ผู้ใช้:Gonkost/ทดลองเขียน

อำเภอสุวรรณภูมิ
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Suwannaphum
คำขวัญ: 
สุวรรณภูมิแดนกู่พระโกนา ทุ่งกุลาสดใส งานใหญ่บั้งไฟแสน ดินแดนวัฒนธรรม
แผนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เน้นอำเภอสุวรรณภูมิ
แผนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เน้นอำเภอสุวรรณภูมิ
พิกัด: 15°36′33″N 103°48′1″E / 15.60917°N 103.80028°E / 15.60917; 103.80028
ประเทศ ไทย
จังหวัดร้อยเอ็ด
พื้นที่
 • ทั้งหมด1,107.042 ตร.กม. (427.431 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2561)
 • ทั้งหมด116,103 คน
 • ความหนาแน่น104.87 คน/ตร.กม. (271.6 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 45130
รหัสภูมิศาสตร์4511
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอสุวรรณภูมิ หมู่ที่ 2
ถนนปัทมานนท์ ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด 45130
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

อำเภอสุวรรณภูมิ หรือ "เมืองศรีภูมิ" นามเดิม ( คำเต็ม คือ "เมืองท่งศรีภูมิ" ) เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัด ห่างจากตัวจังหวัดร้อยเอ็ดประมาณ 52 กิโลเมตร มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีพื้นที่มากที่สุดในจังหวัดร้อยเอ็ด

เดิม ชื่อเมืองท่งศรีภูมิ โดย ก่อตั้งเมืองใน ปี พ.ศ. 2256 มี เจ้าแก้วมงคล เป็นปฐมวงศ์ เจ้าเมืองพระองค์แรก และเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ ของ อาณาจักรล้านช้างจำปาสัก ก่อนจะเข้าสวามิภักดิ์ ต่ออาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ในปี 2308 และภายหลัง ท้าวเซียง เจ้าเมืองท่งศรีภูมิลำดับที่ ๔ ได้ขอย้ายที่ตั้งเมือง โดยมีใบบอก มายังพระเจ้ากรุงธนบุรี ในปี 2315 มาที่ดงเท้าสาร และขอพระราชทานนามเมืองใหม่ ว่า "เมืองสุวรรณภูมิ" และ ท้าวเซียง ได้รับสถาปนา เป็น พระรัตนวงษา (เซียง) เป็นเจ้าเมือง โดยพระยศของเจ้าเมือง "พระรัตนวงษา" นั้น เป็นการแสดงถึง ทายาทแห่งปฐมวงศ์เจ้าแก้วมงคล ผู้เป็นเจ้าปู่ และผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิ ท่านแรก

ภายหลัง 2325 หลังการสถาปนากรุงรัตนโกศินทร์ เมืองสุวรรณภูมิ ได้อยู่ในขอบขัณฑสีมา โดยมีฐานะเป็นเมืองประเทศราช ของกรุงรัตนโกศินทร์นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2338 โดยมีชื่อเมืองเต็มว่า "สุวรรณภูมิราชบุรินทร์" (หรือ เขียนเป็น สุวรรณภูมิราชบุรี, หรือ สุวรรณภูมิราชบุรีย์ ) ต่อมาเมืองสุวรรณภูมิ ได้แบ่งอาณาเขตออกให้ ทายาทของ เจ้าแก้วมงคล ได้ปกครอง หลายเมือง ดังนี้

  1. พ.ศ. 2318 เมืองร้อยเอ็ด หรือ จังหวัดร้อยเอ็ด
  2. พ.ศ. 2330 เมืองหนองหาน หรือ อำเภอหนองหาน
  3. พ.ศ. 2335 เมืองชนบท หรือ อำเภอชนบท
  4. พ.ศ. 2340 เมืองขอนแก่น หรือ จังหวัดขอนแก่น
  5. พ.ศ. 2342 เมืองพุทไธสง อำเภอพุทไธสง
  6. พ.ศ. 2408 เมืองมหาสารคาม ( แยกออกจากเมืองร้อยเอ็ด )
  7. พ.ศ. 2415 เมืองเกษตรวิสัย หรือ อำเภอเกษตรวิสัย
  8. พ.ศ. 2417 เมืองธวัช หรือ อำเภอธวัชบุรี ( เดิม ตั้งที่ ตำบลธวัชดินแดง ) โดยแยกออกจากเมืองร้อยเอ็ด
  9. พ.ศ. 2421 เมืองพนมไพรแดนมฤค หรือ อำเภอพนมไพร ในปัจจุบัน
  10. พ.ศ. 2422 เมืองพยัคฆภูมิพิสัย หรือ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ในปัจจุบัน
  11. พ.ศ. 2425 เมืองวาปีปทุม หรือ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ในปัจจุบัน แยกออกจากเมืองร้อยเอ็ด แต่ไปตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เมืองสุวรรณภูมิ ภายหลัง ยังคงให้ขึ้นเมืองร้อยเอ็ด ก่อนมาขึ้นจังหวัดมหาสารคามในภายหลัง
  12. พ.ศ. 2425 เมืองจตุรพักตร์พิมาน หรือ อำเภอจตุรพักตร์พิมาน
  13. พ.ศ. 2425 เมืองโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ( แยกออกจาก เมืองมหาสารคาม )

จนกระทั่งปี 2435 มีการปฏิรูปการปกครอง ในระบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองสุวรรณภูมิ คงฐานะเป็น เมืองชั้นเอก (เทียบเท่าจังหวัด) โดยมีเมืองชั้นโท ตรี จัตวา ภายใต้การปกครอง จำนวน ๕ เมืองได้แก่ เมืองสุวรรณภูมิ, เมืองพยัคฆภูมิพิสัย หรือ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย, เมืองพนมไพรแดนมฤค หรือ อำเภอพนมไพร, เมืองเกษตรวิสัย หรือ อำเภอเกษตรวิสัย และเมืองจุตรพักตร์พิมาน หรือ อำเภอจตุรพักตรพิมาน ซึ่งเมืองทั้งหมด ล้วนแล้วแต่มีเจ้าเมืองเป็นทายาทของ เจ้าแก้วมงคล และแยกออกจาก เมืองสุวรรณภูมิ ทั้งสิ้น ต่อมา ในปี 2451 มีการยุบมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการท้องที่ เป็น จังหวัด และอำเภอ เมืองสุวรรณภูมิ จึงถูกยุบและลดฐานะเป็น อำเภอ ให้ขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในด้านการปกครอง ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อำเภอสุวรรณภูมิ มีฐานะเป็น อำเภอชั้น 1 เทียบเท่าอำเภอเมืองร้อยเอ็ด หรืออำเภอเมืองที่ตั้งจังหวัดอื่นๆ ที่มิใช่อำเภอชั้นพิเศษ

อาณาเขตของเมืองหรือนครรัฐท่งศรีภูมิ ตั้งเเต่ปี พ.ศ. 2256

ที่ตั้งและอาณาเขต

แก้

อำเภอสุวรรณภูมิตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ประวัติศาสตร์

แก้
 
เจ้าเเก้วมงคล เจ้าผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิคนเเรก

สมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช พระเจ้ามหาชีวิตแห่งพระนครจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตเสด็จสวรรคตในพ.ศ. ๒๒๓๑ พระองค์มีพระราชโอรสที่ยังทรงพระเยาว์มากองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าองค์หล่อ พระชนม์ ๓ พรรษา พระยาแสนสุรินทรลือชัยไกรเสนาบดีศรีสรราชสงคราม (ท้าวมละ) ตำแหน่งพระยาเมืองแสนหรืออัครมหาเสนาบดีฝ่ายขวา จึงถือโอกาสแย่งเอาราชสมบัติจากพระราชกุมารที่ยังทรงพระเยาว์ เพื่อความชอบธรรมในการครองอำนาจพระยาเมืองแสนจึงหมายจะบังคับเอาเจ้านางสุมังคลราชเทวีพระมเหสีของสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช พระมารดาของเจ้าองค์หล่อและขณะนั้นพระนางก็ทรงพระครรภ์อยู่ด้วย มาเป็นมเหสีของตนเพื่อความชอบธรรมในราชบัลลังก์แต่พระนางไม่ยอม พระนางจึงขอความช่วยเหลือไปยังเจ้าราชครูหลวง วัดโพนเสม็ด ( ญาคูขี้หอม )

เจ้าราชครูหลวง วัดโพนเสม็ดจึงวางอุบายให้ให้ศิษย์นำเสด็จพระนางเสด็จหนีไปหลบซ้อนที่ภูฉะง้อหอคำ (อยู่ในแขวงบอลิคำไซ) และต่อมาพระนางได้ประสูติการพระราชโอรส เจ้าราชครูหลวงถวายพระนามว่า เจ้าหน่อกระษัตริย์ ส่วนเจ้าองค์หล่อนั้นขุนนางที่จงรักภัคดีพาหนีไปยังเมืองพานภูชน

พระยาเมืองแสน เห็นว่าเจ้าราชครูหลวงวัดโพนเสม็ดเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือวางอุบายให้เจ้านางสุมังคลราชเทวีหลบหนีเป็นแน่ อีกทั้งเจ้าราชครูหลวงยังเป็นที่เคารพของราชวงศ์ล้านช้าง มีลูกศิษย์ที่เป็นเชื้อพระวงศ์และเป็นขุนนางในราชสำนักเป็นจำนวนมาก รวมถึงราษฎรล้านช้างก็ให้ความเคารพเชื่อฟังนับถือมาก ต่อไปในภายหน้าเจ้าราชครูหลวงวัดโพนเสม็ดคงจะวางอุบายชิงเอาบ้านเมืองกลับไปถวายเชื้อพระวงศ์ล้านช้างองค์ใดองค์หนึ่งอย่างแน่นอน จึงวางอุบายจะกำจัดเจ้าราชครูหลวงวัดโพนเสม็ด

เจ้าราชครูหลวงเองก็รู้ตัวอยู่แล้วว่าพระยาเมืองแสนหาทางจะกำจัดตน เจ้าราชครูหลวงจึงวางอุบายหนีด้วยการไปบูรณพระธาตุพนม ให้เจ้าแก้วมงคลแล้วและลูกศิษย์รวบรวมกำลังคนนัดแนะกันหนีออกจากพระนครจันทบุรีไปยังนครพนม ให้เจ้าจันทรสุริยวงศ์ไปอารักขาเจ้านางสุมังคลาราชเทวีและเจ้าหน่อกษัตริย์มายังบ้านงิ้วพันลำสมสนุก

เจ้าราชครูหลวงได้บูรณพระธาตุพนมอยู่สามปีจึงเสร็จ แล้วก็พาคณะศิษย์เดินทางลงทิศใต้เพื่อที่จะหาสถานที่ตั้งบ้านเมือง ระหว่างทางมีชาวบ้านขอติดตามไปด้วยเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งได้เดินทางล้ำเข้าไปในดินแดนกรุงกัมพูชา พระเจ้ากรุงกัมพูชาจึงเรียกเก็บส่วย เจ้าราชครูจึงได้พาคณะเดินทางกลับขึ้นมาตามลำน้ำโขงจนถึงเมืองหนึ่งนามว่า นครกาละจำปากนาคบุรีศรี ซึ่งมีเจ้าผู้ครองนครเป็นผู้หญิงที่ทรงพระชราภาพมากแล้ว เจ้าราชครูหลวงจึงขอเข้าพักในเขตนครกาละจำปากนาคบุรีศรี

