เสม พริ้งพวงแก้ว

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เสม พริ้งพวงแก้ว (31 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 — 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2523, พ.ศ. 2524 - 2526[1] และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขหลายสมัย เป็นนายแพทย์ผู้บุกเบิกการแพทย์ชนบท และการแพทย์สมัยใหม่ ผู้ร่วมจัดทำแผนสาธารณสุขแห่งชาติ

เสม พริ้งพวงแก้ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ดำรงตำแหน่ง
11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 – 3 มีนาคม พ.ศ. 2523
นายกรัฐมนตรีเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
ก่อนหน้าบุญสม มาร์ติน
ถัดไปทองหยด จิตตวีระ
ดำรงตำแหน่ง
11 มีนาคม พ.ศ. 2524 – 19 มีนาคม พ.ศ. 2526
นายกรัฐมนตรีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ก่อนหน้าทองหยด จิตตวีระ
ถัดไปมารุต บุนนาค
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด31 พฤษภาคม พ.ศ. 2454
กรุงเทพมหานคร
เสียชีวิต8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 (100 ปี)
โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพมหานคร
ศาสนาพุทธ

ประวัติ

แก้

เสม เกิดที่บ้านแถวถนนรองเมือง ซอย 4 (ปัจจุบันเรียกซอย 1) อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ในขั้นปฐมศึกษาเรียนที่โรงเรียนวัดบรมนิวาส และเข้าเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จนจบชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 8 ในระหว่างเรียน นายเสมได้รับทุนการเรียนประเภทหมั่นเรียนมาโดยตลอด

เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ 8 แล้ว โดยความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ นายเสมได้เข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต เมื่อ ปี พ.ศ. 2478 หลังจบการศึกษาแพทย์ปริญญาแล้ว เสมได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ยังได้ไปร่วมประชุมและดูงานในประเทศต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกา บราซิล สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ออสเตรีย นิวซีแลนด์รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเสมยังได้ศึกษาด้านทันตกรรม เพิ่มเติมจากศาสตราจารย์สี สิริสิงห์ เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในชนบทได้ด้วย

เสมสมรสกับ แฉล้ม พริ้งพวงแก้ว พยาบาลคู่ชีวิตที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมามากกว่า 70 ปี มีบุตรชายด้วยกัน 3 คน และบุตรหญิง 2 คน หนึ่งในนั้นคือ ชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว สถาปนิกดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยาม เจ้าของผู้ก่อตั้งบริษัทดีไซน์ 103 ที่มีชื่อเสียง โดยแฉล้มถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. 2549

ถึงแก่อนิจกรรม

แก้

นายแพทย์เสม ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อเวลาประมาณ 05.30 น.ในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ที่โรงพยาบาลราชวิถี สิริอายุรวม 100 ปี 1 เดือน 8 วัน จากการติดเชื้อในกระแสเลือด มีภาวะช็อก และไตวาย

การทำงาน

แก้

หลังจบการศึกษาด้านการแพทย์ ในปี พ.ศ. 2478 เสมได้ออกไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัด โดยไปจัดตั้งโรงพยาบาลเอกเทศขึ้นที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรคอหิวาตกโรคจนโรคสงบลง ในปีต่อมาก็ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทศบาลนครสวรรค์ เป็นเวลา 2 ปี และได้เริ่มงานศัลยกรรมและงานทันตกรรมเป็นครั้งแรกในชนบท

ชีวิตการทำงานในเชียงราย

แก้

ช่วงชีวิตที่สมบุกสมบันและลำบากที่สุดในการทำงานของเขาคือที่ จังหวัดเชียงราย เมื่อย้ายมาประจำที่จังหวัดเชียงรายเมื่อ พ.ศ. 2480 ก็ต้องมารณรงค์ร่วมกับข้าหลวงประจำจังหวัดคือ พระพนมนครานุรักษ์ และกรมการจังหวัด รวมทั้งธรรมการจังหวัด คือ บ. บุญค้ำ เพื่อนร่วมงานบุกเบิกซึ่งต่อมาเขาได้ช่วยชีวิตไว้ระหว่างสงคราม ร่วมกับพ่อค้าประชาชนร่วมกันบริจาคเงินสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดจนเป็นผลสำเร็จ แม้จะใช้เวลามากกว่า 10 ปี โรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงรายจึงได้รับการตั้งชื่อว่า “โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์” ซึ่งสร้างโดยเงินบริจาคของประชาชนทั้งสิ้น

