เภสัชกร (อังกฤษ: pharmacist) คือผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุข (health profession) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านยามากที่สุดในสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพ ทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณ เนื่องจากสาขาวิชาชีพเภสัชกรรมนั้นมีความหลากหลาย จึงทำให้หน้าที่ของเภสัชกรจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละสายงาน ถ้าเป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับการบริบาลผู้ป่วย เช่น เภสัชกรโรงพยาบาล อาจมีหน้าที่หลักเช่นการจ่ายยาให้ผู้ป่วย การแนะนำการใช้ยา ติดตามการใช้ยาให้ผู้ป่วย แต่หากเป็นเภสัชกรที่เกี่ยวข้องกับสายงานด้านเทคโนโลยีเภสัชกรรม การทำงานอาจเป็นการควบคุมและดูแลกระบวนการในการผลิตยา....

เภสัชกร
เภสัชกรกำลังให้คำแนะนำการใช้ยา
รายละเอียด
ชื่อเภสัชกร หรือเรียกอย่างง่ายว่า หมอ
ประเภทอาชีพ
วิชาชีพ
กลุ่มงานบริการสุขภาพ, วิทยาศาสตร์สุขภาพ, เคมี
ความสามารถศาสตร์ ศิลป์ และจรรยาบรรณของแพทยศาสตร์, ทักษะการวิเคราะห์, การคิดวิเคราะห์
สถานที่ปฏิบัติงาน
เภสัชกรรม
อาชีพที่เกี่ยวข้อง
แพทย์, ผู้ช่วยเภสัชกร, นักพิษวิทยา, นักเคมี, การแพทย์เฉพาะทางอื่น ๆ

คุณสมบัติของเภสัชกร แก้

การจะเป็นเภสัชกรได้นั้น จะต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปจากคณะเภสัชศาสตร์ และจะเป็นเภสัชกรได้โดยสมบูรณ์เมื่อสอบผ่านการสอบวัดผลรวบยอดของวิชาชีพสัชกรรมและได้ใบประกอบโรคศิลป์ แต่ทั้งนี้ ในบางสายงานอาจไม่บังคับใช้ใบประกอบโรคศิลป์สำหรับเป็นคุณสมบัติในการรับเข้าทำงาน

นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นเภสัชกรควรมีคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น

  • มีสุขภาพกายที่ดี ไม่พิการ ไม่เป็นโรคร้าย
  • มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีบุคลิกภาพดี สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกับสหวิชาชีพได้
  • มีความรับผิดชอบในงานที่ทำ มีความละเอียดรอบคอบ
  • สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับด้านเภสัชกรรมเข้ากับงานที่ทำได้
  • หมั่นศึกษาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา เนื่องจากความรู้ในด้านการรักษาโรคและด้านยานั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
  • สามารถสืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและนำความรู้ที่มีไปใช้ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว
  • เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านยาและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับด้านเภสัชกรรม

ความต้องการขั้นพื้นฐานสำหรับการขึ้นทะเบียน (Registration) เป็นเภสัชกรรับอนุญาตจะต้องเป็น ผู้ที่เรียนจบจากคณะเภสัชศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งจะได้รับปริญญาดังนี้

ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาแตกต่างกันในแต่ละประเทศดังนี้

  1. ประเทศไทย ใช้เวลาเรียน 6 ปี ได้วุฒิเภสัชศาสตรบัณฑิต (ภ.บ.) (Doctor of Pharmacy : Pharm.D.)
  2. สหภาพยุโรป (European Union) รวมถึงสหราชอาณาจักร เดิมเรียน 4 ปีได้ ภ.บ. (B.Pharm.)
  3. ประเทศออสเตรเลีย เดิมใช้เวลา 3 ปี ปัจจุบันเรียน 4 ปี ได้ ภ.บ. (B.Pharm.)
  4. สหรัฐอเมริกา เดิมใช้เวลา 4-5 ปี ได้ ภ.บ. (B.Pharm.) ปัจจุบันต้องเรียนหลักสูตรเตรียมเภสัชศาสตร์ ใช้เวลา 2-3 ปี และบางมหาวิทยาลัยต้องเรียนจบปริญญาตรี 4 ปีก่อน จากนั้นจึงเรียนต่อ Doctor of Pharmacy (Pharm.D.) อีก 4 ปี รวมระยะเวลาเรียน 6-8 ปี มีฐานะเทียบเท่ากับ แพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) (Doctor of Medicine : MD)

