พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

พระภิกษุชาวไทย

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เรียก​พระนามเดิม​ว่า​ ​'หม่อมเจ้า​ภุชงค์ ชมพูนุช'​​ (16 ธันวาคม พ.ศ. 2402 - 25 สิงหาคม พ.ศ. 2480[1]) เป็นพระราชวงศ์ในราชสกุล ชมพูนุท ดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราชไทยเป็นพระองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวม 16 ปี และเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

พระเจ้าวรวงศ์เธอ
กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
สมเด็จพระสังฆราชไทย พระองค์ที่ 11
ดำรงพระยศ20 สิงหาคม พ.ศ. 2464 - 25 สิงหาคม พ.ศ. 2480 (16 ปี 5 วัน)
สถาปนา20 สิงหาคม พ.ศ. 2464
ก่อนหน้าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ถัดไปสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว)
สถิตวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
ราชวงศ์จักรี
ประสูติ16 ธันวาคม พ.ศ. 2402
หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุช
สิ้นพระชนม์25 สิงหาคม พ.ศ. 2480 (77 ปี)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลภูลสวัสดิ์
พระมารดาหม่อมปุ่น

พระประวัติ แก้

ประสูติกาล แก้

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า มีพระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุช เป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลภูลสวัสดิ์ กับหม่อมปุ่น [2] ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2402 แรม 7 ค่ำ เดือนอ้าย ที่วังหน้าวัดราชบพิธฯ มุมถนนราชบพิธกับถนนเฟื่องนคร ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การศึกษาขณะเป็นฆราวาส แก้

เมื่อยังทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาอักขรสมัยไทย ในสำนักเจ้าจอมมารดาสัมฤทธิ์ผู้เป็นย่า เมื่อเข้าพิธีเกศากันต์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้ไปศึกษาที่โรงเรียน Raffles เมืองสิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ. 2414 เป็นเวลา 9 เดือน แล้วจึงเสด็จกลับพระนคร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษสำหรับเจ้านายขึ้นแล้ว จึงทรงเข้าศึกษาต่อที่นี่โดยไม่กลับไปสิงคโปร์อีก นอกจากนี้ยังทรงศึกษาอักษรขอมจากพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จนผนวชในปี พ.ศ. 2416[3]

ผนวช แก้

พ.ศ. 2416 เมื่อพระชนมายุได้ 14 พรรษา ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ หม่อมเจ้าพระอรุณนิภาคุณากรเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ผนวชแล้วประทับ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

เมื่ออายุครบอุปสมบทในปี พ.ศ. 2422 ได้โปรดให้อุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสาสนโสภณที่พระธรรมวโรดม (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หม่อมเจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เป็นพระบรรพชาจารย์[4] ได้รับพระนามฉายาว่า "สิริวฑฺฒโน" ผนวชแล้วกลับมาประทับที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามตามเดิม

การศึกษาขณะเป็นบรรพชิต แก้

ขณะเป็นสามเณรได้ศึกษาภาษาบาลีกับพระครูบัณฑรธรรมสโมทาน (สด) ภาษาไทยกับพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) และภาษาสันสกฤตกับพราหมณ์ เมื่อผนวชเป็นพระภิกษุแล้วได้ศึกษาพระปริยัติธรรมกับสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ขณะทรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมวโรดม ทรงเข้าสอบเปรียญ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2425 ได้เป็นเปรียญธรรม 4 ประโยค

ต่อมาในปี พ.ศ. 2430 ทรงเข้าแปลได้เพิ่มอีก 1 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 5 ประโยค พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานวัตถุจัตุปัจจัยมูลค่า 2 ชั่งเป็นรางวัล[5]

