ราชวงศ์โชซ็อน
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
ราชวงศ์โชซ็อน (เกาหลี: 조선) เป็นราชวงศ์สุดท้ายของรัฐเกาหลีมีอายุมากกว่า 500 ปี[4][5] ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า มหาประเทศโชซ็อน (대조선국; 大朝鮮國; /tɛ.tɕo.sʌn.ɡuk̚/)[6]สถาปนาโดย พระเจ้าแทโจแห่งโชซ็อนในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1392 และแทนที่ด้วยจักรวรรดิเกาหลีในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1897[7] อาณาจักรก่อตั้งขึ้นหลังจากการโค่นล้มราชวงศ์โครยอที่เมืองแกซองในปัจจุบัน เมืองหลวงได้ถูกย้ายไปยังฮันยังหรือกรุงโซลในปัจจุบัน
ราชอาณาจักรโชซ็อน 조선국 (1392–1894) 朝鮮國 (โชซ็อนกุก) มหาประเทศโชซ็อน 대조선국 (1894–1897) 大朝鮮國(แทโชซ็อนกุก) | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ค.ศ. 1392–ค.ศ. 1897 | |||||||||
ดินแดนของราชวงศ์โชซ็อน หลังจากการพิชิตชาวจูร์เชนโดยพระเจ้าเซจงมหาราช | |||||||||
เมืองหลวง | ฮันซ็อง | ||||||||
ภาษาทั่วไป | เกาหลี | ||||||||
ศาสนา | ลัทธิขงจื๊อ ศาสนาพุทธ ศาสนาพื้นบ้านเกาหลี ศาสนาคริสต์ (รับรองหลังปีค.ศ. 1886) | ||||||||
การปกครอง | สมบูรณาญาสิทธิราชย์ | ||||||||
พระเจ้าแผ่นดิน | |||||||||
• 1392–1398 | แทโจ (องค์แรก) | ||||||||
• 1418–1450 | เซจง | ||||||||
• 1776–1800 | ช็องโจ | ||||||||
• 1863–1897 | โกจง (องค์สุดท้าย)1 | ||||||||
อัครมหาเสนาบดี | |||||||||
• 1431–1449 | ฮวังฮุย | ||||||||
• 1466–1472 | ฮันเมียงฮี | ||||||||
• 1592–1598 | ยู ซองลยอง | ||||||||
• 1793–1801 | แชเจกง | ||||||||
ยุคประวัติศาสตร์ | สมัยใหม่ตอนต้น | ||||||||
• รัฐประหาร ค.ศ. 1388 | 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1388 | ||||||||
• พิธีราชาภิเษกของพระเจ้าแทโจ | 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1392 | ||||||||
9 ตุลาคม ค.ศ. 1446 | |||||||||
1592–1598 | |||||||||
1636–1637 | |||||||||
27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1876 | |||||||||
12 ตุลาคม ค.ศ. 1897 | |||||||||
ประชากร | |||||||||
• 1500 [1] | est. 6,510,000 | ||||||||
• 1753 [1] | est. 18,660,000 | ||||||||
สกุลเงิน | มุน(ค.ศ.1633–1892) หยาง(ค.ศ.1892–97) | ||||||||
| |||||||||
1สถาปนาพระองค์เป็นจักรพรรดิแห่งโชซ็อน เมื่อ ค.ศ. 1897 |
โชซ็อน | |
ฮันกึล | |
---|---|
ฮันจา | |
อาร์อาร์ | Joseon |
เอ็มอาร์ | Chosŏn |
IPA | /tɕo.sʌn/ |
ราชวงศ์ศักดินาโชซ็อน | |
ฮันกึล | |
ฮันจา | |
อาร์อาร์ | joseon bonggeon wangjo |
เอ็มอาร์ | chosŏn bonggŏn wangjo |
มหาประเทศโชซ็อน | |
ฮันกึล | |
ฮันจา | |
อาร์อาร์ | Daejoseonguk |
เอ็มอาร์ | Taechosŏnguk |
IPA | /tɛ.tɕo.sʌn.ɡuk̚/ |
ประวัติศาสตร์
แก้สถาปนาราชวงศ์
แก้ราชวงศ์โครยอเดิมปกครองคาบสมุทรเกาหลีมาเป็นเวลาประมาณสี่ร้อยปีโดยมีราชธานีอยู่นครแคซ็อง อี ซ็อง-กเย เป็นขุนศึกผู้มีอำนาจและมีผลงานในรัชกาลของพระเจ้าคงมิน (เกาหลี: 공민왕, 恭愍王) ในค.ศ. 1388 พระเจ้าอูแห่งโครยอมีพระราชโองการให้แม่ทัพ อี ซ็อง-กเย ยกทัพไปต้านทานการรุกรานจากจีนราชวงศ์หมิง แต่เมื่ออี ซ็อง-กเย เดินทัพถึงเกาะวีฮวา (เกาหลี: 위화도, 威化島) บนแม่น้ำยาลู อี ซ็อง-กเย หันทัพกลับมายังเมืองแคซ็องกระทำรัฐประหารยึดอำนาจจากนั้นตั้งกษัตริย์หุ่นเชิดขึ้นครองโครยออีกสองพระองค์ จนกระทั่งในค.ศ. 1392 อี ซ็อง-กเย ก็บังคับให้พระเจ้าคงยาง (เกาหลี: 공양왕, 恭讓王) กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งโครยอสละราชบัลลังก์ แล้วอี ซ็อง-กเย จึงปราบดาภิเษกตนเองเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ และได้รับชื่อพระราชทานจากจักรพรรดิหงหวู่ว่า "ราชวงศ์โชซ็อน" อี ซ็อง-กเยขึ้นเป็น พระเจ้าแทโจ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โชซ็อน พระเจ้าแทโจทรงย้ายราชธานีของเกาหลีไปยังเมืองฮันยัง (เกาหลี: 한양, 漢陽) หรือฮันซ็อง (เกาหลี: 한성, 漢城 ปัจจุบันคือกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้) บนแม่น้ำฮัน การก่อสร้างพระราชวังและเมืองหลวงแห่งใหม่ ได้รับการออกแบบโดยช็อง โด-จ็อน (เกาหลี: 정도전, 鄭道傳) พระเจ้าแทโจทรงส่งเสริมลัทธิขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) ขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติแทนที่พุทธศาสนามหายานเดิม
หลังจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างเจ้าชาย ในรัชสมัยพระเจ้าแทจงราชวงศ์โชซ็อนจัดตั้งรากฐานการเมืองการปกครองขึ้น พระเจ้าแทจงทรงตั้งสภาอีจอง (เกาหลี: 의정부, 議政府) เป็นสภาขุนนางสูงสุด จัดตั้งหกกระทรวงตามแบบจีนยุคราชวงศ์ซ่ง จัดตั้งระบบราชการซึ่งจะดำรงอยู่ไปตลอดยุคราชวงศ์โชซ็อน ราชวงศ์หมิงยอบรับราชวงศ์โชซ็อนอย่างเป็นทางการในค.ศ. 1402 ทำให้เกาหลีสมัยราชวงศ์โชซ็อนเป็นประเทศราชของจีนและเข้าสู่ระบบบรรณาการ ในค.ศ. 1419 พระเจ้าแทจงทรงส่งทัพเรือนำโดยแม่ทัพ อี จง-มู (เกาหลี: 이종무, 李從茂) เข้ารุกรานเกาะสึชิมะของญี่ปุ่นในยุคมูโรมาจิเพื่อปราบโจรสลัดญี่ปุ่น เรียกว่า การรุกรานทางตะวันออกในปีคีแฮ (เกาหลี: 기해동정, 己亥東征) นำไปสู่การเจรจาระหว่างโชซ็อนและญี่ปุ่นในสนธิสัญญาปีกเย-แฮ (เกาหลี: 계해조약, 癸亥條約) จัดตั้งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชสำนักโชซ็อนและรัฐบาลโชกุนอาชิกางะ
ความรุ่งเรืองของลัทธิขงจื๊อใหม่และการกวาดล้างนักปราชญ์
แก้รัชสมัยของพระเจ้าเซจงมหาราชมีการส่งเสริมลัทธิขงจื๊อและวัฒนธรรมจีนให้แพร่หลาย ทรงก่อตั้งชิบฮย็อนจอน (เกาหลี: 집현전, 集賢殿) เป็นสำนักศึกษาปราชญ์ขงจื้อ พระเจ้าเซจงมีพระราชโองการให้ปรับเปลี่ยนขนบธรรมเนีนมประเพณีดั้งเดิมของเกาหลีให้สอดคล้องกับลัทธิขงจื๊อ เช่น ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีการไว้ทุกข์ นำไปสู่การกำเนิดของชนชั้นนักปราชญ์ขงจื๊อหรือชนชั้นยังบันซึ่งมีบทบาทและอำนาจในการปกครองประเทศ พระเจ้าเซจงทรงได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่ห่วงใยราษฎร ในค.ศ. 1446 พระเจ้าเซจงทรงประกาศใช้อักษรฮันกึล ซึ่งเป็นอักษรที่ง่ายต่อการเรียนรู้ ผ่านทางวรรณกรรมเรื่องฮุนมินจ็องอึม (เกาหลี: 훈민정음, 訓民正音) เพื่อให้ราษฎรทุกชนชั้นสามารถอ่านออกเขียนได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อักษรจีน ในรัชสมัยของพระเจ้าเซจงขุนนางชื่อว่า ชัง ย็อง-ชิล (เกาหลี: 장영실, 蔣英實) เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ประดิษฐ์มาตรวัดน้ำฝน
