ช่อง 3 เอชดี

สถานีโทรทัศน์แห่งที่ 4 ของประเทศไทย

ช่อง 3 เอชดี (อังกฤษ: Channel 3 HD; ชื่อเดิม: สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3) เป็นสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial Television) แห่งที่ 4 ของประเทศไทย ปัจจุบันดำเนินกิจการโดย บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ในเครือบริษัทกลุ่มบีอีซีเวิลด์ เริ่มแพร่ภาพเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2513 เวลา 10:00 น. ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในระบบแอนะล็อก (โดย บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ภายใต้สัญญาสัมปทานในกิจการส่งโทรทัศน์กับ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (ต่อมาคือ อ.ส.ม.ท. และ บมจ.อสมท ตามลำดับ) เป็นระยะเวลา 50 ปี) หลังจากนั้นได้เริ่มออกอากาศคู่ขนานทางช่องหมายเลข 33 ในระบบดิจิทัลภาคพื้นดินตั้งแต่เวลา 20:15 น. ของวันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557 และยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 00:01 น. มีคำขวัญประจำสถานีฯ ว่า คุ้มค่าทุกนาที ดูทีวีสีช่อง 3

ช่อง 3 HD
ตราสัญลักษณ์ที่เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563
ชื่ออื่นสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
ประเทศไทย
พื้นที่แพร่ภาพไทย
กัมพูชา
ลาว
มาเลเซีย
พม่า
สิงคโปร์
เวียดนาม
เครือข่ายช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล
ประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ
คำขวัญคุ้มค่าทุกนาที ดูทีวีสีช่อง 3 (คำขวัญหลัก)
#ดูทีวีกด33 #ดูมือถือกด3Plus
(คำขวัญประชาสัมพันธ์)
สำนักงานใหญ่เลขที่ 3199 อาคารมาลีนนท์ ทาวเวอร์ ถนนพระราม 4 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
แบบรายการ
ระบบภาพ1080i (16:9 ภาพคมชัดสูง)
1080p (ออนไลน์)
ความเป็นเจ้าของ
เจ้าของ
บริษัทแม่บีอีซีเวิลด์
บุคลากรหลักตำแหน่งว่าง
ประวัติ
เริ่มออกอากาศ
  • ระบบแอนะล็อก:
    26 มีนาคม พ.ศ. 2513
  • ระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน:
    10 ตุลาคม พ.ศ. 2557 (9 ปี)
  • ระบบดาวเทียมเคเบิลทีวีและดิจิทัล:
    2 ธันวาคม พ.ศ. 2558 (8 ปี)
ยุติออกอากาศ
  • ระบบแอนะล็อก:
    26 มีนาคม พ.ศ. 2563 (50 ปี 0 วัน)
ลิงก์
เว็บไซต์www.ch3plus.com
ออกอากาศ
ภาคพื้นดิน
ดิจิทัลช่อง 33 (มักซ์#4: ไทยพีบีเอส)
เคเบิลทีวี
ทั่วไปช่อง 33
ทรูวิชันส์ช่อง 33
ทีวีดาวเทียม
ไทยคม 6 C-Band4008 H 15000
ไทยคม 8 KU-Band11680 H 30000
ทั่วไปช่อง 33
ทรูวิชันส์ช่อง 33
กู๊ด ทีวีช่อง 33
สื่อสตรีมมิง
Ch3Thailandชมรายการสด

ประวัติ

สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เกิดขึ้นจาก บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (อังกฤษ: Bangkok Entertainment Company Limited; ชื่อย่อ: บีอีซี; BEC ปัจจุบันเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มบีอีซีเวิลด์) ซึ่งวิชัย มาลีนนท์ ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัท เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 ลงนามในสัญญาดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์ ร่วมกับบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2511 โดยมีอายุสัญญา 10 ปี ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2513 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2523

โดยตามสัญญา กำหนดให้มีที่ดิน 6 ไร่ขึ้นไป สำหรับก่อสร้างเป็นสถานีส่งออกอากาศ พร้อมทั้งสิ่งก่อสร้างและอุปกรณ์การส่งโทรทัศน์ทั้งหมด รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท โดยจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ บจก.ไทยโทรทัศน์ทันทีเมื่อเริ่มส่งออกอากาศ แต่เมื่อลงทุนจริง บีอีซีใช้ทุนไปทั้งสิ้น 54.25 ล้านบาท สูงกว่าในสัญญาถึง 29.25 ล้านบาท และระหว่างร่วมดำเนินกิจการตามสัญญาในระยะเวลา 10 ปีนั้น บีอีซีต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่ บจก.ไทยโทรทัศน์เป็นเงิน 44 ล้านบาท และเงินสวัสดิการแก่พนักงาน บจก.ไทยโทรทัศน์อีกปีละ 1 ล้านบาท รวมเป็น 10 ล้านบาท รวมเงินจ่ายทั้งหมด 54 ล้านบาท

อนึ่ง บีอีซีได้รับอนุมัติให้ขยายอายุสัญญาดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์กับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ซึ่งแปรรูปจาก บจก.ไทยโทรทัศน์ เมื่อปี พ.ศ. 2520 มาแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2521 ขยายออกไปอีก 10 ปี ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2523 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2533 และในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 ขยายออกไปอีก 30 ปี ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2533 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2563[1][2]

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2513 ช่อง 3 เริ่มทดลองแพร่ภาพออกอากาศโดยใช้กำลังส่งเต็มระบบคือ 50 กิโลวัตต์ ด้วยเครื่องส่งขนานเป็นครั้งแรกระหว่างเวลา 19.00 - 21.00 น. จากนั้นในวันที่ 15 เดือนและปีเดียวกัน ก็เริ่มทดลองแพร่ภาพแบบเสมือนจริงระหว่างเวลา 09.30 - 00.00 น. และเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2513 ตามเวลาฤกษ์คือ 10.00 น. โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดสถานีฯ[3][4]

อนึ่ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2540 ช่อง 3 ได้เริ่มออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมงเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศไทย แล้วกลับมาเปิดสถานีฯ เวลา 05.00 น. และปิดสถานีฯ เวลา 02.00 น. อีกครั้ง ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 จึงกลับมาออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมงอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

อาคารที่ทำการ

 
อาคารมาลีนนท์ ทาวเวอร์

เมื่อราวต้นปี พ.ศ. 2512 มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารที่ทำการสถานีฯ บนที่ดินขนาด 6 ไร่เศษ บริเวณกิโลเมตรที่ 19 ถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร โดยอาคารดังกล่าวมีความสูง 4 ชั้น ภายในเป็นห้องส่งโทรทัศน์ ขนาด 600 ตารางเมตร 2 ห้อง, ขนาด 424 ตารางเมตร 2 ห้อง และขนาด 110 ตารางเมตรอีก 1 ห้อง โดยแต่ละห้องส่งจะมีห้องควบคุมเฉพาะ และยังติดตั้งจอขนาดใหญ่ มีความกว้าง 47 เมตร ความสูง 7.5 เมตร สำหรับแสดงภาพด้วยระบบไซโครามา ใช้ในการประดิษฐ์ภาพฉากท้องฟ้า ที่ช่วยให้เกิดเป็นภาพชัดลึก รวมถึงสามารถเปลี่ยนสีของฉากอย่างเสมือนจริง และเปลี่ยนความเข้มของแสงได้อย่างรวดเร็วและนุ่มนวล