เพิ่มเติม The Master of Sciences of Pharmacy (MPharm) เป็นหลักสูตรมาตรฐานทางเภสัชศาสตร์ในระดับปริญญาโท อ้างอิง https://en.wikipedia.org/wiki/Master_of_Pharmacy

หลักสูตรการเรียนเภสัชศาสตร์ แก้

การเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ นิสิต/นักศึกษาจะต้องเรียนรู้หลายรายวิชา ทั้งวิชาที่ยังไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องยา แต่จำเป็นต้องเรียนเพื่อใช้เป็นความรู้พื้นฐาน และวิชาที่เกี่ยวข้องกับยา

หลักสูตรมาตรฐานที่ใช้เรียนในคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะแตกต่างกันออกไป

วิชาพื้นฐาน แก้

ตัวอย่างเช่น

  • แคลคูลัส (Calculus)
  • หลักเคมี (Principal of chemistry)
  • เคมีอินทรีย์ (Organic Chemistry)
  • เคมีเชิงฟิสิกส์และการนำไปประยุกต์ใช้ (Physical Chemistry and Applications)
  • ฟิสิกส์เบื้องต้น (Introductory physics)
  • เซลล์และชีววิทยาระดับโมเลกุล (Cell and Molecular Biology)
  • ชีวเคมีการแพทย์พื้นฐาน (Basic Medical Biochemistry)
  • สรีรวิทยาการแพทย์ (Medical Physiology)
  • กายวิภาคศาสตร์พื้นฐาน (Basic Anatomy)
  • ปรสิตวิทยาทางการแพทย์ (General Medical Parasitology)
  • จุลชีววิทยาทางการแพทย์ (Medical Microbiology)
  • หลักการสาธารณสุข (Principle of Public Health)
  • ประสบการณ์สาธารณสุขในชุมชน (Public Health Experience in Community)
  • ภาษาอังกฤษพื้นฐาน (Fundamental English)
  • ภาษาอังกฤษพัฒนา (Developmental English)
  • ภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ (English for Academic Purposes)
  • ภาษาอังกฤษวิชาชีพ (Professional English)

วิชาที่เกี่ยวข้องกับเภสัชศาสตร์ แก้

  • บทนำสู่วิชาชีพเภสัชกรรม (Introduction to Pharmacy Profession)
  • บทนำทางเภสัชกรรมสำหรับเภสัชศาสตร์ (Introduction to Pharmaceutics for Doctor of Pharmacy)
  • การควบคุมคุณภาพเภสัชภัณฑ์สำหรับเภสัชศาสตร์ (Pharmaceutical Quality Control for Doctor of Pharmacy)
  • เภสัชกรรมสำหรับเภสัชศาสตร์ (Pharmaceutics for Doctor of Pharmacy)
  • บทนำสู่เภสัชเวท (Introduction to Pharmacognosy)
  • เภสัชเวทสำหรับเภสัชศาสตร์ (Pharmacognosy for Doctor of Pharmacy)
  • เภสัชวิทยา (Pharmacology)
  • ชีวเภสัชกรรมและเภสัชจลนศาสตร์ (Biopharmaceutics and Pharmacokinetics)
  • เภสัชเคมีสำหรับเภสัชศาสตร์ (Pharmaceutical Chemistry for Doctor of Pharmacy)
  • เภสัชบำบัดประยุกต์ (Applied Pharmacotherapeutics)
  • กฎหมายทางเภสัชกรรม (Laws in Pharmacy)
  • เภสัชสนเทศสำหรับเภสัชศาสตร์ (Pharmacoinformatics for Doctor of Pharmacy)
  • เภสัชระบาดวิทยาเบื้องต้น (Basic Pharmacoepidemiology)
  • การทบทวนข้อมูลยาใหม่ (Current Drug Review)
  • การบริหารทางเภสัชศาสตร์และบทบาทเภสัชกร (Pharmacy administration and Pharmacist role)
  • จริยธรรมเชิงวิชาชีพ (Professional Ethics)
  • การจัดการคุณภาพในองค์กรสุขภาพ (Quality Management in Health Care Organization)
  • ระเบียบวิธีวิจัยและสถิติสำหรับบริบาลเภสัชกรรม (Research Methodology and Biostatistics for Pharmaceutical Care)
  • เภสัชเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น (Basic Pharmacoeconomics)
  • การสื่อสารเชิงวิชาชีพ (Professional Communication)
  • เภสัชศาสตร์สังคมและพฤติกรรม (Social and Behavioral Aspects in Pharmacy)
  • บทนำสู่ปฏิบัติการทางบริบาลเภสัชกรรม (Introduction to Clerkship for Doctor of Pharmacy)
  • การฝึกงานวิชาชีพเภสัชกรรม (Pharmacy Training)
  • โครงงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ (Research Project in Pharmaceutical Sciences)

