พระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส)
พระพรหมมุนี นามเดิม แย้ม ฉายา อุปวิกาโส เป็นพระภิกษุในคณะธรรมยุติกนิกาย พระราชาคณะเจ้าคณะรองหนกลาง อดีตเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
ประวัติ
แก้พระพรหมมุนี มีนามเดิมว่าแย้ม เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2408 ตรงกับวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ปีฉลู ภูมิลำเนาอยู่บ้านพลูหลวง จังหวัดสุพรรณบุรี ปีมะแม พ.ศ. 2426 ขณะอายุได้ 19 ปี ได้บวชเป็นสามเณรที่วัดราชประดิษฐฯ โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว) เป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาพระปริยัติธรรมกับอาจารย์รอดจนอายุครบอุปสมบท จึงได้อุปสมบท ณ วัดราชประดิษฐฯ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วศึกษาพระปริยัติธรรมกับพระอุปัชฌาย์บ้าง กับอาจารย์บุศย์บ้าง
ท่านเข้าสอบพระปริยัติธรรมครั้งแรกในปีระกา พ.ศ. 2428 แต่แปลตกไม่ได้เป็นเปรียญ ต่อมาในปีขาล พ.ศ. 2433 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค และในปีมะแม พ.ศ. 2438 แปลได้เพิ่มอีก 3 ประโยครวมเป็นเปรียญธรรม 6 ประโยค
สมณศักดิ์
แก้- พระครูสมุห์ ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว)
- พระครูสังฆวิจารณ์ ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว)
- พระครูธรรมรูจี ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว)
- พระครูธรรมราต ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว)
- พระครูวรวงศา ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว)
- พระครูธรรมกถาสุนทร ฐานานุกรมในสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
- พระครูปลัดอวาจีคณานุสิชฌน์ ฐานานุกรมในสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
- 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 เลื่อนเป็นพระราชาคณะที่ พระอวาจีคณานุสิชฌน์ สังฆอิศริยาลังการ วิจารณกิจโกศล วิมลสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต[1]
- 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 เลื่อนเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระเทพกวีศรีวิสุทธิดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี[2]
- 30 ธันวาคม พ.ศ. 2463 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์ ยุตโยคญาณดิลก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาทียติคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี[3]
- 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 เลื่อนเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองอรัญวาสีที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ญาณวิสุทธิ์จริยาปรินายก ตรีปิฎกคุณาลังการ นานาสถานราชคมนีย์ สาธุการีธรรมากร สุนทรศีลาทิขันธ์[4]
- 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เลื่อนเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองหนกลางที่ พระพรหมมุนีศรีวิสุทธิญาณ ตรีปิฎกธรรมาลังการวิภูษิต มัชฌิมคณิศร บวรสังฆารามคามวาสีสังฆนายก[5]
มรณภาพ
แก้พระพรหมมุนี อาพาธด้วยโรคอัมพาต มรณภาพเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2474 เวลา 04.35 น. สิริอายุได้ 65 ปี 345 วัน พรรษา 47 เวลา 18.00 น. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ เสด็จไปสรงน้ำศพพระราชทาน และเชิญศพลงลองในตั้งบนแว่นฟ้า 2 ชั้น ประกอบโกศแปดเหลี่ยม และโปรดให้พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืนมีกำหนด 3 วัน[6]
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 16, ตอน 34, 19 พฤศจิกายน ร.ศ. 118, หน้า 487
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งพระราชาคณะ, เล่ม 29, ตอน ก, 13 พฤศจิกายน ร.ศ. 131, หน้า 238
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรพระสงฆ์, เล่ม 37, 9 มกราคม 2463, หน้า 3391
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนา สมณศักดิ์, เล่ม 40, ตอน 0 ง, 9 พฤศจิกายน 2466, หน้า 2593
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 42, ตอน 0 ก, 15 พฤศจิกายน 2468, หน้า 208
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวถึงมรณภาพ, เล่ม 48, ตอน ง, 25 ตุลาคม 2474, หน้า 2683
- บรรณานุกรม
- สุเชาวน์ พลอยชุม, ตำนานพระธรรมปาโมกข์. ตำนานพระธรรมปาโมกข์ และ พุทธศาสนสุภาษิตคำโคลง. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2555. [อนุสรณ์พระราชทานเพิงศพ พระธรรมปาโมกข์ (สุวรรณ กญฺจโน ป.ธ.๘) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555]
- สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. ISBN 974-417-530-3