จังหวัดเลย
เลย เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ตั้งอยู่ในแอ่งสกลนครและอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (กลุ่มจังหวัดสบายดี) ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 540 กิโลเมตร มีสภาพภูมิประเทศที่งดงาม อากาศหนาวเย็น เป็นแหล่งเพาะปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ และยังเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง
จังหวัดเลย | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Loei |
จากซ้ายไปขวาและบนลงล่าง : พระธาตุศรีสองรัก - วัดศรีโพธิ์ชัย - เชียงคาน - ผีตาโขน - ภูลมโล - สกายวอร์คพระใหญ่ภูคกงิ้ว | |
คำขวัญ: เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์ มั่นคงความสะอาด | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดเลยเน้นสีแดง | |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | ชัยพจน์ จรูญพงศ์[1] (ตั้งแต่ พ.ศ. 2566) |
พื้นที่[2] | |
• ทั้งหมด | 11,424.612 ตร.กม. (4,411.067 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 14 |
ประชากร (พ.ศ. 2566)[3] | |
• ทั้งหมด | 635,142 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 41 |
• ความหนาแน่น | 55.59 คน/ตร.กม. (144.0 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 71 |
รหัส ISO 3166 | TH-42 |
ชื่อไทยอื่น ๆ | ชุมชนแฮ่ |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ภายในศูนย์ราชการจังหวัดเลย ถนนมลิวรรณ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย 42000 |
• โทรศัพท์ | 0 4281 2142 |
• โทรสาร | 0 4281 1746 |
เว็บไซต์ | http://www.loei.go.th |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
- ตราประจำจังหวัด: เป็นภาพพระธาตุศรีสองรัก ลักษณะอุเทสิกเจดีย์ สร้างเป็นอนุสรณ์การปักปันเขตแดนในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยากับพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2103 เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2106 ตั้งอยู่วัดพระธาตุศรีสองรัก ซึ่งเป็นวัดที่ไม่มีพระภิกษุสงฆ์พำนัก ริมแม่น้ำหมัน บ้านหัวนายูง ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย องค์พระธาตุก่ออิฐก่อปูน มีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 10.47 เมตร สูง 19.19 เมตร บนยอดพระธาตุมีแก้วครอบเป็นโคม มีกระดิ่งลูกเล็กๆ แขวนอยู่เหนือโคมกรมศิลปากรประกาศให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478
- ธงประจำจังหวัด: ลักษณะสีเหลี่ยมผืนผ้าสีฟ้า มีตราประจำจังหวัดเลย เป็นรูปพระธาตุศรีสองรักอยู่ในวงกลมบนพื้นผ้าทั้งสองด้าน
- เพลงประจำจังหวัด: มาร์ชเมืองเลย เนื้อร้อง: ครูพร พิรุณ ทำนอง: ครูเอื้อ สุนทรสนาน
- ต้นไม้: สนสามใบ (Pinus kesiya) เป็นต้นไม้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงปลูกตามคำกราบบังคมทูลของนายเทียม คมกฤช อธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นอนุสรณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินขึ้นยอดภูกระดึง เมื่อเวลาเช้าของวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 (จากหนังสือรอยเสด็จมหาวิทยาลัยขอนแก่น 2540) และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานกล้าไม้มงคลให้กับ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ในงานวันรณรงค์โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ครองราชย์ปีที่ 50 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2537 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ให้เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเลย[4]
- ดอกไม้: รองเท้านารีเหลืองเลย (Paphiopedilum hirsutissimum)
- สัตว์น้ำ: ปลาเพ้า (Bangana lippus)
- คำขวัญ: "เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์ มั่นคงความสะอาด"
- ลักษณะรูปร่าง: มีรูปร่างคล้ายกับ ศีรษะของลูกไดโนเสาร์พันธุ์ไทรเซอราทอปส์ที่ไม่มีเขา
ความเป็นมา
ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ดินแดนที่เป็นที่ตั้งจังหวัดเลยในปัจจุบัน เป็นชุมชนมาแต่โบราณ โดยมีหลักฐานทางโบราณคดี อาทิเช่น เครื่องมือหินซึ่งเป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีขวานหินขัด กําไลหินขัด แถบอําเภอเชียงคาน ซึ่งเชื่อกันว่ากลุ่มชนแถบนี้ดํารงชีวิตภายใต้สังคมเกษตรกรรม มีการกําหนดอายุไว้ประมาณ 9,000 ปี 4,000 – 2,000 ปี ยุคสัมฤทธิ์ พบหลักฐานที่ทําให้สันนิษฐานได้ว่า มีการขุดแร่เหล็กและทองแดงใน บริเวณอําเภอปากชม และอําเภอเมืองเลย ขึ้นมาใช้
ยุคประวัติศาสตร์
พบหลักฐานใบเสมาในพื้นที่อําเภอวังสะพุง อายุประมาณ 1,000-1,200 ปี ซึ่งเป็นยุคทวารวดี และแหล่งโบราณคดีในพื้นที่อําเภอภูหลวง คาดว่ามีอายุใกล้เคียงกัน และในพื้นที่นี้มีชุมชนซึ่งมีความเจริญ จนมีสภาพเป็นเมือง อาทิ เมืองด่านซ้าย เมืองเชียงคาน เมืองท่าลี่ ส่วนเมืองเลย ได้ยกฐานะจากชุมชนบ้านแฮ่ ที่ตั้งอยู่ริมห้วยน้ําหมานซึ่งไหลจากภูเขาชื่อภูผาหมาน เป็นเมือง ในปี พ.ศ. 2396 โดยตั้งชื่อเมืองตามแม่น้ำใหญ่ ว่า“ เมืองเลย ” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยให้ขึ้นกับเมืองหล่มสัก พร้อมทั้งแต่งตั้งหลวงศรีสงคราม (ท้าวคําแสน) เป็นเจ้าเมืองคนแรก
นักสํารวจชาวฝรั่งเศส ชื่อ เอเจียน แอมอนิเย ได้เดินทางมาค้นหาศิลาจารึกและมาถึงเมืองเลย เมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2426 บรรยายสภาพเมืองเลยและอ้างบันทึกของมูโฮร์ (Mouhot) นักสํารวจชาวฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางมาถึงเมืองเลย ปี 2404 ว่า
“ ...สภาพบ้านแฮ่ ตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งห้วยน้ําหมาน ประกอบด้วยกระท่อมประมาณ 200 หลัง บนพื้นที่สูง น้ำไม่ท่วมถึง หมู่บ้านตั้งเรียงรายอยู่ใต้ร่มไม้ผล ใกล้กับทุ่งนา แม่น้ําเลยสามารถเดินเรือได้ในฤดูน้ําหลาก...”
“...ประชาชนครึ่งหนึ่งเป็นเกษตรกร และอีกครึ่งหนึ่งเป็นกรรมกรทํางานอุตสาหกรรม ผลิตอุปกรณ์การไถนา และมีดอีโต้ เพื่อจําหน่ายไปทั่วจังหวัดข้างเคียง จนถึงจังหวัดที่อยู่เลยโคราชขึ้นไปอีก แต่ว่าไม่มีโรงงาน ไม่มีเครื่องจักรไอน้ํา แล้วก็เป็นที่น่าสนใจ เมื่อเห็นว่าการตั้งเตาที่จะตีเหล็กนั้นมีราคาต่ำที่สุด คือ จะมีการขุดหลุมกว้าง 1 เมตรครึ่ง ที่ตีนเขา แล้วช่างเหล็กจะเอาก้อนแร่ใส่เข้าไปในหลุมนั้น แล้วเผาด้วยถ่านไฟ ที่มีความร้อนสูง เมื่อร้อนได้ที่แล้ว เหล็กก็จะไหลลงไปในหลุมที่พื้นดิน หลังจากนั้นก็จะนําเอาเหล็กเป็นก้อนออกจากหลุมดังกล่าวไปทําการตีเป็นเครื่องมือที่โรงตีเหล็ก ...”
