โรงเรียนวัดราชบพิธ
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
โรงเรียนวัดราชบพิธ (อังกฤษ: Wat Rajabopit School, ย่อ: ร.บ., RB) เป็นโรงเรียนชายล้วนระดับมัธยมศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนประจำวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
โรงเรียนวัดราชบพิธ Wat Rajabopit School | |
---|---|
ที่ตั้ง | |
พิกัด | 13°44′38″N 100°29′43″E / 13.743939°N 100.495216°E |
ข้อมูล | |
คำขวัญ | วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ (คนล่วงทุกข์เสียได้ด้วยความเพียร) |
ก่อตั้ง | 2 มีนาคม พ.ศ. 2428 |
ผู้ก่อตั้ง | พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ |
หน่วยงานกำกับ | สพฐ. |
ผู้อำนวยการ | นายปราโมทย์ ทวีตั๊งตระกูล |
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอน | ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนกลาง ภาษารัสเซีย |
สี | ขาว-เหลือง |
เพลง | เพลงมาร์ชราชบพิธ |
ต้นไม้ประจำโรงเรียน | ต้นประดู่ |
เว็บไซต์ | http://www.rb.ac.th/ |
ประวัติโรงเรียนในยุคเริ่มแรก
แก้โรงเรียนวัดราชบพิธได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากโรงเรียนสอนภาษาไทยในยุคต้นของการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนของไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครั้งนั้น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้ทรงทำความตกลงกับกรมศึกษาธิการ แต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี จัดตั้งโรงเรียนวัดราชบพิธขึ้นเมื่อ ปีระกา สัปตศก จุลศักราช 1247 ตรงกับ รัตนโกสิทร์ศก 104 หรือปี พุทธศักราช 2428 ดังปรากฏหลักฐานรายชื่อโรงเรียนวัดราชบพิธ อยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 หน้า 319
เมื่อครั้งแรกตั้งโรงเรียนนั้น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ได้ทรงอนุญาตใช้ชั้นบนของตึกศาลาการเปรียญ ข้างสระน้ำด้านถนนเฟื่องนครซึ่งใช้เป็น "ภัณฑาคาร" สำหรับเก็บรักษาถาวรวัตถุของสงฆ์ เป็นสถานที่เล่าเรียนโดยมิต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ในครั้งนั้นโรงเรียนวัดราชบพิธมีนักเรียนทั้งสิ้น 53 คน มีครู 2 คน (ความปรากฏในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 หน้า 323) มี นายกวี ซึ่งต่อมาได้ลาออกไปรับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนสุทรลิขิต เป็นครูใหญ่คนแรก มีชั้นเรียนเพียงชั้นเดียว คือ ชั้นประโยคหนึ่ง โดยนักเรียนที่สอบได้ประโยคหนึ่งคนแรกของโรงเรียนคือ พระสวัสดิ์นคเรศ (มงคล อมาตยกุล) สอบไล่ได้เมื่อ พ.ศ. 2430
ต่อมาอีกประมาณ 3 ปี คือราว พ.ศ. 2431 ในสมัยที่ นายพยอม เป็นครูใหญ่ ผู้คนในละแวกใกล้ไกลนิยมส่งบุตรมาเข้าเรียนมาขึ้น ทำให้สถานที่เล่าเรียนคับแคบ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า พระอรุณนิภาคุณากร พระผู้ก่อกำเนิดโรงเรียนวัดราชบพิธ จึงได้ทรงให้ย้ายไปทำการสอนที่ชั้นล่างของตำหนักที่ประทับของพระองค์ (ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้คือที่ตั้งขออาคารภุชงค์ประทานวิทยาสิทธิ์ 1 ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้นที่อยู่ติดกับสุสานหลวง) แต่กระนั้นก็ตาม ผู้คนก็นิยมส่งบุตรมาเข้าเรียนจนสถานที่ชั้นล่างของตำหนักนั้นไม่เพียงพออีก พระองค์จึงทรงประทานศาลารายรอบบริเวณให้ใช้เป็นห้องเรียนอีก 3 หลัง ในยุคนี้โรงเรียนวัดราชบพิธมีเพียงชั้นประถม 1 - 4 เท่านั้น มีนักเรียนประมาณ 100 คน และ หลวงชำนาญอนุสาสน์ (รอด รักตะประจิตร) เป็นครูใหญ่
ในสมัยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามสืบต่อมา พระองค์ได้ทรงประทาน ศาลารายหลังที่อยู่ด้านถนนเฟื่องนคร ให้ใช้เป็นสถานที่เรียนอีก 1 หลัง ด้วยทรงเล็งเห็นความอัตคัตของสถานที่เรียน โรงเรียนจึงได้ใช้ศาลารายทั้ง 4 หลัง กับชั้นล่างของตำหนักเป็นที่เรียน อย่างไรก็ดีโรงเรียนวัดราชบพิธก็ได้เจริญโดยลำดับ จนกระทั่ง พ.ศ. 2457 สถานที่เรียนก็ไม่เพียงพอ ราชบุรุษกวย ป.ป. ครูใหญ่ในขณะนั้น ได้ทูลขอชั้นบนของตำหนัก ซึ่งมีพระสงฆ์อาศัยอยู่เป็นที่เรียน พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ก็ได้มีพระเมตตาโปรดประทานให้ตามประสงค์ ใน พ.ศ. 2478 สมเด็จพระสังฆราชเจ้าก็ได้ทรงประทานทุนส่วนพระองค์สร้าง ตึกสัมฤทธิ์วิทยาการ ให้เป็นที่เล่าเรียนอีก 1 หลัง ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการยกฐานะโรงเรียนเดิมให้เป็นมัธยมตอนต้น โรงเรียนวัดราชบพิธจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธ" ดังปรากฏหลักฐานดวงตราที่ประทับอยู่บนหนังสือของห้องสมุดโรงเรียนหลายสิบเล่ม โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธในเวลานั้นมีเพียงชั้นมัธยม 1 - 3 ส่วนประถม 1 - 3 ที่มีอยู่เดิมก็ย้ายไปอยู่โรงเรียนประถมวัดสุทัศน์แทน โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธได้เจริญโดยลำดับ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2467 จึงได้เริ่มเปิดชั้นมัธยมศึกษา ตอนปลาย ในสมัยที่ ขุนกิตติเวทย์ เป็นครูใหญ่ ปีพ.ศ. 2469 อันเป็นปีที่โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนถึง 401 คน และในปี พ.ศ. 2474 นักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธก็สามารถสอบไล่ได้เป็นที่ 1 ของประเทศคือ นายสุดใจ เอี่ยมอุดม
ปี พ.ศ. 2478 ขุนชำนิอนุสาสน์ (เส่ง เลาหะจินดา) ครูใหญ่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ได้ไปเฝ้าพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ผู้ทรงอุปการะโรงเรียนทูลขอสถานที่เล่าเรียนเพื่อจะขยายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 - 8 แผนกวิทยาศาสตร์ พระองค์ก็ได้ทรงพระเมตตาประทานทุนสร้างตึกสัมฤทธิ์วิทยาการให้ พร้อมทั้งจัดตั้งอุปกรณ์การศึกษาให้เสร็จ ทั้งยังทรงฉลองตึกให้เสร็จในปี พ.ศ. 2479 อันเป็นปีรุ่งขึ้น แต่กระทรวงธรรมการในเวลานั้นกลับอนุญาตให้เปิดแผนกภาษาแทน และสั่งยุบโรงเรียนมัธยมศึกษาวัดมหรรณพารามรวมกับโรงเรียนนี้เมื่อปี พ.ศ. 2480
หลังจากที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สิ้นพระชนม์เมื่อ 25 สิงหาคม 2480 แล้ว พระศาสนโศภน (ภา ภาณโก) เจ้าอาวาสยุคที่ 3 ได้เป็นผู้อุปการะสืบต่อมา ท่านได้เห็นความเจริญของการศึกษาจึงร่วมจัดหาทุนกับคณะศิษยานุศิษย์ สร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้นอีก 3 หลัง เพื่อเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 กระทรวงธรรมการได้สั่งให้ยุบโรงเรียนมัธยมวัดมหาธาตุกับโรงเรียนมัธยมกล่อมพิทยากร มารวมกับโรงเรียนวัดราชบพิธในสมัยขุนวิทยาวุฒิ (นวม ชัยรัตน์) เป็นครูใหญ่ ทำให้มีนักเรียนเพิ่มขึ้นถึง 560 คน จนสถานที่เรียนไม่เพียงพอ ต้องขอยืมใช้สถานที่ในสุสานหลวงจากพระธรรมปาโมกข์ (วาสน์ วาสโน) ผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาส ใช้เป็นสถานที่เรียนชั่วคราว และได้ร่วมมือกันหารือกับพระธรรมปาโมกข์ พระจุลคณิศร และพ.อ.พระยาศรีสุรสงคราม เพื่อหาทุนสร้างโรงเรียนถวายเป็นอนุสรณ์แต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
