ปฏิบัติการวัลคือเรอ

ปฏิบัติการวัลคือเรอ (เยอรมัน: Unternehmen Walküre) เป็นแผนปฏิบัติการรักษาความต่อเนื่องของรัฐบาลในวาระฉุกเฉิน ปฏิบัติการนี้ถูกคิดขึ้นโดยกองกำลังสำรอง (Ersatzheer) มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศกรณีที่ระบบรัฐบาลฮิตเลอร์เกิดภาวะสุญญากาศ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร หรือการลุกฮือขึ้นก่อจลาจลของผู้ใช้แรงงานนับล้านคนในประเทศที่ถูกเยอรมันยึดครอง

พลเอกอาวุโส ฟรีดริช ฟร็อม ผู้บัญชาการกำลังสำรอง บุคคลเดียวนอกจากฮิตเลอร์ที่มีอำนาจสั่งใช้แผนปฏิบัติการวัลคือเรอ

ฮิตเลอร์อนุมัติแผนวัลคือเรอฉบับแรกที่ถูกร่างขึ้นโดยพลเอกฟรีดริช อ็อลบริชท์ รองผู้บัญชาการกำลังสำรอง ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 หลังหายนะที่แนวรบด้านตะวันออก แต่ต่อมา พลเอกอ็อลบริชท์, พลตรีเฮ็นนิง ฟ็อน เทร็สโค และพันเอกเคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค ได้ปรับปรุงดัดแปลงแผนดังกล่าวเสียใหม่เพื่อใช้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจควบคุมกรุงเบอร์ลิน ปลดอาวุธหน่วยเอ็สเอ็ส และจับกุมคณะผู้นำรัฐบาลนาซี โดยตั้งเป้าว่าจะใช้แผนวัลคือเรอฉบับใหม่นี้หลังจากที่ฮิตเลอร์ถูกลอบสังหารที่รังหมาป่า แผนนี้จะสำเร็จได้บนเงื่อนไขที่ว่าฮิตเลอร์ต้องตายเท่านั้น เพราะความตายของฮิตเลอร์ (มิใช่เพียงถูกจับกุม) ถือเป็นการปลดเปลื้องทหารเยอรมันจากคำปฏิญาณตนจงรักภักดีต่อฮิตเลอร์อย่างไร้เงื่อนไข และหันมาภักดีต่อคณะรัฐประหารแทน แผนการดังกล่าวถูกสั่งปฏิบัติในช่วงบ่ายของวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

แผนการ

แก้

แผนการดั้งเดิมได้รับการออกแบบมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินภายในประเทศ โดยกองเสนาธิการของพลเอกฟรีดริช อ็อลบริชท์[1] และได้รับการรับรองเห็นชอบจากฮิตเลอร์เอง อันที่จริง แนวคิดในการวางแผนดึงเอากองกำลังสำรองของกองทัพบกเยอรมันในแนวหลัง (ในดินแดนเยอรมันเองหลังแนวรบ) มาใช้ในการก่อรัฐประหารเคยถูกหยิบยกขึ้นมาขบคิดก่อนหน้านี้แล้ว แต่ถูกพลเอกอาวุโสฟรีดริช ฟร็อม ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ

 
พลตรีเฮ็นนิง ฟ็อน เทร็สโค

การที่พลเอกอาวุโสฟรีดริช ฟร็อม ผู้บัญชาการกำลังสำรอง เป็นนายทหารคนเดียวที่สามารถลงนามคำสั่งเริ่มปฏิบัติการวัลคือเรอ ถือเป็นอุปสรรคต่อคณะรัฐประหารอย่างร้ายแรง แต่กระนั้น เมื่อถอดบทเรียนที่ได้รับมาหลังจากความพยายามลอบสังหารฮิตเลอร์ [en] ในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1943 พลเอกอ็อลบริชท์จึงรู้สึกว่าแผนการก่อรัฐประหารฉบับเดิมนั้นไม่ดีพอ และจะต้องมีการดึงเอากำลังสำรองมาใช้ในการก่อรัฐประหารด้วยให้ได้ แม้ว่าจะไม่ได้รับความร่วมมือจากพลเอกอาวุโสฟร็อมก็ตาม

