ศาลทหาร (ประเทศไทย)
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
ศาลทหาร ได้มีขึ้นเป็นของคู่กันมาตั้งแต่มีการทหารไว้ป้องกันประเทศ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบบศาลทหารไทยปรากฏตามกฎหมายลักษณะขบฎศึก จุลศักราช 796 ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 มีศาลกลาโหม ชำระความที่เกี่ยวกับทหารและยังชำระความพลเรือนด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากสมุหพระกลาโหมนั้นมิได้มีเพียงอำนาจหน้าที่เฉพาะการบังคับบัญชาทหารบก ทหารเรือ เท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่จัดการปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ด้วย ศาลที่ขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมมีทั้งศาลที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ และศาลในหัวเมืองฝ่ายใต้ด้วย ศาลกลาโหมจึงมีลักษณะเป็นทั้งศาลทหารและศาลพลเรือน
ราชอาณาจักรไทย ศาลทหาร | |
---|---|
Military Court | |
ตราสัญลักษณ์ศาลทหาร | |
สถาปนา | จุลศักราช 796 |
อำนาจศาล | ประเทศไทย |
ที่ตั้ง | อาคารเทิดราชา สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (พื้นที่ศรีสมาน) ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 |
พิกัด | 13°56′07″N 100°32′54″E / 13.935169920375532°N 100.54821146680679°E |
เว็บไซต์ | https://jag.mod.go.th/ |
เจ้ากรมพระธรรมนูญ | |
ปัจจุบัน | พลเอก พิสิษฐ์ นพเมือง |
ตั้งแต่ | 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566[1] |
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร และ ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารสูงสุด | |
ปัจจุบัน | พลโท อรรถพล แผ้วพาลชน |
ตั้งแต่ | 10 มีนาคม พ.ศ. 2566[2] |
พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ปรับปรุงในเรื่องการศาลทั้งหมด โดยให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น และรวบรวมศาลซึ่งกระจัดกระจายสังกัดอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ เข้ามาสังกัดกระทรวงยุติธรรมจนหมดสิ้นทุกศาล ยกเว้นแต่เพียงศาลทหารเพียงศาลเดียวที่ยังคงให้สังกัดกระทรวงกลาโหมอยู่ตามเดิม ศาลในประเทศไทยจึงแบ่งได้เป็นศาลกระทรวงยุติธรรมกับศาลทหารนับแต่นั้นมา
ประเภทของศาลทหาร
แก้ศาลทหารสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
- ศาลทหารในเวลาปกติ
- ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
- ศาลอาญาศึก
คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
แก้ศาลทหาร มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดอาญาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด สั่งลงโทษบุคคลใดๆ ที่กระทำผิดฐานและละเมิดอำนาจศาล นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีอำนาจในการพิจารณาคดีอย่างอื่นได้อีกตามที่จะมีกฎหมายบัญญัติเพิ่มเติม ที่เคยมีมาแล้วเช่น ความผิดฐานกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นต้น สำหรับอำนาจในการรับฟ้องคดีของศาลทหารแบ่งได้ดังนี้ ศาลจังหวัดทหารจะรับฟ้องคดีที่จำเลยมีชั้นยศเป็นนายทหารประทวน ศาลมณฑลทหารจะรับฟ้องคดีที่จำเลยมีชั้นยศตั้งแต่ชั้นประทวนจนถึงชั้นยศสัญญาบัตรแต่ไม่เกินพันเอก ส่วนศาลทหารกรุงเทพจะรับฟ้องได้หมดทุกชั้นยศ นอกจากนี้ชั้นยศจำเลยมีผลต่อการแต่งตั้งองค์คณะตุลาการที่จะพิจารณาคดีด้วย โดยองค์คณะตุลาการที่จะแต่งตั้งนั้นอย่างน้อยต้องมีผู้ที่มียศเท่ากันหรือสูงกว่าจำเลย
โดยการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ระบุไว้ว่าความผิดที่ต้องขึ้นศาลทหารมี 4 ประเภท คือ 1.ความผิดตามมาตรา 112 2.ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธ 3.ความผิดฐานขัดคำสั่ง คสช. และ 4.ความผิดด้านความมั่นคง[3]
คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
แก้แยกเป็น 4 ประเภท คือ
- ประเภทแรก ได้แก่คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน
- ประเภทที่สอง ได้แก่คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน
- ประเภทที่สาม ได้แก่คดีที่ต้องดำเนินในศาลเยาวชนและครอบครัว เนื่องจากอายุของผู้กระทำความผิด ซึ่งคงจะมีแต่เฉพาะนักเรียนทหาร
- ประเภทที่สี่ ได้แก่คดีที่ศาลทหารเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร คดีประเภทนี้คงจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ ประการแรก คือ ได้มีการฟ้องคดียังศาลทหารแล้ว ประการที่สอง คือ เป็นคดีที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในสามประเภทแรก
บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
แก้- กลุ่มที่หนึ่ง คือทหาร แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- ทหารประจำการ: ผู้ที่ยึดเอาการรับราชการทหารเป็นอาชีพ ซึ่งมีทั้งชั้นสัญญาบัตร ชั้นประทวน และทหารที่ไม่มียศที่เรียกว่าพลทหารอาสาสมัคร
- ทหารกองประจำการ คือทหารเกณฑ์หรือทหารที่สมัครเข้ากองประจำการเพราะกฎหมายบังคับให้ต้องเป็นทหาร
