ฃ
ฃ เป็นพยัญชนะตัวที่ 3 จากพยัญชนะทั้งหมด 44 ตัวในอักษรไทย อยู่ในลำดับถัดจาก ข และก่อนหน้า ค จัดอยู่ในกลุ่มอักษรสูงในระบบไตรยางศ์ มีชื่อเรียกกำกับว่า "ฃ ขวด" เข้าในพวกกัณฐชะ (เกิดจากเพดานอ่อน) เป็นพยัญชนะชนิดหัวหยักหรือหัวแตก[1] ออกเสียงอย่าง ข เมื่อเป็นพยัญชนะต้น แทนเสียง [kʰ][2] ซึ่งเดิมทีนั้น ได้มีการคาดกันว่าเสียงของ ฃ นั้นมีความแตกต่างจากเสียง ข แต่กลับเพี้ยนไป
อักษรไทย | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ฃ | |||||||
รูปพยัญชนะ | |||||||
ก | ข | ฃ | ค | ฅ | ฆ | ง | จ |
ฉ | ช | ซ | ฌ | ญ | ฎ | ฏ | ฐ |
ฑ | ฒ | ณ | ด | ต | ถ | ท | ธ |
น | บ | ป | ผ | ฝ | พ | ฟ | ภ |
ม | ย | ร | ล | ว | ศ | ษ | ส |
ห | ฬ | อ | ฮ | ||||
รูปสระ | |||||||
ะ | –ั | า | –ํ | –ิ | ' | " | |
–ุ | –ู | เ | โ | ใ | ไ | –็ | |
อ | ว | ย | ฤ | ฤๅ | ฦ | ฦๅ | |
รูปวรรณยุกต์ | |||||||
–่ | –้ | –๊ | –๋ | ||||
เครื่องหมายอื่น ๆ | |||||||
–์ | –๎ | –ฺ | |||||
เครื่องหมายวรรคตอน | |||||||
ฯ | ฯลฯ | ๆ | |||||
๏ | ๚ | ๛ | ┼ |
ปัจจุบันไม่มีคำศัพท์ในหมวดคำ ฃ ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 โดยระบุว่า ฃ เป็นอักษรที่ไม่นิยมใช้แล้ว[3] อย่างไรก็ตาม ยังมีการใช้อักษร ฃ ในบางแวดวง นัยว่าเพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้ตัวอักษรไทยมีใช้ครบ 44 ตัว รวมถึงมีการพูดถึงการฟื้นฟูการใช้งานอักษร ฃ ขึ้นมาใหม่ รวมทั้งในแบบเรียนอักษรไทยและบนแป้นพิมพ์ภาษาไทยก็ยังคงมีอักษร ฃ อยู่
อักษร ฃ นี้เป็นอักษรของไทยดั้งเดิม และไม่ปรากฏในชุดอักษรภาษาอื่น ๆ ซึ่งหมายความว่า ในชุดอักษรภาษาอื่น ๆ ที่ลำดับอักษร ก ข ค ฆ ง แบบเดียวกันกับอักษรอินเดีย เช่น อักษรเทวนาครี อักษรขอม อักษรมอญ ฯลฯ ล้วนไม่มีตัวอักษร ฃ ทั้งสิ้น จึงให้เหตุผลว่า อักษร ฃ น่าจะเป็นการประดิษฐ์แทรกเช่นเดียวกับอักษร ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ ฯลฯ เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใน พ.ศ. 1826 และก็ได้เติมพยัญชนะและวรรณยุกต์เข้าในวรรคอักษรแบบอินเดีย เพื่อใช้แทนเสียงที่ภาษาในสมัยนั้นมีอยู่ให้ครบถ้วน[4] หรือไม่ก็คาดว่า ฃ ได้รับการดัดแปลงมาจากภาษาสันสกฤต
นอกจากตัวอักษร ฃ จะปรากฏในภาษาไทยแล้ว ตัวอักษร ฃ นี้ยังมีประวัติการใช้งานอยู่ในภาษาไทยถิ่นอื่นอีก เช่น คำเมือง[5] (ของอาณาจักรล้านนา) ภาษาไทขาว เป็นต้น
ประวัติ
แก้สมัยสุโขทัย
แก้หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏการใช้ ฃ ในภาษาไทย คือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (จารึกเมื่อ พ.ศ. 1826) พบว่ามีการใช้ ฃ อยู่ 11 คำ[6][7] ได้แก่ ฃบบ → ฃับ (ขับร้อง)[a], ฃ๋า → ฃ้า (ข้า → ฆ่า)[b], ฃาม (มะขาม), ฃาย (ขาย), เฃา (ภูเขา), เฃ๋า → เฃ้า (เข้า)[c], ฃึ๋น → ฃึ้น (ขึ้น), ฃอ (ตะขอ) [8], ฃุน (ขุน), ฃวา (ขวา), แฃวน (แขวน)
