วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร[1] ตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร วัดราชประดิษฐฯ เป็นวัดที่มีขนาดเล็กมาก ด้วยเนื้อที่เพียง 2 ไร่ 2 งานกับ 98 ตารางวาเท่านั้น[2] และได้รับพระราชทานกำหนดเขตที่ดินเพิ่ม จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเขตนอกมหาสีมา และอุปาจารวัด โดยมีอาณาเขต ทิศเหนือจรดพระราชวังสราญรมย์ หรือกรมแผนที่ทหารในปัจจุบัน ทิศใต้จรดพระราชอุทยานสราญรมย์ ทิศตะวันออกจรดซอยราชินี คลองหลอด และทิศตะวันตกจรดทำเนียบองคมนตรี
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร | |
---|---|
พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 4 | |
ชื่อสามัญ | วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
ที่ตั้ง | เลขที่ 2 ถนนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
เวลาทำการ | 09:00–18:00 น. (พระวิหารเปิดเฉพาะช่วงทำวัตรเช้า 09:00–09:30 น. กับทำวัตรเย็น 17:30–18:00 น.) |
เว็บไซต์ | /วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
หมายเหตุ | |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม |
ขึ้นเมื่อ | 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร |
เลขอ้างอิง | 0000006 |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดราชประดิษฐฯ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดราชประดิษฐาน จึงทรงสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้ครบตามโบราณราชประเพณี และเพื่อพระอุทิศถวายแก่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายเพื่อที่พระองค์เองและเจ้านาย ข้าราชการ ที่จะไปทำบุญที่วัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายใกล้พระบรมมหาราชวังได้สะดวก วัดราชประดิษฐฯ จึงเป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายวัดแรกที่สร้างขึ้นเพื่อพระสงฆ์ในนิกายนี้ เพราะวัดอื่น ๆ ของฝ่ายธรรมยุตเป็นวัดที่แปลงมาจากวัดของมหานิกาย และด้วยเหตุนี้เองวัดแห่งนี้จึงได้รับยกให้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4
ถึงแม้ว่าวัดแห่งนี้จะมีพื้นที่เพียงเล็กน้อย แต่ภายในพระอารามนี้ก็ประกอบไปด้วยปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานมากมาย เช่น พระวิหารหลวง พระปาสาณเจดีย์ หรือพระเจดีย์ที่ประกบ และฉลุด้วยหินอ่อน ปราสาทพระจอม ปราสาทพระไตรปิฏก ปรางค์ขอม และพระที่นั่งทรงธรรมหรือศาลาการเปรียญ ที่เป็นที่ตั้งธรรมาสน์ยอดมงกุฎ[3] และในพระวิหารหลวงของวัดก็เป็นที่สถิตของพระประธาน "พระพุทธสิหังคปฏิมากร" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้จำลองจากพระพุทธสิหิงค์องค์จริงที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์[4] พระชินสีห์น้อย พระศรีศาสดาน้อย พระพุทธชินราชน้อย พระพุทธสิหังค์น้อย และพระนิรันตราย ๑ ใน ๑๘ องค์ ที่รัชกาลที่๕ พระราชทาน
ประวัติ
แก้วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามสร้างขึ้นในที่ดิน ซึ่งเดิมเคยเป็นสวนกาแฟหลวง สมัยรัชกาลที่ 3 และเป็นโรงเรือนที่อยู่อาศัยของข้าราชการในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอซื้อที่เพื่อสร้างวัดธรรมยุติกนิกาย เมื่อ พ.ศ. 2407 เพื่อสำหรับเจ้านาย ข้าราชการฝ่ายหน้า-ใน ได้บำเพ็ญกุศลสะดวกขึ้น เพราะใกล้พระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า "วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุติการาม" เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้เปลี่ยนเป็น "วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม" เพื่อให้เหมาะสมกับเป็นที่ประดิษฐานหลักศิลา ซึ่งเป็นสีมามีจารึกคาถาบาลีและภาษาไทย ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์รวม 10 หลัก
