แผนลับ 20 กรกฎาคม
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
แผนลับ 20 กรกฎาคม (อังกฤษ: 20 July plot) เป็นความพยายามลอบสังหารอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ฟือเรอร์แห่งไรช์ที่สาม ภายในกองบัญชาการสนาม "รังหมาป่า" ใกล้เมืองรัสเทินบวร์ค มณฑลปรัสเซียตะวันออก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 โดยมีวัตถุประสงค์อย่างชัดแจ้งเพื่อช่วงชิงอำนาจควบคุมประเทศเยอรมนีจากพรรคนาซี (รวมถึงเอ็สเอ็ส) เพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตรให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ความปรารถนาเบื้องหลังของนายทหารระดับสูงของแวร์มัคท์หลายนาย คือ เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าชาวเยอรมันทุกคนไม่ได้เป็นอย่างฮิตเลอร์และพรรคนาซี แม้จะยังไม่ทราบรายละเอียดการริเริ่มสันติภาพของผู้ก่อการ[1][2][3] แต่พวกเขาน่าจะรวมข้อเรียกร้องให้ยอมรับการผนวกดินแดนโดยเยอรมนีในทวีปยุโรป[4][5]
แผนลับ 20 กรกฎาคม | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ภาพห้องประชุมใน "รังหมาป่า" ไม่นานหลังจากเกิดการระเบิดที่มีเป้าหมายเพื่อลอบสังหารฮิตเลอร์ | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ฝ่ายต่อต้านฮิตเลอร์ | รัฐบาลฮิตเลอร์ | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
| |||||||
ความสูญเสีย | |||||||
| เสียชีวิต 4 นาย |
แผนลับดังกล่าวเป็นความพยายามสูงสุดของขบวนการกู้ชาติเยอรมันหลายกลุ่มในการโค่นรัฐบาลเยอรมันอันมีพรรคนาซีเป็นผู้นำ ความล้มเหลวทั้งในการลอบสังหารฮิตเลอร์และรัฐประหารซึ่งวางแผนให้เกิดขึ้นหลังการลอบสังหารนั้นนำไปสู่การจับกุมประชาชนอย่างน้อย 7,000 คนโดยตำรวจลับ[6] ตามรายงานการประชุมกิจการนาวีของฟือเรอร์ มีผู้ถูกประหารชีวิต 4,980 คน[6]
เบื้องหลัง
แก้นับแต่ ค.ศ. 1938 เป็นต้นมา มีกลุ่มคบคิดหลายกลุ่มวางแผนโค่นรัฐบาลนาซีแล้วในกองทัพบกเยอรมัน และองค์การข่าวกรองทหารเยอรมนี (อับแวร์) ผู้นำแผนคบคิดในช่วงแรกรวมไปถึงพลตรี ฮันส์ โอสเทอร์, พลเอกอาวุโสลูทวิช เบ็ค และจอมพลแอร์วีน ฟ็อน วิทซ์เลเบิน โอสเทอร์เป็นรองหัวหน้าสำนักงานข่าวกรองทหาร เบ็คเป็นอดีตเสนาธิการกองบัญชาการใหญ่กองทัพบกเยอรมัน (Oberkommando des Heeres) ฟ็อน วิทซ์เลเบิน เป็นอดีดผู้บัญชาการกองทัพที่ 1 และอดีตผู้บัญชาการใหญ่ตะวันตก จากนั้น พวกเขาได้ติดต่อกับพลเรือนที่โดดเด่นหลายคน รวมถึงคาร์ล ฟรีดริช เกอร์เดอเลอร์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองไลพ์ซิจ และนักกฎหมายเฮ็ลมูล ฟ็อน ม็อลท์เคอ
กลุ่มคบคิดทางทหารหลายกลุ่มแลกเปลี่ยนแนวคิดกับกลุ่มกู้ชาติพลเรือน นักการเมืองและปัญญาชนในไครเซาแอร์ ไครส์ (ซึ่งประชุมกันที่คฤหาสน์ฟ็อนมอลท์เคอในไครเซา) และในวงลับอื่น ๆ มอลท์เคอคัดค้านการสังหารฮิตเลอร์ เขาต้องการให้นำตัวฮิตเลอร์มาพิจารณาคดีในศาล มอลท์เคอกล่าวว่า "เราล้วนเป็นมือสมัครเล่น และจะทำพลาด" มอลท์เคอยังเชื่อว่าการฆ่าฮิตเลอร์เป็นการเสแสร้ง ฮิตเลอร์และลัทธิชาติสังคมนิยมเปลี่ยน "การกระทำผิด" เข้าสู่ระบบ อันเป็นสิ่งที่ขบวนการก้ชาติพึงเลี่ยง[7]
มีการพัฒนาแผนจัดการโค่นอำนาจและป้องกันฮิตเลอร์มิให้เปิดฉากสงครามโลกครั้งใหม่ใน ค.ศ. 1938 และ 1939 แต่ยกเลิกไป เพราะนายพลฟรันทซ์ ฮัลเดอร์ และนายพลเบราคิทช์ปฏิเสธอย่างเด็ดขาด และชาติตะวันตกไม่สามารถยับยั้งการแผ่อำนาจของฮิตเลอร์กระทั่ง ค.ศ. 1939 กลุ่มต่อต้านทหารกลุ่มแรกชะลอแผนของตนหลังฮิตเลอร์ได้รับความนิยมอย่างยิ่งหลังความสำเร็จอย่างรวดเร็วไม่คาดฝันในยุทธการที่ฝรั่งเศส
ในปี ค.ศ. 1942 มีการตั้งกลุ่มสมคบใหม่ขึ้น นำโดยพันเอกเฮ็นนิง ฟ็อน เทร็สโค ฝ่ายเสนาธิการของจอมพลเฟดอร์ ฟ็อน บ็อค แม่ทัพกลุ่มกลางในปฏิบัติการบาร์บารอสซา เทร็สโคสรรหาผู้ต่อต้านเข้าสู่เสนาธิการของกลุ่มอย่างเป็นระบบ ทำให้เป็นศูนย์กลางของกลุ่มต่อต้านในกองทัพบก แต่กลุ่มไม่สามารถทำอะไรฮิตเลอร์ได้มากนักเพราะมีการคุ้มกันอย่างแน่นหนา และไม่มีผู้ก่อการคนใดเข้าใกล้ตัวฮิตเลอร์ได้มากพอ[8]
กระนั้น ระหว่าง ค.ศ. 1942 พลตรีโอสเทอร์และพันเอกเทร็สโคสามารถสร้างเครือข่ายต่อต้านอันมีประสิทธิภาพได้อีกครั้ง สมาชิกสำคัญที่สุดของพวกเขา คือ พลเอกฟรีดริช อ็อลบริชท์ ซึ่งอยู่ประจำกองบัญชาการใหญ่กองทัพบกเยอรมัน ใจกลางกรุงเบอร์ลิน ซึ่งควบคุมระบบการสื่อสารอิสระต่อหน่วยกองหนุนทั่วประเทศเยอรมนี ความเชื่อมโยงนี้กับกลุ่มต่อต้านของเทร็สโคในกองทัพกลุ่มกลางสร้างกลไกรัฐประหารที่ใช้การได้ขึ้น[9]
ปลายปี ค.ศ. 1942 พันเอกเทร็สโคและพลเอกอ็อลบริชท์คิดแผนการลอบสังหารฮิตเลอร์ และจัดการโค่นอำนาจระหว่างที่ฮิตเลอร์เยือนกองบัญชาการสนามของกองทัพกลุ่มกลางที่สโมเลนสก์ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1943 โดยวางระเบิดบนเครื่องบินของเขาแต่ระเบิดไม่ทำงาน ความพยายามหนที่สองในสัปดาห์ต่อมา ระหว่างที่ฮิตเลอร์กำลังตรวจอาวุธของโซเวียตที่ถูกยึดในกรุงเบอร์ลินก็ไม่ประสบผลเช่นกัน ความผิดพลาดเหล่าทำให้กลุ่มผู้คบคิดเสียกำลังใจ ระหว่าง ค.ศ. 1943 เทร็สโคพยายามอย่างไร้ผลในการสรรหานายทหารบกระดับสูงที่คุมกำลังภาคสนาม เช่น จอมพลเอริช ฟ็อน มันชไตน์ และจอมพลแกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท เพื่อช่วยยึดอำนาจ เทร็สโคเจาะจงทุ่มเทกับแม่ทัพกลุ่มกลาง จอมพลกึนเทอร์ ฟ็อน คลูเกอ เพื่อเกลียกล่อมให้เคลื่อนไหวต่อต้านฮิตเลอร์ ซึ่งบางครั้งก็ได้รับความยินยอมจากเขาสำเร็จ ทว่าเขากลับไม่เด็ดขาดในนาทีสุดท้าย[10] แม้จอมพลทั้งหลายจะปฏิเสธ ทว่าไม่มีคนใดรายงานกิจกรรมทรยศต่อตำรวจลับหรือฮิตเลอร์เลย
วางแผนรัฐประหาร
แก้บุคคลสำคัญ
แก้-
พลตรี ฮันส์ โอสเทอร์
-
พลเอกอาวุโส ลูทวิช เบ็ค
-
จอมพล แอร์วีน ฟ็อน วิทซ์เลเบิน
-
พลตรี เฮ็นนิง ฟ็อน เทร็สโค
-
พลเอก ฟรีดริช อ็อลบริชท์
-
พลเอก เอริช เฟ็ลกีเบิล
-
ร้อยโท แวร์เนอร์ ฟ็อน เฮ็ฟเทิน
ชเตาเฟินแบร์คเข้ากับผู้ก่อการ
