจัดระเบียบประเทศใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตกลงรับข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ของเฮนไลน์ว่าด้วยการปกครองตนเองของซูเดเตน[224] ไฮม์ฟรอนท์ของเฮนไลน์สนองต่อข้อเสนอของเบเนชด้วยการปะทะอย่างรุนแรงหลายครั้งกับตำรวจเชโกสโลวาเกีย ซึ่งนำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึกในบางเขตของซูเดเตน[225][226]
เยอรมนีนั้นพึ่งพาน้ำมันนำเข้า การเผชิญหน้ากับอังกฤษเหนือกรณีพิพาทเชโกสโลวาเกียอาจตัดทอนเสบียงน้ำมันของเยอรมนีได้ ฮิตเลอร์จึงเลื่อนฟัลกรึนออกไป ซึ่งเดิมวางแผนไว้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1938[227] วันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์, เนวิลล์ เชมเบอร์เลน, เอดัวร์ ดาลาดีเย และเบนิโต มุสโสลินีเข้าร่วมการประชุมหนึ่งวันในกรุงมิวนิกซึ่งนำไปสู่ความตกลงมิวนิก ซึ่งได้มอบเขตซูเดเทินลันท์ให้แก่เยอรมนี[228][229]
เชมเบอร์เลนพอใจกับการประชุมมิวนิก โดยเรียกผลว่า "สันติภาพในสมัยของเรา" ขณะที่ฮิตเลอร์โกรธกับโอกาสทำสงครามที่พลาดไปใน ค.ศ. 1938[230][231] ฮิตเลอร์แสดงความผิดหวังของเขาต่อความตกลงมิวนิกออกมาในสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1938 ในซาร์บรึกเคน[232] ในมุมมองของฮิตเลอร์ สันติภาพซึ่งอังกฤษเป็นนายหน้านั้น แม้จะอำนวยประโยชน์ต่อการเรียกร้องบังหน้าของเยอรมนี แต่ก็เป็นความพ่ายแพ้ทางการทูตซึ่งยิ่งกระตุ้นเจตนาของฮิตเลอร์ในการจำกัดอำนาจของอังกฤษเพื่อกรุยทางแก่การขยายตัวไปทางตะวันออกของเยอรมนี[233][234] ผลจากการประชุมนี้ ฮิตเลอร์ได้รับเลือกเป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ ค.ศ. 1938[235]
ในปลาย ค.ศ. 1938 และต้น ค.ศ. 1939 วิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่ดำเนินต่อไปซึ่งเกิดขึ้นจากความพยายามสร้างเสริมอาวุธใหม่บีบให้ฮิตเลอร์ตัดงบประมาณป้องกันประเทศลงอย่างมาก[236] วันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์กล่าวสุนทรพจน์ "ส่งออกหรือตาย" โดยเรียกร้องการรุกทางเศรษฐกิจของเยอรมนีเพื่อเพิ่มสินทรัพย์แลกเปลี่ยนต่างประเทศเยอรมนีเพื่อจ่ายเป็นค่าวัตถุดิบ เช่น เหล็กคุณภาพสูงซึ่งจำเป็นต่ออาวุธทางทหาร[236]
วันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1939 โดยเป็นการละเมิดข้อตกลงมิวนิกและอาจเป็นเพราะผลของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่ถลำลึกซึ่งต้องการสินทรัพย์เพิ่มเติม ฮิตเลอร์จึงสั่งให้เวร์มัคท์บุกครองปราก และจากปราสาทปรากได้ประกาศให้โบฮีเมียและโมราเวียเป็นรัฐในอารักขาของเยอรมนี[237]
สงครามโลกครั้งที่สองปะทุ
แก้ในการประชุมส่วนตัวใน ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์อธิบายว่าอังกฤษเป็นศัตรูหลักที่จำต้องถูกพิชิต ในมุมมองของเขา การลบล้างโปแลนด์จากการเป็นชาติมีอธิปไตยเป็นการโหมโรงที่จำเป็นสู่เป้าหมายนั้น ปีกตะวันออกจำต้องได้รับการทำให้ปลอดภัย และที่ดินจะถูกเพิ่มเข้าไปในเลเบินส์เราม์ของเยอรมนี[238] ฮิตเลอร์ต้องการให้โปแลนด์เป็นรัฐบริวารของเยอรมนีหรือมิฉะนั้นก็ถูกทำให้เป็นกลางเพื่อให้ปีกทางตะวันออกของไรช์ปลอดภัย และเพื่อป้องกันการปิดล้อมของอังกฤษที่เป็นไปได้[239] แต่เดิม ฮิตเลอร์ชอบแนวคิดรัฐบริวาร ซึ่งถูกปฏิเสธโดยรัฐบาลโปแลนด์ ดังนั้น ฮิตเลอร์จึงตัดสินใจบุกครองโปแลนด์ ซึ่งเขาถือว่าเป็นเป้าหมายนโยบายต่างประเทศหลักของเยอรมนีใน ค.ศ. 1939[240] ฮิตเลอร์ถูกขัดใจที่อังกฤษ "รับประกัน" เอกราชของโปแลนด์ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1939 และบอกแก่เพื่อนร่วมงานเขาว่า "ฉันจะบ่มเครื่องดื่มปิศาจให้พวกมัน"[241] ในสุนทรพจน์ในวิลเฮล์มชาเวนเพื่อปล่อยเรือประจัญบานเทียร์พิทซ์ลงน้ำเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์ขู่จะบอกเลิกความตกลงนาวีอังกฤษ-เยอรมันเป็นครั้งแรก หากอังกฤษยืนกรานการรับประกันเอกราชของโปแลนด์ ซึ่งเขามองว่าเป็นนโยบาย "ตีวงล้อม"[241] วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์สั่งการให้ฝ่ายทหารเตรียมการสำหรับฟัลไวสส์ (Fall Weiss, "กรณีขาว") แผนการสำหรับการบุกครองของเยอรมนีในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1939[240] ในสุนทรพจน์ต่อไรชส์ทาคเมื่อวันที่ 28 เมษายน ฮิตเลอร์บอกเลิกทั้งความตกลงนาวิกอังกฤษ-เยอรมันและสนธิสัญญาไม่รุกรานเยอรมนี–โปแลนด์ ฮิตเลอร์กล่าวแก่นายพลของเขาว่าแผนการดั้งเดิมของเขาใน ค.ศ. 1939 คือ "... จัดตั้งความสัมพันธ์ที่ยอมรับได้กับโปแลนด์เพื่อต่อสู้กับตะวันตก" เนื่องจากโปแลนด์ปฏิเสธจะเป็นบริวารของเยอรมนี ฮิตเลอร์จึงเชื่อว่าทางเลือกเดียวของเขาคือการบุกครองโปแลนด์[242]
นักประวัติศาสตร์ เช่น วิลเลียม คาร์, แกร์ฮาร์ด ไวน์แบร์ก และเอียน เคอร์ชอว์ เสนอว่า สาเหตุหนึ่งที่ฮิตเลอร์เร่งทำสงคราม เพราะความกลัวผิดปกติและหมกมุ่นของเขาว่าจะตายก่อนวัยอันควร และดังนั้น จึงมีความรู้สึกว่า เขาอาจไม่มีชีวิตอยู่จนสำเร็จงานของเขาก็ได้[243][244][245]
ฮิตเลอร์เดิมกังวลว่าการโจมตีทางทหารต่อโปแลนด์อาจส่งผลให้เกิดสงครามกับอังกฤษก่อนเวลาอันควร[239][246] อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีต่างประเทศของฮิตเลอร์ และอดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน โยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ ยืนยันแก่เขาว่าทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสจะไม่เคารพการผูกมัดของพวกตนต่อโปแลนด์ และสงครามเยอรมนี-โปแลนด์จะเป็นเพียงสงครามในภูมิภาคจำกัด[247][248] ริบเบินทร็อพอ้างว่าในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1938 รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ฌอร์ฌ บอแน (Georges Bonnet) ได้แถลงว่า ฝรั่งเศสมองว่ายุโรปตะวันออกเป็นเขตอิทธิพลจำเพาะของเยอรมนี[249] ริบเบินทร็อพได้แสดงโทรเลขภายใน (diplomatic cable) แก่ฮิตเลอร์ซึ่งสนับสนุนการวิเคราะห์ของเขา[250] เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำกรุงลอนดอน แฮร์แบร์ท ฟอน ดีร์คเซน สนับสนุนการวิเคราะห์ของริบเบินทร็อพด้วยการเดินหนังสือในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 โดยรายงานว่าเชมเบอร์เลนทราบ "โครงสร้างสังคมของอังกฤษ กระทั่งกรอบความคิดของจักรวรรดิอังกฤษ ว่าจะไม่รอดพ้นความยุ่งเหยิงของสงครามแม้จะชนะก็ตาม" และดังนั้นจึงจะยอมอ่อนตาม[248] เมื่อเป็นเช่นนั้น วันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์จึงสั่งระดมพลทางทหารต่อโปแลนด์[251]
แผนการสำหรับการทัพทางทหารในโปแลนด์ของฮิตเลอร์เมื่อปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายนนั้นต้องอาศัยการสนับสนุนโดยปริยายของโซเวียต[252] สนธิสัญญาไม่รุกราน (กติกาสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพ) ระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต ภายใต้การนำของโจเซฟ สตาลิน รวมภาคผนวกลับด้วยความตกลงแบ่งโปแลนด์ระหว่างสองประเทศ ในการสนองต่อสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบินทร็อพ อังกฤษและโปแลนด์ลงนามในพันธมิตรทางการทหารอังกฤษ-โปแลนด์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ซึ่งขัดกับที่ริบเบินทร็อพพยากรณ์ไว้ว่าสนธิสัญญาที่เพิ่งก่อตั้งนี้จะตัดความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษ-โปแลนด์ พันธมิตรนี้ ร่วมกับข่าวจากอิตาลีที่ว่ามุสโสลินีจะไม่เคารพสนธิสัญญาเหล็ก ทำให้ฮิตเลอร์เลื่อนการโจมตีโปแลนด์ออกไปจากวันที่ 25 สิงหาคม ไปเป็น 1 กันยายน[253] ไม่กี่วันก่อนสงครามเริ่มต้น ฮิตเลอร์พยายามออกอุบายให้อังกฤษวางตัวเป็นกลางโดยเสนอการรับประกันไม่รุกรานต่อจักรวรรดิอังกฤษเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม และโดยให้ริบเบินทร็อพเสนอแผนสันติภาพนาทีสุดท้ายด้วยจำกัดเวลาสั้นอย่างเป็นไปไม่ได้ในความพยายามที่จะกล่าวโทษว่าสงครามเป็นผลจากความเฉื่อยชาของอังกฤษและโปแลนด์[254][255]