- กลุ่มที่สอง: นักเรียนทหาร หมายถึง นักเรียนทหารที่กำหนดขึ้นโดยกระทรวงกลาโหม เช่น นักเรียนนายร้อย นักเรียนแพทย์ทหาร นักเรียนนายเรือ นักเรียนนายเรืออากาศ นักเรียนเตรียมทหาร และต้องมีอายุเกินสิบแปดปีบริบูรณ์
- กลุ่มที่สาม: คือผู้มิใช่ทหาร แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
- บุคคลที่เป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือน เป็นลูกจ้างในสังกัดกระทรวงกลาโหม เมื่อกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการโดยมาจำกัดพื้นที่ หรือความผิดอาญาอื่นโดยจำกัดพื้นที่เฉพาะในบริเวณที่ตั้งหน่วยทหาร
- บุคคลที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น พยานที่ถูกศาลทหารออกหมายจับมาเพื่อเบิกความ
- บุคคลที่เป็นเชลยศึกหรือชนชาติศัตรูในช่วงเวลาที่มีศึกสงคราม
การแต่งตั้งตุลาการ
แก้- ตุลาการศาลทหารสูงสุด และตุลาการศาลทหารกลาง ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งและถอดถอน
- ตุลาการศาลทหารชั้นต้น และศาลประจำหน่วยทหาร พระมหากษัตริย์ทรงมอบพระราชอำนาจแก่ผู้บังคับบัญชาทหาร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอน
- ตุลาการในศาลทหารชั้นต้น ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาจังหวัดทหาร เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลจังหวัดทหาร ผู้มีอำนาจบังคับบัญชามณฑลทหาร เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลมณฑลทหาร ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยทหาร เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลประจำหน่วยทหารและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลทหารกรุงเทพ
รายชื่อศาลทหารในเวลาปกติ
แก้- ศาลทหารชั้นต้น
- ศาลทหารกรุงเทพ มีที่ตั้งอยู่ในกรมพระธรรมนูญ และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ทุกบทกฎหมาย โดยไม่จำกัดพื้นที่ และไม่จำกัดชั้นยศของจำเลย
- ศาลมณฑลทหาร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวง เฉพาะความผิดที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่มณฑลทหารนั้น ๆ แต่จำกัดชั้นยศของจำเลยว่าจำเลยจะต้องไม่ใช่นายทหารชั้นนายพล ยกเว้นมณฑลทหารอันเป็นที่ตั้งของศาลทหารกรุงเทพ ปัจจุบันมีศาลมณฑลทหาร 35 แห่ง ได้แก่
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 12 อยู่ที่ค่ายจักรพงษ์ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดนครนายก
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 13 อยู่ที่จังหวัดลพบุรี มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดลพบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 14 อยู่ที่ค่ายนวมินทราชินี มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดชลบุรี จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด และจังหวัดระยอง
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 15 อยู่ที่ค่ายรามราชนิเวศน์ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 16 อยู่ที่ค่ายภาณุรังษี มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดราชบุรีและจังหวัดสมุทรสงคราม
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 17 อยู่ที่ค่ายสุรสีห์ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดสุพรรณบุรี
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 18 อยู่ที่ค่ายอดิศร มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดสระบุรีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 19 อยู่ที่ค่ายไพรีระย่อเดช มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดสระแก้วและจังหวัดฉะเชิงเทรา
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 110 อยู่ที่ค่ายทองฑีฆายุ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดนครปฐมและจังหวัดสมุทรสาคร
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 21 อยู่ที่ค่ายสุรนารี มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมิ
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 22 อยู่ที่ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอำนาจเจริญ
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 อยู่ที่ค่ายศรีพัชรินทร มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมหาสารคาม
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 อยู่ที่ค่ายประจักษ์ศิลปาคม มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดอุดรธานี
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 25 อยู่ที่ค่ายวีรวัฒน์โยธิน มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดสุรินทร์
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 26 อยู่ที่ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดบุรีรัมย์
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 27 อยู่ที่ค่ายประเสริฐสงคราม มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดร้อยเอ็ด