การจดทะเบียนเป็นเภสัชกร แก้

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยาแก่ประชาชนทั่วไป ประเทศต่าง ๆ จึงได้กำหนดบุคคลที่จะมาเป็นเภสัชกรจะต้องถูกฝึกอบรมมาอย่างถูกต้องและพอเพียงโดยการจดทะเบียน ซึ่งผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนจะต้องมีคุณสมบัติและผ่านการสอบ ดังนี้

  1. ประเทศไทย ผู้ที่ผ่านการศึกษาเภสัชศาสตร์ และต้องการจะได้รับการจดทะเบียนเป็นเภสัชกร ต้องผ่านการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม จากสภาเภสัชกรรม ก่อน
  2. ประเทศอังกฤษ ผู้ที่ผ่านการศึกษาเภสัชศาสตร์และต้องการจะได้รับการจดทะเบียนเป็นเภสัชกร จะต้องฝึกงานทางด้านเภสัชกรรมอย่างน้อย 1 ปี ก่อนสอบรับใบอนุญาตจากสมาคมเภสัชกรรมอังกฤษ (Royal Pharmaceutical Society of Great Britain)
  3. สหรัฐอเมริกา ผู้ที่ผ่านการศึกษาเภสัชศาสตร์และต้องการจะได้รับการจดทะเบียนเป็นเภสัชกร จะต้องการสอบ 2 ด่าน ดังนี้

สาขาวิชาชีพเภสัชกรรม แก้

สาขาวิชาชีพเภสัชกรรมนั้นค่อนข้างมีความหลากหลาย และใช้องค์ความรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งการเรียนการสอนในบางมหาวิทยาลัยอาจมีการแบ่งแยกสาขาของวิชาชีพเภสัชกรรมตั้งแต่ตอนเรียน และแต่ละสาขาที่เรียนจะทำให้เภสัชกรที่จบออกมามีความเชี่ยวชาญในด้านเภสัชกรรมที่แตกต่างกันไป แต่ในการทำงานเภสัชกรอาจสามารถเลือกทำงานที่ไม่ตรงกับสาขาที่ตนเรียนมาได้ หากมีคุณสมบัติเพียงพอตามที่หน่วยงานนั้น ๆ ต้องการ สำหรับสาขาวิชาชีพเภสัชกรรม อาจแบ่งเป็น 2 สาขาใหญ่ และแม้ทั้ง 2 สาขา จะมีการเรียนการสอนในวิชาที่แตกต่างกัน แต่นิสิต/นักศึกษาจะต้องเรียนความรู้พื้นฐานของแต่ละสาขาด้วย เนื่องจากเภสัชกรทุกคนจำเป็นต้องใช้ความรู้ทั้งสองด้านนี้ในการสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม และในการทำงานก็จำเป็นจะต้องประยุกต์ใช้ความรู้ของจากทั้งสองสาขาเข้าด้วยกัน

สาขาวิชาบริบาลเภสัชกรรม (Pharmaceutical Care) แก้

บริบาลเภสัชกรรมนั้น จะมุ่งเน้นความรู้ในด้านการให้บริบาลผู้ป่วย หรือการใช้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับยาในการรักษาโรค ตัวอย่างอาชีพเภสัชกรในด้านสาขาบริบาลเภสัชกรรม เช่น