ต่อมา บีอีซี ดำเนินการแยกส่วนของสำนักงาน ไปยังอาคารเลขที่ 2259 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และจัดสร้างห้องส่งโทรทัศน์บนชั้น 8 อาคารโรบินสัน ถนนราชดำริ จากนั้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2529 จึงนำส่วนงานที่กระจายอยู่ 3 แห่ง มารวมศูนย์อยู่ที่อาคารวานิช 1 และ 2 บริเวณแยกวิทยุ-เพชรบุรี (ถนนวิทยุตัดกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่) เพื่อเพิ่มความสะดวกให้การดำเนินงานคล่องตัวมากขึ้น และในราวปี พ.ศ. 2542 สถานีฯ ย้ายอาคารที่ทำการทั้งหมด ขึ้นไปยังอาคารเอ็มโพเรียม ถนนสุขุมวิท[4]

ในปัจจุบัน (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548) สถานีได้ย้ายมายังกลุ่มอาคารที่ทำการปัจจุบันซึ่งกลุ่มบีอีซีเวิลด์เป็นเจ้าของด้วยตนเอง คือ อาคารมาลีนนท์ (แต่เดิมเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน) เลขที่ 3199 ถนนพระรามที่ 4 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยอาคารเอ็ม 1 เป็นสำนักงาน และอาคารเอ็ม 2 เป็นส่วนปฏิบัติการออกอากาศ[3]

การจัดรูปองค์กร

ช่อง 3 มีรูปแบบการบริหารองค์กร โดยแบ่งหน่วยงานย่อยออกเป็น 18 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร, ฝ่ายผลิตรายการ, ฝ่ายข่าว, ฝ่ายรายการ, ฝ่ายออกอากาศ, ฝ่ายศิลปกรรม, ฝ่ายวิศวกรรม, ฝ่ายเทคนิคโทรทัศน์, ฝ่ายแผนงานวิศวกรรม, ฝ่ายไฟฟ้ากำลัง, ฝ่ายสถานีวิทยุกระจายเสียง (FM 105.5 MHz), ฝ่ายธุรการ, ฝ่ายบุคคล, ฝ่ายบัญชี, ฝ่ายการเงิน, ฝ่ายโฆษณา, ฝ่ายการตลาด และฝ่ายประชาสัมพันธ์

คำขวัญประจำสถานี

เมื่อปี พ.ศ. 2524 ช่อง 3 โดยอนุมัติของ นายวิชัย มาลีนนท์ และผู้บริหารสถานีฯ ได้จัดกิจกรรมให้ผู้ชมร่วมเสนอคำขวัญประจำสถานีฯ ทว่าไม่มีคำขวัญใดที่ได้รับการคัดเลือก ทั้งนี้ ในอีกสามปีต่อมา วิชัย พร้อมด้วยผู้บริหารของช่อง 3 นำคำขวัญ ซึ่งได้มาจากการเสนอของผู้ชมในครั้งแรก มารวมเข้ากับแนวคิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ของสถานีฯ จนกระทั่งได้คำขวัญว่า คุ้มค่าทุกนาที ดูทีวีสีช่อง 3 โดยนำมาเผยแพร่ออกอากาศครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2527 เนื่องในโอกาสที่ช่อง 3 มีอายุครบ 14 ปี ในวันที่ 26 มีนาคม ปีเดียวกัน

นิตยสารรายการโทรทัศน์

ช่อง 3 ได้ริเริ่มจัดทำนิตยสารรายการโทรทัศน์ เพื่อแจกฟรีแก่ผู้สนใจ ออกเป็นฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2514 นับเป็นสถานีฯ แรก ที่จัดทำนิตยสารในลักษณะนี้ แต่สามารถดำเนินการได้เพียงประมาณสองปีก็หยุดไป แต่ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2518 สถานีฯ จึงฟื้นการจัดทำนิตยสารขึ้นใหม่อีกครั้ง นอกจากนั้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2520 ได้ออกเป็นฉบับภาษาอังกฤษ[4] และต่อมามีการออกเป็นฉบับภาษาจีนอีกด้วย แต่ในปี พ.ศ. 2539 ยุติการจัดพิมพ์ลงแล้วในทุกภาษา และปัจจุบัน สถานีฯ จึงฟื้นการจัดทำนิตยสารขึ้นใหม่อีกครั้ง

เทคโนโลยีในการออกอากาศ

การออกอากาศในระบบแอนะล็อก

 
โลโก้ช่อง 3 แอนะล็อก (26 มี.ค. 2513 - 25 มี.ค. 2563)

สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 (ชื่อสากล: HS-TV 3[5]) เป็นสถานีโทรทัศน์เพียงแห่งเดียวในไทยที่ออกอากาศในระบบวีเอชเอฟย่านความถี่ต่ำทางช่อง 3 โดยเริ่มแรกใช้เครื่องส่งโทรทัศน์สี 25 กิโลวัตต์ 2 เครื่องขนานกัน รวม 50 กิโลวัตต์ ทวีกำลังสูงสุด 13 เท่า กำลังส่งปลายเสาที่ 650 กิโลวัตต์ เครื่องส่งสูง 250 เมตร ความถี่คลื่นอยู่ระหว่าง 54-61 MHz ใช้ระบบ CCIR PAL 625 เส้นเป็นแห่งแรกของไทย ให้บริการในกรุงเทพมหานคร, ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียงรวม 18 จังหวัด[3][4] เป็นสถานีโทรทัศน์สีแห่งที่ 2 ของไทย ต่อจากสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7

นอกจากนี้ ภายในอาคารที่ทำการของช่อง 3 ยังมีเครื่องส่งวิทยุเอฟเอ็ม 105.5 MHz ที่ช่อง 3 ได้รับสัมปทานมาพร้อมกับช่องโทรทัศน์ตามสัญญากับ บจก.ไทยโทรทัศน์ อีกช่องทางหนึ่งด้วย ซึ่งในระยะแรกใช้ส่งกระจายเสียงภาษาต่างประเทศในฟิล์มขณะออกอากาศภาพยนตร์ต่างประเทศทางโทรทัศน์ซึ่งออกเสียงบรรยายเป็นภาษาไทย ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีแบ่งช่องเสียงสามารถใช้กับโทรทัศน์ทั่วไปได้แล้ว จึงเปลี่ยนไปดำเนินรายการดนตรีสากล โดยใช้ชื่อว่า Eazy FM 105.5 จนถึงปัจจุบัน (โดยในปัจจุบัน สถานีวิทยุดังกล่าวถูกโอนไปอยู่ในความดูแลของบริษัท เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) โดยสัมปทานคลื่นวิทยุที่ทำร่วมกับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563 แต่ทางสำนักงาน กสทช. ได้อนุมัติให้ใช้คลื่นดังกล่าวประกอบกิจการไปก่อน ซึ่ง บมจ.อสมท ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมจัดรายการกับเทโรฯ เพื่อให้การออกอากาศเป็นไปอย่างต่อเนื่องต่อไป)[6]

ต่อมาในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 ได้ขยายเครือข่ายโทรทัศน์ทั่วประเทศร่วมกับ อ.ส.ม.ท. เพื่อจัดตั้งสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์พร้อมอุปกรณ์ออกอากาศร่วมกันระหว่างช่อง 3 และช่อง 9 อ.ส.ม.ท. จำนวน 31 แห่งในระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2531 - กรกฎาคม พ.ศ. 2534 เป็นผลให้ทั้ง 2 ช่องครอบคลุมการออกอากาศถึง 89.7% ของประเทศไทย คิดเป็นศักยภาพในการให้บริการถึง 96.3% ของจำนวนประชากร[3][4] โดยรับสัญญาณจากสถานีส่งหลักในกรุงเทพมหานครผ่านดาวเทียมอินเทลแซท และเครื่องรับไมโครเวฟจากดาวเทียมสื่อสาร