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 28 อยู่ที่ค่ายศรีสองรัก มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดเลย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย และจังหวัดหนองบัวลำภู
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 29 อยู่ที่ค่ายกฤษณ์สีวะรา มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดสกลนคร
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 210 อยู่ที่ค่ายพระยอดเมืองขวาง มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดนครพนม และจังหวัดมุกดาหาร
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 31 อยู่ที่ค่ายจิรประวัติ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดอุทัยธานี
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 32 อยู่ที่ค่ายสุรศักดิ์มนตรี มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดลำปาง
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 อยู่ที่ค่ายกาวิละ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดลำพูน
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 34 อยู่ที่ค่ายขุนเจืองธรรมิกราช มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดพะเยา
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 35 อยู่ที่ค่ายพิชัยดาบหัก มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดอุตรดิตถ์
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 36 อยู่ที่ค่ายพ่อขุนผาเมือง มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดพิจิตร
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 อยู่ที่ค่ายเม็งรายมหาราช มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดเชียงราย
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 38 อยู่ที่ค่ายสุริยพงษ์ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดน่านและจังหวัดแพร่
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 39 อยู่ที่ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดสุโขทัย
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 310 อยู่ที่ค่ายวชิรปราการ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดตาก
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 41 อยู่ที่ค่ายวชิราวุธ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดนครศรีธรรมราช (ยกเว้นอำเภอทุ่งสง) จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 42 อยู่ที่ค่ายเสนาณรงค์ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดสงขลา จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสตูล
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 43 อยู่ที่ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดนครศรีธรรมราช (เฉพาะอำเภอทุ่งสง)
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 44 อยู่ที่ค่ายเขตอุดมศักดิ์ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 45 อยู่ที่ค่ายวิภาวดีรังสิต มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 อยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลา
- ศาลประจำหน่วยทหาร ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 9 กำหนดว่าเมื่อหน่วยทหารปฏิบัติหน้าที่อยู่นอกราชอาณาจักร หรือกำลังเดินทางเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่นอกราชอาณาจักร และมีกำลังทหารไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน จะให้จัดตั้งศาลประจำหน่วยทหาร นั้นก็ได้ และศาลประจำหน่วยทหารมีอำนาจเหนือบุคคลที่สังกัดอยู่หน่วยทหารนั้นโดยไม่จำกัดพื้นที่
- ศาลทหารกลาง
มีศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรมพระธรรมนูญ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลทหารชั้นต้น
- ศาลทหารสูงสุด
มีศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรมพระธรรมนูญ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลทหารกลาง คดีที่ศาลทหารสูงสุดได้พิจารณาพิพากษา หรือมีคำสั่งแล้ว ให้เป็นอันถึงที่สุด
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ระบบยุติธรรมทหาร เก็บถาวร 2016-05-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เรืออากาศเอก พงศธร สัตย์เจริญ, 2547
- Q&A 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับศาลทหาร โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
อ้างอิง
แก้- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ (จำนวน ๗๖๒ ราย ๑. พลเอก มโน นุชเกษม ฯลฯ) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๒๐๙ ง หน้า ๑ วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ (จำนวน ๒๔๙ ราย ๑. พลโท มานพ สัมมาขันธ์ ฯลฯ) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๕๖ ง หน้า ๒ วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-09-09.