เชียงราย เมื่อ 70 ปีก่อนนั้นขาดแคลนนายแพทย์มาก บ้านเมืองและโครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่พร้อม ข้าราชการ โดยเฉพาะคณะกรมการจังหวัดในสมัยนั้นจึงต้องร่วมมือกันทำงานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย โดยเฉพาะในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาระหว่าง พ.ศ. 2484-พ.ศ. 2488 เสมต้องทำงานอย่างหนักเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นนายแพทย์ที่ทุกคนต้องพึ่งพา แม้กระนั้น เขาก็ยังสามารถวางรากฐานด้านการแพทย์และสาธารณสุขไว้มากพอสรุปได้ดังนี้

ธนาคารเลือดแห่งแรกและการสาธารณสุขขั้นมูลฐานของเชียงราย

แก้

เมื่อ พ.ศ. 2493 เสมได้จัดตั้งธนาคารเลือดขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่จังหวัดเชียงราย ได้จัดทำสถานีอนามัยที่มีบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมแล้วไปทำหน้าที่ให้บริการสาธารณสุขขั้นมูลฐานเป็นครั้งแรกที่กิ่งอำเภอแม่สาย อำเภอเทิง อำเภอเชียงของและอำเภอพะเยา และจัดให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลออกเยี่ยมประชาชนในวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ

กิจกรรมทางการแพทย์ในระหว่างสงคราม

แก้

นอกจากการปฏิบัติราชการยามปกติแล้ว ในช่วงสงครามอินโดจีน เสมได้ร่วมปฏิบัติการสงครามเรียกร้องดินแดนคืน พ.ศ. 2483 มีการทดลองใช้น้ำมะพร้าวอ่อนช่วยชีวิตผู้ขาดน้ำในป่าลึกระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการศึกษาต้นกาสามปีก (Vitex peduncularis) ในการรักษาโรคไข้จับสั่นในทหารและพลเรือน การศึกษาต้นโมกหลวง (Holarrhena pubescens) ในการรักษาโรคบิดมีตัว (amoebic dysentery) ในทหารและพลเรือน การเตรียมควินินไฮโดรคลอไรด์รักษาไข้จับสั่นขึ้นสมอง และการเตรียม morphine ใช้ในโรงพยาบาล

ช่วงกลางแห่งชีวิต-การย้ายเข้ากรุงเทพฯ

แก้

เสมเป็นที่รู้จักและเป็นที่เคารพนับถือของชาวเชียงรายอย่างหาที่เปรียบได้ยาก ความมุมานะและความคิดริเริ่มต่าง ๆ ทำให้เชียงรายมีความเจริญด้านการแพททย์มากขึ้น จึงนับเป็นข้าราชการที่มีความสามารถสูงผู้หนึ่ง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2494 กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์ออกคำสั่งย้ายเสมจากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง หน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พญาไท (ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลราชวิถี) และได้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เป็นลำดับ ได้แก่ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้การช่วยเหลือทางการแพทย์และการสาธารณสุขทั่วประเทศ รวมทั้งมหาวิทยาลัยแพทย์ ได้ติดต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาขอผู้เชี่ยวชาญทางโลหิตวิทยาศึกษาโรค Thalassemia ในประเทศไทย ได้ร่วมสร้างผลงานจนได้เป็นศาสตราจารย์ไทยที่เป็นผู้ชำนาญการในโรคนี้จนปัจจุบันรู้จักกันทั่วโลก มีการจัดคณะแพทย์และพยาบาลมาช่วยพัฒนาการปฏิบัติการทางด้านศัลยกรรมที่โรงเรียนแพทย์ และร่วมมือกับ ศาสตราจารย์เบน ไอซแมนส์ แต่งตำราศัลยศาสตร์ทั่วไปด้วยเงินทุน M.S.A.

ในปี พ.ศ. 2494 เริ่มจัดตั้งธนาคารเลือดแห่งแรกในพระนครโดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การ M.S.A. สหรัฐอเมริกา ทำให้ประเทศไทยมีเลือดให้ผู้ป่วยเป็นชนิดเลือดสดและน้ำเหลืองแห้งทั้งแข็งและเป็นผง ส่งให้โรงพยาบาลทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ได้เปิดการอบรมเจ้าหน้าที่พยาบาลเป็นผู้ชำนาญในการถ่ายเลือด โดยศึกษา 1 ปี ในตำแหน่งชั้นตรี พร้อมกับผลิตตำราเพื่อตั้งและบริหารธนาคารเลือดในโรงพยาบาลต่าง ๆ ในพระนครและชนบท จากนั้นได้จัดตั้งโรงเรียนพยาบาลวิสัญญีทางการให้ยาระงับความรู้สึกทั่วประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปีนี้ ศึกษาเป็นเวลา 1 ปี ได้ตำแหน่งชั้นตรี มีการสร้างตำราวิสัญญีพยาบาลเป็นคู่มือในการศึกษาจนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 44 มีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนพันกว่ารายทำงานในโรงพยาบาลต่าง ๆ ในปัจจุบัน กิจการการสอนการอบรมทางประสบการณ์ได้เพิ่มความเข้มข้นขึ้นในปี พ.ศ. 2499 เป็นต้นมา