เพื่อใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการบุกครองทางทหารต่อโปแลนด์ ฮิตเลอร์จึงอ้างสิทธิเหนือนครเสรีดันท์ซิชและสิทธิในถนนนอกอาณาเขตข้ามฉนวนโปแลนด์ ซึ่งเยอรมนีได้ยกให้ภายใต้สนธิสัญญาแวร์ซาย[256] แม้ความกังวลของฮิตเลอร์ว่าอังกฤษอาจเข้าแทรกแซง ท้ายที่สุด เขาไม่ได้ยุติเป้าหมายในอันที่จะบุกครองโปแลนด์[257] และวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 เยอรมนีก็ได้บุกครองโปแลนด์ทางตะวันตก อังกฤษและฝรั่งเศสสนองโดยประกาศสงครามต่อเยอรมนีในวันที่ 3 กันยายน ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจแก่ฮิตเลอร์ ทำให้เขาหันไปหาริบเบินทร็อพและถามเขาอย่างโกรธ ๆ ว่า "ไงล่ะทีนี้"[258] ฝรั่งเศสและอังกฤษมิได้ปฏิบัติตามการประกาศของตนในทันที และเมื่อวันที่ 17 กันยายน กองทัพโซเวียตบุกครองโปแลนด์จากทางตะวันออก[259]
โปแลนด์จะไม่มีวันผงาดขึ้นมาอีกเหมือนครั้งสนธิสัญญาแวร์ซาย! นี่ไม่เพียงถูกการันตีโดยเยอรมนีเท่านั้น แต่ยังถูกการันตีโดยรัสเซียด้วย
— ฮิตเลอร์ กล่าวสุนทรพจน์ต่อสาธารณะในดันท์ซิช กันยายน ค.ศ. 1939[260]
การสูญเสียโปแลนด์ตามมาด้วยสิ่งที่นักหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยเรียกว่า "สงครามลวง" หรือซิทซครีก ฮิตเลอร์สั่งการให้เกาไลเทอร์แห่งโปแลนด์ตะวันตกเฉียงเหนือ อัลแบร์ท ฟอร์สแตร์ และอาร์ธูร์ ไกรแซร์ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งใหม่ "แผลง[พื้นที่]เป็นเยอรมัน" (Germanise) และให้สัญญาแก่ทั้งสองว่า "จะไม่มีการตั้งคำถาม" ถึงวิธีการที่ใช้[261] ด้วยความรำคาญใจของฮิมเลอร์ ฟอร์สแตร์ให้ชาวโปแลนด์ท้องถิ่นลงนามในแบบซึ่งประกาศว่าพวกเขามีเลือดเยอรมัน และไม่ต้องใช้เอกสารหลักฐานอื่นประกอบ[262] แต่อีกด้านหนึ่ง ไกรแซร์เริ่มการรณรงค์ล้างเชื้อชาติอย่างโหดร้ายต่อประชากรโปแลนด์ในอำนาจของเขา[261] ไกรแซร์บ่นกับฮิตเลอร์ว่าฟอร์สแตร์อนุญาตให้ชาวโปแลนด์หลายพันคนได้รับการยอมรับว่าเป็นชาวเยอรมัน "โดยเชื้อชาติ" และดังนั้น ในมุมมองของไกรแซร์ จึงเป็นอันตรายต่อ "ความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติ" ของเยอรมัน ฮิตเลอร์บอกฮิมเลอร์และไกรแซร์ให้ยอมรับความขับข้องกับฟอร์สแตร์ และไม่ให้พาดพิงถึงเขา[261] การจัดการกับกรณีพิพาทฟอร์สแตร์-ไกรแซร์นั้น ได้ถูกพัฒนาเป็นตัวอย่างของทฤษฎี "ทำงานมุ่งสู่ฟือเรอร์" ของเคอร์ชอว์ หมายความว่า ฮิตเลอร์สั่งการอย่างคลุมเครือและคาดหวังให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาดำเนินนโยบายนั้นเอง
อีกกรณีพิพาทหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายที่แตกต่างกัน ด้านหนึ่ง นำโดยฮิมเลอร์และไกรแซร์ สนับสนุนการกวาดล้างเชื้อชาติในโปแลนด์ และอีกด้านหนึ่ง นำโดยเกอริงและฮันส์ ฟรังค์ ข้าหลวงใหญ่ดินแดนเจเนรัลกอแวร์นเมนท์ในโปแลนด์เขตยึดครอง เรียกร้องให้เปลี่ยนโปแลนด์เป็น "ยุ้งฉาง" ของไรช์[263] ในการประชุมซึ่งจัดที่คฤหาสน์คารินฮัลของเกอริงเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1940 กรณีพิพาทนี้เดิมได้รับการตัดสินเห็นชอบกับมุมมองการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเกอริง-ฟรังค์ ซึ่งยุติการเนรเทศขนานใหญ่ซึ่งรบกวนเศรษฐกิจ[263] อย่างไรก็ดี วันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 ฮิมเลอร์นำเสนอฮิตเลอร์ด้วยบันทึกข้อความ "บางคติว่าด้วยการปฏิบัติต่อประชากรต่างด้าวในทางตะวันออก" ซึ่งเรียกร้องให้ขับไล่ประชากรยิวทั้งยุโรปไปยังแอฟริกาและลดฐานะประชากรโปแลนด์ที่เหลือลงเป็น "ชนชั้นแรงงานไร้ผู้นำ"[263] ฮิตเลอร์ลงความเห็นต่อข้อเสนอดังกล่าวว่า "ดีงาม"[263] เขาจึงละเลยเกอริงและฟรังค์ และนำนโยบายของฮิมเลอร์-ไกรแซร์ไปปฏิบัติในโปแลนด์
ฮิตเลอร์สั่งการให้เสริมสร้างกำลังทหารตามชายแดนตะวันตกของเยอรมนี และในเดือนเมษายน ค.ศ. 1940 กองทัพเยอรมันบุกครองเดนมาร์กและนอร์เวย์ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 กองทัพของฮิตเลอร์โจมตีฝรั่งเศส และพิชิตลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ชัยชนะเหล่านี้กระตุ้นให้มุสโสลินีนำอิตาลีเข้าพวกกับฮิตเลอร์ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1940 ฝรั่งเศสยอมจำนนเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1940[264]
อังกฤษ ซึ่งกองทัพถูกบีบให้ออกจากฝรั่งเศสทางทะเลจากดันเคิร์ก[265] ยังคงสู้รบเคียงข้างเครือจักรภพอังกฤษอื่น ๆ ในยุทธนาวีแอตแลนติก ฮิตเลอร์ทาบทามสันติภาพต่ออังกฤษ ซึ่งขณะนี้นำโดยวินสตัน เชอร์ชิลล์ และเมื่อการทาบทามนั้นถูกปฏิเสธ เขาได้สั่งการทิ้งระเบิดโฉบฉวยต่อสหราชอาณาจักร โหมโรงสู่การบุกครองสหราชอาณาจักรที่วางแผนไว้ของฮิตเลอร์เป็นชุดการโจมตีทางอากาศในยุทธการบริเตนต่อฐานทัพอากาศกองทัพอากาศอังกฤษ และสถานีเรดาร์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ อย่างไรก็ดี ลุฟท์วัฟเฟอของเยอรมนีไม่สามารถเอาชนะกองทัพอากาศอังกฤษ[266]
วันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1940 กติกาสัญญาไตรภาคีได้รับการลงนามในกรุงเบอร์ลิน โดยซาบูโร คูรูซุ ผู้แทนญี่ปุ่น, โยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ ผู้แทนไรช์ และกาลีอาซโซ ซิอาโน ผู้แทนอิตาลี[267] ความตกลงดังกล่าวภายหลังขยายไปรวมถึงฮังการี โรมาเนียและบัลแกเรีย ประเทศเหล่านี้รู้จักกันในชื่อกลุ่มอักษะประเทศ จุดประสงค์ของสนธิสัญญาคือ เพื่อขัดขวางสหรัฐอเมริกามิให้สนับสนุนอังกฤษ จนถึงปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1940 ความเป็นเจ้าทางอากาศสำหรับการบุกครองอังกฤษ ปฏิบัติการสิงโตทะเล ไม่อาจบรรลุได้ และฮิตเลอร์สั่งการตีโฉบฉวยทางอากาศยามกลางคืนตามนครต่าง ๆ ของอังกฤษ รวมทั้งลอนดอน พลีมัธ และคอเวนทรี[268]
ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์ถูกทำให้ไขว้เขวจากแผนการทางตะวันออกโดยกิจกรรมทางทหารในแอฟริกาเหนือ คาบสมุทรบอลข่านและตะวันออกกลาง ในเดือนกุมภาพันธ์ กองทัพเยอรมันไปถึงลิเบียเพื่อสนับสนุนอิตาลี ในเดือนเมษายน ฮิตเลอร์สั่งการบุกครองยูโกสลาเวีย และตามด้วยการบุกครองกรีซในเวลาอันรวดเร็ว[269] ในเดือนพฤษภาคม กองทัพเยอรมันถูกส่งไปสนับสนุนกำลังกบฏอิรักที่สู้รบต่ออังกฤษและบุกครองครีต วันที่ 23 พฤษภาคม ฮิตเลอร์ออกคำสั่งฟือเรอร์ ฉบับที่ 30[270]
ทางสู่ความปราชัย
แก้เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 โดยฝ่าฝืนสนธิสัญญาไม่รุกรานฮิตเลอร์-สตาลิน ทหารเยอรมันสามล้านนายโจมตีสหภาพโซเวียตในปฏิบัติการบาร์บารอสซา[271] การบุกครองนี้ได้ยึดพื้นที่ได้กว้างใหญ่ไพศาล รวมทั้งรัฐบอลติก เบลารุส และยูเครน อย่างไรก็ดี การรุกคืบของเยอรมนีหยุดลงไม่ไกลจากกรุงมอสโกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 โดยฤดูหนาวของรัสเซียและการต้านทานอย่างดุเดือดของโซเวียต[272]
การชุมนุมของทหารโซเวียตตรงพรมแดนตะวันออกของเยอรมนีในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1941 อาจเป็นเหตุให้ฮิตเลอร์มามีส่วนในฟลุคท์ นัค ฟอร์น ("บินไปข้างหน้า") เพื่อเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิกตอร์ ซูโวรอฟ, แอ็นสท์ โทพิทช์, โจอาคิม ฮอฟฟ์มันน์, แอ็นสท์ นอลเทอ และเดวิด เอียร์วิง ได้ถกเถียงกันว่าเหตุผลอย่างเป็นทางการสำหรับบาร์บารอสซาที่กองทัพเยอรมันให้นั้นเป็นเหตุผลแท้จริง คือ สงครามป้องกันเพื่อปัดป้องการโจมตีของโซเวียตที่เตรียมการไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1941 อย่างไรก็ดี ทฤษฎีนี้ถูกติเตียน นักประวัติศาสตร์อเมริกัน เกอร์ฮาร์ด ไวน์เบิร์ก เคยเปรียบผู้สนับสนุนทฤษฎีสงครามป้องกันกับผู้ที่เชื่อใน "เทพนิยาย"[273]
การบุกครองสหภาพโซเวียตของกองทัพบกเยอรมันถึงขีดสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1941 เมื่อกองพลทหารราบที่ 258 รุกเข้าไปภายในรัศมี 24 กิโลเมตรจากกรุงมอสโก ใกล้พอที่จะเห็นยอดแหลมของเครมลิน[272] อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้เตรียมการสำหรับสภาพอันโหดร้ายของฤดูหนาวรัสเซีย และกองทัพโซเวียตผลักดันกองทัพเยอรมันกลับมาเป็นระยะทางกว่า 320 กิโลเมตร
วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ รัฐฮาวาย สี่วันให้หลัง การประกาศสงครามอย่างเป็นทางการต่อสหรัฐอเมริกาของฮิตเลอร์ ทำให้เยอรมนีเข้าสู่สงครามกับกำลังผสมซึ่งมีประเทศจักรวรรดิใหญ่ที่สุดในโลก คือ จักรวรรดิอังกฤษ ประเทศอุตสาหกรรมและการเงินยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก คือ สหรัฐอเมริกา และประเทศที่มีกองทัพใหญ่ที่สุดในโลก คือ สหภาพโซเวียต[274]