นอกจากนั้น นักประวัติศาสตร์ยังได้พบกับร่องรอยของการใช้ ฃ ในจารึกอีกหลายแห่งในประเทศไทย เช่น จารึกป้านางเมาะ[9] จารึกพ่อขุนรามพล[10] จารึกวัดกำแพงงาม[11] และจารึกแสดงผลกรรมนำสู่นิพพาน[12] ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานไว้ว่าอักษร ฃ เป็นอักษรที่ปรากฏครั้งแรกในปี พ.ศ. 1935
ปัจจุบัน นักภาษาศาสตร์ได้นำคำที่ใช้เขียนด้วย ข และ ฃ ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ไปเปรียบเทียบกับภาษาไทถิ่นอื่น ๆ เช่น ไทขาว ก็พบว่าเป็นคำที่ใช้เสียงประเภทเดียวกัน และแยกเสียง ข และ ฃ เหมือนกัน เพราะคำเหล่านี้เป็นคำที่เป็นมรดกตกทอดมาจากภาษาไทโบราณเก่าแก่ตั้งแต่ยังไม่มีอักษรเกิดขึ้น ภาษาไทถิ่นยังใช้คำเหล่านี้อยู่ แต่ว่าเสียงเพี้ยนไป โดยร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถสังเกตได้ชัดเจนจากศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่าเริ่มมีการใช้ ข และ ฃ อย่างสับสน และใช้แทนที่กันในหลายแห่ง เช่น บ้างก็ใช้ ขุน บ้างก็ใช้ ฃุน [13]
นอกจากนี้ นักภาษาศาสตร์อ้างว่าการออกเสียง ฃ ในอดีตคือ [x] ซึ่งออกเสียงแตกต่างจาก ข [kʰ] ปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นเสียงนี้ในภาษาไทสาขาอื่น ๆ เช่น ภาษาไทลื้อ ซึ่งยังคงสงวนเสียง [x] อยู่[14] ผู้ที่ประดิษฐ์อักษรไทยสมัยสุโขทัยนั้น ได้ทราบการแตกต่างในการออกเสียง จึงได้ประดิษฐ์อักษรที่แตกต่างกัน เพื่อแทนค่าการออกเสียงของทั้งสองเสียงนี้
สมัยอยุธยาและธนบุรี
แก้ครั้นถึงสมัยอาณาจักรอยุธยา ตัวภาษาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาก[15] ซึ่งคาดว่าอาจเป็นเพราะว่ามีการใช้ศัพท์ใหม่เพิ่มเข้ามา[16] จากนั้นพบว่ามีการใช้ ฃ เริ่มลดลง แม้จะยังพอมีใช้กันบ้าง ทว่าไม่ปรากฏหลักเกณฑ์การใช้ ฃ ในตำราว่าด้วยอักขรวิธีของไทยในสมัยนั้น อีกทั้งพบว่าหลงเหลือหลักฐานอยู่น้อยมาก เช่น จารึกบนแผ่นอิฐมอญ จำนวน 3 ชิ้น ซึ่งพบที่ฝาผนังอุโบสถวัดท่าพูด อำเภอสามพราน[17]
สมัยรัตนโกสินทร์
แก้ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาศรีสุนทรโวหารได้ระบุคำที่เขียนด้วย ฃ ในหนังสือชื่อ นิติสารสาธก เล่ม 1 ได้แก่ ฃอ[8], ฃ้อความ, ฃัน, ฃาน, ฃาด, ฃายหน้า, ฃำ, เฃา, เฃ้า, ฃุน, ไฃ, โฃก, ฃอง, เฃียน, ฃยัน และฃลุม
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือ "อักขราภิธานศรับท์" ของหมอบรัดเลย์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2416 พบคำที่ใช้ ฃ ขวด[18] ได้แก่ "ฃิก, ฃุก ๆ, ฃุกฃัก, ฃุกค่ำฃุกคืน, เฃกหัว, เฃกโฃก, แฃก, โฃก, ฃอกรั้ว, ฃงจู๊ และ ฃัง" (เฉพาะคำว่า "ขัง" พอเป็นลูกคำ เช่น ขังไก่ ขังคน ฯลฯ ใช้ ข ไข่ทั้งหมด) คำว่า "ข้าง" ใช้ ฃ ขวดก็มี ข ไข่ก็มี ส่วนคำที่ใช้ ข "ขิง, ขึง, ขึ้ง เข่ง, แขง, แข่ง, แข้ง, โขง, โข่ง, ของ" (รวมทั้งลูกคำ ยกเว้น ของสงฆ์) อันแสดงให้เห็นถึงความไม่มีเอกภาพในการใช้ ข ไข่ และ ฃ ขวด