ต่อมา พ.ศ. 2494พ.ศ. 2503 ก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์ กรมการแพทย์ เริ่มต้นที่โรงพยาบาลกลาง โดยอธิบดีกรมการแพทย์ เมื่อ พ.ศ. 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย พันโทนิตย์ เวชวิศิษฎ์ (หลวงเวชวิศิษฎ์) ผู้เชิญ มณี สหัสสานนท์ แห่งโรงพยาบาลศิริราช มาเป็นอาจารย์ผู้ปกครอง กิจการได้เจริญก้าวหน้าเมื่อย้ายโรงเรียนมาอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลหญิง ได้มีการส่งครูพยาบาลไปเรียนต่างประเทศ จากนั้นในปี พ.ศ. 2497 รัฐบาลออสเตรเลีย โดย Lord Casey ข้าหลวงใหญ่รัฐบาล ออสเตรเลียเชิญไปหารือด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศ แล้วจัดรถพยาบาลจำนวน 78 คัน ให้ทุกโรงพยาบาลในประเทศ ใน พ.ศ. 2504

กำเนิดโรงพยาบาลหญิงและโรงพยาบาลเด็ก

แก้

พ.ศ. 2496 – 2500 กรมการแพทย์ ได้เสนอให้เร่งสร้างโรงพยาบาลหญิงและโรงพยาบาลเด็ก และวิทยาลัยพยาบาลผดุงครรภ์ ทำให้ประชาชนทั่วประเทศมีโรงพยาบาลประจำจังหวัด เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข มีโอกาสได้รับบริการทั่วหน้าได้ เนื่องจากโรงพยาบาลหญิงมีเด็กคลอดวันละ 50 – 70 คน เด็กจำนวน 20,000 คน คลอดที่โรงพยาบาลแห่งนี้ทุกปี เด็กคลอดมีทั้งเด็กมีร่างกายปกติและมีร่างกายพิการ ทางราชการจึงเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งโรงพยาบาลเด็กขึ้นในพื้นที่ 20 ไร่ ติดกับโรงพยาบาลหญิง เพื่อศึกษาและให้บริการแก่ประชาชนวัยเด็กที่มีความสำคัญต่อชาติเมื่อ พ.ศ. 2497 ในปี พ.ศ. 2500 ประชากรเด็กเพิ่มปีละ 3.3 ในร้อยคน รัฐบาลเห็นความสำคัญในการให้บริการแก่เด็กไทย โดยนอกจาการสร้างโรงพยาบาลเด็กแล้วก็สร้างสถานอนุเคราะห์เด็กที่บ้านราชวิถีขึ้นด้วย

การฝึกแพทย์ประจำบ้าน

แก้

จำนวนแพทย์ที่มีความรู้เรื่องเด็กมีความจำเป็น โรงพยาบาลเด็กด้วยความร่วมมือของ W.H.O. ได้จัดการอบรมแพทย์โรคเด็กขึ้นใน พ.ศ. 2500 เป็นการฝึกแพทย์ประจำบ้าน (Residency Training) ขึ้นในประเทศไทย ใช้เวลาเรียนติดต่อกันอีก 3 ปี เป็นต้นมาจนปัจจุบัน

การจดทะเบียนและเวชเบียน

แก้

พ.ศ. 2497 W.H.O. องค์การอนามัยโลกเห็นความสำคัญของระบบการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ จึงส่ง ศาสตราจารย์ ดร. วู๊ดบิวรี (Prof. Woodbury Ph.D.) ผู้เชี่ยวชาญทางการสถิติที่ปฏิบัติงานติดตามผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ณ เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ภายหลังการทิ้งระเบิดปรมาณู ที่ทำและติดตามทะเบียนผู้ป่วยที่ถูกแสงและมีชีวิตอยู่จนเป็นผลดีต่อทางราชการ ให้มาเป็นผู้ริเริ่มจัดการเวชเบียนผู้ป่วยขึ้นเป็นแห่งแรกที่โรงพยาบาลเด็ก โดยใช้เครื่อง IBM เป็นครั้งแรกในประเทศไทย จนเป็นแบบอย่างจนถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลเด็กได้จัดส่งนายแพทย์ไทยไปเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกาจนได้ปริญญาเอกทางนี้มาทำงานในประเทศ โดยเริ่มที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

การสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดและการตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์นานาชาติ