เมื่อฮิมเลอร์เข้าพบฮิตเลอร์ในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1941 แล้วตั้งคำถาม "จะให้ทำยังไงกับพวกยิวในรัสเซีย?" ฮิตเลอร์ตอบว่า "ก็กำจัดทิ้งเหมือน ๆ กันนั่นแหละ")[275] นักประวัติศาสตร์อิสราเอล เยฮูดา บาวเออร์ (Yehuda Bauer) ได้ออกความเห็นว่า ความเห็นของฮิตเลอร์นี้อาจใกล้เคียงมากที่สุดเท่าที่นักประวัติศาสตร์จะหาคำสั่งสรุปขั้นสุดท้ายจากฮิตเลอร์ในพันธุฆาตที่ดำเนินระหว่างการล้างชาติโดยนาซี[275]
ปลาย ค.ศ. 1942 กองทัพเยอรมันปราชัยในยุทธการเอล อาลาเมนครั้งที่สอง[276] ขัดขวางแผนการของฮิตเลอร์ในการยึดคลองสุเอซและตะวันออกกลาง เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 ยุทธการสตาลินกราดสิ้นสุดลงด้วยกองทัพเยอรมันที่หกถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ตามด้วยความพ่ายแพ้เด็ดขาดในยุทธการเคิสก์[277] การตัดสินใจทางทหารของฮิตเลอร์เริ่มไม่มั่นคงเพิ่มขึ้น และฐานะทางทหารและเศรษฐกิจของเยอรมนีบั่นทอนลงไปพร้อมกับสุขภาพของฮิตเลอร์ เคอร์ชอว์และคนอื่น ๆ เชื่อว่า ฮิตเลอร์อาจป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน[278]
หลังการบุกครองอิตาลีของฝ่ายสัมพันธมิตรใน ค.ศ. 1943 มุสโสลินีถูกปลดโดยปีเอโตร บาโดลโย[279] ผู้ยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ตลอด ค.ศ. 1943 และ 1944 สหภาพโซเวียตค่อย ๆ บีบให้กองทัพของฮิตเลอร์ล่าถอยตามแนวรบด้านตะวันออก วันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 กองทัพสัมพันธมิตรตะวันตกขึ้นฝั่งทางตอนเหนือของฝรั่งเศสในหนึ่งในปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด[280] ด้วยเหตุความเสื่อมถอยของกองทัพเยอรมัน นายทหารหลายคนจึงสรุปว่า ความพ่ายแพ้หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการตัดสินใจผิดพลาดหรือการปฏิเสธของฮิตเลอร์จะยืดสงครามออกไปและส่งผลให้ประเทศชาติพังพินาศย่อยยับ[281] ความพยายามลอบสังหารที่ได้รับความสนใจหลายครั้งต่อฮิตเลอร์เกิดขึ้นระหว่างช่วงนี้
ระหว่าง ค.ศ. 1939 และ 1945 มีหลายแผนในการลอบสังหารฮิตเลอร์ ซึ่งบางแผนดำเนินไปยังระดับที่สำคัญ[282] แผนที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดมาจากภายในเยอรมนี และอย่างน้อยบางส่วนมาจากโอกาสที่เพิ่มขึ้นที่เยอรมนีจะแพ้สงคราม[283] ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1944 แผนลับ 20 กรกฎาคม ส่วนหนึ่งของปฏิบัติการวาลคือเรอ เคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค ติดตั้งระเบิดไว้ในกองบัญชาการแห่งหนึ่งของฮิตเลอร์ โวลฟ์สชันเซอ (รังหมาป่า) ที่รัสเทนบูร์ก ฮิตเลอร์รอดชีวิตอย่างหวุดหวิดเพราะบางคนผลักกระเป๋าเอกสารที่บรรจุระเบิดไปหลังขาโต๊ะประชุมที่หนักอย่างไม่รู้ เมื่อเกิดระเบิดขึ้น โต๊ะสะท้อนแรงระเบิดส่วนมากไปจากฮิตเลอร์ ภายหลัง ฮิตเลอร์สั่งการตอบโต้อย่างโหดร้าย ซึ่งส่งผลให้มีการประหารชีวิตคนกว่า 4,900 คน[284]
ความปราชัยและอสัญกรรม
แก้จนถึงปลาย ค.ศ. 1944 กองทัพแดงได้ขับกองทัพเยอรมันถอยกลับไปยังยุโรปตะวันตก และสัมพันธมิตรตะวันตกกำลังรุกคืบเข้าไปในเยอรมนี หลังได้รับแจ้งความล้มเหลวของการรุกอาร์เดนเนสของเขา ฮิตเลอร์จึงตระหนักว่าเยอรมนีกำลังแพ้สงคราม ความหวังของเขา ซึ่งขึ้นอยู่กับการถึงแก่อสัญกรรมของแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์เมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1945 คือ การเจรจาสันติภาพกับอเมริกาและอังกฤษ[285] ฮิตเลอร์สั่งการให้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมทั้งหมดของเยอรมนีก่อนที่จะตกอยู่ในมือฝ่ายสัมพันธมิตร[286] โดยทำตามมุมมองของเขาที่ว่าความล้มเหลวทางทหารของเยอรมนีเสียสิทธิ์ในการอยู่รอดเป็นชาติ การดำเนินการแผนการเผาทุกสิ่งทุกอย่างนี้ถูกมอบหมายไปยังรัฐมนตรีอาวุธ อัลแบร์ท ชเปียร์ ผู้ขัดคำสั่งเขาอย่างเงียบ ๆ [286]
วันที่ 20 เมษายน วันเกิดปีที่ 56 ของเขา ฮิตเลอร์เดินทางครั้งสุดท้ายจากฟือเรอร์บุงเคอร์ไปยังพื้นที่กลางแจ้ง ในสวนที่ถูกทำลายของทำเนียบรัฐบาลไรช์ เขามอบกางเขนเหล็กให้ทหารหนุ่มแห่งยุวชนฮิตเลอร์ จนถึงวันที่ 21 เมษายน แนวรบเบลารุสที่ 1 ของเกออร์กี จูคอฟ ได้เจาะผ่านการป้องกันสุดท้ายของกองทัพกลุ่มวิสตูลาของพลเอก กอททาร์ด ไฮน์รีซี ระหว่างยุทธการที่ราบสูงซีโลว์ และรุกเข้าไปยังชานกรุงเบอร์ลิน[287] ในการไม่ยอมรับเกี่ยวกับสถานการณ์อันเลวร้ายเพิ่มขึ้น ฮิตเลอร์ตั้งความหวังของเขาต่อหน่วย อาร์เมอับไทลุง ชไตเนอร์ ("กองทหารชไตเนอร์") ภายใต้การบังคับบัญชาของนายทหารวัฟเฟิน เอ็สอาส พลโท เฟลิคส์ ชไตเนอร์ ฮิตเลอร์สั่งการให้ชไตเนอร์โจมตีปีกด้านเหนือของส่วนที่ยื่นออกมา และกองพลเยอรมันที่เก้าได้รับคำสั่งให้โจมตีไปทางเหนือแบบการโจมตีขนาบ (pincer attack)[288]
ระหว่างการประชุมทหารเมื่อวันที่ 22 เมษายน ฮิตเลอร์ถามถึงการรุกของชไตเนอร์ หลังความเงียบเป็นเวลานาน เขาได้รับบอกเล่าว่า การโจมตีนั้นไม่เคยเกิดขึ้นและพวกรัสเซียได้ตีฝ่าเข้าไปในกรุงเบอร์ลิน ข่าวนี้ทำให้ฮิตเลอร์ขอให้ทุกคนยกเว้นวิลเฮ็ล์ม ไคเทิล, อัลเฟรด โยเดิล, ฮันส์ เครพส์ และวิลเฮ็ล์ม บวร์คดอร์ฟ ออกจากห้อง[289] จากนั้น เขาได้ประณามต่อการทรยศและความไร้ความสามารถของผู้บังคับบัญชาของเขาอย่างเผ็ดร้อน และลงเอยด้วยการประกาศเป็นครั้งแรกว่า เยอรมนีแพ้สงคราม ฮิตเลอร์ประกาศว่าเขาจะอยู่ในกรุงเบอร์ลินจนถึงจุดจบและจากนั้นยิงตัวตาย[290]
เกิบเบิลส์ออกประกาศวันที่ 23 เมษายนกระตุ้นให้พลเมืองเบอร์ลินป้องกันนครอย่างกล้าหาญ[289] วันเดียวกันนั้น เกอริงส่งโทรเลขจากเบอร์ชเทสกาเดนในรัฐบาวาเรีย แย้งว่า ตั้งแต่ฮิตเลอร์ถูกตัดขาดในกรุงเบอร์ลิน ตัวเขาควรเป็นผู้นำเยอรมนีแทน เกอริงได้กำหนดเวลา หลังจากนั้นเขาจะพิจารณาว่าฮิตเลอร์ไร้ความสามารถ[291] ฮิตเลอร์สนองด้วยความโกรธโดยสั่งจับกุมเกอริง และเมื่อเขียนพินัยกรรมเมื่อวันที่ 29 เมษายน เขาถอดเกอริงออกจากตำแหน่งทั้งหมดในรัฐบาล[292][293]
กรุงเบอร์ลินได้มาถูกตัดขาดจากส่วนที่เหลือของเยอรมนีอย่างสิ้นเชิง วันที่ 28 เมษายน ฮิตเลอร์พบว่า ฮิมเลอร์กำลังพยายามเจรจาเงื่อนไขการยอมแพ้ต่อสัมพันธมิตรตะวันตก เขาจึงสั่งจับกุมฮิมเลอร์และสั่งยิงแฮร์มันน์ เฟเกิลไอน์ (ผู้แทนเอ็สอาสของฮิมเลอร์ที่กองบัญชาการของฮิตเลอร์ในกรุงเบอร์ลิน)[294]
หลังเที่ยงคืนวันที่ 29 เมษายน ฮิตเลอร์สมรสกับเอฟา เบราน์ในพิธีตามกฎหมายเล็ก ๆ ในห้องแผนที่ภายในฟือเรอร์บุงเกอร์ หลังทานอาหารเช้างานแต่งที่เรียบง่ายกับภรรยาใหม่ของเขา จากนั้น เขานำเลขานุการเทราเดิล ยุงเงอ (Traudl Junge) ไปอีกห้องหนึ่งและบอกให้เขียนพินัยกรรมฉบับหลังสุดของเขา[295] เหตุการณ์ดังกล่าวมีฮันส์ เครพส์, วิลเฮ็ล์ม บวร์คดอร์ฟ, โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ และมาร์ทีน บอร์มันเป็นพยานและผู้ลงนามเอกสาร[296] ในช่วงบ่าย ฮิตเลอร์ทราบข่าวการประหารชีวิตผู้เผด็จการชาวอิตาลี เบนิโต มุสโสลินี ซึ่งอาจเพิ่มความตั้งใจที่จะหนีการจับตัว[297]
วันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 หลังการสู้รบถนนต่อถนนอย่างเข้มข้น เมื่อกองทัพโซเวียตอยู่ในระยะหนึ่งหรือสองช่วงตึกจากทำเนียบรัฐบาลไรช์ ฮิตเลอร์และเบราน์ทำอัตวินิบาตกรรม เบราน์กัดแคปซูลไซยาไนด์[298] และฮิตเลอร์ยิงตัวตายด้วยปืนพกวัลเทอร์ เพเพคา (Walther PPK) 7.65 มม. ของเขา[299] ร่างไร้วิญญาณของฮิตเลอร์และเอฟา เบราน์ถูกนำขึ้นบันไดและผ่านทางออกฉุกเฉินของบังเกอร์ไปยังสวนที่ถูกระเบิดหลังทำเนียบรัฐบาลไรช์ ที่ซึ่งทั้งสองร่างถูกวางไว้ในหลุมระเบิด[300] ราดด้วยน้ำมัน และจุดไฟ[301] ขณะที่กองทัพแดงยิงปืนใหญ่ถล่มต่อเนื่อง[302]
เบอร์ลินยอมจำนนเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม บันทึกในจดหมายเหตุโซเวียต ซึ่งได้มาหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย แสดงให้เห็นว่า ศพของฮิตเลอร์ เบราน์ โจเซฟและมักดา เกิบเบิลส์ ลูก ๆ เกิบเบิลส์ทั้งหกคน พลเอก ฮันส์ เครพส์ และสุนัขของฮิตเลอร์ ถูกฝังและขุดขึ้นมาหลายครั้ง[303] จากนั้นโซเวียตจัดการเผา บดและโปรยอัฐิที่แม่น้ำบีเดริทซ์ สาขาหนึ่งของแม่น้ำเอลเบ
ชีวิตส่วนตัว
แก้ครอบครัว
แก้ฮิตเลอร์ส่งเสริมภาพลักษณ์ของตนต่อสาธารณะว่าเป็นภาพลักษณ์ชายที่อยู่เป็นโสดโดยปราศจากชีวิตครอบครัว อุทิศตนทั้งหมดให้แก่ภารกิจทางการเมืองและประเทศชาติของเขา[138][304] เขาพบเอฟา เบราน์ ภรรยาลับของเขา ใน ค.ศ. 1929[305] และสมรสกับเธอในเดือนเมษายน ค.ศ. 1945[306]
