อำเภอพุทไธสง
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
พุทไธสง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์เป็นเมืองประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด มีชื่อเสียงด้านการเป็นแหล่งทอผ้าไหมมัดหมี่ที่สวยงาม และมีพระคู่บ้านคู่เมือง คือ พระเจ้าใหญ่ วัดหงษ์
อำเภอพุทไธสง | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Phutthaisong |
ใจกลางอำเภอพุทไธสง | |
คำขวัญ: คูเมืองเก่าแต่โบราณ นมัสการพระเจ้าใหญ่ สุดสวยผ้าไหมไทย แลวิไลบึงสระบัว | |
แผนที่จังหวัดบุรีรัมย์ เน้นอำเภอพุทไธสง | |
พิกัด: 15°32′54″N 103°1′30″E / 15.54833°N 103.02500°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | บุรีรัมย์ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 330.0 ตร.กม. (127.4 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 45,770 คน |
• ความหนาแน่น | 138.70 คน/ตร.กม. (359.2 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 31120 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 3109 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอพุทไธสง หมู่ที่ 1 ถนนอรุณประเสริฐ ตำบลพุทไธสง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ 31120 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ประวัติศาสตร์เมืองพุทไธสง
แก้ตามหลักฐานจากการสำรวจของรองศาสตราจารย์ ศรีศักดิ์ วัลลโภดม และของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทิวา ศุภจรรยาและคณะ ได้ปรากฏว่ามีชุมชนโบราณที่มีลักษณะมีคูน้ำคันดินล้อมรอบในแถบลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีถึงจำนวน 671 แห่ง ซึ่งลักษณะที่มาของคูน้ำคันดินแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ แบบสี่เหลี่ยมและแบบทรงกลม จากหลักฐานแบบสี่เหลี่ยมเกิดขึ้นในยุคที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เกิดขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศวรรษที่ 7 สำหรับแบบทรงกลมได้รับอิทธิพลจากเพื่อนบ้านที่มีอารยธรรมสูงกว่า และมีความมั่นคงทางการเมือง เกิดขึ้นราว 3,000 – 5,000 ปีมาแล้ว ก่อนสมัยทวาราวดีของอินเดีย ผศ. ทิวา ศุภจรรยา ให้ความเห็นว่า การสร้างคูน้ำคันดินรอบชุมชนนี้น่าจะเกิดขึ้นเองเป็นครั้งแรกในแถบลุ่มแม่น้ำมูลและลุ่มแม่น้ำชีและใกล้เคียงแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช จากจำนวนชุมชนที่มีคูน้ำคันดินทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 700 แห่ง ความหนาแน่นของชุมชนอยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้และเขตติดต่อระหว่างจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดนครราชสีมา
โดยหนึ่งในชุมชนเหล่านั้นคือ เมืองพุทไธสง ตามที่นักโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 12 อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา สันนิษฐานว่าเมืองพุทไธสงโบราณถูกสร้างมาประมาณ 3,000 ปีแล้ว และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเมืองในสมัยทวาราวดี ซึ่งลักษณะของเมืองในสมัยทวาราวดี ที่ปรากฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ มีลักษณะเป็นเมืองที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบมีลักษณะทรงกลม คล้ายเมืองโบราณในประเทศอังกฤษและประเทศจีน เมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งในประเทศไทยพบการตั้งถิ่นฐานจำนวนมากตามลุ่มแม่น้ำมูลและลุ่มแม่น้ำชี