ในปลายปี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ขุนชำนิอนุสาสน์ ได้กลับจากการเป็นผู้แทนราษฎรมารับตำแหน่งครูใหญ่อีกทั้งยัง ได้รับอนุมัติจากพระศาสนโศภน เจ้าอาวาสให้จัดสร้างอาคารเรียนเพิ่มอีก 4 หลังคือ พ.ศ. 2484 สร้างตึก ชินวรศรีธรรมวิทยาคาร และ พ.ศ. 2485 สร้างตึก ภุชงค์ประทานวิทยาสิทธิ์ 1, 2 และ 3 ภายหลังจากพระศาสนโศภนได้มรณภาพ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) เจ้าอาวาสพระองค์ที่สี่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนต่อมา
ครั้นต่อมาปี พ.ศ. 2487 - 2488 นายพิศาล มั่นเสมอ ครูใหญ่ เวลานั้นได้ติดต่อขอทุนกรมสามัญศึกษาจัดการซื้อหนังสือไทยและต่างประเทศ เพื่อจัดตั้งห้องสมุด แต่ท่านได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนเมื่อ 27 ธันวาคม 2488 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2492 กระทรวงศึกษาธิการได้ดำริให้มีห้องสมุดโรงเรียนขึ้น โดยเลือกเอาโรงเรียนแห่งนี้เป็นที่ตั้งห้องสมุดกลาง สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาโดยใช้ตึกภุชงค์ประทานวิยาสิทธิ์ 3 เป็นที่ตั้งเปิดทำการครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2492 มี อาจารย์ รสา วงศ์ยังอยู่ เป็นบรรณารักษ์คนแรก ในสมัยที่ นายโกวิท ประทัตสุนทรสาร เป็นครูใหญ่ และโรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธได้เจริญมาโดยลำดับจวบจนกระทั่งสถานที่ที่มีอยู่มีความคับแคบ ต้องมีการจัดเรียนเป็น 2 ผลัด (เช้า - บ่าย) แยกบางส่วนไปเรียนในบริเวณวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร พร้อม ๆ กับการขาดหายไปของคำว่า "มัธยม" ในนามโรงเรียนจนกลายเป็น "โรงเรียนวัดราชบพิธ" ในปัจจุบัน
โรงเรียนแห่งใหม่ (วาสนะประทานวิทยาสิทธิ์)
แก้นับเนื่องจากการที่อาจารย์ผล ใจสว่าง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดราชบพิธคนที่ 23 ได้มองเห็น ความอัตคัตเรื่องสถานที่เรียน ทั้งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ มีพระดำริเรื่องที่นักเรียนของโรงเรียนวัดราชบพิธมีความยากลำบากในเรื่องสถานที่เรียนแออัด มีพระประสงค์ที่จะขยายสถานที่เรียนให้กว้างขวางออกไป แม้ได้มีผู้ประสงค์จะทูลถวายที่ดินให้โรงเรียนหลายรายด้วยกัน แต่พระองค์ทรงเห็นว่าที่เหล่านั้นไกลจากวัดราชบพิธ และโรงเรียนเดิมมากเกินไป จนกระทั่งปี พ.ศ. 2524 โรงเรียนวัดราชบพิธได้ที่ดินแปลงหนึ่งจำนวน 9 ไร่ 1 งาน 46 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารคลังยกกระบัตร กรมพลาธิการทหารบก ตั้งอยู่บริเวณสวนเจ้าเชตุ ไม่ไกลจากวัดและโรงเรียนเดิมเหมาะที่จะสร้างขยายโรงเรียน เพราะกองทัพบกเจ้าของที่นั้นมีโครงการจะย้ายคลังพัสดุไปที่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ จึงมีพระลิขิตถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2525 เพื่อทรงขอบิณฑบาตที่ดินดังกล่าวสำหรับใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างขยายโรงเรียนวัดราชบพิธ ภายหลังที่กองทัพบกได้ย้ายคลังพัสดุออกไปแล้ว แต่เรื่องได้เงียบไป จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2531 