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1931 เกลี เราบัล หลานสาวของเขา ทำอัตวินิบาตกรรมด้วยปืนของฮิตเลอร์ในอพาร์ตเมนต์ในมิวนิกของเขา มีข่าวลือในบรรดาคนร่วมสมัยว่า เกลีมีความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกกับเขา และความตายของเธอนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ลึกล้ำและยาวนาน[307] เพาลา ฮิตเลอร์ สมาชิกคนสุดท้ายของครอบครัวฮิตเลอร์สายตรงคนสุดท้าย เสียชีวิตใน ค.ศ. 1960[308]
มุมมองทางศาสนา
แก้บิดามารดาของฮิตเลอร์นับถือนิกายโรมันคาทอลิก แต่หลังย้ายออกจากบ้านแล้ว เขาไม่เคยเข้าพิธีมิสซาหรือรับศีลศักดิ์สิทธิ์เลย[309] เขาเชิดชูลักษณะจำนวนหนึ่งของนิกายโปรแตสแตนต์ที่เหมาะกับมุมมองของเขาเอง และรับเอาบางลักษณะของการจัดการเป็นระบบลำดับขั้นของศาสนจักรคาทอลิก พิธีสวดและสำนวนโวหารมาใช้ในการเมืองของเขาด้วย[310][311] หลังเขาย้ายไปยังเยอรมนี ฮิตเลอร์ไม่เคยออกจากศาสนจักรของเขาเลย นักประวัติศาสตร์ ริชาร์ด ชไตก์มันน์-กัลล์ (Richard Steigmann-Gall) สรุปว่า เขา "สามารถจัดว่าเป็นคาทอลิกได้"[312] แต่ "สมาชิกภาพศาสนจักรแต่ในนามเป็นตัววัดที่เชื่อถือไม่ได้อย่างมากในการวัดความศรัทธาแท้จริงในบริบทนี้"[313]
ต่อสาธารณะ ฮิตเลอร์มักยกย่องมรดกคริสเตียนและวัฒนธรรมคริสเตียนเยอรมัน และปฏิญาณความเชื่อในพระเยซูคริสต์ "อารยัน" พระเยซูผู้ต่อสู้กับพวกยิว[314] เขากล่าวถึงการตีความศาสนาคริสต์ของเขาว่าเป็น แรงจูงใจสำคัญแก่การต่อต้านยิวของเขา โดยว่า "ในฐานะคริสเตียน ผมไม่มีหน้าที่จะปล่อยให้ตัวเองถูกหลอกลวง แต่ผมมีหน้าที่ที่จะสู้เพื่อความจริงและความยุติธรรม"[315][316] แต่สำหรับส่วนตัว ฮิตเลอร์วิจารณ์ศาสนาคริสต์แบบดั้งเดิม โดยพิจารณาว่าเป็นศาสนาที่เหมาะสมเฉพาะสำหรับทาส เขายกย่องอำนาจแห่งโรมแต่ยังรักษาความเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรงต่อคำสอนของโรม[317] นักประวัติศาสตร์ จอห์น เอส. คอนเวย์ ว่า ฮิตเลอร์ยึดถือ "การต่อต้านหลัก" ต่อศาสนจักรคริสเตียน[318]
ด้านความสัมพันธ์ทางการเมืองกับศาสนจักร ฮิตเลอร์รับเอายุทธศาสตร์ "ที่เหมาะสมกับจุดประสงค์ทางการเมืองที่ส่งผลโดยตรงของเขา"[318] ตามรายงานของสำนักงานบริการด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ฮิตเลอร์มีแผนการใหญ่ ตั้งแต่ก่อนเขาก้าวขึ้นสู่อำนาจ ในการทำลายอิทธิพลของคริสตจักรภายในแผ่นดินไรช์[319][320] รายงานชื่อ "แผนแม่บทนาซี" (The Nazi Master Plan) ระบุว่า การทำลายล้างศาสนจักรเป็นเป้าหมายของขบวนการตั้งแต่เริ่มต้น แต่เป็นการไม่เหมาะสมที่จะแสดงท่าทีสุดโต่งนี้อย่างเปิดเผย[321] เจตนาของเขา ตามข้อมูลของบุลล็อก คือ รอกระทั่งสงครามยุติแล้วจึงค่อยทำลายอิทธิพลของศาสนาคริสต์[317]
ฮิตเลอร์ยกย่องประเพณีทางทหารของมุสลิม แต่มองว่าชาวอาหรับ "เป็นเชื้อชาติต่ำกว่า"[322] เขาเชื่อว่า ชาวเยอรมันที่เป็นเชื้อชาติสูงส่งกว่า ร่วมกับศาสนาอิสลาม สามารถพิชิตดินแดนส่วนใหญ่ของโลกได้ระหว่างยุคกลาง[323] ระหว่างการประชุมกับศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1931 ฮิตเลอร์ยกย่องศาสนาชินโตและวัฒนธรรมญี่ปุ่น[324] แม้ฮิมเลอร์จะสนใจในเวทมนตร์ การตีความอักษรรูน และการตามรอยรากเหง้าก่อนประวัติศาสตร์ของชาวเยอรมัน แต่ฮิตเลอร์นั้นเน้นการปฏิบัติมากกว่า และอุดมการณ์ของเขารวมอยู่ที่ความเกี่ยวพันทางปฏิบัติมากกว่า[325][326]
สุขภาพ
แก้นักวิจัยได้เสนอว่า ฮิตเลอร์ทุกข์ทรมานจากอาการและโรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคลำไส้แปรปรวน รอยโรคที่ผิวหนัง หัวใจเต้นผิดจังหวะ coronary sclerosis[327] โรคพาร์กินสัน[278][328] ซิฟิลิส[328] หลอดเลือดแดงอักเสบแบบไจแอนต์เซลล์[329] โรคเสียงดังในหู[330] และมีอัณฑะข้างเดียว[331] ทฤษฎีเกี่ยวกับสภาวะทางการแพทย์ของฮิตเลอร์ยากจะพิสูจน์ และตามทฤษฎีเหล่านี้ น้ำหนักมากเกินอาจมีผลซึ่งหลาย ๆ เหตุการณ์และผลที่เกิดขึ้นภายหลังของแผ่นดินไรช์ที่สามอาจมาจากสุขภาพทางกายที่เป็นไปได้ว่าบกพร่องของปัจเจกบุคคลหนึ่งเดียว[332] เคอร์ชอว์รู้สึกว่า เป็นการดีกว่าที่จะที่จะถือมุมมองของประวัติศาสตร์เยอรมันที่กว้างกว่า โดยพิจารณาว่า แรงผลักทางสังคมใดนำไปสู่แผ่นดินไรช์ที่สามและนโยบายมากกว่าเจริญรอยตามคำอธิบายแคบ ๆ แก่การล้างชาติโดยนาซีและสงครามโลกครั้งที่สองโดยอิงบุคคลเพียงคนเดียว[333]
ฮิตเลอร์กินมังสวิรัติ[334] ในงานสังคม บางครั้งเขาให้คำอธิบายการฆ่าสัตว์ด้วยกราฟิกด้วยพยายามให้แขกอาหารเย็นของเขาไม่กินเนื้อ มีการอ้างเหตุผลกว้างขวางมากที่สุดว่า ความกลัวโรคมะเร็ง (ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้มารดาของเขาเสียชีวิต)[335] ทำให้ฮิตเลอร์กินมังสวิรัติ เขาเป็นผู้ต้านการทดลองในสัตว์ และอาจเลือกทานอาหารเพราะความเป็นห่วงสัตว์อย่างลึกซึ้ง[336] บอร์มันสั่งให้สร้างเรือนกระจกใกล้กับแบร์กฮอฟ (ใกล้กับแบร์ชเทสกาเดน) เพื่อให้ฮิตเลอร์มีผลไม้และผักเพียงพออย่างต่อเนื่องตลอดสงคราม ฮิตเลอร์ดูถูกแอลกอฮอล์[337]และไม่สูบบุหรี่ เขาส่งเสริมการรณรงค์งดสูบบุหรี่อย่างห้าวหาญทั่วประเทศเยอรมนี[338] ฮิตเลอร์เริ่มใช้แอมเฟตามีนเป็นครั้งคราวตั้งแต่ ค.ศ. 1937 และเริ่มติดยาในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1942[339] อัลแบร์ท สเพร์เชื่อมโยงการใช้แอมเฟตามีนนี้กับการตัดสินใจที่ไม่ยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของฮิตเลอร์ (ตัวอย่างเช่น ไม่เคยอนุญาตการร่นถอยทางทหาร)[340]
ฮิตเลอร์ได้รับการสั่งจ่ายยาถึงเก้าสิบชนิดที่แตกต่างกันระหว่างสงคราม และทานยาหลายเม็ดต่อวันเพราะปัญหากระเพาะอาหารเรื้อรังและอาการป่วยอื่น ๆ เขาทุกข์ทรมานจากแก้วหูทะลุ อันเป็นผลของแรงระเบิดในแผนลับ 20 กรกฎาคม ใน ค.ศ. 1944 และถูกถอนเสี้ยนไม้สองร้อยชิ้นออกจากขาของเขา[341] ฟิล์มภาพยนตร์ข่าวฮิตเลอร์แสดงให้เห็นว่า มือฮิตเลอร์สั่นและเขาเดินย่องแย่ง ซึ่งเริ่มขึ้นก่อนสงครามและเลวร้ายลงเมื่อใกล้บั้นปลายชีวิต แพทย์ประจำตัวฮิตเลอร์ ธีโอดอร์ โมเรลล์ รักษาฮิตเลอร์ด้วยยาซึ่งสั่งจ่ายโดยทั่วไปเพื่อรักษาโรคพาร์กินสันใน ค.ศ. 1945 แอ็นสท์-กึนเทอร์ เชนค์และแพทย์อีกหลายคนพบฮิตเลอร์ในสัปดาห์ท้าย ๆ ของชีวิตเพื่อวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน[342][343]
มรดก
แก้การยิงตัวตายของฮิตเลอร์ถูกเปรียบเทียบโดยคนร่วมสมัยว่าเป็น "คาถา" กำลังเสื่อม[344][345] โทแลนด์ระบุว่า เมื่อไร้ซึ่งผู้นำ ลัทธิชาติสังคมนิยมก็ "ระเบิดเหมือนกับฟอง"[346]
พฤติการณ์ของฮิตเลอร์และอุดมการณ์นาซีถูกคนเกือบทั้งโลกมองว่าผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรง[347] อุดมการณ์การเมืองของเขานำมาซึ่งสงครามโลก ยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางอยู่ในสภาพพังพินาศและยากจนข้นแค้น ประเทศเยอรมนีเองก็ประสบกับความวินาศย่อยยับเบ็ดเสร็จ ซึ่งถูกเปรียบเปรยว่าเป็นเวลา "ศูนย์นาฬิกา"[348] ที่หมายถึงจุดสิ้นสุดของนาซีเยอรมนี และเป็นจุดเริ่มต้นของเยอรมนีที่ปราศนาซี นโยบายของฮิตเลอร์ได้สร้างความบอบช้ำแก่มวลมนุษยชาติในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 40 ล้านคนโดยประมาณ[349] หรือ 27 ล้านคนเฉพาะในสหภาพโซเวียต[350] นักประวัติศาสตร์ นักปรัชญาและนักการเมืองมักใช้คำว่า "ชั่วร้าย" (evil) ในการอธิบายระบอบนาซี[351] ในเยอรมนีและออสเตรีย กฎหมายห้ามการปฏิเสธฮอโลคอสต์ และการแสดงสัญลักษณ์นาซี เช่น สวัสติกะ
นักประวัติศาสตร์พรรคเสรีนิยมแห่งชาติเยอรมัน ฟรีดริช ไมเน็คเคอ (Friedrich Meinecke) อธิบายฮิตเลอร์ว่าเป็น "หนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดในห้วงประวัติศาสตร์ ที่หนึ่งบุคคลจะมีอำนาจเกินจิตนาการได้"[352] นักประวัติศาสตร์ฮิวจ์ เทรเวอร์-โรเปอร์ มองเขาว่าเป็น "ผู้พิชิตเจ้าระเบียบ บ้าประวัติศาสตร์ บ้าปรัชญาที่สุด และยังหยาบช้า ทารุณ และใจแคบที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จัก" [353] สำหรับนักประวัติศาสตร์ จอห์น เอ็ม. โรเบิร์ตส ความพ่ายแพ้ของฮิตเลอร์เป็นจุดจบของช่วงประวัติศาสตร์ยุโรปที่ถูกเยอรมนีครอบงำ[354] และแทนที่ด้วยสงครามเย็น ซึ่งเป็นการเผชิญหน้าในระดับโลกระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา[355]
อ้างอิง
แก้- ↑ Keegan 1989
- ↑ Niewyk, Donald L.; Nicosia, Francis R. (2000). The Columbia Guide to the Holocaust. New York: Columbia University Press. ISBN 978-0-231-11200-0.