แก้เมื่อถึงกลาง ค.ศ. 1943 เยอรมนีเป็นฝ่ายเสียเปรียบในสงครามอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ผู้คบคิดในกองทัพบกและพันธมิตรพลเรือนเชื่อว่าฮิตเลอร์ควรถูกลอบสังหาร เพื่อให้สามารถตั้งรัฐบาลที่ฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกยอมรับได้ และมีการเจรจาสันติภาพต่างหากเพื่อป้องกันมิให้โซเวียตบุกครองเยอรมนี ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1943 เทร็สโคพบนายทหารหนุ่มนามว่าพันเอกเคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์คเป็นครั้งแรก พันเอกชเตาเฟินแบร์คเป็นพวกอนุรักษนิยมทางการเมือง พวกชาตินิยมเยอรมันหัวรุนแรงและคริสเตียนโรมันคาทอลิก ผู้เคยได้รับบาดเจ็บสาหัสระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในแอฟริกาเหนือ ตั้งแต่ต้น ค.ศ. 1942 เขาได้แลกเปลี่ยนความเชื่อมั่นกับนายทหารอีกหลายคนสองเรื่องพื้นฐาน หนึ่งคือเยอรมนีกำลังถูกนำไปสู่หายนะ สองคือการโค่นอำนาจฮิตเลอร์เป็นสิ่งจำเป็น หลังยุทธการที่สตาลินกราดในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1942 เขาสรุปว่าการลอบสังหารฮิตเลอร์ชั่วร้ายน้อยกว่าการปล่อยให้ฮิตเลอร์ครองอำนาจ แม้ขัดต่อศีลธรรมศาสนาของเขา ชเตาเฟินแบร์คนำบรรยากาศความเด็ดขาดใหม่มาสู่บรรดาขบวนการต่อต้าน เมื่อเทร็สโคได้รับคำสั่งไปยังแนวรบด้านตะวันออก ชเตาเฟินแบร์คจึงรับผิดชอบการวางแผนและปฏิบัติความพยายามลอบสังหาร
แผนใหม่
แก้ขณะนี้ อ็อลบริชท์เสนอยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อก่อรัฐประหารต่อฮิตเลอร์ กองกำลังสำรองมีแผนปฏิบัติการชื่อว่า ปฏิบัติการวัลคือเรอ ซึ่งตั้งใจใช้ในเหตุการณ์ที่การทิ้งระเบิดนครเยอรมันของฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้เกิดการขัดขวางจนไม่สามารถรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย หรือแรงงานในบังคับหลายล้านคนจากประเทศที่ถูกยึดครองซึ่งปัจจุบันถูกใช้ในโรงงานของเยอรมนีก่อการกำเริบ อ็อลบริชท์เสนอว่า สามารถใช้แผนนี้ระดมกำลังสำรองเพื่อจุดประสงค์รัฐประหารได้ ในเดือนสิงหาคมและกันยายน ค.ศ. 1943 เทร็สโคร่างแผนวัลคือเรอ "ทบทวน" และคำสั่งเพิ่มเติมใหม่ คำประกาศลับเริ่มต้นด้วยคำเหล่านี้: "ท่านผู้นำฮิตเลอร์ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว! พวกคนไร้คุณธรรมในกลุ่มผู้นำพรรค กำลังพยายามใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ทำการแทงข้างหลังกองทัพ และยึดอำนาจไว้เพื่อตนเอง" มีการเขียนคำสั่งละเอียดสำหรับการยึดกระทรวงการสงครามในกรุงเบอร์ลิน สำนักงานใหญ่เอ็สเอ็สของฮิมเลอร์ในปรัสเซียตะวันออก สถานีวิทยุและสำนักงานโทรศัพท์ และกลไกนาซีอื่นทั่วทั้งมณฑลทหารและค่ายกักกัน[11] เดิมเชื่อกันว่าชเตาเฟินแบร์คเป็นผู้รับผิดชอบหลักของแผนวัลคือเรอ แต่เอกสารที่ได้จากสหภาพโซเวียตหลังสงครามและเผยแพร่ใน ค.ศ. 2007 เสนอว่า เทร็สโคพัฒนาแผนดังกล่าวในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1943[12] เอรีคา ภรรยาของเทร็สโค และมาร์การีเทอ ฟ็อน โอเฟน เลขานุการของเขา เป็นผู้จัดการสารสนเทศลายลักษณ์ทั้งหมด หญิงทั้งสองสวมถุงมือเพื่อไม่ให้ทิ้งรอยนิ้วมือ[13] บุคคลเดียวที่สั้งใช้แผนวัลคือเรอได้คือพลเอกอาวุโสฟรีดริช ฟร็อม ผู้บัญชาการกำลังสำรอง ฉะนั้นเขาต้องถูกดึงมาเป็นพวกหรือให้เป็นกลางเพื่อให้แผนสำเร็จ พลเอกอาวุโสฟร็อมก็เหมือนกับนายทหารอาวุโสคนอื่นอีกหลายคน ฟร็อมทราบโดยรวมว่ามีการสมคบทางทหารต่อฮิตเลอร์ แต่มิได้ทั้งสนับสนุนและรายงานต่อตำรวจลับ
ความพยายามล้มเหลวที่ผ่านมา
แก้ระหว่าง ค.ศ. 1943 ถึงต้น ค.ศ. 1944 พันเอกเทร็สโคและพันเอกชเตาเฟินแบร์คพยายามอย่างน้อยสี่ครั้งเพื่อให้ผู้ก่อการทหารคนหนึ่งเข้าใกล้ฮิตเลอร์มากพอและนานพอที่จะสังหารเขาด้วยระเบิดมือ ระเบิดหรือปืนพกลูกโม่ ทว่า ภารกิจนี้ยากขึ้นเป็นลำดับ เมื่อสถานการณ์สงครามเลวร้ายลง ฮิตเลอร์ไม่ปรากฏตัวในที่สาธารณะและแทบไม่ค่อยเยือนกรุงเบอร์ลินอีก เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ที่กองบัญชาการสนามที่รังหมาป่า ใกล้รัสเทินบวร์คในปรัสเซียตะวันออก โดยพักผ่อนเป็นบางครั้งที่โอเบอร์ซาลซ์บวร์ค สถานปลีกวิเวกแถบเทือกเขาแอลป์ในบาวาเรียใกล้เมืองแบร์ชเทิสกาเดิน ทั้งสองที่ ฮิตเลอร์ถูกคุ้มกันแน่นหนาและแทบไม่พบผู้ที่เขาไม่รู้จักหรือเชื่อใจ ฮิมเลอร์และตำรวจลับทวีความสงสัยแผนลับต่อฮิตเลอร์ และเจาะจงสงสัยนายทหารเสนาธิการ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของการคบคิดที่กำลังดำเนินเอาชีวิตของฮิตเลอร์อยู่ไม่น้อยจริง ๆ
โอกาสสุดท้าย "ไม่ว่าต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม"
แก้เมื่อย่างเข้าฤดูร้อน ค.ศ. 1944 ตำรวจลับสืบใกล้ถึงกลุ่มคบคิด ในเวลานั้น มีความรู้สึกว่าเวลากำลังหมดลง ทั้งในสมรภูมิ ซึ่งทหารในแนวรบด้านตะวันออกกำลังถอยร่นเต็มรูปแบบ และฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกในประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พื้นที่ดำเนินกลยุทธของผู้ก่อการในประเทศเยอรมนีหดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ก่อการเชื่อว่าการลงมือปฏิบัติหนนี้เป็นโอกาสสุดท้าย ถึงขณะนี้ แกนนำผู้คบคิดเริ่มคิดว่าพวกตนชะตาขาด และการกระทำนั้นเป็นในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าเกิดผลจริง บางคนเริ่มมองความมุ่งหมายของการคบคิดว่าเป็นการรักษาเกียรติยศของตนเอง ครอบครัว กองทัพและประเทศเยอรมนีผ่านท่าทีอันสง่างาม แต่ไร้ผล มากกว่าเปลี่ยนทิศทางของประวัติศาสตร์จริง ๆ
ความเชื่อที่ว่า ผู้ก่อการประสบความสำเร็จสำคัญในต้นเดือนกรกฎาคมเมื่อสามารถชักชวนจอมพลแอร์วีน ร็อมเมิล "จิ้งจอกทะเลทราย" ผู้มีชื่อเสียงเข้าร่วมคณะได้ เป็นเรื่องเข้าใจผิด ร็อมเมิลเป็นนายทหารที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเยอรมนีและไม่เคยให้การสนับสนุนแผนลับนี้ (วิทซ์เลเบินเกษียณตั้งแต่ ค.ศ. 1942) แม้ร็อมเมิลรู้สึกว่าเขาจำเป็นต้อง "มาช่วยประเทศเยอรมนี" แต่เขาเชื่อว่าการฆ่าฮิตเลอร์ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง และสมควรนำตัวฮิตเลอร์ขึ้นศาลอาชญากรรมมากกว่าการลอบสังหาร [14]
เมื่อชเตาเฟินแบร์คส่งสารถึงเทร็สโคผ่านร้อยโทไฮน์ริช กราฟ ฟ็อน เลนดอร์ฟ-ชไตนอร์ท ถามว่ามีเหตุผลที่จะฆ่าฮิตเลอร์อ่นหรือไม่หากไม่มีความมุ่งหมายทางการเมือง เทร็สโคตอบว่า "ต้องสังหารเขาให้ได้ไม่ว่าต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม ต่อให้มันล้มเหลว เราก็ต้องลงมือในกรุงเบอร์ลิน เพราะความมุ่งหมายเชิงปฏิบัตินั้นไม่สำคัญอีกแล้ว สิ่งสำคัญตอนนี้ คือ ขบวนการต่อต้านในเยอรมันต้องตัดสินใจต่อเบื้องหน้าสายตาชาวโลกและประวัติศาสตร์ เมื่อเทียบกับสิ่งนั้นแล้ว สิ่งอื่นก็ไม่สำคัญ"[15]