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2470 ก็มีการระบุไว้ว่า "ฃ เป็นพยัญชนะตัวที่สามของพยัญชนะไทย แต่บัดนี้ไม่มีที่ใช้ "[19] เป็นอันหมดวาระของ ฃ ลง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2485[20] ซึ่งทำการลงมติให้ตัดตัวอักษรที่มีเสียงซ้ำกันออกไปหลายตัว รวมไปถึง ฃ ด้วย[21] โดยให้เปลี่ยนไปใช้ ข แทนทั้งหมด[22] แต่หลังจากใช้แบบอักษรใหม่เป็นเวลา 2 ปี ก็กลับมาใช้อย่างเดิมอีก
จนถึงปัจจุบัน แม้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 จนถึงฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2542 ก็ได้ให้คำอธิบายตัวอักษร 2 ตัวคือ ฃ และ ฅ ว่า "เลิกใช้แล้ว "[3][23] ทั้งที่ไม่เคยมีการประกาศเลิกใช้อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด[24] ในสมัยหลังมา ปรากฏว่าใช้คำว่า เฃตร ที่ใช้พยัญชนะ ฃ อยู่เพียงคำเดียว จึงได้เรียกชื่ออักษรดังกล่าวว่า "ฃ เฃตร" แต่ภายหลังคำว่า "เฃตร" ก็เลิกใช้ไปอีก โดยแปลงเป็นเขตแทน ทำให้คำที่ปรากฏว่าใช้ ฃ ขวด ไม่มีอีกแล้วในภาษาไทย
การหายไป
แก้สำหรับสาเหตุที่ทำให้มีการเลิกใช้ ฃ (ขวด) และ ฅ (คน) ไปอย่างสิ้นเชิงทีเดียวเลยนั้น คงเนื่องมาจากว่า เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยยุคแรกในปี พ.ศ. 2434 (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งนายเอ็ดวิน ฮันเตอร์ แมคฟาร์แลนด์ได้ดัดแปลงเครื่องพิมพ์ดีดมาจากแบบของโรงงานสมิทพรีเมียร์นั้น ตัวแป้นพิมพ์มีตัวอักษรไม่เพียงพอที่จะรองรับอักษรไทยทั้งหมด และด้วยเหตุผลที่ว่า "[ฃ] เป็นพยัญชนะที่ไม่ค่อยได้ใช้ และสามารถทดแทนด้วยพยัญชนะตัวอื่นได้"[25] จึงมีการตัดพยัญชนะออก 2 ตัว คือ ฃ และ ฅ[19] ซึ่งศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือ "ตำนานอักษรไทย"
ส่วนการหายไปของ ฃ ในทางภาษาศาสตร์นั้น นักภาษาศาสตร์ได้ทำการศึกษาประวัติของพยัญชนะ ฃ และสันนิษฐานว่า ฃ เดิมมีฐานเสียงที่แตกต่างจากฐานเสียงของ ข โดยมีลักษณะเสียงเป็น พยัญชนะลิ้นไก่อโฆษะ ซึ่งพบได้ในภาษาต่าง ๆ ในกลุ่มภาษาไท และภาษาอื่น ๆ [7] กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เสียง ฃ และ ฅ ในสมัยสุโขทัยนั้นออกเสียงลึกกว่าเสียง ข (ไข่) และ ค (ควาย) เวลาที่ออกเสียง ข (ไข่) และ ค (ควาย) โคนลิ้นแตะที่เพดานอ่อน ส่วน ฃ และ ฅ นั้น โคนลิ้นจะแตะที่ส่วนที่ถัดเพดานอ่อนเข้าไปอีก ซึ่งในปัจจุบันไม่มีเสียงนี้แล้วในภาษาไทยมาตรฐาน[26]
และสำหรับการที่ ฃ และ ฅ ค่อย ๆ หายไปจากภาษาปัจจุบันนั้น ยังเกิดจากอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นลักษณะธรรมชาติของภาษาที่ว่า เสียงใดเป็นเสียงโดดเดี่ยว ไม่มีความสัมพันธ์กับพยัญชนะใดเป็นพิเศษจะเปลี่ยนแปลงเสียง หรือสูญเสียเสียงได้เร็วกว่าพยัญชนะที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น ยกตัวอย่างเช่น ป ต จ ก อ ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น เพราะเป็นเสียงก้อง ไม่มีลม แต่เนื่องจาก ฃ และ ฅ เป็นเสียงโดดเดี่ยว ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ฐานที่เกิดขึ้นจาก ฃ และ ฅ จะเขยิบขึ้นมากลายเป็น ข และ ค ตามลำดับ[27] ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุลได้กล่าวว่า "...