  • เภสัชกรโรงพยาบาล (Hospital pharmacist): หรืออาจเรียกได้ว่า เภสัชกรคลินิก (Clinical pharmacist) ทั้งโรงพยาบาลรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชนจะมีเภสัชกรทำงานร่วมกับสหวิชาชีพด้านสุขภาพในการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความปลอดภัยสูงสุดในการใช้ยา การจ่ายยาเภสัชกรจะเป็นผู้จ่ายยาจากใบสั่งแพทย์ และให้คำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับยาและวิธีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย การให้คำปรึกษาเพื่อหาปัญหาจากยาแก่ผู้ป่วยในคลินิกของโรงพยาบาลก่อนหรือหลังพบแพทย์ เช่น คลินิกวัณโรค คลินิกโรคไต คลินิกโรคเบาหวานและความดัน คลินิกยาวาร์ฟาริน แต่ทั้งนี้งานของเภสัชกรโรงพยาบาลยังมีความหลากหลาย เพราะเภสัชกรจะต้องดูแลระบบยาของทั้งโรงพยาบาลเพื่อให้โรงพยาบาลนั้นได้มาตรฐาน ดังนั้นนอกจากทำหน้าที่จ่ายยา เภสัชกรอาจมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบริหารคลังยาของโรงพยาบาล การจัดซื้อจัดหายาเข้าโรงพยาบาล การออกหน่วยเยี่ยมบ้านลงชุมชนในเขตที่โรงพยาบาลนั้น ๆ เป็นผู้รับผิดชอบ การเตรียมยาให้ผู้ป่วยเฉพาะรายซึ่งอาจมีเฉพาะในบางโรงพยาบาล การปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ตอบคำถามด้านยาให้แก่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเภสัชกรโรงพยาบาลมีหน้าที่จ่ายยาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ เภสัชกรโรงพยาบาลยังมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลความคลาดเคลื่อนหรือความเสี่ยงด้านยาต่าง ๆ เพื่อนำมาทบทวน วางแผนหรือสร้างระบบป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากยาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

หน้าที่ของเภสัชกรโรงพยาบาล

บทบาทหน้าที่ของเภสัชกรโรงพยาบาลที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ คือเภสัชกรจะทำงานในห้องจ่ายยา โดยมีหน้าที่เพียงจ่ายยาตามใบสั่งยาของแพทย์และให้คำแนะนำในการใช้ยาแก่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงนอกจากการจ่ายยาแล้ว เภสัชกรยังทำหน้าที่อีกหลายอย่างทั้งหน้าที่ทีเกี่ยวข้องกับการให้บริบาลเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วย และยังมีหน้าที่ด้านการบริหารจัดการระบบยาในโรงพยาบาลอีกด้วย หน้าที่ของเภสัชกรในโรงพยาบาล ได้แก่

การจ่ายยา

หน้าที่หลักของเภสัชกรโรงพยาบาลคือการจ่ายยาตามใบสั่งยาของแพทย์ให้แก่ผู้ป่วย แต่การจ่ายยาของเภสัชกรไม่ใช่เพียงจ่ายยาตามรายการที่แพทย์สั่งเท่านั้น ก่อนจ่ายยาเภสัชกรจะต้องตรวจสอบความถูกต้องของใบสั่งยาร่วมกับข้อมูลของผู้ป่วยว่ามีข้อห้ามใช้ยาตัวใดหรือไม่ เนื่องจากโรคหรือยาบางชนิดนั้นอาจเป็นข้อจำกัดในการใช้ยาตัวอื่น

  • การตรวจสอบความถูกต้องใบสั่งยา

เป็นขั้นตอนก่อนที่จะจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจ่ายยา โดยทั่วไปเภสัชกรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของใบสั่งยาและเภสัชกรที่ทำหน้าที่จ่ายยาควรจะเป็นคนละคนกัน เพื่อช่วยกันตรวจสอบไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นในขณะที่กำลังทำการจ่ายยาให้กับผู้ป่วย และหากพบความคลาดเคลื่อนจากการสั่งใช้ยาเกิดขึ้น เภสัชกรจะต้องปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาเพื่อยืนยันหรือปรับเปลี่ยนคำสั่งใช้ยาต่อไป การตรวจสอบความถูกต้องของใบสั่งยามีหลายขั้นตอน ได้แก่

- ตรวจสอบยาที่ถูกจัด ให้ตรงชนิด ขนาด และจำนวน ตามที่แพทย์สั่ง

- ตรวจสอบวิธีใช้ยาบนฉลากยา เนื่องจากในบางครั้งแพทย์อาจไม่ได้พิมพ์วิธีใช้ยามา หรือพิมพ์วิธีใช้ยามาเป็นคำศัพท์ทางการแพทย์ เภสัชกรจะต้องเปลี่ยนวิธีใช้ยาบนฉลากให้ผู้ป่วยสามารถอ่านได้เข้าใจ หรือพิมพ์ฉลากยาเองกรณีที่แพทย์เขียนคำสั่งใช้ยาด้วยลายมือ