ในมหามงคลสมัยที่เจริญพระชนมายุ 90 พรรษา กองทัพบก โดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบก รักษาราชการผู้บัญชาการทหารสูงสุด ด้วยความเห็นชอบของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้น้อมเกล้าถวายเอกสารสิทธิ์ที่ดินราชพัสดุ ที่ตั้งอาคารคลังยกกระบัตร แด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสร้างอาคารโรงเรียนวัดราชบพิธเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2531 โดยมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นประธาน และสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้เสด็จทอดพระเนตรสถานที่ก่อสร้างขยายโรงเรียนวัดราชบพิธเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2531 ก่อนสิ้นพระชนม์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2531
วันที่ 5 เมษายน 2532 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในเวลานั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารโรงเรียนวัดราชบพิธแห่งใหม่ ณ สวนเจ้าเชตุ โดยได้รับงบประมาณการก่อสร้างโรงเรียนจากกรมสามัญศึกษา 39,560,000 บาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาแบบคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทย พร้อมทั้งอาคารพลศึกษาและสระว่ายน้ำในวงเงิน 117 ล้านบาท การก่อสร้างได้ดำเนินไปจนกระทั่งสามารถย้ายนักเรียนเข้าไปเรียนยังสถานที่เรียนแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2533 เป็นต้นมา
วันที่ 2 มีนาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในเวลานั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดอาคารเรียน โรงเรียนวัดราชบพิธแห่งใหม่ ซึ่งเป็นวาระดิถีวโรกาสวันคล้ายวันประสูติในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ
สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน
แก้ตราประจำโรงเรียน
แก้ฉัตร 5 ชั้น เป็นเครื่องประกอบอิสริยยศสมณศักดิ์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า อักษร ร.บ. ล้อมด้วยวงกลม เป็นอักษรย่อของโรงเรียนวัดราชบพิธ มีความหมายเพื่อเป็นเครื่องแสดงว่าโรงเรียนวัดราชบพิธเป็นโรงเรียนในพระอุปถัมภ์ของเจ้าอาวาสและของวัดราชบพิธตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน
สีประจำโรงเรียน
แก้สีขาวเหลือง ขาวหมายถึงความบริสุทธิ์เป็นเครื่องหมายทางพระพุทธศาสนา การใช้สีขาวเป็นส่วนหนึ่งของธงโรงเรียน เพราะโรงเรียนนี้ถือกำเนิดมาจากวัดและตั้งอยู่ในบริเวณวัด คืออาศัยบารมีของพระศาสนาเป็นที่ตั้ง เมื่อเห็นธงจึงทำให้รำลึกถึงประวัติดังกล่าว ส่วนสีเหลืองเป็นสีที่คนไทยรู้ดีที่สุดว่าเป็นสีของพระสงฆ์โรงเรียนนี้อยู่ในความอุปการะของยอดแห่งสงฆ์กล่าวคือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงเอาใจใส่ดูแล และทรงทำการทุกอย่างเพื่อความเจริญของโรงเรียนนี้ นับว่าทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียนนี้มากมาย สีเหลืองจึงเป็นสีสำหรับพระองค์ท่าน และทำให้ระลึกถึงพระคุณของพระองค์
คติพจน์ของโรงเรียน
แก้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้ทรงประทานคติพจน์ว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์เสียได้ด้วยความเพียร เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2477
พระประจำโรงเรียน