แต่เนื่องจากช่อง 3 ออกอากาศด้วยระบบวีเอชเอฟย่านความถี่ต่ำ ถูกรบกวนได้ง่าย ภาครับซับซ้อน ความยาวคลื่นสูง ต้องใช้สายอากาศรับสัญญาณที่ยาวและหนักกว่าย่านความถี่สูง นอกจากนี้ เมื่อกรุงเทพมหานครมีอาคารสูงมากขึ้น จำนวนประชากรและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพิ่มขึ้น คุณภาพสัญญาณของช่อง 3 จึงลดลงมากเมื่อเทียบกับระยะเริ่มแรก ดังนั้นราวปลายปี พ.ศ. 2546 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ในขณะนั้น จึงอนุมัติให้จัดสรรคลื่นความถี่ในระบบยูเอชเอฟแก่ช่อง 3 เพื่อใช้ออกอากาศแทนคลื่นเดิม 5 ช่องสัญญาณ[3][4]

สำหรับสถานีส่งหลักในกรุงเทพมหานคร บีอีซีร่วมกับ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย) ลงนามในสัญญาร่วมใช้เสาส่งและสายอากาศบนอาคารใบหยก 2 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 และเริ่มออกอากาศในระบบยูเอชเอฟช่อง 32 ตั้งแต่เวลา 09.39 น. ของวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2548 ใน 18 จังหวัดเดิม โดยยังคงออกอากาศระบบวีเอชเอฟย่านความถี่ต่ำทางช่อง 3 คู่ขนานไปเพื่อทอดเวลาให้ผู้ชมเปลี่ยนแปลงระบบ จนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 จึงยุติการออกอากาศระบบวีเอชเอฟจากสถานีส่งหลัก และออกอากาศด้วยระบบยูเอชเอฟเพียงระบบเดียว[3][4] นอกจากนี้มีสถานีเครือข่ายโทรทัศน์ส่วนภูมิภาคที่ กกช. อนุมัติคลื่นยูเอชเอฟให้ช่อง 3 อีก 4 แห่ง เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2548[7]

จากนั้นช่อง 3 ดำเนินการทยอยเปลี่ยนเครื่องส่งใหม่ เป็นของบริษัท โรห์เดแอนด์ชวาร์ซ จำกัด จากประเทศเยอรมนี ในสถานีส่งทั่วประเทศ ซึ่งรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลในอนาคต จำนวน 5 แห่งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2550, 7 แห่งในปี พ.ศ. 2551[7], 6 แห่งในปี พ.ศ. 2552 และ 2 แห่งในปี พ.ศ. 2555 นอกจากนี้ ยังทยอยปรับปรุงระบบสายอากาศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ในสถานีส่ง 5 แห่ง ดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2553 สำหรับส่วนกลางที่กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งสถานีส่งยูเอชเอฟหน่วยย่อยเพิ่มเติมเพื่อออกอากาศทางช่อง 60 เพื่อขจัดปัญหาในการรับสัญญาณอีก 3 แห่ง และจัดตั้งสถานีส่งยูเอชเอฟสำรองบนดาดฟ้าของอาคารมาลีนนท์อีกด้วย

ต่อมาช่วงกลางปี พ.ศ. 2556 ช่อง 3 เปลี่ยนระบบควบคุมการออกอากาศเป็นดิจิทัล และตั้งแต่เวลา 10.10 น. วันที่ 17 ตุลาคมปีเดียวกัน ช่อง 3 เปลี่ยนระบบการออกอากาศเป็นดิจิทัล รวมถึงตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 ทุกรายการที่ออกอากาศในทั้ง 3 ช่องระบบดิจิทัลของช่อง 3 ถ่ายทำด้วยระบบดิจิทัลความละเอียดสูง พร้อมทั้งปรับสัดส่วนภาพที่ออกอากาศจากเดิมคือ 4:3 (Letter Box) เป็น 16:9 (Widescreen) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็เริ่มใช้กับช่อง 3 แอนะล็อกด้วยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนปีเดียวกัน

เมื่อวันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 บีอีซีได้สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ทำให้ช่อง 3 ยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกทั่วประเทศ เมื่อเวลา 00.01 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 รวมระยะเวลาในการออกอากาศระบบแอนะล็อกทั้งสิ้น 50 ปี[a] และเนื่องจากเป็นสถานีโทรทัศน์ของไทยช่องสุดท้ายที่ยุติการออกอากาศในระบบนี้ จึงถือเป็นการยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อกในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์แบบ

การออกอากาศในระบบดิจิทัล

 
โลโก้ช่อง 3 ในระบบดิจิทัล (1 เม.ย. 2557 - 25 มี.ค. 2563)
 
โลโก้ช่อง 3 เอชดีรูปแบบแรก (25 เม.ย. 2557 - 25 มี.ค. 2563)

เมื่อวันที่ 26 - 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556 กลุ่มบีอีซีเวิลด์ บริษัทแม่ของช่อง 3 มอบหมายให้บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด บริษัทลูกอีกแห่งหนึ่งเข้าประมูลช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติจำนวน 3 ประเภท แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการเข้าประมูลในประเภทรายการทั่วไปความละเอียดสูง โดยในประเภทนี้ให้ราคาเป็นอันดับที่ 1 และเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557 กสทช.ประกาศหมายเลขช่องที่แต่ละบริษัทซึ่งผ่านการประมูลเลือกไว้ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม โดยช่องรายการทั่วไปความละเอียดสูงในส่วนของบีอีซี-มัลติมีเดีย ได้หมายเลข 33

และเมื่อ กสทช. อนุญาตให้แต่ละบริษัทที่จะรับใบอนุญาตดำเนินการทดสอบสัญญาณระหว่างวันที่ 1 - 24 เมษายนปีเดียวกัน บีอีซี-มัลติมีเดีย ได้ทดลองออกอากาศรายการทั้งหมดจากช่อง 3 แอนะล็อกคู่ขนานไปทั้ง 3 ช่อง และตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557 ซึ่ง กสทช. ออกใบอนุญาต บีอีซี-มัลติมีเดีย ก็เริ่มออกอากาศรายการต่าง ๆ ตามผังของแต่ละช่องทั้ง 3 และเนื่องจากผู้รับสัมปทานช่อง 3 แอนะล็อก คือ บีอีซี เป็นคนละนิติบุคคลกับผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล คือ บีอีซี-มัลติมีเดีย จึงไม่สามารถนำรายการทั้งหมดจากช่องทีวีแอนะล็อกเดิมเพื่อมาออกอากาศคู่ขนานทางทีวีดิจิทัลดังที่ดำเนินการมาในระยะทดสอบสัญญาณได้

จากกรณีดังกล่าว ผู้ชมที่เป็นสมาชิกเว็บบอร์ด พันทิป.คอม โต๊ะเฉลิมไทยจำนวนหนึ่ง วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยอ้างว่าผู้บริหารช่อง 3 นำรายการที่เคยออกอากาศทางช่อง 3 มาลงในผังทีวีดิจิทัลโดยไม่ทำรายการใหม่ รวมทั้งกล่าวหาว่าออกอากาศไม่ครบ 24 ชั่วโมง กสทช. จึงเสนอให้ช่อง 3 โอนถ่ายบัญชีรายได้ของรายการต่าง ๆ ทางช่องทีวีแอนะล็อกไปยังช่องทีวีดิจิทัล แต่ช่อง 3 ปฏิเสธด้วยยืนยันความเป็นคนละนิติบุคคล และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ผู้ให้บริการโครงข่ายของช่อง 3 ดิจิทัล ยังได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเป็นผู้เสียหายร่วม เนื่องจากหากศาลปกครองคุ้มครองช่อง 3 ไทยพีบีเอสจะต้องออกอากาศทีวีแอนะล็อกยาวนานขึ้น ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายและต้นทุนมากขึ้นในการออกอากาศคู่ขนาน และทำให้การเปลี่ยนผ่านล่าช้าลง[8]

