เฟดอร์ ฟ็อน บ็อค

โมริทซ์ อัลเบร็ชท์ ฟรันทซ์ ฟรีดริช เฟดอร์ ฟ็อน บ็อค (เยอรมัน: Moritz Albrecht Franz Friedrich Fedor von Bock) เป็นจอมพลแห่งกองทัพบกเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาบัญชาการกลุ่มทัพเหนือระหว่างการบุกครองโปแลนด์ในปี 1939 และบัญชาการกลุ่มทัพบีในยุทธการที่ฝรั่งเศสในปี 1940 และต่อมาได้บัญชาการกลุ่มทัพกลางในการโจมตีสหภาพโซเวียตในปี 1941 และได้บัญชาการกลุ่มทัพใต้ในปี 1942 ซึ่งเป็นตำแหน่งบัญชาการครั้งสุดท้าย

เฟดอร์ ฟ็อน บ็อค
จอมพล เฟดอร์ ฟ็อน บ็อค ในปี 1939
ชื่อเกิดโมริทซ์ อัลเบร็ชท์ ฟรันทซ์ ฟรีดริช เฟดอร์ ฟ็อน บ็อค
เกิด03 ธันวาคม ค.ศ. 1880(1880-12-03)
คึสทรีน, จักรวรรดิเยอรมัน
เสียชีวิต4 พฤษภาคม ค.ศ. 1945(1945-05-04) (64 ปี)
อ็อลเดินบวร์คอินฮ็อลชไตน์, ประเทศเยอรมนี
รับใช้ เยอรมนี
 เยอรมนี
 ไรช์เยอรมัน
ประจำการค.ศ. 1898–1945
ชั้นยศจอมพล
บังคับบัญชากลุ่มทัพเหนือ, 1939
กลุ่มทัพ B, 1940
กลุ่มทัพกลาง, 1941
กลุ่มทัพใต้, 1942
การยุทธ์
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
สงครามโลกครั้งที่สอง
บำเหน็จพัวร์เลอเมรีท
กางเขนเหล็กกางเขนอัศวิน
ความสัมพันธ์เอริช ฟ็อน ฟัลเคินไฮน์ (ลุง)
ยูจีน ฟ็อน ฟัลเคินไฮน์ (ลุง)
ลายมือชื่อ

บ็อคเกิดในเมืองคึสทรีน (ปัจจุบันคือเมืองกอสต์ชึนในโปแลนด์) ในครอบครัวทหารชาวปรัสเซีย บิดาเป็นผู้บัญชาการหน่วยทหารในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย[1] ส่วนมารดาเป็นน้องสาวของเอริช ฟ็อน ฟัลเคินไฮน์ (Erich von Falkenhayn) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[2] บ็อคเข้าศึกษาที่วิทยาลัยการทหารในกรุงเบอร์ลิน และต่อมาได้เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ด้วยความที่เกิดในครอบครัวทหารทำให้เขามีค่านิยมทหารมากกว่าคนอื่น ในสงครามครั้งนั้นเขาได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นทหารที่องอาจถึงขนาดพร้อมตายเพื่อปิตุภูมิจนได้รับสมญาว่า "พระเพลิงแห่งคึสทรีน"[3] และได้รับเหรียญพัวร์เลอเมรีทของจักรวรรดิเยอรมัน

ในปี 1935 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แต่งตั้งบ็อคให้เป็นแม่ทัพใหญ่กลุ่มทัพที่สาม และเป็นหนึ่งในนายพลที่ไม่ถูกโยกย้ายเมื่อครั้งฮิตเลอร์ปฏิรูปกองทัพครั้งใหญ่เพื่อสั่งสมแสนยานุภาพก่อนสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติ บ็อคเป็นพวกนิยมระบอบกษัตริย์และมักจะไปเยี่ยมเยือนวังของอดีตไคเซอร์ บ็อคบัญชาการการบุกเวียนนาในปี 1938 และเมื่อเยอรมนีผนวกออสเตรียแล้ว บ็อคก็บัญชาการการรุกรานเชโกสโลวาเกีย ฮิตเลอร์ไม่ค่อยชอบนิสัยการพูดจาตรงไปตรงมาขวานผ่าซากของบ็อค สิ่งที่ฮิตเลอร์ชอบในตัวบ็อคอย่างเดียวคือเขาเป็นผู้บัญชาการมือฉกาจที่ประสบความสำเร็จในการรบ[4] บ็อคได้รับแต่งตั้งเป็นจอมพลในวันที่ 19 กรกฎาคม 1940 ขณะมีอายุ 60 ปี