แก้พระพุทธปฏิมา วาสนัฏฐารสม์ มีความหมายว่า "พระพุทธผู้มีบุญองค์ที่ 18" เป็นปางชนะมาร เป็นพระพุทธรูปประจำโรงเรียน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณโปรดให้สร้างขึ้นจำนวน 18 องค์ ประทานให้แก่หน่วยงานและสถานที่ในพระอุปถัมภ์ พระพุทธปฏิมา วาสนัฏฐารสม์ ได้อัญเชิญมา วันที่ 22 มิถุนายน 2533 ปัจจุบันประดิษฐาน ณ ห้องจริยธรรม อาคารวาสนะประทานวิทยาสิทธิ์ 1 ชั้น 4 เมื่อ พ.ศ. 2552 ได้ย้ายมาประดิษฐาน ณ ห้องประชุมชมพูนุท บริเวณชั้น 2 อาคาร 2 ซึ่งเป็นห้องประชุมสร้างใหม่
พระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ
แก้พระรูปเหมือนสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ อัญเชิญมาประดิษฐาน ภายในพระวิหารน้อย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2533 เพื่อสักการบูชา น้อมรำลึกถึงพระคุณูปการที่ทรงมีต่อโรงเรียนวัดราชบพิธ
ต้นไม้ประจำโรงเรียน
แก้ทำเนียบผู้บริหาร
แก้ลำดับ [1] | รายนาม | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | นายไบร์ท | พ.ศ. 2429 - 2431 |
2 | นายพยอม | พ.ศ. 2431 - 2433 |
3 | หลวงชำนาญอนุสาสน์ (รอด รักตประจิต) | พ.ศ. 2433 - 2454 |
4 | นายอั๋น | พ.ศ. 2454 - 2455 |
5 | ขุนธนกิจพิจารณ์ (อิน อุทะเกษตริน ป.ป.) | พ.ศ. 2455 - 2455 |
6 | ราชบุรุษกวย ป.ป. | พ.ศ. 2455 - 2457 |
7 | นายชื่น(รักษาราชการแทนครูใหญ่) | พ.ศ. 2457 |
8 | รองอำมาตย์ตรี เจิม โลหนันท์ ป. | พ.ศ. 2457 - 2458 |
9 | หลวงชาญดรุณวิทย์ รองอำมาตย์ตรี (พริ้ง บนธาตุผลิต ป.ม.) | พ.ศ. 2458 - 2464 |
10 | รองอำมาตย์ตรี ขุนกิติเวทย์ (พัฒน์ บุญญภุมม ป.ม.) | พ.ศ. 2464 - 2475 |
11 | รองอำมาตย์โท ขุนชำนิขบวนสาสน์ (ถนอม นาควัชระ ป.ม.) | พ.ศ. 2477 - 2480 |
12 | รองอำมาตย์โท ขุนชำนิอนุสาสน์ (เส่ง เลาหจินดา ป.ม.) | พ.ศ. 2477 - 2480 |
13 | ขุนวิทยาวุฒิ (นวม ชัยรัตน์ ป.ม.) | พ.ศ. 2480 - 2481 |
14 | รองอำมาตย์โท ขุนชำนิอนุสาส์น (เส่ง เลาหจินดา ป.ม.) | พ.ศ. 2481 - 2487 |
15 | นายพิศาล มั่นเสมอ ป.ม. | พ.ศ. 2487 - 2488 |
16 | นายสกล สิงหไพศาล ป.ม. , ธ.บ | พ.ศ. 2488 - 2490 |
17 | นายโกวิท ประทัตสุนทรสาร ป.ม. | พ.ศ. 2490 - 2499 |
18 | นายเตื่อม ตุงคนาค ป.ม. | พ.ศ. 2499 - 2511 |
19 | นายเลียบ ขุนทองแก้ว ผอ. (รักษาราชการแทน) | พ.ศ. 2511 - 2512 |
20 | นายสิน บุญเกตุ ป.ม. , กศ.บ. | พ.ศ. 2512 - 2514 |
21 | นายสุวรรณ วิณวันต์ ป.ม. , กศ.บ. | พ.ศ. 2514 - 2516 |
22 | นายชาญชัย งามประหยัด ป.ม. , ค.บ. (รักษาการแทน) | พ.ศ. 2516 - 2517 |
23 | นายสุวิต โรจนะชีวะ ป.ม. , ธ.บ. | พ.ศ. 2517 - 2519 |
24 | นายผล ใจสว่าง พ.อ. , ค.บ. | พ.ศ. 2519 - 2534 |
25 | นายประวิทย์ พฤทธิกุล กศ.บ. | พ.ศ. 2534 - 2536 |
26 | นางศิริลักษณ์ นันทพิศาล ค.ม. | พ.ศ. 2536 - 2537 |
27 | นายศิริ สุงคาสิทธิ์ กศ.บ., ค.ม. | พ.ศ. 2537 - 2540 |
28 | นายสมพงษ์ รุจิรวรรธน์ กศ.บ., กศ.ม. | พ.ศ. 2540 - 2543 |
29 | นายสมชัย เชาว์พาณิช กศ.บ., กศ.ม. | พ.ศ. 2543 - 2546 |
30 | นายคงวุฒิ ไพบูลย์ศิลป กศ.บ.,กศ.ม. | พ.ศ. 2546 - 2549 |
31 | นายไพรัช กรบงกชมาศ กศ.บ.,ค.ม. | พ.ศ. 2549 - 2552 |
32 | นายสุรพล การบุญ ค.ม. | พ.ศ. 2552 - 2555 |
33 | นายอดิศักดิ์ วิไลลักษณ์ | พ.ศ. 2555 - 2558 |
34 | นายมนัส ปิ่นนิกร | พ.ศ. 2558 - 2561 |
35 | นายศรายุทธ รัตนปัญญา ศษ.ม.,ปร.ด. | พ.ศ. 2561 - 2563 |
36 | นายอนันต์ศักดิ์ ภูพลผัน | พ.ศ. 2564 |