- ↑ Linge (2009), With Hitler to the End: The Memoir of Hitler's Valet, pp. 199, 200
- ↑ Bullock 1999, p. 24.
- ↑ Maser 1973, p. 15.
- ↑ Hamann 2010, p. 50.
- ↑ Toland 1992, pp. 246–47.
- ↑ Kershaw 1999, pp. 8–9.
- ↑ Jetzinger 1976, p. 32.
- ↑ "Adolf Hitler's Austrian hometown revokes honour title". BBC News Online. 8 July 2011. สืบค้นเมื่อ 8 July 2011.
- ↑ Shirer 1960, p. 9.
- ↑ Rosmus 2004, p. 33.
- ↑ Keller 2010, p. 15.
- ↑ Hamann 2010, pp. 7–8.
- ↑ Kubizek 2006, p. 37.
- ↑ Kubizek 2006, p. 92.
- ↑ Hitler 1999, p. 6.
- ↑ Fromm 1977, pp. 493–498.
- ↑ Hauner 1983, p. 2.
- ↑ Shirer 1960, pp. 10–11.
- ↑ Payne 1990, p. 22.
- ↑ Kershaw 2008, p. 9.
- ↑ Hitler 1999, p. 8.
- ↑ Keller 2010, pp. 33–34.
- ↑ Fest 1977, p. 32.
- ↑ Kershaw 2008, p. 8.
- ↑ Hitler 1999, p. 10.
- ↑ Evans 2003, p. 163.
- ↑ Bendersky 2000, p. 26.
- ↑ Ryschka 2008, p. 35.
- ↑ Hamann 2010, p. 13.
- ↑ Kershaw 1999, p. 19.
- ↑ Kershaw 1999, p. 20.
- ↑ Bullock 1962, pp. 30–31.
- ↑ Hitler 1999, p. 20.
- ↑ Bullock 1999, pp. 30–33.
- ↑ Shirer 1960, p. 26.
- ↑ Hamann 2010, pp. 243–246.
- ↑ Hamann 2010, pp. 341–345.
- ↑ Hamann 2010, p. 350.
- ↑ Kershaw 1999, p. 60–67.
- ↑ Hitler 1999, p. 52.
- ↑ Toland 1992, p. 45.
- ↑ Kershaw 1999, pp. 55, 63.
- ↑ Hamann 2010, p. 174.
- ↑ Shirer 1960, p. 25.
- ↑ Hamann 1999, p. 176.
- ↑ Hamann 2010, pp. 347–359.
- ↑ Kershaw 1999, p. 64.
- ↑ Hamann 2010, pp. 348.
- ↑ Kershaw 1999, p. 66.
- ↑ Evans 2011.
- ↑ 53.0 53.1 Shirer 1960, p. 27.
- ↑ Weber 2010, pp. 13.
- ↑ Shirer 1960, p. 27, footnote.
- ↑ 56.0 56.1 Kershaw 1999, p. 90.
- ↑ Weber 2010, pp. 12–13.
- ↑ Kershaw 2008, p. 53.
- ↑ Kershaw 2008, p. 54.
- ↑ Weber 2010, p. 100.
- ↑ 61.0 61.1 Shirer 1960, p. 30.
- ↑ Kershaw 2008, p. 59.
- ↑ Bullock 1962, p. 52.
- ↑ Kershaw 1999, p. 96.
- ↑ Steiner 1976, p. 392.
- ↑ Alastair Jamieson, Nazi leader Hitler really did have only one ball.html, The Daily Telegraph, retrieved on 20 November 2008
- ↑ Kershaw 2008, p. 57.
- ↑ Kershaw 2008, p. 58.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 59, 60.
- ↑ Kershaw 1999, p. 97.
- ↑ Kershaw 1999, p. 102.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 61, 62.
- ↑ Keegan 1987, pp. 238–240.
- ↑ Bullock 1962, p. 60.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 61–63.
- ↑ Kershaw 2008, p. 96.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 80, 90, 92.
- ↑ Bullock 1999, p. 61.
- ↑ Kershaw 1999, p. 109.
- ↑ Kershaw 2008, p. 82.
- ↑ Stackelberg 2007, p. 9.
- ↑ Mitcham 1996, p. 67.
- ↑ Fest 1970, p. 21.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 94, 95, 100.
- ↑ Kershaw 2008, p. 87.
- ↑ Kershaw 2008, p. 88.
- ↑ Kershaw 2008, p. 89.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 89–92.
- ↑ Kershaw 2008, p. 81.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 100, 101.
- ↑ Kershaw 2008, p. 102.
- ↑ 92.0 92.1 Kershaw 2008, p. 103.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 83, 103.
- ↑ Kershaw 2008, p. 99.
- ↑ Bullock 1999, p. 376.
- ↑ Frauenfeld 1937.
- ↑ Goebbels 1936.
- ↑ Kressel 2002, p. 121.
- ↑ Trevor-Roper 1987, p. 116.
- ↑ Kershaw 2008, p. 105–106.
- ↑ Bullock 1999, p. 377.
- ↑ Heck 2001, p. 23.
- ↑ Larson 2011, p. 157.
- ↑ Kershaw 1999, p. 367.
- ↑ Kellogg 2005, p. 275.
- ↑ Kellogg 2005, p. 203.
- ↑ Kershaw 2008, p. 126.
- ↑ Kershaw 2008, p. 125.
- ↑ 109.0 109.1 Kershaw 2008, p. 128.
- ↑ Kershaw 2008, p. 129.
- ↑ Shirer 1960, pp. 71–72.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 130–131.
- ↑ Shirer 1960, pp. 73–74.
- ↑ Kershaw 2008, p. 132.
- ↑ Kershaw 2008, p. 131.
- ↑ Munich Court, 1924.
- ↑ Fulda 2009, pp. 68–69.
- ↑ Kershaw 1999, p. 239.
- ↑ 119.0 119.1 Bullock 1962, p. 121.
- ↑ Spiro 2008.
- ↑ Shirer 1960, pp. 80–81.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 158, 161, 162.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 162, 166.
- ↑ Shirer 1960, p. 129.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 166, 167.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 170, 172.
- ↑ Shirer 1960, pp. 136–137.
- ↑ Kolb 2005, pp. 224–225.
- ↑ Kolb 1988, p. 105.
- ↑ Halperin 1965, p. 403 et. seq.
- ↑ Halperin 1965, pp. 434–446 et. seq..
- ↑ Wheeler-Bennett 1967, p. 218.
- ↑ Wheeler-Bennett 1967, p. 216.
- ↑ Wheeler-Bennett 1967, pp. 218–219.
- ↑ Wheeler-Bennett 1967, p. 222.
- ↑ Halperin 1965, p. 449 et. seq..
- ↑ Halperin 1965, pp. 434–436, 471.
- ↑ 138.0 138.1 Shirer 1960, p. 130.
- ↑ Hinrichs 2007.
- ↑ Halperin 1965, p. 476.
- ↑ Halperin 1965, pp. 468–471.
- ↑ Bullock 1962, p. 201.
- ↑ Halperin 1965, pp. 477–479.
- ↑ Eingabe der Industriellen an Hindenburg vom November 1932, Glasnost, สืบค้นเมื่อ 22 May 2008
- ↑ "accessed 20 March 2010". Fox News. 17 October 2003. สืบค้นเมื่อ 20 April 2010.
- ↑ Shirer 1960, p. 184.
- ↑ Bullock 1962, p. 262.
- ↑ Shirer 1960, p. 194.
- ↑ Shirer 1960, p. 192.
- ↑ Bullock 1999, p. 262.
- ↑ Bullock 1962, p. 265.
- ↑ City of Potsdam.
- ↑ Shirer 1960, p. 196–197.
- ↑ Shirer 1960, p. 198.
- ↑ Shirer 1960, p. 196.
- ↑ Bullock 1999, p. 269.
- ↑ Shirer 1960, p. 199.
- ↑ 158.0 158.1 Shirer 1960, p. 201.
- ↑ Shirer 1960, p. 202.
- ↑ 160.0 160.1 Evans 2003, pp. 350–374.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 309–314.
- ↑ Tames 2008, pp. 4–5.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 313–315.
- ↑ Shirer 1960, p. 220.
- ↑ Shirer 1960, p. 229.
- ↑ Bullock 1962, p. 309.
- ↑ Shirer 1960, p. 230.
- ↑ Time, 1934.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 392, 393.
- ↑ Shirer 1960, p. 312.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 393–397.
- ↑ Shirer 1960, p. 308.
- ↑ Shirer 1960, p. 318–319.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 397–398.
- ↑ Shirer 1960, p. 259–260.
- ↑ Shirer 1960, p. 258.
- ↑ Shirer 1960, p. 262.
- ↑ Speer 1971, pp. 118–119.
- ↑ Weinberg 1970, pp. 26–27.
- ↑ Kershaw 1999, pp. 490–491.
- ↑ Kershaw 1999, pp. 492, 555–556, 586–587.
- ↑ Carr 1972, p. 23.
- ↑ Kershaw 2008, p. 297.
- ↑ Messerschmidt 1990, pp. 601–602.
- ↑ Hildebrand 1973, p. 39.
- ↑ Roberts 1975.
- ↑ Messerschmidt 1990, pp. 630–631.
- ↑ 188.0 188.1 Overy, Origins of WWII Reconsidered 1999.
- ↑ Carr 1972, pp. 56–57.
- ↑ Messerschmidt 1990, p. 642.
- ↑ Aigner 1985, p. 264.
- ↑ 192.0 192.1 Messerschmidt 1990, pp. 636–637.
- ↑ Carr 1972, pp. 73–78.
- ↑ Messerschmidt 1990, p. 638.
- ↑ Kershaw 1999, pp. 567–568.
- ↑ Overy 2005, p. 252.
- ↑ Gellately 1996.
- ↑ Steinberg 1995.
- ↑ Snyder 2010, p. 416.
- ↑ Kershaw 2008, p. 683.
- ↑ Shirer 1960, p. 965.
- ↑ Naimark 2002, p. 81.
- ↑ Shirer 1960, p. 967.
- ↑ Kershaw 2008, p. 687.
- ↑ Megargee 2007, p. 146.
- ↑ Megargee 2007, p. 144.
- ↑ Yad Vashem, 2006.
- ↑ Yad Vashem, 2008.
- ↑ Holocaust Memorial Museum.
- ↑ Hancock 2004, pp. 383–396.
- ↑ Shirer 1960, p. 946.
- ↑ US Holocaust Memorial Museum.
- ↑ Niewyk & Nicosia 2000, p. 45. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFNiewykNicosia2000 (help)
- ↑ Goldhagen 1996, p. 290.
- ↑ Downing 2005, p. 33.
- ↑ Bloch 1992, pp. 178–179.
- ↑ Plating 2011, p. 21.
- ↑ Butler & Young 1989, p. 159.
- ↑ Bullock 1962, p. 434.
- ↑ Overy 2005, p. 425.
- ↑ Weinberg 1980, pp. 334–335.
- ↑ Weinberg 1980, pp. 338–340.
- ↑ Weinberg 1980, p. 366.
- ↑ Weinberg 1980, pp. 418–419.
- ↑ Kee 1988, pp. 149–150.
- ↑ Weinberg 1980, p. 419.
- ↑ Murray 1984, pp. 256–260.
- ↑ Bullock 1962, p. 469.
- ↑ Overy, The Munich Crisis 1999, p. 207.
- ↑ Kee 1988, pp. 202–203.
- ↑ Weinberg 1980, pp. 462–463.
- ↑ Messerschmidt 1990, p. 672.
- ↑ Messerschmidt 1990, pp. 671, 682–683.
- ↑ Rothwell 2001, pp. 90–91.
- ↑ Time, January 1939.
- ↑ 236.0 236.1 Murray 1984, p. 268.
- ↑ Shirer 1960, p. 448.
- ↑ Weinberg 1980, pp. 579–581.
- ↑ 239.0 239.1 Messerschmidt 1990, pp. 688–690.