“...ที่นี่ก็จะมีหลุมในดินอีก และมีไฟเผา ซึ่งจะมีเด็กคอยสูบลมด้วยท่อลมแฝด 2 ท่อ ซึ่งทําด้วยท่อนไม้กลวง โดยเอาปลายด้านหนึ่งฝังลงในดิน ภายในท่อสูบลมนี้จะมีลูกสูบทําด้วยสําลีจากตัวท่อสูบลมนี้จะมีหลอดไม้ไผ่ 2 หลอด ต่อไปที่เตาเผาเหล็ก เพื่อนําอากาศเข้าไปในเตาเผาซึ่งจะทําให้ไฟลุกกล้าเป็น...”
“...คนเมืองเลยไปคล้องช้างป่าแถบภาคใต้ของจังหวัดในเขตภูหลวงและภูเขียว เวลาออกเดินทางพวกเขาจะทําการบวงสรวงวิญญาณด้วยเชือกยาวซึ่งมีบ่วงคล้องเอาช้างด้วยข้าว เหล้า เป็ด และไก่เสียก่อน นอกจากนั้นนายพรานจะให้คําแนะนําว่า ห้ามภรรยาทําการตัดผม หรือรับแขกต่างบ้านให้พักค้างคืนในบ้านเด็ดขาด ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามข้อห้ามเหล่านี้ จะทําให้ช้างที่คล้องมาได้นั้นหลุดมือไป...”
ปี 2434 (รศ.110) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสังเกตเห็นว่าฝรั่งตั้งท่าจะรุกรานพระราชอาณาเขต จึงได้จัดการปกครองพระราชอาณาเขตเป็นมลฑล และ ปี 2435 กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้จัดระบบการปกครองใหม่ เมืองเลยจึงแยกจากเมืองหล่มสัก ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองโดยให้ขึ้นกับ มลฑลลาวพวน ที่ตั้งบัญชาการที่เมืองหนองคาย ก่อนที่จะย้ายมาตั้งที่บ้านหมากแข้งใน ปี 2436 (รศ.116) และเปลี่ยนชื่อเป็นมลฑลอุดรภายหลัง และยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 มีอําเภอ ดังนี้
1. อําเภอกุดป่อง ( อําเภอเมืองเลย ในปัจจุบัน )
2. อําเภอท่าลี่
3. อําเภอด่านซ้าย ( โอนมาจากเมืองพิษณุโลก )
4. อําเภอวังสะพุง ( โอนมาจากเมืองหล่มสัก )
5. อําเภอเชียงคาน ( โอนมาจากเมืองพิชัย )
ประวัติศาสตร์
ก่อตั้งโดยชนเผ่าไทยที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ก่อตั้งอาณาจักรโยนกเชียงแสน โดยพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง (เชื่อถือกันว่าเป็นเชื้อสายราชวงศ์สิงหนวัติ) ได้มีผู้คนอพยพจากอาณาจักรโยนกเชียงแสนที่ล่มสลายแล้ว ผ่านดินแดนล้านช้าง ข้ามลำน้ำเหืองขึ้นไปทางฝั่งขวาของลำน้ำหมันถึงบริเวณที่ราบ พ่อขุนผาเมืองได้ตั้งบ้านด่านขวา (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณชายเนินนาด่านขวา ซึ่งมีซากวัดเก่าอยู่ในแปลงนาของเอกชน ระหว่างหมู่บ้านหัวแหลมกับหมู่บ้านนาเบี้ย อำเภอด่านซ้าย) ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวได้แบ่งไพร่พลข้ามลำน้ำหมันไปทางฝั่งซ้าย สร้างบ้านด่านซ้าย ต่อมาจึงได้อพยพเลื่อนขึ้นไปตามลำน้ำไปสร้างบ้านหนองคู และได้นำนามหมู่บ้านด่านซ้าย มาขนานนามหมู่บ้านหนองคูใหม่ เป็น "เมืองด่านซ้าย" อพยพไปอยู่ที่เมืองบางยางในที่สุด โดยมีพ่อขุนผาเมืองอพยพผู้คนติดตามไปตั้งเมืองราด (เชื่อว่าเป็นเมืองศรีเทพ อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพและอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์) และตั้งเมืองด่านซ้าย เป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกของเมืองบางยาง
นอกจากนี้แล้ว ยังมีชาวโยนกอีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนระหว่างชายแดนตอนใต้ของอาณาเขต ล้านนา ต่อแดนล้านช้างอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะอพยพหนีภัยสงครามข้ามลำน้ำเหืองมาตั้งเมืองเซไลขึ้น (สันนิษฐานว่าอยู่ในท้องที่หมู่บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง) จากหลักฐานในสมุดข่อยที่มีการค้นพบ เมืองเซไลอยู่ด้วยความสงบร่มเย็นมาจนกระทั่งถึงสมัยเจ้าเมืองคนที่ 5 เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตก จึงได้พาผู้คนอพยพไปตามลำแม่น้ำเซไลถึงบริเวณที่ราบระหว่างปากลำห้วยไหลตกแม่เซไล จึงได้ตั้งบ้านเรือนขึ้นขนานนามว่า "บ้านแห่" (บ้านแฮ่) ส่วนลำห้วยให้ชื่อว่า "ห้วยหมาน"
ในปี พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่า หมู่บ้านแฮ่ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งห้วยน้ำหมาน และอยู่ใกล้กับแม่น้ำเลย มีผู้คนเพิ่มมากขึ้น สมควรจะได้ตั้งเป็นเมือง เพื่อประโยชน์ในการปกครองอย่างใกล้ชิด จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นเมืองเรียกชื่อตามนามของแม่น้ำเลยว่า เมืองเลย ขึ้นต่อเมืองเพชรบูรณ์อีกทีหนึ่ง ต่อมา พ.ศ. 2440 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองพื้นที่ ร.ศ. 116 แบ่งการปกครองเมืองเลยออกเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกุดป่อง อำเภอท่าลี่ (เดิมตำบลอาฮีเป็นอำเภอ แต่ถูกลดบทบาทลงเป็นตำบลเพราะอยู่ใกล้กับแม่น้ำเหือง เป็นผลมาจากการเสียดินแดนให้ลาวโดยประเทศฝรั่งเศส) อำเภอนากอก (ปัจจุบันอยู่ในประเทศลาว) อำเภอที่ตั้งเมืองคือ อำเภอกุดป่อง ต่อมา พ.ศ. 2442-2449 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเลยเป็น บริเวณลำน้ำเลย พ.ศ. 2449-2450 เปลี่ยนชื่อบริเวณลำน้ำเลยเป็นบริเวณลำน้ำเหือง และใน พ.ศ. 2450 ได้มีประกาศของกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2450 ยกเลิกบริเวณลำน้ำเหือง ให้คงเหลือไว้เฉพาะ "เมืองเลย" โดยให้เปลี่ยนชื่ออำเภอกุดป่อง เป็น "อำเภอเมืองเลย"
ในปี พ.ศ. 2445 กรมมหาดไทย นำใบบอกพระยาสุริยวงษา เจ้าเมืองหล่มศัก กราบบังคมทูลว่ามีตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯ ขึ้นไปว่า เมืองเลย เมืองแก่นท้าว เมืองขึ้นเมืองเพชรบูรณ ร้องกล่าวโทษเมืองเพชรบูรณ จึงโปรดให้เมืองหล่มศักดูแลเมืองเลย เมืองแก่นท้าว ไปจนกว่าคดีจะแล้วเสร็จ ในกรณีนี้พระยาสุริยวงษา เห็นว่าพระศรีสงคราม เจ้าเมืองเลย ชราภาพ อายุ 80 ปี เกรงจะรับราชการต่อไปไม่ได้ จึงได้ขอพระราชทานเลื่อนขึ้นเป็นจางวางกำกับดูแลราชการ และได้ขอพระราชทานท้าววรบุตร ว่าที่อุปฮาด เป็นพระศรีสงครามเจ้าเมืองเลย รับราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป[5]
ในปี พ.ศ. 2567 นาย ชัยธวัช เนียมศิริ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเลยได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยนับเป็นอดีตผู้ว่าคนแรกของจังหวัดที่ได้รับตำแหน่งนายกอบจ.
ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดเลย ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน บนพื้นที่ราบสูงโคราช หรือที่เรียกกันว่า แอ่งสกลนคร มีเนื้อที่ประมาณ 11,424 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 7,140,382 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 6.77 ของพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทิวเขาในแนวทางทิศเหนือใต้ และจะมีพื้นที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาที่ไม่ใหญ่มากนัก สลับกันอยู่ในแนวเทือกเขา มีภูเขาสูงกระจัดกระจาย โดยเฉพาะทางตะวันตกและทางด้านใต้ของจังหวัด มีแหล่งน้ำสำคัญคือ แม่น้ำเลยที่ไหลผ่านตัวจังหวัด และแม่น้ำโขงในบริเวณตอนบนของจังหวัด มีระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 520 กม. มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดอื่น ๆ ในแต่ละทิศดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ แขวงไชยบุรี และแขวงเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำเหือง และแม่น้ำโขงไหลกั้นพรมแดนระหว่างกัน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เทือกเขาเพชรบูรณ์ อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอนครไทย และอำเภอชาติตระการจังหวัดพิษณุโลก
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี อำเภอศรีบุญเรือง อำเภอสุวรรณคูหา อำเภอนากลาง และอำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอภูผาม่าน และอำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น
จังหวัดเลย มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับแขวงไซยะบูลี และแขวงเวียงจันทร์สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ความยาว 197 กิโลเมตร มีแม่น้ำโขง แม่น้ำเหือง และแนวสันเขาเป็นพรมแดน[6]
- แม่น้ำโขง ระยะทางยาว 71 กิโลเมตร อยู่ในเขตอำเภอปากชม และอำเภอเชียงคาน
- แม่น้ำเหือง ระยะทางยาว 123 กิโลเมตร อยู่ในเขตอำเภอท่าลี่ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอนาแห้ว
- แนวสันเขาในอำเภอนาแห้ว ยาว 33 กิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไป ของจังหวัดเลย มีภูเขาล้อมรอบตัวเมือง ลักษณะเป็นแอ่งกระทะ สูงจากระดับน้ําทะเล เฉลี่ยประมาณ 250 เมตร ณ สถานีอุตุนิยมวิทยา ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะภูมิประเทศออกเป็น 3 เขต ดังนี้คือ
- เขตภูเขาสูง ทางด้านทิศตะวันตกทั้งหมด เริ่มตั้งแต่อําเภอภูกระดึง ขึ้นไปอําเภอภูหลวง อําเภอภูเรือ อําเภอท่าลี่ และ เขตอําเภอด่านซ้าย อําเภอนาแห้ว ทั้งหมด มีความสูงตั้งแต่เฉลี่ย 600 เมตร จากระดับน้ําทะเล
- เขตที่ราบเชิงเขา ได้แก่ บริเวณตอนใต้และตะวันออกของจังหวัด ได้แก่ อําเภอนาด้วง อําเภอปากชม และพื้นที่บางส่วนในเขตอําเภอภูกระดึงและอําเภอภูหลวง เป็นเขตที่ไม่ค่อยมีภูเขาสูงนัก มีที่ราบเชิงเขาพอที่จะทําการเพาะปลูกได้ มีประชาชนหนาแน่นปานกลาง
- เขตที่ราบลุ่ม มีพื้นที่น้อยมากในตอนกลางของจังหวัดคือ ลุ่มน้ําเลย ลุ่มน้ําโขง ได้แก่ บริเวณอําเภอวังสะพุง อําเภอเมือง อําเภอเชียงคาน เป็นเขตที่ทําการเกษตรได้ดี มีประชากรหนาแน่นมากกว่าเขตอื่น ภูมิประเทศส่วนใหญ่ เป็นเทือกเขาในแนวทิศเหนือใต้ โดยมีที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา ขนาดไม่ใหญ่มากนัก สลับอยู่แนวเทือกเขาเหล่านั้น หินที่พบในบริเวณนี้ส่วนใหญ่มีอายุมาก เช่นหินแปร ยุคไซลูเรียน - ดีโวเนียน อายุ 438-378 ล้านปี หินปูน ยุคดีโอเนียนตอนกลาง อายุ 385 ล้านปี หินตะกอนและหินแปรชั้นต่ำ อายุ 360-280 ล้านปี หินยุคคาร์บอนิเฟอรัส หินปูนและหินดินดาน ยุคเพอร์เมียน อายุ 286-248 ล้านปี หินตะกอน ยุคไตรแอสซิก อายุ 220 ล้านปี และพบหินยุคโคราช บริเวณเขายอดราบอยู่บนหินเหล่านี้เช่น ภูผาจิต ภูกระดึง ภูหลวง ภูหอ ภูขัด ภูเมี่ยง (อําเภอนาแห้ว) เนื่องจากชั้นหินเกือบทั้งหมดวางอยู่แนวเหนือ - ใต้ จึงควบคุมให้เกิดที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาและทิศทางแนวเหนือใต้ด้วย แม่น้ําเลยจึงไหลจากใต้ขึ้นเหนือ
ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดเลย อยู่ใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม จะมีลมมรสุมหรือแนวปะทะโซนร้อน (Inter Tropical Convergence Zone : ITCZ) พาดผ่านทำให้มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน และบางครั้งจะมีพายุหมุนเขนร้อน (Tropical Cycloen) เคลื่อนเข้ามาผ่านเป็นครั้งคราวซึ่งจะมีฝนตกหนัก
จังหวัดเลย เคยมีอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ -1.3 องศาเซลเซียส (2 มกราคม พ.ศ. 2517) อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 43.5 องศาเซลเซียส (25 เมษายน พ.ศ. 2517) อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 25.5-26.5 องศาเซลเซียส และจะมีอุณหภูมิที่หนาวจัดในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 5.5 องศาเซลเซียส (พ.ศ. 2557)
ข้อมูลภูมิอากาศของจังหวัดเลย (พ.ศ. 2504-2533) | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 29 (84) |
32 (90) |
34 (93) |
35 (95) |
33 (91) |
32 (90) |
32 (90) |
31 (88) |
31 (88) |
30 (86) |
29 (84) |
28 (82) |
31.3 (88.4) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 14 (57) |
17 (63) |
19 (66) |
22 (72) |
23 (73) |
23 (73) |
23 (73) |
23 (73) |
22 (72) |
21 (70) |
18 (64) |
15 (59) |
20 (68) |
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) | 6 (0.24) |
17 (0.67) |
37 (1.46) |
95 (3.74) |
213 (8.39) |
164 (6.46) |
159 (6.26) |
177 (6.97) |
226 (8.9) |
117 (4.61) |
17 (0.67) |
3 (0.12) |
1,231 (48.46) |
[ต้องการอ้างอิง] |
หน่วยการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาคและการปกครองส่วนท้องถิ่น