37 | นายปราโมทย์ ทวีตั๊งตระกูล | พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน |
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
แก้- พลเอก สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี และ อดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวัดราชบพิธ
- พลเรือเอก ถวิล รายนานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
- นาม พูนวัตถุ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- พลเอก ทวิช เสนีวงศ์ ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- พลเอก สุรกิจ มัยลาภ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
- พลเอก เสริม ณ นคร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด อดีตรองนายกรัฐมนตรี
- พ่วง สุวรรณรัฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
- สวัสดิ์ คำประกอบ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี
- ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา นักเขียนนวนิยายยุคบุกเบิกของไทยเจ้าของนามปากกา “ไม้ เมืองเดิม”
- ชิต บุรทัต นักประพันธ์และกวีผู้มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 6 ผู้แต่งเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์
- ฉันท์ ขำวิไล กวีผู้มีชื่อเสียง, ผู้เรียบเรียงแบบเรียนภาษาไทย และคำร้องเพลงชาติไทยสมัยช่วง พ.ศ. 2477-2482
- ศาสตราจารย์ เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2528 เป็นศิลปินและจิตรกรผู้ได้รับการยกย่องเป็น “ครูใหญ่ในวงการศิลปะ” ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ เมื่อ พ.ศ. 2526 อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร
- หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์)
- สมยศ ทัศนพันธ์ นักร้องชื่อดังของวงดุริยางค์ทหารเรือ
- อบ ไชยวสุ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (หัสคดี)
- วินัย จุลละบุษปะ อดีตนักร้องนำ และหัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และวงสังคีตสัมพันธ์
- รัตน์ ศรีไกรวิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- พลตำรวจเอก บุญชู วังกานนท์ อดีตผู้บังคับการตำรวจกองปราบ และผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ
- ศาสตราจารย์ จินดา เทียมเมธ อดีตคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ศาสตราจารย์ ดร.ทองสุข พงศ์ทัต อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.พุฒิพงษ์ วรวุฒิ อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น
- ศาสตราจารย์ ดร.กมล เภาพิจิตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ศาสตราจารย์ ดร.โกเมน ภัทรภิรมย์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- ศาสตราจารย์ ดร.วิทย์ ศิวะศริยานนท์ อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมบัติ สุคนธพันธ์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- ศาสตราจารย์ พนัส หันนาคินทร์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก (มหาวิทยาลัยนเรศวร ในปัจจุบัน)
- ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ศาสตราจารย์ ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม
- ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ อาภาภิรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- รองศาสตราจารย์ ดร.สวนิต ยมาภัย นักวิชาการด้านอักษรศาสตร์