- ↑ 240.0 240.1 Weinberg 1980, pp. 537–539, 557–560.
- ↑ 241.0 241.1 Maiolo 1998, p. 178.
- ↑ Weinberg 1980, p. 558.
- ↑ Carr 1972, pp. 76–77.
- ↑ Kershaw 2000b, pp. 36–37, 92.
- ↑ Weinberg 1955.
- ↑ Robertson 1985, p. 212.
- ↑ Bloch 1992, p. 228.
- ↑ 248.0 248.1 Overy 1989, p. 56.
- ↑ Bloch 1992, pp. 210, 228.
- ↑ Craig 1983.
- ↑ Overy, The Third Reich 1999.
- ↑ Robertson 1963, pp. 181–187.
- ↑ Bloch 1992, pp. 252–253.
- ↑ Weinberg 1995, pp. 85–94.
- ↑ Bloch 1992, pp. 255–257.
- ↑ Weinberg 1980, pp. 561–562, 583–584.
- ↑ Messerschmidt 1990, p. 714.
- ↑ Bloch 1992, p. 260.
- ↑ Hakim 1995.
- ↑ Time, October 1939.
- ↑ 261.0 261.1 261.2 Rees 1997, pp. 141–145.
- ↑ Kershaw 2008, p. 527.
- ↑ 263.0 263.1 263.2 263.3 Rees 1997, pp. 148–149.
- ↑ Shirer 1960, pp. 696–730.
- ↑ Shirer 1960, pp. 731–737.
- ↑ Shirer 1960, pp. 774–782.
- ↑ Kershaw 2008, p. 580.
- ↑ Kershaw 2008, p. 570.
- ↑ Kershaw 2008, p. 604–605.
- ↑ Kurowski 2005, pp. 141–142.
- ↑ Shirer 1960, p. 830.
- ↑ 272.0 272.1 Shirer 1960, p. 863.
- ↑ Weinberg et al. 1989.
- ↑ Shirer 1960, p. 900–901.
- ↑ 275.0 275.1 Bauer 2000, p. 5.
- ↑ Shirer 1960, p. 921.
- ↑ Shirer 1960, p. 1006.
- ↑ 278.0 278.1 BBC News, 1999.
- ↑ Shirer 1960, p. 997.
- ↑ Shirer 1960, p. 1036.
- ↑ Speer 1971, p. 513–514.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 544–547, 821–822, 827–828.
- ↑ Kershaw 2008, p. 816–818.
- ↑ Shirer 1960, §29.
- ↑ Bullock 1962, pp. 753, 763, 778, 780–781.
- ↑ 286.0 286.1 Bullock 1962, pp. 774–775.
- ↑ Beevor 2002, pp. 255–256.
- ↑ Le Tissier 2010, p. 45.
- ↑ 289.0 289.1 Dollinger 1995, p. 231.
- ↑ Beevor 2002, p. 275.
- ↑ Bullock 1962, p. 787.
- ↑ Bullock 1962, pp. 787, 795.
- ↑ Butler & Young 1989, pp. 227–228.
- ↑ Bullock 1962, pp. 792, 795.
- ↑ Beevor 2002, p. 343.
- ↑ Bullock 1962, p. 795.
- ↑ Bullock 1962, p. 798.
- ↑ Linge 2009, p. 199.
- ↑ Joachimsthaler 1999, pp. 160–180.
- ↑ Joachimsthaler 1999, pp. 217–220.
- ↑ Linge 2009, p. 200.
- ↑ Bullock 1962, pp. 799–800.
- ↑ Vinogradov 2005, pp. 111, 333.
- ↑ Bullock 1999, p. 563.
- ↑ Kershaw 2008, p. 378.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 947–948.
- ↑ Bullock 1962, pp. 393–394.
- ↑ Kershaw 2008, p. 4.
- ↑ Rißmann 2001, pp. 94–96.
- ↑ Rißmann 2001, p. 96.
- ↑ Bullock 1962, p. 219.
- ↑ Steigmann-Gall 2003, p. XV.
- ↑ Steigmann-Gall 2007.
- ↑ Steigmann-Gall 2003, pp. 27, 108.
- ↑ Hitler 1942, p. 20.
- ↑ Hitler 1973, p. 23.
- ↑ 317.0 317.1 Bullock 1962, pp. 219, 389.
- ↑ 318.0 318.1 Conway 1968, p. 3.
- ↑ Sharkey 2002.
- ↑ Bonney 2001.
- ↑ Office of Strategic Services, 1945.
- ↑ Speer 1971, p. 142–143.
- ↑ Payne 2008, p. 171.
- ↑ Hanfstaengl 1994, p. 174.
- ↑ Speer 1971, pp. 171, 174.
- ↑ Bullock 1999, p. 729.
- ↑ Evans 2008, p. 508.
- ↑ 328.0 328.1 Bullock 1962, p. 717.
- ↑ Redlich 1993.
- ↑ Redlich 2000, pp. 129–190.
- ↑ The Guardian, 2015.
- ↑ Kershaw 2000a, p. 72.
- ↑ Kershaw 2008, pp. xxxv–xxxvi.
- ↑ Bullock 1999, p. 388.
- ↑ Kershaw 2008, p. 380.
- ↑ Dietrich 2010, p. 172.
- ↑ Dietrich 2010, p. 171.
- ↑ Toland 1992, p. 741.
- ↑ Heston & Heston 1980, pp. 125–142.
- ↑ Heston & Heston 1980, pp. 11–20.
- ↑ Linge 2009, p. 156.
- ↑ Kershaw 2008, p. 782.
- ↑ O'Donnell 2001, p. 37.
- ↑ Fest 1974, p. 753.
- ↑ Speer 1971, p. 617.
- ↑ Toland 1977, p. 892.
- ↑ Kershaw 2000a, pp. 1–6.
- ↑ Fischer 1995, p. 569.
- ↑ Del Testa, Lemoine & Strickland 2003, p. 83.
- ↑ Dear & Foot 2001, p. 341.
- ↑ Welch 2001, p. 2.
- ↑ Shirer 1960, p. 6.
- ↑ Hitler & Trevor-Roper 1988, p. xxxv.
- ↑ Roberts 1996, p. 501.
- ↑ Lichtheim 1974, p. 366.
บรรณานุกรม
แก้ตีพิมพ์
แก้- Aigner, Dietrich (1985). "Hitler's ultimate aims – a programme of world dominion?". ใน Koch, H. W. (บ.ก.). Aspects of the Third Reich. London: MacMillan. ISBN 978-0-312-05726-8.
- Doyle, D (February 2005). "Adolf Hitler's medical care". Journal of the Royal College of Physicians of Edinburgh. 35 (1): 75–82. PMID 15825245.
- Bauer, Yehuda (2000). Rethinking the Holocaust. New Haven: Yale University Press. p. 5. ISBN 978-0-300-08256-2.
- Beevor, Antony (2002). Berlin: The Downfall 1945. London: Viking-Penguin Books. ISBN 978-0-670-03041-5.
- Bendersky, Joseph W (2000). A History of Nazi Germany: 1919–1945. Lanham: Rowman & Littlefield. ISBN 978-1-4422-1003-5.
- Bloch, Michael (1992). Ribbentrop. New York: Crown Publishing. ISBN 978-0-517-59310-3.
- Bonney, Richard (2001). "The Nazi Master Plan, Annex 4: The Persecution of the Christian Churches" (PDF). Rutgers Journal of Law and Religion. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 March 2016. สืบค้นเมื่อ 19 April 2020.
- Bracher, Karl Dietrich (1970). The German Dictatorship. แปลโดย Jean Steinberg. New York: Penguin Books. ISBN 978-0-14-013724-8.
- Bullock, Alan (1962) [1952]. Hitler: A Study in Tyranny. London: Penguin Books. ISBN 978-0-14-013564-0.
- Bullock, Alan (1999) [1952]. Hitler: A Study in Tyranny. New York: Konecky & Konecky. ISBN 978-1-56852-036-0.
- Butler, Ewan; Young, Gordon (1989). The Life and Death of Hermann Göring. Newton Abbot, Devon: David & Charles. ISBN 978-0-7153-9455-7.
- Carr, William (1972). Arms, Autarky and Aggression. London: Edward Arnold. ISBN 978-0-7131-5668-3.
- Conway, John S. (1968). The Nazi Persecution of the Churches 1933–45. London: Weidenfeld & Nicolson. ISBN 978-0-297-76315-4.
- Crandell, William F. (1987). "Eisenhower the Strategist: The Battle of the Bulge and the Censure of Joe McCarthy". Presidential Studies Quarterly. 17 (3): 487–501. JSTOR 27550441.
- Deighton, Len (2008). Fighter: The True Story of the Battle of Britain. New York: Random House. ISBN 978-1-84595-106-1.
- Del Testa, David W; Lemoine, Florence; Strickland, John (2003). Government Leaders, Military Rulers, and Political Activists. Westport: Greenwood Publishing Group. p. 83. ISBN 978-1-57356-153-2.
- Dollinger, Hans (1995) [1965]. The Decline and Fall of Nazi Germany and Imperial Japan: A Pictorial History of the Final Days of World War II. New York: Gramercy. ISBN 978-0-517-12399-7.
- Dorland, Michael (2009). Cadaverland: Inventing a Pathology of Catastrophe for Holocaust Survival: The Limits of Medical Knowledge and Memory in France. Tauber Institute for the Study of European Jewry series. Waltham, Mass: University Press of New England. ISBN 978-1-58465-784-2.
- Downing, David (2005). The Nazi Death Camps. World Almanac Library of the Holocaust. Pleasantville, NY: Gareth Stevens. ISBN 978-0-8368-5947-8.
- Ellis, John (1993). World War II Databook: The Essential Facts and Figures for All the Combatants. London: Aurum. ISBN 978-1-85410-254-6.
- Evans, Richard J. (2003). The Coming of the Third Reich. New York: Penguin Books. ISBN 978-0-14-303469-8.
- Evans, Richard J. (2005). The Third Reich in Power. New York: Penguin Books. ISBN 978-0-14-303790-3.
- Evans, Richard J. (2008). The Third Reich At War. New York: Penguin Books. ISBN 978-0-14-311671-4.
- Fest, Joachim C. (1970). The Face of the Third Reich. London: Weidenfeld & Nicolson. ISBN 978-0-297-17949-8.
- Fest, Joachim C. (1974) [1973]. Hitler. London: Weidenfeld & Nicolson. ISBN 978-0-297-76755-8.
- Fest, Joachim C. (1977) [1973]. Hitler. Harmondsworth: Penguin. ISBN 978-0-14-021983-8.
- Fest, Joachim (2004). Inside Hitler's Bunker: The Last Days of the Third Reich. New York: Farrar, Straus and Giroux. ISBN 978-0-374-13577-5.
- Fischer, Klaus P. (1995). Nazi Germany: A New History. London: Constable and Company. ISBN 978-0-09-474910-8.
- Fromm, Erich (1977) [1973]. The Anatomy of Human Destructiveness. London: Penguin Books. ISBN 978-0-14-004258-0.
- Fulda, Bernhard (2009). Press and Politics in the Weimar Republic. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-954778-4.
- Gellately, Robert (1996). "Reviewed work(s): Vom Generalplan Ost zum Generalsiedlungsplan by Czeslaw Madajczyk. Der "Generalplan Ost". Hauptlinien der nationalsozialistischen Planungs- und Vernichtungspolitik by Mechtild Rössler; Sabine Schleiermacher". Central European History. 29 (2): 270–274. doi:10.1017/S0008938900013170. ISSN 0008-9389.
- Gellately, Robert (2001). Social Outsiders in Nazi Germany. Princeton, NJ: Princeton University Press. ISBN 978-0-691-08684-2.
- Ghaemi, Nassir (2011). A First-Rate Madness: Uncovering the Links Between Leadership and Mental Illness. New York: Penguin Publishing Group. ISBN 978-1-101-51759-8.
- Goeschel, Christian (2018). Mussolini and Hitler: The Forging of the Fascist Alliance. New Haven; London: Yale University Press. ISBN 978-0-300-17883-8.
- Goldhagen, Daniel (1996). Hitler's Willing Executioners: Ordinary Germans and the Holocaust. New York: Knopf. ISBN 978-0-679-44695-8.
- Haffner, Sebastian (1979). The Meaning of Hitler. Cambridge, MA: Harvard University Press. ISBN 978-0-674-55775-8.
- Hakim, Joy (1995). War, Peace, and All That Jazz. A History of US. Vol. 9. New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-509514-2.
- Halperin, Samuel William (1965) [1946]. Germany Tried Democracy: A Political History of the Reich from 1918 to 1933. New York: W.W. Norton. ISBN 978-0-393-00280-5.
- Hamann, Brigitte (2010) [1999]. Hitler's Vienna: A Portrait of the Tyrant as a Young Man. Trans. Thomas Thornton. London; New York: Tauris Parke Paperbacks. ISBN 978-1-84885-277-8.
- Hancock, Ian (2004). "Romanies and the Holocaust: A Reevaluation and an Overview". ใน Stone, Dan (บ.ก.). The Historiography of the Holocaust. New York; Basingstoke: Palgrave Macmillan. ISBN 978-0-333-99745-1.
- Heck, Alfons (2001) [1985]. A Child of Hitler: Germany In The Days When God Wore A Swastika. Phoenix, AZ: Renaissance House. ISBN 978-0-939650-44-6.
- Heston, Leonard L.; Heston, Renate (1980) [1979]. The Medical Casebook of Adolf Hitler: His Illnesses, Doctors, and Drugs. New York: Stein and Day. ISBN 978-0-8128-2718-7.
- Hildebrand, Klaus (1973). The Foreign Policy of the Third Reich. London: Batsford. ISBN 978-0-7134-1126-3.
- Hitler, Adolf (1999) [1925]. Mein Kampf. Trans. Ralph Manheim. Boston: Houghton Mifflin. ISBN 978-0-395-92503-4.
- Hitler, Adolf; Trevor-Roper, Hugh (1988) [1953]. Hitler's Table-Talk, 1941–1945: Hitler's Conversations Recorded by Martin Bormann. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-285180-2.
- Hitler, Adolf (2000) [1941–1944]. Hitler's Table Talk, 1941–1944. London: Enigma. ISBN 978-1-929631-05-6.
- Jetzinger, Franz (1976) [1956]. Hitler's Youth. Westport, Conn: Greenwood Press. ISBN 978-0-8371-8617-7.
- Joachimsthaler, Anton (1999) [1995]. The Last Days of Hitler: The Legends, the Evidence, the Truth. Trans. Helmut Bögler. London: Brockhampton Press. ISBN 978-1-86019-902-8.
- Kee, Robert (1988). Munich: The Eleventh Hour. London: Hamish Hamilton. ISBN 978-0-241-12537-3.
- Keegan, John (1987). The Mask of Command: A Study of Generalship. London: Pimlico. ISBN 978-0-7126-6526-1.
- Keller, Gustav (2010). Der Schüler Adolf Hitler: die Geschichte eines lebenslangen Amoklaufs [The Student Adolf Hitler: The Story of a Lifelong Rampage] (ภาษาเยอรมัน). Münster: LIT. ISBN 978-3-643-10948-4.
- Kellogg, Michael (2005). The Russian Roots of Nazism White Émigrés and the Making of National Socialism, 1917–1945. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-84512-0.
- Kershaw, Ian (1999) [1998]. Hitler: 1889–1936: Hubris. New York: W. W. Norton & Company. ISBN 978-0-393-04671-7.
- Kershaw, Ian (2000b). Hitler, 1936–1945: Nemesis. New York; London: W. W. Norton & Company. ISBN 978-0-393-32252-1.
- Kershaw, Ian (2008). Hitler: A Biography. New York: W. W. Norton & Company. ISBN 978-0-393-06757-6.
- Kershaw, Ian (2012). The End: Hitler's Germany, 1944–45 (Paperback ed.). London: Penguin. ISBN 978-0-14-101421-0.
- Koch, H. W. (June 1988). "Operation Barbarossa – The Current State of the Debate". The Historical Journal. 31 (2): 377–390. doi:10.1017/S0018246X00012930. S2CID 159848116.
- Kolb, Eberhard (2005) [1984]. The Weimar Republic. London; New York: Routledge. ISBN 978-0-415-34441-8.
- Kolb, Eberhard (1988) [1984]. The Weimar Republic. New York: Routledge. ISBN 978-0-415-09077-3.
- Kressel, Neil J. (2002). Mass Hate: The Global Rise Of Genocide And Terror. Boulder: Basic Books. ISBN 978-0-8133-3951-1.
- Kubizek, August (2006) [1953]. The Young Hitler I Knew. St. Paul, MN: MBI. ISBN 978-1-85367-694-9.
- Kurowski, Franz (2005). The Brandenburger Commandos: Germany's Elite Warrior Spies in World War II. Stackpole Military History series. Mechanicsburg, PA: Stackpole Books. ISBN 978-0-8117-3250-5.
- Langer, Walter C. (1972) [1943]. The Mind of Adolf Hitler: The Secret Wartime Report. New York: Basic Books. ISBN 978-0-465-04620-1.
- Lichtheim, George (1974). Europe In The Twentieth Century. London: Sphere Books. ISBN 978-0-351-17192-5.
- Linge, Heinz (2009) [1980]. With Hitler to the End: The Memoirs of Adolf Hitler's Valet. Intro. Roger Moorhouse. New York: Skyhorse Publishing. ISBN 978-1-60239-804-7.
- Longerich, Peter (2005). The Unwritten Order: Hitler's Role in the Final Solution. History Press. ISBN 978-0-7524-3328-8.
- Maiolo, Joseph (1998). The Royal Navy and Nazi Germany 1933–39: Appeasement and the Origins of the Second World War. London: Macmillan Press. ISBN 978-0-333-72007-3.
- Manvell, Roger; Fraenkel, Heinrich (2007) [1965]. Heinrich Himmler: The Sinister Life of the Head of the SS and Gestapo. London; New York: Greenhill; Skyhorse. ISBN 978-1-60239-178-9.
- Maser, Werner (1973). Hitler: Legend, Myth, Reality. London: Allen Lane. ISBN 978-0-7139-0473-4.
- Marrus, Michael (2000). The Holocaust in History. Toronto: Key Porter. ISBN 978-0-299-23404-1.
- McGovern, James (1968). Martin Bormann. New York: William Morrow. OCLC 441132.
- McNab, Chris (2009). The Third Reich. London: Amber Books. ISBN 978-1-906626-51-8.
- Megargee, Geoffrey P. (2007). War of Annihilation: Combat and Genocide on the Eastern Front, 1941. Lanham, Md: Rowman & Littlefield. ISBN 978-0-7425-4482-6.
- Messerschmidt, Manfred (1990). "Foreign Policy and Preparation for War". ใน Deist, Wilhelm (บ.ก.). Germany and the Second World War. Vol. 1. Oxford: Clarendon Press. ISBN 978-0-19-822866-0.
- Mitcham, Samuel W. (1996). Why Hitler?: The Genesis of the Nazi Reich. Westport, Conn: Praeger. ISBN 978-0-275-95485-7.
- Mineau, André (2004). Operation Barbarossa: Ideology and Ethics Against Human Dignity. Amsterdam; New York: Rodopi. ISBN 978-90-420-1633-0.
- Murray, Williamson (1984). The Change in the European Balance of Power. Princeton: Princeton University Press. ISBN 978-0-691-05413-1.
- Murray, Williamson; Millett, Allan R. (2001) [2000]. A War to be Won: Fighting the Second World War. Cambridge, MA: Belknap Press of Harvard University Press. ISBN 978-0-674-00680-5.
- Naimark, Norman M. (2002). Fires of Hatred: Ethnic Cleansing in Twentieth-Century Europe. Cambridge, MA: Harvard University Press. ISBN 978-0-674-00994-3.
- Nicholls, David (2000). Adolf Hitler: A Biographical Companion. University of North Carolina Press. ISBN 978-0-87436-965-6.
- Niewyk, Donald L.; Nicosia, Francis R. (2000). The Columbia Guide to the Holocaust. New York: Columbia University Press. ISBN 978-0-231-11200-0.
- O'Donnell, James P. (2001) [1978]. The Bunker. New York: Da Capo Press. ISBN 978-0-306-80958-3.
- Overy, Richard; Wheatcroft, Andrew (1989). The Road To War. London: Macmillan. ISBN 978-0-14-028530-7.
- Overy, Richard (1999). "Germany and the Munich Crisis: A Mutilated Victory?". ใน Lukes, Igor; Goldstein, Erik (บ.ก.). The Munich Crisis, 1938: Prelude to World War II. London; Portland, OR: Frank Cass. OCLC 40862187.
- Overy, Richard (1999). "Misjudging Hitler". ใน Martel, Gordon (บ.ก.). The Origins of the Second World War Reconsidered. London: Routledge. ISBN 978-0-415-16324-8.
- Overy, Richard (2005). The Dictators: Hitler's Germany, Stalin's Russia. London: Penguin Books. ISBN 978-0-393-02030-4.
- Overy, Richard (2005). "Hitler As War Leader". ใน Dear, I. C. B.; Foot, M. R. D. (บ.ก.). Oxford Companion to World War II. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-280670-3.
- Payne, Robert (1990) [1973]. The Life and Death of Adolf Hitler. New York: Hippocrene Books. ISBN 978-0-88029-402-7.
- Pinkus, Oscar (2005). The War Aims and Strategies of Adolf Hitler. McFarland & Company. ISBN 978-0-7864-2054-4.
- Plating, John D. (2011). The Hump: America's Strategy for Keeping China in World War II. Williams-Ford Texas A&M University military history series, no. 134. College Station: Texas A&M University Press. ISBN 978-1-60344-238-1.
- Plesch, Daniel (2017). Human Rights After Hitler: The Lost History of Prosecuting Axis War Crimes. Georgetown University Press. ISBN 978-1-62616-431-4.
- Proctor, Robert (1999). The Nazi War on Cancer. Princeton, New Jersey: Princeton University Press. ISBN 978-0-691-07051-3.
- Read, Anthony (2004). The Devil's Disciples: The Lives and Times of Hitler's Inner Circle. London: Pimlico. ISBN 978-0-7126-6416-5.
- Redlich, Fritz R. (2000). Hitler: Diagnosis of a Destructive Prophet. New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-513631-9.
- Rees, Laurence (1997). The Nazis: A Warning from History. New York: New Press. ISBN 978-0-563-38704-6.
- Rißmann, Michael (2001). Hitlers Gott. Vorsehungsglaube und Sendungsbewußtsein des deutschen Diktators (ภาษาเยอรมัน). Zürich München: Pendo. ISBN 978-3-85842-421-1.
- Roberts, G. (2006). Stalin's Wars: From World War to Cold War, 1939–1953. New Haven: Yale University Press. ISBN 978-0-300-11204-7.
- Roberts, J. M. (1996). A History of Europe. Oxford: Helicon. ISBN 978-1-85986-178-3.
- Roberts, Martin (1975). The New Barbarism – A Portrait of Europe 1900–1973. London: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-913225-6.
- Robertson, Esmonde M. (1963). Hitler's Pre-War Policy and Military Plans: 1933–1939. London: Longmans. OCLC 300011871.
- Robertson, E. M. (1985). "Hitler Planning for War and the Response of the Great Powers". ใน H. W., Koch (บ.ก.). Aspects of the Third Reich. London: Macmillan. ISBN 978-0-312-05726-8.
- Rosenbaum, Ron (1999). Explaining Hitler: The Search for the Origins of His Evil. London: Harper Perennial. ISBN 978-0-06-095339-3.
- Rosmus, Anna Elisabeth (2004). Out of Passau: Leaving a City Hitler Called Home. Columbia, S.C: University of South Carolina Press. ISBN 978-1-57003-508-1.
- Rothwell, Victor (2001). The Origins of the Second World War. Manchester: Manchester University Press. ISBN 978-0-7190-5957-5.
- Rummel, Rudolph (1994). Death by Government. New Brunswick, NJ: Transaction. ISBN 978-1-56000-145-4.
- Ryschka, Birgit (2008). Constructing and Deconstructing National Identity: Dramatic Discourse in Tom Murphy's the Patriot Game and Felix Mitterer's in Der Löwengrube. Frankfurt am Main; New York: Peter Lang. ISBN 978-3-631-58111-7.