ต่อมาในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557 กสทช. ลงมติเพิกถอนทีวีแอนะล็อกจากส่วนให้บริการทั่วไป จึงต้องยุติการออกอากาศทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลตามที่กฎหมายกำหนด ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน เป็นต้นไป[9] แต่กลุ่มช่อง 3 อาศัยความในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 27/2557 ประกอบกับความในสัญญาสัมปทานทีวีแอนะล็อกกับ บมจ.อสมท จนถึงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 เพื่อรักษาสิทธิ์ในการออกอากาศตามเดิม[10] วันต่อมา (3 กันยายน) กสทช. ทำหนังสือถึงผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีให้งดการออกอากาศช่อง 3 แอนะล็อกภายใน 15 วัน แต่ได้เสนอความช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อให้ช่อง 3 นำสัญญาณของช่อง 3 แอนะล็อก มาออกอากาศคู่ขนานทางทีวีดิจิทัลช่อง 33[11] ต่อมาช่อง 3 นำความขึ้นร้องต่อศาลปกครอง โดยชั้นต้นวินิจฉัยให้ กสทช. กับผู้บริหารของช่อง 3 เจรจากัน แต่ไม่ได้ข้อยุติ ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557 ศาลปกครองสูงสุดจึงเข้าไกล่เกลี่ย โดยทำข้อตกลงให้บีอีซี-มัลติมีเดีย นำสัญญาณภาพและเสียงทั้งหมดของช่อง 3 แอนะล็อก ไปออกอากาศคู่ขนานในทีวีดิจิทัลความละเอียดสูงช่อง 33 ของตนภายในวันที่ 11 ตุลาคม เวลา 12:00 น.[12] แต่เนื่องจาก กสทช. มีนโยบายลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิทัลในอัตรา 4% แก่ผู้ประกอบการฟรีทีวีที่นำทีวีแอนะล็อกมาออกอากาศคู่ขนานทีวีดิจิทัลได้ภายในวันที่ 10 ตุลาคม[13] ช่อง 3 จึงขยับกำหนดการเริ่มออกอากาศคู่ขนานมาเร็วขึ้นเป็นวันที่ 10 ตุลาคม เวลา 20:15 น.[14] ส่วนรายการที่เคยออกอากาศทางช่อง 33 เดิม บีอีซี-มัลติมีเดีย ได้ถอนออกและจัดแบ่งมาออกอากาศใหม่ทางช่อง 13 และช่อง 28 แทน

ต่อมาในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 กสทช. ได้มีมติให้ยุติการออกอากาศในทีวีแอนะล็อกอย่างเป็นทางการ หลังจากที่สถานีโทรทัศน์แอนะล็อกเดิมได้ยุติการออกอากาศในระบบเดิมไปแล้วก่อนหน้า โดยให้ถือว่ายุติการออกอากาศในวันที่ 16 กรกฎาคม และมีมติให้ช่อง 3 แอนะล็อกยกเลิกการออกอากาศคู่ขนานทางทีวีดิจิทัลช่อง 33 โดยให้แยกผังรายการออกจากกันอย่างชัดเจน[15] แต่ช่อง 3 ได้ยื่นคัดค้านมติ เนื่องจากยังไม่สามารถยุติการออกอากาศทีวีแอนะล็อกได้ เพราะบีอีซียังไม่หมดสัญญาสัมปทานกับ บมจ.อสมท ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี และจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัดอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงทำให้ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานได้ และยังขัดกับข้อตกลงที่บีอีซีทำกับ กสทช. ที่ศาลปกครองในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ช่อง 3 รับมติของ กสทช. 3 เรื่อง คือ ช่อง 3 เอชดี ต้องแสดงถึงการบริหารผังรายการด้วยตัวเอง แยกรูปแบบในการหารายได้ของช่องออกเป็นเอกเทศ และแยกตราสัญลักษณ์ของสถานีออกจากกัน[16] โดยช่อง 3 แสดงสัญลักษณ์ของระบบแอนะล็อกไว้ที่มุมล่างขวา ในขณะที่ระบบดิจิทัลยังคงยึดตำแหน่งมุมบนขวาตามเดิม[17]

(ทั้งนี้ ตั้งแต่เที่ยงคืนวันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 สถานีฯ ได้อัญเชิญตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 มาประดับไว้ที่มุมบนซ้าย ส่งผลให้ต้องแสดงตราสัญลักษณ์ระบบดิจิทัลไว้ที่มุมล่างขวา โดยวางไว้ด้านซ้ายมือติดกับสัญลักษณ์ระบบแอนะล็อกที่แสดงที่มุมล่างขวาเช่นเดิม แต่ในวันที่ 27 พฤษภาคม ได้งดขึ้นตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกทางด้านมุมบนซ้ายในช่วงรายการสด ยกเว้นวันที่ 3 มิถุนายน ไปจนถึงวันที่ 17 มิถุนายน และแสดงไปจนสิ้นสุดห้วงการจัดงานพระราชพิธีในวันที่ 31 กรกฎาคม ปีเดียวกัน)

หลังจากช่อง 3 ได้ทำการยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อกโดยสมบูรณ์เมื่อเวลา 00:01 น. ของวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรียบร้อยแล้ว บีอีซี-มัลติมีเดีย ก็ได้รับโอนกรรมสิทธิ์การบริหารจัดการเนื้อหาของช่อง 3 แอนะล็อกจากบีอีซีมาบริหารจัดการเองอย่างเต็มรูปแบบทั้งหมด โดยช่อง 3 เอชดี ได้นำสัญลักษณ์ของระบบทีวีดิจิทัลเดิม (โลโก้ปลาคาร์ฟ) ออก พร้อมทั้งย้ายสัญลักษณ์ของช่อง 3 แอนะล็อกเดิมกลับไปไว้ที่มุมบนขวาแทน ปัดเงาเพิ่มเป็น 3 มิติ แล้วเติมตัวอักษร HD สีเทาต่อท้าย เป็นสัญลักษณ์ใหม่ของช่อง 3 เอชดี ในระบบทีวีดิจิทัลจนถึงปัจจุบัน[18][19]

 
โลโก้ช่อง 3 เอชดีในรายการสด (26 มี.ค. 2563 - ปัจจุบัน)

ทั้งนี้ ในรายการสด ตัวอักษร HD จะถูกดันขึ้นมาอยู่กึ่งกลางของสัญลักษณ์ช่อง 3 และจะมีแถบสีฟ้า-น้ำเงิน โผล่ออกมาจากด้านใต้ของสัญลักษณ์ และเขียนกำกับไว้ในแถบดังกล่าวว่า LIVE