จังหวัดเลย แบ่งการปกครองออกเป็น 14 อำเภอ 89 ตำบล (ไม่รวมตำบลกุดป่องซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเลย) 918 หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเลยมีทั้งหมด 101 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย, เทศบาลเมือง 2 แห่ง คือ เทศบาลเมืองเลย และเทศบาลเมืองวังสะพุง, เทศบาลตำบล 27 แห่ง, และองค์การบริหารส่วนตำบล 71 แห่ง
แผนที่ขอบเขตของอำเภอในจังหวัดเลย | ||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
หมายเลขในแผนที่ | รหัสเขตการปกครอง | ชื่ออำเภอ | อักษรโรมัน | พื้นที่
(ตร.กม.) |
ประชากร
(คน) |
ความหนาแน่น
(คน/ตร.กม.) |
ระยะห่างจาก
ศาลากลางจังหวัด (กม.) |
จำนวนตำบล | จำนวนหมู่บ้าน | รหัสไปรษณีย์ |
1 | 4201 | เมืองเลย | Mueang Loei | 1480.49 | 123,560 | 83.46 | 0 | 14 | 135 | 42000,42100 |
2 | 4202 | นาด้วง | Na Duang | 590.00 | 26,432 | 44.80 | 37 | 4 | 40 | 42210 |
3 | 4203 | เชียงคาน | Chiang Khan | 867.00 | 60,828 | 70.16 | 48 | 8 | 82 | 42110 |
4 | 4204 | ปากชม | Pak Chom | 957.00 | 42,276 | 44.18 | 92 | 6 | 50 | 42150 |
5 | 4205 | ด่านซ้าย | Dan Sai | 1732.00 | 51,693 | 29.85 | 82 | 10 | 99 | 42120 |
6 | 4206 | นาแห้ว | Na Haeo | 628.00 | 11,689 | 18.61 | 117 | 5 | 34 | 42170 |
7 | 4207 | ภูเรือ | Phu Ruea | 880.00 | 22,587 | 25.67 | 49 | 6 | 47 | 42160 |
8 | 4208 | ท่าลี่ | Tha Li | 683.00 | 27,932 | 40.90 | 46 | 6 | 41 | 42140 |
9 | 4209 | วังสะพุง | Wang Saphung | 1145.00 | 111,116 | 97.05 | 22 | 10 | 144 | 42130 |
10 | 4210 | ภูกระดึง | Phu Kradueng | 709.00 | 34,526 | 48.70 | 74 | 4 | 54 | 42180 |
11 | 4211 | ภูหลวง | Phu Luang | 595.00 | 25,046 | 42.09 | 50 | 5 | 46 | 42230 |
12 | 4212 | ผาขาว | Pha Khao | 463.00 | 42,055 | 90.83 | 63 | 5 | 64 | 42240 |
13 | 4213 | เอราวัณ | Erawan | 262.00 | 34,004 | 129.79 | 42 | 4 | 47 | 42220 |
14 | 4214 | หนองหิน | Nong Hin | 435.00 | 24,988 | 57.44 | 47 | 3 | 34 | 42190 |
รายนามผู้ว่าราชการจังหวัดเลย
รายชื่อ | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|
1. หลวงศรีสงคราม (ท้าวคำแสน) | พ.ศ. - - 2396 |
2. หลวงศรีสงคราม (เหง้า) | พ.ศ. - - - |
3. หลวงราชภักดี (สนธิ์) | พ.ศ. - - 2416 |
4. หลวงวิเศษจางวาง | พ.ศ. - - - |
5. พระศรีสงคราม (มณี เหมาภา) | |
6. พระรามฤทธี (สอน วิวัฒนปทุม) | พ.ศ. 2450 - 2452 |
7. พระรณกิจปรีชา (รื่น สุคนธ์หงส์) | พ.ศ. 2452 - 2455 |
8. พระภักดีสงคราม (ดิษฐ โกมลบุตร) | พ.ศ. 2455 - 2456 |
9. พระยาประเสริฐสุนทราศรัย (กระจ่าง สิงหเสนี) | พ.ศ. 2456 - 2463 |
10. พระยาบรมราชบรรหาร (เย็น ภระมรทัต) | พ.ศ. 2464 - 2466 |
11. พระยาศรีนครชัย (ประสงค์ อมาตยกุล) | พ.ศ. 2466 - 2475 |
12. หลวงวิวิธสุรการ (ถวิน เจียรมานพ) | พ.ศ. 2476 - 2482 |
13. หลวงอนุการนพิจ (ปรารถ สุรัสวดี) | พ.ศ. 2482 - 2483 |
14. หลวงนิคมคณารักษ์ (เทียน กำเนิดเพชร) | พ.ศ. 2483 - 2487 |
15. นายทำนุก รัตนดิลก ณ ภูเก็ต | พ.ศ. 2487 - 2490 |
16. นายเหลือบ ปราบสัตรู | พ.ศ. 2490 - 2491 |
17. นายชุณห์ นกแก้ว | พ.ศ. 2491 - 2494 |
18. ขุนศรีวิเศษ (ยงยุทธ ศรีวิเศษ) | พ.ศ. 2494 - 2495 |
19. นายปรุง พหูชนม์ | พ.ศ. 2495 - 2497 |
20. พันตำรวจโท ต่อศักดิ์ ยมนาค | พ.ศ. 2497 - 2499 |
21. นายพยุง ตันติลีปิกร | พ.ศ. 2499 - 2500 |
22. นายสมบัติ สมบัติทวี | พ.ศ. 2500 - 2501 |
23. นายกิติ ยธการี | พ.ศ. 2501 - 2505 |
24. ร้อยตำรวจโท เรือง สถานานนท์ | พ.ศ. 2505 - 2508 |
25. นายกำเกิง สุรการ | พ.ศ. 2508 - 2512 |
26. นายสะอาด เหมศรีชาติ | พ.ศ. 2512 - 2514 |
27. นายวิจิน สัจจะเวทะ | พ.ศ. 2514 - 2516 |
28. นายสวัสดิ์ เฉลิมพงศ์ | พ.ศ. 2516 - 2519 |
29. นายเฉลียว จรัสศรี | พ.ศ. 2519 - 2520 |
30. นายชาญ พันธุมรัตน์ | พ.ศ. 2520 - 2521 |
31. นายอรุณ ปุสเทพ | พ.ศ. 2521 - 2522 |
32. นายพิชิต ลักษณะสมพงศ์ | พ.ศ. 2522 - 2523 |
33. นายทองคำ บานชื่น | พ.ศ. 2523 - 2527 |
34. นายสันติ มณีกาณจน์ | พ.ศ. 2527 - 2529 |
35. นายชีวิน สุทธิสุวรรณ | พ.ศ. 2529 - 2532 |
36. ร้อยเอก ศรีรัตน์ หริรักษ์ | พ.ศ. 2532 - 2534 |
37. พันตรี สิโรตม์ สุวรรณนาคินทร์ | พ.ศ. 2534 - 2536 |
38. ร้อยตรี สมนึก ชูวิเชียร | พ.ศ. 2536 - 2537 |
39. นายผไท วิจารณ์ปรีชา | พ.ศ. 2537 - 2538 |
40. นายวิพัฒน์ วิมลเศรษฐ | พ.ศ. 2538 - 2540 |
41. นายพีระ มานะทัศน์ | พ.ศ. 2540 - 2542 |
42. นายไพรัตน์ พจน์ชนะชัย | พ.ศ. 2542 - 2546 |
43. นายสำเริง เชื้อชวลิต | พ.ศ. 2546 - 2550 |
44. นายมานิตย์ มกรพงศ์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 - 30 กันยายน พ.ศ. 2552 |
45. นายพรศักดิ์ เจียรณัย | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 - 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 |
46. นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา | 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 - 30 กันยายน พ.ศ. 2556 |
47. นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556 - 30 กันยายน พ.ศ. 2559 |
48. นายคุมพล บรรเทาทุกข์ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 - 30 กันยายน พ.ศ. 2560 |
49. นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 - 30 กันยายน พ.ศ. 2563 |
50. นายชัยธวัช เนียมศิริ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 - 30 กันยายน พ.ศ. 2565 |
51. นายทวี เสริมภักดีกุล | 2 ธันวาคม พ.ศ. 2565 - 30 กันยายน พ.ศ. 2566 |
52. นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ | 17 ธันวาคม พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน |
ประชากรศาสตร์
ลักษณะทางสังคม
จังหวัดเลยมีโครงสร้างทางสังคมแบบจารีตประเพณี คนพื้นเมืองส่วนใหญ่จะต่างจากคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่ว ๆ ไปซึ่งมีเชื้อสายชาวลาวเวียงจันทน์และชาวลาวจำปาศักดิ์ แต่เป็นเชื้อสายชาวลาวหลวงพระบาง จึงมีประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรมหลายอย่างที่มีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสานของประเทศไทย
กลุ่มเชื้อชาติประชากร
- ชาวไทเลย เป็นชื่อเรียกคนเมืองเลย ในประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า คนเมืองเลยคือกลุ่มชนที่อพยพจากชายแดนตอนเหนืออาณาจักรสุโขทัย ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากไทหลวงพระบาง เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเซไล (บ้านทรายขาว อำเภอวังสะพุง ปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2396 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านแห่ (บ้านแฮ่ปัจจุบัน) ได้ตั้งบ้านเรือนเรียกว่าเมืองเลย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมืองเลยก็รวมตัวกันเป็นเมืองใหญ่ โดยการรวมตัวของ อำเภอกุดป่อง อำเภอท่าลี่ ซึ่งขึ้นกับมณฑลอุดร อำเภอด่านซ้าย ซึ่งขึ้นกับมณฑลพิษณุโลก เมืองเชียงคาน ซึ่งขึ้นกับเมืองพิชัย อำเภอต่าง ๆ เหล่านี้จึงโอนขึ้นกับเมืองเลยทั้งหมดตั้งแต่ พ.ศ. 2450 เป็นต้นมา ชาวไทเลยจะมีนิสัยใจคอเหมือนกับชนเชื้อชาติโบราณซึ่งไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปจากดั้งเดิม มีสำเนียงพูดที่แปลกและนิ่มนวล พูดสุภาพและไม่ค่อยพูดเสียงดัง กิริยามารยาทดีงาม อารมณ์เยือกเย็นไม่วู่วาม มีนิสัยรักความสงบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักถิ่นที่อยู่ไม่ค่อยอพยพไปอยู่ที่อื่น ส่วนทางด้านวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา ได้แก่ “ฮีตสิบสอง–คองสิบสี่” คือการทำบุญตามประเพณีทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี บ้านชาวไทเลยเป็นเรือนหลังใหญ่ ยกพื้นสูงมีระเบียงหรือชานยื่นออกมาหน้าเรือน มีเรือนครัวซึ่งส่วนใหญ่จะสร้างแยกต่างหากโดยมีชานต่อเชื่อมติดกัน สำหรับหลังคาของเรือนนอนมุงด้วยหญ้าคาหรือไม้แป้นเก็ด ฝาเรือน พื้นเรือนนิยมทำด้วยไม้แผ่นเรียกว่า ไม้แป้น ส่วนเสาจะใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นต้นๆ หรืออิฐก่อเป็นเสาใหญ่ มีบันไดไม้พาดไว้สำหรับขึ้นลง ส่วนเรือนครัวมุงด้วยหญ้าคา ฝาและพื้น จะนิยมทำด้วยฟากไม้ไผ่สับแผ่ออกเป็นแผ่น และเสาจะทำด้วยไม้เนื้อแข็งเช่นกัน
- ชาวไทดำ หรือไทยทรงดำ อพยพมาจากแคว้นพวน ในประเทศลาวปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านั้นอยู่ที่แคว้นสิบสองจุไท ซึ่งเป็นบ้านเกิดเดิมของชาวไทดำ ในอดีตแคว้นสิบสองจุไทเป็นเขตอาณาจักรสยาม ปัจจุบันอยู่ในประเทศเวียดนาม เมื่อปี พ.ศ. 2417 เมื่อพวกฮ่อยกกำลังมาตีเมืองเชียงขวาง ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญในแคว้นพวน จึงได้เริ่มอพยพลงมาตามเส้นทางเรื่อยๆ จนได้มาพักที่บ้านน้ำก้อใหญ่ ตำบลน้ำก้อ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมามีชาวไทยดำกลุ่มหนึ่ง ได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขง ไปยังบ้านน้ำกุ่ม แขวงเวียงจันทน์ แต่ในขณะนั้นเขตเวียงจันทน์มีปัญหาการเจรจากับฝรั่งเศส ไทดำจึงข้ามแม่น้ำโขงกลับมาตั้งหมู่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน ซึ่งเป็นถิ่นฐานดั้งเดิม และถาวรจนถึงปัจจุบัน ที่หมู่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน เมื่อปี พ.ศ. 2438 มี 15 ครัวเรือน ปัจจุบันชาวไทดำ มีจำนวน 825 ครัวเรือน มีอาชีพส่วนใหญ่ทางการเกษตรกรรม
- ชาวไทพวน ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านบุฮมและบ้านกลาง อำเภอเชียงคาน จากถิ่นฐานเดิมที่เมืองเตาไห หลวงพระบาง ประเทศลาว เมื่อครั้งพวกจีนฮ่อ กลา เวียง รุกรานเมืองเตาไห
- ชาวไทใต้ อพยพมาจากภาคอีสานเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเลย ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดยโสธร เมื่อ พ.ศ. 2506 จะพบชาวไทใต้จำนวนมากที่อำเภอเอราวัณ และอำเภอนาด้วง ภาษาพูด แตกต่างจากภาษาไทเลย เพราะได้สืบทอดมาจากถิ่นเดิมของตน เช่น ภาษาไทยอีสาน ภาษาถิ่นอุบล ภาษาไทยโคราช
ภาษาของคนจังหวัดเลย
มีสำเนียงภาษาแตกต่างจากภาษาพูดของคนในจังหวัดภาคอีสานอื่น ๆ เพราะกลุ่มคนที่อาศัยปัจจุบันนี้มีประวัติการอพยพเคลื่อนย้ายจากเมืองหลวงพระบางแห่งอาณาจักรล้านช้าง ต่อมาต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ชาวหลวงพระบางและชาวเมืองบริเวณใกล้เคียงที่อพยพมาเมืองเลยได้นำวัฒนธรรมด้านภาษาอีสานถิ่นอื่นเข้ามาด้วย โดยภาษาเลยนั้นจัดอยู่ในกลุ่มหลวงพระบางอันประกอบด้วยภาษาเมืองแก่นท้าว ภาษาอำเภอด่านซ้าย และภาษาอำเภอเมืองเลย ดังนั้นสำเนียงพูดของชาวไทเลยจึงมีลักษณะการพูดเหมือนชาวหลวงพระบาง แต่บางพยางค์ออกเป็นเสียงสูงคล้ายสำเนียงพูดของชาวปักษ์ใต้ ฟังดูไพเราะนุ่มนวลจึงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะคนเมือง ส่วนคนในวังสะพุงจะพูดเสียงห้วนกว่าชาวเลยถิ่นอื่น
การขนส่ง
จังหวัดเลยอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 540 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดเลยได้ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัวและรถประจำทาง
- การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพมหานคร สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ
- ใช้ถนนพหลโยธิน ผ่านจังหวัดสระบุรี แล้วแยกใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 ผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ จนถึงอำเภอหล่มสัก ต่อด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 203 เดิม) ผ่านอำเภอหล่มเก่า อำเภอภูเรือ เข้าสู่จังหวัดเลย