เจ้านางผู้ครองนครกาละจำปากนาคบุรีศรีซึ่งทรงชราภาพมากไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้และพระองค์ก็ทรงศรัทธาเจ้าราชครูหลวงเป็นอย่างมาก จึงทรงมอบพระราชอำนาจให้เจ้าราชครูหลวงเป็นผู้สำเร็จราชการทุกอย่างในพระนคร

พ.ศ. ๒๒๕๒ เจ้าราชครูหลวงจึงให้เจ้าแก้วมงคลนำกำลังขึ้นไปบ้านงิ้วพันลำสมสนุก เพื่อช่วย เจ้าจันทรสุริยวงศ์เชิญเสด็จเจ้าหน่อกระษัตริย์และพระมารดามายังนครกาละจำบากนาคบุรีศรี ต่อมาเกิดความวุ้นวายขึ้นในพระนครกาละจำปากนาคบุรีศรี แต่สามารถปราบได้อย่างรวดเร็ว

พ.ศ. ๒๒๕๖ เจ้าราชครูหลวง จึงจัดพระราชพิธีราชาภิเสกเจ้าหน่อกระษัตริย์ ขึ้นเป็นพระเจ้ามหาชีวิต ถวายพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ครองราชย์สมบัติเป็นเอกราช เปลี่ยนนามนครใหม่ ว่า นครจำปาสักนัคบุรีศรี (อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์) จัดการบ้านเมืองตามโบราณราชประเพณีล้านช้างทุกประการ

และมีพระราชโอการให้ เจ้าแก้วมงคล โอรสของเจ้าองค์ศรีวิชัย, พระนัดดาของเจ้ามหาอุปราชศรีวรมงคล, พระราชปนัดดาของสมเด็จพระเจ้าศรีวรวงษาธิราช (เจ้ามหาอุปราชศรีวรวงษา หรือสยามออกพระนามว่า พระมหาอุปราชวรวังโส) นำกำลังในสังกัดข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งเมืองขึ้นบนบริเวณที่ราบริมฝังแม่น้ำ(แม่น้ำเสียว) ซึ่งเป็นแหล่งเกลือและนาข้าวที่อุดมสมบูรณ์ ให้ชื่อว่า เมืองทุ่งศรีภูมิ มีพระราชโองการให้ เจ้าแก้วมงคล เป็นเจ้าผู้ครองเมืองทุ่งศรีภูมิ (องค์ที่ ๑) ให้เจ้ามืดดำโดนเป็นอุปราช มีการจัดการบริหารบ้านเมืองเช่นเดียวกับนครจำปาสักนัคบุรีศรี

พ.ศ. ๒๒๖๘ เจ้าแก้วมงคล สิ้นพระชนม์ เมื่อ ๘๔ พรรษา มีโอรส ๒ องค์ คือ เจ้ามือดำโดน, เจ้าสุทนต์มณี สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรจึงมีพระราชโอการให้ เจ้ามืดดำโดนอุปราช ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองเมืองทุ่งศรีภูมิ (องค์ที่ ๒) ให้เจ้าสุทนต์มณีเป็นอุปฮาดเมืองทุ่งศรีภูมิ เจ้ามืดดำโดนได้ตั้งแต่งตำแหน่งเมืองแสน เมืองจันทร์ ท้าว เพีย เต็มอัตรากำลังเช่นเมืองหลวงทุกประการ

ต่อมาสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรทรงพระประชวร จึงมีพระราชโอการให้เจ้ามหาอุปราชไชยกุมารเป็นผู้สำเร็จราชการ

พ.ศ. ๒๒๘๐ สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรเสด็จสวรรคต พระชนม์ได้ ๕๐ พรรษา ครองราชย์สมบัติได้ ๒๕ ปี เจ้ามหาอุปราชไชยกุมาร จึงขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวง และมีพระราชโองการให้เจ้าธรรมเทโวผู้เป็นพระราชอนุชาเป็นเจ้ามหาอุปราช พ.ศ. ๒๓๐๖ เจ้าผู้ครองเมืองทุ่งศรีภูมิ (เจ้ามืดดำโดน) สิ้นพระชนม์ มีโอรส ๒ องค์ คือ เจ้าเชียง เจ้าสูน สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวง พระเจ้ามหาชีวิตจึงมีพระราชโองการให้เจ้าสุทนต์มณีอุปราชขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองเมืองทุ่งศรีภูมิ (องค์ที่ ๓) เจ้าเชียงและเจ้าสูนโอรสเจ้ามืดดำโดนเจ้าผู้ครองเมืององค์ก่อนไม่พอใจ จึงสมคบกับขุนนางส่วนหนึ่งหนีไปพึ่งขุนหลวงเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา

พ.ศ. ๒๓๐๘ เจ้าเชียงและเจ้าสูนเมื่อไปถึงอยุธยาแล้วจึงของกองทัพเพื่อจะขึ้นมาตีเมืองทุ่งศรีภูมิ หากตีเมืองได้ เจ้าเชียงจะขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองเมืองและจะขอเป็นเมืองประเทศราชส่งเครื่องบรรณาการแก่อยุธยา แต่ระหว่างนั้นอยุธยากำลังถูกกองทัพพระเจ้ามังระแห่งย่างกุ้งรุกรานไม่สามารถส่งกองทัพขึ้นมาได้ ทางอยุธยาจึงสั่งรวบรวมกำลังหัวเมืองขึ้นของอยุธยาที่อยู่ใกล้เข้าตีเมืองทุ่งศรีภูมิจนแตก ประกอบกับช่วงนั้นทางนครจำปาสักนัคบุรีศรีเกิดความวุ่นวายสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตพระพุทธเจ้าองค์หลวงทรงอ่อนแอไม่สามารถส่งกองทัพมาช่วยได้ เจ้าสุทนต์มณีจึงทิ้งเมืองหนี เจ้าเชียงจึงขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองเมือง (องค์ที่ ๔) และให้เจ้าสูนเป็นอุปราช เมืองทุ่งศรีภูมิจึงตกเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา

พ.ศ. ๒๓๑๐ กองทัพพระเจ้ามังระก็ตีกรุงศรีอยุธยาแตกเป็นเหตุให้อาณาจักรอยุธยาล่มสลาย แต่ไม่นานในปลายปีเดียวกันพระยาตากขุนนางของกรุงศรีอยุธยาก็รวบรวมกองทัพขับไล่กองกำลังของพระเจ้ามังระที่ประจำอยู่ในอยุธยาแตกหนีกลับไปได้ และพระยาตากก็สถาปนาราชวงศ์ใหม่และย้ายเมืองหลวงมายังกรุงธนบุรี

พ.ศ. ๒๓๑๙ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ส่งกองทัพขึ้นมารวบรวมหัวเมืองที่เคยเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาให้กลับไปเป็นเมืองประเทศราชส่งบรรณาการให้กับกรุงธนบุรี กองทัพกรุงธนบุรีมาถึงเมืองทุ่งศรีภูมิเจ้าผู้ครองเมืองทุ่งศรีภูมิ (เจ้าเซียง) จึงออกไปอ่อนน้อมขอส่งเครื่องบรรณาการให้กรุงธนบุรีเช่นเดียวกลับที่เคยส่งให้กรุงศรีอยุธยา เมื่องกองทัพกรุงธนบุรีเข้าเมืองแล้ว เจ้าผู้ครองเมืองทุ่งศรีภูมิ (เจ้าเซียง) เห็นว่าเมืองท่งศรีภูมินั้นตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเสียวถึงฤดูฝนน้ำก็ท่วม จึงปรึกษากับแม่ทัพกรุงธนบุรีเพื่อขอพระราชโองการย้ายเมืองไปยังดงเท้าสาร ซึ่งห่างจากตัวเมืองเดิมประมาณ ๑๐๐ เส้น พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้ย้ายเมืองตามที่ขอ และพระราชทานนามเมืองใหม่ว่า เมืองสุวรรณภูมิประเทศราช

เป็นธรรมเนียมของล้านช้างอยู่แล้วว่าเมืองมีเมืองต้องมีวัดเพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของขุนนางและชาวเมือง เจ้าผู้ครองเมืองทุ่งศรีภูมิ (เจ้าเชียง) ได้สร้างวัดขึ้นสองวัด คือ วัดกลาง (เป็นวัดสำหรับบริวาร และขุนนาง เสนา รวมทั้งญาติ ของเจ้าเมือง อุปถัมภ์ )และวัดใต้ ( วัดสำหรับประชาชน พลเมือง อุปถัมภ์ ) โดยทั้งสองวัด สร้างสิมหลวง(พระอุโบสถ) กว้างห้าวา ยาวแปดวา สูงหกวา สร้างพระประธานด้วยอิฐแลปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้างสี่ศอกคืบ สูงแปดศอกคืบ เหมือนกันทั้งสองวัด นอกจากนี้ ยังมีวัดที่สร้างตามธรรมเนียมของ เจ้าผู้ครองเมืองตามประเพณีล้านช้าง อีก ๒ วัด คือ วัดเหนือสุพรรณาราม (วัดสำหรับเจ้าผู้ครองเมืองอุปถัมภ์) และวัดท่าแขก (ถ่าแขก) ซึ่งเป็นวัดสำหรับ ใช้เป็นที่พักรอ ของแขกบ้านแขกเมือง และพระสงฆ์ผู้เดินทาง โดยในปัจจุบัน คือ วัดเจริญราษฎร์ โดยทั้ง ๔ วัด ได้รับ ใบเสมา ในปี ๒๓๑๙

พ.ศ. ๒๓๒๕ เกิดเหตุวุ่นวายในกรุงธนบุรี เป็นเหตุให้พระเจ้ากรุงธนบุรีสวรรคต เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงเทพฯ (รัชกาลที่ ๑) เปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ เมืองสุวรรณภูมิจึงตกเป็นส่วนหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่นั้นมา

พ.ศ. ๒๔๕๑ เมืองสุวรรณภูมิถูกลดฐานะเป็นอำเภอ ตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ ชื่อว่า "อำเภอสุวรรณภูมิ" ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ว่าการอำเภอเดิมตั้งอยู่ที่ ดงท้าวสารหรือดงช้างสาร อันเป็นที่ตั้งดงเมืองเก่าสมัยขอม

พ.ศ. ๒๔๘๗ เห็นว่าบริเวณเมืองเก่าคับแคบไม่สะดวกแก่การขยายเมือง จึงย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ "ดงป่าก่อ" ห่างจากดงช้างสารไปทางทิศเหนือประมาณ ๑ กิโลเมตร บริเวณดังกล่าวเรียกว่า "เมืองใหม่" เป็นสถานที่ตั้งของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ มีผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอคนแรก คือ หลวงประชาชนบาล

ลำดับเจ้าเมืองท่งศรีภูมิ สมัยอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก (พ.ศ. ๒๒๕๖ - พ.ศ. ๒๓๐๘)

แก้
ลำดับที่ เจ้าเมือง ปีที่ครอง ปีที่สิ้นสุด จำนวนปีที่ครองเมือง เหตุการณ์สำคัญ/อื่นๆ
๑. เจ้าแก้วมงคล พ.ศ. 2256 พ.ศ. 2268 12 ตั้งเมืองท่งศรีภูมิ ณ บริเวณเมืองเก่า ตำบลทุ่งศรีเมือง อำเภอสุวรรณภูมิ

