วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร[1] ตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร วัดราชประดิษฐฯ เป็นวัดที่มีขนาดเล็กมาก ด้วยเนื้อที่เพียง 2 ไร่ 2 งานกับ 98 ตารางวาเท่านั้น[2] และได้รับพระราชทานกำหนดเขตที่ดินเพิ่ม จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเขตนอกมหาสีมา และอุปาจารวัด โดยมีอาณาเขต ทิศเหนือจรดพระราชวังสราญรมย์ หรือกรมแผนที่ทหารในปัจจุบัน ทิศใต้จรดพระราชอุทยานสราญรมย์ ทิศตะวันออกจรดซอยราชินี คลองหลอด และทิศตะวันตกจรดทำเนียบองคมนตรี

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 4
แผนที่
ชื่อสามัญวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
ที่ตั้งเลขที่ 2 ถนนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร
นิกายธรรมยุติกนิกาย
เวลาทำการ09:00–18:00 น.
(พระวิหารเปิดเฉพาะช่วงทำวัตรเช้า 09:00–09:30 น. กับทำวัตรเย็น 17:30–18:00 น.)
เว็บไซต์/วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
ขึ้นเมื่อ22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000006
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา
เสาผนังกรุหินอ่อนในพระวิหาร (พระอุโบสถ) และปาสาณเจดีย์ (เบื้องหลัง) อันเป็นสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
"พระพุทธสิหิงคปฏิมากร" พระประธานพระวิหารหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้จำลองมาจากพระพุทธสิหิงค์พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

วัดราชประดิษฐฯ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดราชประดิษฐาน จึงทรงสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้ครบตามโบราณราชประเพณี และเพื่อพระอุทิศถวายแก่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายเพื่อที่พระองค์เองและเจ้านาย ข้าราชการ ที่จะไปทำบุญที่วัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายใกล้พระบรมมหาราชวังได้สะดวก วัดราชประดิษฐฯ จึงเป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายวัดแรกที่สร้างขึ้นเพื่อพระสงฆ์ในนิกายนี้ เพราะวัดอื่น ๆ ของฝ่ายธรรมยุตเป็นวัดที่แปลงมาจากวัดของมหานิกาย และด้วยเหตุนี้เองวัดแห่งนี้จึงได้รับยกให้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4

ถึงแม้ว่าวัดแห่งนี้จะมีพื้นที่เพียงเล็กน้อย แต่ภายในพระอารามนี้ก็ประกอบไปด้วยปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานมากมาย เช่น พระวิหารหลวง พระปาสาณเจดีย์ หรือพระเจดีย์ที่ประกบ และฉลุด้วยหินอ่อน ปราสาทพระจอม ปราสาทพระไตรปิฏก ปรางค์ขอม และพระที่นั่งทรงธรรมหรือศาลาการเปรียญ ที่เป็นที่ตั้งธรรมาสน์ยอดมงกุฎ[3] และในพระวิหารหลวงของวัดก็เป็นที่สถิตของพระประธาน "พระพุทธสิหังคปฏิมากร" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้จำลองจากพระพุทธสิหิงค์องค์จริงที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์[4] พระชินสีห์น้อย พระศรีศาสดาน้อย พระพุทธชินราชน้อย พระพุทธสิหังค์น้อย และพระนิรันตราย ๑ ใน ๑๘ องค์ ที่รัชกาลที่๕ พระราชทาน

ประวัติ แก้

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามสร้างขึ้นในที่ดิน ซึ่งเดิมเคยเป็นสวนกาแฟหลวง สมัยรัชกาลที่ 3 และเป็นโรงเรือนที่อยู่อาศัยของข้าราชการในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอซื้อที่เพื่อสร้างวัดธรรมยุติกนิกาย เมื่อ พ.ศ. 2407 เพื่อสำหรับเจ้านาย ข้าราชการฝ่ายหน้า-ใน ได้บำเพ็ญกุศลสะดวกขึ้น เพราะใกล้พระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า "วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุติการาม" เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้เปลี่ยนเป็น "วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม" เพื่อให้เหมาะสมกับเป็นที่ประดิษฐานหลักศิลา ซึ่งเป็นสีมามีจารึกคาถาบาลีและภาษาไทย ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์รวม 10 หลัก