ลักษณะทางทางภูมิศาสตร์ของเมืองพุทไธสง
ตัวเมืองมีคูเมืองเก่าที่เป็นคันคูน้ำอยู่จำนวน 2 ชั้น ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลพุทไธสงในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย
1.คูบึงชั้นนอกด้านทิศเหนือประกอบไปด้วย บึงสระบัวหรือบึงใหญ่ หนองเม็ก คูบึงชั้นในด้านทิศเหนือ มีบึงเจ๊กและบึงอ้อ ตั้งอยู่เขตหมู่ที่ 1 บ้านพุทไธสง ในเขตตำบลพุทไธสง รอบโนนที่ตั้งเมืองพุทไธสง
2.คูบึงชั้นนอกด้านทิศตะวันออกประกอบไปด้วย บึงมะเขือ บึงบัวขาว ง คูบึงชั้นในด้านทิศตะวันออก มีบึงกลาง บึงสร้างนาง และมีหนองน้ำชั้นนอกคือหนองกระจับ หนองสรวง
3.คูบึงชั้นนอกด้านทิศใต้ประกอบไปด้วย บึงฆ่าแข่ ห้วยเตย หนองบัว คูบึงชั้นในด้านทิศใต้ มีบึงสร้างนาง หนองกระทุ่มหนา
4.คูบึงชั้นนอกด้านทิศตะวันตก มีหนองน้ำชื่อร่องเสือเต้น กั้นเขตแดนระหว่างโรงเรียนพุทไธสงและโรงเรียนตงศิริราษฎร์อนุสรณ์ในปัจจุบัน เป็นลักษณะบึงสั้นๆ ไม่ตลอดแนว และด้านนี้ไม่มีคูบึงชั้นใน ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบสลับที่เนินเตี้ยๆ พื้นที่โดยรวมลาดเอียงจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ยังมีบริเวณที่ดอนที่เรียกว่าโนน(เนิน)เมืองจำนวน 7 โนนดังนี้
1.โนนโรงเรียนพุทไธสงเดิม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งคิวรถและตลาดสดเทศบาลตำบลพุทไธสง ในอดีตเป็นเนินใหญ่สุดและเป็นศูนย์กลางตั้งตัวเมืองจนถึงปัจจุบัน
2.โนนอนามัยเดิม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานสาธารณสุขอำเภอพุทไธสง สถานีตำรวจภูธรพุทไธสง เป็นเนินที่มีความสูงที่สุด
3.โนนโรงเรียนนุบาลพุทไธสง (โอภาสประชานุกูล) เดิมมีน้ำล้อมรอบและใช้เป็นป่าช้าที่ฝังศพ
4.โนนบ้านโพนทอง เป็นโนนสูงกว้างใหญ่ หลังจากตั้งเมืองพุทไธสงใหม่ที่บ้านมะเฟือง มีข้าราชการจากเมืองมาตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ที่โนนแห่งนี้
5.โนนโรงเรียนตงศิริราษฎร์อนุสรณ์ เป็นโนนสูงด้านทิศตะวันตก หลังจากการขุดปรับแต่งหน้าดิน พบว่าดินมีลักษณะเป็นดินปนหินขี้ตะกรันเหล็ก อาจเป็นแหล่งถลุงเหล็กทำเครื่องมือและอาวุธในอดีต
6.โนนหนองสรวงตั้งอยู่ทางทิศใต้ ลักษณะยาวตามทิศตะวันออกไปตะวันตก เป็นที่ตั้งบ้านโนนหนองสรวง
7.โนนอีแก้ว เป็นโนนสูงขนาดเล็กอยู่ทางทิศใต้ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศูนย์หม่อนไหมบุรีรัมย์สาขาพุทไธสง
ในยุคอารยธรรมขอมรุ่งเรือง ได้พบหลักฐานการสร้างปราสาทหินและหลักฐานอื่นๆ ในบริเวณเมืองพุทไธสง ได้แก่ ปรางค์กู่สวนแตง ที่บ้านกู่สวนแตง ตำบลกู่สวนแตง กุฏิฤๅษีที่บ้านกู่ฤๅษี ตำบลหนองเยือง ในเขตอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ พระธาตุบ้านดู่ อำเภอนาโพธิ์
ทั้งยังมีหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองพุทไธสงอื่นๆอีก เช่น พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ บ้านศีรษะแรต ตำบลมะเฟือง เป็นพระพุทธรูปประจำคู่เมืองพุทไธสง สร้างขึ้นในช่วงราวปี พ.ศ. 1500 เป็นพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี สร้างด้วยมวลสารและยางบง ปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 1.6 เมตร สูง 2 เมตร องค์พระเจ้าใหญ่เป็นศิลปะการก่อสร้างที่แตกต่างไปจากขอม กล่าวคือเป็นศิลปะทางพระพุทธศาสนาโดยสันนิษฐานว่าคงสร้างตามอิทธิพลของอารยธรรมลาว(ล้านช้าง)ในถิ่นนี้ และยังพบพระธาตุ 1 องค์ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวิหารพระเจ้าใหญ่ วัดหงษ์ ซึ่งมีส่วนสูงของพระธาตุ 12 เมตร ฐานกว้าง 6 เมตร ก่อด้วยอิฐแดงไม่ฉาบปูนคงจะเป็นรุ่นเดียวกันกับพระธาตุพระพนมฝีมือลาวในสมัยทวารวดี ปัจจุบันได้สร้างพระธาตุใหม่ครอบไว้ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานพระพุทธรูปในสมัยเดียวกันในท้องที่อำเภอข้างเคียง เช่น พระพุทธรูปในลำน้ำมูล พบที่บ้านวังปลัด อำเภอคูเมือง และพบใบเสมาที่บ้านปะเคียบ อำเภอคูเมือง เป็นต้น