พระราชครูโพนสะเม็ก (เจ้าราชครูหลวง) ฐานะพระสังฆราช ของราช อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ เสด็จ มา ทำพิธีวางเสาหลักเมือง

แต่งตั้ง เจ้ามืดคำดล เป็นอุปราช และ เจ้าสุทนต์มณี เป็น ราชบุตร (ตามลักษณะการปกครอง อาญาสี่ ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองของล้านช้าง ล้านนา)

๒. เจ้ามืดคำดล พ.ศ. 2268 พ.ศ. 2306 38 เจ้ามืดคำดล เกิดในคืนเดือนมืด เรียกอีกชื่อหนึ่ง ว่า ท้าวมืด เป็นบุตรคนโต ของ เจ้าแก้วมงคล

แต่งตั้ง เจ้าสุทนต์มณี (น้องชาย) เป็น อุปฮาด และ แต่งตั้ง ท้าวเซียง (บุตรคนโต) เป็น ราชบุตร

๓. เจ้าสุทนต์มณี พ.ศ. 2306 พ.ศ. 2308 2 เจ้าสุทนต์มณี เกิดมา พร้อมมี "ฟัน" หรือ "พระทนต์" ด้วย จึงได้ชื่อว่า "สุทนต์มณี" ครองเมืองได้ ๒ ปี ต่อมา ท้าวเซียง (บุตรคนโต ของ เจ้ามืดคำดล) และท้าวสูน (น้องชายของ ท้าวเซียง) ได้ร่วมกับกรมการเมืองบางส่วน คบคิดเพื่อหาทางให้ ท้าวเซียง ขึ้นเป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิ จึงนำทองคำไปถวายและขอสวามิภักดิ์ ต่อ อาณาจักรอยุธยา และเจ้าผู้ครองนครจำปาสัก มิได้ให้ความช่วยเหลือ เจ้าสุทนต์มณี มากพอ จึงยังผลให้ เจ้าสุทนต์มณี และกรมการเมือง ที่จงรักภักดี พร้อมไพร่พลเมืองส่วนใหญ่ หนีออกจากเมืองท่งศรีภูมิ ไปตั้งรับ ที่ บ้านดงเมืองจอก (เขตอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ในปัจจุบัน) และ ท้าวเซียง ได้ครองเมืองท่งศรีภูมิ เป็น เจ้าเมืองลำดับที่ ๔ ต่อ จาก อา (เจ้าสุทนต์มณี) และได้แต่งตั้ง ท้าวสูน (น้องชายของ ท้าวเซียง) เป็น อุปฮาด และ แต่งตั้ง ท้าวเพ (บุตรท้าวเซียง) เป็น ราชบุตร

ลำดับเจ้าเมืองท่งศรีภูมิ สมัยอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๒๓๐๘ - ๒๓๑๐)

แก้
 
อนุสาวรีย์ท้าวเซียง เจ้าผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิคนที่4เเละเป็นผู้ครองเมืองสุวรรณภูมิคนเเรก
ลำดับที่ เจ้าเมือง ปีที่ครอง ปีที่สิ้นสุด จำนวนปีที่ครองเมือง เหตุการณ์สำคัญ/อื่นๆ
๔. เจ้าเซียง (ท้าวเซียง) พ.ศ. 2308 พ.ศ. 2310 2 ท้าวเซียง ภายหลังได้รับการพระบรมราชโองการแต่งตั้ง จาก สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แห่งอาณาจักรอยุธยา แล้ว ได้ครองเมือง เป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิ ลำดับที่ ๔ ต่อมา เกิดศึกระหว่าง อาณาจักรพม่ายุคที่ 3 กับ อาณาจักรอยุธยา จนกระทั่งเสียกรุง ในวันที่ 7 เมษายน 2310 เมืองท่งศรีภูมิ จึงกลายเป็น รัฐอิสระ อย่างน้อย ๗ เดือน จนกระทั่ง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กู้กรุงสำเร็จ จึงได้เข้าสวามิภักดิ์ ต่อ อาณาจักรธนบุรี

ลำดับเจ้าเมืองท่งศรีภูมิ (สุวรรณภูมิ)สมัยอาณาจักรกรุงธนบุรี ( พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๒๕ )

แก้
ลำดับที่ เจ้าเมือง ปีที่ครอง ปีที่สิ้นสุด จำนวนปีที่ครองเมือง เหตุการณ์สำคัญ/อื่นๆ
๔. เจ้าเซียง (ท้าวเซียง) หรือ พระรัตนวงษา (เซียง) 2310 2325 15 (นับต่อเนื่อง จาก ปี 2308 ได้ 17 ปี) ในปี 2310 หลังเมืองท่งศรีภูมิ เป็น อิสระ ได้ไม่นาน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้สถาปนา อาณาจักรธนบุรี เสร็จสิ้นแล้ว จึงมรับสั่งให้เมืองประเทศราชทุกเมือง ที่เคยสวามิภักดิ์ ต่อ อาณาจักรอยุธยา ให้อยู่ภายใต้อำนาจดังเดิม เจ้าเซียง หรือ ท้าวเซียง จึงได้สวามิภักดิ์ ดังเดิม และต่อมา ในปี 2315 ทางกรมการเมือง และพระยากรมท่า ได้หารือกับเจ้าเมือง เห็นควรว่า ควรย้ายที่ตั้งเมืองใหม่ เนื่องจาก บริเวณที่ตั้งเดิม ติดลำน้ำเสียว ชัยภูมิไม่เหมาะสมในการป้องกันเมือง ตลิ่งเซาะพัง น้ำท่วมถึง ขยายเมืองต่อไปในภายภาคหน้ามิได้ จึงได้ มีใบบอกไปยัง กรุงธนบุรี ขอย้ายที่ตั้งเมืองท่งศรีภูมิ ไป ยังบริเวณ ดงเท้าสาร ซึ่งเป็นเนินสูง ขนาดใหญ่ น้ำท่วมไม่ถึง ใกล้บริเวณแหล่งน้ำเสียว ดังเดิม และเดิมพื้นที่ เคยเป็นที่ตั้งบ้านดงเมืองหาง ซึ่งเป็นเมืองเก่า มาแต่เดิมก่อนแล้ว ทางกรุงธนบุรี จึงมีรับสั่งและพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ ย้ายที่ตั้งเมือง มาที่บริเวณดังกล่าว และสถาปนาพระยศ ท้าวเซียง เป็น "พระรัตนวงษา" เซียง ทั้งนี้ พระยศนั้น ให้ยังถึง พระนามของ เจ้าปู่ คือ เจ้าแก้วมงคล ผู้เป็นปฐมวงศ์เจ้าผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิ พระองค์แรก และ ได้พระราชทานนามเมืองใหม่ ว่า "เมืองสุวรรณภูมิ" ในปี 2315 เป็นต้นมา

ต่อมา พระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รับสั่งให้ พระยากรมท่า ได้ เจรจาให้ พระรัตนวงษาเซียง กับ เจ้าสุทนต์มณี (ยังตั้งทัพยั้งอยู่ บริเวณบ้านดงเมืองจอก) ให้คืนดีกัน ในฐานะ อาว์ และหลาน และ พระยากรมท่า ได้เจรจา ขอให้ เจ้าสุทนต์มณี เข้าสวามิภักดิ์ ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าสุทนต์มณี จึงนำไพร่พลเข้าสวามิภักดิ์ และขอตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่ บริเวณ บ้านกุ่มฮ้าง ขอขึ้นเป็น เมืองร้อยเอ็ด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงได้พระราชทานแต่งตั้งพระยศ เป็น "พระขัติยวงษา (ทนต์)" ในปี 2318 และแบ่งอาณาเขตเมืองสุวรรณภูมิ "ตั้งแต่ปากห้วยดางเดีย ขึ้นไปภูดอกซ้อน หินทอด ยอดยาง ดู่สามต้น อ้นสามขวย สนามหมาดหญ้า ผ้าขาวพันนา ฝายพญานาค ภูเม็ง หนองกองแก้ว บึงกุย ท่งลาดไถ ห้วยดางเดีย บรรจบแม่น้ำยัง เป็นเขตเมืองร้อยเอ็ด"

ลำดับเจ้าเมืองและผู้ว่าราชการเมืองสุวรรณภูมิ สมัยกรุงรัตนโกศินทร์ ( พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๔๕๑ )

แก้
ลำดับที่ เจ้าเมือง ปีที่ครองเมือง ปีที่สิ้นสุด จำนวนปีที่ครองเมือง เหตุการณ์สำคัญ/อื่นๆ
๔. พระรัตนวงษา (เซียง) 2325 2330 5 ( นับต่อเนื่องจาก ปี 2308 ได้ 22 ปี ) ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้สถาปนาอาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) ในวันที่ 6 เมษายน 2325 พระรัตนวงษา (เซียง) จึงได้นำบรรณาการและต้นดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ถวายและขอสวามิภักดิ์ ต่ออาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) เป็นต้นมา
๕. พระรัตนวงษา (สูน) 2330 2335 5 ในปี 2330 ท้าวสูน ผู้เป็น น้องชาย ของ พระรัตนวงษา (เซียง) และ ดำรงตำแหน่ง "อุปฮาด" ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ส่วน ท้าวเพ (บุตรของ พระรัตนวงษาเซียง) ซึ่งดำรงตำแหน่ง "ราชบุตร" ในขณะนั้น เพื่อสนับสนุนและป้องกันปัญหาการครองเมืองดังในอดีต รวมทั้งเป็นเมืองบริวารและป้องกันเมืองสำคัญด้านทิศเหนือ คือ นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู) พระรัตนวงษา(สูน) จึงได้ขอพระราชทานให้มีพระบรมราชโองการ แต่งตั้ง ท้าวเพ ไปตั้งเมืองใหม่ และแบ่งเขตดินแดนทางตอนเหนือของเมืองสุวรรณภูมิ (ภายหลัง เป็นเขตของเมืองร้อยเอ็ดแล้ว) ให้ ท้าวเพ ได้ปกครอง เมืองสุวรรณภูมิ จึงได้แบ่งไพร่พล ให้ จำนวน 600 คน ไปตั้งเมืองบริเวณเมืองเก่า ขึ้นเป็นเมืองหนองหาน ปัจจุบัน คือ อำเภอหนองหาน และสถานปนาพระยศ ท้าวเพ เป็น "พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์" เจ้าเมืองหนองหาน ท่านแรก ในปี 2330

และ แต่งตั้ง ท้าวอ่อน ( บุตรของ พระขัติยวงษาทนต์ (เจ้าสุทนต์มณี) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด) เป็น "อุปฮาด" และแต่งตั้ง ท้าวโอ๊ะ (บุตร ของ พระรัตนวงษา เซียง ซึ่งเป็น น้องชาย ของ ท้าวเพ หรือ พระพิทักษ์เขือนขันธ์) ดำรงตำแหน่ง เป็น "ราชบุตร"

ต่อมา ในปี 2335 ได้มีเหตุ ทิดโคตร ก่อคดีได้ใช้มีดฟัน เจ้าเมือง คือ พระรัตนวงษา (สูน) เสียชีวิต ท้าวอ่อน จึงได้ ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ

๖. พระรัตนวงษา (อ่อน) 2335 2357 22 พระรัตนวงษา (อ่อน) เป็นบุตร ของพระขัติยวงษาทนต์ ได้ครองเมืองสุวรรณภูมิ แล้ว ได้ขอพระราชทาน แต่งตั้ง ท้าวโอ๊ะ (บุตร พระรัตนวงษาเซียง) ที่ดำรงตำแหน่ง ราชบุตร เดิมนั้น ขึ้นดำรงตำแหน่ง เป็น "อุปฮาด" ต่อมา ในปี 2357 ญาแม่แก้ว ภรรยาหลวง ของ ท้าวอ่อน ไม่พอใจที่ ท้าวอ่อน มีภรรยามาก จึงได้ลงไปกรุงเทพฯ เพื่อฟ้องกล่าวโทษ เจ้าเมือง (ท้าวอ่อน) ว่า ประพฤติการทุจิต ข่มเหงราษฎร มีภรรยามาก แลให้ได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว รัชกาลที่ ๒ มีรับสั่งให้ พระรัตนวงษาอ่อน มาเข้าเฝ้าแก้ต่างคดี ที่กรุงเทพมหานคร พิจารณาความแล้ว ได้ความจริงว่า ท้าวอ่อน เป็นผู้ประพฤฒิการณ์ตามที่ถูกกล่าวโทษ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปลด ท้าวอ่อน ออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และ ให้นำตัวไปกักขังไว้ ณ บ้านหนองหอย แขวงเมืองสระบุรี แล้วพิจารณาโปรดเกล้า แต่งตั้ง ท้าวโอ๊ะ ที่ดำรงตำแหน่ง "อุปฮาด" ในขณะนั้น ขึ้นเป็น เจ้าเมืองสุวรรณภูมิลำดับที่ ๗
๗. พระรัตนวงษา (โอ๊ะ) 2357 2372 17 พ.ศ. 2367 วันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอก ฉ ศก จุลศักราช ๑๑๘๖ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเปนพระเจ้าแผ่นดินสยาม จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงขึ้นไปแยกย้ายกันตรวจสัมโนครัว แลตั้งกองสักอยู่ตามหัวเมืองมณฑลอิสาณบางเมือง มีเมืองกาฬสินธุ์ สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ดเปนต้น แลให้เรียกส่วย ผลเร่วเปนธรรมเนียมแต่นั้นมา

ไม่ได้แต่งตั้ง "อุปฮาด" และ "ราชบุตร"

ในปี 2369 เกิด "กบฏเจ้าอนุวงศ์" ท้าวภู (บุตร ของ พระขัติยวงษาทนต์ ซึ่ง ดำรงตำแหน่ง อุปฮาด เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ในขณะนั้น ได้มีความดีความชอบในการศึกครั้งนี้ ภายหลัง ได้รับการสนับสนุนให้ ดำรงตำแหน่ง เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ใน ปี 2373

เหตุการณ์สำคัญ ในระหว่างศึกเจ้าอนุวงศ์นั้น เมื่อกองทัพ ของราชวงศ์เวียงจันทน์ และท้าวอุปราชสีถาน ของเจ้าอนุวงศ์ เดินทางมาถึงเมืองร้อยเอ็ด เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ได้ยก นางหมานุย นางตุ่ย นางแก้ว ภริยา ของ พระขัติยวงษา คนก่อน ให้ อุปราชสีถาน จึงรอดพ้นจากภัย ส่วน พระรัตนวงษา(โอ๊ะ) ได้ยกม้าต่าง กับผ้าแพร พร้อม นางอ่อม บุตรี ของ พระรัตนวงษา (อ่อน) เจ้าเมืองคนเก่า ให้ อุปราชสีถาน จึงพันภัย (ทั้งนี้ เมืองร้อยเอ็ด และเมืองสุวรรณภูมิ มิได้เข้าร่วมกับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ แต่ร่วมต่อสู้กับ กองทัพฝ่ายรัตนโกศินทร์ ยังผลให้ อุปฮาดภู (ท้าวภู ดำรงตำแหน่งอุปฮาด ของเมืองร้อยเอ็ด) มีความดีความชอบในการออกศึก และได้รับการแต่งตั้ง เป็น เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ลำดับที่ ๘

๘. พระรัตวงษา (ภู) 2372 2395 23 พระรัตนวงษา (ภู) เป็น บุตรของ พระขัติยวงษา (ทนต์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ท่านแรก โดยดำรงตำแหน่ง อุปฮาด ของเมืองร้อยเอ็ด ก่อนได้ รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงตำแหน่ง พระยศ เป็น พระรัตนวงษา (ภู) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ท้าวเกษ เป็น "อุปฮาด" และแต่งตั้ง ท้าวสาร (บุตรของพระรัตนวงษา (โอ๊ะ)) เป็น "ท้าวสุริยวงษ์"
๙. พระรัตนวงษา (สาร) 2395 2397 2 พระรัตนวงษาสาร เป็นบุตรของ พระรัตนวงษา (โอ๊ะ) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ลำดับที่ ๗ ในสมัยนี้ ไม่มีการแต่งตั้ง "อุปฮาด" และ "ราชบุตร"
ว่าง ว่าง 2397 2401 4 สืบเนื่องจากความขัดแย้งก่อนหน้า และการแต่งตั้ง "อุปฮาด" และ "ราชบุตร" มิได้ทันการณ์ ยังผลให้ หลัง พระรัตนวงษา (สาร) เสียชีวิต จึงไม่สามารถเสนอชื่อ บุคคคล เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็น เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ได้ ถึง ๔ ปี
๑๐. พระรัตนวงษา มหาราชเลน 2401 2410 9 พระรัตนวงษา มหาราชเลน เป็น บุตร ของ พระรัตนวงษา (อ่อน) และ มีศักดิ์ เป็น หลาน ของ พระขัติยวงษา (ทนต์) และมีศักดิ์เป็น เหลน ของ เจ้าแก้วมงคล

2402 คล้องได้ช้างเผือก “พระมหาศรีเสวตวิมลวรรณ”

2404 คล้องช้างเผือก “พระเศวตสุพรรณภาพรรณ”

2409 เกิดคดีปล้นจีนหอย บริเวณบ้านด่าน ( ปัจจุบัน ตำบลด่าน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเหตุให้เสียพื้นที่ บริเวณ ตำบลด่าน ให้แก่ แขวงเมืองมหาชนะชัย เมืองอุบลราชธานี

2410 สร้างวัดทุ่งลัฏฐิวัน โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2413 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2413 มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่ 30 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ตามส.ค. 1 เลขที่ 884-885-887 ปัจจุบันวัดนี้มีอายุการสร้าง 151 ปี

๑๑. พระยารัตนวงษา มหาขัติยราช (คำผาย) 2410 2420 10 พระยารัตนวงษา มหาขัติยราช (คำผาย) เป็น บุตร ของพระรัตนวงษา (ภู) เป็น หลาน ของพระขัติยวงษา(ทนต์) และ เป็น เหลน ของ เจ้าแก้วมงคล แต่งตั้ง ท้าวคำสิงห์ เป็น "อุปฮาด" และ แต่งตั้ง ท้าวคำสอน เป็น "ราชบุตร"

2413 คล้องช้างพลายสีประหลาด “พระเสวตสุวรรณภาพรรณ”

2415 อุปฮาดเหง้า หรือ ท้าวสัง ขอแยก ตัวไป ตั้งบ้านดอนเสาโฮง เป็นเมืองเกษตรวิสัย หรือ อำเภอเกษตรวิสัย ในปัจจุบัน (ตั้งจริง ที่ บ้านกู่กระโดน) และรับการแต่งตั้งเป็น พระศรีเกษตราธิชัย เจ้าเมืองเกษตรวิสัยคนแรก

ด้วยความดีความชอบ และการถวายช้างเผือก ต่อเนื่อง ในสมัยพระรัตนวงษา มหาราชเลน และ พระรัตนวงษา (คำผาย) จึงได้ โปรดเกล้าพระราชทานฯเลือนตำแหน่ง พระยศ เมือง เจ้าเมือง สุวรรณภูมิ จาก "พระรัตนวงษา" เป็น "พระยารัตนวงษา"

ทั้งนี้ ปัจจุบัน รายนามช้างเผือก จำนวน 4 เชือก ที่เมืองสุวรรณภูมิ ได้ทูลเกล้าถวายฯ ได้ปรากฏและสลักเป็น จารึกไว้ ข้างพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง

๑๒. พระรัตนวงษา (คำสิงห์) 2420 2428 8 พระรัตนวงษา (คำสิงห์) เป็น น้องชาย ของ พระรัตนวงษา (คำผาย), เป็น บุตร ของ พรรัตนวงษา (ภู), เป็นหลาน ของ พระขัติยวงษา (ทนต์) และเป็น เหลน ของ เจ้าแก้วมงคล

แต่งตั้ง ท้าวคำสอน เป็น "อุปฮาด"

โดย ในสมัยนี้ มีการขอแยกตั้งบ้านเมือง มากมาย ทั้งเป็น เขตเมืองสุวรรณภูมิเดิม และ เป็นเมืองอื่นๆ ที่มาตั้งเมือง แต่เกิดข้อพิพาทล่วงล้ำ เขตเมืองสุวรรณภูมิ อาทิ เมืองวาปีประทุม, เมืองราษีไศล, เมืองมหาชนะชัย, เมืองชุมพลบุรี และเป็นเห็นให้ เมืองสุวรรณภูมิ สูญเสียอาณาเขตเป็นจำนวนมาก จากการแพ้อรรถคดี เรื่อง การตั้งเมือง ดังกล่าว

ปี 2421 หลวงรัตนวงษา (บุญตา) ขอแยกไปสร้าง บ้านโป่ง (ตั้งจริง เมืองแสน) เป็นเมืองพนมไพรแดนมฤค หรือ อำเภอพนมไพร และเป็น พระดำรงฤทธิไกร เจ้าเมืองคนแรก ให้ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ

ปี 2422 ตั้งบ้านเมืองเสือ (ตั้งจริง บ้านนาข่า) เป็น “เมืองพยัคฆภูมิพิสัย” หรือ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ให้ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ

ปี 2423 ยกบ้านโนนหินกอง เป็นเมืองราษีไศล หรือ อำเภอราษีไศล ขึ้นเมืองศรีสะเกษ

ปี 2425 ขอตั้งบ้านเมืองหงษ์ (ตั้งจริง บ้านหัวช้าง) เป็นเมืองจตุรพักตริ์พิมาน หรือ อำเภอจตุรพักตรพิมาน ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ

ปี 2425 แยกตั้งบ้านนาเลา เป็นเมือง”วาปีประทุม” หรือ อำเภอวาปีปทุม ในปัจจุบัน ขึ้นเมืองมหาสารคาม

ปี 2426 ขอตั้ง บ้านทับค่าย เป็นเมือง “ชุมพลบุรี” หรือ อำเภอชุมพลบุรี ขึ้นเมืองสุรินทร์

๑๓. พระรัตนวงษา (คำสอน) 2428 2439 11 พระรัตนวงษา (คำสอน) เป็น น้องชาย ของ พระรัตนวงษา (คำสิงห์), บุตร พระรัตนวงษา (ภู), หลาน พระขัติยวงษา (ทนต์) เหลน ของ เจ้าแก้วมงคล

พ.ศ. 2432 อุปฮาด (สุวรรณ) ราชวงษ์ แลกรมการเมืองพนมไพรแดนมฤค ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ มีความวิวาทบาดหมางกับอุปฮาดผู้รักษาเมืองสุวรรณภูมิ มิพอใจจะสมัครขึ้นกับเมืองสุวรรณภูมิ จึ่งพร้อมกันมีบอกไปยังพระพิเรนทรเทพ (ทองคำ) ข้าหลวงเมืองนครราชสิมา ขอสมัครขึ้นกับนครราชสิมา แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะเขตแขวงเมืองพนมไพรมิได้ติดต่อกับเขตแขวงนครราชสีมา ซึ่งจะเป็นทางสะดวกแก่การบังคับบัญชา

