พระนิรันตราย เป็นพระพุทธรูปโบราณอีกองค์หนึ่งของไทยเป็นพระพุทธรูปสององค์ซ้อนกัน ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่หอพระสุราลัยพิมาน พระบรมมหาราชวัง

พระนิรันตราย
ชื่อเต็มพระนิรันตราย
ชื่อสามัญพระนิรันตราย
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะปางสมาธิ
ความกว้างองค์นอก 5.5 นิ้ว องค์ใน 3 นิ้ว
ความสูงองค์นอก สูง 4 นิ้ว
วัสดุทองคำ
สถานที่ประดิษฐานหอพระสุราลัยพิมาน พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

พระนิรันตราย เป็นพระพุทธรูปโบราณสององค์ซ้อนกัน องค์ใน ในตำนานพระพุทธรูปสำคัญ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปที่กำนันอินและนายยังบุตรชาย ขุดพบเมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2399 ที่ชายป่าแขวงเมืองปราจีนบุรี ห่างจากดงศรีมหาโพธิ์ประมาณสามเส้น (ปัจจุบันคือโบราณสถานหมายเลข 3 ซึ่งเรียกว่าเนินภูเขาทองในเขตโบราณสถานศรีมโหสถ) ในขณะที่กำลังขุดมันนกกันอยู่ โดยก่อนหน้านั้น ฝันว่าจับช้างเผือกได้เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำเนื้อหก น้ำหนักเจ็ดตำลึงสิบเอ็ดสลึง พุทธศิลปะแบบทวารวดี จึงให้พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ์ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา พาเข้ามา ณ กรุงเทพฯ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในวันพระฤกษ์เฉลิมพระราชมณเฑียรสีตลาภิรมย์

แต่ใน ร่างสารตราเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นเอกสารชั้นต้น เมื่อปี 2399 กล่าวว่า นายปัน กับ นายอิน สองพ่อลูก ไปขุดร่อนทองที่ดงศรีมหาโพธิ์แล้วเจอพระทองคำ และได้นำไปให้พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ์จึงบอกกรมการและพระยาวิเศษฤๅไชยเจ้าเมืองฉะเชิงเทรา กรมการเมืองฉะเชิงเทราทั้งหลายจึงพร้อมใจกันทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นพระองค์ก็ได้สอบถามที่ไปที่มาและได้พระราชทานเงินตรากับกรมการเมือง และพ่อลูกไปแบ่งกัน จึงสันนิฐานน่าจะเป็นตามที่ร่างสารตราเมืองฉะเชิงเทรากล่าวไว้มากกว่า[1]

ภายหลัง โปรดเกล้าฯ ให้เชิญมาประดิษฐานที่หอเสถียรธรรมปริต หลังจากนั้นได้มีขโมยมาขโมยของ ซึ่งขโมยหยิบพระกริ่งทองคำไป แต่พระทองคำองค์นี้ ขโมยไม่หยิบไปด้วย เรื่องทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานนามใหม่ให้ว่า "พระนิรันตราย" และโปรดเกล้าฯ ให้ หล่อองค์ใหม่ครอบองค์เดิมมาจนถึงทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "พระนิรันตราย" อีก 18 องค์[2] สำหรับพระราชทานถวายพระอารามแห่งธรรมยุติกนิกาย 18 พระอาราม เท่าจำนวนปีที่เสด็จอยู่ในสิริราชสมบัติ แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน การนี้สำเร็จตามพระราชประสงค์ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะพิเศษของพระนิรันตรายสำรับนี้ คือ มีส่วนที่เพิ่มเติมจากพระนิรันตรายองค์เดิม ได้แก่ ซุ้มเรือนแก้ว ทำเป็นพุ่มพระศรีมหาโพธิ์ประกอบ ยอดซุ้มประดับลายพระมหามงกุฎ และจารึกบท "อิติปิโส ภควา" 9 วรรค เป็นอักษรขอมประดับตามซุ้ม ส่วนฐานประดับรูปโค เจาะรูบริเวณปากโค น้ำสรงพระนิรันตรายจะไหลออกทางปากโค

วัดในกรุงเทพฯ ที่สามารถพบพระนิรันตรายในพระอุโบสถหน้าพระประธาน เช่น วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

องค์นอก พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรต้องตามพุทธลักษณะหน้าตักห้านิ้วกึ่ง หล่อด้วยทองคำ สวมครอบพระพุทธรูปนิรันตรายไว้อีกชั้นหนึ่งไม่มีซุ้มเรือนแก้วเป็นพุ่มพระมหาโพธิ์อยู่เบื้องหลัง

การอัญเชิญมาประกอบพระราชพิธี

แก้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญพระนิรันตรายทองคำประดิษฐานในพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (ทำบุญตรุษ) พระราชพิธีสงกรานต์ ปัจจุบัน เจ้าพนักงานภูษามาลายังรักษาแบบแผนโบราณราชประเพณีโดยอัญเชิญพระนิรันตรายไปตั้งในพระราชพิธีสำคัญ เช่น ในการบำเพ็ญพระราชกุศลวันเฉลิมพระชนมพรรษา และการพระราชกุศลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นต้น

ปัจจุบัน

แก้

พระนิรันตรายประดิษฐานอยู่ที่หอพระสุราลัยพิมาน หมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง

รูปภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. https://www.facebook.com/photo.php?fbid=896689373817930&set=gm.1885566358376238&type=3&theater&ifg=1
  2. https://www.facebook.com/WatRajabopit/posts/149204759926023/