ปฏิบัติการวัลคือเรอฉบับเดิมมีเจตนาเพียงที่จะจัดยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมความพรั่งพร้อมและความพร้อมรบของกำลังสำรองที่มีหน่วยทหารในสังกัดต่างๆ กระจายกันอยู่เท่านั้น แต่พลเอกอ็อลบริชท์ทำการดัดแปลงโดยเพิ่มเติมส่วนที่สองของแผนการดังกล่าวเข้าไป ซึ่งทำให้กลายเป็นการเรียกระดมหน่วยต่างๆในสังกัดกำลังสำรองให้มาระดมกำลังกันโดยเร่งด่วน เพื่อจัดตั้งเป็นกองทหารขนาดใหญ่ที่พร้อมสามารถปฏิบัติการรบได้ทันที ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 1943 พันเอกเทร็สโคพบว่า การดัดแปลงแก้ไขของพลเอกอ็อลบริชท์ก็ยังดีไม่พอ จึงได้เพิ่มเติมวัลคือเรอออกไปอีกโดยร่างคำสั่งเพิ่มเติม กำหนดให้ออกประกาศลับที่ขึ้นต้นด้วยด้วยประโยคลวง ที่ว่า:

 
โทรพิมพ์ปฏิบัติการวัลคือเรอ หลังการตายของฮิตเลอร์
โทรพิมพ์
I.) ท่านผู้นำ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ถึงแก่กรรมแล้ว!
พวกคนไร้คุณธรรมในกลุ่มผู้นำพรรค กำลังพยายามอาศัยสถานการณ์นี้ทำการแทงข้างหลังกองทัพ และยึดอำนาจไว้เอง
II.) ในวิกฤตยิ่งเช่นนี้ รัฐบาลไรช์ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางทหารเพื่อรักษากฎระเบียบ พร้อมกันนี้ได้โอนอำนาจบริหารกองบัญชาการใหญ่แห่งแวร์มัคท์มายังข้าพเจ้า
III.) ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงสั่งการ:
1.) โอนอำนาจบริหาร พร้อมสิทธิ์มอบช่วงต่อ ให้กับผู้บัญชาการบนดินแดนดังต่อไปนี้
ในเขตเคหะได้แก่ ผู้บัญชาการกำลังสำรอง พร้อมกันนี้ได้ตั้งเป็นผู้บัญชาการใหญ่เขตเคหะ
ในเขตตะวันตกได้แก่ ผู้บัญชาการใหญ่เขตตะวันตก (ผู้บัญชาการกลุ่มทัพ D)
ในอิตาลีได้แก่ ผู้บัญชาการใหญ่เขตตะวันตกเฉียงใต้ (ผู้บัญชาการกลุ่มทัพ C)
ในเขตตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ ผู้บัญชาการใหญ่เขตตะวันออกเฉียงใต้ (ผู้บัญชาการกลุ่มทัพ F)
ในประเทศตะวันออกในยึดครองได้แก่ผู้บัญชาการกลุ่มทัพยูเครนใต้, ยูเครนเหนือ, กลาง, เหนือ และผู้บัญชาการทหารแวร์มัคท์แดนตะวันออก ตามลำดับพื้นที่บัญชาการของแต่ละคน
ในเดนมาร์กและนอร์เวย์ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารแวร์มัคท์
2.) ให้ผู้ถืออำนาจบริหารเข้าบังคับเหนือ:
a) ทหารแวร์มัคท์ทุกกรมกอง ตลอดจนวัฟเฟิน-เอ็สเอ็ส กองแรงงานไรช์ และองค์การท็อท ในพื้นที่ใต้บังคับ
b) อำนาจฝ่ายรัฐทั้งหมด (ของไรช์, เยอรมนี, มลรัฐ และเทศบาล) โดยเฉพาะตำรวจรักษาความสงบ, ตำรวจรักษาความมั่นคง และตำรวจอำนวยการ
c) เจ้าหน้าที่และหน่วยงานย่อยทั้งหมดของพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน ตลอดจนสมาคมในสังกัด
d) บริการคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภค
3.) ให้ผนวกวัฟเฟิน-เอ็สเอ็สทั้งหมดเข้ากับกองทัพบก มีผลในทันที
4.) ให้ผู้ถืออำนาจบริหารรับผิดชอบรักษาระเบียบความมั่นคงของส่วนรวม และเอาใจใส่ต่อ
a) ความมั่นคงในการข่าว
b) การขจัดตำรวจเอ็สเด
ผู้ต่อต้านอำนาจบังคับของทหาร จะต้องถูกปราบอย่างไม่ปราณี
ในชั่วโมงวิกฤตของปิตุภูมิเช่นนี้ ความสมานฉันท์ในกองทัพและการรักษาระเบียบวินัยคือสิ่งสำคัญที่สุด
ข้าพเจ้าจึงมีความจำเป็นต้องมอบหมายหน้าที่แก่ผู้บัญชาการทั้งหมดของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ให้การสนับสนุนทุกวิถีทางแก่ผู้ถืออำนาจบริหารเพื่อปฏิบัติภารกิจอันยากลำบากนี้ รวมถึงเอาใจใส่ว่าคำสั่งการของพวกเขาได้ถูกปฏิบัติตามโดยหน่วยใต้บังคับบัญชา ทหารเยอรมันกำลังยืนอยู่บนภารกิจแห่งประวัติศาสตร์ ประเทศเยอรมนีจะปลอดภัยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพลังกายพลังใจของทุกนาย
ผู้บัญชาการใหญ่แห่งแวร์มัคท์
(ลงนาม) ฟ. วิทซ์เลเบิน
จอมพล


