สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (อังกฤษ: Creative Economy Agency (Public Organization)) หรือ สศส. เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย และปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจไทย ก่อตั้งมาแล้ว 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งแรกอยู่ภายใต้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่วนครั้งที่ 3 หรือรูปแบบปัจจุบัน เป็นรูปแบบองค์การมหาชน แยกออกมาจากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กำกับโดยคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
Creative Economy Agency (Public Organization) | |
ตราสัญลักษณ์ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) | |
ภาพรวมสำนักงาน | |
---|---|
ก่อตั้ง | 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561 |
สำนักงานก่อนหน้า |
|
หน่วยงานสืบทอด | |
ประเภท | องค์การมหาชน |
สำนักงานใหญ่ | 1160 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500 |
งบประมาณต่อปี | 556,656,000 บาท (พ.ศ. 2568)[1] |
ฝ่ายบริหารสำนักงาน |
|
ต้นสังกัดสำนักงาน | สำนักนายกรัฐมนตรี |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) |
ประวัติ
แก้สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ
แก้สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ (อังกฤษ: Thailand Creative Economic Agency) จัดตั้งขึ้นตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ พ.ศ. 2553 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2553 มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อคณะรัฐมนตรี[2] ต่อมาสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติถูกยุบเลิกเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 ภายหลังจากการจัดตั้ง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ. 2556[3]
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
แก้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์จัดตั้งขึ้นตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ. 2556 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 แทนที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ โดยมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ และแผนงานต่อคณะรัฐมนตรี[4] สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ถูกยุบเลิกเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ. 2556 พ.ศ. 2559[5]
องค์การมหาชน
แก้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก่อตั้งขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เป็นรูปแบบองค์การมหาชน ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2561 โดยแยกออกมาจาก ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ภายใต้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)[6]
ในอนาคต สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะแปรสภาพเป็นสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หลังจากพระราชบัญญัติส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์มีผลบังคับใช้ตามมาตรา 120 ในบทเฉพาะกาล[7]
วัตถุประสงค์
แก้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งดังต่อไปนี้
- ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์และปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจ
- ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมให้แก่ชุมชน สาธารณชน และสถาบันการศึกษา
- ส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่เอื้อต่อบรรยากาศสร้างสรรค์และการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ รวมทั้งพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น
- พัฒนาผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้เกิดการนำกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
- เป็นศูนย์กลางรวบรวมและพัฒนาข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย และเพื่อสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม
- ส่งเสริมและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ
หน้าที่และอำนาจ
แก้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
- ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ
- ก่อตั้งสิทธิหรือทำนิติกรรมทุกประเภท เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสำนักงาน
- ทำความตกลงและร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน
- จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงาน
- เข้าร่วมทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสำนักงาน
- กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน
- เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการกำหนด
- ดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสำนักงาน
- ปฏิบัติงานหรือดำเนินการอื่นใดตามที่คณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยังเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติโดยตำแหน่งอีกด้วย[8]
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๙, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
- ↑ "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ พ.ศ. 2553" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 8 กันยายน 2010. สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2024.
- ↑ "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ. 2556" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 29 มกราคม 2013. สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2024.
- ↑ "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ. 2556" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 29 มกราคม 2013. สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2024.
- ↑ "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ. 2556 พ.ศ. 2559" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 13 มกราคม 2016. สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2024.
- ↑ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๖๑
- ↑ "ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ พ.ศ. ..." (PDF). สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน). 26 มีนาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2024 – โดยทาง ระบบกลางทางกฎหมาย.
- ↑ เปิด 29 ชื่อ กก.ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ ‘เชฟ-ผกก.ดัง-ดวงฤทธิ์’ ร่วมด้วย