อดีตการออกอากาศในระบบดิจิทัล

กระแสไฟฟ้าขัดข้องเมื่อปี พ.ศ. 2552

เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552 ระบบบำบัดน้ำเสียภายในอาคารมาลีนนท์เกิดชำรุด ส่งผลให้น้ำเสียไหลเข้าท่วมเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงไม่สามารถออกอากาศได้ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าดับตั้งแต่เวลา 16.04 น. ขณะกำลังแนะนำเนื้อหาในช่วงต้นของรายการเด็ก กาลครั้งหนึ่ง โดยในเวลาดังกล่าว สัญญาณภาพที่กำลังออกอากาศก็หยุดลงและหายไปกลายเป็นสัญญาณว่าง ต่อมาเมื่อเวลา 17.32 น. กลับมามีภาพแถบสีในแนวตั้งตลอดทั้งหน้าจอและบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ ยามเย็น เพื่อทดลองเสียง และในเวลา 17.37 น. จึงกลับมาปรากฏภาพเปิดรายการ เรื่องเด่นเย็นนี้ และเข้าสู่รายการตามปกติ โดยออกอากาศจากชั้นล่างของอาคารปฏิบัติการออกอากาศ ด้วยการใช้รถถ่ายทอดสดเคลื่อนที่ นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกับทางสถานีฯ และยังเกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โทรทัศน์ไทยด้วย[20]

ฝ่ายข่าว

ช่อง 3 ถือเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีฝ่ายข่าวระดับคุณภาพแห่งหนึ่ง มีจำนวนผู้ประกาศข่าวมากที่สุด[ต้องการอ้างอิง] และมีการนำเสนอข่าวถึงครึ่งหนึ่งของเวลาการออกอากาศทั้งหมด (12 ชั่วโมง)

ในอดีต ช่อง 3 เคยนำเสนอรายการข่าวในรูปแบบการอ่านข่าวตามธรรมเนียมเดิม จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2524 อ.ส.ม.ท. เจ้าของสัมปทานได้สั่งการให้ช่อง 3 เชื่อมสัญญาณออกอากาศการรายงานข่าวในช่วงต่าง ๆ ซึ่งผลิตโดยสำนักข่าวไทย ร่วมกับช่อง 9 อ.ส.ม.ท. และใช้ชื่อรายการว่า ข่าวร่วม 3-9 อ.ส.ม.ท. จนถึงปี พ.ศ. 2529 เป็นเวลา 5 ปี หลังจากนั้น อ.ส.ม.ท. จึงอนุญาตให้ช่อง 3 กลับมานำเสนอข่าวเองได้อีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาราวปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา ช่อง 3 ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการนำเสนอข่าวจากการอ่านข่าวมาเป็นการเล่าข่าว ซึ่งได้รับอิทธิพลจากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ของสรยุทธ สุทัศนะจินดา เพื่อให้ผู้ชมมีความเข้าใจได้อย่างง่ายดายและสามารถรับรู้ข่าวสารได้มากขึ้น ฝ่ายข่าวมีความมุ่งมั่นในการนำเสนอข่าวสารต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเหตุการณ์ปัจจุบันต่าง ๆ ที่ช่อง 3 เผยแพร่สู่ประชาชน โดยใช้ผู้ประกาศข่าวที่มีความเชี่ยวชาญและเที่ยงตรงในการนำเสนอข่าว จนในที่สุดก็นำไปสู่การร่วมกันจัดตั้งกลุ่มผู้ประกาศข่าวและรายการข่าวว่า ครอบครัวข่าว 3

นอกจากนี้ ช่อง 3 ยังได้จัดซื้อระบบดิจิทัลนิวส์รูม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทันสมัย ที่ได้รับการพัฒนาระดับสูง มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท ของโซนี่ มาใช้ในการผลิต และนำเสนอข่าวของช่อง 3 อย่างเต็มระบบ เป็นแห่งแรกในทวีปเอเชีย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550[21]

รายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียง

นอกจากฝ่ายข่าวแล้ว ช่อง 3 ยังถือเป็นผู้นำด้านละครโทรทัศน์ของประเทศไทย เนื่องจากเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชน เข้าเสนอผลงานผลิตละครโทรทัศน์หลากหลายแนว ในเวลาไพรม์ไทม์ และหัวค่ำ รวมถึงยังมีรายการโทรทัศน์หลากหลายประเภทที่สร้างชื่อเสียงแก่สถานีอีกหลายรายการ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • ตลกรายวัน[22] (26 มี.ค. 2513 - 31 ธ.ค. 2535) รายการที่ 2 ของสถานีฯ และเป็นรายการสุดท้ายของแต่ละวัน ตามผังรายการครั้งแรกของสถานีฯ มีเนื้อหาเป็นการเล่าเรื่องตลก ออกอากาศทุกวัน เวลา 11.00 - 12.00 น. ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ย้ายมาออกอากาศเวลา 21.00 - 22.00 น. แต่ในต่างจังหวัดยังออกอากาศเวลาเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2516 ออกอากาศเป็นสองช่วงเวลาคือ 20.30 - 22.00 น. และ 23.00 - 0.00 น. เฉพาะในกรุงเทพมหานคร และออกอากาศช่วงเดียว คือ ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 23.00 น. ยุติการออกอากาศเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2535
  • รับรางวัล (15 ม.ค. 2514) เกมโชว์รายการแรกของสถานีฯ ที่ในระยะแรกออกอากาศเป็นเวลา 10 นาทีของทุกวัน แต่เนื่องจากได้รับความนิยมจากผู้ชมสูงมาก จนกระทั่งสถานีฯ ขยายเวลาในวันจันทร์-วันศุกร์ เป็น 30 นาที และวันเสาร์-วันอาทิตย์ เป็น 1 ชั่วโมง
  • เปาบุ้นจิ้น (2517, 2537, 2558) ภาพยนตร์ชุดจีนจากไต้หวัน ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงมาก ในทั้งสองช่วงเวลา (ปี พ.ศ. 2517 ออกอากาศทุกวันอังคาร -วันศุกร์ เวลา 19.00 น. และปี พ.ศ. 2537 ออกอากาศทุกวันพุธ -วันอาทิตย์ เวลา 20.30 น.) โดยยุคแรกนั้น บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด ถึงกับเกาะกระแสด้วยการออกผลิตภัณฑ์ผงซักฟอก ในเครื่องหมายการค้า เปาบุ้นจิ้น เลยทีเดียว (ปัจจุบันใช้เพียงชื่ออย่างสั้นว่า เปา เท่านั้น)[ต้องการอ้างอิง]
  • ไฟพ่าย (1 ก.ย. 2519) ละครโทรทัศน์ยุคใหม่เรื่องแรกของสถานีฯ ผลงานของภัทราวดี มีชูธน ออกอากาศทุกวันจันทร์-วันพุธ เวลา 19.30 - 20.00 น. ด้วยแนวทางที่ให้ผู้แสดงศึกษาบทล่วงหน้า และจำบทเอง โดยไม่ต้องมีผู้บอกอยู่ข้างฉากเช่นในยุคก่อนหน้า มีการซักซ้อมล่วงหน้า และบันทึกเทปแทนการออกอากาศสด
  • กระบี่ไร้เทียมทาน (2523) ภาพยนตร์ชุดจีนที่ได้รับความนิยมอย่างสูงมากอีกเรื่องหนึ่ง ออกอากาศทุกวันเสาร์-วันอาทิตย์ นำแสดงโดย ฉีเส้าเฉียน (เล่นเป็นตัวละครเอก ฮุ้นปวยเอี๊ยง) ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถึงกับนำกรณีที่ตัวละครในเรื่องนี้นัดหมายพิสูจน์วิชายุทธกันมาขึ้นเป็นพาดหัวข่าวในหน้า 1 เลยทีเดียว
  • เณรน้อยเจ้าปัญญา (2526) ภาพยนตร์การ์ตูนจากญี่ปุ่น ที่สร้างโดยอิงจากชีวประวัติของพระอิกคิว โซจุน ได้รับความนิยมในกลุ่มเยาวชนเป็นอย่างมาก ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงเย็น ๆ เนื่องจากความฉลาดรอบรู้ของเณรเด็ก อิกคิวซัง ตัวเอกของเรื่อง อีกทั้งยังมีคติสอนใจในทุกตอนอีกด้วย
  • ภาษาไทยวันละคำ (2527) รายการสอนภาษาไทย ในเชิงอธิบายความหมายของถ้อยคำสำนวนต่าง ๆ ดำเนินรายการโดย ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะนั้น ซึ่งได้รับความสนใจ และเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมาก จากผู้ชมทุกเพศทุกวัย ไม่เฉพาะเด็กและเยาวชน ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของรายการ (รายการนี้ถูกล้อเลียน โดยรายการเพชฌฆาตความเครียด ภายใต้ช่วงว่า "ภาษาไทยคำละวัน" ของ ปัญญา นิรันดร์กุล)
  • ดูดีดีมีรางวัล (2531) นับเป็นควิซโชว์ตอบคำถามชิงรางวัลในยุคแรก ๆ ที่เปิดรับผู้เข้าแข่งขันจากทางบ้านทั่วประเทศ เนื่องจากทางสถานีฯ กำลังเริ่มโครงการขยายเครือข่ายร่วมกับ อ.ส.ม.ท. จึงเกิดแนวคิดในการสมนาคุณตอบแทนแก่ผู้ชม ที่ติดตามชมรายการของสถานีฯ มาตลอด ดำเนินรายการโดย ไตรภพ ลิมปพัทธ์ และ หัทยา วงษ์กระจ่าง
  • ฝันที่เป็นจริง (2531 - 2539) รายการที่นำเสนอวิถีชีวิตของบุคคล ผู้ต่อสู้กับชะตากรรมอันยากลำบาก ผ่านรูปแบบละครสั้น และปิดท้ายรายการด้วยการสนทนากับบุคคลเจ้าของเรื่อง พร้อมทั้งมอบร้านค้ารถเข็น ให้เป็นอุปกรณ์ดำรงชีพต่อไป ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของรายการ เป็นเวทีแจ้งเกิดให้กับ ไตรภพ ลิมปพัทธ์ จนกลายเป็นพิธีกรที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น โดยมีผลิตภัณฑ์ผงซักฟอก บรีส เป็นผู้สนับสนุนหลักของรายการ
  • Twilight Show (14 ต.ค. 2533 - 28 มี.ค. 2547 และ 7 มิ.ย. - 29 พ.ย. 2557) รายการวาไรตี้ทอล์กโชว์ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ ซึ่งในช่วงที่ได้รับความนิยมสูงสุดนั้น ได้รับจัดสรรเวลาจากสถานีฯ ถึง 3 ชั่วโมง (15.00-18.00 น.) ดำเนินรายการโดย ไตรภพ ลิมปพัทธ์ แต่เพียงผู้เดียวมาตลอด 14 ปี ก่อนจะย้ายไปออกอากาศทาง ITV ในปี พ.ศ. 2547 และในปี พ.ศ. 2557 ได้กลับกลับมาออกอากาศอีกครั้ง โดยออกอากาศทุกวันเสาร์เวลา 15.30 - 17.00 น. และออกอากาศเทปสุดท้ายวันที่ 29 พ.ย. 2557
  • สีสันบันเทิง (2535 - ปัจจุบัน) ข่าวบันเทิงรายการแรกของสถานีฯ เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับรายการ แวด-วงบันเทิง ออกอากาศก่อนหน้าละครภาคค่ำทุกวัน เวลาประมาณ 20.20 น. ซึ่งได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ดำเนินรายการที่มีชื่อเสียงจากรายการนี้ อาทิ หม่อมหลวงสุรีย์วัล สุริยง, พรหมพร ยูวะเวส เป็นต้น
  • โต้คารมมัธยมศึกษา (2535 - 2538) รายการแข่งขันโต้วาที สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ดำเนินรายการโดย กรรณิกา ธรรมเกษร และ อ.จตุพล ชมภูนิช (อ.เชน ตีสิบ) ออกอากาศทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 11.30-12.30 น. เป็นรายการที่สร้างชื่อเสียงแก่นักพูดระดับประเทศ อาทิ เสนาลิง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ สุพจน์ พงษ์พรรณเจริญ
  • เปิดอก (2536 - 2539) วาไรตี้ทอล์กโชว์แก้ไขปัญหาชีวิตครอบครัวและสังคม ดำเนินรายการโดย ดวงตา ตุงคะมณี มยุรา เศวตศิลา ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี ภาณุเดช วัฒนสุชาติ และเพลงไตเติ้ลรายการโดย เทียรี่ เมฆวัฒนา
  • มาสเตอร์คีย์ (2537 - 29 ธ.ค. 2564) เกมโชว์ในยุคใหม่ ที่ออกอากาศในช่วงกลางวัน (ปัจจุบันย้ายไปอยู่ช่วงสาย) ดำเนินรายการโดย เมทนี บุรณศิริ และ สุเทพ โพธิ์งาม โดยทั้งสองเป็นพิธีกรตั้งแต่ครั้งแรกของรายการจนถึงต้นปี พ.ศ. 2553
  • 168 ชั่วโมง (2538 - ปัจจุบัน) วาไรตี้โชว์สำหรับคนนอนดึก ปัจจุบันออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 00.30 - 01.00 น. ดำเนินรายการโดย วิบูลย์ ลีรัตนขจร
  • น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ (2539 - 3 พ.ย. 2561) ละครซีรีส์วัยรุ่นที่ออกอากาศยาวนานที่สุดในประเทศไทย ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 9.15 น.
  • ตีสิบ (4 พ.ย. 2540 - ปัจจุบัน) วาไรตี้ทอล์กโชว์ ออกอากาศทุกวันอังคาร เวลา 22.30 - 00.30 น. ปัจจุบันมีระดับความนิยมของผู้ชม (เรตติ้ง) มากที่สุดของสถานีฯ รองจากรายการประเภทละคร มีช่วงดันดารา ที่มีชื่อเสียง ดำเนินรายการโดย วิทวัส สุนทรวิเนตร์ และ ณปภา ตันตระกูล
  • ก่อนบ่ายคลายเครียด (2540 - 31 ม.ค. 2562) รายการวาไรตี้ตลกที่ได้รับความนิยมสูงสุด ออกอากาศทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 10.30 น. (ปัจจุบันย้ายไปออกอากาศที่ช่อง PPTV HD36 และช่องเวิร์คพอยท์ ตามลำดับ)