ฮิมเลอร์เคยสนทนากับผู้ต่อต้านที่ทราบแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1943 รัฐมนตรีคลังปรัสเซีย โยฮันเนส โพพิทซ์ ซึ่งเกี่ยวข้องในเครือข่ายของเกอร์เดอเลอร์ มาพบเขาและเสนอว่าจะยอมร่วมมือหากให้ตนเองขึ้นเป็นผู้นำแทนที่ฮิตเลอร์และรับประกันว่าสงครามยุติลงด้วยการเจรจา[16] การประชุมนี้ไม่มีผล แต่โพพิทซ์มิได้ถูกจับกุมทันที (แม้ภายหลังเขาถูกประหารชีวิตใกล้สงครามยุติ) ถึงกระนั้น ปรากฏว่าฮิมเลอร์มิได้ดำเนินการตามล่าเครือข่ายต่อต้านแต่อย่างใด ตัวฮิมเลอร์เองก็ทราบดีว่าแผนกบฏนี้จะก่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายประจำ เป็นไปได้ว่าฮิมเลอร์อาจทราบว่าสงครามนี้ไม่อาจเอาชนะได้ จึงปล่อยให้แผนลับดำเนินไปโดยทราบว่าหากแผนนั้นสำเร็จ เขาจะเป็นผู้สืบทอดของฮิตเลอร์ จากนั้นจะสามารถนำมาซึ่งข้อตกลงสันติภาพได้
โพพิทซ์ไม่ใช่ผู้เดียวที่มองฮิมเลอร์ว่ามีมีศักยภาพพอที่จะเป็นพันธมิตร จอมพลเฟดอร์ ฟ็อน บ็อค แนะนำเทร็สโคให้หาพยายามหาแรงจูงใจมาโน้มน้ามเขามากกว่านี้ แต่ไม่มีหลักฐานว่าเทร็สโคทำเช่นนั้น เกอร์เดอเลอร์ดูเหมือนว่าติดต่อกับฮิมเลอร์โดยอ้อมผ่านคนที่ทั้งสองรู้จัก คือ คาร์ล ลังเบน และพลเรือเอกวิลเฮ็ล์ม คานาริส หัวหน้าหน่วยข่าวกรองอับแวร์ เสนอว่า คานาริสและฮิมเลอร์กำลังร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงระบอบ แต่การอ้างดังกล่าวเป็นเพียงการคาดคะเน[17]
เทร็สโคและผู้ก่อการวงในไม่ได้คิดว่าจะล้มฮิตเลอร์ฮิตเลอร์เพียงเพื่อให้หัวหน้าเอ็สเอ็สที่น่าสะพรึงและอำมหิตมาแทนฮิตเลอร์ พวกเขาต้องกานฆ่าทั้งสองคนหากเป็นไปได้ ถึงขนาดที่ความพยายามครั้งแรกของชเตาเฟินแบร์คเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมถูกยกเลิกเพราะฮิมเลอร์ไม่อยู่
ลำดับเหตุการณ์
แก้ก่อนวันที่ 20 กรกฎาคม
แก้วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 ชเตาเฟินแบร์คได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาธิการของพลเอกอาวุโสฟร็อมที่กองบัญชาการกำลังสำรองในกรุงเบอร์ลิน ตำแหน่งนี้เปิดโอกาสให้เขาสามารถเข้าร่วมการประชุมทางทหารของฮิตเลอร์ได้ ไม่ว่าที่รังหมาป่าในปรัสเซียตะวันออกหรือแบร์ชเทิสกาเดิน ฉะนั้นจะให้โอกาสเขา ซึ่งอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่ปรากฏขึ้น ในการฆ่าฮิตเลอร์ด้วยระเบิดหรือปืนพก ขณะเดียวกัน กลุ่มต่อต้านได้พันธมิตรสำคัญคนใหม่ ซึ่งรวมพลเอก คาร์ล-ไฮน์ริช ฟ็อน ชตึลพ์นาเกิล ผู้บัญชาการทหารเยอรมันในฝรั่งเศส ผู้จะควบคุมกรุงปารีสเมื่อฮิตเลอร์ถูกฆ่าแล้ว และหวังว่าจะเจรจาการสงบศึกทันทีกับกองทัพสัมพันธมิตรที่กำลังรุกเข้ามา
แผนลับเตรียมการสมบูรณ์แล้ว วันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 พลเอกชตีฟฟ์ มีแผนฆ่าฮิตเลอร์ที่การจัดแสดงเครื่องแบบใหม่ที่ปราสาทเคลสส์ไฮม์ใกล้ซาลซ์บวร์ค ทว่า ชตีฟฟ์ไม่สามารถฆ่าฮิตเลอร์ ขณะนี้ชเตาเฟินแบร์คตัดสินใจกระทำสองอย่าง คือ ทั้งลอบสังหารฮิตเลอร์ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใด และจัดการแผนลับในกรุงเบอร์ลิน วันที่ 11 กรกฎาคม ชเตาเฟินแบร์คเข้าร่วมการประชุมของฮิตเลอร์โดยพกระเบิดไว้ในกระเป๋าเอกสารของเขา ในแผนการครั้งนี้ ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ แห่งองค์การเอ็สเอ็ส และจอมพลไรช์แฮร์มัน เกอริง แห่งกองทัพอากาศ จำเป็นต้องถูกฆ่าไปพร้อมกันด้วยเพื่อเปิดทางให้ปฏิบัติการวัลคือเรอมีโอกาสสำเร็จ อย่างไรก็ตาม แผนครั้งนี้เป็นอันล้มไปเพราะฮิมเลอร์ไม่อยู่ อันที่จริง ฮิมเลอร์แทบไม่ค่อยเข้าร่วมประชุมทหารเลย[8]
ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม ชเตาเฟินแบร์คบินมายังรังหมาป่าอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เงื่อนไขทุกอย่างลงล็อก โดยมีแผนคือ ให้ชเตาเฟินแบร์ควางกระเป๋าเอกสารที่มีระเบิดอยู่ในห้องประชุมของฮิตเลอร์โดยตั้งตัวจับเวลาไว้ ขอตัวปลีกจากการประชุม รอระเบิด แล้วบินกลับมายังกรุงเบอร์ลินและเข้าร่วมผู้ก่อการคนอื่นที่เบ็นท์เลอร์บล็อก จากนั้น จะเริ่มปฏิบัติการวัลคือเรอ กำลังรักษาดินแดนจะยึดการควบคุมเยอรมนีและจับผู้นำนาซีคนอื่น พลเอกอาวุโสเบ็คจะได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขแห่งรัฐชั่วคราว เกอร์เดอเลอร์จะเป็นนายกรัฐมนตรี และจอมพลวิทซ์เลเบินจะเป็นผู้บัญชาการสูงสุดแห่งแวร์มัคท์ อย่างไรก็ตาม แผนการในครั้งนี้ถูกยกเลิกไปในนาทีสุดท้าย แม้ฮิมเลอร์และเกอริงเข้าประชุมด้วย แต่ฮิตเลอร์ถูกเรียกออกจากห้องในขณะสุดท้าย ชเตาเฟินแบร์คสามารถขัดขวางระเบิดและป้องกันไม่ให้ถูกตรวจพบได้[8]
วันที่ 17 กรกฎาคม รถทหารของจอมพลแอร์วีน ร็อมเมิล ถูกเครื่องบินสปิตไฟร์กราดยิงในประเทศฝรั่งเศส เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยการบาดเจ็บที่ศีรษะ
20 กรกฎาคม
แก้การลอบสังหาร
แก้วันที่ 18 กรกฎาคม มีข่าวลือถึงหูพันเอกชเตาเฟินแบร์คว่าตำรวจลับทราบข่าวการคบคิดและเขาอาจถูกจับกุมได้ทุกเมื่อ แม้จะพิสูจน์ได้ชัดว่าข่าวดังกล่าวเป็นเท็จ แต่เขาก็รู้สึกว่าภัยกำลังคืบใกล้เข้ามาและต้องฉวยโอกาสต่อไปฆ่าฮิตเลอร์เพราะอาจไม่มีโอกาสต่อไปอีกแล้ว เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 20 กรกฎาคม ชเตาเฟินแบร์คบินกลับรังหมาป่าเพื่อเข้าร่วมประชุมทางทหารของฮิตเลอร์อีกครั้งหนึ่ง โดยมีระเบิดอยู่ในกระเป๋าเอกสารเช่นเดิม แต่การประชุมหนนี้จัดขึ้นในกระท่อมแทนบังเกอร์เนื่องจากอากาศที่ร้อน
ราว 12.30 น. การประชุมเริ่มขึ้น ชเตาเฟินแบร์คขอตัวใช้ห้องน้ำในสำนักงานของจอมพลไคเทิล และเขาได้ใช้คีมกระแทกปลายตัวจุดระเบิดดินสอสอดเข้าไปในแท่งระเบิดพลาสติก 1 กิโลกรัมซึ่งห่อด้วยกระดาษสีน้ำตาล ตัวจุดระเบิดประกอบด้วยหลอดทองแดงบาง ๆ ที่มีคอปเปอร์คลอไรด์ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10 นาทีกัดกร่อนสายที่รั้งเข็มแทงชนวนไว้จากเพอร์คัสชันแค็ป (percussion cap) จากนั้น เขาบรรจุระเบิดที่เตรียมแล้วลงในกระเป๋าเอกสารอย่างรวดเร็ว เพราะเขาได้รับคำสั่งให้กลับเข้าประชุม ระเบิดบล็อกที่สองถูกคู่ยึดไว้ ไม่ได้ใส่ลงไปในกระเป๋าเอกสาร เขาเข้าห้องประชุมและพันตรี แอนสท์ โยน ฟ็อน ไฟรเอนด์ วางกระเป๋าเอกสารของชเตาเฟินแบร์คใต้โต๊ะซึ่งฮิตเลอร์และนายทหารอีกกว่า 20 นายประชุมอยู่โดยไม่รู้ตัว[18][19] ไม่กี่นาทีต่อมา ชเตาเฟินแบร์คได้รับโทรศัพท์ที่วางแผนล่วงหน้าและออกจากห้อง สันนิษฐานว่าพันเอก ไฮนซ์ บรันดท์ ใช้เท้าเลื่อนกระเป๋าเอกสารไปด้านข้างโดยผลักไปอยู่หลังขาโต๊ะประชุม ฉะนั้น จึงสะท้อนแรงระเบิดจากฮิตเลอร์แต่ทำให้เขาเสียชีวิตและเสียขาไปข้างหนึ่งเมื่อระเบิดจุดระเบิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ระหว่างเวลา 12.40 น. และ 12.50 น. ระเบิดทำงาน[20] และพังห้องประชุมพินาศ นายทหารสามนายและนักชวเลขได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตจากนั้นไม่นาน ฮิตเลอร์รอดชีวิต เช่นเดียวกับคนอื่นที่ได้ขาโต๊ะประชุมรับแรงระเบิดไว้ กางเกงขายาวของฮิตเลอร์ถูกเผาและขาดรุ่งริ่ง และเยื่อแก้วหูเขาทะลุ เช่นเดียวกับผู้รอดชีวิตคนอื่นส่วนใหญ่ในห้อง 24 คน[20] หากวางระเบิดไว้ในบล็อกที่สอง เป็นไปได้ว่าทุกคนที่เข้าประชุมจะเสียชีวิตทั้งหมด