ในปี 2432 อุปฮาดผู้รักษาเมือง และกรมการเมืองสุวรรณภูมิ มีบอกกล่าวโทษเมืองมหาสารคาม เมืองสุรินทร์ เมืองศรีสะเกษ ว่าแย่งชิงเขตแขวงเมืองสุวรรณภูมิไปขอตั้งเป็นเมืองขึ้น คือเมืองมหาสารคามขอบ้านนาเลาเปนเมืองวาปีประทุม (อำเภอวาปีปทุม) เมืองสุรินทร์ ขอ บ้านทัพค่าย เป็น เมืองชุมพลบุรี (อำเภอชุมพลบุรี) เมืองศรีสระเกษ ขอ บ้านโนนหินกอง เป็นเมืองอำเภอราษีไศล ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงนครจำปาสักและเมืองอุบลราชธานีไต่สวนว่ากล่าวในเรื่องนี้ ก็รื้อถอนไม่ไหวเพราะเหตุเมืองทั้งนี้ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเป็นเมืองขึ้นของเมืองทั้งสามมาได้หลายปีแล้ว เป็นอันโปรดเกล้า ฯ ให้ตกลงคงเป็นเมืองขึ้นของเมืองทั้งสามอยู่ตามเดิม

พ.ศ. 2433 พระดำรงฤทธิไกร (บุญตา) เจ้าเมืองพนมไพร (อำเภอพนมไพร) ซึ่งลงมา ณกรุงเทพฯ เพื่อจะขอเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ มิสำเร็จ เลยป่วยพักรักษาตัวอยู่ ณ กรุงเทพ ฯ นั้น ครั้นอาการป่วยทุเลาแล้ว จึ่งกราบถวายบังคมลากลับบ้านเมือง ครั้นไปถึงเมืองนครราชสีมา กลับเป็นไข้หนักลงอิก ครั้นวันพฤหัสบดี แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ พระดำรงฤทธิไกร (บุญตา) ถึงแก่กรรม

พ.ศ. 2434 ( รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ปีขาลโทศก จุลศักราช ๑๒๕๒) มีสารตราโปรดเกล้า ฯ ให้ปันหน้าที่ข้าหลวงเป็น ๔ กอง คือ

ข้าหลวงนครจำปาศักดิ ได้บังคับราชการ แลชำระตัดสินความอุทธรณ์เร่งรัดเงินส่วย เมืองนครจำปาศักดิ ๑ เมืองเชียงแตง ๑ เมืองแสนปาง ๑ เมืองสีทันดร ๑ เมืองอัตปือ ๑ เมืองสาลวัน ๑ เมืองคำ ทองใหญ่ ๑ เมืองสุรินทร์ ๑ เมืองสังฆะ ๑ เมืองขุขันธ์ ๑ เมืองเดช อุดม ๑ รวมเมืองใหญ่ ๑๑ เมืองขึ้น ๒๑ เหล่านี้ ให้เรียกว่า "หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก"

ข้าหลวงเมืองอุบลราชธานี บังคับเมืองอุบล ๑ เมืองกาฬสินธุ์ ๑ เมืองสุวรรณภูมิ ๑ เมืองมหาสารคาม๑ เมืองร้อยเอ็ด ๑ เมืองภูแล่นช้าง ๑ เมืองกมลาไศรย ๑ เมืองยโสธร ๑ เมืองเขมราษฎร์ ๑ เมืองสองคอนดอนดง ๑ เมืองนอง ๑ เมืองศรีสระเกษ ๑ รวมเมืองใหญ่ ๑๒ เมืองเล็ก ๒๙ เหล่านี้ให้เรียกว่า "หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ"

ข้าหลวงเมืองหนองคาย บังคับเมืองหนองคาย ๑ เมืองเชียงขวาง ๑ เมืองบริคัณหนิคม ๑ เมืองโพนพิไสย ๑ เมืองไชยบุรี ๑ เมืองท่าอุเทน ๑ เมืองนครพนม ๑ เมืองสกลนคร ๑ เมืองมุกดาหาร ๑ เมืองกมุทาไสย ๑ เมืองบุรีรัมย์ ๑ เมืองหนองหาร ๑ เมืองขอนแก่น ๑ เมืองคำเกิด ๑ เมืองคำมวน ๑ เมืองหล่มศักดิ ๑ รวมเมืองใหญ่ ๑๖ เมืองขึ้น ๓๖ เหล่านี้ ให้เรียกว่า "เมืองลาวฝ่ายเหนือ"

ข้าหลวงเมืองนครราชสิมา บังคับเมืองนครราชสิมา ๑ เมืองชนบท ๑ เมืองภูเขียว ๑ รวมเมืองใหญ่ ๑ เมืองขึ้น ๑๒ เหล่านี้ ให้เรียกว่า "หัวเมืองลาวกลาง"

พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่ พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนออกไปตั้งรักษาอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิกอง หนึ่ง ให้เรียกว่าข้าหลวงหัวเมืองลาวกาว โดยให้เมืองนครจำปาศักดิ เมืองเชียงแตง (จังหวัดสตึงแตรง) เมืองแสนปาง เมืองสีทันดร เมืองสาละวัน เมืองอัตตะปือ เมืองคำทองใหญ่ เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ (อำเภอสังขะ) เมืองขุขันธ์ เมืองเดชอุดม เมืองศรีสระเกษ เมืองอุบล เมืองยโสธร เมืองเขมราษฎร์ (อำเภอเขมราฐ) เมืองกมลาไศรย (อำเภอกมลาไสย) เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง เมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม เมืองใหญ่ ๒๑ เมือง ขึ้น ๔๓ เมือง อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงเมืองลาวกาว

ปี 2435 มีตราลงวันที่ 28 พฤศจิกายน ว่าท้าวสิลารับการตำแหน่ง พระศรีเกษตราธิไชย ผู้รักษาราชการเมืองเกษตรวิไสย เมืองขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ มีบอกส่งบัญชีสัมโนครัวมายังกรุงเทพฯ ข้ามเมืองสุวรรณภูมิเมืองใหญ่ มีความผิด ให้ข้าหลวงเมืองอุบล เรียกตัวมาว่ากล่าวภาคทัณฑ์อย่าให้ทำต่อไป

ปี 2435 โปรดเกล้าฯ ให้ จมื่นศักดิ์บริบาล นายร้อยโทเล็ก เป็นข้าหลวงเมืองสุวรรณภูมิ

ปี 2436 กรมไปรษนีย์โทรเลขได้จัดให้มิสเตอร์โทมัศปาเมอ มิศเตอร์แมกสมูลเลอ มิศเตอร์วิลเลียม ไปจัดตั้งไปรษนีย์ตามหัวเมืองในมณฑลลาวกาว คือเมืองเขมราษฎร์ เมืองอุบล เมืองพิมูลมังษาหาร ด่านปากมูล เมืองปาศักดิเก่า เมืองนครจำปาศักดิ เมืองเดชอุดม เมืองขุขันธ์ เมืองศรีสระเกษ เมืองสังฆะ เมืองสุรินทร์ เมืองสุวรรณภูมิ ไปต่อกับหัวเมืองในมณฑลลาวกลางมากรุงเทพ ฯ กำหนดเดินอาทิตย์ละครั้ง

ปี 2437 รัตนโกสินทรศก 112 วันที่ 2 เมษายน ฝรั่งเศสก็ยกกระบวนทัพล่วงเข้ามาถึงเมืองเชียงแตง บังคับขับไล่หลวงพิพิธสุนทร (อิน) แลนายร้อยโทคร้ามข้าหลวงกับทหาร 12 คน ซึ่งอยู่รักษาเมืองเชียงแตงให้ข้ามไปอยู่ ณ เมืองธาราบริวัตร ฝั่งโขงตะวันตกโดย อ้างเหตุว่า ดินแดนในฝั่งโขงตะวันออกแลเกาะดอนในลำน้ำโขงเป็นเขตรแขวงของญวนซึ่งอยู่ในบำรุงฝรั่งเศส

เวลานั้นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว ซึ่งประทับอยู่ณเมืองอุบล เมื่อได้ทรงทราบว่าฝรั่งเศส แสดงเปนอมิตรขึ้นดังนั้นแล้ว จึ่งได้โปรดให้เกณฑ์กำลังเมืองศรีสระเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองละ 800 คน แลเมืองสุวรรณภูมิ เมืองยโสธร เมืองละ 500 คน แลให้เกณฑ์เมืองขุขันธ์อิก 500 คน ให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) ข้า หลวงเมืองขุขันธ์คุมไปตั้งรักษาอยู่ณเมืองมโนไพร แลเมืองเซลำเภา โปรดให้หลวงเทพนรินทร์ (วัน) ซึ่งกลับจากน่าที่เมืองตะโปนไปเปนข้าหลวงแทนพระศรีพิทักษ์อยู่เมืองขุขันธ์

แลให้นายสุจินดา ขุนอินทรประสาท (กอน) นายร้อยตรีคล้าย นายร้อยตรีโชติ คุมทหาร 100 คน แลกำลัง 500 คน พร้อมด้วยสาตราวุธ เปนทัพน่า รีบยกออกจากเมืองอุบลแต่วันที่ 10 เมษายน ลงไปสมทบช่วยพระประชาณเมืองสีทันดร

แลโปรดให้เมืองใหญ่ทุกเมืองในลาวกาวเรียกคนพร้อมด้วยสาตราวุธ มาเตรียมไว้กับบ้านเมือง ๆ ละ 1000 คน

วันที่ 20 พฤษภาคม 2437 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้อุปฮาด (อำคา) เมืองสุวรรณภูมิ 1 พระศรีเกษตราธิไชย (ศิลา) ผู้ว่าราชการเมืองเกษตรวิไสย 1 คุมคนเมืองสุวรรณภูมิ 500 แลให้พระสุนทรพิพิธ ผู้ว่าราชการเมืองโกสุม 1 หลวงจำนงวิไชย ผู้ช่วยเมืองร้อยเอ็ด 1 คุมคนมหาสารคาม แลร้อยเอ็ด 300 รวม 800 ยกออกจากเมืองอุบลไปช่วยพระประชาณค่ายดอนสาคร

วันที่ 2 มิถุนายน 2437 กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้พระสิทธิศักดิสมุทเขตร (บุษย์) เปนข้าหลวงบังคับเมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ ณ เมืองมหาสารคาม ให้พระดุษฎีตุลกิจ (สง) ข้าหลวงเมืองสุวรรณภูมิ ไปช่วย พระสิทธิศักดิ อยู่ ณ เมืองมหาสารคาม ถอน นายร้อยตรีพรหม ข้าหลวงเมืองมหาสารคาม มาอยู่เมืองสุวรรณภูมิ

วันที่ 24 ตุลาคม 2437 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้พระณรงค์วิชิต (เลื่อน) เปนข้าหลวงตรวจจัดราชการเมืองกาฬสินธุ์ กมลาไศรย ภูแล่นช้าง เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองมหาสารคาม

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2437 โปรดให้ขุนอาสาสงคราม (สวน) ไป เปนข้าหลวงช่วยนายร้อยตรีพรหมอยู่ ณ เมืองสุวรรณภูมิ

๑๔. พระรัตนวงษา (อำคา) 2439 2443 5 ปี 2442 รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิก ตำแหน่ง เจ้าเมือง

ปี 2543 เปลี่ยนตำแหน่ง เจ้าเมือง เป็น ผู้ว่าราชการเมือง, อุปฮาด เป็น ปลัดเมือง, ราชวงษ์ เป็น มหาดไทยเมือง และ ราชบุตร เป็น ยกกระบัตรเมือง

๑๕. พระศรีเกษตราธิไชย (สีลา) 2443 2444 1 พระศรีเกษตราธิไชย (สีลา) เป็น เจ้าเมืองเกษตรวิสัย แต่เดิม ด้วย การยุบ ยกเลิก หัวเมืองต่างๆ จึง โปรดเกล้าฯ ให้ พระศรีเกษตราธิไชย มารักษาราชการ ผู้ว่าราชการเมืองสุวรรณภูมิ ท่านแรก ก่อนจะมีการแต่งตั้ง ผู้ว่าราชการเมือง จาก ส่วนกลาง

ทั้งนี้ พระศรีเกษตราธิไชย (สีลา) เป็น บุตร ของ พระศรีเกษตราธิไชย (สัง) เจ้าเมืองเกษตรวิสัย ท่านแรก และ เป็น หลานของพระรัตนวงศา มหาราชเลน เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ลำดับที่ ๑๐ เป็น หลาน ของ พระรัตนวงษา (อ่อน) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ลำดับที่ ๖ และ เป็นเหลน ของพระขัติยวงษา (ทนต์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ท่านแรก และ เป็น โหลน ของ เจ้าแก้วมงคล

ปัจจุบัน ทายาท ของ พระศรีเกษตราธิไชย สืบเชื่อสายตรงในนามสกุล "สังขศิลา"

๑๖. ขุนมัณฑลานุการ (ชม) 2445 2446 1 ขุนมัณฑลานุการ (ชม) รักษาราชการ ในตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมืองสุวรรณภูมิ

ในระหว่างนี้ เกิด กบฏผู้มีบุญ ทาง ผู้วาราชการเมืองสุวรรณภูมิ ได้เกณฑ์ไพร่พล ประชาชน จำนวน 1,000 คนเศษ พร้อมอาวุธ ปืนคาบศิลาอย่างเก่า ปืนสไนเดอร์ ปืนแมลิคอร์ ทำการปราบปรามและจับกุมผีบุญ ได้อย่างราบคาบ

๑๗. ญาพ่อเมืองแพน 2446 2451 5 วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2446 ( ร.ศ. 121 ) พระครูสุพรรณภูมิคณาจารย์ ( หลวงพ่อสอ ) เจ้าคณะเมืองสุวรรณภูมิ์ ถึงแก่มรณภาพ ด้วยอาพาธ เป็นไข้ โดย พระครูฯ เป็นเจ้าอาวาส วัดเหนือสุพรรณาราม เมืองสุวรรณภูมิ[1]

ญาพ่อเมืองแพน ดำรงตำแหน่ง ยกกระบัตรเมือง รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมืองสุวรรณภูมิ จนกระทั่งปี 2451 กระทรวงมหาดไทย ได้ปรับปรุงลักษรณการปกครองท้องที่ ยุบเมืองสุวรรณภูมิ เป็น อำเภอสุวรรณภูมิ และยุบมณฑลร้อยเอ็ด เป็น จังหวัดร้อยเอ็ด ให้ อำเภอสุวรรณภูมิ ขึ้นกับจังหวัดร้อยเอ็ด นับแต่นั้นมา ในปี 2451 ภายหลังมีการยุบเมืองสุวรรณภูมิ เป็น อำเภอสุวรรณภูมิ แล้วนั้น เมืองที่เคยขึ้นต่อ เมืองสุวรรณภูมิ ได้ยุบ เป็นอำเภอ และโอนย้ายไปสังกัด จังหวัดต่างๆ ดังนี้

เมืองพยัคฆภูมิพิสัย ยุบเป็น อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ให้ขึ้น จังหวัดมหาสารคาม

เมืองเกษตรวิสัย ยุบเป็น อำเภอเกษตรวิสัย, เมืองพนมไพรแดนมฤค ยุบเป็น อำเภอพนมไพร, เมืองจุตรพักตร์พิมาน ยุบเป็น อำเภอจตุรพักตรพิมาน ทั้งสามอำเภอ ให้ขึ้นกับ จังหวัดร้อยเอ็ด

ลำดับนายอำเภอสุวรรณภูมิ (หลัง ปี พ.ศ. ๒๔๕๑)

แก้

การนับตำแหน่งนายอำเภอ นับจากปี 2451 นั้น จะใช้ลำดับที่ 1 ใหม่ เนื่องจาก ผู้ว่าราชการเมือง เมืองชั้นเอก มีฐานะเทียบเท่า "ผู้ว่าราชการจังหวัด" ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงและยุบฐานะเมือง เป็น อำเภอ เป็น "นายอำเภอ" นั้น จึงนับลำดับใหม่

ลำดับที่ นายอำเภอ ปีเริ่ม - ปีสิ้นสุด จำนวนปี เหตุการณ์สำคัญ/อื่นๆ
1. หลวงประชาชนบาล 2451 - 2455 4 2454 ตั้งโรงเรียนประชาบาล ต่อมาคือ โรงเรียนเมืองสุวรรณภูมิ อาศัยศาลาวัดเหนือเป็นสถานศึกษา เปิดทำการสอนตั้งแต่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
2. พระรัตนวงษา (น้อย) สีวิสิทธิ์ 2455 - 2463 8 2456 ยกฐานะโรงเรียนประชาบาล เป็น โรงเรียนรัฐบาล "โรงเรียนสุวรรณภูมิพิทยไพศาล" ภายหลังยุบเป็นโรงเรียนประชาบาล ในปี 2465 ก่อนเป็น โรงเรียนเมืองสุวรรณภูมิ
3. ขุนสกลรักษา (เชย สุขสุคนธ์) 2463 1
4. หลวงประสาสน์ โสภณ (ร.ท.อุ่ม ภมรสูตร) 2463 - 2473 10 ในระหว่างพ.ศ 2463-2473 หลวงประสาสน์โสภณ (อุ่น ภมรสูตร) ซึ่งดำรงตำแหน่งมายอำเภอสุวรรณภูมิสมัยนั้นได้ริเริ่มสร้างสุขศาลาขึ้นบริเวณหน้าตลาดสด บริเวณธนาคารออมสินปัจจุบันมีพื้นที่ 61 ไร่ มีเจ้าหน้าที่มหาดไทยเป็นผู้ดูแลดำเนินการ ต่อมาทางราชการได้บรรจุผู้ช่วยแพทย์ ชื่อ นาย ช. สายเชื้อ มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าสุขศาลาสุวรรณภูมิเป็นคนแรก

ปี 2467 เมืองแพน วลัยศรี ( ผู้รักษาการตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุวรรณภูมิ ท่านสุดท้าย ) ร่วมกับคณะ ทำการบูรณะอุโบสถ และประติสังขรณ์ ปิดทององค์พระพุทธรูป วัดใต้วิไลธรรม โดยว่าจ้างช่างชาวญวน คือ นายจาง และนายฮาย เป็นผู้ก่อสร้าง รวมทั้ง มีการวาดภาพจิตรกรรม โดย นายโสม โดยหลวงประสาศน์ โสภณ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และ พระธรรมสุนทรอบภิรม พระอธิการ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ซึ่งยังคงปรากฏหลักฐานการบันทึกและภาพวาด อุโบสถ ณ วัดใต้วิไลธรรม จนปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2469 อำมาตย์เอกพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ข้าหลวงจังหวัดร้อยเอ็ดเห็นว่าบึงพลาญชัย (เดิมใช้ว่าบึงพระลานชัย) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองร้อยเอ็ดตื้นเขิน ถ้าปล่อยทิ้งไว้บึงก็จะหมดสภาพไป จึงได้ชักชวนชาวบ้านจากทุกอำเภอมาขุดลอกบึง เพื่อให้มีน้ำขังอยู่ได้ตลอดปี ได้ดำเนินการขุดลอกบึงทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ 2 ปี มีชาวบ้านมาร่วมขุดลอกบึงถึง 40,000 คน

5. หลวงชาญรัฐกิจ (เชย พลาศรัย) 2473 - 2476 3
6. ขุนประเสริฐสรรพกิจ (วิเชียร วงศ์แก้ว) 2476 - 2479 3 16 พฤศจิกายน 2476 การเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศสยาม โดย จังหวัดร้อยเอ็ด เป็ย เขตเลือกตั้งเดียว มีผู้แทนราษฎร ได้ จำนวน 2 คน แบ่งการปกครองเป็นจังหวัด มีจังหวัดทั้งสิ้น 70 จังหวัด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 แล้ว สามารถเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประเภทที่หนึ่ง ได้ทั้งหมด 78 คน โดยส่วนใหญ่จะสามารถเลือกผู้แทนฯได้จังหวัดละคน มีบางจังหวัดที่มีผู้แทนฯได้มากกว่าหนึ่งคน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดร้อยเอ็ด, จังหวัดมหาสารคาม, จังหวัดนครราชสีมา มีผู้แทนฯได้ 2 คน ขณะที่จังหวัดพระนครและจังหวัดอุบลราชธานี มีผู้แทนฯได้ 3 คน ซึ่งขณะนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดอัตราประชากร 200,000 คนต่อการมีผู้แทนฯได้หนึ่งคน โดยผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด ในการเลิอกตั้งครั้งแรก คือ พันโทพระไพศาลเวชกรรม (สวาสดิ์ โสมเกษตริน) และ จ่านายสิบขุนเสนาสัสดี (ถั่ง ทองทวี)
7. นายโสภณ อัศดร (เงก สาตะมัย) 2479 - 2487 8
8. ร้อยโท ถวิล ธนสีลังกูร 2487 - 2490 3 ย้ายที่ว่าการอำเภอ ไป ดงป่าก่อ (ปัจจุบัน)
9. นายส่ง ศุภโตษะ 2490 1
10. นายสีขร สีขรภูมานุรักษ์ 2490 - 2491 1
11. นายเอิบ กลิ่นอุบล 16 ธ.ค. 2491 - 2493 2 ตั้งตำบลทุ่งหลวง (แยกจากตำบลสระคู) ตำบลหัวโทน (แยกจากตำบลน้ำคำ) ตำบลหินกอง (แยกจากตำบลสระคู) และตำบลบ่อพันขัน ( แยกออกจากตำบลเปลือย ) [2]
12. ร้อยตรีสุวรรณ โรจนวิภาดา 27 มิ.ย. 2493 - 2495 2 พ.ศ. 2493 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศขนานนามทางหลวงแผ่นดินให้เป็นเกียรติแก่ผู้มีส่วนประกอบคุณงามความดีต่อประเทศ ในราชกิจจานุเบกษา 12 ธันวาคม 2493 ทางหลวงแผ่นดินสาย ร้อยเอ็ด- สุวรรณภูมิ - สุรินทร์ (ทางหลวงหมายเลข 214) ให้ขนานนามว่า ถนน “ปัทมานนท์” เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายวีรพล ปัทมานนท์ อดีตนายช่างกำกับหมวดการทางสุรินทร์ และ ทางหลวงแผ่นดินสาย สุวรรณภูมิ - ยะโสธร- อำนาจเจริญ ให้ขนานนามว่า ถนน “อรุณประเสริฐ” เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายจำปี อรุณประเสิรฐ นายช่างกำกับแขวง
13. นายสวัสดิ์ พรหมดิเรก 8 ก.ค. 2495 - 15 มี.ค. 2498 2 ปี 8 เดือน 2497 ก่อตั้ง “โรงเรียนสุวรรณภูมิ” ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2497 เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาโดยอาศัยอาคารเรียนชั่วคราวโรงเรียนบ้านสุวรรณภูมิ (โรงเรียนเมืองสุวรรณภูมิ ปัจจุบัน) เป็นสถานที่เรียนชั่วคราว และในปี 2551 เปลี่ยนชื่อ เป็น โรงเรียนสุวรรณภูมิวิทยาลัย
14. นายเสถียร นาครวาจา 23 มี.ค. 2498 - 24 ก.ค. 2499 1 ปี 4 เดือน
15. นายสาคร เพชรวิเศษ 29 ก.ค. 2499 - 13 ก.ค. 2503 4 ปี พ.ศ. 2499 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดตั้งสุขาภิบาลตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 18 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2499 (ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 54 เล่ม 37 ตอนที่ 60 วันที่ 3 สิงหาคม 2499) [3]