ในระยะต่อมาเมืองพุทไธสง ได้เป็นถิ่นที่อยู่กลุ่มชาติพันธุ์ลาวที่มาอยู่รวมกันในแถบลุ่มน้ำมูล ทั้งนี้จากหลักฐานต่างๆถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดบุรีรัมย์ จะรวมกลุ่มกันตั้งถิ่นฐานอยู่ 3 เมืองใหญ่ๆ ในช่วงเวลาเดียวกันคือ กลุ่มชาติพันธุ์เขมรจะรวมกลุ่มกันอยู่เมืองตลุง(ประโคนชัย) กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโคราชจะรวมกลุ่มกันอยู่ที่เมืองนางรอง กลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสานหรือไทลาวจะรวมกลุ่มกันอยู่ที่เมืองพุทไธสง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีเมืองอยู่เดิมแล้วในบริเวณที่กล่าวถึงนี้
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองพุทไธสงเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองหน้าด่านกันชนให้ทั้งสามราชอาณาจักร สยาม ลาว เขมร พร้อมกับเมืองสำคัญที่เป็นเมืองหน้าด่านทางภาคอีสานซึ่งประกอบไปด้วย เมืองพิมาย เมืองกันทรลักษณ์ เมืองกันทรวิชัย เมืองพุทไธสง เมืองนางรอง เมืองตลุง(ประโคนชัย) เมืองเหล่านี้ต่างเป็นเมืองใหญ่มีประชากรมากและมีเจ้าเมืองปกครอง ต่อมาเมืองพุทไธสงได้ถูกทิ้งร้างไป
ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เจ้าพระยาจักรี ทรงยกทัพไปตีเมืองจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตในปี พ.ศ. 2318 และได้เกณฑ์ไพร่พลในหัวเมืองต่างๆในบริเวณต่างๆของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบัน และในจำนวนนี้มีเพี้ยศรีปาก(นา) ซึ่งเป็นคณะอาญาสี่ของเมืองสุวรรณภูมิ รวมถึง เพียเหล็กสะท้านผู้มีหน้าที่จัดทำอาวุธ เพียไกรสอนผู้มีหน้าที่เกณฑ์ไพร่พลทหารและทหารรวม 200 คนไปด้วย เพียศรีปากได้ทำการสู้รบด้วยความองอาจกล้าหาญ มีความสามารถ จนกองทัพไทยทำการสำเร็จได้รับชัยชนะกลับกรุงธนบุรี และได้กวาดต้อนผู้คนกลับมาเป็นจำนวนมาก ในช่วงเดินทัพกลับนั้นได้เดินทัพผ่านมายังเมืองพุทไธสงเก่า และได้พักแรมที่หนองแสนโคตร (บริเวณบ้านมะเฟืองในปัจจุบัน) และได้สำรวจตัวเมืองเก่า เพื่อตั้งเมืองพุทไธสงขึ้นใหม่ เห็นว่าเมืองเก่าถูกละทิ้งมานานเป็นป่ารกยากแก่การบูรณะ จึงให้สร้างเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านโนนหมากเฟืองและบ้านหัวแฮด
ในปี พ.ศ. 2342 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพี้ยศรีปาก(นา) พร้อมบุตรชาย 2 คน คือ ท้าวหน่อ (เพี้ยเหล็กสะท้อน) และท้าวนา (เพี้ยไกรศรเสนา) ได้นำความกราบบังทูลขอพระราชทานตั้งบ้านโนนหมากเฟือง ขึ้นเป็นเมืองพุทไธสง ขึ้นกับเมืองนครราชสีมา โดยแบ่งเขตแดนจากเมืองสุวรรณภูมิ และเพี้ยศรีปาก ได้เป็นเจ้าเมืองพุทไธสงคนแรก มีราชทินนามว่า พระยาเสนาสงคราม ดังปรากฏในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ภาค 1 ว่า