หลบหนีและบินไปยังเบอร์ลิน
แก้ในขณะที่กำลังเดินไปที่รถยนต์ ชเตาเฟินแบร์คได้ยินเสียงระเบิดและเห็นควันลอยออกจากหน้าต่างที่แตกของโรงทหารคอนกรีตนั้น ก็เชื่อว่าฮิตเลอร์เสียชีวิตแล้ว จึงโดดขึ้นรถทหารของเขาพร้อมนายทหารผู้ช่วย ร้อยโทแวร์เนอร์ ฟ็อน เฮ็ฟเทิน และหลอกผ่านด่านตรวจสามแห่งก่อนออกจากรังหมาป่า จากนั้นร้อยโทเฮ็ฟเทินได้โยนแท่งระเบิดลูกที่สองที่ไม่ได้ใช้และยังไม่ได้แทงเข็มแทงชนวนเข้าไปในป่า ขณะเร่งรุดไปยังสนามบินรัสเทินบวร์คทันก่อนที่คนอื่นจะทราบว่าชเตาเฟินแบร์คเป็นผู้ก่อเหตุระเบิดดังกล่าว เมื่อเวลา 13.00 น. เขานั่งเครื่องไฮง์เคิล เฮ 111 ที่พลเอกเอดูอวร์ท วากเนอร์ จัดเตรียมไว้ให้
เมื่อเครื่องบินของชเตาเฟินแบร์คร่อนลงที่กรุงเบอร์ลินเมื่อเวลาราว 16.00 น.[22][23] พลเอกเอริช เฟ็ลล์กีเบิล หัวหน้านายทหารสื่อสารที่รังหมาป่าซึ่งอยู่ในแผนลับด้วย โทรศัพท์ถึงเบ็นท์เลอร์บล็อกและบอกผู้ก่อการว่าฮิตเลอร์รอดชีวิตจากการระเบิด ผลคือ การระดมปฏิบัติการวัลคือเรอจะไม่มีโอกาสสำเร็จเมื่อนายทหารกำลังรักษาดินแดนทราบว่าฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่ มีความสับสนยิ่งขึ้นอีกเมื่อเครื่องบินของชเตาเฟินแบร์คลงจอดและเขาโทรศัพท์จากสนามบินและว่าแท้จริงฮิตเลอร์เสียชีวิตแล้ว[24] ผู้ก่อการที่เบนด์เลอร์บล็อกไม่รู้จะเชื่อใครดี สุดท้ายเมื่อเวลา 16.00 น. อ็อลบริชท์ออกคำสั่งให้ดำเนินปฏิบัติการวัลคือเรอ ทว่าพลเอกอาวุโสฟร็อมผู้ลังเลโทรศัพท์หาจอมพลวิลเฮ็ล์ม ไคเทิล และได้รับการยืนยันว่าฮิตเลอร์รอดชีวิต ไคเทิลต้องการทราบที่อยู่ของชเตาเฟินแบร์ค ซึ่งเป็นการบอกฟร็อมว่ามีการสืบแผนลับมาถึงสำนักงานใหญ่ของเขาแล้ว และเขาอยู่ในอันตรายใหญ่หลวง ฟร็อมตอบไปว่าเขาคิดว่าชเตาเฟินแบร์คอยู่กับฮิตเลอร์[25]
ขณะเดียวกัน พลเอกคาร์ล-ไฮน์ริช ฟ็อน ชตึลพ์นาเกิล ผู้ว่าการทหารในดินแดนยึดครองฝรั่งเศส จัดการปลดอาวุธตำรวจเอ็สเดและทหารเอ็สเอ็ส และจับตัวผู้นำส่วนใหญ่ได้ เขาเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของจอมพลกึนเทอร์ ฟ็อน คลูเกอและขอให้เขาติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทว่า เขาได้รับแจ้งว่าฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่[24] เวลา 16.40 น. ชเตาเฟินแบร์คและเฮ็ฟเทินมาถึงเบ็นท์เลอร์บล็อก พลเอกอาวุโสฟร็อมเปลี่ยนฝ่ายและพยายามจับตัวชเตาเฟินแบร์ค ซึ่งเข้าใจว่าพยายามปกป้องตัวเอง อ็อลบริชท์และชเตาเฟินแบร์คจึงใช้ปืนกักขังเขาไว้ แล้วอ็อลบริชท์แต่งตั้งให้พลเอกอาวุโสเอริช เฮิพเนอร์ ปฏิบัติหน้าที่แทนเขา
ถึงขณะนี้ ฮิมเลอร์เข้าควบคุมสถานการณ์และออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งดำเนินการปฏิบัติการวัลคือเรอของอ็อลบริชท์ แต่ในหลายพื้นที่ รัฐประหารยังดำเนินไป นำโดยนายทหารซึ่งเชื่อว่าฮิตเลอร์เสียชีวิตแล้ว ในกรุงเบอร์ลิน พลเอก เพาล์ ฟ็อน ฮาเซอ หัวหน้านครและผู้ก่อการ ออกคำสั่งกองพลทหารราบยานเกราะโกรสด็อยท์ชลันด์ ภายใต้บังคับบัญชาของพันตรีอ็อทโท แอ็นสท์ เรเมอร์ บุกยึดถนนวิลเฮ็ล์มและจับตัวรัฐมนตรีโฆษณาการ โยเซฟ เกิบเบิลส์[26] ในกรุงเวียนนา กรุงปราก และอีกหลายแห่ง ทหารยึดครองสำนักงานพรรคนาซีและจับกุมเกาไลเทอร์และนายทหารเอ็สเอ็สไว้
รัฐประหารล้มเหลว
แก้เวลาประมาณ 18.00 น. ผู้บัญชาการมณฑลทหารที่สาม กรุงเบอร์ลิน พลเอกโยอาคิม ฟ็อน คอทซ์ไฟลช์ ถูกเรียกตัวมายังเบ็นท์เลอร์บล็อก แต่เขาปฏิเสธคำสั่งของอ็อลบริชท์อย่างโกรธเคืองและเอาแต่ตะโกนว่า "ท่านผู้นำยังมีชีวิตอยู่"[27] ดังนั้นเขาจึงถูกจับกุมและควบคุมตัวไว้ พลเอกไฟรแฮรร์ ฟ็อน ทึนเกินได้รับแต่งตั้งแทนที่ แต่เขาช่วยได้น้อยมาก พลเอก ฟริทซ์ ลินเดมันน์ ซึ่งน่าจะออกประกาศแก่ชาวเยอรมันทางวิทยุ แต่เขาไม่อยู่และเนื่องจากเขาเป็นผู้ถือสำเนาประกาศฉบับเดียว เบ็คจึงต้องร่างคำประกาศใหม่[28]
เวลาแตกหักมาถึงเมื่อเวลา 19.00 น. เมื่อฮิตเลอร์ฟื้นตัวเพียงพอจะโทรศัพท์ เขาโทรหารัฐมนตรีเกิบเบลส์ที่กระทรวงโฆษณาการ เกิบเบลส์จัดแจงให้ฮิตเลอร์คุยกับพันตรีเรเมอร์ ผู้บังคับบัญชาทหารที่ล้อมกระทรวงอยู่ หลังจากยืนยันแล้วว่าเขายังมีชีวิตอยู่ ฮิตเลอร์สั่งให้เรเมอร์ควบคุมสถานการณ์ในกรุงเบอร์ลินอีกครั้ง พันตรีเรเมอร์สั่งให้ทหารของเขาล้อมและปิดเบนด์เลอร์บล็อก แต่ไม่เข้าไปในอาคาร [26] เมื่อเวลา 20.00 น. จอมพลวิทซ์เลเบินผู้โกรธจัดมาถึงเบ็นท์เลอร์บล็อกและมีการโต้เถียงอย่างขมขื่นกับชเตาเฟินแบร์ค ผู้ยังยืนยันว่าสามารถดำเนินรัฐประหารต่อไปได้ จากนั้นไม่นานวิทซ์เลเบินก็ออกไป เวลาใกล้เคียงกันนี้ การยึดอำนาจที่วางแผนไว้ในกรุงปารีสถูกยกเลิกเมื่อจอมพล กึนเทอร์ ฟ็อน คลูเกอ ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการใหญ่ตะวันตก ทราบว่าฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่
เมื่อพันตรีเรเมอร์เข้าควบคุมสถานการณ์ในกรุงเบอร์ลินและข่าวสะพัดไปว่าฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่ สมาชิกที่ไม่ค่อยเด็ดเดี่ยวของการคบคิดในกรุงเบอร์ลินเริ่มเปลี่ยนฝ่าย มีการต่อสู้ในเบ็นท์เลอร์บล็อกระหว่างนายทหารที่สนับสนุนและคัดค้านรัฐประหาร และชเตาเฟินแบร์คได้รับบาดเจ็บ เมื่อเวลา 23.00 น. ฟร็อมกลับเข้าควบคุมพื้นที่ และหวังว่าการแสดงความภักดีอย่างออกนอกหน้าจะช่วยเขาได้ เมื่อพลเอกอาวุโสเบ็คทราบว่าสถานการณ์สิ้นหวัง ยิงตัวตาย เป็นผู้ฆ่าตัวตายคนแรกในหลายวันให้หลัง แม้ทีแรกเบ็คเพียงแค่ทำให้ตัวบาดเจ็บสาหัสเท่านั้น เขาถูกทหารยิงที่คอ ฟร็อมจัดศาลทหารเฉพาะหน้าอันประกอบด้วยตัวเขาเอง และพิพากษาลงโทษประหารชีวิตอ็อลบริชท์, ชเตาเฟินแบร์ค, เฮ็ฟเทิน, เควียร์นไฮม์ นายทหารอีกคน เมื่อเวลา 00.10 น. ชอองวันที่ 21 กรกฎาคม พวกเขาถูกประหารชีวิตในลานด้านนอก ซึ่งอาจเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาเปิดเผยการมีส่วนของฟร็อม[29] มีผู้อื่นจะถูกประหารชีวิตอีกเช่นกัน แต่เมื่อเวลา 00.30 น. เอ็สเอ็สนำโดยออทโท สกอร์เซนีมาถึงและห้ามประหารชีวิตเพิ่ม