คนไทยในสมัยปัจจุบันไม่ได้มีหน่วยเสียงเสียดแทรกที่ฐานกรณ์ลิ้นไก่อยู่เหมือนในสมัยพ่อขุนรามคำแหง การค้นพบเสียงนี้ในภาษาไทขาวในประเทศเวียดนามและในภาษาตระกูลกัม-สุย (Kam-Sui) ในประเทศจีนช่วยให้ข้อสันนิษฐานในบทความนี้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น แต่การที่จะคิดว่าควรให้ภาษาไทขาวหรือภาษาตระกูลกัม-สุย เป็นต้นแบบสำหรับให้คนไทยหัดออกเสียง /q/ และเสียง /ɢ/ ตลอดจนความพยายามที่จะรื้อฟื้นนำ ฃ และ ฅ กลับมาใช้ใหม่นั้น คงเป็นความพยายามประเภทที่คนไทยเรียกว่า "ขี่ช้างจับตั๊กแตน"..."[27]
ฃ ในภาษาไทยถิ่นเหนือ
แก้ฃ ( (ᨢ) ฃ๋ะ) ในภาษาไทยถิ่นเหนือยังมีใช้อยู่[5] แต่พบว่าในคัมภีร์ใบลานไม่ปรากฏอักษร ฃ บ่อยครั้งนัก เพราะตัวอักษร ฃ ยังไม่เด่นชัด คาดว่าน่าจะเป็นเพราะ ฃ สามารถใช้อักษร ข หรือ ขร (ᨡᩕ) แทนได้ โดยไม่ทำให้เสียงหรือความหมายต่างกันมากนัก และในการเขียนก็ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัวว่าศัพท์ใดจะต้องใช้อักษร ฃ จึงเห็นได้ชัดว่ามีการเขียนที่ใช้อักษร ฃ และ ข สลับกันในศัพท์เดียวกันหรือข้อความที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น ในพจนานุกรมภาษาล้านนาจึงอาจบันทึกได้ว่าเคยปรากฏการใช้อักษร ฃ นี้ในฐานะพยัญชนะต้นของคำในอดีต แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้วเหมือนกับภาษาไทยกลาง
และที่น่าสังเกตก็คือ การที่มีการเขียน ขร- อยู่บ้างนั้น อาจเป็นร่องรอยของอักษร ฃ เพราะอักษร ร ที่กำกับอยู่นั้น เป็นสัทลักษณ์ให้ออกเสียง ฃ ทำให้ต้องพยายามค้นหาคำที่อักษร ฃ นี้ขึ้น เพื่อให้เห็นอดีตแห่งอักษรศาสตร์ล้านนา และจากการศึกษาของศาสตราจารย์ฟาง เกว่ย ลี ท่านเห็นว่าอักษร ฃ นี้เป็นพยัญชนะสำคัญอันหนึ่งในภาษาไทดั้งเดิม ซึ่งมีเสียงเสียดแทรกและไม่ก้อง และท่านได้สันนิษฐานศัพท์ที่เคยใช้อักษรนี้เป็นพยัญชนะต้นได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจสถาปนารูปศัพท์ให้ตรงกันกับศัพท์สันนิษฐานไว้ดังปรากฏในพจนานุกรม[28] นอกจากนั้น ยังมีผู้สังเกตว่าคำที่เขียนด้วยตัว ข กับ ฃ มีความหมายแตกต่างกัน[29]
ฃ เทียบกับ กฺษ ในภาษาสันสกฤต
แก้จิตร ภูมิศักดิ์ ระบุว่านักวิชาการบางคนว่า ฃ อาจประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้แทนกับอักษร กฺษ (क्ष) ในภาษาสันสกฤต ซึ่งออกเป็นเสียงหนึ่งต่างหาก[30] เช่น
คำที่ใช้ ฃ | คำที่ใช้ กฺษ |
---|---|
*ฃมา | กษมา, ษมา |
*ฃัตติยะ | กษัตริย์ |
*ฃัย | กษัย, ขษัย |
*เฃตต์, เฃตร | เกษตร |
*นักฃัต (ฤกษ์) | นักษัตร |