คำสั่งอย่างละเอียดถูกร่างขึ้นเพื่อใช้สำหรับการเข้ายึดที่ทำการกระทรวงทั้งหลายในกรุงเบอร์ลิน, กองบัญชาการใหญ่ของฮิมม์เลอร์ในปรัสเซียตะวันออก, สถานีวิทยุและโทรศัพท์ และสายบังคับบัญชาของระบอบนาซีในมณฑลทหารบกต่างๆ ตลอดจนค่ายกักกัน[1] (ก่อนหน้านี้ เชื่อกันว่าพันเอกชเตาเฟินแบร์คเป็นผู้รับผิดชอบในแผนวัลคือเรอ แต่เอกสารที่ถูกค้นพบหลังจากสงครามยุติโดยสหภาพโซเวียต ซึ่งเผยแพร่ในปี ค.ศ. 2007 ได้ชี้ว่า แผนดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นโดยพันเอกเทร็สโคในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1943[2]) ข้อมูลทั้งหมดถูกเขียนขึ้นและเก็บรักษาไว้โดยภรรยาและเลขานุการของพันเอกเทร็สโค ซึ่งทั้งสองคนใส่ถุงมือเพื่อปิดบังรอยนิ้วมือเอาไว้ตลอดเวลา[3]

ใจความหลักของแผนการดังกล่าว คือการหลอกให้กำลังสำรองเข้ายึดอำนาจในกรุงเบอร์ลินและล้มล้างรัฐบาลฮิตเลอร์ โดยให้ข้อมูลเท็จว่า หน่วยเอ็สเอ็สพยายามจะก่อการรัฐประหารและได้ลอบสังหารฮิตเลอร์แล้ว ปัจจัยที่สำคัญคือ นายทหารระดับล่าง (ผู้ซึ่งแผนการนี้ถือว่าจะเป็นผู้นำแผนการไปปฏิบัติ) จะถูกลวงและกระตุ้นให้กระทำการดังกล่าว จากความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า กลุ่มผู้นำรัฐบาลนาซีไม่มีความจงรักภักดีและทรยศต่อไรช์ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องล้มล้างลงเสีย เหล่าผู้สมคบคิดในแผนการนี้ตั้งความหวังไว้กับการที่เหล่าทหารที่ได้รับคำสั่งจะยอมทำตามคำสั่ง (หลอก) ของพวกเขาด้วยดี หากคำสั่งดังกล่าวมาจากช่องทางการสั่งการและบังคับบัญชาที่ถูกต้อง กล่าวคือ ผ่านทางกองบัญชาการกำลังสำรองมา โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินหลังจากฮิตเลอร์ถูกสังหารแล้ว

