เอริช ลูเดินดอร์ฟ
พลเอกทหารราบ เอริช ฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม ลูเดินดอร์ฟ (เยอรมัน: Erich Friedrich Wilhelm Ludendorff) เป็นนายทหารบกของจักรวรรดิเยอรมัน ผู้มีชัยชนะในยุทธการที่ลีแยฌ และยุทธการที่ทันเนินแบร์คในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1916 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานใหญ่ผู้บัญชาการยุทธภัณฑ์ (Erster Generalquartiermeister) เขาและจอมพลฮินเดินบวร์คเสมือนเป็นมือซ้ายขวาของจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ผู้ช่วยวางแผนและบัญชากองทัพเยอรมันตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
เอริช ลูเดินดอร์ฟ | |
---|---|
พลเอกทหารราบ เอริช ลูเดินดอร์ฟ | |
ชื่อเกิด | เอริช ฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม ลูเดินดอร์ฟ |
เกิด | 9 เมษายน ค.ศ. 1865 ลูเดินดอร์ฟ ราชอาณาจักรปรัสเซีย (ปัจจุบันคือกรูแชฟญา โปแลนด์) |
เสียชีวิต | 20 ธันวาคม ค.ศ. 1937 มิวนิก บาวาเรีย นาซีเยอรมนี | (72 ปี)
รับใช้ | เยอรมนี |
แผนก/ | กองทัพบกจักรวรรดิเยอรมัน |
ประจำการ | ค.ศ. 1883–1918 |
ชั้นยศ | พลเอกทหารราบ (General der Infanterie) |
การยุทธ์ | สงครามโลกครั้งที่ 1 การปฏิวัติเยอรมัน |
บำเหน็จ | พัวร์เลอเมรีท กางเขนเหล็กชั้นหนึ่ง |
ในปี 1918 ด้วยความปราชัยในหลายศึก เขาและฮินเดินบวร์คกราบทูลองค์ไคเซอร์ให้ทำข้อตกลงหยุดยิงกับฝ่ายสัมพันธมิตรในทันที แต่รัฐบาลจักรวรรดิยังยืนกรานที่จะทำสงครามต่อ คณะรัฐบาลได้ขู่องค์ไคเซอร์ว่า คณะรัฐมนตรีทั้งคณะจะลาออกหากไม่ทรงปลดลูเดินดอร์ฟ ไคเซอร์วิลเฮ็ล์มจึงเรียกฮินเดินบวร์คและลูเดินดอร์ฟเข้าเฝ้า ทั้งสองรู้สถานการณ์ดีจึงกราบทูลลาออก ไคเซอร์ทรงอนุญาตให้ลูเดินดอร์ฟลาออก แต่ไม่อนุญาตให้ฮินเดินบวร์คลาออก ลูเดินดอร์ฟต่อว่าฮินเดินบวร์คหลังเข้าเฝ้าว่า "ผมไม่ทำงานอะไรกับท่านอีกแล้ว เพราะท่านทำกับผมได้โครตทุเรศเลย"[1]
หลังจบสงคราม ลูเดินดอร์ฟได้กลายเป็นผู้นำของชาติที่มีความโดดเด่นและสนับสนุนแนวคิดตำนานแทงข้างหลัง ด้วยความเชื่อที่ว่า ความพ่ายแพ้สงครามของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นมาจากการทรยศหักหลังต่อกองทัพเยอรมันโดยพวกลัทธิมากซ์และบอลเชวิค ซึ่งถูกมองว่าต้องรับผิดชอบเต็มๆที่ปล่อยให้เยอรมันประสบความเสียเปรียบหลายอย่างในการเจรจาร่างสนธิสัญญาแวร์ซาย
ลูเดินดอร์ฟได้มีส่วนร่วมในการก่อรัฐประหารของว็อล์ฟกัง คัพ ในค.ศ. 1920 และกบฏโรงเบียร์ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ใน ค.ศ. 1923 ก่อนที่จะผันตัวลงรับสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเยอรมันในปี ค.ศ. 1925 ซึ่งต้องปราชัยให้กับอดีตเจ้านายอย่างจอมพลฮินเดินบวร์ค