- ใช้ถนนพหลโยธิน จนถึงจังหวัดสระบุรี แล้วแยกใช้ถนนมิตรภาพ จนถึงอำเภอสีคิ้ว แยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอำเภอด่านขุนทด อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ อำเภอแก้งคร้อ อำเภอภูเขียว อำเภอชุมแพ อำเภอภูกระดึง อำเภอหนองหิน อำเภอวังสะพุง จนถึงจังหวัดเลย
- การเดินทางโดยทางเครื่องบิน โดยลงที่ท่าอากาศยานเลย มีสายการบิน นกแอร์ และไทยแอร์เอเชีย จาก ท่าอากาศยานดอนเมือง - ท่าอากาศยานเลย และ ท่าอากาศยานเลย - ท่าอากาศยานดอนเมือง สายการบินไทยสมายล์ จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - ท่าอากาศยานเลย และท่าอากาศเลย - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้บริการทุกวัน
- การเดินทางโดยรถโดยสาร รถโดยสารจากกรุงเทพมหานคร สายกรุงเทพฯ-เมืองเลย (สาย 29 และ 938) มีผู้ประกอบการหลายราย เช่น บริษัท ขนส่ง จำกัด(สาย 29) แอร์เมืองเลย (สาย29),ขอนแก่นทัวร์ (สาย 938),ชุมแพทัวร์(สาย 29),ภูกระดึงทัวร์,ศิขรินทร์ทัวร์ และสาย 14 กรุงเทพ - ภูเรือ ของ บริษัท เพชรประเสริฐ จำกัด และมีรถโดยสารระหว่างภาค สาย 808 นครราชสีมา-เชียงคาน และสาย 824 เลย-พัทยา-ระยอง ของบริษัทนครชัยขนส่ง สาย 636 เชียงใหม่-อุดรธานี ของบริษัทจักรพงษ์ทัวร์และอ.ศึกษาทัวร์ สาย 661 เชียงราย-นครพนม ของบริษัทสมบัติทัวร์ และจักรพงษ์ทัวร์ และมีสายอุดรธานี-พิษณุโลก ของนครไทยแอร์
- การเดินทางโดยรถไฟ จังหวัดเลยไม่มีเส้นทางรถไฟ ต้องเดินทางมาลงที่อุดรธานีแล้วต่อรถโดยสารมาจังหวัดเลย
ทางหลวงแผ่นดิน
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 (ถนนสีคิ้ว–เชียงคาน, ถนนมลิวรรณ)
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 210
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 211
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2195
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2014
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2113
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2114
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2138 (ถนนเลย–นาด้วง)
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ทางถนน
(จังหวัดเลยไปกรุงเทพฯ) จังหวัดเลยอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 543 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 (ถนนสระบุรี-หล่มสัก ) ถึงจังหวัดสระบุรี ตรงแยกพุแค แยกซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านจังหวัดอยุธยา(วังน้อย)มาถึงกรุงเทพมหานคร
ดัชนีความก้าวหน้าของคน
ดัชนีความก้าวหน้าของคน (หรือ HAI) เป็นดัชนีติดตามความก้าวหน้าในการพัฒนามนุษย์ในระดับจังหวัดของไทย เริ่มจัดทำตั้งแต่ปี 2546 โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (หรือ UNDP) ต่อมาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้ามาทำหน้าที่นี้แทนตั้งแต่ปี 2560
ดัชนีความก้าวหน้าของคน (จังหวัดเลย) ปี 2564[8] | |||
---|---|---|---|
ด้านสุขภาพ | ด้านการศึกษา | ด้านชีวิตการงาน | ด้านเศรษฐกิจ |
0.4431 | 0.4307 | 0.7629 | 0.7972 |
ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม | ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน | ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร | ด้านการมีส่วนร่วม |
0.7393 | 0.6931 | 0.7008 | 0.5930 |
ในปี 2564 จังหวัดเลย มีค่าดัชนีความก้าวหน้าของคนที่ 0.6297
มีค่าดัชนีในระดับ "ค่อนข้างต่ำ" เป็นลำดับที่ 52 ของประเทศ |
ต่อไปนี้ คือ ขอบเขตทั้งหมด 8 ด้าน ของการพัฒนามนุษย์ และลำดับดัชนีความก้าวหน้าของคนในแต่ละด้าน ของจังหวัดเลย ในปี 2564[8]
- ด้านสุขภาพ
(ลำดับที่ 74 ของประเทศ)
- ด้านการศึกษา
(ลำดับที่ 67 ของประเทศ)
- ด้านชีวิตการงาน
(ลำดับที่ 28 ของประเทศ)
- ด้านเศรษฐกิจ
(ลำดับที่ 4 ของประเทศ)
- ด้านที่อยู่อาศัยและชุมชนสภาพแวดล้อม
(ลำดับที่ 16 ของประเทศ)
- ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน
(ลำดับที่ 18 ของประเทศ)
- ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร
(ลำดับที่ 57 ของประเทศ)
- ด้านการมีส่วนร่วม
(ลำดับที่ 29 ของประเทศ)
เศรษฐกิจ
ในปี 2563 จังหวัดเลยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด 51,809 ล้านบาท โครงสร้างเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับ สาขาเกษตรกรรม รองลงมา คือ สาขาการขายส่ง ขายปลีก สาขาการศึกษา และสาขาอุตสาหกรรม ตามลําดับ รายละเอียด ดังนี้
- สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง มีมูลค่า 13,182 ล้านบาท สัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 25.4 โดยมีพืชเศรษฐกิจหลักที่สําคัญของจังหวัด ได้แก่ ยางพารา มันสําปะหลัง ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอ้อยโรงงาน
- สาขาการขายส่ง ขายปลีกฯ มีมูลค่า 7,130 ล้านบาท สัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 13.8
- สาขาการศึกษา มีมูลค่า 7,000 ล้านบาท สัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 13.5
- สาขาอุตสาหกรรม มีมูลค่า 5,271 ล้านบาท สัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 10.2
- สาขาการเงินและการประกันภัย มีมูลค่า 3,869 ล้านบาท สัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 7.5
- สาขาอื่น ๆ มีมูลค่ารวม 15,357 ล้านบาท สัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 29.6
ทรัพยากรธรรมชาติ
ป่าไม้
ประเภทพื้นที่ป่าไม้ | เนื้อที่ (ไร่-งาน-ตารางวา) | หมายเหตุ |
---|---|---|
ป่าไม้ถาวร | 68,498,100 | พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มอบให้ ส.ป.ก.