"ลุจุลศักราช ๑๑๖๑ ปีมแมเอกศก เพี้ยศรีปาก เพี้ยเหล็กสะท้อน เพี้ยไกรสร เสนาเมืองสุวรรณภูมิ คบคิดกันเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าเปนพวกพ้องตัวเลขได้สองร้อยคนเศษ แยกออกจากเมืองสุวรรณภูมิ ไปสมัคขึ้นอยู่กับเจ้าพระยานครราชสิมา ๆ มีบอกมายังกรุงเทพ ฯ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เพี้ยศรีปากเปนพระเสนาสงครามเจ้าเมือง ยกบ้านหมากเฟืองบ้านหนองหัวแรดซึ่งอยู่ริมเมืองพุดไทยสงเก่า เปนเมืองพุดไทยสงขึ้นกับเมืองนครราชสิมา (มณฑลนครราชสิมา) โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองสุวรรณภูมิปันเขตรแขวงให้ ตั้งแต่ฟากลำพังชูทางตวันตกไป ถึงลำสะแอกเปนเขตรแดนเมืองพุดไทยสง"
อุปฮาดราชวงศ์ เจ้าอาญาสี่ผู้ปกครองเมืองพุทไธสง
แก้พระยาเสนาสงคราม เดิมชื่อ เพียศรีปาก(นา) เกิดที่ เมืองท่งศรีภูมิ แห่งราชอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ เป็นบุตรชายของท้าวพร และเป็นหลานของท้าวเซียงหรือพระรัตนวงศา เจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนที่4 ซึ่งมีเชื้อสายของเจ้าแก้วมงคลเจ้าเมืองท่งศรีภูมิท่านแรก เพี้ยศรีปากมีพี่น้องอยู่1คนได้แก่ เพี้ยเมืองแพน(ศักดิ์)หรือพระนครศรีบริรักษ์เจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก เดิมเพี้ยศรีปากเป็นกรมการเมืองสุวรรณภูมิ ต่อมาเกิดการผลัดอำนาจจากกลุ่มท้าวเซียงเป็นกลุ่มท้าวสุทนต์มณี ในปีพ.ศ. 2335 โดยท้าวอ่อนบุตรชายของท้าวสุทนต์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง ซึ่งท้าวสุทนต์มณีเป็นเจ้าอาวของท้าวเซียงและมีสายเลือดเจ้าจารย์แก้วเหมือนกันซึ่งอาวกับหลานมีความขัดแย้งกันจากการแย่งชิงอำนาจกันในเครือญาติอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว หลังจากท้าวอ่อนดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ต่อมาเพี้ยศรีปากจึงได้พาไพร่คนในบังคับบัญชาของตนแยกออกจากเมืองทุ่งศรีภูมิหรือเมืองสุวรรณภูมิ มาตั้งบ้านเมืองขึ้นเมืองที่ริมกำแพงเมืองผะไธสงฆ์เก่า (พุทไธสง) ภายหลังได้รับพระราชทานราชทินนามเป็น พระยาเสนาสงคราม เจ้าเมืองพุทไธสง พร้อมกับการตั้งเมืองพุทไธสง เมื่อ พ.ศ. 2342 [1]
พระยาเสนาสงคราม มีบุตรปรากฏนาม 2 คนคือ
1.ท้าวหน่อพุทธางกูรหลวงเวียงพุทไธสง (พระยานครภักดี) ต่อมาได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแปะ(บุรีรัมย์)คนแรก
2.ท้าวนา ต่อมาได้เป็นพระเสนาสงครามที่ 2 เจ้าเมืองพุทไธสงคนที่ 2
พระยาเสนาสงคราม ได้ปกครองเมืองพุทไธสงตั้งแต่ พ.ศ. 2342 - พ.ศ. 2370 เป็นระยะเวลา 28 ปี และได้ถึงแก่กรรมในปีนั้น สิริอายุ 81 ปี
ลำดับเจ้าเมืองพุทไธสง
แก้1.พระยาเสนาสงคราม (เพียศรีปาก) (พ.ศ. 2342-2370)
2.พระเสนาสงครามที่ 2 (พ.ศ. 2370-2407)
3.พระเสนาสงครามที่ 3 (พ.ศ. 2407-2440)
เมืองพุทไธสงสู่รูปแบบการปกครองในปัจจุบัน
แก้ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 ได้มีการยกเลิกการปกครองแบบเดิมและจัดการปกครองแบบใหม่ การปกครองหัวเมืองอยู่ในอำนาจของกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นการรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้น
ในวันที่ 25 พฤษภาคม ร.ศ.118 (พ.ศ. 2442) เมืองพุทไธสง ได้รับการจัดตั้งเป็น อำเภอเมืองพุทไธสง (ชื่ออำเภอในระยะแรกตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา) ขึ้นกับมณฑลนครราชสีมา พร้อมกับอีก 18 อำเภอ โดยมีหลวงเจริญทิพยผล (คง) เป็นนายอำเภอเมืองพุทไธสงคนแรก[2]
ในปีเดียวกันนี้เอง พระรังสรรค์สารกิจ (เลื่อน) ข้าหลวงประจำเมืองบุรีรัมย์ ได้ทำการย้ายที่ตั้งอำเภอพุทไธสงขึ้นใหม่ที่บริเวณที่ดินในคูเมืองในเขตเทศบาลตำบลพุทไธสงในปัจจุบัน ซึ่งเดิมนั้นเป็นป่ารกทึบมีสัตว์ป่า มีภูมิแข็ง มีไก่ป่า นกกระทา ชาวบ้านจะแตะต้องไม่ได้ถ้ามีใครแตะต้องจะต้องเป็นไข้ตาย ลงท้องตาย อาศัยพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินเบิกป่าจึงสามารถผ่าเหตุการณ์ไปได้สะดวก