หากฮิตเลอร์ตายแล้ว จะมีเพียงพลเอกอาวุโสฟรีดริช ฟร็อม ผู้บัญชาการกำลังสำรองเท่านั้น ที่จะออกคำสั่งใช้ปฏิบัติการวัลคือเรอได้ ดังนั้นเขาจะต้องถูกดึงตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหารหรืออย่างน้อยให้ดำรงตนเป็นกลางด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ถ้าต้องการให้แผนการดังกล่าวประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ตัวพลเอกอาวุโสฟร็อมเองก็ทราบอย่างคร่าวๆว่ามีแผนสมคบคิดในกลุ่มทหารเพื่อต่อต้านฮิตเลอร์ (นายทหารระดับสูงของเยอรมันส่วนใหญ่ก็ทราบเช่นกัน) แต่เขาก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนแผนดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รายงานเรื่องนี้ต่อเกสตาโพแต่อย่างใดด้วย

การลงมือปฏิบัติ

แก้
 
พันเอก ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค (ซ้ายสุด) และฮิตเลอร์ที่รังหมาป่า ก่อนเริ่มปฏิบัติการวัลคือเรอ

บุคคลหลักของแผนการ คือ พันเอกเคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการจริงหลังจากการลอบสังหารฮิตเลอร์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 พันเอกชเตาเฟินแบร์คยังได้ปรับปรุงแผนการวัลคือเรอเพิ่มเติม และด้วยตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการกำลังสำรอง ทำให้เขาสามารถเข้าถึงตัวฮิตเลอร์ในการรายงานต่าง ๆ ได้ ในตอนแรก พันเอกเทร็สโคและพันเอกชเตาเฟินแบร์คได้พยายามเสาะหานายทหารคนอื่นๆ ที่สามารถเข้าถึงตัวฮิตเลอร์และสามารถลงมือลอบสังหารเขาได้ ซึ่งพลเอกเฮลมูท ชตีฟ [en] ผู้อำนวยการโครงสร้างบุคลากรของกองบัญชาการใหญ่กองทัพบกเยอรมัน ก็ได้อาสาที่จะเป็นมือสังหารฮิตเลอร์แต่ได้ถอนตัวออกไปในภายหลัง เทร็สโคพยายามหลายครั้งในการขอโอนย้ายตัวเองไปอยู่ในกองบัญชาการใหญ่ของฮิตเลอร์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ท้ายที่สุด พันเอกชเตาเฟินแบร์คจึงตัดสินใจที่จะลงมือเองในการปฏิบัติการลอบสังหารฮิตเลอร์และปฏิบัติการวัลคือเรอไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นการลดโอกาสที่จะสำเร็จเป็นอย่างมาก หลังจากความพยายามสองครั้งไม่ประสบผล ชเตาเฟินแบร์คจึงแอบลอบวางระเบิดไว้ในห้องประชุมในกองบัญชาการสนาม "รังหมาป่า" (มณฑลปรัสเซียตะวันออก) ในวันที่ 20 กรกฎาคม เพื่อสังหารฮิตเลอร์ ส่วนตนเองก็รีบออกจากรังหมาป่าบินกลับมาดำเนินการตามแผนการต่อในกรุงเบอร์ลิน อย่างไรก็ดี ฮิตเลอร์รอดชีวิตมาจากการลอบวางระเบิดดังกล่าวมาได้

