สุทธิพงษ์ จุลเจริญ
สุทธิพงษ์ จุลเจริญ เป็นข้าราชการชาวไทยเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด
สุทธิพงษ์ จุลเจริญ | |
---|---|
ปลัดกระทรวงมหาดไทย | |
ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 – 30 กันยายน พ.ศ. 2567 (2 ปี 365 วัน) | |
รัฐมนตรีว่าการ | อนุพงษ์ เผ่าจินดา อนุทิน ชาญวีรกูล |
ก่อนหน้า | ฉัตรชัย พรหมเลิศ |
ถัดไป | อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด[1] |
คู่สมรส | ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ |
บุตร | พัชริยา จุลเจริญ[2] |
ศิษย์เก่า | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | ไทย |
สังกัด | กองอาสารักษาดินแดน |
ประจำการ | พ.ศ. 2531 – พ.ศ. 2567 |
ยศ | นายกองเอก[3] |
บังคับบัญชา | กองอาสารักษาดินแดนจังหวัดนครนายก กองอาสารักษาดินแดนจังหวัดสระบุรี กองอาสารักษาดินแดนจังหวัดชัยนาท |
ประวัติ
แก้สุทธิพงษ์ จุลเจริญ เกิดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาการปกครอง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2530 ปริญญาโทรัฐศาสตรมหาบัณฑิต (การปกครอง) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2533 และปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาภาวะผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และเคยเข้ารับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยสยาม แต่ไม่ได้สำเร็จการศึกษา[4]
สุทธิพงษ์ ได้รับปริญญารัฐศาสตร์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย[5]
การทำงาน
แก้สุทธิพงษ์ เข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2531 ที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ได้เข้าอบรมหลักสูตรนายอำเภอ รุ่นที่ 48 ในปี พ.ศ. 2543 และเป็นปลัดอาวุโส (ระดับ 8) อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ในปี 2548 ต่อมาได้โอนย้ายมารับราชการในสังกัดสำนักงานรัฐมนตรี ในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี (เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 9) ในปี 2549
สุทธิพงษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดในปี 2551 ที่จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกในปีถัดมา และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ในปี 2553 ที่จังหวัดนครนายก จากนั้นถูกย้ายมาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ในปี 2555 และกลับมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ในปี 2556 ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ในปี 2557 เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยในปีถัดมา
สุทธิพงษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในปี 2560 และเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในปี 2562 จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ในปี 2564
วันที่ 10 ม.ค. 2566 เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ตรวจสอบจริยธรรม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมกับผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ตนได้แจ้งเรื่องของปลัดกระทรวงมหาดไทยให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบในวันเดียวกันนี้แล้วว่า ทางกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตามประมวลจริยธรรม ที่ได้กำหนดว่า หากเกิดกรณีลักษณะดังกล่าวต้องให้ คณะกรรมการจริยธรรมของกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว มีนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน กำลังดำเนินการตรวจสอบ หากผลสรุปออกมาว่าเข้าขั้นเป็นความผิดทางวินัย ก็ให้นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัย แค่ถ้าเข้าขั้นเป็นความผิดทางอาญา เช่น หมิ่นประมาท ก็ให้ส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางอาญาต่อไป
วันที่ 22 พ.ค. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในชั้นตรวจฟ้อง คดีที่ นายสงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และ ฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสยาม เป็นโจทก์ฟ้อง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(1) กรณีที่ปลัดสุทธิพงษ์ กล่าวด้อยค่าผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองและผู้อื่น ในการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อปลายปี 2565
ภายหลังฟังคำพิพากษา นายสงกาญ์ ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสยาม เปิดเผยว่า ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องในคดีที่ได้เป็นโจทก์ฟ้อง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีที่กล่าวด้อยค่าผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองและผู้อื่น โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้เสียหายคนแรกคือ ข้าราชการที่ถูกนายสุทธิพงษ์ กล่าวถึง และมหาวิทยาลัยสยาม ในส่วนตนที่เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสยาม ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ศาลจึงยกฟ้องหรือไม่รับฟ้องคดีไว้พิจารณา
นายสงกาญ์ ยืนยันจะขออุทธรณ์ต่อศาลสูงต่อไป เนื่องจากมองว่าศิษย์เก่าที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยล้วนได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวโดยตรง เช่น ทำให้ไม่ได้รับความเชื่อถือเมื่อสมัครงาน เนื่องจากผู้พูดได้กล่าวในฐานะที่เป็นข้าราชการระดับสูงทำให้หลายคนเชื่อถือคล้อยตาม สำหรับข้าราชการที่ถูกด้อยค่า ซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยตรงนั้น เชื่อว่าจะไม่ดำเนินการฟ้องร้อง เนื่องจากเป็นข้าราชการในระบบ และผู้บังคับบัญชาสามารถให้คุณหรือโทษได้
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2563 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[6]
- พ.ศ. 2557 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[7]
- พ.ศ. 2566 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 2 (ส.ช.)[8]
- พ.ศ. 2556 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[9]
- พ.ศ. 2555 – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1[10]
- พ.ศ. 2559 – เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 (เหรียญทอง)
อ้างอิง
แก้- ↑ เปิดประวัติ สุทธิพงษ์ 'ปลัดมหาดไทยหมื่นล้าน'
- ↑ [1]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดน, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๕ ข หน้า ๑๒, ๔ มิถุนายน ๒๕๕๓
- ↑ เปิด 4 ข้อ ปลัด มท. "สุทธิพงษ์ จุลเจริญ" แจงยิบต่อที่ประชุม อธิการบดีฯ
- ↑ เปิดประวัติ "สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย" ดีกรีไม่ธรรมดา
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๓, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๔๐, ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๗, เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๑๕, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๑๔๐ ตอนที่ ๓๗ ข หน้า ๙๙, ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา ประจำปี ๒๕๕๖, เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๑๑ ข หน้า ๗๔, ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๕๓, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๑๗, ๕ มิถุนายน ๒๕๕๕