โดยแต่แรกเริ่มนั้นอำเภอพุทไธสง มีพื้นที่ในการปกครองประมาณ 760 ตารางกิโลเมตร มีตำบลในการปกครอง ได้แก่
1.ตำบลพุทไธสง
2.ตำบลมะเฟือง
3.ตำบลบ้านจาน
4.ตำบลบ้านเป้า
5.ตำบลนาโพธิ์
6.ตำบลบ้านดู่
และได้มีเหตุการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองของอำเภอพุทไธสงตามลำดับ ดังนี้
พ.ศ. 2450 อำเภอพุทไธสง ได้ขึ้นตรงต่อกับเมืองบุรีรัมย์ มณฑลนครราชสีมา ตามการจัดระเบียบการปกครองของกระทรวงมหาดไทย
(ไม่ทราบปี) ตั้งตำบลบ้านคู โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลนาโพธิ์
พ.ศ. 2457 ตั้งตำบลทองหลาง โดยแบ่งเขตการปกครองจากบ้านเป้า
28 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนการเรียกเมืองเป็นจังหวัด เมืองบุรีรัมย์ จึงถูกเปลี่ยนเป็นจังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอพุทไธสง จึงได้อยู่ในการปกครองของจังหวัดบุรีรัมย์ มณฑลนครราชสีมา ตั้งแต่นั้นมา[3]
พ.ศ. 2476 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล มณฑลนครราชสีมาจึงถูกยกเลิกไป
27 มีนาคม พ.ศ. 2481 ตั้งตำบลหนองแวง โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลทองหลาง[4]
24 กันยายน พ.ศ. 2512 ตั้งตำบลบ้านแวง โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลพุทไธสง[5]
29 กันยายน พ.ศ. 2521 ตั้งตำบลแดงใหญ่ โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลบ้านเป้า[6]
26 กันยายน พ.ศ. 2522 ตั้งตำบลบ้านยาง โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลมะเฟือง และตั้งตำบลดอนกอก โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลบ้านคู[7]
18 มีนาคม พ.ศ. 2524 ได้แบ่งเขตการปกครอง ตำบลนาโพธิ์ ตำบลบ้านคู ตำบลบ้านดู่ และตำบลดอนกอก รวมพื้นที่ 255 ตารางกิโลเมตร จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอนาโพธิ์ ขึ้นกับเภอพุทไธสง[8]
9 มิถุนายน พ.ศ. 2524 ตั้งตำบลศรีสว่าง โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลนาโพธิ์ ในท้องที่กิ่งอำเภอนาโพธิ์ อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์[9]
29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 ตั้งตำบลหายโศก โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลบ้านจาน[10]
2 กันยายน พ.ศ. 2528 ตั้งตำบลกู่สวนแตง โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลหนองแวง[11]
3 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 ตั้งตำบลหนองเยือง โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลทองหลาง[12]
30 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ตั้งกิ่งอำเภอนาโพธิ์ อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็น อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์[13]
13 มีนาคม พ.ศ. 2535 ได้แบ่งเขตการปกครอง ตำบลหนองแวง ตำบลกู่สวนแตง ตำบลทองหลาง ตำบลหนองเยือง และ ตำบลแดงใหญ่ พื้นที่ 175 ตารางกิโลเมตร จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ ขึ้นกับอำเภอพุทไธสง[14]
15 กันยายน พ.ศ. 2540 ตั้งกิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็น อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์[15]
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้อำเภอพุทไธสงแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 7 ตำบล 97 หมู่บ้าน