- กรณีที่เป็นยาโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังของผู้ป่วย เช่น โรคความดัน โรคเบาหวาน จะต้องตรวจสอบว่าแพทย์มีการปรับเปลี่ยนแผนการรักษา มีการปรับเพิ่มลดหยุดยาตัวใดหรือไม่ หรือแพทย์ลืมสั่งใช้ยาโดยที่ไม่ได้ตตั้งใจหยุดยาหรือไม่ โดยตรวจสอบจากใบสั่งยากับฐานข้อมูลของโรงพยาบาล เพื่อที่จะได้แจ้งให้ผู้ป่วยทราบได้อย่างถูกต้อง

- ตรวจสอบว่าผู้ป่วยมีภาวะที่ห้ามสั่งใช้ยาตัวใดหรือไม่

- ตรวจสอบอันตรกิริยาระหว่างยา (drug interactions) หรือการตรวจสอบว่ายาที่ผู้ป่วยได้รับนั้นสามารถให้ร่วมกันได้หรือไม่ โดยตรวจสอบกับทั้งรายการยาในใบสั่งยาเดียวกัน และตรวจสอบย้อนหลังกับยาโรคประจำตัวของผู้ป่วย เนื่องจากยาหลายชนิดไม่ควรใช้ร่วมกันหรือห้ามใช้ร่วมกันเพราะอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงแก่ผู้ป่วยได้

- ตรวจสอบว่ามีการสั่งใช้ยาซ้ำซ้อนกันหรือไม่ เช่น การสั่งใช้ยาในกลุ่มเดียวกัน เพราะนอกจากจะไม่เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษายังอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาเพิ่มขึ้น

- ตรวจสอบประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพ้ยาซ้ำเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายรุนแรงได้ กรณีที่แพทย์มีการสั่งใช้ยาในกลุ่มเดียวกันกับที่ผู้ป่วยแพ้เภสัชกรจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อขอเปลี่ยนเป็นยากลุ่มอื่น

- ตรวจสอบประวัติการเกิดอาการข้างเคียงจากยาของผู้ป่วย การใช้ยาบางชนิดแม้ผู้ป่วยจะไม่ได้แพ้ยาแต่หากผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่สามารถทนได้ ผู้ป่วยอาจไม่ใช้ยานั้นหากแพทย์มีการสั่งใช้ยานั้นซ้ำ

- กรณีที่เป็นประชากรกลุ่มพิเศษที่มีข้อจำกัดในการใช้ยา เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ต้องระวังการใช้ยา เช่น G-6PD ต้องตรวจสอบว่ามียาที่ห้ามใช้หรือไม่

การตรวจสอบขนาดยา

- คำนวณขนาดยาบางชนิดที่ต้องคำนวณตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วย เช่น ยาน้ำสำหรับผู้ป่วยเด็ก ยารักษาโรควัณโรค

- ตรวจสอบขนาดยาในผู้ป่วยที่การทำงานของไตหรือตับบกพร่อง เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจต้องใช้ยาในขนาดต่ำกว่า หรือมีระยะเวลาการใช้ยาที่ห่างกว่าผู้ป่วยปกติ เภสัชกรอาจต้องคำนวณค่าการทำงานของไตกรณีที่ไม่มีโปรแกรมคำนวณ

- ตรวจสอบขนาดยาที่แพทย์สั่งใช้ จะต้องไม่ต่ำกว่าขนาดที่ให้ผลในการรักษา และต้องไม่สูงเกินขนาดยาสูงสุดที่สามารถใช้ได้

- ยาบางชนิดที่มีช่วงการรักษาแคบ หมายถึงระดับยาที่ก่อให้เกิดผลในการรักษาและก่อให้เกิดพิษจากยาอยู่ในช่วงใกล้เคียงกันอาจต้องคำนวณละเอียดจากระดับยาในเลือดของผู้ป่วย

  • การส่งมอบยาให้ผู้ป่วย

การจ่ายยาเป็นขั้นตอนการส่งมอบยาให้ผู้ป่วยหลังจากผ่านการตรวจสอบความถูกต้องของใบสั่งยาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการจ่ายยาในผู้ป่วยแต่ละราย และการจ่ายยาแต่ละชนิดจะต้องอาศัยเทคนิคการจ่ายยาที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้เภสัชกรจะต้องซักถามข้อมูลผู้ป่วยเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการให้คำแนะนำการใช้ยาแก่ผู้ป่วย ขั้นตอนการจ่ายยา ดังนี้