- หมายเหตุ: ดอกจันนำหน้าหมายถึงคำที่สร้างขึ้นจากพื้นฐานของภาษาศาสตร์ อาจไม่มีคำนี้อยู่จริงก็ได้
รูปร่างของตัวอักษรก็น่าจะมาจากการเขียน ก กับ ษ หวัดติดกัน สำหรับอักษรปัจจุบันอาจจะพอเป็นไปได้ แต่จิตรก็ได้แย้งไว้ว่า ในอักษรโบราณอย่างราวยุคพ่อขุนรามคำแหงนั้น การเขียนเช่นนั้นไม่คล้ายและไม่มีเค้าของตัว ฃ เลย บ้างก็ว่า ฃ เป็นตัวอักษรที่ใช้ในภาษาบาลี ในขณะที่ภาษาสันสกฤตจะใช้ตัว กฺษ เสมอ[31]
สถานะปัจจุบัน
แก้ในวันภาษาไทยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ได้มีความพยายามในการรื้อฟื้นการใช้งานตัวอักษร ฃ และ ฅ ขึ้นใหม่ พร้อมกับเสนอให้แก้ข้อความในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ใหม่เป็นคำว่า "ปัจจุบันไม่ปรากฏที่ใช้งาน " แทนคำว่า "เลิกใช้แล้ว " เพื่อป้องกันความสับสนด้วย โดยรวมไปถึงการคงอักษร ฃ และ ฅ บนแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ตามประกาศของคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม[32] อักษร ฃ ตรงกับรหัสฐานสิบหก A3 (หรือ 163 ฐานสิบ) บนชุดอักขระ TIS-620[33] และตรงกับรหัสยูนิโคด U+0E03[34]
เชิงอรรถ
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ วันเพ็ญ สกุลทอง (ตุลาคม 2009). การสร้างแบบเรียนเรื่องพยัญชนะไทย สำหรับชาวต่างชาติ (PDF) (ศศ.ม.). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
- ↑ จำนงค์ ทองประเสริฐ (เมษายน–มิถุนายน 1994). "ภาษาไทยของเราดี เป็นศักดิ์ศรีของชาติ". ราชบัณฑิตยสถาน. 19 (3): 11–23. ISSN 0125-2968.
- ↑ 3.0 3.1 "ฃ". พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2008.
- ↑ ทำไมถึงเลิกใช้ ฃ และ ฅ เรือนไทย. 10 เมษายน 2007.
- ↑ 5.0 5.1 มาลา คำจันทร์ (2008). พจนานุกรมคำเมือง. เชียงใหม่: บุ๊คเวิร์ม. ISBN 978-974-84-1855-1.
- ↑ "ฃ กับ ฅ ในภาษาไทย 5 นาที". 16 ตุลาคม 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 มกราคม 2008. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2008.
- ↑ 7.0 7.1 นิตยา กาญจนะวรรณ (2007). "ฃ กับ ฅ หายไปไหน (๑)". ราชบัณฑิตยสถาน. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2013. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2008.
- ↑ 8.0 8.1 "ฃ-ฅ-ฦ-ฦๅ เป็น "ตัวอักษรไทยที่ไม่ใช้แล้ว" จริงหรือ ?". ชีวิตกับวรรณกรรม. ประพันธ์สาส์น. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2010. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2008.
- ↑ "จารึกป้านางเมาะ". จารึกในประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 24 กรกฎาคม 2019 [2007].
- ↑ "จารึกพ่อขุนรามพล". จารึกในประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 24 กรกฎาคม 2019 [2007].
- ↑ "จารึกวัดกำแพงงาม". จารึกในประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 14 กรกฎาคม 2021 [2007].