หลังจากรัชสมัยของพระเจ้าเซจงเป็นยุคแห่งความขัดแย้ง ในค.ศ. 1455 เจ้าชายซูยัง (เกาหลี: 수양대군, 首陽大君) ทำการยึดอำนาจ ปลดเจ้าชายโนซัน (เกาหลี: 노산군, 魯山君) ออกจากราชสมบัติแล้วปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าเซโจ ในการรัฐประหารปีคเยยู (เกาหลี: 계유정난, 癸酉靖難) ต่อมาในค.ศ. 1456 ขุนนางผู้ภักดีต่อเจ้าชายโนซันทั้งหกคนก่อการกบฏเพื่อถวายราชสมบัติคืนแก่เจ้าชายโนซันแต่ไม่สำเร็จ เรียกว่า ซายุกชิน หรือขุนนางผู้พลีชีพทั้งหก (เกาหลี: 사육신, 死六臣) เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดนักปราชญ์กลุ่มซาริม (เกาหลี: 사림, 士林) หรือนักปราชญ์ตามป่าเขา เกิดจากกลุ่มขุนนางผู้สูญเสียอำนาจจากการยึดอำนาจของพระเจ้าเซโจและถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนกลาง นักปราชญ์กลุ่มซาริมยึดถือในลัทธิขงจื๊อแบบบริสุทธิ์และตีความปรัชญาลัทธิขงจื๊อแบบตรงตัว ในรัชสมัยพระเจ้าเซโจมีการปฏิรูปการปกครอง มีการส่งเสริมศาสตร์อื่นนอกเหนือจากวรรณกรรมขงจื๊อ และมีการชำระกฎหมายเรียกว่า คย็องกุกแดจ็อน (เกาหลี: 경국대전, 經國大典)
ในสมัยพระเจ้าซ็องจงขุนนางกลุ่มซาริมกลับเข้ามารับราชการในราชสำนักอีกครั้งทำให้ลัทธิขงจื๊อกลับมามีความสำคัญ ขุนนางซาริมรับราชการในสามกรมหรือ ซัมซา (เกาหลี: 삼사, 三司) ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของขุนนาง ในค.ศ. 1498 เจ้าชายย็อนซันค้นพบว่าขุนนางซาริมชื่อว่าคิมจงจิกเขียนประวัติศาสตร์ลบหลู่พระเจ้าเซโจ จึงเกิดการกวาดล้างลงโทษขุนนางกลุ่มซาริมจำนวนมากเรียกว่า การสังหารหมู่ปราชญ์ปีมูโอ (เกาหลี: 무오사화, 戊午士禍) และในค.ศ. 1504 เจ้าชายย็อนซันค้นพบว่าพระมารดาคืออดีตพระมเหสีตระกูลยุนต้องโทษทางการเมืองทำให้ถูกสำเร็จโทษด้วยยาพิษ เจ้าชายย็อนซันจึงทำการกวาดล้างขุนนางผู้มีส่วนรู้เห็นการสำเร็จโทษพระมารดาในอดีตเรียกว่า การสังหารหมู่ปราชญ์ปีคัปจา (เกาหลี: 갑자사화, 甲子士禍) รัชสมัยของเจ้าชายย็อนซันเป็นกลียุคเต็มไปด้วยการนองเลือด ในค.ศ. 1506 กลุ่มขุนนางทำการยึดอำนาจและปลดเจ้าชายย็อนซันออกจากราชสมบัติ และอัญเชิญพระเจ้าชุงจงขึ้นครองราชสมบัติแทนที่เจ้าชายย็อนซัน
ในรัชสมัยของพระเจ้าชุงจงขุนนางกลุ่มซาริมกลับเข้ารับราชการอีกครั้งโดยมีผู้นำคือโช กวัง-โจ (조광조, 趙光祖) โช กวัง-โจ ต้องการปฏิรูปการปกครองตามอย่างลัทธิขงจื๊อแท้บริสุทธิ์ทำให้เกิดความขัดแย้งกับขุนนางกลุ่มเก่า จนกระทั่งเกิดการใส่ร้ายโช กวัง-โจ ว่าเป็นกบฏและโช กวัง-โจ ถูกประหารชีวิตในค.ศ. 1519 ตามมาด้วยการกวาดล้างขุนนางกลุ่มซาริมอีกครั้งเรียกว่า เหตุการณ์สังหารหมู่ปราชญ์ปีคี-มโย (เกาหลี: 기묘사화, 己卯士禍) ในสมัยของพระเจ้าอินจงขุนนางกลุ่มยุนใหญ่ (เกาหลี: 대윤, 大尹) นำโดยยุนอิม (เกาหลี: 윤임, 尹任) ซึ่งเป็นพระอัยกาของพระเจ้าอินจงขึ้นมามีอำนาจ เมื่อพระเจ้าอินจงสวรรคตในค.ศ. 1545 พระเจ้ามย็องจงเป็นกษัตริย์องค์ต่อมาทำให้ฝ่ายยุนใหญ่สูญเสียอำนาจและฝ่ายยุนเล็ก (เกาหลี: 소윤, 小尹) นำโดยยุน ว็อน-ฮย็อง (เกาหลี: 윤원형, 尹元衡) ซึ่งเป็นพระปิตุลาของพระเจ้ามย็องจงขึ้นมามีอำนาจแทน เนื่องจากพระเจ้ามย็องจงยังพระเยาว์พระพันปีมุนจ็องพระชนนีของพระเจ้ามย็องจงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ฝ่ายยุนเล็กกวาดล้างขุนนางฝ่ายยุนใหญ่ยุนอิมถูกประหารชีวิต พระพันปีมุนจ็องฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่ถูกกดขี่มานาน เมื่อพระพันปีมุนจ็องสิ้นพระชนม์ในค.ศ. 1565 ทำให้อำนาจของตระกูลยุนสิ้นสุดลงนำไปสู่การประหารชีวิตยุน ว็อน-ฮย็อง
การรุกรานของญี่ปุ่นและการแบ่งฝ่าย
แก้ในรัชสมัยของพระเจ้าซ็อนโจขุนนางกลุ่มซาริมกลับมามีอำนาจในราชสำนักโชซ็อนอย่างถาวร ความขัดแย้งระหว่างขุนนางสองคนได้แก่ชิม อี-กย็อม (เกาหลี: 심의겸, 沈義謙) และคิม ฮโย-ว็อน (เกาหลี: 김효원, 金孝元) ในประเด็นเรื่องการแต่งตั้งขุนนางตำแหน่ง อีโจจ็องรัง ในค.ศ. 1575 ลุกลามไปสู่การแบ่งขุนนางกลุ่มซาริมเป็นสองฝ่ายได้แก่
- ฝ่ายตะวันออกหรือ ทงอิน (เกาหลี: 동인, 東人) ให้การสนับสนุนแก่คิม ฮโย-ว็อน มีถิ่นพำนักอาศัยอยู่ทางเขตตะวันออกของกรุงฮันซ็อง เป็นกลุ่มขุนนางอายุน้อยและเป็นศิษย์ของโช ชิก (เกาหลี: 조식, 曺植) และ อี ฮวัง (เกาหลี: 이황, 李滉)
- ฝ่ายตะวันตกหรือ ซออิน (เกาหลี: 서인, 西人) ให้การสนับสนุนแก่ชิม อี-กย็อม มีถิ่นอาศัยอยู่เขตตะวันตกของเมืองฮันซ็อง เป็นกลุ่มขุนนางอาวุโสและเป็นศิษย์ของอี อี (เกาหลี: 이이, 李珥)
ในค.ศ. 1589 ขุนนางฝ่ายตะวันออกชื่อว่าช็อง ยอ-ริป (เกาหลี: 정여립, 鄭汝立) ซึ่งมีความคิดว่าอำนาจการปกครองควรเป็นของราษฏร ถูกขุนนางฝ่ายตะวันตกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ ทำให้ช็อง ยอ-ริป และขุนนางฝ่ายตะวันออกจำนวนมากถูกประหารชีวิตหรือเนรเทศ เหตุการณ์นี้ทำให้ฝ่ายตะวันออกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายได้แก่
- ฝ่ายเหนือ หรือ พุกอิน (เกาหลี: 북인, 北人) ให้การสนับสนุนแก่ช็อง ยอ-ริป เป็นศิษย์ของโช ชิก
- ฝ่ายใต้ หรือ นัมอิน (เกาหลี: 남인, 南人) เป็นศิษย์ของอี ฮวัง มีผู้นำคือ มีผู้นำคือ รยู ซ็อง-รย็ง (เกาหลี: 류성룡, 柳成龍)
ในขณะที่โชซ็อนกำลังเกิดความขัดแย้งภายในและการแบ่งฝ่าย โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ (ญี่ปุ่น: 豊臣 秀吉; โรมาจิ: Toyotomi Hideyoshi) รวบรวมญี่ปุ่นในยุคเซงโงกุได้เป็นปึกแผ่น ในค.ศ. 1587 โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ส่งทูตมายังราชสำนักโชซ็อนที่เมืองฮันซ็องประกาศว่าจะทำการรุกรานจักรวรรดิจีนราชวงศ์หมิงโดยใช้คาบสมุทรเกาหลีเป็นทางผ่าน และร้องขอให้อาณาจักรโชซ็อนเปิดทางให้ทัพญี่ปุ่นเข้ารุกรานจีน เมื่อทางฝ่ายโชซ็อนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำขอของฮิเดโยชิ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ จึงจัดตั้งกองทัพขนาดมหึมาเข้าทำการรุกรานโชซ็อน นำไปสู่การบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น (Japanese Invasions of Korea) กองทัพฝ่ายญี่ปุ่นมีความได้เปรียบเนื่องจากประกอบไปด้วยซามูไรซึ่งมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการรบ รวมทั้งญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีด้านอาวุธปืนซึ่งรับมาจากชาวตะวันตก ในขณะที่กองทัพฝ่ายโชซ็อนประกอบไปด้วยชาวบ้านซึ่งถูกเกณฑ์มารบและมีเพียงหอกดาบธนูเป็นอาวุธ ในค.