ผลสืบเนื่อง
แก้อีกหลายสัปดาห์ถัดมา ด้วยความโกรธเกรี้ยวของฮิตเลอร์ ตำรวจตำรวจลับของฮิมเลอร์ล้อมจับแทบทุกคนที่มีส่วนกับแผนลับดังกล่าวแม้เพียงเล็กน้อย การค้นพบจดหมายและบันทึกประจำวันในบ้านและสำนักงานของผู้ที่ถูกจับกุมนั้นเปิดเผยแผนการตั้งแต่ ค.ศ. 1938, 1939 และ 1943 ซึ่งนำไปสู่การจับกุมตามมาอีกหลายรอบ รวมทั้งการจับกุมฟรันซ์ ฮัลเดอร์ที่เสียชีวิตในค่ายกักกัน และด้วยกฎหมายซิพเพนฮัฟท์ (ความรับผิดทางสายเลือด) ญาติทุกคนของผู้ก่อการคนสำคัญถูกจับกุมด้วยเช่นกัน
มีผู้ถูกจับกุมกว่า 7,000 คน[30] และราว 4,980 คนถูกประหารชีวิต[31] ใช่ว่าทุกคนที่ถูกจับกุมหรือประหารชีวิตเชื่อมโยงกับแผนลับนี้ เพราะตำรวจลับฉวยโอกาสดังกล่าวสะสางกับอีกหลายคนที่ต้องสงสัยว่าเข้าข้างฝ่ายต่อต้าน วิทยุอังกฤษยังออกชื่อผู้ต้องสงสัยที่เป็นไปได้ที่ไม่เกี่ยวข้องแต่ภายหลังก็ถูกจับกุม[32]
ผู้ก่อการพยายามหลบหนีหรือปฏิเสธความผิดเมื่อถูกจับกุมน้อยมาก ผู้รอดชีวิตจากการสอบปากคำจะถูกนำตัวมาพิจารณาคดีพอเป็นพิธีต่อหน้าศาลประชาชน (โฟล์กสเกริชท์ชอฟ) ศาลเถื่อนซึ่งตัดสินเข้าข้างฝ่ายอัยการเสมอ ประธานศาลประชาชน โรลันท์ ไฟรส์เลอร์ เป็นพวกคลั่งนาซี มีผู้เห็นว่าตะโกนอย่างเดือดดาลและหยาบคายต่อผู้ถูกกล่าวหาในการพิจารณา ซึ่งมีการถ่ายภาพยนตร์ด้วยเหตุผลด้านการโฆษณาชวนเชื่อ[33] นายทหารที่เกี่ยวข้องกับแผนลับถูก "ไต่สวน" ต่อหน้าศาลเกียรติยศทหาร ศาลทหารที่ตัดสินคดีด้วยการพิจารณาหลักฐานที่ตำรวจลับตกแต่งมาให้ก่อนขับผู้ถูกกล่าวหาออกจากกองทัพว่าทำให้เสื่อมเสีย แล้วส่งตัวให้ศาลประชาชน
การพิจารณาครั้งแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 7 และ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1944 ฮิตเลอร์สั่งให้ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงถูก "แขวนคอเหมือนวัวควาย"[33] หลายคนชิงฆ่าตัวตายก่อนถึงการพิจารณาหรือการประหารชีวิตของตน รวมทั้งคลูเกอ ที่ถูกกล่าวหาว่ารู้เห็นกับแผนลับล่วงหน้าและไม่ได้เปิดเผยต่อฮิตเลอร์ ชตึลพ์นาเกิลพยายามฆ่าตัวตายเช่นกัน แต่รอดและถูกแขวนคอ
ขณะถูกทรมานนั้น เขาโพล่งชื่อร็อมเมิลออกมา อีกไม่กี่วันถัดมา ที่ปรึกษาส่วนตัวของชตึลพ์นาเกิล เซซาร์ ฟ็อน ฮอฟัคแคร์ ยอมรับหลังจากถูกทรมานอย่างน่าสยดสยองว่าร็อมเมิลเป็นสมาชิกปฏิบัติการของแผนคบคิดดังกล่าวด้วย ร็อมเมิลมีส่วนเกี่ยวข้องขนาดไหนนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่นักประวัติศาสตร์จำนวนมากสรุปว่า อย่างน้อยเขาก็ทราบแผนคบคิดดังกล่าวแม้ไม่ได้พัวพันโดยตรงก็ตาม อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ทราบว่าจะเป็นกรณีอื้อฉาวใหญ่หลวงแก่สาธารณะ หากร็อมเมิลถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ ติดดังนี้แล้ว เขาจึงให้ทางเลือกร็อมเมิลว่าจะฆ่าตัวตายด้วยไซยาไนต์เอง หรือเข้าสู่การบวนการไต่สวนพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยโดยศาลประชาชน หากร็อมเมิลเลือกรับการไต่สวนพิจารณาคดี ครอบครัวของเขาจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงแม้ก่อนการพิพากษาลงโทษที่แน่นอน และพวกเขาจะถูกประหารชีวิตไปพร้อมกับเสนาธิการของเขาด้วย ร็อมเมิลทราบดีว่าการยอมถูกพิจารณาตัดสินคดีในศาลประชาชนมีค่าเท่ากับโทษประหาร เขาจึงทำอัตวินิบาตกรรมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1944 เขาถูกฝังอย่างสมเกียรติทหาร บทบาทของเขาในเรื่องนี้เปิดเผยหลังสงครามยุติ[14]
เทร็สโคก็ฆ่าตัวตายหนึ่งวันหลังจากรัฐประหารที่ล้มเหลวโดยการใช้ระเบิดมือในดินแดนไม่มีเจ้าของระหว่างแนวรบรัสเซียกับเยอรมัน ก่อนตาย เทร็สโคว่าแก่ฟาเบียน ฟ็อน ชลาเบรนดอร์ฟดังนี้
แม้โลกทั้งใบจะประณามเราในตอนนี้ แต่ผมยังเชื่อเต็มที่ว่าเราทำสิ่งที่ถูก ฮิตเลอร์เป็นศัตรูสำคัญไม่เฉพาะแต่กับเยอรมนีเท่านั้น แต่กับโลกทั้งใบด้วย ภายในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าเมื่อผมไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเพื่อทูลอธิบายต่อสิ่งใดที่ผมได้ทำลงไปแล้วและยังไม่ได้ทำนั้น ผมทราบว่าผมจะสามารถให้ความชอบธรรมได้ต่อสิ่งที่ผมทำไปในการต่อสู้กับฮิตเลอร์ พระเจ้าทรงให้สัญญาแก่อับราฮัมว่าพระองค์จะไม่ทรงทำลายนครโซดอม ถ้าหากยังสามารถหาผู้ชอบธรรมได้สิบคนในนครนั้น ฉะนั้นผมจึงหวังว่า เพื่อเห็นแก่พวกเรา พระเจ้าก็คงจะไม่ทรงทำลายเยอรมนี ไม่มีใครในหมู่พวกเราที่จะคร่ำครวญเกี่ยวกับการตายของตัวเองได้ ผู้ยินยอมเข้าร่วมวงกับพวกเรานั้นได้ยอมสวมเสื้อคลุมพิษแห่งเนสซุสไว้แล้ว บูรณภาพแห่งศีลธรรมของมนุษย์เริ่มขึ้นเมื่อเขาพร้อมสละชีวิตตนเองเพื่อสิ่งที่เขาเชื่อ[34]
และความล้มเหลวในการรายงานแผนลับดังกล่าวอย่างชัดเจน เขาถูกจับกุมในวันที่ 21 กรกฎาคม ภายหลังฟร็อมถูกศาลประชาชนพิพากาษาลงโทษและตัดสินประหารชีวิต แม้เขาเกี่ยวข้องกับการคบคิด แต่คำพิพากษาทางการของเขาระบุข้อกล่าวหาว่าเขาบกพร่องในหน้าที่ เขาถูกประหารชีวิตในบรันเดินบวร์คอันแดร์ฮาเฟิล ฮิตเลอร์เปลี่ยนโทษประหารชีวิตของเขาจากแขวนคอไปเป็นชุดยิง "ที่มีเกียรติกว่า" ด้วยตนเอง แอร์วีน พลังค์ บุตรชายนักฟิสิกส์ชื่อดัง มักซ์ พลังค์ ถูกประหารชีวิตจากการมีส่วนร่วมด้วย[35][36]
รายงานของคัลเทินบรุนเนอร์ต่อฮิตเลอร์ ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1944 ว่าด้วยเบื้องหลังของแผนคบคิดดังกล่าว ระบุว่าพระสันตปาปาเป็นผู้ก่อการในทางใดทางหนึ่งด้วย โดยเจาะจงชื่อยูจีนิโอ ปาเซลลี สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 ว่ามีส่วนในแผนลับด้วย[37] หลักฐานชี้ว่า ผู้ก่อการ พันเอกเวสเซิล ฟ็อน ไฟรทาค-โลริงโฮเฟิน, พันเอกแอร์วีน ฟ็อน ลาโฮอูเซิน และพลเรือเอก วิลเฮ็ล์ม คานาริสเกี่ยวข้องกับการขัดขวางแผนลักพาตัวหรือลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระสันตปาปาปิอุสที่ 12 ของฮิตเลอร์ใน ค.ศ. 1943 เมื่อคานาริสรายงานข้อมูลแผนนี้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่อต้านข่าวกรองของอิตาลี พลเอกเซซาเร อาแมะ ซึ่งได้ส่งต่อข้อมูลดังกล่าว[38][39]
หลังวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 เมื่อผู้พิพากษาไฟรส์เลอร์เสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดทางอากาศของสหรัฐ ก็ไม่มีการพิจารณาอย่างเป็นทางการเพิ่มอีก แต่จวบจนเดือนเมษายน ปีเดียวกัน ซึ่งอยู่ในช่วงปลายสงคราม มีการค้นพบบันทึกประจำวันของคานาริส และอีกหลายคนถูกซัดทอด การประหารชีวิตดำเนินต่อไปจนกระทั่งวันสุดท้ายของสงคราม
การพิจารณาและการประหารชีวิตตามรายงานนั้นได้ถูกถ่ายภาพยนตร์ไว้และถูกตรวจสอบโดยฮิตเลอร์และคณะผู้ติดตามของเขา ภาพยนตร์เหล่านี้ภายหลังถูกตัดต่อโดยเกิบเบิลส์เป็นภาพยนตร์ความยาว 30 นาที และถูกฉายให้แก่นักเรียนนายร้อยที่โรงเรียนนายร้อยลิคแตร์เฟลเดอ แต่เชื่อกันว่าผู้ชมเดินออกจากการฉายด้วยอาการขยะแขยง[40]
ฮิตเลอร์ถือเอาว่าการรอดชีวิตของเขานั้นเป็น "ช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ในประวัติศาสตร์" และมอบหมายให้มีการจัดทำเครื่องอิสรยาภรณ์ ผลก็คือ เหรียญผู้บาดเจ็บ 20 กรกฎาคม 1944 ซึ่งฮิตเลอร์มอบให้แก่ผู้ที่อยู่กับเขาในห้องประชุมในเวลานั้น เหรียญนี้ถูกจัดทำขึ้น 100 เหรียญ[41] และเชื่อกันว่ามีการมอบให้จำนวน 47 เหรียญ พร้อมด้วยเอกสารรางวัลอันหรูหราที่มอบให้แก่ผู้ได้รับเหรียญซึ่งลงนามส่วนตัวโดยฮิตเลอร์ ทำให้มันเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ที่มีการมอบน้อยที่สุดของนาซีเยอรมนี[42]
จากบทบาทในการยุติรัฐประหาร พันตรีเรเมอร์ได้รับการเลื่อนยศเป็นพันเอกและเมื่อสงครามยุติ เขามียศเป็นพลตรี หลังสงคราม เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมนิยมไรช์และเป็นพวกนีโอนาซีคนสำคัญและสนับสนุนแนวคิดคัดค้านการล้างชาติโดยนาซีกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1997[43]
ฟิลิพพ์ ฟ็อน เบอเซลาแกร์ นายทหารเยอรมันผู้จัดหาระเบิดพลาสติกที่ใช้ในเหตุดังกล่าวนั้น สามารถหลบหนีการถูกตรวจพบและรอดชีวิตจากสงคราม เขาเป็นผู้ร่วมขบวนการผู้รอดชีวิตคนที่สองรองจากสุดท้าย และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 อายุได้ 90 ปี[44]
ผลของรัฐประหาร สมาชิกทุกคนของกองทัพบกถูกบังคับให้สาบานความจงรักภักดีต่อฮิตเลอร์อีกครั้ง และเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 การแสดงความเคารพแบบทหารถูกแทนที่ด้วยการแสดงความเคารพต่อฮิตเลอร์ทั้งกองทัพซึ่งทำโดยยืดแขนออกและเปล่งคำพูดว่า "ไฮล์ ฮิตเลอร์"[45] แม้ว่าเหตุการณ์จะสงบลง แต่เวลาต่อมาในปี 1945 นาซีเยอรมันได้พ่ายแพ้สงครามและฮิตเลอร์ได้กระทำอัตวินิบาตกรรมในฟือเรอร์บุงเคอร์ เวลาต่อมาในอีกหลายปีให้หลังได้การรำลึกต่อกลุ่มบุคคลผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผนลับ 20 กรกฎาคม ซึ่งได้แสดงให้เห็นต่อคนเยอรมันชนรุ่นหลังและชาวโลกว่า ชาวเยอรมันทุกคนไม่ได้เป็นอย่างฮิตเลอร์และพรรคนาซี และกลุ่มบุคคลเหล่านี้ตายเพื่อเยอรมนี
แผนผังโครงสร้างรัฐบาลตามแผนที่ได้วางเอาไว้
แก้ผู้สมรู้ร่วมคิดต่างได้ถูกกำหนดตำแหน่งไว้เป็นความลับก่อนเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งภายหลังจากการลอบสังหารฮิตเลอร์นั้นพิสูจน์ว่าได้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากความล้มเหลวของแผนลับ เช่น รัฐบาลใหม่ไม่เคยลุกขึ้นสู่อำนาจและสมาชิกส่วนใหญ่ล้วนถูกประหารชีวิต รายชื่อต่อไปนี้ได้ถูกกำหนดไว้สำหรับบทบาทเหล่านี้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1944:[46]
- พลเอกอาวุโส ลูทวิช เบ็ค (กองทัพบก) – ประธานาธิบดี
- คาร์ล ฟรีดริช เกอร์เดอเลอร์ (พรรคประชาชนแห่งชาติเยอรมัน (DNVP)) – นายกรัฐมนตรี
- วิลเฮ็ล์ม ลอยชเนอร์ (SPD) – รองนายกรัฐมนตรี
- เพาล์ เลอเบอ (SPD) – ประธานรัฐสภาไรชส์ทาค
- ยูลิอุส เลเบอร์ (SPD) หรือ ออยเกิน โบลซ์ (พรรคกลาง) – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- ฟรีดริช แวร์เนอร์ ฟ็อน แดร์ ชูลเอินบวร์ค หรือ อุลริค ฟ็อน ฮัสเซิลล์ (DNVP) – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
- เอวัลท์ โลแอเซอร์ (DNVP) – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
- ฟรีดริช อ็อลบริชท์ (กองทัพบก) – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสงคราม (กับ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค ในฐานะเลขานุการของรัฐเท่าที่เป็นไปได้)
- จอมพล แอร์วีน ฟ็อน วิทซ์เลเบิน (กองทัพบก) – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการสูงสุดแห่งแวร์มัคท์แห่งแวร์มัคท์
- ฮันส์ โอสเทอร์ (กองทัพบก) – ประธานแห่ง Reichskriegsgericht (ศาลทหารสูงสุด)
- ฮันส์ คอค (Confessing Church) – ประธานแห่ง Reichsgericht (ศาลสูงสุด)
- แบร์นฮาร์ด แลทเทอร์เฮาส์ (Catholic trade unionist) – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฟื้นฟูบูรณะ (รัฐมนตรีโดยไม่มีผลงาน ถ้าไม่ได้รับการแต่งตั้ง)
- คาร์ล แบลสซิง – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจหรือประธานไรชส์บังค์ (ธนาคารกลางไรช์)
- เพาล์ เลลวน-ช็อง (DNVP) – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ
- แอนเดรียส เฮอร์เมส (พรรคกลาง) – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร
- Josef Wirmer (พรรคกลาง) – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- พลตรี เฮ็นนิง ฟ็อน เทร็สโค (กองทัพบก) – หัวหน้าตำรวจ
หมายเหตุ: พรรคการเมืองพันธมิตรดังกล่าวที่ได้แสดงไว้ในที่นี้ได้ถูกระบุว่าเป็นสมาชิกพรรคที่ก่อนการยุบพรรคการเมืองทั้งหมดนอกเหนือจากพรรคนาซี
ชื่อของอัลแบร์ท ชแปร์ ถูกระบุไว้ในบันทึกรายชื่อหลายคนของผู้สมรู้ร่วมคิดในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงยุทธภัณฑ์และผลิตกรรมสงคราม; อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ของบันทึกรายชื่อเหล่านี้ได้ระบุว่า ชแปร์ไม่ควรเข้าหาจนกว่าฮิตเลอร์จะเสียชีวิต และแผนผังโครงสร้างของรัฐบาลได้ติดเครื่องหมายคำถามไว้ข้างชื่อของชเปียร์ ด้วยเหตุนี้น่าจะช่วยให้ชเปียร์รอดพ้นจากการถูกจับกุมโดยหน่วยเอ็สเอ็ส และชเปียร์เป็นหนึ่งในเพื่อนสนิทและไว้ใจที่สุดของฮิตเลอร์[47]