- ↑ "จารึกแสดงผลกรรมนำสู่นิพพาน". จารึกในประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 2 กรกฎาคม 2021 [2007].
- ↑ วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์. "อักษรไทยสมัยสุโขทัย". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 พฤษภาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2008 – โดยทาง เว็บสนุก.
- ↑ Li, Fang-kuei (1977). "A Handbook of Comparative Tai". Oceanic Linguistics Special Publications. Honolulu: University of Hawai’i Press (15).
- ↑ Thomas J. Hudak, บ.ก. (27 กันยายน 2009). "About Thai Language". Thai Language Audio Resource center (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ นิติพงศ์ พิเชฐพันธุ์, บ.ก. (29 สิงหาคม 2007). "มองลักษณะเด่นของภาษาไทยสมัยอยุธยาผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านศัพท์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 ธันวาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2008.
- ↑ "จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา". tv5.co.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กันยายน 2008. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2008.
- ↑ ชัยแสงทิพย์, บ.ก. (28 พฤษภาคม 2013). "ข.ขวดและค.คนหายไปไหน?". โอเคเนชั่น.
- ↑ 19.0 19.1 พิสูจน์ ใจเที่ยงกุล, บ.ก. (11 มิถุนายน 2007). "ฃ และ ฅ พยัญชนะไทย ที่น่าสงสาร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2008.
- ↑ กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ (กรกฎาคม–ธันวาคม 2018). "อักษรและรัฐ: การศึกษาเปรียบเทียบการปฏิรูปอักขรวิธีระหว่างจีนกับไทย ในทศวรรษที่ 1930–1940". วารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ. คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 25 (2): 307–311. eISSN 2673-0502.
- ↑ "พัฒนาการตัวอักษรไทยจนถึงปัจจุบัน". หอมรดกไทย. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 ธันวาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2008.
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (25 มกราคม 2005). "'ศิริ' ใช้อย่างไทย". สกุลไทย. Vol. 51 no. 2623. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 มีนาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2008.
- ↑ "ฅ". พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2010. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2008.
- ↑ โสภน หงษ์วิจิตร, บ.ก. (21 กุมภาพันธ์ 2002). "ทำไมถึงเลิกใช้ ฃ (ขวด) และ ฅ (คน)". schoolnet.
- ↑ "ฃ ขวด กับ ฅ คน หายไปตั้งแต่เมื่อไร". มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 ธันวาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2008.
- ↑ สุริยา รัตนกุล (มิถุนายน–ตุลาคม 1972). "ฃ ฅ หายไปไหน". วารสารธรรมศาสตร์. 2 (1): 29–59. ISSN 0125-3670.
- ↑ 27.0 27.1 นิตยา กาญจนะวรรณ (2007). "ฃ กับ ฅ หายไปไหน (๒)". ราชบัณฑิตยสถาน. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2008.
- ↑ อุดม รุ่งเรืองศรี, บ.ก. (2004). พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง (ปรับปรุงครั้งที่ ๑ ed.). ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2008.
- ↑ อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว; และคณะ (1996). พจนานุกรมศัพท์ล้านนาเฉพาะคำที่ปรากฏในใบลาน (2 ed.). เชียงใหม่: สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์. ISBN 9747047772.
- ↑ จิตร ภูมิศักดิ์. ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย (โครงการสรรพนิพนธ์ จิตร ภูมิศักดิ์). กรุงเทพมหานคร: ฟ้าเดียวกัน, 2005. หน้า 272–273. ISBN 9749366247.
- ↑ "ลักษณะของคำบาลี-สันสกฤต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 กันยายน 2008. สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2008.
- ↑ "การกำหนดตำแหน่งอักขระไทยบนแผงแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ของสถาบันเนคเทค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กันยายน 2008. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2008.
- ↑ "มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รหัสสำหรับอักขระไทยที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ของสถาบันเนคเทค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มกราคม 2009. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2008.
- ↑ รหัสยูนิโคดสำหรับพยัญชนะไทย (ภาษาอังกฤษ). FileFormat.Info.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- "หลักที่ 1 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พร้อมคำอ่าน-แปล". จารึกในประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 24 กรกฎาคม 2019 [2007].
- "ประวัติของเครื่องพิมพ์ของบริษัทสมิทพรีเมียร์" (ภาษาอังกฤษ). The Virtual Typewriter Museum.