ในปีค.ศ. 1933 วันที่ประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คลงนามในรัฐบัญญัติมอบอำนาจซึ่งเป็นการรับรองอำนาจที่ไร้ข้อจำกัดของฮิตเลอร์นั้น ลูเดินดอร์ฟได้เขียนจดหมายถึงฮินเดินบวร์คว่า "ผมขอทำนายไว้เลย ว่าชายเหลือร้ายคนนี้จะนำพาประเทศเราไปสู่ความพินาศ และนำพาชาติไปสู่ความย่อยยับเกินจะนึกฝัน ลูกหลานเราในวันหน้าจะสาปแช่งท่านในหลุมศพต่อสิ่งที่ท่านได้ทำลงไป"[2] อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์บางคนมองว่าข้อความดังกล่าวเป็นของปลอม[3]
ฮิตเลอร์เดินทางไปบ้านพักของลูเดินดอร์ฟแบบไม่ได้แจ้งล่วงหน้าในวันเกิดครบรอบ 70 ปีในปีค.ศ. 1935 ฮิตเลอร์มอบยศจอมพลเป็นของขวัญแก่ลูเดินดอร์ฟ แต่ลูเดินดอร์ฟกลับโกรธและปฏิเสธฮิตเลอร์ว่า "ทหารจะเป็นจอมพลได้ที่สนามรบ! ไม่ใช่ที่งานเลี้ยงน้ำชาวันเกิดในยามสงบสุข"[4] ลูเดินดอร์ฟถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งตับที่คลินิกแห่งหนึ่งในนครมิวนิกเมื่อปี ค.ศ. 1937 ในวัย 72 ปี[5] ฮิตเลอร์จัดรัฐพิธีศพให้เขาทั้งที่เจ้าตัวไม่ต้องการ
อ้างอิง
แก้- ↑ von Müller, 1961, p. 413.
- ↑ David Nicholls, Adolf Hitler: A Biographical Companion, ABC-CLIO, 1 January 2000, p.159.
- ↑ Vierteljahrshefte für Zeitgeschichte. 47. Jahrgang, Oktober 1999 (PDF; 7 MB), S. 559–562.
- ↑ Parkinson, 1978, p. 224.
- ↑ Ludendorffs Verlag: Der letzte Weg des Feldherrn Erich Ludendorff, München 1938, S. 8: Das Kranken- und Sterbezimmer im Josephinum in München.
- Saturday, 22 August 2009 Michael Duffy (2009-08-22). "Who's Who – Paul von Hindenburg". First World War.com. Retrieved 2012-05-16.
- Saturday, 22 August 2009 Michael Duffy (2009-08-22). "Who's Who – Erich Ludendorff". First World War.com. Retrieved 2012-05-16.
- Andreas Dorpalen. "Paul von Hindenburg (German president) : Introduction – Britannica Online Encyclopedia". Britannica.com. Retrieved 2012-05-16.
- "Erich Ludendorff (German general) : Introduction – Britannica Online Encyclopedia". Britannica.com. 1937-12-20. Retrieved 2012-05-16.
- Parkinson, Roger (1978). Tormented warrior. Ludendorff and the supreme command. London: Hodder and Stoughton. pp. 13–14. ISBN 0-340-21482-1.
ก่อนหน้า | เอริช ลูเดินดอร์ฟ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พลเอก ฮูโก ฟ็อน ไฟรทาค-โลริงโฮเฟิน |
เจ้าพนักงานใหญ่ผู้บัญชาการยุทธภัณฑ์ (29 สิงหาคม 1916 – 26 ตุลาคม 1918) |
พลโท วิลเฮ็ล์ม เกรอเนอร์ |