- เดิม แดงอุดม อดีตหัวหน้าภาควิชา ทอ-ย้อม วิทยาลัยเขตเพาะช่าง
- วิเชียร เปาอินทร์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสาคร
- มานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
- พันเอก สุชาติ ศุภประเสริฐ โหราจารย์ผู้มีชื่อเสียง นายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติกิตติมศักดิ์
- สมชาย แสวงการ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- ดร.มานิต เอื้อทวีกุล ประธานกรรมการบริหาร ซิตี้ เซ็นเตอร์ กรุ๊ป และ นายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวัดราชบพิธ
- ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ฐานีพาณิชกุล นายกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย และ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พลเอก ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ อดีตผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุด และ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- นรินทร์ ภูวนเจริญ นักแสดงและนักร้อง
- นพพล โกมารชุน นักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์
- ฐากูร การทิพย์ (ป๊อป) นักแสดง
- จิรายุ ตันตระกูล (ก็อต) นักแสดง
- โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์ (โอบ) นักแสดง
- จุมพล อดุลกิตติพร (ออฟ) นักแสดง, พิธีกร
สถานที่สำคัญใกล้เคียง
แก้- วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
- พระบรมมหาราชวัง
- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
- วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
- วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
- สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
- มิวเซียมสยาม
- พระราชวังสราญรมย์
- สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์
- โรงเรียนราชินี
- ปากคลองตลาด
- ทำเนียบองคมนตรี
- วิทยาลัยเทคโนโลยีตั้งตรงจิตรพาณิชยการ
- ↑ "ทำเนียบผู้อำนวยการ ร.บ." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-23. สืบค้นเมื่อ 2013-10-20.
บรรณานุกรม
แก้- คณะกรรมการดำเนินงานฉลองพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา สมเด็จพระสังฆราช, ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, กรุงเทพ ฯ : คณะกรรมการดำเนินงานฉลองพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา,๒๕๓๑.
- คณะกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึก, ๑๐๘ ปีโรงเรียนวัดราชบพิธ (ที่ระลึกครบรอบ ๑๐๘ ปี ๒ มีนาคม ๒๕๓๗), กรุงเทพ ฯ : โรงเรียนวัดราชบพิธ, ๒๕๓๗.
- โรงเรียนวัดราชบพิธ, พิธีเปิดอาคารเรียน โรงเรียนวัดราชบพิธ ๒ มีนาคม ๒๕๓๔, กรุงเทพ ฯ : โรงเรียนวัดราชบพิธ, ๒๕๓๔.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์โรงเรียนวัดราชบพิธ เก็บถาวร 2014-01-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซต์โรงเรียนวัดราชบพิธ ระบบสารสนเทศสพฐ. เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แฟนเพจโรงเรียนวัดราชบพิธ (Wat Rajabopit School)
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ โรงเรียนวัดราชบพิธ
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
13°44′38″N 100°29′43″E / 13.743939°N 100.495216°E{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้