ศ. 1592 กองทัพแนวหน้าของญี่ปุ่นนำโดยโคนิชิ ยูกินางะ (ญี่ปุ่น: 小西 行長; โรมาจิ: Konishi Yukinaga) และคาโต คิโยมาซะ (ญี่ปุ่น: 加藤 清正; โรมาจิ: Katō Kiyomasa) ยกพลขึ้นบกที่เมืองท่าปูซานและสามารถยึดเมืองปูซานได้อย่างรวดเร็ว โชซ็อนส่งกองทัพไปรับมือกับทัพญี่ปุ่นแต่ไม่สามารถต่อกรกับอาวุธปืนของญี่ปุ่นได้ หลังจากที่ยกพลขึ้นบกได้เพียงหนึ่งเดือนกองทัพญี่ปุ่นสามารถเข้ายึดนครหลวงฮันซ็องได้สำเร็จและปล้มสะดมเผาทำลายพระราชวังคย็องบกจนพินาศวอดวาย พระเจ้าซ็อนโจพร้อมทั้งพระราชวงศ์โชซ็อนและขุนนางทั้งหลายเสด็จหลบหนีไปยังเมืองเปียงยาง โคนิชิ ยูกินางะ นำทัพญี่ปุ่นตามไปยึดเมืองเปียงยางทำให้พระเจ้าซ็อนโจต้องเสด็จลี้ภัยไปยังนครปักกิ่ง ทัพญี่ปุ่นสามารถเข้ายึดโชซ็อนได้เกือบทั้งหมดยกเว้นมณฑลช็อลลาทางตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งอี ซุน-ชิน (เกาหลี: 이순신, 李舜臣) ตั้งมั่นเป็นฐานทัพเรือคอบุกซ็อน (เกาหลี: 거북선) หรือเรือเต่า เข้าโจมตีเส้นทางการขนส่งเสบียงของญี่ปุ่น ฝ่ายราชวงศ์หมิงส่งกองทัพนำโดยหลี่ หรูซ่ง (จีน: 李舜臣; พินอิน: Lǐ Rúsòng) ยกทัพมาเพื่อปลดแอกโชซ็อนจากการยึดครองของญี่ปุ่น ทัพจีนเข้ายึดเมืองเปียงยางคืนได้ในค.ศ. 1593 นำไปสู่การเจรจาสงบศึกระหว่างจีนราชวงศ์หมิงและญี่ปุ่นในค.ศ. 1594
เมื่อการเจรจาระหว่างจีนและญี่ปุ่นไม่ประสบผล โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ จึงให้กองทัพเข้ารุกรานโชซ็อนอีกครั้งในค.ศ. 1597 ซึ่งทัพของจีนและโชซ็อนสามารถต้านทานการรุกรานของญี่ปุ่นในครั้งนี้ได้ เมื่อโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ถึงแก่กรรมในค.ศ. 1598 ฝ่ายญี่ปุ่นจึงถอนทัพออกจากโชซ็อน ในยุทธการที่โนรยาง (Battle of Noryang Point) อี ซุน-ชิน สามารถนำทัพเรือเข้าทำลายทัพเรือญี่ปุ่นได้แต่อี ซุน-ชิน เสียชีวิตในที่รบ
หลังจากการรุกรานของญี่ปุ่นสิ้นสุดลง ขุนนางฝ่ายเหนือมีอำนาจในราชสำนักโชซ็อน ในระหว่างสงครามกับญี่ปุ่นนั้นพระเจ้าซ็อนโจทรงตั้งเจ้าชายควังแฮ (เกาหลี: 광해군, 光海君) ให้เป็นเจ้าชายรัชทายาท ในค.ศ. 1606 พระมเหสีอินมกประสูติพระโอรสคือเจ้าชายย็องชัง (เกาหลี: 영창대군, 永昌大君) เจ้าชายย็องชังมีสิทธิ์ขึ้นครองบัลลังก์โชซ็อนมากกว่าเจ้าชายควังแฮ เนื่องจากเจ้าชายย็องชังประสูติแต่พระมเหสีในขณะที่เจ้าชายควังแฮประสูติแต่พระสนม ทำให้ขุนนางฝ่ายเหนือแบ่งออกเป็นสองฝ่ายได้แก่ ฝ่ายเหนือใหญ่หรือ แทบุก (เกาหลี: 대북, 大北) ให้การสนับสนุนแก่เจ้าชายควังแฮ มีผู้นำคือช็อง อิน-ฮง (เกาหลี: 정인홍, 鄭仁弘) และฝ่ายเหนือเล็กหรือ โซบุก (เกาหลี: 소북, 小北) ให้การสนับสนุนแก่เจ้าชายย็องชัง เมื่อพระเจ้าซ็อนโจสวรรคตในค.ศ. 1608 เจ้าชายควังแฮขึ้นครองราชย์ต่อมาทำให้ฝ่ายเหนือใหญ่ขึ้นมามีอำนาจ เจ้าชายควังแฮสร้างพระราชวังชังด็อกขึ้นเป็นพระราชวังแห่งใหม่แทนที่พระราชวังคย็องบกที่ถูกทำลายไป ขุนนางฝ่ายเหนือใหญ่ทำการปราบปรามขุนนางฝ่ายเหนือเล็กอย่างรุนแรง นำไปสู่การสำเร็จโทษประหารเจ้าชายย็องชังในค.ศ. 1614 ในค.ศ. 1623 กลุ่มขุนนางฝ่ายตะวันตกนำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจ ปลดเจ้าชายควังแฮออกจากราชสมบัติ ทำให้อำนาจของฝ่ายเหนือสิ้นสุดลง และอัญเชิญพระเจ้าอินโจขึ้นครองบัลลังก์ต่อมา เรียกว่า การรัฐประหารของพระเจ้าอินโจ (เกาหลี: 인조반정 仁祖反正) ฝ่ายตะวันตกขึ้นมามีอำนาจแทนฝ่ายเหนือ
ยุคฝ่ายตะวันตกเรืองอำนาจและการรุกรานของแมนจู
แก้ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 ชาวแมนจูทางตอนเหนือของจีนเรืองอำนาจขึ้นและเป็นภัยคุกคามต่อจีนราชวงศ์หมิง โชซ็อนในสมัยของเจ้าชายควังแฮดำเนินนโยบายที่เป็นกลาง เมื่อพระเจ้าอินโจขึ้นครองราชย์จากการยึดอำนาจขุนนางฝ่ายตะวันตกมีอำนาจ ขุนนางฝ่ายตะวันตกมีนโยบายสนับสนุนราชวงศ์หมิงต่อต้านชาวแมนจู ในค.ศ. 1627 ฮงไทจิ (แมนจู: Hong Taiji) ผู้นำของชาวแมนจูส่งทัพเข้ารุกรานโชซ็อนเกิดเป็นการรุกรานเกาหลีของแมนจูครั้งที่หนึ่ง (First Manchu Invasion of Korea) หลังจากการเจรจาโชซ็อนยินยอมดำเนินนโยบายที่เป็นกลางทัพแมนจูจึงกลับไป แต่ทว่าราชสำนักโชซ็อนมิได้ทำตามข้อตกลงที่ทำไว้กับแมนจู ยังคงเชิดชูและช่วยเหลือราชวงศ์หมิงเช่นเดิม ต่อมาเมื่อฮงไทจิประกาศก่อตั้งราชวงศ์ชิง (Qing dynasty) ต้องการให้โชซ็อนเป็นเมืองขึ้นส่งบรรณาการให้แก่ราชวงศ์ชิง นำไปสู่การรุกรานเกาหลีของแมนจูครั้งที่สอง (Second Manchu Invasion of Korea) ในค.ศ. 1636 ปีต่อมาค.ศ. 1637 ปีต่อมาพระเจ้าอินโจทรงยอมจำนนต่อแมนจู พระจักรพรรดิหฺวังไถจี๋แห่งราชวงศ์ชิงให้สร้างอนุสรณ์สถานรำลึกชัยชนะของแมนจูเหนือโชซ็อน เรียกว่า อนุสรณ์ซัมจ็อนโด (เกาหลี: 삼전도비 三田渡碑) และให้พระเจ้าอินโจแห่งโชซ็อนคำนับห้าครั้งและเอาพระเศียรโขกกับพื้นสามครั้งให้แก่จักรพรรดิหฺวังไถจี๋ เพื่อเป็นการแสดงการสวามิภักดิ์ต่อแมนจู สงครามครั้งนี้ทำให้อาณาจักรโชซ็อนเปลี่ยนจากการเป็นประเทศราชของราชวงศ์หมิงกลายมาเป็นประเทศของราชวงศ์ชิง
ในรัชสมัยของพระเจ้าฮย็อนจงเกิดความขัดแย้งเรื่องการไว้ทุกข์ (เกาหลี: 예송논쟁, 禮訟論爭) ของพระอัยยิกาชาอี (เกาหลี: 자의대비, 慈懿大妃) ทำให้ฝ่ายตะวันตกซึ่งมีซง ชี-ย็อล (เกาหลี: 송시열, 宋時烈) เป็นผู้นำ และฝ่ายใต้ซึ่งมีผู้นำคือ ฮอ มก (เกาหลี: 허목, 許穆) ผลัดกันขึ้นมามีอำนาจ ในค.ศ. 1680 ฝ่ายใต้ถูกทำลายอำนาจทำให้ ฮอ มก เสียชีวิต ในค.ศ. 1689 ขุนนางฝ่ายใต้เสนอให้แต่งตั้งพระโอรสที่เกิดแต่พระสนมชังฮีบิน (เกาหลี: 희빈장씨, 禧嬪張氏) เป็นรัชทายาทในขณะที่ฝ่ายตะวันตกคัดค้านทำให้ฝ่ายตะวันตกถูกลงโทษซง ชี-ย็อล ผู้นำฝ่ายตะวันตกถูกประหารชีวิต ต่อมาค.ศ. 1701 พระเจ้าซุกจงทรงค้นพบว่าพระสนมชังฮีบินทำไสยศาสตร์แก่พระมเหสีอินฮย็อน (เกาหลี: 인현왕후, 仁顯王后) จนสิ้นพระชนม์ ทำให้ขุนนางฝ่ายใต้ถูกลงโทษอีกครั้ง ฝ่ายตะวันตกกลับขึ้นมามีอำนาจอย่างถาวร
ในช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าซุกจงเกิดความขัดแย้งระหว่างซง ชี-ย็อลกับศิษย์ ทำให้ฝ่ายตะวันตกแบ่งเป็นสองฝ่ายได้แก่
- ฝ่ายโนรน (เกาหลี: 노론, 老論) กลุ่มขุนนางดั้งเดิม ให้การสนับสนุนซง ชี-ย็อล และเจ้าชายย็อนอิง (เกาหลี: 연잉군, 延礽君)
- ฝ่ายโซรน (เกาหลี: 소론, 少論) กลุ่มขุนนางรุ่นใหม่ ต่อต้านซง ชี-ย็อล และให้การสนับสนุนพระโอรสของพระสนมชังฮีบิน
พระโอรสของพระสนมชังฮีบินขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าคย็องจงในค.ศ. 1720 ฝ่ายโซรนขึ้นมามีอำนาจ แต่เนื่องจากพระเจ้าคย็องจงประชวร ขุนนางฝ่ายโนรนจึงให้มีการแต่งตั้งเจ้าชายย็อนอิงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ขุนนางฝ่ายโซรนกล่าวหาฝ่ายโนรนว่าเป็นกบฏต้องการยึดราชสมบัติให้เจ้าชายย็อนอิง ขุนนางฝ่ายโนรนจึงถูกกวาดล้างลงโทษอย่างมากในค.ศ. 1721 เมื่อพระเจ้าคย็องจงสวรรคตในค.ศ. 1724 เจ้าชายย็อนอิงครองราชสมบัติต่อมาเป็นพระเจ้าย็องโจ ทำให้ขุนนางฝ่ายโซรนเสียอำนาจและฝ่ายโนรนขึ้นมามีอำนาจแทน
พระเจ้าย็องโจและพระเจ้าช็องโจ
แก้พระเจ้าย็องโจทรงดำเนินนโยบายทังพย็อง (เกาหลี: 탕평책, 蕩平策) หรือนโยบายเพื่อความสมานฉันท์เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆ พระเจ้าย็องโจทรงให้ขุนนางทั้งฝ่ายโนรนและโซรนมีส่วนร่วมในการปกครองอย่างเท่าเทียม รัชสมัยของพระเจ้าย็องโจเป็นรัชสมัยที่ยาวนานและสงขสุข พระเจ้าย็องโจได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ผู้ห่วงใยอาณาประชาราษฎร์ อย่างไรก็ตามในปลายรัชสมัยพระเจ้าย็องโจเกิดความขัดแย้งขึ้นอีกครั้ง เมื่อพระโอรสของพระเจ้าย็องโจคือเจ้าชายรัชทายาทซาโด (เกาหลี: 사도세자, 思悼世子) มีพระสติวิปลาสนำไปสู่การสำเร็จโทษประหารชีวิตเจ้าชายซาโดในค.ศ. 1762 ทำให้ขุนนางแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอีกครั้งได้แก่
- พย็อกปา (เกาหลี: 벽파, 僻派) ฝ่ายซึ่งเห็นด้วยกับการสำเร็จโทษเจ้าชายซาโด
- ชิปา (เกาหลี: 시파, 時派) ฝ่ายซึ่งไม่เห็นด้วยกับการสำเร็จโทษเจ้าชายซาโด
ในค.ศ. 1775 กลุ่มพย็อกปาคัดค้านการแต่งตั้งพระนัดดารัชทายาทลีซันซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าชายซาโดให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน เมื่อเจ้าชายลีซันขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าช็องโจในค.ศ. 1776 จึงทำการลงโทษขุนนางฝ่ายพย็อกปาไปจำนวนมากและนำขุนนางชิปาขึ้นมามีอำนาจ พระเจ้าช็องโจทรงสานต่อนโยบายทังพย็องเพื่อความสมานฉันท์ของพระเจ้าย็องโจพระอัยกา พระเจ้าช็องโจใช้อุบายทางการเมืองเพื่อคานอำนาจระหว่างขุนนางกลุ่มโนรนและโซรน และฟื้นฟูขุนนางฝ่ายใต้ให้ขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งภายใต้การนำของแช เจ-กง (เกาหลี: 채제공, 蔡濟恭) ในรัชสมัยของพระเจ้าช็องโจเป็นยุคแห่งการเรียนรู้ มีการสร้างคยูจังกัก (เกาหลี: 규장각, 奎章閣) หรือหอสมุดหลวงในค.ศ. 1776 นำไปสู่การเกิดชิลฮัก (เกาหลี: 실학, 實學) หรือ "ศาสตร์ที่แท้จริง" ซึ่งเป็นศาสตร์ใหม่นอกเหนือไปจากการศึกษาลัทธิขงจื๊อแบบเดิม หนึ่งในการศึกษาชิลฮักประกอบด้วยซอฮัก (เกาหลี: 서학, 西學) ซึ่งหมายถึงการศึกษาวิทยาการตะวันตก เจริญรุ่งเรืองขึ้นในโชซ็อน โดยเฉพาะในกลุ่มนักปราชญ์ฝ่ายใต้ซึ่งเป็นกลุ่มที่ศึกษาวิทยาการตะวันตก และมีขุนนางฝ่ายใต้บางส่วนหันไปนับถือศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก ขุนนางฝ่ายใต้คนสำคัญคือช็อง ยัก-ย็อง (เกาหลี: 정약용, 丁若鏞) ผู้ศึกษาศาสตร์วิทยาการจนรอบรู้ นอกจากนี้พระเจ้าช็องโจยังทรงปฏิรูปสังคมโชซ็อน ได้แก่การยกสถานะของบุตรภรรยารองให้มีฐานะเท่าเทียมกับบุตรที่เกิดกับภรรยาเอก พระเจ้าช็องจงทรงสร้างป้อมปราการเมืองซูว็อนหรือป้อมฮวาซ็องขึ้นในค.ศ. 1794 และทรงวางแผนจะย้ายราชธานีของโชซ็อนไปยังซูว็อน แต่เมื่อพระเจ้าช็องโจสวรรคตไปเสียก่อนในค.ศ. 1800 ทำให้แผนการต้องหยุดไป
ยุคการปกครองของราชินิกุลและการปราบปรามชาวคริสเตียน
แก้เมื่อพระเจ้าช็องโจสวรรคตในค.ศ. 1800 พระโอรสคือพระเจ้าซุนโจยังทรงพระเยาว์พระปัยยิกาตระกูลคิมจึงขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระปัยยิกาตระกูลคิมให้การสนับสนุนแก่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมโนรน-พย็อกปาจึง เกิดการกวาดล้างขุนนางฝ่ายใต้ทำให้ขุนนางฝ่ายใต้สูญสิ้นอำนาจไป ในปีค.ศ. 1801 ขุนนางฝ่ายใต้ชื่อว่าฮวัง ซาย็อง (เกาหลี: 황사영, 黃嗣永) ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์เขียนจดหมายถึงมิชชันนารีฝรั่งเศสที่กรุงปักกิ่งร้องขอให้จีนราชวงศ์ชิงยกทัพเข้าบุกยึดอาณาจักรโชซ็อนเพื่อปลดแอกชาวคริสเตียนในโชซ็อน จดหมายฉบับนี้ถูกทางการยึดได้เมื่อราชสำนักโชซ็อนและพระปัยยิกาตระกูลคิมทรงทราบจึงเกิดปราบปรามและสังหารผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์อย่างรุนแรงเรียกว่า การปราบปรามชาวคริสเตียนปีชินยู (เกาหลี: 신유박해, 辛酉迫害) เหตุการณ์นี้ทำให้ซอฮักหรือการศึกษาความรู้วิทยาการตะวันตกและศาสนาคริสต์กลายเป็นสิ่งต้องห้ามและผิดกฎหมายของโชซ็อน เมื่อพระปัยยิกาคิมสิ้นพระชนม์ในค.ศ. 1805 อำนาจของฝ่ายโนรน-พย็อกปาจึงสิ้นสุดลง ชาวเกาหลีซึ่งต่างเสียชีวิตในช่วงการปราบปรามชาวคริสเตียนของราชวงศ์โชซ็อนในระหว่างปีค.ศ. 1791 ถึง ค.ศ. 1888]] ในรัชสมัยของพระเจ้าซุนโจอำนาจการปกครองอยู่ที่พระสัสสุระคิม โจ-ซุน (เกาหลี: 김조순, 金祖淳) ซึ่งเป็นบิดาของพระมเหสีซุนว็อนจากตระกูลคิมแห่งอันดง (เกาหลี: 안동김씨, 安東金氏) ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระเจ้าซุนโจ ตระกูลคิมแห่งอันดงจึงขึ้นมามีอำนาจเป็นจุดเริ่มต้นของยุคการปกครองของราชินิกุล (เกาหลี: 세도정치, 勢道政治) เมื่อพระเจ้าซุนโจสวรรคตในค.ศ. 1834 พระเจ้าฮ็อนจงพระนัดดาของพระเจ้าซุนโจได้ราชสมบัติต่อมา เนื่องจากพระเจ้าฮ็อนจงยังทรงพระเยาว์พระอัยยิกาซุนว็อนจากตระกูลคิมแห่งอันดงจึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระพันปีชินจ็องจากตระกูลโชแห่งพุงยัง (เกาหลี: 풍양조씨, 豊壤趙氏) ซึ่งเป็นพระชนนีของพระเจ้าฮ็อนจงเริ่มสะสมอำนาจขึ้นมาแข่งขันกับพระอัยยิกาคิม โช มัน-ย็อง (เกาหลี: 조만영, 趙萬永) ซึ่งเป็นบิดาของพระพันปีชินจ็อง ผลักดันให้มีการปราบปรามชาวคริสเตียนปีคิแฮ (เกาหลี: 기해박해, 己亥迫害) ในค.ศ. 1839 ตระกูลโชแห่งพุงยังกล่าวหาตระกูลคิมว่าให้การสนับสนุนแก่ศาสนาคริสต์ ทำให้ตระกูลคิมสูญเสียอำนาจและตระกูลโชแขึ้นมามีอำนาจแทน เมื่อพระเจ้าฮ็อนจงสวรรคโดยปราศจากพระโอรสในค.ศ. 1849 พระอัยยิกาตระกูลคิมจึงอัญเชิญพระเจ้าช็อลจงให้มาขึ้นครองราชสมบัติโดยมีพระอัยยิกาคิมเป็นผู้สำเร็จราชการ ทำให้ตระกูลคิมกลับมามีอำนาจอีกครั้ง เมื่อพระอัยยิกาตระกูลคิมสิ้นพระชนม์ในค.ศ. 1857 ทำให้อำนาจของตระกูลคิมสิ้นสุดลงอย่างถาวร
