นิตยสารรายการโทรทัศน์

นิตยสารรายการโทรทัศน์ เป็นนิตยสารที่จัดทำโดยสถานีโทรทัศน์แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายในประเทศไทย เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสารกับผู้ชม และยังเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ที่กำลังออกอากาศ หรือใกล้จะแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์แต่ละช่อง ตลอดจนลงพิมพ์ผังรายการไว้ในเล่มด้วย โดยนิยมจัดทำเป็นขนาด 16 หน้ายก (ขนาดเท่ากับนิตยสารดาโกะ(ญี่ปุ่น)ในยุคปัจจุบัน)

ภาพปกนิตยสารรายการโทรทัศน์ของ ททบ.5 ปี 2528
ภาพปกนิตยสารรายการโทรทัศน์ของ ททบ.5 ปี 2528

สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

แก้

การจัดทำนิตยสารรายการโทรทัศน์ ของไทยทีวีสีช่อง 3 เพื่อแจกฟรีแก่ผู้สนใจ เกิดขึ้นจากความเห็นชอบของวิชัย มาลีนนท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทฯ โดยดำริของอุฬาร เนื่องจำนงค์ นับเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกที่จัดทำนิตยสารในลักษณะนี้ ออกเป็นฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2514 โดยเป็นนิตยสารประจำเดือนกันยายนที่ออกล่วงหน้า ในระยะแรก มีจำนวนพิมพ์ 5,000 ฉบับต่อเดือน แต่ในครั้งนั้น สามารถออกหนังสือได้เพียงประมาณสองปี ก็หยุดการดำเนินงานส่วนนี้ลงไป

ต่อมา เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2518 สถานีฯ จึงฟื้นการจัดทำนิตยสารขึ้นใหม่อีกครั้ง เพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงผู้ชม และสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างสถานีฯ กับผู้ชม นอกจากนี้ ผู้อ่านจะได้ศึกษารายละเอียดของรูปแบบรายการต่างๆ ก่อนที่จะได้รับชม ในอันที่จะจูงใจ รวมถึงสร้างความนิยมให้กับรายการของสถานีฯ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นสื่อกลางในการขจัดข้อสงสัยต่างๆ ของผู้ชม ตลอดจนความใกล้ชิดกับผู้ชมอีกทางหนึ่งด้วย

โดยนิตยสารในยุคหลังนี้ เป็นหน้งสือขนาด 16 หน้ายก ในฉบับแรกมีจำนวน 32 หน้า ยอดพิมพ์ 20,000 ฉบับต่อเดือน ในช่วงถัดมา จึงมีการปรับปรุงให้มีเนื้อหาสาระเพิ่มขึ้น จนมีความหนาถึง 128 หน้า รวมถึงยังต้องเพิ่มยอดพิมพ์ขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2524 มียอดพิมพ์ถึง 340,000 ฉบับ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้สนใจ ในเวลาต่อมา แนวคิดในเรื่องรูปเล่ม เนื้อหา และวิธีการแจกจ่ายนิตยสารในลักษณะนี้ ก็กลายเป็นต้นแบบ ให้กับนิตยสารรายการโทรทัศน์ของสถานีฯ อื่นๆ ที่จัดทำขึ้นภายหลัง

จากนั้น ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2520 สถานีฯ จัดทำนิตยสารรายการโทรทัศน์ เป็นฉบับภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง มีจำนวนพิมพ์ 50,000 ฉบับ โดยแทรกไปกับหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษในประเทศไทย[1] นอกจากนั้น สถานีฯ ยังเคยจัดทำนิตยสารรายการโทรทัศน์ ในรูปแบบภาษาจีน แทรกไปกับหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

106 แมกกาซีน/เอฟ 3

แก้

ราวปี พ.ศ. 2552 ไทยทีวีสีช่อง 3 อนุมัติให้บริษัท เชิร์ช เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด กลับมาผลิตนิตยสารรายการโทรทัศน์ในนามของสถานีฯ อีกครั้ง โดยแบ่งเนื้อหาเป็นสองเล่ม คือ 106 แมกกาซีน เป็นนิตยสารรวมรวมข่าว ความเคลื่อนไหวของครอบครัวข่าว 3 วิทยุครอบครัวข่าว FM 106 รวมทั้งความเคลื่อนไหวของสถานี และ F3 นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับด้านบันเทิง ละคร รายการโทรทัศน์ โดยนิตยสารทั้งสองเล่มยังแจกฟรีแก่ผู้สนใจเช่นเดิม แต่จะแจกเฉพาะงานสำคัญ เช่น คอนเสิร์ตทีวี 3 สัญจร[ต้องการอ้างอิง]

สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5

แก้

ททบ.เคยจัดพิมพ์นิตยสารมาถึง 3 ยุคสมัยคือ ขณะเป็นททบ.7 ใช้ชื่อว่า แฟนสัมพันธ์ ต่อมาระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ. 2522 ถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2528 ททบ.5 ออกนิตยสารแจกฟรีชื่อ รายการโทรทัศน์สี ช่อง 5 จำนวน 56 หน้า ไม่รวมหน้าปกสี ยอดพิมพ์ 32,000 ฉบับ และในราวปี พ.ศ. 2532 ก็จัดทำนิตยสาร ททบ.5 ทีวีบันเทิง ขนาด 8 หน้ายก ต่อมาโอนให้เอกชนรายอื่นไปออกแทน โดยเปลี่ยนชื่อเป็น ทีวีบันเทิง แล้วจึงเลิกจำหน่ายในที่สุด

สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7

แก้

ช่อง 7 สี เคยจัดทำนิตยสารรายการโทรทัศน์ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2523-พ.ศ. 2539 รวมระยะเวลาประมาณ 16 ปี[2] และทางช่องได้นำกลับมาทำนิตยสารใหม่อีกครั้ง ในชื่อ แชนแนลเซเว่น บันเทิงเจ็ดสี วางแผงฉบับแรกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 จำหน่ายในราคา 35 บาท

สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์

แก้

ในยุคไทยทีวีช่อง 4 นอกจากจะส่งกระจายเสียง สถานีวิทยุ ท.ท.ท. (ปัจจุบันคือ สถานีวิทยุ อสมท โมเดิร์นเรดิโอ) เพื่อหารายได้อุดหนุนกิจการสถานีโทรทัศน์แล้ว ยังจัดทำนิตยสารชื่อ ไทยโทรทัศน์ ออกจำหน่ายด้วย

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย

แก้

กรมโฆษณาการ (ปัจจุบันคือ กรมประชาสัมพันธ์) ต้นสังกัดของ สทท. เคยจัดพิมพ์นิตยสารชื่อ โฆษณาสาร ออกเผยแพร่กิจการต่างๆ

พรีเมียร์ ทรูวิชั่นส์ ทีวีไกด์

แก้

ไอบีซี, ยูทีวี, ยูบีซี และทรูวิชั่นส์ จัดทำนิตยสารรายการโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิก ในระดับโกลด์แพคเกจและแพลตินัมแพคเกจ เริ่มออกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2537 ถึงปัจจุบัน โดยในยุคแรกใช้ชื่อว่า ไอบีซี แมกกาซีน และ ยูทีวี แมกกาซีน, ยูบีซี แมกกาซีน, ทรูวิชั่นส์ แมกกาซีน ตามลำดับ ต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น พรีเมียร์ ทรูวิชั่นส์ ทีวีไกด์ จำนวน 80 หน้าต่อหนึ่งฉบับ พิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม โดยจะแยกโปรแกรมรายการเป็นหมวดหมู่ และลงพิมพ์ตารางออกอากาศด้วย

ช่องโทรทัศน์ดาวเทียม

แก้

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 นิตยสารรายเดือน แซตเทลไลต์ไกด์ (Satellite Guide) ออกวางแผงเป็นฉบับปฐมฤกษ์ โดยมีเนื้อหาแนะนำ ช่องโทรทัศน์ดาวเทียมต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก รวมถึงเผยแพร่ผังรายการ ของแต่ละช่องดังกล่าวในฉบับด้วย

อ้างอิง

แก้
  1. 34 ปี ช่อง 3 เก็บถาวร 2012-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา. เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2555
  2. เจ็ดสีสี่ทศวรรษ ในบล็อกของผู้ใช้ชื่อ มงกุฎ2529 จากเว็บไซต์โอเคเนชั่น