หลังจากที่พลเอกอาวุโสฟร็อมได้รับยืนยันว่าฮิตเลอร์ไม่ได้ถูกสังหารโดยการลอบวางระเบิด เขาจึงออกคำสั่งให้ประหารชีวิตพลเอกอ็อลบริชท์, พันเอกอัลเบร็ชท์ แมทซ์ ฟ็อน เควียร์นไฮม์, พันเอกชเตาเฟินแบร์ค, และร้อยโทแวร์เนอร์ ฟ็อน เฮ็ฟเทิน ทั้งหมดถูกนำตัวไปยิงประหารในลานของกองบัญชาการใหญ่เบนด์เลอร์บล็อก [en][4] ไม่นานหลังเที่ยงคืน 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1944

อย่างไรก็ตาม หลังการสั่งประหารผู้สมคบก่อการในปฏิบัติการวัลคือเรอแล้ว ต่อมา ตัวพลเอกอาวุโสฟร็อมเองก็ไม่สามารถรอดพ้นไปจากชะตากรรมเดียวกันได้ เขาถูกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคนาซี กล่าวหาว่า จงใจเร่งสั่งประหารชีวิตผู้ร่วมก่อการพยายามรัฐประหารดังกล่าว (แทนที่จะเก็บตัวไว้ก่อนเพื่อไต่สวนต่อไป) เพื่อปิดปากมิให้มีการให้การพาดพิงมาถึงตัวพลเอกอาวุโสฟร็อมเองว่าเคยมีส่วนรู้เห็นในแผนการดังกล่าวด้วย พลเอกอาวุโสฟร็อมถูกสอบสวน ถูกถอดยศ และถูกประหารชีวิตในวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1945 ที่บรันเดินบวร์ค จากความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดร้ายแรงและล้มเหลวในการรายงานผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับความพยายามก่อรัฐประหาร แม้ทางการนาซีเยอรมันจะไม่สามารถหาหลักฐานที่ชัดเจนว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับปฏิบัติการวัลคือเรอก็ตาม

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Joachim Fest, Plotting Hitler's Death: The German Resistance to Hitler, 1933–1945, 1996, p. 219
  2. Peter Hoffmann, "Oberst i. G. Henning von Tresckow und die Staatsstreichpläne im Jahr 1943
  3. Joachim Fest, Plotting Hitler's Death: The German Resistance to Hitler, 1933–1945, 1996, p. 220
  4. Rupert Butler, The Gestapo: A History of Hitler's Secret Police 1933-45. London: Amber Books, 2004, p. 149

บรรณานุกรม

แก้
ภาษาอังกฤษ
  • Joachim Fest, Plotting Hitler's Death: The German Resistance to Hitler, 1933–1945, 1996 ISBN 0-8050-5648-3
  • Hans Bernd Gisevius, Valkyrie: An Insider's Account of the Plot to Kill Hitler, 2009 reprint of one volume abridgement of two volume text, To the Bitter End, 1947. Foreword by Allen Welsh Dulles, introduction by Peter Hoffmann. Translated by Richard and Clara Winston; Da Capo Press, Cambridge, MA ISBN 978-0-306-81771-7
  • Nigel Jones, Countdown to Valkyrie: The July Plot to Assassinate Hitler. Frontline, 2009
ภาษาเยอรมัน
  • Helena Page, General Friedrich Olbricht: Ein Mann des 20. Julis, 1993, Bouvier Verlag, Bonn ISBN 3-416-02514-8
  • Dr. phil. Gerd R. Ueberschär: Auf dem Weg zum 20. Juli 1944, Motive und Entwicklung der Militäropposition gegen Hitler.
  • Bernd Rüthers: Spiegelbild einer Verschwörung – Zwei Abschiedsbriefe zum 20. Juli 1944. Juristenzeitung 14/2005, pp. 689–698
  • Hans-Adolf Jacobsen (Hrsg.): Spiegelbild einer Verschwörung. Die Opposition gegen Hitler und der Staatsstreich vom 20. Juli 1944 in der SD-Berichterstattung. Geheime Dokumente aus dem ehemaligen Reichssicherheitshauptamt. 2 Vol., Stuttgart 1984
  • Peter Hoffmann: Widerstand, Staatsstreich, Attentat. Der Kampf der Opposition gegen Hitler. Munich 1985 (reissue)

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้