เมื่อพระเจ้าช็อลจงสวรรคตในค.ศ. 1863 โดยไม่มีรัชทายาท ชายสามัญชนผู้หนึ่งชื่อว่าอี ฮา-อึง (เกาหลี: 이하응 李昰應) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าอินโจ เข้าเฝ้าพระพันปีชินจ็องตระกูลโชทูลเสนอให้ยกบุตรชายของตนเองชื่อว่าอี มย็อง-บก (เกาหลี: 이명복, 李命福) ขึ้นเป็นกษัตริย์หุ่นเชิดโดยมีพระพันปีตระกูลโชเป็นผู้สำเร็จราชการ พระพันปีตระกูลโชทรงยินยอมตั้งนายอี มย็อง-บก ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าโคจง และนายอี ฮา-อึง ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าชายแทว็อน ฮึงซ็อน (เกาหลี: 흥선대원군, 興宣大院君) ปรากฏว่าเมื่อพระเจ้าโคจงครองราชสมบัติฝ่ายตระกูลโชสูญเสียอำนาจไปยุคการปกครองของราชินิกุลจึงสิ้นสุดลง เจ้าชายแทว็อน ฮึงซ็อน ขึ้นมามีอำนาจแทนในฐานะพระชนกาธิราชของพระเจ้าโคจง
อาณาจักรฤๅษีเปิดประตูและสงครามจีน-ญี่ปุ่น
แก้เนื่องจากพระเจ้าโคจงขึ้นครองราชสมบัติเมื่อยังพระเยาว์ เจ้าชายแทว็อน ฮึงซ็อน ซึ่งเป็นพระชนกของพระเจ้าโคจงจึงมีอำนาจเป็นผู้สำเร็จราชการแทน เจ้าชายแทว็อน ฮึงซ็อน ปฏิรูปการเมืองการปกครองของโชซ็อนเสียใหม่โดยหยุดยั้งการแบ่งฝ่ายของขุนนาง มีการทำลายซอว็อน (เกาหลี: 서원, 書院) หรือสำนักศึกษาท้องถิ่นๆต่างซึ่งปลูกฝังคติการแบ่งฝ่ายให้แก่บัณฑิต พระราชวังคย็องบกได้รับการสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งในค.ศ. 1867 หลักจากที่ถูกเผาทำลายลงเมื่อสองร้อยห้าสิบปีก่อน ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาแห่งจักรวรรดินิยมของชาติมหาอำนาจตะวันตก เจ้าชายแทว็อน ฮึงซ็อน ทรงยึดมั่นในลัทธิขงจื๊อดำเนินนโยบายความเป็นเอกเทศ ปฏิเสธอารยธรรมตะวันตกรวมทั้งศาสนาคริสต์และปฏิเสธการติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกเพื่อรักษาจารีตประเพณีและโครงสร้างทางสังคมดั้งเดิมของโชซ็อนไว้ ชาติตะวันตกทั้งหลายต่างพยายามเข้ามาเจรจาสร้างสัมพันธ์ต่างการค้ากับโชซ็อนแต่ล้มเหลวและราชสำนักโชซ็อนมีปฏิกิริยาต่อต้านที่รุนแรง ทำให้อาณาจักรโชซ็อนได้รับสมยานามว่า "อาณาจักรฤๅษี" (Hermit Kingdom)
ในค.ศ. 1866 เจ้าชายแทว็อน ฮึงซ็อน มีคำสั่งให้นำตัวมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในโชซ็อนอย่างเป็นความลับไปประหารชีวิต และเรือเจอร์เนอรัล เชอร์แมน เรือสินค้าของสหรัฐอเมริกาจอดเทียบท่าที่เมืองเปียงยางโดยไม่ได้รับอนุญาต กองกำลังป้องกันของโชซ็อนจึงทำทหารเข้าสังหารชาวอเมริกันของเรือเจอร์เนอรัล เชอร์แมน จนหมดสิ้น เรียกว่า เหตุการณ์เรือเจอร์เนอรัลเชอร์แมน (General Sherman Incident) นายปิแอร์ ฌุซตาฟ โรเซอ (Pierre-Gustave Roze) แม่ทัพเรือของฝรั่งเศสซึ่งพำนักอยู่ที่กรุงปักกิ่งยกทัพเรือฝรั่งเศสเข้ารุกรานโชซ็อนเพื่อตอบโต้ที่โชซ็อนสังหารมิชชันนารีฝรั่งเศส เรียกว่า การรุกรานของชาวตะวันตกปีพย็องอิน (เกาหลี: 병인양요, 丙寅洋擾) ทัพเรือฝรั่งเศสเข้ายึดเกาะคังฮวาแต่ฝ่ายโชซ็อนสามารถขับไล่ทัพฝรั่งเศสออกไปได้ ในค.ศ. 1871 ทัพเรือสหรัฐอเมริกาเข้ารุกรานโชซ็อนเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่กรณีเรือเจอร์เนอรัล เชอร์แมน เรียกว่า การรุกรานของชาวตะวันตกปีชินมี (เกาหลี: 신미양요, 辛未洋擾) แม้ว่าทัพเรืออเมริกาสามารถเอาชนะทัพของโชซ็อนที่เกาะคังฮวาได้ แต่การเจรจาเพื่อเปิดการค้าไม่ประสบผลฝ่ายอเมริกาจึงถอยกลับไป
รัฐบาลเมจิของญี่ปุ่นส่งสาสน์จากพระจักรพรรดิเมจิมายังโชซ็อนเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี แต่ราชสำนักโชซ็อนให้การยอมรับพระจักรพรรดิเพียงพระองค์เดียวคือพระจักรพรรดิจีนราชวงศ์ชิงจึงปฏิเสธไมตรีของญี่ปุ่น ในค.ศ. 1874 พระมเหสีจากตระกูลมิน หรือพระมเหสีมย็องซ็อง พระมเหสีของพระเจ้าโคจง ทำการยึดอำนาจจากเจ้าชายแทว็อน ฮึงซ็อน ด้วยการประกาศว่าพระเจ้าโคจงเจริญพระชันษาสามารถว่าราชการได้ด้วยพระองค์เอง ทำให้พระมเหสีมย็องซ็องขึ้นมามีอำนาจในการปกครองและเจ้าชายแทว็อน ฮึงซ็อน สูญเสียอำนาจไป ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของโชซ็อนเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นใช้นโยการการทูตเรือปืน (Gunboat diplomacy) โดยการส่งเรือรบอูนโย (ญี่ปุ่น: 雲揚; โรมาจิ: Un'yō) เข้ามายังเกาะคังฮวาเพื่อปิดทางออกของแม่น้ำฮันไว้ในค.ศ. 1875 เป็นการกดดันให้ราชสำนักโชซ็อนยินยอมตกลงสนธิสัญญาการค้า นำไปสู่สนธิสัญญาคังฮวา (Treaty of Ganghwa Island เกาหลี: 강화도 조약) ในค.ศ. 1876 โชซ็อนยินยอมให้ชาวญี่ปุ่นสามารถเข้ามาทำการค้าในภายในอาณาจักรได้ เปิดเมืองท่าสามเมืองได้แก่ปูซาน อินช็อน และว็อนซันให้แก่เรือญี่ปุ่น และยังมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่นอีกด้วย การปิดประเทศและการแยกตัวของโชซ็อนจึงสิ้นสุดลง
พระมเหสีมย็องซ็องทรงสนับสนุนการรับวิทยาการตะวันตกเข้ามาปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย มีการฝึกทหารตามแบบตะวันตกซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ทหารดั้งเดิม กลุ่มทหารดั้งเดิมจึงทำการยึดอำนาจเข้ายึดพระราชวังคย็องบกในค.ศ. 1882 เรียกว่าการกบฎปีอิมโอ (Imo Incident เกาหลี: 임오군란) ทำให้พระเจ้าโคจงและพระมเหสีมย็องซ็องต้องเสด็จหลบหนีออกจากกรุงโซล กลุ่มทหารดั้งเดิมถวายอำนาจคืนแด่เจ้าชายแทว็อน ฝ่ายจีนราชวงศ์ชิงเมื่อทราบการยึดอำนาจในโชซ็อนจึงส่งกองกำลังนำโดยแม่ทัพหลี่ หงจาง (จีน: 李鴻章; พินอิน: Lǐ Hóngzhāng) ยกทัพจีนเข้ามาปราบกบฎและจับเจ้าชายแทว็อนกลับไปยังกรุงปักกิ่ง พระมเหสีมย็องซ็องจึงหวนคืนสู่อำนาจอีกครั้ง ในสมัยของพระมเหสีมย็องซ็องขุนนางแบ่งออกเป็นสองฝ่ายได้แก่
- ฝ่ายซาแด (เกาหลี: 사대당, 事大黨) หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยม สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป และดำรงความสัมพันธ์กับจีนราชวงศ์ชิง
- ฝ่ายก้าวหน้า หรือฝ่ายแคฮวา (เกาหลี: 개화당, 開化黨) สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างรวดเร็วดังเช่นญี่ปุ่นยุคเมจิ และสนับสนุนการตัดความสัมพันธ์เป็นเอกราชจากจีน
คาบสมุทรเกาหลีกลายเป็นสถานที่แข่งขันอำนาจกันระหว่างจีนและญี่ปุ่น พระมเหสีมย็องซ็องทรงให้การสนับสนุนแก่ฝ่ายซาแด ในค.ศ. ขุนนางฝ่ายก้าวหน้าซึ่งได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นนำกองกำลังเข้ายึดอำนาจภายในพระราชวังสังหารขุนนางฝ่ายซาแดไปจำนวนมากเรียกว่า รัฐประหารปีคัปชิน (เกาหลี: 갑신정변, 甲申政變) ทำให้พระมเหสีมย็องซ็องทรงต้องขอความช่วยเหลือจากกองกำลังของจีนนำโดยหยวนซื่อไข่ นำทัพเข้ายึดอำนาจคืนจากฝ่ายก้าวหน้า ทำให้ขุนนางฝ่ายก้าวหน้าถูกสังหารและหลบหนีออกนอกประเทศ รัฐประหารปีคัปชินนำไปสู่ข้อตกลงเทียนจิน (Convention of Tianjin) ระหว่างจีนและญี่ปุ่น ซึ่งตกลงว่าต่างฝ่ายจะไม่ให้กำลังทหารเข้าแทรกแซงการเมืองภายในของโชซ็อน