แก้
  • ภายใน 4 ปีรัฐบาลสามารถสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดได้ครบทุกจังหวัด
  • พ.ศ. 2497 ได้จัดตั้งสมาคมศัลยแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (International College of Surgeons – Thai) ทำให้ศัลยแพทย์ทั่วโลกได้รู้จักการเรียนและปฏิบัติงานทางศัลยกรรมในประเทศดีพอที่จะส่งศัลยแพทย์ไปศึกษาวิชาศัลยกรรมในต่างประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ในสมาคม International Society of Surgery ซึ่งเป็นสมาคมศัลยกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ทำให้ศัลยแพทย์ทั่วไปในโลกเข้าใจขีดการปฏิบัติงานและการฝึกอบรมศัลยแพทย์ไทยดียิ่งขึ้น
  • เปิดการประชุมและสัมมนาทางวิชาการระหว่างประเทศ เริ่มขึ้นต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

เวชสารการแพทย์และผลงานอื่น ๆ

แก้

ปัจฉิมวัย-การเป็นแพทย์เวชปฏิบัติส่วนตัว

แก้

การปฏิบัติวิชาชีพแพทย์ทั้งในภูมิภาคและในกรุงเทพฯ ที่ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมานานทำให้เสมตัดสินใจออกจากราชการมา เป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปเป็นเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2506พ.ศ. 2516) โดยมีสำนักงานอยู่ที่ เลขที่ 103 ถนนสุขุมวิท ระหว่างซอย 5 และซอย 7 โดยแบ่งพื้นที่ชั้นบนให้บุตรชายที่เป็นสถาปนิกใช้เป็นสำนักงานออกแบบ ซึ่งต่อมาได้เจริญรุ่งเรืองในชื่อของ “บริษัทดีไซน์ 103” ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน และในช่วงนี้เอง เขาก็ยังได้ใช้ชีวิตในปัจฉิมวัยทำคุณประโยชน์แก่สังคมอย่างมากมาย ทั้งด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การศึกษาและการเมือง อาทิ

งานการเมือง

แก้

นายแพทย์เสม ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย สมัยรัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดโครงสร้างใหม่ในกระทรวงสาธารณสุขและการกระจายอำนาจโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีการจัดทำแผนสาธารณสุขแห่งชาติด้วยความร่วมมือของ W.H.O. และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และต่อมาในปี พ.ศ. 2517 ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยรัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี[2] และรัฐบาลของพลเอก เปรม[3]

นายแพทย์เสม ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานกรรมการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย สมัยรัฐบาล ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มีการผลักดันให้มีการสร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอ จำนวน 660 แห่ง สนับสนุนหลักการ “สุขภาพดีทั่วหน้าในปี 2543” (Health for all by the year 2000) สนับสนุนหลัก 10 ประการของการสาธารณสุขมูลฐานให้สุขภาพดีทั่วหน้าในปี 2543 และมีการจัดทำ จ.ป.ฐ. ความจำเป็นพื้นฐาน 8 ตัว ให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมใช้เป็นหลัก

เกียรติยศ

แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

แก้

นายแพทย์เสม ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แก่

หนังสือที่รำลึก

แก้
  • มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและองค์การอนามัยโลก จัดพิมพ์หนังสือ “เกียรติประวัติแพทย์ไทย ฝากไว้ให้ชนรุ่นหลัง ชีวิตและงานของนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว” (สิงหาคม 2537)
  • โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จัดพิมพ์หนังสือเสม พริ้งพวงแก้ว ในโอกาสครบ 60 ปี ของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อประโยชน์ของประชาชนจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง
  • หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอาคารอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 27 สิงหาคม 2540 นายประกอบ ดำริชอบ นายอำเภออัมพวา กล่าวถึงผลงานของเสมที่สร้างโรงพยาบาลเอกเทศ พ.ศ. 2478

บุคคลดีเด่น

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. รายนามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุขอดีต-ปัจจุบัน เก็บถาวร 2011-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ทางการกระทรวงสาธาณสุข (สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2554)
  2. พระบรมราชโองการ ประกาศ รัฐมนตรีลาออก ให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๓๗ ราย)
  3. พระบรมราชโองการ ประกาศ รัฐมนตรีลาออก ให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งและตั้งรัฐมนตรี (ปรับปรุงคณะรัฐมนตรีในสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน ๒๖ ราย)
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๘๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๘, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๒๐๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๑, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๔
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๗๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔, ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๒๔
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๗๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๑๐, ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๑๐๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๘๔๐, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๔
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๘๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๑, ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๗

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า เสม พริ้งพวงแก้ว ถัดไป
บุญสม มาร์ติน (ครั้งแรก)
ทองหยด จิตตวีระ (ครั้งที่ 2)
   
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
(11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 (ครั้งแรก)
11 มีนาคม พ.ศ. 2524 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 (ครั้งที่ 2))
  ทองหยด จิตตวีระ (ครั้งแรก)
มารุต บุนนาค (ครั้งที่ 2)