พ.ศ. 2503 ตั้งโรงเรียนประชาบาล ต่อมาเป็นโรงเรียนเมืองใหม่สุวรรณภูมิ และ โรงเรียนอนุบาลเมืองใหม่สุวรรณภูมิ ต่อมา

16. นายประเสริฐ เทศประสิทธิ์ 13 ก.ค. 2503 - 30 พ.ย. 2504 1 ปี 4 เดือน
17. นายเฉียบ สมุทระกระพงศ์ 16 ธ.ค. 2504 - 30 ก.ย. 2508 3 ปี 9 เดือน ตั้งตำบลโพนทราย โดยแยกหมู่บ้าน จากตำบลสามขา อำเภอสุวรรณภูมิ เป็น ตำบลโพนทราย ใน วันที่ 4 มีนาคม 2508[4]
18. นายสุวรรณ สุภาผล 10 ต.ค. 2508 - 26 พ.ค. 2514 5 ปี 8 เดือน ปี 2509 กรมไปรษณีย์โทรเลข เปิดที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสุวรรณภูมิ[5] โดยเปิดพร้อมกัน กับ บึงกาฬ จังหวัดหนองคาย, กันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และ เขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

ตั้งตำบลเมืองทุ่ง โดยแยกหมู่บ้าน จาก ตำบลสระคู จำนวน 12 หมู่บ้าน มีผลในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2509[6] ตั้งตำบลคูเมือง โดย แยกหมู่บ้าน จากตำบลหนองผือ อำเภอสุวรรณภูมิ 5 หมู่บ้าน และ หมู่บ้านจากตำบลสงยาง อำเภอสุวรรณภูมิ 4 หมู่บ้าน รวมเป็น 9 หมู่บ้าน เป็น ตำบลคูเมือง ขึ้นอำเภอสุวรรณภูมิ[7] ณ วันที่ 11 เมษายน 2510

19. นายประจวบ ศริ 27 พ.ค. 2514 - 1 ก.ย. 2516 2 ปี 4 เดือน 29 มิถุนายน 2515 กรมสามัญศึกษาได้อนุมัติให้ตั้งโรงเรียนสุวรรณภูมิพิทยไพศาลขึ้น โดยชื่อเริ่มก่อตั้งคือ “โรงเรียนศรีสุวรรณภูมิพิทยา” ( คนทั่วไปจึงมักเรียกว่าโรงเรียนศรี ) โดยใช้อาคารเรียนของโรงเรียนสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันคือ โรงเรียนสุวรรณภูมิวิทยาลัย) เป็นสถานที่ในการเรียน โดยมีนายเอิบ (มนตรี) จันทรสนาม รักษาการณ์ในตำแหน่งครูใหญ่ และทำการย้ายมาสถานที่ปัจจุบันในปี พ.ศ. 2516 มีพื้นที่ 72 ไร่ และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสุวรรณภูมิพิทยไพศาล

7 กันยายน 2514 ตั้งตำบลดอกไม้ โดยแยกหมู่บ้านจาก ตำบลสงยาง อำเภอสุวรรณภูมิ 8 หมู่บ้าน และ จากตำบลสระคู 2 หมู่บ้าน รวมเป็น 10 หมู่บ้าน ขึ้นเป็นตำบลดอกไม้[8]

20. นายสงวน วัฒนานันท์ 1 ก.ย. 2516 - 12 พ.ค. 2520 3 ปี 8 เดือน วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 กระทรวงมหาดไทย(โดยนายพ่วง สุวรรณรัฐ) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมืองสรวง และได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2516 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 90 ตอนที่ 26 หน้าที่ 817 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2516 ประกอบด้วย 3 ตำบล คือ ตำบลหนองผือ ตำบลหนองหิน และตำบลคูเมือง (แยกสามตำบล จากอำเภอสุวรรณภูมิ) ส่วนราชการต่างๆได้จัดส่งเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานในวันที่ 1 เมษายน 2516

พ.ศ. 2512-2518 กลุ่มผู้นำท้องถิ่น นำโดยกำนันสุนีย์ พวงจันทร์และสภาตำบลโพนทรายเห็นว่าการไปติดต่อราชการที่อำเภอสุวรรณภูมิไม่สะดวกเป็นอย่างมาก จึงได้มีการเคลี่อนไหวเรียกร้องขอยกฐานะเป็นอำเภอเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร จนกระทั่งใน ปี พ.ศ. 2519 จึงได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็น กิ่งอำเภอโพนทราย

21. นายจำรูญ บุญโทแสง 20 พ.ค. 2520 - 30 ก.ย. 2522 2 ปี 4 เดือน ปี พ.ศ. 2522 ได้มีพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอเมืองสรวง โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) เล่มที่ 96 ตอนที่ 42 หน้าที่ 22 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2522 ยกฐานะกิ่งอำเภอเมืองสรวง ขึ้นเป็น อำเภอเมืองสรวง มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2522 (โดย ส. โหตระกิตย์) รองนายกรัฐมนตรี
22. นายพงษ์เพชร ชูจินดา 12 ต.ค. 2522 - 23 พ.ย. 2522 2 เดือน 11 วัน
23. นายพิสุทธิ์ ฟังเสนาะ 24 ก.ย. 2522 - 23 ก.ย. 2525 2 ปี
24. นายวิรุณ ทิพากร 24 พ.ย. 2525 - 7 ต.ค. 2527 1 ปี 10 เดือน
25. นายกิจจารักษ์ ชุ่มชื่น 7 ต.ค. 2527 - 15 ม.ค. 2530 2 ปี 4 เดือน
26. นายเสรี ทวีวัฒน์ 16 ม.ค. 2530 - 2 ก.ค. 2533 3 ปี 6 เดือน ปี พ.ศ. 2532 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็น อำเภอโพนทราย เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 โดยแยกตำบลโพนทราย ตำบลสามขา ตำบลศรีสว่าง ตำบลยางคำ โดยมีนายสุภาพ จันทร์ภิรมย์ เป็นสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) คนแรก จากอำเภอโพนทราย ในปี พ.ศ. 2533
27. นายณรงค์ หรือโอภาส 2 ก.ค. 2533 - 17 ต.ค. 2537 4 ปี 3 เดือน
28. นายพนม นันทวิสิทธิ์ 17 ต.ค. 2537 - 14 ต.ค. 2539 2 ปี
29. นายธนู สุขฉายา 14 ต.ค. 2539 - 19 พ.ค. 2540 7 เดือน
30. นายปรีชา กาญจนวาปสถิตย์ 19 พ.ค. 2540 - 9 พ.ย. 2540 6 เดือน พ.ศ. 2540 กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้ง "วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด 2" ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 โดย กรมอาชีวศึกษาได้สั่งให้ข้าราชการสังกัดวิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ดจำนวน 3 คน ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน และผู้ช่วยผู้ประสานงานการจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ดแห่งที่ 2 ดังนี้ นายชำนาญ เชิงสะอาด, นายจำเนียร สุธิมาธรรม, นายจิตรกร จันทร์เสละ
31. นายอำนวย จันทน์อาภรณ์ 10 พ.ย. 2540 - 1 พ.ย. 2541 1 ปี
32. นายรังสรรค์ เพียรอดวงษ์ 2 พ.ย. 2541 - 16 ต.ค. 2543 1 ปี 11 เดือน พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 ยกฐานะสุขาภิบาลสระคู เป็น "เทศบาลตำบลสระคู" เมื่อวันที่ 25 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2542

พ.ศ. 2543 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2543 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ วิทยาลัยฯ จากวิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ดแห่งที่ 2 เป็น "วิทยาลัยเทคนิคสุวรรณภูมิ"

33. นายอุไร หล่าสกุล 27 พ.ย. 2543 - 30 ก.ย. 2545 1 ปี 10 เดือน
34. นายชูศักดิ์ สุทธิประภา 16 ธ.ค. 2545 - 30 ก.ย. 2547 1 ปี 9 เดือน
35. นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ 1 พ.ย. 2547 - 11 ธ.ค. 2549 2 ปี 1 เดือน พ.ศ. 2549 เปลี่ยนแปลงชื่อจากเทศบาลตำบลสระคูเป็นเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 27 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 มีพื้นที่ 6.8 ตารางกิโลเมตร
36. นายนะริทธิ์ ไชยะชน 8 ม.ค. 2550 - 23 ต.ค. 2550 9 เดือน
37. นายผดุงศักดิ์ ไชยอาลา 24 ต.ค. 2550 - 30 ก.ย. 2552 1 ปี 11 เดือน
38. นายอานนท์ ศรีรัตน์ 25 ม.ค. 2553 - 12 ธ.ค. 2554 1 ปี 11 เดือน
39. นายเลิศสิน จึงจรัสทรัพย์ 13 ธ.ค. 2554 - 30 ก.ย. 2556 1 ปี 9 เดือน
40. นายปณิธาน สุนารัตน์ 16 ธ.ค. 2556 - 30 ก.ย. 2558 1 ปี 9 เดือน
41. นายสุธี เล้าสุบินประเสริฐ 16 พ.ย. 2558 - 6 พ.ย. 2559 1 ปี
42. นายวัยวุฒิ อาศรัยผล 7 พ.ย. 2559 - 30 ก.ย. 2561 2 ปี พ.ศ. 2559 โครงการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด เป็นโครงการจัดตั้ง วิทยาเขตในสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยหลอมรวมวิทยาลัยเทคนิคสุวรรณภูมิ กับ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตร้อยเอ็ด ตั้งอยู่ บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
43. นายธนิตย์ พันธ์หินกอง 8 พ.ย. 2561 - ปัจจุบัน

การแบ่งเขตการปกครอง

แก้

การปกครองส่วนภูมิภาค

แก้

อำเภอสุวรรณภูมิแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 15 ตำบล 199 หมู่บ้าน ได้แก่