ลัทธิทงฮัก (เกาหลี: 동학, 東學) หรือ "บูรพศึกษา" ถือกำเนิดขึ้นจากแนวความคิดของชเว เช-อู (เกาหลี: 최제우, 崔濟愚) ซึ่งมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าสูงสุดประกอบกับคติขงจื๊อ ในค.ศ. 1894 ชาวบ้านเมืองโคบู (อำเภอพูอัน จังหวัดช็อลลาเหนือในปัจจุบัน) ผู้ยึดมั่นในลัทธิทงฮักก่อการจลาจลต่อต้านการปกครองที่กดขี่ของขุนนางท้องถิ่นเรียกว่า การปฏิวัติของชาวบ้านลัทธิทงฮัก (Donghak Peasant Revolution) ชาวบ้านทงฮักเข้ายึดเมืองช็อนจูและมณฑลช็อลลาได้ทำให้พระมเหสีมย็องซองต้องทรงขอความช่วยเหลือจากหยวนซื่อไข่ในการยกทัพจีนเข้ามาปราบกบฎทงฮัก ฝ่ายญี่ปุ่นเมื่อเห็นว่าฝ่ายจีนละเมิดข้อตกลงเทียนจินจึงยกทัพเข้ามายึดอำนาจ นำไปสู่สงครามจีนญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (First Sino-Japanese War) ซึ่งเกิดขึ้นในคาบสมุทรเกาหลีเป็นหลัก ฝ่ายจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้นำไปสู่สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (Treaty of Shimonoseki) โชซ็อนสิ้นสุดการเป็นประเทศราชของจีนราชวงศ์ชิง ในค.ศ. 1895 กลุ่มทหารญี่ปุ่นนำโดยนายมิอูระ โกโร (ญี่ปุ่น: 三浦梧楼; โรมาจิ: Miura Gorō) ลอบสังหารพระมเหสีมย็องซ็องอย่างโหดเหี้ยมเรียกว่า เหตุการณ์ปีอึลมี (เกาหลี: 을미사변, 乙未事變) เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ญี่ปุ่นเข้ามามีอำนาจในโชซ็อนอย่างเบ็ดเสร็จ
ในช่วงค.ศ. 1894-96 การปฏิรูปปีคัปโอ (Gabo Reform เกาหลี: 갑오개혁, 甲午改革) โชซ็อนยกเลิกธรรมเนียมโบราณต่างๆ ยกเลิกระบบชนชั้นยังบันและทาส ริเริ่มการแต่งกายอย่างตะวันตก พระเจ้าโคจงทรงประกาศให้อาณาจักรโชซ็อนเลื่อนสถานะขึ้นเป็นจักรวรรดิเกาหลี (Korean Empire เกาหลี: 대한제국, 大韓帝國) ในปีค.ศ. 1897 พระจักรพรรดิโคจงทรงหันไปขอความช่วยเหลือจากรัสเซียในการคานอำนาจกับญี่ปุ่นนำไปสู่งสงครามรัสเซียญี่ปุ่น (Russo-Japanese War) รัสเซียพ่ายแพ้และไม่สามารถปกป้องเกาหลีจากอิทธิพลของญี่ปุ่นได้ ในค.ศ. 1907 พระจักรพรรดิโคจงทรงถูกญี่ปุ่นบังคับให้สละราชสมบัติให้แก่พระโอรสจักรพรรดิซุนจงซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โชซ็อน ในค.ศ. 1910 สนธิสัญญาผนวกเกาหลีของญี่ปุ่น (Japan-Korea Annexation Treaty) จักรวรรดิญี่ปุ่นผนวกเกาหลีให้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่นและยุติการปกครองราชาธิปไตยของเกาหลี ทำให้ราชวงศ์โชซ็อนซึ่งดำรงมาเป็นเวลาประมาณห้าร้อยปีสิ้นสุดลงแต่บัดนั้น
สังคมโชซ็อน
แก้ในยุคโชซ็อนสังคมเกาหลีมีการแบ่งชนชั้นที่เข้มงวดและได้รับการรับรองจากกฎหมาย เนื่องจากชาวเกาหลีมีคติเรื่องการสืบทอดทางสายเลือดมาแต่ยุคโบราณ แม้ว่าหลักของขงจื๊อสอนว่าบุคคลสามารถพัฒนาตนเองได้ แต่ในโชซ็อนการสืบทอดสถานะทางสาแหรกตระกูลยังคงมีความสำคัญ อาณาจักรโชซ็อนปกครองโดยราชาธิปไตยมีกษัตริย์แห่งโชซ็อนเป็นประมุขสูงสุด ภายใต้กษัตริย์คือชนชั้นขุนนาง สังคมโชซ็อนแบ่งออกเป็นชนชั้นต่างๆดังนี้
- ยังบัน (Yangban เกาหลี: 양반, 兩班) ชนชั้นขุนนาง คำว่ายังบันแปลว่าชนชั้นทั้งสองประกอบด้วยมุนบัน (เกาหลี: 문반, 文班) ชนชั้นปราชญ์หรือขุนนางฝ่ายบุ๋น และมูบัน (เกาหลี: 무반, 武班) ชนชั้นนักรบหรือขุนนางฝ่ายบู๊ ยังบันเป็นชนชั้นขุนนางซึ่งเป็นการสืบทอดมาจากชนชั้นขุนนางในยุคโครยอ เป็นชนชั้นผู้มีเอกสิทธิ์ในการปกครอง ตำแหน่งขุนนางของยังบันในราชสำนักไม่สืบทอดทางสายเลือด บุรุษยังบันเข้ารับราชการด้วยการสอบควากอ (เกาหลี: 과거, 科擧) หรือการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ ชนชั้นยังบันมีอภิสิทธิ์ในการศึกษาหลักของลัทธิขงจื๊อ ขุนนางยังบันผู้เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมเรียกว่าซ็อนบี (เกาหลี: 선비) ในทางปฏิบัติชนชั้นยังบันเป็นชนชั้นปิด บุตรชายของขุนนางยังบันเท่านั้นที่มีสิทธิ์สอบมุนกวา (เกาหลี: 문과, 文科) เข้ารับราชการในระดับสูง ราชสำนักมีการตรวจสอบพงศาวลีของขุนนางเพื่อยืนยันว่าขุนนางเหล่านั้นมีสายเลือดยังบันอย่างแท้จริง ราชสำนักโชซ็อนมีกฎหมายให้ขุนนางยังบันสมรสกับสตรีจากชนชั้นยังบันด้วยกันเป็นภรรยาเอกเท่านั้น บุตรของยังบันที่เกิดจากภรรยาเอกเท่านั้นที่สืบทอดสถานะความเป็นยังบันต่อไป ชนชั้นยังบันมีรายได้จากเบี้ยหวัดจากราชการและการครอบครองที่ดิน ได้รับอภิสิทธิ์ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี เมื่อขุนนางยังบันกระทำความผิดได้รับโทษอาจถูกลดสถานะจากความเป็นยังบันได้ หากครอบครัวยังบันไม่ส่งสมาชิกผู้ชายเข้ารับราชการเป็นเวลาสามรุ่นขึ้นไปจะสูญเสียสถานะความเป็นยังบัน
- ชุงอิน (เกาหลี: 중인, 中人) ชนชั้นกลางผู้ประกอบวิชาชีพที่อาศัยความเชี่ยวชาญได้แก่ ล่ามแปลภาษา นักกฎหมาย แพทย์ และนักดาราศาสตร์ ชนชั้นชุงอินไม่สามารถสอบมุน-กวาเพื่อรับราชการในระดับสูงได้ แต่สามารถสอบชับกวา (เกาหลี: 雜科) หรือการสอบศาสตร์ต่างๆตามสายวิชาชีพเพื่อเข้ารับราชการเป็นขุนนางระดับล่างได้ และสามารถสอบมูกวา (เกาหลี: 무과, 武科) หรือการสอบศิลปะป้องกันตัวเพื่อเข้ารับราชการฝ่ายทหารได้ ชนชั้นชุงอินสืบทอดความรู้วิทยาการภายในสายตระกูลครอบครัว
- ซังมิน (เกาหลี: 상민, 常民) สามัญชนทั่วไปซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอาณาจักร ประกอบด้วยชาวนาชาวไร่ กรรมกร ชาวประมง และพ่อค้า ชาวบ้านซังมินทำมาหากินภายในที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินของขุนนางยังบัน ชนชั้นซังมินต้องเสียภาษีให้แก่ราชสำนักโชซ็อนในรูปแบบต่างๆ และอาจถูกเกณฑ์ไปเป็นกองกำลังสู้รบได้ในยามสงคราม
- ช็อนมิน (เกาหลี: 천민, 賤民) ชนชั้นทาส ทางราชการจะเข้ามาควบคุมชนชั้นนี้เสมือนเป็นสิ่งของชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นสมบัติส่วนบุคคลสามารถซื้อขายกันได้ และทางราชการเองก็มีช็อนมินไว้เป็นสมบัติเป็นจำนวนมากเพื่อใช้งานในราชสำนัก ช็อนมินที่ไม่ได้มีเจ้าของก็จะประกอบอาชีพที่สังคมดูถูกเช่น คนฆ่าสัตว์ นักแสดงกายกรรม ผู้หญิงก็จะมีสามอาชีพ คือ มูดัง (ร่างทรง) คีแซ็ง (นางโลม) และอึยนยอ (แพทย์หญิง) แต่ควากอขุนนางฝ่ายบู๊ก็เปิดโอกาสให้ช็อนมินผู้ชายเข้าไปเป็นทหารเช่นกัน
การแบ่งชนชั้นทางสังคมโชซ็อนนั้นเข้มงวดมากในต้นสมัยโชซ็อน แต่หลังจากสงครามกับญี่ปุ่นและการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกแล้ว ชนชั้นล่างก็เริ่มที่จะลืมตาอ้าปากได้ขณะที่ชนชั้นบนก็ยากจนขัดสนลง สตรียังบันนั้นจะต้องเชื่อฟังสามี เก็บตัวอยู่แต่ในบ้านออกนอกบ้านได้นาน ๆ ครั้ง เมื่อออกนอกบ้านต้องปกปิดหน้าตา แต่สตรีในระดับชั้นล่างกลับมีอิสรภาพมากกว่า สามารถไปไหนมาไหนก็ได้
พระราชวังทั้งห้าและป้อมฮวาซ็อง
แก้ราชวงศ์โชซ็อนนั้นมีพระราชวังที่อยู่ในเมืองหลวงทั้งหมดห้าแห่ง คือ
- พระราชวังคย็องบก พระราชวังหลวงและพระราชวังหลักของกษัตริย์ราชวงศ์โชซ็อน
- พระราชวังชังด็อก พระราชวังตะวันออก
- พระราชวังท็อกซู พระราชวังตะวันตก
- พระราชวังชังกย็อง พระราชวังฤดูร้อน
- พระราชวังคย็องฮี พระราชวังใต้
- ป้อมฮวาซ็อง ป้อมที่ใหญ่ที่สุดในราชวงศ์โชซ็อน
รายพระนามกษัตริย์ จักรพรรดิ และผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์
แก้กษัตริย์แห่งราชวงศ์โชซ็อน
แก้พระนามเดิม | พระนามาภิไธย | ปีที่ครองราชย์ (พ.ศ.) |
---|---|---|
อี ซ็อง-กเย | แทโจ | 1935 - 1941 |
อี พัง-กวา | ช็องจง | 1941 - 1943 |
อี พัง-วอน | แทจง | 1943 - 1961 |
อี โท | เซจงมหาราช | 1961 - 1993 |
อี ฮยาง | มุนจง | 1993 - 1995 |
อี ฮง-วี | ทันจง | 1995 - 1998 |
อี ยู | เซโจ | 1998 - 2011 |
อี ควาง | เยจง | 2011 - 2012 |
อี ฮยอล | ซ็องจง | 2012 - 2037 |
อี ยุง | ย็อนซันกุน | 2037 - 2049 |
อี ยอก | ชุงจง | 2049 - 2087 |
อี โฮ | อินจง | 2087 - 2088 |
อี ฮวาน | มย็องจง | 2088 - 2110 |
อี ยอน | ซ็อนโจ | 2110 - 2151 |
อี ฮน | ควังแฮกุน | 2151 - 2166 |
อี จง | อินโจ | 2166 - 2192 |
อี โฮ | ฮโยจง | 2191 - 2202 |
อี ยอน | ฮย็องจง | 2202 - 2217 |
อี ซุน | ซุกจง | 2217 - 2263 |
อี ยุน | คย็องจง | 2263 - 2267 |
อี กึม | ย็องโจ | 2267 - 2319 |
อี ซาน | ช็องโจ | 2319 - 2343 |
อี คง | ซุนโจ | 2343 - 2377 |
อี ฮวาน | ฮ็อนจง | 2377 - 2392 |
อี พยอน | ช็อลจง | 2392 - 2406 |
อี มย็อง-บก | โคจง | 2406 - 2440 |
จักรพรรดิและผู้อ้างสิทธิแห่งราชบัลลังก์ราชวงศ์โชซ็อน
แก้หลังจากการสถาปนาเป็นจักรวรรดิโชซ็อนของสมเด็จพระเจ้าควังมู (พระเจ้าโคจง) ราชวงศ์โชซ็อนเดิมได้ถูกเปลี่ยนเป็นราชวงศ์อี[ต้องการอ้างอิง] จนกระทั่งถูกญี่ปุ่นยึดครองเมื่อปี ค.ศ.1910 และพ้นจากการปกครองของญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1945 นำไปสู่การปกครองเกาหลีที่แยกออกเป็น 2 รัฐเนื่องจากสงครามโชซ็อน แต่ก็ยังคงมีการสืบราชบัลลังก์อยู่จนถึงปัจจุบันในประเทศเกาหลีใต้ซึ่งปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ
พระนามาภิไธย | พระนามเมื่อครองราชย์ | พระนามหลังการสวรรคต | ปีที่ครองราชย์ (พ.ศ.) |
---|---|---|---|
อี มย็อง-บก | สมเด็จพระราชาโคจง | สมเด็จพระจักรพรรดิโคจง | 2440 - 2450 |
อี ชอก | สมเด็จพระราชาซุนจง | สมเด็จพระจักรพรรดิซุนจง | 2450 - 2453 |
อี อึน | เจ้าชายยอง มกุฎราชกุมารแห่งโชซ็อน | เจ้าชายอุยมิน มกุฎราชกุมารแห่งโชซ็อน | 2453 - 2513 |
อี กู | เจ้าชายกูแห่งโชซ็อน | เจ้าชายโฮอุนแห่งโชซ็อน | 2513 - 2548 |
อี วอน | เจ้าชายวอน รัชทายาทแห่งโชซ็อน | - | 2548 - ปัจจุบัน |
ฐานันดรศักดิ์ราชวงศ์โชซ็อน
แก้สมัยอาณาจักรโชซ็อน
แก้- วัง (王 왕), คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระเจ้าแผ่นดินแห่งโชซ็อน, ขานแทนพระนามว่า ชอนฮา (殿下 전하) หรือ"มามา" (媽媽 마마) ก่อนจะมีการเรียกแทนพระนามพระเจ้าแผ่นดินว่า "ชอนฮา" มีการใช้คำว่า "'นารันนิม"' (나랏님) และ "'อิมกึม"' (임금) ซึ่งเป็นภาษาพูด มีฐานันดรศักดิ์สำหรับอดีตพระเจ้าแผ่นดิน เรียกว่าซอนแดวัง (先大王 선대왕 ) ; แดวัง (大王 대왕) หรือมหาราช สำหรับพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงคุณงามความดีแก่แผ่นดิน ; คุกวัง (國王 국왕) ใช้ขานแทนพระนามราชทูตจากต่างแผ่นดิน
การกล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินในฐานะบุคคลที่สามสำหรับฝ่ายใน มักขานแทนพระนามว่า "กึมซาง" (今上 금상) - ฝ่าบาท, ขานแทนด้วยรัชสมัยของพระเจ้าแผ่นดินว่า (主上 주상 "จูซาง" หรือ 上監 상감 "ซางกัม"), หรืออาจขานแทนด้วยพระตำหนักที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นตำหนักใหญ่ของพระราชวังว่า "แดจอน" (大殿 대전-ตำหนักใหญ่)
- วังบี (王妃 왕비), คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระมเหสีแห่งโชซ็อน, ขานแทนพระนามว่า มามา (媽媽 마마) หรือ ชุงกุงจอน/ชุงจอน (中宮殿 중궁전 ชุงกุงจอน หรือ 中殿 중전 ชุงจอน) สำหรับฝ่ายใน ซึ่งหมายถึงพระตำหนักกลางของพระราชวังอันเป็นที่ประทับของพระมเหสี สำหรับพระมเหสีที่ยังคงพระชนม์ชีพอยู่ จะมีฐานันดรศักดิ์วังฮู (王后 왕후) ต่อท้ายพระนาม
- ซังวัง (上王 상왕), คือฐานันดรศักดิ์ที่สำหรับพระเจ้าหลวง, ขานแทนพระนามว่า ชอนฮา (殿下 전하 jeonha) หรือ มามา (媽媽 마마)
- แดบี (大妃 대비 แดบี), คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระมเหสีในอดีตพระราชา พระปิตุจฉาหรือพระบรมราชชนนีในพระราชาองค์ปัจจุบัน, ขานแทนพระนามว่า มามา
- วังแดบี (王大妃 왕대비 วังแดบี), คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระมเหสีในอดีตพระราชานับขึ้นไปอีก2ขั้นหรือพระอัยยิกา(ย่า)ในพระราชาองค์ปัจจุบัน, ขานแทนพระนามว่า มามา
- แทวังแดบี (大王大妃 대왕대비), คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระมเหสีในอดีตพระราชานับขึ้นไปอีก3ขั้น หรือพระปัยยิกา (ย่าทวด) ในพระราชาองค์ปัจจุบัน, ขานแทนพระนามว่า มามา
- แทวอนกุน (大阮君 대원군), คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระราชชนกในพระราชาองค์ปัจจุบัน ซึ่งไม่เคยขึ้นครองราชย์
- พูแดบูอิน (府大夫人 부대부인) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระชายาในพระราชชนก (ซึ่งไม่เคยขึ้นครองราชย์) ของพระเจ้าแผ่นดิน
- พูวอนกุน (府院君 부원군) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระบิดาในพระมเหสี
- พูบูอิน (府夫人 부부인) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระมารดาในพระมเหสี
- คุน (君 군) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระราชโอรสประสูติแต่พระสนม หรือพระโอรสในพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ (แดกุน), ขานแทนพระนามว่า อากีซี (아기씨) ก่อนทรงเข้าพิธีมงคลสมรส และ "แดกัม" (大監 대감) หลังเข้าพิธี
