พระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก)

พระสาสนโสภณ นามเดิม อ่อน ฉายา อหิํสโก (อ่านว่า อะหิงสะโก) เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และเจ้าคณะมณฑลกรุงเทพมหานคร

ประวัติ

แก้

กำเนิด

แก้

พระสาสนโสภณ เป็นชาวจีนแคะ เดิมชื่อเซี่ยงออน เกิดที่ประเทศจีนเมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2398[1] เมื่ออายุ 8 ปี ท่านได้ลงเรือของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฟัก โชติกสวัสดิ์) เข้ามาอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยภริยาของพระยาโชฎึกฯ (ฟัก) เป็นผู้เลี้ยงดู จนอายุได้ 11 ปี จึงไปเรียนในสำนักของพระมหาอ่ำ ณ วัดบุปผารามวรวิหาร เรียนได้ปีเศษก็บวชเป็นสามเณร[2]

การศึกษาและอุปสมบท

แก้

แล้วย้ายไปศึกษากับพระยาธรรมปรีชา (บุญ) พระโหราธิบดี (ชุม) พระเมธาธิบดี (จั่น) และสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) จนถึงปีกุน พ.ศ. 2418 จึงอุปสมบทที่วัดบุปผาราม โดยมีพระวิเชียรกระวี (เดช) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสาสนโสภณที่พระธรรมวโรดม (สา ปุสฺสเทโว) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ คุณถมยาธิดาของพระยาโชฎึกฯ (ฟัก) เป็นเจ้าภาพ หลังอุปสมบทได้ย้ายไปอยู่วัดคณิกาผลบ้าง วัดกันมาตุยารามบ้าง เพื่อให้ใกล้กับบ้านพระยาธรรมปรีชา (บุญ)[2]

ท่านเข้าสอบครั้งแรกในปีชวด พ.ศ. 2419 ที่พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท แปลได้ประโยค 1 จึงไม่ได้เป็นเปรียญ จนถึงปีมะเมีย พ.ศ. 2425 จึงเข้าสอบอีกได้เปรียญธรรม 4 ประโยค และเข้าสอบครั้งสุดท้ายในปีจอ พ.ศ. 2429 ได้เพิ่มอีก 3 ประโยครวมเป็นเปรียญธรรม 7 ประโยค[2]

ศาสนกิจ

แก้

ในปี พ.ศ. 2430 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะไปครองวัดพิชยญาติการาม นอกจากนี้ยังได้รับแต่งตั้งในหน้าที่อื่น ๆ อีก ได้แก่ วันที่ 8 มกราคม ร.ศ. 114 ท่านได้รับพระราชทานตราตั้งเป็นสภานายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยฝ่ายบรรพชิต[3] และในปี ร.ศ. 115 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตในขณะนั้น ได้ทรงแต่งตั้งท่านเป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตชุดแรก[4]

เมื่อพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชทรัพย์ซ่อมแซมกุฏิสมเด็จพระสังฆราชจนสวยงาม ถึงในวันที่ 26 เมษายน ร.ศ. 120 จึงโปรดเกล้าฯ ให้แห่พระสาสนโสภณ (อ่อน อหิํสโก) จากวัดพิชยญาติการาม ลงทางเรือมาเป็นเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐฯ[5] ท่านได้ครองวัดนี้ตราบจนมรณภาพ

เมื่อทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระสาสนโสภณเป็นเจ้าคณะมณฑลกรุงเทพฯ[6] และพระราชทานสัญญาบัตรเจ้าคณะมณฑลแก่ท่าน ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 19 กรกฎาคม ศกนั้น[7]

สมณศักดิ์

แก้
  • วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระเมธาธรรมรส มีนิตยภัตรเดือนละ 4 ตำลึง ได้รับพระราชทานตาลปัตรแฉกหักทองขวางเป็นเครื่องยศ[8]
  • วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2437 เลื่อนเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระเทพกระวี ศรีวิสุทธินายก ตรีปิฎกปรีชา มหาคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี มีนิตยภัตรเดือนละ 4 ตำลึงกึ่ง[9]
  • วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2438 (ตรงกับ พ.ศ. 2439 ตามการนับในปัจจุบัน) เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์ ญาณวิสารทะนายก ตรีปิฎกปรีชา มหาคณฤศณ บวรสังฆารามคามวาสี มีนิตยภัตรเดือนละ 5 ตำลึง[10]
  • วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 (ตรงกับ พ.ศ. 2444 ตามการนับในปัจจุบัน) สถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกายที่ พระสาสนโสภณ วิมลญาณอดุลย์สุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูสิต ธรรมยุติกคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี[11]

มรณภาพ

แก้

พระสาสนโสภณ อาพาธเป็นวัณโรคมาช้านาน แพทย์พยายามรักษาแต่อาการมีแต่ทรงกับทรุด จนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2453 เวลายามเศษ ณ กุฏิ วัดราชประดิษฐฯ วันต่อมาเวลาบ่าย 4 โมงเศษ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ มาพระราชทานน้ำสรงศพ โกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจา 4 คัน เป็นเกียรติยศ และโปรดให้พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมมีกำหนด 3 เดือน[12]

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 160
  2. 2.0 2.1 2.2 เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 161
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตราตั้งกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย, เล่ม 12, ตอน 41, 12 มกราคม ร.ศ. 114, หน้า 486
  4. ประวัติคณะธรรมยุต, หน้า 127
  5. ราชกิจจานุเบกษา, การแห่พระสาสนโสภณไปอยู่วัดราชประดิษฐ, เล่ม 18, ตอน 5, 5 พฤษภาคม ร.ศ. 120, หน้า 64-65
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งราชาคณะเจ้าคณะมณฑล, เล่ม 19, ตอน 16, 20 กรกฎาคม ร.ศ. 121, หน้า 296
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรเจ้าคณะมณฑล, เล่ม 19, ตอน 17, 27 กรกฎาคม ร.ศ. 121, หน้า 334
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวตั้งพระราชคณะ พระครู, เล่ม 4, ตอน 7, 20 พฤษภาคม ร.ศ. 106, หน้า 52-53
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 11, ตอน 39, 23 ธันวาคม ร.ศ. 113, หน้า 313
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรแลเลื่อนตำแหน่งยศ, เล่ม 13, ตอน 1, 5 เมษายน ร.ศ. 115, หน้า 313
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งพระสงฆ์, เล่ม 17, ตอน 50, 10 มีนาคม ร.ศ. 119, หน้า 730
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวมรณภาพ, เล่ม 27, ตอนที่ 0 ง, 3 กรกฎาคม ร.ศ. 129, หน้า 575
บรรณานุกรม
  • ประวัติคณะธรรมยุต. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547. 219 หน้า. ISBN 974-399-612-5
  • สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 160-163. ISBN 974-417-530-3