ร็อมเมิลกับแผนลับ 20 กรกฎาคม
แก้ขอบเขตของการพัวพันในการต่อต้านทางทหารต่อฮิตเลอร์ของจอมพล แอร์วีน ร็อมเมิลหรือแผนลับ 20 กรกฎาคม เป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบ, ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงมากที่สุดไม่สามารถรอดชีวิตและเอกสารอ้างอิงที่จำกัดเกี่ยวกับแผนการของผู้สมรู้ร่วมคิดที่มีอยู่ ดังนั้น การมีส่วนร่วมของร็อมเมิลยังคลุมเครือและความเข้าใจของมันส่วนใหญ่มีแหล่งที่มาของเหตุการณ์ภายหลัง (โดยเฉพาะอย่างการบังคับให้ร็อมเมิลกระทำอัตวินิบาตกรรม) และบัญชีโดยผู้มีส่วนร่วมที่รอดชีวิต[48]
ในบันทึกหลังสงครามของ คาร์ล ชเตอลิน นายกเทศมนตรีชตุทท์การ์ทในสมัยนั้น ระบุว่าเขาและผู้สมรู้ร่วมคิดอื่นๆสองคน Alexander von Falkenhausen และ Carl Heinrich von Stülpnagel ได้ริเริ่มความพยายามที่จะนำร็อมเมิลเข้าสู่การสมรู้ร่วมคิดต่อต้านฮิตเลอร์ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1944[49] เมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1944 เสนาธิการทหารคนใหม่ของร็อมเมิล Hans Speidel, ได้ไปถึงนอร์ม็องดีและแนะนำร็อมเมิลกับ Stülpnagel ก่อนหน้านี้ Speidel เคยได้ติดต่อกับ คาร์ล เกอร์เดอเลอร์ ซึ่งเป็นผู้นำพลเรือนของขบวนการต่อต้าน แต่ไม่ใช่ผู้คบคิดภายใต้การนำของชเตาเฟินแบร์ค และได้รับความสนใจจากชเตาเฟินแบร์ค เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกองบัญชาการของร็อมเมิล ผู้สมรู้ร่วมคิดต่างรู้สึกว่าพวกเขาจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากจอมพลที่ประจำการอยู่ วิทซ์เลเบินนั้นเป็นจอมพล แต่ยังไม่ได้เข้าประจำการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1942 ผู้สมรู้ร่วมคิดได้ให้คำแนะนำแก่ Speidel เพื่อนำร็อมเมิลเข้าสู่วงสมาคม[50]
ชไปเดิลได้พบกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ค็อนสตันทีน ฟ็อน น็อยราท และชเตอลิน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมในเยอรมนี อย่างที่เห็นได้ชัดว่าความต้องการของร็อมเมิล แม้ว่าภายหลังไม่ได้มีอยู่จริง นอยรัทและชเตอลิน ได้แนะนำให้ทำการเปิดการเจรจายอมจำนนทันทีในด้านตะวันตก และตามคำพูดของชไปเดิล ร็อมเมิลได้ตกลงที่จะหารือและเตรียมความพร้อม แม้ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผู้คบคิดในกรุงเบอร์ลินยังไม่ทราบว่า ร็อมเมิลได้ตัดสินใจที่จะมีส่วนร่วมในการสมรู้ร่วมคิด พวกเขาได้แจ้งกับ Allen Dulles ซึ่งพวกเขาได้คาดหวังจะเจรจาตกลงกับฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตก เมื่อร็อมเมิลไม่ได้นับรวมเพื่อสนับสนุน สามวันก่อนการลอบสังหาร เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่ขับรถของร็อมเมิลได้ถูกยิงกราดโดยเครื่องบินรบฝ่ายสัมพันธมิตรในฝรั่งเศส; เขาได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการบาดเจ็บที่จุดสำคัญและทำให้ทุพพลภาพ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม
ร็อมเมิลได้คัดค้านการลอบสังหารฮิตเลอร์ ภายหลังสงคราม ภรรยาหม้ายของเขาได้ยืนยันว่า เขาเชื่อว่าความพยายามลอบสังหารนั้นจะทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น[51] ตามที่นักข่าวและนักเขียน William L. Shirer, ร็อมเมิลได้รู้เกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิดและสนับสนุนให้ฮิตเลอร์ถูกจับกุมและขึ้นศาล นักประวัติศาสตร์ Ian Becket ได้ระบุว่า "ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า ร็อมเมิลมีความรู้ความเข้าใจมากกว่าและจำกัดในแผนลับ" และสรุปได้ว่า เขาจะไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือผู้คบคิดในผลลัพธ์ของความพยายามในวันที่ 20 กรกฎาคม[48] ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ Ralf Georg Reuth ได้เชื่อว่า "ไม่มีร่องรอยของการมีส่วนร่วมใดๆของร็อมเมิลในการสมรู้ร่วมคิด " นักประวัติศาสตร์ Richard Evans ได้สรุปว่า เขารู้เรื่องแต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง[52]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
การดัดแปลงเป็นภาพยนตร์
แก้- ค.ศ. 1951: The Desert Fox: The Story of Rommel[53]
- ค.ศ. 1955: Es geschah am 20. Juli ละครเชิงสารคดี[54]
- ค.ศ. 1955: Der 20. Juli[55]
- ค.ศ. 1967: The Night of the Generals[56]
- ค.ศ. 1968: Claus Graf Stauffenberg[57]
- ค.ศ. 1969: ออสโวบอจเดนี ตอนที่ 3 Direction of the Main Blow (รัสเซีย: Направление главного удара)
- ค.ศ. 1988: War and Remembrance, Part 10[58]
- ค.ศ. 1990: Stauffenberg - Verschwörung gegen Hitler
- ค.ศ. 1990: The Plot to Kill Hitler[59]
- ค.ศ. 1992: The Restless Conscience[60]
- ค.ศ. 2004: Die Stunde der Offiziere ภาพยนตร์กึ่งสารดคี[61][62]
- ค.ศ. 2004: Stauffenberg[63][64]
- ค.ศ. 2004: Days That Shook the World - S2EP5 Conspiracy to kill สารคดีโดย BBC2[65]
- ค.ศ. 2007: Ruins of the Reich (DVD)
- ค.ศ. 2008: ยุทธการดับจอมอหังการ์อินทรีเหล็ก นำแสดงโดย ทอม ครูซ[66]
- ค.ศ. 2008: Operation Valkyrie: The Stauffenberg Plot to Kill Hitler สารคดี[67]
- ค.ศ. 2009: Stauffenberg - Die wahre Geschichte ละครเชิงสารคดี[68]
อ้างอิง
แก้- ↑ Hans Helmut Kirst "20th of July"
- ↑ Winston Churchill,war annual books, "1944"
- ↑ William L. Shirer "The Rise and Fall of the Third Reich", part IV, chapter "20th July"
- ↑ vKlemens von Klemperer. German Resistance against Hitler: The Search for Allies Abroad 1938-1945
- ↑ Peter Hoffmann. History of the German Resistance, 1933-1945, page 608-609
- ↑ 6.0 6.1 Shirer 1960, p. 1393.
- ↑ Kutrz, Harold, July Plot in Taylor 1974, p. 224.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 Kutrz, Harold, July Plot in Taylor 1974, p. 226.
- ↑ Joachim Fest, Plotting Hitler's Death, p188
- ↑ Fabian von Schlabrendorff, They Almost Killed Hitler, p39
- ↑ Fest, Joachim. Plotting Hitler's Death: The German Resistance to Hitler, 1933–1945, 1996, p. 219.
- ↑ Hoffmann, Peter. "Oberst i. G. Henning von Tresckow und die Staatsstreichpläne im Jahr 1943".