เพื่อนำไปปฏิรูปที่ดินให้แก่ราษฎร รวมเนื้อที่ 1,127,528,245 ไร่ ปัจจุบันคงเหลือ 2,745,847,155 ไร่ |
ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 22 แห่ง | 2,745,847,155 | |
อุทยานแห่งชาติ จำนวน 5 แห่ง | 475,475,100 | |
เขตรักษาพันธุ์สัตว์สัตว์ป่าจำนวน 2 แห่ง | 648,515,000 | |
รวม | 3,938,335,335 |
แหล่งน้ำ
จังหวัดเลย มีพื้นที่การเกษตร 2,601,573 ไร่ ได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานแล้วในเขตพื้นที่ส่งน้ำของโครงการชลประทานกลางแลละะขนาดเล็ก รวมพื้นที่ชลประทาน จำนวน 256,746 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9.87 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด เป็นแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นและแหล่งน้ำที่เกิดเองตามธรรมชาติ โดยมีการปรับปรุงเพื่อใช้ในการเกษตรกรรม รวมจำนวน 3,110 แห่ง และเป็นงานที่กรมชลประทานดำเนินการ 306 แห่ง และเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน จำนวน 2,344,827 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 89.82 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด
ประเภทโครงการ | จำนวน (แห่ง) | เก็บกักน้ำได้ (ล้านลูกบาศก์เมตร) | พื้นที่รับประโยชน์ (ไร่) |
---|---|---|---|
โครงการชลประทานขนาดกลาง | 14 | 69.882 | 22,185 |
โครงการชลประทานขนาดเล็ก | 240 | 29.653 | 134,358 |
สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า | 52 | - | 87,698 |
รวมพื้นที่ชลประทาน | 306 | 99.535 | 244,241 |
สัตว์ป่า
ประเภทสัตว์ป่า | จำนวน (ชนิด) |
---|---|
นก | 210 |
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม | 60 |
สัตว์สะเทือนน้ำสะเทือนบก และสัตว์เลื้อยคลาน | 38 |
ปลา | มากกว่า 10 |
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลสานตม อำเภอภูเรือ ทรัพยากรสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง มีความหลากหลายของชนิดและความชุกชุม เนื่องจากสภาพป่าดงดิบทึบเป็นที่หลบซ่อนของสัตว์ป่าได้อย่างดี และหลังจากได้ประกาศเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ป่าแล้วมีเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการล่าสัตว์ป่า จึงขยายพันธุ์ได้เร็วขึ้น งานสำรวจสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง พบว่ามีสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด เช่น ช้างป่า กวาง เก้ง เลียงผา หมี ค่าง ชะนี กระจง อีเห็น ชะมด ไก่ป่า ไก่ฟ้า และนกที่สวยงามหลายชนิด รวมทั้งเต่าปูลูซึ่งเป็นเต่าพันธุ์ประหลาดที่หายากชนิดหนึงของไทย ตลอดระยะทางเดินป่าจะมีรอยเท้าและร่องรอยของสัตว์ป่าเหล่านี้ปรากฎให้เห็นอยู่เสมอ
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูค้อ-ภูกระแต ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ตั้งอยู่ที่อำเภอวังสะพุง
อุทยานแห่งชาติ
- อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยู่ที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง
- อุทยานแห่งชาติภูเรือ ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยูที่ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ
- อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย (ชื่อเดิมคืออุทยานแห่งชาตินาแห้ว) ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยู่ที่อำเภอนาแห้ว
- อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยุ่ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก (พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-เลย)
- อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยู่ที่ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น (ขอนแก่น-เลย)
- อุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยู่ที่ตำบลนายูง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี (อุดรธานี-เลย-หนองคาย)
วนอุทยาน
- วนอุทยานถ้ำแสงธรรมพรหมมาวาส ที่ทำการวนอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลเจริญ อำเภอปากชม
- วนอุทยานน้ำตกห้วยเลา ที่ทำการวนอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลแก่งศรีภูมิ อำเภอภูหลวง
- วนอุทยานผางาม ที่ทำการวนอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองหิน
- วนอุทยานภูบ่อบิด ที่ทำการวนอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลนาอาน อำเภอเมืองเลย
- วนอุทยานภูผาล้อม ที่ทำการวนอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำสวย อำเภอเมืองเลย
- วนอุทยานหริรักษ์ ที่ทำการวนอุทยานฯ ตั้งอยูที่ตำบลกกทอง อำเภอเมืองเลย
สวนพฤกษศาสตร์
- สวนรุกขชาติ 100 ปี กรมป่าไม้ ปากปวน อำเภอวังสะพุง
- สวนรุกขชาติภูข้าว อำเภอนาด้วง
แหล่งท่องเที่ยว
- ถนนคนเดินเชียงคาน (ถนนชายโขง) อำเภอเชียงคาน
- Sky walk พระใหญ่ภูคกงิ้ว อำเภอเชียงคาน
- อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อำเภอภูกระดึง
- อุทยานแห่งชาติภูเรือ อำเภอภูเรือ
- ภูป่าเปาะ อำเภอหนองหิน
- ภูทอก อำเภอเชียงคาน
- ภูลมโล อำเภอด่านซ้าย
- สวนหินผางาม อำเภอหนองหิน
- ภูลำดวน อำเภอปากชม
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อำเภอภูเรือ
- ภูบ่อบิด อำเภอเมืองเลย
- ภูอิเลิศ อำเภอด่านซ้าย
- อ่างเก็บน้ำห้วยกระทิง อำเภอเมืองเลย
- อ่างเก็บน้ำฝายโพนเลา อำเภอเอราวัณ
- อ่างเก็บน้ำผานาง-ผาเกิ้ง อำเภอเอราวัณ
- วัดศรีโพธิ์ชัย อำเภอนาแห้ว
- วัดป่าห้วยลาด อำเภอภูเรือ
- วัดสมเด็จภูเรือมิ่งเมือง อำเภอภูเรือ
- วัดเนรมิตรวิปัสสนา อำเภอด่านซ้าย
- พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย
- พระธาตุสัจจะ อำเภอท่าลี่
- วัดถ้ำผาปู่ อำเภอเมืองเลย
- แก่งคุดคู้ อำเภอเชียงคาน
- แก่งโตน อำเภอท่าลี่
- ภูชมลาว อำเภอท่าลี่
- ภูพระ อำเภอด่านซ้าย
ประเพณีและเทศกาลรื่นเริง
- งานฤดูหนาววังสะพุง อำเภอวังสะพุง
- งานประเพณีผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย
- งานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย
- งานดอกฝ้ายบาน สืบสานวัฒนธรรมไทเลย และงานกาชาดจังหวัด อำเภอเมืองเลย
- งานแสดงไม้ดอกเมืองหนาว อำเภอภูเรือ
- งานออกพรรษาเชียงคาน อำเภอเชียงคาน
- งานแห่ผีขนน้ำ อำเภอเชียงคาน
- งานบุญบั้งไฟล้าน อำเภอเอราวัณ
- งานประเพณีสงกรานต์ไทยลาว อำเภอท่าลี่
- งานประเพณีแห่ต้นดอกไม้ ต.อาฮี อำเภอท่าลี่
- งานแก้วมังกร อำเภอภูเรือ
- งานประเพณีพญาช้างนางผมหอม อำเภอภูหลวง
กีฬา
สนามกีฬา
- สนามกีฬากลางจังหวัดเลย อำเภอเมืองเลย
- ศูนย์กีฬาเทศบาลเมืองเลย อำเภอเมืองเลย
- ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยราชภัฏเลย อำเภอเมืองเลย
ฟุตบอล
- เมืองเลย ยูไนเต็ด สโมสรฟุตบอลอาชีพในไทยลีก 3
การศึกษา
ระดับมัธยมศึกษา
- โรงเรียนเลยพิทยาคม อำเภอเมืองเลย (โรงเรียนสหศึกษาประจำจังหวัด)
- โรงเรียนเลยอนุกูลวิทยา อำเภอเมืองเลย
- โรงเรียนศรีสงครามวิทยา อำเภอวังสะพุง
- โรงเรียนเชียงคาน อำเภอเชียงคาน
- โรงเรียนภูกระดึงวิทยา อำเภอภูกระดึง
- โรงเรียนนาด้วงวิทยา อำเภอนาด้วง
- โรงเรียนภูเรือวิทยา อำเภอภูเรือ
- โรงเรียนสันติวิทยาสรรพ์ อำเภอผาขาว
- โรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา อำเภอด่านซ้าย
- โรงเรียนหนองหินวิทยาคม อำเภอหนองหิน
- โรงเรียนผาอินทร์แปลงวิทยา อำเภอเอราวัณ
- โรงเรียนภูหลวงวิทยา อำเภอภูหลวง
- โรงเรียนปากชมวิทยา อำเภอปากชม
- โรงเรียนท่าลี่วิทยา อำเภอท่าลี่
- โรงเรียนนาแห้ววิทยา อำเภอนาแห้ว
ระดับอุดมศึกษา
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย อำเภอเมืองเลย
- มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์เลย อำเภอเมืองเลย
- มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีล้านช้าง อำเภอเมืองเลย
โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา
- โรงเรียนศรีจันทร์วิทยา วัดศรีสุทธาวาส ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย
- โรงเรียนวัดศรีภูเรือ วัดศรีภูเรือ ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ
- โรงเรียนโกวิทวิทยา วัดจันทรังษี ตำบลวังสะพุง อำเภอวังสะพุง
- โรงเรียนวัดวังสะพุงพัฒนาราม วัดวังสพุงพัฒนาราม ตำบลวังสะพุง อำเภอวังสะพุง
- โรงเรียนธรรมนิเทศก์วิทยา วัดเอราวัณพัฒนาราม ตำบลผาอินทร์แปลง อำเภอเอราวัณ
- โรงเรียนวัดศรีวิชัยวนาราม วัดศรีวิชัยวนาราม ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย
- โรงเรียนวัดศรีสุวรรณวนารามวิทยา วัดศรีสุวรรณวนาราม ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง
- โรงเรียนวัดศรีภูกระดึง วัดศรีภูกระดึงพัฒนาราม ตำบลภูกระดึง อำเภอภูกระดึง
- โรงเรียนวัดสันติวนารามวิทยา วัดสันติวนาราม ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน
- โรงเรียนวัดศรีบุญเรืองปริยัติศึกษา วัดศรีบุญเรือง ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย
- โรงเรียนวัดลาดปู่ทรงธรรมวิทยา วัดลาดปู่ทรงธรรม ตำบลท่าลี่ อำเภอท่าลี่
- โรงเรียนปริยัติสามัญวัดโพนชัย วัดโพนชัย ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย
- โรงเรียนวัดศรีบุญเรืองวิทยา วัดศรีบุญเรือง ตำบลวังสะพุง อำเภอวังสะพุง
- โรงเรียนวัดถิ่นฐานรังสิตวิทยา วัดถิ่นฐานรังสิต ตำบลภูกระดึง อำเภอภูกระดึง
- โรงเรียนวัดขามชุมวิทยาสรรพ์ วัดขามชุม ตำบลหนองหิน อำเภอหนองหิน
บุคคลที่มีชื่อเสียง
พระเถระ/ภิกษุสามเณร
- พระครูวารีศรีสวัสดิ์อินทร (หลวงปู่ถิน) พระอริยสงฆ์
- หลวงปู่ญาท่านบุดดา สุธมฺมา พระอริยสงฆ์
- พระครูสันทัดคณานุการ (หลวงปู่จัน)พระอริยสงฆ์
- พระครูโอภาสสิริคุณ เกจิอาจารย์
- หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระอริยสงฆ์
- หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ พระอริยสงฆ์
- พระธรรมวราลังการ พระอริยสงฆ์
- หลวงปู่คำดี ปภาโส พระอริยสงฆ์
- หลวงปู่หลุย จนทสาโร พระอริยสงฆ์
- พระราชญาณวิสุทธิโสภณ พระอริยสงฆ์
- หลวงพ่อขันตี ญาณวโร พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่
- พระครูวิสุทธิ์โพธิสาร มหาเถระชั้นผู้ใหญ่
- หลวงปู่ดาด สิริปุญโญ พระอริยสงฆ์ ศิษย์เอกหลวงปู่ชอบ ฐานสโม
- พระสิริรัตนเมธี,ดร. (บุญเพ็ง ป.ธ.6)
- พระศรีวชิราภรณ์ (เกรียงไกร กิตฺติเมธี ป.ธ.9 ,ดร.) รองเจ้าคณะภาค8
- พระอาจารย์พิชัยภูษิต ธมฺมวิชโย นักเทศน์นักบรรยาย
นักแสดง/บุคคลที่มีชื่อเสียง
- ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเลย
- อัสนี โชติกุล นักร้อง, นักดนตรี
- วสันต์ โชติกุล นักร้อง, นักดนตรี
- สังคม ทองมี ครูสอนศิลปะ
- มีศักดิ์ ปักษ์ชัยภูมิ อดีตนักจักรยานทีมไทย
- รุ้งลาวัลย์ โทนะหงษา นักแสดง
- ยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับภาพยนตร์
- ประจวบ บัวระภา อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย
- ศาสตราจารย์ ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- พิยะดา หาชัยภูมิ (หมอเอิ้น) นักแต่งเพลง
- เชิดชัย สุวรรณนัง อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย
- กิตติพงษ์ เสนานุช ดีเจโน๊ต นักจัดรายการวิทยุ
- อภิวัฒน์ ชินอักษร (ป๊อบ) นักร้อง-แร็ปเปอร์
- เบนซ์ เมืองเลย นักร้อง
- กระต่าย พรรณิภา นักร้องเพลงลูกทุ่ง
- ดุจดาริกา ปัญญะ (อิงดาว) อดีตนักร้องเพลงลูกทุ่งหมอลำ
- วรรณปิยะ ออมสินนพกุล นักแสดง
- ธนัตถ์ศรันย์ ซำทองไหล นักแสดง
- ร.ต.อ.เวหา สายสิงห์ อดีตรอง สวป.สภ.ผาขาว จ.เลย
อ้างอิง
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอน 318 ง หน้า 14 วันที่ 19 ธันวาคม 2566
- ↑ กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร. สำนักงานจังหวัดเลย. "ข้อมูลจังหวัดเลย: สภาพทั่วไป สิ่งแวดล้อม และการวิเคราะห์." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.loei.go.th/data/POP40.DOC [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_64.pdf 2564. สืบค้น 7 กุมภาพันธ์ 2565.
- ↑ https://ww2.loei.go.th/content/tree
- ↑ บอกหัวเมืองขอตั้งตำแหน่ง ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 5 หน้า 123
- ↑ https://ww2.loei.go.th/content/general
- ↑ https://ww2.loei.go.th/news_devpro1
- ↑ 8.0 8.1 https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=Social_HAI
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์กลางของทุกธุรกิจในจังหวัดเลย
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด
- เว็บไซต์ข้อมูลที่พักร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเลย
- ท่าอากาศยานเลย เก็บถาวร 2011-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สายการบิน นกแอร์ เก็บถาวร 2011-04-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สายการบิน Solar Air เก็บถาวร 2017-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สายการบิน Happy Air เก็บถาวร 2016-01-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- จังหวัดเลย - อีสานร้อยแปด
17°29′N 101°44′E / 17.49°N 101.73°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ จังหวัดเลย
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย