ทัณฑฆาต บ้างเรียก หางกระแต[1] หรือ วัญฌการ[2] (◌์) มีสัณฐานเหมือนหางกระรอก[3] ใช้เติมเหนือพยัญชนะ พร้อมด้วยสระบนและสระล่าง ที่ไม่ต้องการให้ออกเสียง แต่ต้องการคงรูปแบบตัวอักษรไว้ หรือไม่สามารถออกเสียงได้ในภาษาไทย ตัวอักษรที่เติมไม้ทัณฑฆาตเรียกว่า การันต์[4] แปลว่า "อักษรตัวสุดท้าย"[5] ส่วนใหญ่คำที่ปรากฏทัณฑฆาตจะเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศหรือคำทับศัพท์ บางคนเขียนทัณฑฆาตคล้ายเลขไทย (๙)

อักษรไทย
◌์
รูปพยัญชนะ
รูปสระ
–ั –ํ –ิ ' "
–ุ –ู –็
ฤๅ ฦๅ
รูปวรรณยุกต์
–่ –้ –๊ –๋
เครื่องหมายอื่น ๆ
–์ –๎ –ฺ
เครื่องหมายวรรคตอน
ฯลฯ

สำหรับสะกดคำสำหรับภาษาบาลี-สันสกฤต ก็ใช้ทัณฑฆาตในการสะกดคำ เช่นคำว่า สิน์ธู (อ่านว่า สิน-ทู) เพื่อให้ทราบว่า น เป็นตัวสะกด[6] แต่การสะกดคำบาลี-สันสกฤตส่วนใหญ่จะใช้พินทุ (-ฺ) แทน

คำที่ปรากฏทัณฑฆาตแต่ยังคงออกเสียงพยัญชนะอยู่โดยมากเป็นคำเก่า เช่น สิริกิติ์ (อ่านว่า สิ-หฺริ-กิด), โลกนิติ์ (อ่านว่า โลก-กะ-นิด) และ สุรเกียรติ์ (อ่านว่า สุ-ระ-เกียด) [7]

การใช้งาน แก้

ทัณฑฆาตมักปรากฏในคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษ เป็นต้น โดยใช้ทัณฑฆาตเพื่อคงรูปการสะกดของพยัญชนะต้นแบบเอาไว้ ตัวอย่างเช่น

  • พยัญชนะทัณฑฆาตตัวเดียว เช่น ฤทธิ์ รื่นรมย์ สัมพันธ์ โทรศัพท์ อนุรักษ์ ไปป์ ฯลฯ
  • พยัญชนะทัณฑฆาตมากกว่าหนึ่งตัว เช่น ดวงจันทร์ ภาพยนตร์ วิทยาศาสตร์ พิเรนทร์ อาถรรพณ์ พระลักษมณ์ ฯลฯ
  • พยัญชนะทัณฑฆาตกลางคำ เช่น เดนมาร์ก กอล์ฟ ชอล์ก สาส์น ฯลฯ
  • พยัญชนะทัณฑฆาตร่วมกับสระ เช่น สืบพันธุ์ ต้นโพธิ์ ฤทธิ์ ฯลฯ

หลักการดูว่าคำไหนที่ควรจะใส่ทัณฑฆาต สามารถดูได้จากการออกเสียงคำนั้น ๆ ซึ่งคำที่มีทัณฑฆาตจะไม่ออกเสียงพยัญชนะที่มีทัณฑฆาตกำกับเอาไว้ เช่นคำว่า ดวงจันทร์ อ่านว่า ดวง-จัน ไม่อ่านว่า ดวง-จัน-ทอน เพราะพยัญชนะ "ทร" ข้างหลังเป็นพยัญชนะทัณฑฆาต สำหรับการอ่านพยัญชนะทัณฑฆาตที่ผิด ๆ เช่น พิ-เรน-ทอน ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยในการเขียนให้ถูกยิ่งขึ้น เพราะจะรู้ได้ว่าเป็น "ทร์" แต่ก็ควรทราบด้วยว่าความจริงในการอ่านที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

ในภาษาอื่น แก้

นอกจากอักษรไทยแล้ว ทัณฑฆาต ยังมีการใช้ในอักษรอื่น ได้แก่

อักษร เครื่องหมาย การใช้งาน
เขมร ใช้กำกับอักษรบางตัวที่ไม่ออกเสียง
ลาว ใช้กำกับอักษรบางตัวที่ไม่ออกเสียง

อ้างอิง แก้

  1. ศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร), พระยา. มูลบทบรรพกิจว่าด้วยอักษรทั้ง 44. ม.ป.ท. 2452, หน้า 5
  2. กำชัย ทองหล่อ. หลักภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 53, กรุงเทพฯ : รวมสาสน์, 2554, หน้า 175
  3. อมราภิรักขิต (น้อย อมโร), พระ. อักษรนิติ แบบเรียนอักษรไทย. พิมพ์แจกในงานศพนางถนอม ปวโรลารวิทยา. พระนคร : อำนวยศิลป์, 2485, หน้า 2
  4. กำชัย ทองหล่อ. หลักภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 53, กรุงเทพฯ : รวมสาสน์, 2554, หน้า 88
  5. อุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ), พระยา. หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2541, หน้า 25-26
  6. อุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ), พระยา. หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2541, หน้า 9
  7. สุมาลี วีระวงศ์ น.ท.หญิง. (2539, พฤษภาคม). "เพราะอะไรถึงได้เพี้ยน (๑) ". สารคดี. 12:135, หน้า 67