- ↑ Fest, Plotting Hitler's Death: The German Resistance to Hitler, 1933–1945, 1996, p. 220.
- ↑ 14.0 14.1 William Shirer, The Rise and Fall of the Third Reich (Touchstone Edition) (New York: Simon & Schuster, 1990)
- ↑ Joachim Fest, Plotting Hitler’s Death: The German Resistance to Hitler 1933–1945, 236
- ↑ Joachim Fest, Plotting Hitler's Death, 228
- ↑ Himmler's contacts with the opposition and his possible motives are discussed by Peter Padfield, Himmler, 419–424
- ↑ Peter Hoffman (1996). The History of the German Resistance, 1933-1945. McGill-Queen's Press. ISBN 0-77-3515313.
- ↑ Michael C Thomsett (1997). The German Opposition to Hitler: The Resistance, the Underground, and Assassination Plots, 1938-1945. McFarland. ISBN 0-78-6403721.
- ↑ 20.0 20.1 Spiegel.de (เยอรมัน)
- ↑ Galante, Pierre. Operation Valkyrie. Harper and Row, 1981, ISBN 0060380020. Photo insert section.
- ↑ German radio broadcast 10 July 2010[ลิงก์เสีย] on Deutschlandfunk (MP3; in German)
- ↑ German radio broadcast 10 July 2010 เก็บถาวร 2011-06-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน on Bayern1 (written version; in German)
- ↑ 24.0 24.1 Kutrz, Harold, July Plot in Taylor 1974, p. 227.
- ↑ Galante, pp. 11–12
- ↑ 26.0 26.1 Galante, p. 209
- ↑ Hoffman, Peter. The History of the German Resistance, 1933–1945, p. 426.
- ↑ Fest, Plotting Hitler's Death, pp. 270, 272.
- ↑ Taylor 1974, p. 227.
- ↑ William L. Shirer's Rise and Fall of the Third Reich, ch. 29.
- ↑ Kershaw, Ian. Hitler 1936–1945: Nemesis, p. 693.
- ↑ Tatiana von Metternich-Winneburg (1976). Purgatory of Fools. Quadrangle. p. 202. ISBN 0812906918.
- ↑ 33.0 33.1 See Shirer 1070–1071.
- ↑ Fest, Plotting Hitler's Death, pp. 289–290.
- ↑ "Alleged July Plot Conspirators Executed in Plötzensee Prison". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-14. สืบค้นเมื่อ 19 April 2009.
- ↑ Heideking, Jürgen (1998). American Intelligence and the German Resistance to Hitler: A Documentary History. Widerstand: Dissent and Resistance in the Third Reich Series (revised ed.). Boulder, CO: Westview Press. ISBN 9780813336367.
{{cite book}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|coauthors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|author=
) (help)[ลิงก์เสีย] - ↑ Pave the Way Foundation Reveals Evidence of Pope Pius XII's Active Opposition to Hitler เก็บถาวร 2009-09-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 29 June 2009. Accessed 4 September 2009. 6 September 2009.
- ↑ More proof of Hitler's plan to kill Pius XII: Son of German Intelligence Officer Comes Forward เก็บถาวร 2010-04-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Zenit News 16 June 2009
- ↑ Italian newspaper reveals details behind Hitler’s plan to kill Pius XII CBCP News 17 June 2009
- ↑ Shirer attributes this anecdote to Allen Dulles in his book Germany's Underground, p. 83.
- ↑ Forman, Adrian (1993). Guide to Third Reich German Awards...And Their Values (2nd Ed.) San Jose, CA: R. James Bender. ISBN 912138-52-1
- ↑ Angolia, John R. (1976). For Führer and Fatherland: Military Awards of the Third Reich (1st Ed.) San Jose, CA: R. James Bender. OCLC 2853647
- ↑ Holocaust Denial on Trial: Using History to Confront Distortions เก็บถาวร 2009-09-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. "Biographies: Otto Remer," (retrieved on 10 April 2009).
- ↑ "Hitler plot survivor dies aged 90". London: BBC News Online. 2 May 2008.
- ↑ Büchner, Alex (1991). German Infantry Handbook, 1939–1945: Organization, Uniforms, Weapons, Equipment, Operations. Schipper Publishing. ISBN 978-0887402845
- ↑ The list of proposed appointments from The History of German Resistance 1933–1945 p. 367.
- ↑ Speer, Albert. Inside the Third Reich.
- ↑ 48.0 48.1 Beckett 2014, p. 6.
- ↑ Shirer 1960, pp. 1031, 1177.
- ↑ Hart 2014, pp. 139–142.
- ↑ Hart 2014, p. 140: Sourced to Speidel (1950) Invasion 1944: We Defended Normandy, pp. 68, 73.
- ↑ Evans 2009, p. 642.
- ↑ The Desert Fox: The Story of Rommel ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- ↑ 20. Juli 1944
- ↑ Der 20. Juli ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- ↑ The Night of the Generals ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- ↑ Claus Graf Stauffenberg ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- ↑ War and Remembrance part 10 ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- ↑ The Plot to Kill Hitler ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- ↑ The Restless Conscience ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- ↑ Die Stunde der Offiziere ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส |
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-21. สืบค้นเมื่อ 2009-07-19.
- ↑ Stauffenberg ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- ↑ http://www.new-video.de/film-stauffenberg/
- ↑ Days That Shook the World ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- ↑ Valkyrie ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- ↑ Operation Valkyrie: The Stauffenberg Plot to Kill Hitler ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- ↑ Stauffenberg - Die wahre Geschichte ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Valkyrie: The Wehrmacht July Bomb Plot
- Documentário เก็บถาวร 2009-04-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน