คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 230/2566 เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นผลจากการสั่งการของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 นัดแรก เพื่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ภายในประเทศ ตามนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ของพรรคเพื่อไทย โดยมีเศรษฐาในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ, แพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธานกรรมการ และนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นกรรมการและเลขานุการ[1] โดยได้มีการประชุมนัดแรก หรือ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี[2] นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ในด้านต่าง ๆ นำเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่อีกด้วย โดยมีแพทองธารเป็นประธานกรรมการ

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง13 กันยายน พ.ศ. 2566; 2 เดือนก่อน (2566-09-13)
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน

วัตถุประสงค์ แก้

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ จัดตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล (1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์) บูรณาการการดำเนินงานของส่วนราชการและภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพและมีความสอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยไปสู่นานาประเทศ

อำนาจหน้าที่ แก้

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติมีอำนาจหน้าที่คือ

  1. กำหนดยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
  2. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางทางด้านการเงิน การคลัง การลงทุน รวมทั้งมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับหรือเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ
  3. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการจัดให้มี ปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ
  4. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ รวมทั้งมาตรการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ทั้งในและต่างประเทศ
  5. รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและพิจารณามีมติเกี่ยวกับการดำเนินการของหน่วยงานเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ

รายชื่อคณะกรรมการ แก้

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติมีกรรมการทั้งสิ้น 29 คนได้แก่

ลำดับที่ ชื่อ ตำแหน่งสำคัญ ตำแหน่งในคณะกรรมการ
1 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ
2 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย รองประธานกรรมการ
3 นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาและกรรมการ
4 ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรรมการ
5 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
6 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
7 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
8 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
9 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
10 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
11 นายกองเอก เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
12 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
13 นางสาวกมลนาถ องค์วรรณดี ผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution ประเทศไทย
14 นายจรัญ หอมเทียนทอง อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
15 หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ Viu บจก. พีซีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย)
16 นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บจก. สยามพิวรรธน์
17 นายชุมพล แจ้งไพร ทูตอาหารเพื่อความยั่งยืน องค์การสหประชาชาติ
18 นายดวงฤทธิ์ บุนนาค อดีตกรรมการสภาสถาปนิก
19 นายปรีชา สนั่นวัฒนานนท์ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ดเทรดเด็กซ์ จำกัด
20 ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน)
21 นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย
22 นายวิเชียร ฤกษ์ไพศาล อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
23 ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย
24 นายธนกฤติ สิทธิชัย เทพไพฑูรย์ กรรมการสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย
25 นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน)
26 นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี กรรมการและเลขานุการ
27 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
28 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
29 นายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ แก้

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ชื่อว่า คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ในด้านต่าง ๆ ให้มีความคืบหน้าแล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติให้พิจารณา

ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธาน นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรองประธาน นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ พร้อมด้วยกรรมการอีก 46 คน รวมเป็น 49 คน อาทิ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, อธิบดีกรมการปกครอง, อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน, ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย, และผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น โดยมีการประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เวลา 14:00 น. ที่ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ[3] และจะประชุมเป็นประจำทุก 1 เดือน

การดำเนินโครงการ แก้

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 มีมติเห็นชอบในหลักการที่หน่วยงานรับผิดชอบโครงการ กิจกรรม และอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยจำนวน 11 ด้านได้เสนอ โดยใช้งบประมาณ 5,164 ล้านบาท ดังนี้

ด้าน วงเงิน
เทศกาล 1009 ล้านบาท
ท่องเที่ยว 711 ล้านบาท
อาหาร 1000 ล้านบาท
ศิลปะ 380 ล้านบาท
ออกแบบ 310 ล้านบาท
มวยไทย 500 ล้านบาท
ดนตรี 144 ล้านบาท
หนังสือ 69 ล้านบาท
ภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ 545 ล้านบาท
แฟชั่น 268 ล้านบาท
เกมและอีสปอร์ต 374 ล้านบาท

โดยจะมีการทบทวนงบประมาณที่ใช้ร่วมกับสำนักงบประมาณภายในวันที่ 14 ธันวาคม ก่อนส่งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติพิจารณาอีกครั้งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567[4]

อ้างอิง แก้

  1. เปิด 29 ชื่อ กก.ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ ‘เชฟ-ผกก.ดัง-ดวงฤทธิ์’ ร่วมด้วย
  2. “เศรษฐา” สวมผ้าไทยประชุม Soft Power “อิ๊งค์” ตื่นเต้น เข้าทำเนียบในรอบ 17 ปี
  3. แผนรัฐเคลื่อน ซอฟต์พาวเวอร์ 4 ล้านล้าน เปิด ‘รีสกิล’ 20 ล้านครัวเรือนต้นปี 67
  4. "บอร์ดซอฟต์เพาเวอร์ เคาะ 5,164 ล้านบาท ขับเคลื่อน 11 อุตสาหกรรม". มติชน. 1 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)