ในปี พ.ศ. 2411 ปรากฏเรื่องประกาศให้เรียกนามวัดราชประดิษฐฯ ให้ถูก เพราะมีผู้เรียกวัดราชบัณฑิตบ้าง วัดทรงประดิษฐ์บ้าง ไม่ถูกต้องกับที่พระราชทานนามไว้ จึงทรงกำชับว่า ให้เรียกชื่อวัดว่า "วัดราชประดิษฐฯ" หรือ "วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม"

หลังจากทรงสร้างเสร็จแล้ว ได้ทรงอาราธนาพระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) หรือสามเณรสา ผู้สอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้ขณะเป็นสามเณร เป็นสามเณรนาคหลวง สายเปรียญธรรม รูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร มาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2408 ปีฉลู ทรงกระทำการสมโภชทั้งเจ้าอาวาสและวัดใหม่เป็นเวลา 3 วัน

ในพระวิหารหลวงมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระราชพิธี 12 เดือน ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้วาดไว้ มีสถาปัตยกรรมที่น่าชม เช่น ปาสาณเจดีย์, ปรางค์ขอม, ปราสาทพระบรมรูป (ปราสาทพระจอม), ปราสาทพระไตรปิฎก หอระฆังยอดมงกุฎ ฯลฯ ในอดีตเขตสังฆาวาส ห้ามสตรีเพศเดินผ่านเข้าออก (บริเวณกุฏิที่พักสงฆ์)

ลำดับเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม แก้

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม มีเจ้าอาวาสมาแล้วทั้งสิ้น 5 รูป ได้แก่

ลำดับ เจ้าอาวาส วาระ (พ.ศ.)
1 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) 2408 — 2442
2 พระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก) 2443 — 2453
3 พระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส) 2453 — 2474
4 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิโม) 2488 — 2543
5 พระพรหมวัชราจารย์ (พูนศักดิ์ วรภทฺทโก) 2543 — ปัจจุบัน

ผู้ช่วยเจ้าอาวาส แก้

  1. พระราชวราภรณ์ (อนันต์ ญาณวีโร)
  2. พระราชมงคลญาณ (สนิท คุณสินิทฺโธ)
  3. พระเมธาวินัยรส (สุเทพ ปสิวิโก)
  4. พระวชิรธรรมเมธี (อารยพงศ์ อารยธมฺโม)
  5. พระครูอุโฆสธรรมคุณ (นิยม คุณมโย)
  6. พระครูธรรมสารโกศล (สมรศักดิ์ ธมฺมสนฺติโก)
  7. พระครูโกศลสังฆกิจจการี (กิจจา ธมฺมสโม)
  8. พระครูวินัยธร อภิชาติ อภิชาโต
  9. พระมหาอนุลักษ์ ชุตินนฺโท

รูปภาพ แก้

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 32, ตอน 0 ก, 3 ตุลาคม พ.ศ. 2458, หน้า 284
  2. พระมหาวิโรจน์ ธมฺมวีโร, หลักสูตรสวดมนต์ฉบับวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เนื่องในโอกาสครบรอบ 84 พรรษา พระธรรมปัญญาจารย์, หน้าที่ 4-26
  3. พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐฯ แหล่งรวมของพระพุทธรูป“จำลอง” องค์สำคัญ, สโมสรศิลปวัฒนธรรม .สืบค้นเมื่อ 11/07/2561
  4. ราม วัชรประดิษฐ์, พันธุ์แท้พระเครื่อง : เหรียญปั๊มพระพุทธสิหิงค์, https://www.khaosod.co.th/ .สืบค้นเมื่อ 11/07/2561
บรรณานุกรม
  • สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว). นวัคคหายุสมธัมม์. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2558.
  • พิชญา สุ่มจินดา. ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, 2555.
  • พิชญา สุ่มจินดา. ราชประดิษฐพิพิธบรรณ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, 2555.
  • นนทพร อยู่มั่งมี. พระประวัติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, 2553.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

เว็บไซต์
ภูมิทัศน์

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°44′57″N 100°29′46″E / 13.749155°N 100.49624°E / 13.749155; 100.49624