กายวิภาคศาสตร์ (อังกฤษ: Anatomy; กรีก: ἀνατομία anatomia, มาจาก ἀνατέμνειν ana: การแยก และ temnein: การตัดเปิด) เป็นแขนงหนึ่งของวิชาชีววิทยา ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างของสิ่งมีชีวิต คำนี้หมายรวมถึงกายวิภาคศาสตร์มนุษย์ (human anatomy) , กายวิภาคศาสตร์สัตว์ (animal anatomy หรือ zootomy) และกายวิภาคศาสตร์พืช (plant anatomy หรือ phytotomy) ในบางแง่มุมกายวิภาคศาสตร์ก็มีความเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับวิชาคัพภวิทยา (embryology) , กายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบ (comparative anatomy) และคัพภวิทยาเปรียบเทียบ (phylogenetics หรือ comparative embryology) [1]โดยมีรากฐานเดียวกันคือวิวัฒนาการ (evolution)

หัวใจและปอดของมนุษย์ ภาพจากหนังสือ Gray's Anatomy

กายวิภาคศาสตร์สามารถแบ่งออกได้เป็นมหกายวิภาคศาสตร์ (gross anatomy หรือ macroscopic anatomy) และจุลกายวิภาคศาสตร์ (microscopic anatomy) [1] มหกายวิภาคศาสตร์ [หรืออาจเรียกว่ากายวิภาคศาสตร์เฉพาะส่วน (topographical anatomy, regional anatomy หรือ anthropotomy)] เป็นการศึกษาโครงสร้างทางกายวิภาคที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า[1] จุลกายวิภาคศาสตร์เป็นการศึกษาโครงสร้างทางกายวิภาคขนาดเล็กซึ่งต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ ได้แก่ มิญชวิทยา (histology) ซึ่งเป็นการศึกษาโครงสร้างของเนื้อเยื่อ[1] และวิทยาเซลล์ (cytology) ซึ่งเป็นการศึกษาเซลล์

กายวิภาคศาสตร์มีประวัติศาสตร์เป็นเวลายาวนาน มีการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของอวัยวะและโครงสร้างต่าง ๆ ของร่างกายอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับวิธีการศึกษาที่พัฒนาอย่างรวดเร็วตั้งแต่การศึกษาจากสัตว์ไปจนถึงการชำแหละ (dissect) ศพมนุษย์ จนกระทั่งพัฒนาเทคนิคที่อาศัยเทคโนโลยีที่ซับซ้อนในศตวรรษที่ 20

วิชากายวิภาคศาสตร์นั้นต่างจากพยาธิกายวิภาค (anatomical pathology หรือ morbid anatomy) หรือจุลพยาธิวิทยา (histopathology) ซึ่งเป็นการศึกษาลักษณะทางมหภาคและจุลภาคของอวัยวะที่เป็นโรค

กายวิภาคศาสตร์พื้นผิว

แก้

กายวิภาคศาสตร์พื้นผิว (superficial anatomy หรือ surface anatomy) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับจุดกำหนด (landmark) ทางกายวิภาคที่สามารถมองเห็นได้จากผิวภายนอกร่างกาย ด้วยความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์พื้นผิว แพทย์หรือสัตวแพทย์สามารถทราบตำแหน่งและกายวิภาคของโครงสร้างที่เกี่ยวข้องที่อยู่ลึกลงไป

กายวิภาคศาสตร์มนุษย์

แก้
 
รูปร่างภายนอกของมนุษย์
 
ภาพเอกซเรย์ของหน้าอกมนุษย์

กายวิภาคศาสตร์มนุษย์ ซึ่งรวมทั้งมหกายวิภาคศาสตร์และจุลกายวิภาคศาสตร์ เป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับกายสัณฐานวิทยา (morphology) ของร่างกายมนุษย์[1]

โดยทั่วไปแล้ว นักศึกษาที่ศึกษาวิชาชีววิทยาในบางสาขา, บุคลากรทางการแพทย์ (paramedics) , นักกายภาพบำบัด (physiotherapists) , พยาบาล, และนักศึกษาแพทย์ (medical students) ศึกษามหกายวิภาคศาสตร์และจุลกายวิภาคศาสตร์จากแบบจำลอง, โครงกระดูก, ตำรา, แผนภาพ, ภาพถ่าย, และการฟังบรรยาย การศึกษาจุลกายวิภาคศาสตร์ (หรือมิญชวิทยา) ในสถานศึกษาจะใช้การศึกษาตัวอย่างหรือสไลด์ผ่านกล้องจุลทรรศน์ และนอกจากนี้ นักศึกษาแพทย์โดยทั่วไปจะได้ศึกษามหกายวิภาคศาสตร์จากการสังเกตและชำแหละร่างกายมนุษย์ หรือที่นิยมเรียกกันในประเทศไทยว่า อาจารย์ใหญ่ ซึ่งเป็นร่างกายของผู้ที่ประสงค์บริจาคเพื่อการศึกษา

กายวิภาคศาสตร์มนุษย์, สรีรวิทยา และชีวเคมีประกอบกันเป็นวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน (basic medical sciences) ซึ่งโดยทั่วไปจะสอนแก่นักศึกษาแพทย์ในชั้นปีแรก (หรือในชั้นปีที่ 1–3 ในคณะแพทยศาสตร์ในประเทศไทย) การสอนวิชากายวิภาคศาสตร์มนุษย์สามารถสอนแยกตามระบบหรือตามตำแหน่ง[1] กล่าวคือสามารถศึกษาแยกตามแต่ละระบบ เช่น ระบบประสาท หรือระบบทางเดินหายใจ หรือศึกษาแยกตามเฉพาะที่ เช่น บริเวณศีรษะ และหน้าอก ตำราทางกายวิภาคศาสตร์ที่สำคัญ เช่น Gray's Anatomy ในปัจจุบันได้เรียงเนื้อหาใหม่จากแยกตามระบบเป็นแยกตามตำแหน่ง[2][3] ตามวิธีการสอนแบบใหม่ ความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์นั้นมีความจำเป็นต่อแพทย์ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศัลยแพทย์ และแพทย์ที่ทำงานด้านการวินิจฉัยเฉพาะทางเช่น จุลพยาธิวิทยา (histopathology) หรือรังสีวิทยา (radiology)

นักกายวิภาคศาสตร์จะทำงานในมหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ โรงเรียนแพทย์ หรือสอนในโรงพยาบาล ซึ่งจะทำงานในด้านการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ และการวิจัยในบางระบบอวัยวะ, อวัยวะ, เนื้อเยื่อ หรือเซลล์

สาขาวิชาอื่น ๆ

แก้

กายวิภาคเปรียบเทียบ (comparative anatomy) เป็นวิชาเกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบโครงสร้างทางกายวิภาค (ทั้งในมหภาคและจุลภาค) ในสัตว์ต่างชนิดกัน[1]

มานุษยกายวิภาคศาสตร์ (Anthropological anatomy หรือ physical anthropology) เกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบกายวิภาคของมนุษย์ในแต่ละเชื้อชาติ

กายวิภาคทางศิลปะ (artistic anatomy) เกี่ยวข้องกับการศึกษาทางกายวิภาคในเชิงศิลปะ

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 Henry Gray (1918). Introduction page, "Anatomy of the Human Body" (20th ed.). สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2007.
  2. Publisher's page for Gray's Anatomy (39th (UK) ed.). 2004. ISBN 0-443-07168-3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2007. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2007.
  3. Publisher's page for Gray's Anatomy (39th (US) ed.). 2004. ISBN 0-443-07168-3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 ตุลาคม 2005. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2007.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้