ในปี 1941 บ็อคเป็นหนึ่งในผู้บัญชาการในปฏิบัติการไต้ฝุ่นที่หมายเข้ายึดกรุงมอสโกก่อนฤดูหนาว การต่อต้านของฝ่ายโซเวียตที่เมืองโมไจสค์ (Mozhaisk) ประกอบกับสภาพอากาศฝนตกเฉอะแฉะทำให้การรุกคืบของเยอรมนีเป็นไปได้ช้าลง บ็อคจึงเสนอฮิตเลอร์ให้ทำการถอนกำลังพลจากสหภาพโซเวียตก่อนที่จะเป็นฝ่ายถูกโต้กลับแต่ฮิตเลอร์ก็ยังคงเดินหน้าต่อ ท้ายที่สุด การตอบโต้ของฝ่ายโซเวียตก็ทำให้เยอรมนีต้องถอนกำลังพลจากสหภาพโซเวียตอย่างที่บ็อคคาดการณ์ไว้

ความล้มเหลวในปฏิบัติการไต้ฝุ่นทำให้ฮิตเลอร์ไม่ลังเลอีกต่อไปที่จะปลดเขาจากตำแหน่งบัญชาการ หลังจากถูกปลดในวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1942 เขาก็ไม่เคยเข้าร่วมการบัญชาการใด ๆ อีก[5] บ็อคเป็นนายทหารที่มีมนุษยธรรม หน่วยทหารของเขาไม่เคยกระทำการละเมิดมนุษยธรรมใด ๆ แก่พลเรือน หลังสงครามสิ้นสุดเขาจึงรอดพ้นจากการถูกตั้งข้อหา อย่างไรก็ตาม บ็อคพร้อมด้วยภรรยาและลูกเลี้ยงของเขาถูกสังหารโดยการกราดยิงจากเครื่องบินรบของอังกฤษในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ขณะเดินทางโดยรถยนต์ไปยังฮัมบวร์ค เขาเสียชีวิตในวันต่อมา

ยศทหาร

แก้
  • มีนาคม 1898 : นักเรียนทำการนายร้อย (Fähnrich)
  • พฤษภาคม 1898: ร้อยตรี (Sekondeleutnant)
  • กันยายน 1908 : ร้อยโท (Oberleutnant)
  • มีนาคม 1912 : ร้อยเอก (Hauptman)
  • ธันวาคม 1916  : พันตรี (Major)
  • ธันวาคม 1920 : พันโท (Oberstleutnant)
  • พฤษภาคม 1925  : พันเอก (Oberst)
  • ธันวาคม 1929  : พลตรี (Generalmajor)
  • ธันวาคม 1931 : พลโท (Generalleutnant)
  • มีนาคม 1935 : พลเอกทหารราบ (General der Infanterie)
  • มีนาคม 1938 : พลเอกอาวุโส (Generaloberst)
  • กรกฎาคม 1940 : จอมพล (Generalfeldmarschall)

อ้างอิง

แก้
  1. Mitcham 2009, p. 17
  2. Afflerbach 1996, p. 9
  3. Turney 1971, p. 6.
  4. Battle of Russia, Battlefield: Battles that Won the Second World War—Series 2. Universal Pictures Video. 2 May 2005
  5. Glantz & House 2009, p. 192.
ก่อนหน้า เฟดอร์ ฟ็อน บ็อค ถัดไป
ไม่มี (เป็นคนแรก)   ผู้บัญชาการกลุ่มทัพเหนือ
(27 สิงหาคม 1939 – 20 มิถุนายน 1941)
  จอมพล วิลเฮ็ล์ม ริทเทอร์ ฟ็อน เลพ
ไม่มี (เป็นคนแรก)   ผู้บัญชาการกลุ่มทัพ B
(12 ตุลาคม 1939 – 15 กรกฎาคม 1942)
  พลเอกอาวุโส มัคซีมีลีอาน ฟ็อน ไวชส์
ไม่มี (เป็นคนแรก)   ผู้บัญชาการกลุ่มทัพกลาง
(22 มิถุนายน – 19 ธันวาคม 1941)
  จอมพล กึนเทอร์ ฟ็อน คลูเกอ
จอมพล วัลเทอร์ ฟ็อน ไรเชอเนา   ผู้บัญชาการกลุ่มทัพใต้
(12 มกราคม 1942 – 9 กรกฎาคม 1942)
  จอมพล มัคซีมีลีอาน ฟ็อน ไวชส์