- Sereny, Gitta (1996) [1995]. Albert Speer: His Battle With Truth. New York; Toronto: Vintage. ISBN 978-0-679-76812-8.
- Shirer, William L. (1960). The Rise and Fall of the Third Reich. New York: Simon & Schuster. ISBN 978-0-671-62420-0.
- Snyder, Timothy (2010). Bloodlands: Europe Between Hitler and Stalin. New York: Basic Books. ISBN 978-0-465-00239-9.
- Speer, Albert (1971) [1969]. Inside the Third Reich. New York: Avon. ISBN 978-0-380-00071-5.
- Steigmann-Gall, Richard (2003). The Holy Reich: Nazi Conceptions of Christianity, 1919–1945. Cambridge; New York: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-82371-5.
- Steinberg, Jonathan (June 1995). "The Third Reich Reflected: German Civil Administration in the Occupied Soviet Union, 1941–4". The English Historical Review. 110 (437): 620–651. doi:10.1093/ehr/CX.437.620. OCLC 83655937.
- Steiner, John Michael (1976). Power Politics and Social Change in National Socialist Germany: A Process of Escalation into Mass Destruction. The Hague: Mouton. ISBN 978-90-279-7651-2.
- Stolfi, Russel (March 1982). "Barbarossa Revisited: A Critical Reappraisal of the Opening Stages of the Russo-German Campaign (June–December 1941)" (PDF). The Journal of Modern History. 54 (1): 27–46. doi:10.1086/244076. hdl:10945/44218. S2CID 143690841. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 10 February 2020.
- Tames, Richard (2008). Dictatorship. Chicago: Heinemann Library. ISBN 978-1-4329-0234-6.
- Le Tissier, Tony (2010) [1999]. Race for the Reichstag. Barnsley: Pen & Sword. ISBN 978-1-84884-230-4.
- Toland, John (1976). Adolf Hitler. New York; Toronto: Ballantine Books. ISBN 978-0-345-25899-1.
- Toland, John (1992) [1976]. Adolf Hitler. New York: Anchor Books. ISBN 978-0-385-42053-2.
- Vinogradov, V. K. (2005). Hitler's Death: Russia's Last Great Secret from the Files of the KGB. London: Chaucer Press. ISBN 978-1-904449-13-3.
- Waite, Robert G. L. (1993) [1977]. The Psychopathic God: Adolf Hitler. New York: Da Capo Press. ISBN 978-0-306-80514-1.
- Weber, Thomas (2010). Hitler's First War: Adolf Hitler, The Men of the List Regiment, and the First World War. Oxford; New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-923320-5.
- Weinberg, Gerhard (December 1964). "Hitler's Image of the United States". The American Historical Review. 69 (4): 1006–1021. doi:10.2307/1842933. JSTOR 1842933.
- Weinberg, Gerhard (1970). The Foreign Policy of Hitler's Germany Diplomatic Revolution in Europe 1933–1936. Chicago, Illinois: University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-88509-4.
- Weinberg, Gerhard (1980). The Foreign Policy of Hitler's Germany Starting World War II. Chicago, Illinois: University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-88511-7.
- Weinberg, Gerhard (1995). "Hitler and England, 1933–1945: Pretense and Reality". Germany, Hitler, and World War II: Essays in Modern German and World History. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-47407-8.
- Weinberg, Gerhard (2010) [2005]. Hitler's Foreign Policy 1933–1939: The Road to World War II. New York: Enigma. ISBN 978-1-929631-91-9.
- Weir, Todd H.; Greenberg, Udi (2022). "Religious Cultures and Confessional Politics". ใน Rossol, Nadine; Ziemann, Benjamin (บ.ก.). The Oxford Handbook of the Weimar Republic. Oxford; New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-884577-5.
- Welch, David (2001). Hitler: Profile of a Dictator. London: Routledge. ISBN 978-0-415-25075-7.
- Wheeler-Bennett, John (1967). The Nemesis of Power. London: Macmillan. ISBN 978-1-4039-1812-3.
- Wilt, Alan (December 1981). "Hitler's Late Summer Pause in 1941". Military Affairs. 45 (4): 187–191. doi:10.2307/1987464. JSTOR 1987464.
- Winkler, Heinrich August (2007). Germany: The Long Road West. Vol. 2, 1933–1990. Sager, Alexander (trans.). New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-926598-5.
- Ziemke, Earl F. (1969). Battle for Berlin: End of the Third Reich. Ballantine's Illustrated History of World War II. Vol. Battle Book #6. London: Ballantine Books. OCLC 23899.
ออนไลน์
แก้- "1933 – Day of Potsdam". Landeshauptstadt Potsdam. December 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 June 2012. สืบค้นเมื่อ 13 June 2011.
- Bazyler, Michael J. (25 December 2006). "Holocaust Denial Laws and Other Legislation Criminalizing Promotion of Nazism" (PDF). Yad Vashem. The World Holocaust Remembrance Center. สืบค้นเมื่อ 7 January 2013.
- "Nazism". Britannica. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 February 2024.
- Der Hitler-Prozeß vor dem Volksgericht in München [The Hitler Trial Before the People's Court in Munich] (ภาษาเยอรมัน), 1924
- Diver, Krysia (4 August 2005). "Journal reveals Hitler's dysfunctional family". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 23 May 2018.
- "Documents: Bush's Grandfather Directed Bank Tied to Man Who Funded Hitler". Fox News. Associated Press. 17 October 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 November 2014. สืบค้นเมื่อ 1 December 2014.
- "Eingabe der Industriellen an Hindenburg vom November 1932" [Letter of the industrialists to Hindenburg, November 1932]. Glasnost–Archiv (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 16 October 2011.
- Evans, Richard J. (22 June 2011). "Hitler's First War, by Thomas Weber". The Globe and Mail. Phillip Crawley. สืบค้นเมื่อ 19 April 2020.
- Frauenfeld, A. E (August 1937). "The Power of Speech". German Propaganda Archive. Calvin College. สืบค้นเมื่อ 1 December 2014.
- "Germany: Second Revolution?". Time. 2 July 1934. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 April 2008. สืบค้นเมื่อ 15 April 2013.
- Glantz, David (11 October 2001), The Soviet-German War 1941–45: Myths and Realities: A Survey Essay, Clemson, SC: Strom Thurmond Institute of Government and Public Affairs, Clemson University, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 22 July 2017, สืบค้นเมื่อ 12 June 2017
- Goebbels, Joseph (1936), The Führer as a Speaker, Calvin College, สืบค้นเมื่อ 1 December 2014
- Gunkel, Christoph (4 February 2010). "Medicating a Madman: A Sober Look at Hitler's Health". Spiegel Online International. สืบค้นเมื่อ 12 December 2013.
- Hinrichs, Per (10 March 2007). "Des Führers Pass: Hitlers Einbürgerung" [The Führer's Passport: Hitler's Naturalisation]. Spiegel Online (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 1 December 2014.
- "Hitler's Last Days". mi5.gov.uk. MI5 Security Service. สืบค้นเมื่อ 19 April 2020.
- Hoffman, David (creator, writer) (1989). How Hitler Lost the War (television documentary). US: Varied Directions. สืบค้นเมื่อ 19 April 2020.
- "Introduction to the Holocaust". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. สืบค้นเมื่อ 19 April 2020.
- Jones, Bill (creator, director) (1989). The Fatal Attraction of Adolf Hitler (television documentary). England: BBC. สืบค้นเมื่อ 27 April 2016.
- Kotanko, Florian. "House of Responsibility". House of Responsibility – Braunau am Inn. HRB News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 August 2020. สืบค้นเมื่อ 19 April 2020.
- "Leni Riefenstahl". The Daily Telegraph. London. 10 September 2003. ISSN 0307-1235. OCLC 49632006. สืบค้นเมื่อ 10 May 2013.
- Longerich, Heinz Peter (2003). "Hitler's Role in the Persecution of the Jews by the Nazi Regime". Holocaust Denial on Trial. Atlanta: Emory University. 15. Hitler and the Mass Shootings of Jews During the War Against Russia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 July 2012. สืบค้นเมื่อ 31 July 2013.
- Longerich, Heinz Peter (2003). "Hitler's Role in the Persecution of the Jews by the Nazi Regime". Holocaust Denial on Trial. Atlanta: Emory University. 17. Radicalisation of the Persecution of the Jews by Hitler at the Turn of the Year 1941–1942. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 July 2009. สืบค้นเมื่อ 31 July 2013.
- "Man of the Year". Time. 2 January 1939. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 April 2019. สืบค้นเมื่อ 31 December 2019.
- Martin, Jonathan (creator, writer) (2008). World War II In HD Colour (television documentary). US: World Media Rights. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 February 2015. สืบค้นเมื่อ 27 August 2014.
- McMillan, Dan (October 2012). "Review of Fritz, Stephen G., Ostkrieg: Hitler's War of Extermination in the East". H-Genocide, H-Net Reviews. สืบค้นเมื่อ 16 October 2012.
- "Parkinson's part in Hitler's downfall". BBC News. 29 July 1999. สืบค้นเมื่อ 13 June 2011.
- Phayer, Michael (2000). "The Response of the Catholic Church to National Socialism" (PDF). The Churches and Nazi Persecution. Yad Vashem. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 20 January 2019. สืบค้นเมื่อ 22 May 2013.
- "Poles: Victims of the Nazi Era: The Invasion and Occupation of Poland". ushmm.org. United States Holocaust Memorial Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 March 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2014.
- Porter, Tom (24 August 2013). "Adolf Hitler 'Took Cocktail of Drugs' Reveal New Documents". IB Times. สืบค้นเมื่อ 22 November 2015.
- Redlich, Fritz C. (22 March 1993). "A New Medical Diagnosis of Adolf Hitler: Giant Cell Arteritis—Temporal Arteritis". Arch Intern Med. 153 (6): 693–697. doi:10.1001/archinte.1993.00410060005001. PMID 8447705.
- Rees, Laurence (writer, director) Kershaw, Ian (writer, consultant) (2012). The Dark Charisma of Adolf Hitler (television documentary). UK: BBC. สืบค้นเมื่อ 6 September 2014.
- Sharkey, Joe (13 January 2002). "Word for Word/The Case Against the Nazis; How Hitler's Forces Planned To Destroy German Christianity". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 7 June 2011.
- Staff (19 December 2015). "Hitler really did have only one testicle, German researcher claims". The Guardian (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 14 June 2022.
- Weber, Thomas (2010a). "New Evidence Uncovers Hitler's Real First World War Story". BBC History Magazine. UK: Immediate Media Company. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 November 2012. สืบค้นเมื่อ 19 November 2016.
- Wilson, Bee (9 October 1998). "Mein Diat – Adolf Hitler's diet". New Statesman. UK. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 December 2013.
- Zialcita, Paolo (2019). "Hitler's Birth Home In Austria Will Become A Police Station". NPR. สืบค้นเมื่อ 29 May 2020.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- A psychological analysis of Adolf Hitler on the Internet Archive
- ผลงานโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่โอเพนไลบรารี
- ผลงานเกี่ยวกับ/โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่อินเทอร์เน็ตอาร์ไคฟ์
- กฤตภาคจากหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในหอจดหมายเหตุข่าวสารคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของ ZBW
ก่อนหน้า | อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
อันโทน เดร็คส์เลอร์ | หัวหน้าพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน (1921–1945) |
มาร์ทิน บอร์มัน ในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำพรรค | ||
ควร์ท ฟ็อน ชไลเชอร์ | นายกรัฐมนตรีเยอรมนี (1933–1945) |
โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ | ||
จอมพล เพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค ในตำแหน่งประธานาธิบดี |
ฟือเรอร์แห่งเยอรมนี (1934–1945) |
จอมพลเรือ คาร์ล เดอนิทซ์ ในตำแหน่งประธานาธิบดี | ||
จอมพล เพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค | ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งแวร์มัคท์ (1934–1945) |
จอมพลเรือ คาร์ล เดอนิทซ์ | ||
จอมพล วัลเทอร์ ฟ็อน เบราคิทช์ | ผู้บัญชาการใหญ่กองทัพบก (1941–1945) |
จอมพล แฟร์ดีนันท์ เชอร์เนอร์ | ||
เจียง ไคเช็ก และซ่งเหม่ยหลิง | บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ (1938) |
โจเซฟ สตาลิน |