- คุนบูอิน (郡夫人 군부인) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระชายาใน"กุน"
- แทกุน (大君 대군) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระราชโอรส ประสูติแต่พระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหสี, ขานแทนพระนามว่า อากีซี (아기씨) ก่อนทรงเข้าพิธีมงคลสมรส และ "แดกัม" (大監 대감) หลังเข้าพิธี พระโอรสใน"แดกุน" จะมีฐานันดร"กุน"
- พูบูอิน (府夫人 부부인) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระชายาใน"แดกุน"
- วอนจา (元子 원자) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระราชโอรสองค์แรก ประสูติแต่พระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหสี (หรือประสูติแต่พระสนมในบางกรณี) ก่อนได้รับการเลื่อนพระอิสริยยศเป็นรัชทายาท, ขานแทนพระนามว่า มามา (媽媽 마마)
- วังเซจา (王世子 왕세자) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระรัชทายาท หรือเรียกฐานันดรอย่างลำลองว่า เซจา (世子 세자) , ขานแทนพระนามว่า จอฮา (邸下 저하) หรือขานแทนพระนามโดยลำลอง (ซึ่งเรียกพระนามโดยปรกติโดยฝ่ายใน) ว่า ตงกุง (東宮 동궁-ตำหนักบูรพา) หรือ ชุงกุง (春宮 춘궁) ซึ่งแปลว่าตำหนักทิศตะวันออกอันเป็นที่ประทับของพระรัชทายาท; สมาชิกราชวงศ์ที่มีพระอิสริยยศสูงกว่า มักขานฐานันดรอย่างลำลองและขานแทนพระนาม"มามา (媽媽 마마)
- วังเซจาบิน (王世子嬪 왕세자빈) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระชายาในพระรัชทายาท ("วังเซจา") หรือเรียกฐานันดรอย่างลำลองว่า เซจาบิน (世子嬪 세자빈) ขานแทนพระนามว่า มาโนรา หรือ "มานูรา" (마노라 manora หรือ 마누라 manura) ภายหลังจากที่ราชสำนักได้รับอิทธิพลจาก"ตระกูลคิมจากอันดง" ทำให้การขานแทนพระนามเกิดความสับสน และหันไปขานแทนพระนามวังเซจาบินว่า "มามา" (媽媽 마마)
- คงจู (公主 공주) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระราชธิดา ประสูติแต่พระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหสี, ขานแทนพระนามว่า อากีซี (아기씨) ก่อนทรงเข้าพิธีมงคลสมรส และ "จากา" (자가) หลังเข้าพิธี
- องจู (翁主 옹주) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระราชธิดา ประสูติแต่พระเจ้าแผ่นดินกับพระสนม, ขานแทนพระนามว่า อากีซี (아기씨) ก่อนทรงเข้าพิธีมงคลสมรส และ "จากา" (자가) หลังเข้าพิธี
- วังเซเจ (王世弟 왕세제) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระอนุชาในพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอนุชารัชทายาทในกรณีที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นไม่มีพระโอรส
- วังเซซน (王世孫 왕세손) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระโอรสประสูติแต่พระรัชทายาท ("วังเซจา") และพระชายาในพระรัชทายาท ("วังเซจาบิน") หรือพระนัดดาชายในพระเจ้าแผ่นดิน , ขานแทนพระนามว่า ฮัปอา (閤下 합하)
สมัยจักรวรรดิเกาหลี
แก้- ฮวางเจ (皇帝, 황제, สมเด็จพระจักรพรรดิ) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโชซ็อน, ขานแทนพระนามว่า พเย-ฮา (陛下 폐하) ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์แรกคือสมเด็จพระจักรพรรดิควังมู
- ฮวางฮู (皇后, 황후, สมเด็จพระจักรพรรดินี) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับสมเด็จพระจักรพรรดินี (พระมเหสี) แห่งจักรวรรดิโชซ็อน สมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์แรกคือสมเด็จพระจักรพรรดินีเมียงซอง
- ฮวางแทฮู (皇太后, 황태후, สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับสมเด็จพระจักรพรรดินี (พระมเหสี) ในสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ก่อนหน้า หรือพระบรมราชชนนีในสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน
- แทฮวางแทฮู (太皇太后, 태황태후, สมเด็จพระอัยยิกาเจ้า) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับสมเด็จพระจักรพรรดินี (พระมเหสี) ในสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ก่อนหน้านับขึ้นไป 2 ขั้น หรือพระอัยยิกา (ย่า) ในสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน
- ฮวางแทจา (皇太子, 황태자, มกุฎราชกุมาร) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระรัชทายาท ขานแทนพระนามว่า "ชอนฮา" (殿下 전하)
- ฮวางแทจาบี (皇太子妃, 황태자비, เจ้าหญิงมกุฎราชกุมารี พระวรชายา) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระวรชายาในพระรัชทายาท หรือมกุฎราชกุมาร
- ชินวัง (親王, 친왕, เจ้าฟ้าชาย) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับเจ้าชาย หรือพระราชโอรสประสูติแต่สมเด็จพระจักรพรรดิกับสมเด็จพระจักรพรรดินี
- ชินวังบี (親王妃, 친왕비, เจ้าหญิง พระชายา) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระชายาในเจ้าชาย หรือพระชายาในพระราชโอรสประสูติแต่สมเด็จพระจักรพรรดิกับสมเด็จพระจักรพรรดินี
- กงจู (公主, 공주, เจ้าหญิงชั้นเอก) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระราชธิดา ประสูติแต่สมเด็จพระจักรพรรดิกับสมเด็จพระจักรพรรดินี
- องจู (翁主, 옹주, เจ้าหญิงชั้นโท) คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระราชธิดา ประสูติแต่สมเด็จพระจักรพรรดิกับพระสนม
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งอ้างอิงและเชิงอรรถ
แก้- ↑ 1.0 1.1 아틀라스 한국사 편찬위원회 (2004). 아틀라스한국사. 사계절. p. 108. ISBN 8958280328.
- ↑ "조선력사 시대구분표". Naenara (ภาษาเกาหลี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-01. สืบค้นเมื่อ 1 July 2019.
- ↑ "Korean History in Chronological Order". Naenara. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-01. สืบค้นเมื่อ 1 July 2019.
- ↑ "Chosŏn dynasty | Korean history". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ). Encyclopædia Britannica, Inc. สืบค้นเมื่อ 10 February 2019.
- ↑ Women Our History. D.K. 2019. p. 82. ISBN 9780241395332.
- ↑ Li, Jun-gyu (이준규) (22 July 2009). (세상사는 이야기) 왜색에 물든 우리말-(10) (ภาษาเกาหลี). Newstown.
1392년부터 1910년까지 한반도전역을 통치하였던 조선(朝鮮)은 일반적으로 조선왕조(朝鮮王朝)라 칭하였으며, 어보(御寶), 국서(國書)등에도 대조선국(大朝鮮國)이라는 명칭을 사용하였었다. (translation) Joseon which had ruled from 1392 to 1910 was commonly referred to as the "Joseon dynasty" while "Great Joseon" was used in the royal seal, national documents, and others.
[ลิงก์เสีย] - ↑ "조선". 한국민족문화대백과.