  • ชิงร้อยชิงล้าน (7 ม.ค. - 30 ก.ย. 2541 และ 1 ม.ค. 2555 - 28 มิ.ย. 2558) รายการเกมโชว์ยอดนิยมของบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโดย ปัญญา นิรันดร์กุล , มยุรา เศวตศิลา และแก๊งสามช่า ซึ่งประกอบไปด้วย หม่ำ จ๊กมก , เท่ง เถิดเทิง และหนู คลองเตย โดยในช่วงปี พ.ศ. 2541 ในยุค Super Game (มกราคม - กุมภาพันธ์) และยุคชะช่ะช่า (มีนาคม - กันยายน) ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 22.00 - 00.00 น. ก่อนจะย้ายไปออกอากาศทางช่อง 5 ในวันที่ 7 ต.ค. 2541 และอีกครั้งในช่วงต้นปี พ.ศ. 2555 - กลางปี พ.ศ. 2558 ในยุค Sunshine Day ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.00 - 17.00 น. (ต่อมาขยับเวลาเป็น 14.45 น. - 16.45 น.) และมีสมาชิกของแก๊งสามช่า คือ หม่ำ จ๊กมก , เท่ง เถิดเทิง , โหน่ง ชะชะช่า , ส้มเช้ง สามช่า , ตุ๊กกี้ ชิงร้อยฯ , พัน พลุแตก และบอย ชิงร้อยฯ พร้อมทั้งมีการสลับสับเปลี่ยนพิธีกรหญิง ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. 2555 และวรัทยา นิลคูหา ได้เป็นพิธีกรประจำรายการตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. 2557 (ย้ายไปออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์ ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. 2558)
  • ซือกง (2541 - ปลายปี พ.ศ. 2542) ภาพยนตร์ชุดจีนจากไต้หวัน โดยสถานีฯ ทำประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ชุดนี้ ด้วยคำขวัญซึ่งเป็นที่นิยมในระยะต่อมาว่า "อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล"
  • เกมเศรษฐี (4 มี.ค. 2543 - 28 มี.ค. 2547) ควิซโชว์รูปแบบตอบคำถาม รายการแรกของประเทศไทย มีเงินรางวัลสูงสุด 1,000,000 บาท เพียงตอบคำถามได้ถูกต้องทั้ง 16 ข้อ ดำเนินรายการโดย ไตรภพ ลิมปพัทธ์ ต่อมาย้ายไปออกอากาศทาง ITV ในปี พ.ศ. 2547
  • 4 ต่อ 4 แฟมิลี่เกม (13 ม.ค. 2544 - 31 ธ.ค. 2549) เกมโชว์สำหรับทุกคนในครอบครัว ผลิตโดย เอ็กแซ็กท์-ซีเนริโอ ดำเนินรายการโดย กนิษฐ์ สารสิน ออกอากาศทุกวันเสาร์-อาทิตย์ (ย้ายไปออกอากาศทางช่องวัน 31 ตั้งแต่ 7 มี.ค. 2559 - ปัจจุบัน)
  • The Weakest Link Thailand กำจัดจุดอ่อน (7 ก.พ. - 26 ธ.ค. 2545) ควิซโชว์ตอบคำถาม ซึ่งผู้เข้าแข่งขันที่ได้คะแนนน้อยที่สุด ต้องออกจากการแข่งขันไปทีละคน มีลักษณะเด่นที่ผู้ดำเนินรายการจะใช้วาจาเชือดเฉือนผู้เข้าแข่งขัน ด้วยน้ำเสียงกระด้างและเรียบเฉย จึงมีผู้วิจารณ์ว่าไม่เหมาะกับสังคมไทย ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์
  • รักใสใส หัวใจ 4 ดวง (2545,2562) ภาพยนตร์ชุดไต้หวัน นำแสดงโดยกลุ่มศิลปิน F4 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในประเทศไต้หวันและประเทศไทย
  • เรื่องเล่าเช้านี้ (2 มิ.ย. 2546 - ปัจจุบัน) เป็นรายการนำเสนอข่าวที่ใช้รูปแบบการเล่าด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เปลี่ยนไปจากการนั่งอ่านข่าวจากสคริปต์ในรูปแบบเดิม ปัจจุบันดำเนินรายการโดย สรยุทธ สุทัศนะจินดา, พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ และ เอกราช เก่งทุกทาง
  • โคกคูนตระกูลไข่ (2 ส.ค. 2546 - 25 ก.พ. 2549) ซิทคอมของบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) นำแสดงโดย หม่ำ จ๊กมก จินตหรา สุขพัฒน์ สันติสุข พรหมศิริ เท่ง เถิดเทิง ฯลฯ (ย้ายไปออกอากาศทางช่อง 5 ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 4 มี.ค. 2549 - 30 มิ.ย. 2550)
  • เป็นต่อ (7 ต.ค. 2547 - 9 ก.พ. 2555) ซิทคอมยอดนิยมที่มีเรตติ้งสูงที่สุดของช่อง 3 ผลิตโดย เอ็กแซ็กท์-ซีเนริโอ นำแสดงโดย ชาคริต แย้มนาม,พิมพ์มาดา บริรักษ์ศุภกร,มยุริญ ผ่องผุดพันธุ์,กิตติ เชี่ยววงศ์กุล,วิชุดา พินดั้ม,ผอูน จันทรศิริ ฯลฯ (ย้ายไปออกอากาศทางช่องวัน 31 ตั้งแต่ 20 ธ.ค. 2555 - ปัจจุบัน)
  • แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง (2548 - 2549) ภาพยนตร์ชุดจากเกาหลีใต้ เรื่องแรกของสถานีฯ
  • อัจฉริยะข้ามคืน (3 ก.ค. 2549 - 7 ม.ค. 2551) รายการเรียลลิตี้ควิซโชว์รายการแรกของไทย มีจุดเด่นที่เกมการแข่งขันที่ต้องใช้การวิเคราะห์โจทย์เป็นหลัก โดยเฉพาะเกมที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายนั่นก็คือ เกมถอดรหัสลับอัจฉริยะ ดำเนินรายการโดย แทนคุณ จิตต์อิสระ และ ปัญญา นิรันดร์กุล
  • เฮง เฮง เฮง (7 ต.ค. 2549 - 29 ส.ค. 2558) ซิทคอมยอดนิยมของ เอ็กแซ็กท์-ซีเนริโอ เป็นซิทคอมเรื่องแรกของค่ายที่มีการย้ายช่อง (ย้ายมาจากช่อง 7 เอชดี ที่เริ่มออกอากาศตั้งแต่ 19 ม.ค. 2545 - 30 ก.ย. 2549) นำแสดงโดย กล้วย เชิญยิ้ม,ปิยะมาศ โมนยะกุล,ราศี ดิศกุล ณ อยุธยา,คีรติ มหาพฤกษ์พงศ์,กวินรัฏฐ์ ยศอมรสุนทร ฯลฯ (ย้ายไปออกอากาศทางช่องวัน 31 ตั้งแต่ 3 ต.ค. 2558 - 25 มิ.ย. 2559)
  • Strawberry Cheesecake (8 ต.ค. 2549 - 27 ก.ย. 2558) รายการโทรทัศน์แนววาไรตี้ โดยเปิดโอกาสวัยรุ่นได้แสดงออกทุกรูปแบบ ที่จะให้ผู้ชมได้สัมผัสโลกของวัยรุ่น โดยมีพิธีกรวัยรุ่น 9-15 คน(โดยประมาณ) รับหน้าที่ดำเนินรายการ โดยตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. 2556 รายการได้เปลี่ยนรูปแบบใหม่ มีพิธีกรผู้ชายเพิ่มเข้ามาด้วย และเปลี่ยนชื่อรายการเป็น รายการ Strawberry Krubcake
  • ผู้กองเจ้าเสน่ห์ (7 ม.ค. 2550 - 27 ก.ย. 2558) ซิทคอมยอดนิยมของ เอ็กแซ็กท์-ซีเนริโอ นำแสดงโดย ปฏิภาณ ปฐวีกานต์,บุตรศรัณย์ ทองชิว,รณวีร์ เสรีรัตน์,เอ๋ เชิญยิ้ม,พิศมัย วิไลศักดิ์ ฯลฯ (ย้ายไปออกอากาศทางช่องวัน 31 ตั้งแต่ 4 ต.ค. 2558 - 31 ก.ค. 2559)
  • ถ้าคุณแน่? อย่าแพ้ เด็ก (ประถม)! (1 ต.ค. 2550 - 29 เม.ย. 2553) ควิซโชว์ที่ผู้ร่วมรายการต้องแข่งขันตอบคำถามกับนักเรียนชั้นประถมศึกษา จึงเป็นที่นิยมเนื่องจากผู้ชมเอ็นดูในความฉลาดและน่ารักของเด็ก ๆ ดำเนินรายการโดย กนิษฐ์ สารสิน
  • Thailand's Got Talent (6 มี.ค. 2554 - 4 ก.ย. 2559) เรียลลิตี้โชว์ประกวดความสามารถหลากหลายรูปแบบ ไม่จำกัดอายุ เพศ จำนวน ประเภทของโชว์ โดย บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ซื้อลิขสิทธิ์การประกวดบริเทนส์กอตแทเลินต์ จากประเทศอังกฤษ มาออกอากาศในประเทศไทย โดยบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการผลิตรายการ ออกอากาศทางช่อง 3 จำนวน 6 ซีซั่น (ตั้งแต่ซีซั่นที่ 7 ย้ายไปออกอากาศที่ช่องเวิร์คพอยท์)
  • The Voice Thailand (6 ก.ย. 2555 - 25 ก.พ. 2561) เรียลลิตี้โชว์ประกวดร้องเพลง ผลิตรายการโดย AP&J Production ออกอากาศทางช่อง 3 จำนวน 6 ซีซั่น (ตั้งแต่ซีซั่นที่ 7 ย้ายไปออกอากาศที่ช่อง PPTV HD 36 และตั้งแต่ซีซั่น All Stars ย้ายไปออกอากาศทางช่องวัน 31)
  • ดันดารา (1 มิ.ย. 2557 - 30 ก.ย. 2561) รายการประกวดความสามารถชื่อดังที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในรายการตีสิบ
  • The Face Thailand (4 ต.ค. 2557 - 1 มิ.ย. 2562) เรียลลิตี้โชว์เพื่อค้นหาสุดยอดนางแบบ ผลิตรายการโดย บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
  • Davinci เกมถอดรหัส (2 ธ.ค. 2559 - 30 เม.ย. 2564) เกมโชว์แนวควิซโชว์ที่ทดสอบความรู้รอบตัวและไหวพริบของผู้เข้าแข่งขันผ่านคำถามที่มาในรูปแบบของรูปภาพที่นำมาร้อยเรียงกันเป็นคำปริศนา ผลิตรายการโดย บริษัท อะมะเตะระสุ จำกัด
  • โหนกระแส (5 มิ.ย. 2560 - ปัจจุบัน) รายการสนทนาเชิงข่าวของกรรชัย กำเนิดพลอย ที่นำข่าวซึ่งเป็นกระแสสังคมในขณะนั้นมาตีแผ่ผ่านการพูดคุยกับแขกรับเชิญ ผลิตรายการโดย บริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ของกรรชัย (ย้ายการออกอากาศมาจากช่อง 3 เอสดี หลังคืนใบอนุญาตตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 - ปัจจุบัน)
  • The Eyes มองตาก็รู้ใคร (5 มี.ค. 2561 - 28 ก.พ. 2563) เกมโชว์ที่ทดสอบการจดจำดวงตาของเหล่าคนดังทั่วโลกจากทุกวงการ ผลิตรายการโดย บริษัท อะมะเตะระสุ จำกัด (ย้ายไปออกอากาศทางช่อง 7HD และเปลี่ยนผู้ผลิตรายการเป็น บริษัท เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ 14 มิ.ย. 2564 - ปัจจุบัน)

ละครและการ์ตูน ซีรีส์ต่างประเทศ

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

  1. เนื่องจากช่อง 3 อนาล็อกหมดสัมปทานกับอสมท. องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 25 มีนาคม 2563

อ้างอิง

  1. กิจกรรม ช่อง 3 ฉลอง 50 ปี
  2. ช่อง 3 จัดงานใหญ่เฉลิมฉลอง 50 ปี Channel 3 Infinity Happiness เปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลเต็มรูปแบบ
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 ประวัติสถานีฯ เก็บถาวร 2011-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ไทยทีวีสีช่อง 3
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 34 ปี ช่อง 3 เก็บถาวร 2012-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา
  5. ภาพหน้าอาคารสถานีฯ แสดงชื่อรหัสสากลของช่อง 3 เก็บถาวร 2011-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์สถานีฯ
  6. https://www.brandbuffet.in.th/2020/03/ch3-switched-off-analogue-television/
  7. 7.0 7.1 สถานีเครือข่าย เก็บถาวร 2009-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ไทยทีวีสีช่อง 3
  8. "กสทช.ได้ "ไทยพีบีเอส" ตัวช่วยสู้คดี กรณีช่อง 3 ฟ้องร้องขอเพิกถอนคำสั่ง "มัสแครี่"". Positioning Magazine. 2014-07-07. สืบค้นเมื่อ 2021-01-04.
  9. มติ กสท.ไม่ต่ออายุช่อง3ออกดาวเทียม-เคเบิล, เนชั่น, 3 กันยายน 2557
  10. “ช่อง 3” แถลงอ้างคำสั่ง “คสช.” ปกป้อง[ลิงก์เสีย], ผู้จัดการ, 3 กันยายน 2557
  11. กสท.แจ้งดาวเทียม-เคเบิลห้ามออกอากาศช่อง3[ลิงก์เสีย], โพสต์ทูเดย์, 3 กันยายน 2557
  12. "จบด้วยดี ช่อง 3 ยอมออกอากาศคู่ขนานบนช่อง 33 HD". กระปุก.คอม. 2014-10-09. สืบค้นเมื่อ 2021-01-04.
  13. "กสท.ลดค่าธรรมเนียมหากนำช่องอะนาล็อกออกอากาศคู่ขนาน/พร้อมลดให้ทีวีดิจิตอลปกติ". RYT9. 2014-09-22. สืบค้นเมื่อ 2021-01-04.
  14. "ช่อง 3 อนาล็อก เริ่มออกคู่ขนานช่อง 33 HD แล้ว". กระปุก.คอม. 2014-10-10. สืบค้นเมื่อ 2021-01-04.
  15. Positioning Magazine (9 กรกฎาคม 2561). "ช่อง 3 กระอัก! กสทช.สั่งยกเลิกออกอากาศคู่ขนาน มีผล 17 ก.ค." positioningmag.com. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. Positioning Magazine (15 กรกฎาคม 2561). "จับตาช่อง 3 HD ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลัง กสทช.ให้ใช้ผังเดียวกับกับแอนะล็อกแต่ต้องแสดงสิทธิในการเป็นผู้บริหารช่องเอง แสดงรายได้แยกชัดเจน". positioningmag.com. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. TV Digital Watch (20 กรกฎาคม 2561). "หน้าจอใหม่ช่อง 3 แอนะล็อก และช่อง 3 HD". www.tvdigitalwatch.com. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. ยามเมื่อลมพัดหวน ช่อง 3 คืนสู่สัญลักษณ์เดิม หลังหมดสัมปทานแอนะล็อก
  19. เนื่องจากช่อง 3 ยุติสัญญาณแพร่ภาพอนาล็อก ณ วันที่ 26 มีนาคม 2563 เวลา 24.00 น. ที่มา กสทช.
  20. "ช่อง3แจงเหตุจอมืด "เรื่องเด่นเย็นนี้" หายไปทันที 1 ชั่วโมง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-09. สืบค้นเมื่อ 2009-09-17.
  21. ทีวี 3 ไกด์: ดิจิตอลนิวส์รูม เก็บถาวร 2009-03-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ไทยทีวีสีช่อง 3
  22. ชื่อนี้มิใช่ชื่อที่เป็นทางการ

แหล่งข้อมูลอื่น