คัพภวิทยา หรือ วิทยาเอ็มบริโอ (อังกฤษ: embryology) เป็นการศึกษาการเจริญของเอ็มบริโอ เอ็มบริโอคือขั้นหนึ่งของการเจริญของสิ่งมีชีวิตก่อนคลอดหรือออกจากไข่ หรือในพืชคือในระยะก่อนการงอก (germination)

ตัวอ่อนระยะมอรูลา (Morula) , ระยะ 8 เซลล์
1 - มอรูลา (morula), 2 - บลาสตูลา (blastula)
เอ็มบริโอ 6 สัปดาห์หลังประจำเดือนครั้งสุดท้าย

คัพภวิทยาหมายถึงการเจริญของไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว (ไซโกต) และมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ หลังจากระยะแยก (cleavage) เซลล์ที่กำลังแบ่งตัว หรือมอรูลา (morula) จะกลายมาเป็นลูกบอลกลวง หรือบลาสตูลา (blastula) ซึ่งมีการเจริญของรูหรือช่องที่ปลายด้านหนึ่ง

ในสัตว์ บลาสตูลาจะมีการเจริญแบ่งได้ออกเป็น 2 ทาง ทำให้สามารถแบ่งสัตว์ในอาณาจักรสัตว์ออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือหากมีการเจริญของรูในบลาสตูลา (บลาสโตพอร์ (blastopore)) กลายเป็นปากของสัตว์ จะเรียกว่าพวกโพรโตสโตม (protostome) แต่หากรูนั้นเจริญเป็นทวารหนัก จะเรียกว่าพวกดิวเทอโรสโตม (deuterostome) สัตว์พวกโพรโตสโตมได้แก่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น แมลง หนอน และพวกหอยกับปลาหมึก ในขณะที่พวกดิวเทอโรสโตมได้แก่สัตว์ที่วิวัฒนาการสูงเช่นสัตว์มีกระดูกสันหลัง (vertebrates) บลาสตูลาจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นโครงสร้างที่เรียกว่า แกสตรูลา (gastrula)

1 - บลาสตูลา (blastula), 2 - แกสตรูลา (gastrula) และบลาสโตพอร์ (blastopore); สีส้มแทนเอ็กโทเดิร์ม, สีแดงแทนเอนโดเดิร์ม

แกสตรูลาและบลาสโตพอร์จะเจริญไปเป็นชั้นต่าง ๆ 3 ชั้น (germ layers) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอวัยวะและเนื้อเยื่อในร่างกายทั้งหมด

สำหรับในมนุษย์ เอ็มบริโอหมายถึงกลุ่มเซลล์ที่กำลังแบ่งตัวรูปทรงกลมจากระยะที่ไซโกตฝังตัวอยู่ในผนังมดลูกจนกระทั่งถึงสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 8 หลังจากตั้งครรภ์ หลังจากสัปดาห์ที่ 8 จะเรียกตัวอ่อนของมนุษย์ว่าทารกในครรภ์ (fetus) เอ็มบริโอของสัตว์หลายชนิดจะมีลักษณะคล้ายกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ ในระยะการเจริญช่วงแรกๆ เหตุผลที่มีความคล้ายคลึงกันนั้นเนื่องจากสิ่งมีชีวิตมีการปรับตัวในสิ่งแวดล้อมของการตั้งครรภ์ ความคล้ายคลึงกันในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดเรียกว่า โครงสร้างกำเนิดต่างกัน (analogous structures) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ทำหน้าที่หรือกลไกเหมือนกันแต่วิวัฒนาการมาจากคนละส่วนกัน


อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้