1. | พุทไธสง | (Phutthaisong) | 13 หมู่บ้าน | ||||||||
2. | มะเฟือง | (Mafueang) | 13 หมู่บ้าน | ||||||||
3. | บ้านจาน | (Ban Chan) | 13 หมู่บ้าน | ||||||||
4. | บ้านเป้า | (Ban Pao) | 12 หมู่บ้าน | ||||||||
5. | บ้านแวง | (Ban Waeng) | 13 หมู่บ้าน | ||||||||
6. | บ้านยาง | (Ban Yang) | 18 หมู่บ้าน | ||||||||
7. | หายโศก | (Hai Sok) | 15 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ท้องที่อำเภอพุทไธสงประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลพุทไธสง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลพุทไธสง ตำบลมะเฟือง และตำบลบ้านจาน
- องค์การบริหารส่วนตำบลพุทไธสง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพุทไธสง (นอกเขตเทศบาลตำบลพุทไธสง)
- องค์การบริหารส่วนตำบลมะเฟือง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลมะเฟือง (นอกเขตเทศบาลตำบลพุทไธสง)
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจาน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านจาน (นอกเขตเทศบาลตำบลพุทไธสง)
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเป้า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านเป้าทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านแวงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านยาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านยางทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหายโศก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหายโศกทั้งตำบล
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้อำเภอพุทไธสงตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอหนองสองห้อง (จังหวัดขอนแก่น) และอำเภอนาโพธิ์
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอยางสีสุราชและอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย (จังหวัดมหาสารคาม)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอชุมพลบุรี (จังหวัดสุรินทร์) อำเภอคูเมือง และอำเภอเมืองยาง (จังหวัดนครราชสีมา)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์
อ้างอิง
แก้- ↑ https://m.facebook.com/722488218128250/posts/1180913005619100/
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2442/009/119_2.PDF
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2021-05-06.
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/D/16.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2512/D/089/3057.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2521/D/117/3590.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2522/D/200/4597.PDF
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-04. สืบค้นเมื่อ 2021-05-06.
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2524/D/116/2281.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2524/D/140/2882.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2528/D/175/57.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2530/D/150/5581.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2530/A/278/33.PDF
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-03-24. สืบค้นเมื่อ 2021-05-06.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-01-27. สืบค้นเมื่อ 2021-05-06.