การสิ้นพระชนม์ แก้

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ประชวรด้วยพระโรคเส้นพระโลหิตในกระเพาะพระบังคนเบาพิการ ทำให้บังคนเบาเป็นโลหิต สิ้นพระชนม์เมื่อวันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2480[6] แรม 3 ค่ำ เดือน 9 สิริรวมพระชนมายุได้ 77 พรรษา ดำรงสมณเพศได้ 59 พรรษา[7] ได้รับพระราชทานเพลิงพระศพ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร[8]

สมณศักดิ์ แก้

ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
 
ตราประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพะย่ะค่ะ/เพคะ
  • พ.ศ. 2430 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต[9]
  • พ.ศ. 2438 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่เสมอชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม[10]
  • 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมปาโมกข์ มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัตรว่า หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต อังคีรสธรรมปาโมกข์ ยุตโยคยตินายก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาทีคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี[11]
  • พ.ศ. 2444 ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ เป็นพระองค์ที่ 2 สืบต่อจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
  • 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ได้เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองในคณะกลาง มีสมณศักดิ์เสมอพระพรหมมุนี และมีพระอิสริยยศเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัตรว่า 'พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต อังคีรสสาสนธำรง ราชวรพงษ์ศักดิ์พิบุลย์ สุนทรอรรถปริยัติโกศล โสภณศีลสมาจารวัตร มัชฌิมคณานุนายก สาสนดิลกบพิตร"[12]
  • 22 มกราคม พ.ศ. 2453 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่คณะกลาง มีราชทินนามว่า "พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ขัตติยพงศ์พรหมจารี ประสาทนียคุณากร สถาพรพิริยพรต อังคีรสศาสนธำรง ราชวรวงศ์วิสุต วชิราวุธมหาราชอภินิษกรมณาจารย์ สุขุมญาณวิบุล สุนทรอรรถปริยัติโกศล โศภนศีลสมาจารวัตร มัชฌิมคณิศรมหาสังฆนายก พุทธศาสนดิลกสถาวีรบพิตร"[13]
  • 2 มกราคม พ.ศ. 2456 เป็นเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกายด้วยอีกตำแหน่ง[14]
  • 20 สิงหาคม พ.ศ. 2464 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก นับว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระองค์แรก มีพระนามว่า "พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรศิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า"[15]
  • 20 เมษายน พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมหลวง มีราชทินนามว่า "พระเจ้าวรวงศเธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน ขัติยมหาเจษฎานุพงศ อริยวงศาคตญาณวิมลสกลมหาสงฆปรินายก ตรีปิฎกกลาโกศล ภัทรผลพลูสวัสดิสัทธรรมทีปกร ไทวภราดรมหาราชาภินิษกรมณาจารย์ ภุชงคบุราภิธานครุฐานิยมมหาบัณฑิต สุขสิทธิหิตรรถเมตตาขันตยาศรัย ศรีรัตนตรัยศรณาภิรัต สยามาธิปัตยามหาสังฆปาโมกขประธานาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร"[16]

พระปรีชาสามารถ แก้

พระองค์มีพระปรีชาสามารถทางพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง นับว่าเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญพระองค์หนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงนิพนธ์ตำรา และหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย มหานิบาตชาดก นิทานต้นบัญญัติ สามเณรสิกขา เป็นต้น พระนิพนธ์เหล่านี้ ยังใช้เป็นคู่มือในการศึกษาภาษาบาลี และศึกษาพระพุทธศาสนาของภิกษุสามเณรมาจนถึงปัจจุบัน ทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตสืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อน และทรงเป็นกรรมการชุดแรกของมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2436 สุดท้ายได้เป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 ตราบจนสิ้นพระชนม์

ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนวัดราชบพิธ พระองค์ที่ 2 ประทานคาถาภาษาบาลีเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจบรรดาครูและนักเรียนว่า "วิริเยน ทุกขมจฺเจติ" แปลว่า "คนล่วงทุกข์เสียได้ด้วยความเพียร" และได้ประทานตรา "ชส" ซึ่งเป็นพระนามย่อของพระองค์ให้แก่โรงเรียน ซึ่งปัจจุบัน ได้เป็นสัญลักษณ์บนเข็ม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนแห่งนี้