1. สระคู (Sa Khu) 21 หมู่บ้าน 9. หัวช้าง (Hua Chang) 12 หมู่บ้าน
2. ดอกไม้ (Dok Mai) 14 หมู่บ้าน 10. น้ำคำ (Nam Kham) 16 หมู่บ้าน
3. นาใหญ่ (Na Yai) 15 หมู่บ้าน 11. ห้วยหินลาด (Huai Hin Lat) 12 หมู่บ้าน
4. หินกอง (Hin Kong) 16 หมู่บ้าน 12. ช้างเผือก (Chang Phueak) 11 หมู่บ้าน
5. เมืองทุ่ง (Mueang Thung) 8 หมู่บ้าน 13. ทุ่งกุลา (Thung Kula) 14 หมู่บ้าน
6. หัวโทน (Hua Thon) 12 หมู่บ้าน 14. ทุ่งศรีเมือง (Thung Si Mueang) 12 หมู่บ้าน
7. บ่อพันขัน (Bo Phan Khan) 9 หมู่บ้าน 15. จำปาขัน (Champa Khan) 12 หมู่บ้าน
8. ทุ่งหลวง (Thung Luang) 15 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น

แก้

ท้องที่อำเภอสุวรรณภูมิประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 16 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลสระคู
  • เทศบาลตำบลจำปาขัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลจำปาขันทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลหินกอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหินกองทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลทุ่งกุลา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งกุลาทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลทุ่งหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งหลวงทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลดอกไม้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดอกไม้ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลสระคู ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสระคู (นอกเขตเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาใหญ่ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองทุ่ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองทุ่งทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหัวโทน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหัวโทนทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อพันขัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ่อพันขันทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหัวช้าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหัวช้างทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำคำ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำคำทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยหินลาด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยหินลาดทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลช้างเผือก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลช้างเผือกทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งศรีเมือง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งศรีเมืองทั้งตำบล

ประชากร

แก้

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป และมีอาชีพเสริมอื่น ๆ เช่น เลี้ยงสัตว์ รวมกลุ่มทำสินค้าหัตถกรรม และอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยมีซึ่งลำน้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวบ้านมีหลายสาย คือ ลำน้ำเสียว ลำน้ำพลับพลา ห้วยหินลาด และลำน้ำมูล

วัด

แก้

วัดที่สำคัญในเขตเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ อำเภอสุวรรณภูมิมีดังต่อไปนี้

  1. วัดใต้วิไลรรม
  2. วัดกลาง
  3. วัดสว่างโพธิ์ทอง
  4. วัดเจริญราษฎร์
  5. วัดทุ่งลัฎฐิวัน
  6. วัดเหนือสุพรรณวราราม

สถานศึกษา

แก้

ระดับวิทยาลัย โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่สำคัญในเขตอำเภอสุวรรณภูมิมีดังต่อไปนี้

  1. โครงการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขต ร้อยเอ็ด
  2. วิทยาลัยเทคนิคสุวรรณภูมิ
  3. วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจรักไทย สุวรรณภูมิ
  4. โรงเรียนสุวรรณภูมิพิทยไพศาล
  5. โรงเรียนสุวรรณภูมิวิทยาลัย

โรงเรียนระดับประถมศึกษาที่สำคัญในเขตอำเภอสุวรรณภูมิมีดังต่อไปนี้

  1. โรงเรียนเมืองสุวรรณภูมิ
  2. โรงเรียนอนุบาลเมืองใหม่สุวรรณภูมิ
  3. โรงเรียนดอนแฮดวิทยา
  4. โรงเรียนกระดิ่งทอง
  5. โรงเรียนการกุศลวัดกลาง
  6. โรงเรียนเจริญศึกษา
  7. โรงเรียนอนุบาลศรีภูมิวิทยารักษ์
  8. โรงเรียนบ้านน้ำคำน้อย
  9. โรงเรียนโสภาพพิทยาภรณ์

สถานที่ราชการสำคัญ

แก้

สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต ๒

สำนักงานขนส่งจังหวัดร้อยเอ็ด สาขาสุวรรณภูมิ

สำนักงานที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด สาขาสุวรรณภูมิ

สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ร้อยเอ็ด สาขาสุวรรณภูมิ (รับผิดชอบ เขตอำเภอ ๕ อำเภอ ได้แก่ สุวรรณภูมิ, เกษตรวิสัย, ปทุมรัตต์, เมืองสรวง และโพนทราย )

ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ร้อยเอ็ด

สถานีพัฒนาที่ดินร้อยเอ็ด

ศาลจังหวัดสุวรรณภูมิ (ระหว่างดำเนินการ ปีงบประมาณ ๒๕๖๓) ครอบคลุมพื้นที่บริการ ๖ อำเภอ ได้แก่ สุวรรณภูมิ, เกษตรวิสัย, ปทุมรัตต์, พนมไพร, โพนทราย และหนองฮี

สำนักงานอัยการจังหวัดสุวรรณภูมิ (ระหว่างดำเนินการ ปีงบประมาณ ๒๕๖๓)

โรงพยาบาลสุวรรณภูมิ ( โรงพยาบาลแม่ข่าย ระดับ M2 )


ธนาคาร สาขาในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ

แก้

ธนาคารกรุงไทย สาขาสุวรรณภูมิ ที่ตั้ง ถนนประดิษฐ์ยุทธการ

ธนาคารออมสินสาขาสุวรรณภูมิ ที่ตั้ง ถนนศรีภูมิ

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่ตั้ง ถนนปัทมานนท์

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่ตั้ง ถนนอรุณประเสริฐ

ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ตั้ง ถนนปัทมานนท์

ธนาคารกสิกรไทย ที่ตั้ง ถนนประสานเมือง

ห้างสรรพสินค้า/ร้านค้าสาขาขนาดใหญ่

แก้

บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาสุวรรณภูมิ

เทสโก้ โลตัส ตลาดโลตัส สาขาสุวรรณภูมิ

โลตัส เอ็กเพรส สาขาสุวรรณภูมิ

Homeshop สาขาสุวรรณภูมิ

7 -11 Extra สาขาสุวรรณภูมิ

สถานที่ท่องเที่ยว

แก้
 
กู่พระโกนา
  • กู่พระโกนา บ.กู่พระโกนา ต.สระคู
  • สิมวัดไตรภูมิคณาจารย์ บ.หัวโทน ต.หัวโทน
  • สิมวัดสระเกตุ บ.น้ำคำ ต.น้ำคำ
  • พระธาตุวัดเบญจ์ บ.หัวโทน ต.หัวโทน
  • บ่อพันขัน บ.ตาเณร ต.จำปาขัน
  • วัดพระธาตุบ่อพันขัน บ.หนองมะเหี๊ยะ ต.จำปาขัน
  • อ่างเก็บน้ำบ่อพันขัน บ.ตาเณร,บ.หญ้าหน่อง ต.จำปาขัน
  • พระธาตุอรหันต์โมคคัลลาน์ วัดกลาง คุ้มวัดกลาง ในเขตเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ
  • อนุสาวรีย์ท้าวเซียงเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ในเขตเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ
  • ศูนย์พัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ บ.กู่พระโกนา ต.สระคู
  • พิพิธภัณฑ์หอยล้านปี บ.โพนครกน้อย ต.สระคู
  • สระสี่เหลี่ยม สระสองแก ต.สระคู
  • กู่หินกอง บ.หินกอง ต.หินกอง
  • วัดพระธาตุนาใหญ่ บ.นาใหญ่ ต.นาใหญ่
  • วัดพระเจ้าใหญ่บ้านยางเครือ บ.ยางเครือ ต.เมืองทุ่ง
  • วัดกู่อารัมย์ บ.ดงเมือง ต.เมืองทุ่ง
  • บึงท่าศาลา บ.กู่พระโกนา ต.สระคู

เทศกาลสำคัญของอำเภอ

แก้
 
บุญบั้งไฟ
  • งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอสุวรรณภูมิ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างยิ่งใหญ่ ระดับประเทศ โดยเฉพาะวันแห่ ขบวนฟ้อน เซิ้งบั้งไฟ และบั้งไฟลายศรีภูมิ กับการตกแต่งขบวนบั้งไฟที่มากที่สุดของประเทศ โดยงานจัด ในวันเสาร์ อาทิตย์แรกของเดือนมิถุนายนของทุกปี ณ ลานอนุสาวรีย์พระรัตนวงษา (ท้าวเซียง) และหน้าที่ว่าการอำเภอสุวรรณภูมิ โดยงานมีความโดดเด่นที่แตกต่างจากที่อื่น คือ เอกลักษณ์การตกแต่งเอ้ บั้งไฟด้วยลายกรรไกรตัด เพียงแห่งเดียวในประเทศ หรือที่เรียกว่า ลายศรีภูมิ รวมทั้งขบวนรำสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้ งานประเพณีบุญบั้งไฟสุวรรณภูมิ ยังมีสืบเนื่องยาวนาน มีช่างบั้งไฟลายศรีภูมิ ในคุ้มวัดทุกคุ้มวัด ในเขตเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ และบั้งไฟเอ้ ทั่วเขตจังหวัดร้อยเอ็ด จะเข้าร่วมแข่งขันประเภทบั้งไฟขนาดใหญ่ทั้งหมด จนทำให้ เป็นหนึ่งในงานประเพณีบั้งไฟที่มีชื่อเสียงที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศ จนมีคำกล่าวที่ว่า "หากอยากดูบั้งไฟครบครัน หลากหลายกิจกรรม ไปที่ ยโสธร หากอยากดูบั้งไฟจุดขึ้นสูง จำนวนมาก ให้ไปที่อำเภอพนมไพร และ หากอยากดู บั้งไฟเอ้ตกแต่งสวยงามขนาดใหญ่มากที่สุดและขบวนรำสวยงามมากที่สุดไปที่ อำเภอสุวรรณภูมิ "

ชาวอำเภอสุวรรณภูมิที่มีชื่อเสียง

แก้

พระภิกษุ นักบวช

แก้
  • พระครูสุพรรณภูมิคณาจารย์ (หลวงพ่อสอ) - วัดเหนือสุพรรณาราม เจ้าคณะเมืองสุวรรณภูมิ มรณภาพ ปี พ.ศ. 2446 ก่อนยุบเมืองสุวรรณภูมิ เป็น อำเภอสุวรรณภูมิ
  • หลวงพ่อชม ฐานะธัมโม - อดีตเจ้าอาวาสวัดกู่พระโกนา ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
  • พระครูพุทธบาลมุณี - อดีตเจ้าอาวาส วัดชัยมงคล บ้านคำพรินทร์ ตำบลช้างเผือก อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
  • พระครูธรรมานุยุต (หลวงพ่อเคน) - อดีตเจ้าอาวาสวัดใต้วิไลธรรม อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
  • พระครูกิติคุณาธรณ์ (หลวงพ่อกองยโสธโร) - เจ้าอาวาสวัดกู่พระโกนา ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
  • พระราชพรหมจริยะคุณ - เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด ฝ่าย มหานิกาย วัดบ้านเปลือย ตำบลรอบเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด

ข้าราชการ นักการเมือง

แก้

พ่อค้า นักธุรกิจ

แก้

นายพนม ศรีแสนปาง

ศิลปิน นักแสดง

แก้

สุวรรณภูมิ

  1. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2445/041/783_3.PDF
  2. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2493/D/039/3026.PDF
  3. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2499/D/060/54.PDF
  4. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2508/D/025/941.PDF
  5. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2509/D/070/2613.PDF
  6. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2509/D/033/1577.PDF
  7. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2510/D/031/1157.PDF
  8. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2514/D/097/2433.PDF