ในปี พ.ศ. 2411 ปรากฏเรื่องประกาศให้เรียกนามวัดราชประดิษฐฯ ให้ถูก เพราะมีผู้เรียกวัดราชบัณฑิตบ้าง วัดทรงประดิษฐ์บ้าง ไม่ถูกต้องกับที่พระราชทานนามไว้ จึงทรงกำชับว่า ให้เรียกชื่อวัดว่า "วัดราชประดิษฐฯ" หรือ "วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม"
หลังจากทรงสร้างเสร็จแล้ว ได้ทรงอาราธนาพระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) หรือสามเณรสา ผู้สอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้ขณะเป็นสามเณร เป็นสามเณรนาคหลวง สายเปรียญธรรม รูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร มาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2408 ปีฉลู ทรงกระทำการสมโภชทั้งเจ้าอาวาสและวัดใหม่เป็นเวลา 3 วัน
ในพระวิหารหลวงมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระราชพิธี 12 เดือน ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้วาดไว้ มีสถาปัตยกรรมที่น่าชม เช่น ปาสาณเจดีย์, ปรางค์ขอม, ปราสาทพระบรมรูป (ปราสาทพระจอม), ปราสาทพระไตรปิฎก หอระฆังยอดมงกุฎ ฯลฯ ในอดีตเขตสังฆาวาส ห้ามสตรีเพศเดินผ่านเข้าออก (บริเวณกุฏิที่พักสงฆ์)
ลำดับเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
แก้วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม มีเจ้าอาวาสมาแล้วทั้งสิ้น 5 รูป ได้แก่
ลำดับ | เจ้าอาวาส | วาระ (พ.ศ.) |
---|---|---|
1 | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช | 2408 — 2442 |
2 | พระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก) | 2443 — 2453 |
3 | พระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส) | 2453 — 2474 |
4 | สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิโม) | 2488 — 2543 |
5 | พระพรหมวัชราจารย์ (พูนศักดิ์ วรภทฺทโก) | 2543 — ปัจจุบัน |
ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
แก้- พระราชวราภรณ์ (อนันต์ ญาณวีโร)
- พระราชวชิรธรรมเมธี (อารยพงศ์ อารยธมฺโม)
- พระเมธาวินัยรส (สุเทพ ปสิวิโก)
- พระครูอุโฆสธรรมคุณ (นิยม คุณมโย)
- พระครูธรรมสารโกศล (สมรศักดิ์ ธมฺมสนฺติโก)
- พระครูโกศลสังฆกิจจการี (กิจจา ธมฺมสโม)
- พระมหาอนุลักษ์ ชุตินนฺโท ป.ธ.7
- พระครูวินัยธร อภิชาติ อภิชาโต
รูปภาพ
แก้-
พระพุทธสิหังคปฏิมากร
-
พระนิรันตราย วัดราชประดิษฐฯ
-
พระบรมรูปในปราสาทพระจอม
-
ช่องใต้ฐานพระบรมรูปในปราสาทพระจอม
-
วัดราชประดิษฐฯ
-
ภายในพระวิหาร
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 32, ตอน 0 ก, 3 ตุลาคม พ.ศ. 2458, หน้า 284
- ↑ พระมหาวิโรจน์ ธมฺมวีโร, หลักสูตรสวดมนต์ฉบับวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เนื่องในโอกาสครบรอบ 84 พรรษา พระธรรมปัญญาจารย์, หน้าที่ 4-26
- ↑ พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐฯ แหล่งรวมของพระพุทธรูป“จำลอง” องค์สำคัญ, สโมสรศิลปวัฒนธรรม .สืบค้นเมื่อ 11/07/2561
- ↑ ราม วัชรประดิษฐ์, พันธุ์แท้พระเครื่อง : เหรียญปั๊มพระพุทธสิหิงค์, https://www.khaosod.co.th/ .สืบค้นเมื่อ 11/07/2561
- บรรณานุกรม
- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว). นวัคคหายุสมธัมม์. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2558.
- พิชญา สุ่มจินดา. ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, 2555.
- พิชญา สุ่มจินดา. ราชประดิษฐพิพิธบรรณ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, 2555.
- นนทพร อยู่มั่งมี. พระประวัติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, 2553.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์
- ภูมิทัศน์
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์