ครบ 150 ปี วันประสูติ แก้

16 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ครบ 150 ปี วันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระองค์จึงได้จัดงานเฉลิมพระเกียรติโดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงรับงานนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์[17]

สัญลักษณ์ประจำพระองค์ แก้

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงใช้สัญลักษณ์ประจำพระองค์หลากหลายแบบ โดยมากจะเป็นรูปอักษรพระนามย่อ ช.ส. (ย่อมาจากพระนามทรงกรม "ชินวรสิริวัฒน์") ผูกเป็นลวดลายอักษรวิจิตรแบบต่างๆ บางแบบจะปรากฏภาพฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น อันเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศสมเด็จพระสังฆราชเจ้ารวมอยู่ด้วย ภายหลังเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงออกแบบตราถวายย้อนหลังขึ้นใหม่ เป็นรูปอักษรพระนามย่อ ช.ส. ภายใต้ฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น โดยมีพระภควัมหรือภาพพระพุทธเจ้าประดิษฐานบนระบายฉัตร เพื่อใช้ในการจัดทำพัดชินสิริ ซึ่งเป็นพัดรองที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงพระศพในปี พ.ศ. 2481 เนื่องจากทรงมีพระปรารภว่าตราบางแบบอ่านได้ยาก [18]

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

  1. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  2. ข่าวตาย (หน้า ๑๙๘๐)
  3. สมมติอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ, เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, กรมศิลปากร, 2545,
  4. ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : อัมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ, 2531, หน้า 149
  5. ราชกิจจานุเบกษา, การตั้งพระราชาคณะแลเปรียญที่แปลพระปริยัติธรรม, เล่ม 4 , ตอนที่ 22, 8 กันยายน 2430, หน้า 174-5
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก, เล่ม 54, ตอนที่ 0 ง, 30 สิงหาคม 2480, หน้า 1247
  7. ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : อัมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ, 2531, หน้า 154
  8. ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า, เล่ม 55, ตอนที่ 0 ง, 20 กุมภาพันธ์ 2481, หน้า 3901-3910
  9. ราชกิจจานุเบกษา, คำประกาศตั้งพระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากร, เล่ม 4 ,หน้า 257
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรแลเลื่อนตำแหน่งยศ, เล่ม 13, หน้า 15
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 16, 19 พฤศจิกายน 2442, หน้า 486
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งพระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต และเลื่อนตำแหน่งสมณศักดิ์, เล่ม ๒๓, ๖ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๕, หน้า ๑๑๘-๑๒๐
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระนาม พระวรวงษ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์, เล่ม ๒๗, ตอน ๐ง, ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓, หน้า ๒๖๒๓
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งเจ้าคณะและรองเจ้าคณะสงฆ์, เล่ม 30, ตอน ก, 25 มกราคม 2456, หน้า 397-398
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า, เล่ม ๓๘, ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๒๐๐
  16. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนากรมหมื่นชินวรสิริวัฒน ขึ้นเป็นกรมหลวง , เล่ม ๔๓, ตอน ๐ ก, ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙, หน้า ๑๐๘
  17. "Metro Life - Manager Online". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-15. สืบค้นเมื่อ 2009-12-20.
  18. พัดชินสิริ. เฟซบุ๊กแฟนเพจ "สมเด็จครู" 27 มิถุนายน 2019
ก่อนหน้า พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ถัดไป
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
   
สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(พ.ศ. 2465 - พ.ศ. 2480)
  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
(แพ ติสฺสเทโว)
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส   ไฟล์:ธรรมยุตินิกาย.gif
เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
(พ.ศ. 2465 - พ.ศ. 2471)
  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร    
เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
(พ.ศ. 2444 - พ.ศ. 2480)
  พระศาสนโศภน (ภา ภาณโก)