- ถามชื่อ-นามสกุล ของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะต้องแจ้งชื่อและนามสกุลของตนแก่เภสัชกรแม้จะมีชื่อของผู้ป่วยบนใบสั่งยา เพื่อเป็นการยืนยันว่าผู้ป่วยมารับยาถูกคน เนื่องจากบางครั้งชื่อนามสกุลของผู้ป่วยอาจใกล้เคียงกับผู้ป่วยรายอื่นได้ กรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้มารับยาเองหรือผู้ที่มารับยาแทนไม่ทราบชื่อ-นามสกุลของผู้ป่วยอาจใช้เอกสารอื่นเช่นบัตรประจำตัวของผู้ป่วยเพื่อช่วยในการยืนยันตัวตน

- ถามประวัติแพ้ยา กรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยากับโรงพยาบาลที่ไปรักษาจะมีการแสดงชื่อยาและอาการที่ผู้ป่วยแพ้บนใบสั่งยา ซึ่งเภสัชกรจะสามารถเห็นและตรวจสอบได้ แต่หากผู้ป่วยเกิดการแพ้ยาจากที่อื่นการแจ้งประวัติแพ้ยาจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประวัติการแพ้ยาจากแหล่งอื่นจะไม่มีในฐานข้อมูลของโรงพยาบาล และหากผู้ป่วยเกิดการแพ้ยาซ้ำจะทำให้เป็นอันตรายรุนแรงได้

- ถามโรคประจำตัว ภาวะอื่น เพื่อประเมินว่าผู้ป่วยมีข้อห้ามใช้ยาตัวใดหรือไม่

แนะนำการใช้ยาแก่ผู้ป่วย

  • เภสัชกรชุมชน (Community pharmacist): หรือ เภสัชกรร้านยา หน้าที่หลักของเภสัชกรร้านยาคือให้การวินิจฉัยโรคผู้ป่วยในเบื่องต้นและจ่ายยาที่ตรงกับโรคนั้น ๆ หรือหากประเมินแล้วพบว่าโรคดังกล่าวไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาในร้านยาจะต้องทำการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อไปยังโรงพยาบาล ดังนั้นเภสัชกรชุมชนจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยดูแลผู้ป่วยนอกเหนือจากการให้บริการของโรงพยาบาลหรือคลินิกแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยสามารถเข้าถึงร้านยาได้ง่าย จึงทำให้ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาในเบื่องต้นได้อย่างรวดเร็ว
  • เภสัชกรสาธารณสุข: เภสัชกรที่ทำงานในสายงานนี้ ได้แก่ เภสัชกรที่ทำงานในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. และเภสัชที่ทำงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ สสจ. เภสัชกรในสายงานนี้จะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตรวจสอบเรื่องยา อาหารเสริม รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ นอกจากนี้ยังตรวจสอบควบคุมการทำงานของเภสัชกรรวมทั้งร้านยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ป่วยและผู้บริโภค
  • เภสัชกรการตลาด: เภสัชกรในสาขานี้ จะถูกเรียกว่า "ผู้แทนยา" โดยมีหน้าที่หลักคือนำเสนอข้อมูลยาที่ตนรับผิดชอบให้โรงพยาบาลหรือร้านยาเพื่อให้รับยานั้น ๆ เข้าไปใช้ในโรงพยาบาลหรือร้านยา ซึ่งผู้แทนยาจะมีความเชี่ยวชาญในข้อมูลยาที่ตนรับผิดชอบเป็นพิเศษ ดังนั้นผู้แทนยาจึงถือว่ามีความสำคัญในการกระจายยาจากบริษัทผู้ผลิตหรือผู้คิดค้นยาไปยังร้านยาและโรงพยาบาลต่าง ๆ

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม (Pharmaceutical Science) แก้

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรมนั้น แตกต่างจากสาขาวิชาบริบาลเภสัชกรรมตรงที่ไม่ได้มุ่งเน้นการใช้ความรู้ด้านเภสัชกรรมเพื่อให้บริบาลผู้ป่วยโดยตรง แต่จะเป็นการใช้ความรู้ด้านเภสัชกรรมเพื่อการผลิต คิดค้น ตรวจสอบ รวมถึงควบคุมคุณภาพของยาหรือเภสัชภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐาน ดังนั้นสาขาวิชานี้จึงมีความสำคัญไม่ต่างจากสาขาบริบาลเภสัชกรรม ตัวอย่างเช่น

  • เภสัชกรอุตสาหกรรมฝ่ายการผลิต
  • เภสัชกรอุตสาหกรรมการควบคุมคุณภาพ
  • เภสัชกรวิทยาศาสตร์การแพทย์

ดูเพิ่ม แก้

หนังสืออ่านเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้