ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

นักการเมืองชาวไทย
(เปลี่ยนทางจาก ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์)

ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ (เกิด 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504) เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์
ป.ช., ป.ม.
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบบัญชีรายชื่อ
ดำรงตำแหน่ง
3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556
หัวหน้าพรรครักประเทศไทย
ดำรงตำแหน่ง
18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 – 17 มกราคม พ.ศ. 2560
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 (61 ปี)
ฮ่องกงของบริเตน
พรรค ต้นตระกูลไทย (2546 - 2548)
ชาติไทย (2548 - 2551)
สู้เพื่อไทย (2551 - 2552)
รักประเทศไทย (2553 - 2560)
คู่สมรส เคต ดับเบิลยู จอห์นสัน
งามตา กมลวิศิษฎ์
บุตร 6 คน
ลายมือชื่อ ลายเซ็น ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์.png

ประวัติแก้ไข

วัยเด็กและการศึกษาแก้ไข

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เกิดที่ฮ่องกง แต่เติบโตในย่านเยาวราช เป็นบุตรคนสุดท้อง ในจำนวนพี่น้อง 8 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 3 คน ของนายเจริญ และนางจำเนียร กมลวิศิษฎ์ บิดามารดาเป็นคนจีน ครอบครัวที่ทำธุรกิจนำเข้าและผลิตเสื้อผ้ายีนส์ยี่ห้อฮาร่า โดยปัจจุบันธุรกิจนี้ดูแลโดยเลิศชัย กมลวิศิษฎ์ ผู้เป็นพี่ชาย

ชูวิทย์จบชั้นประถมศึกษาจาก โรงเรียนสหพาณิชย์ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของตึกชาญอิสสระ) มัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา และมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยซานดิเอโกแต่ไม่สำเร็จการศึกษา และหลังจากเข้าสู่วงการเมือง พ.ศ. 2548 โดนศาลรัฐธรรมนูญปลดออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพราะว่าสังกัดพรรคชาติไทยไม่ถึง 90 วัน จึงมาศึกษาต่อในหลักสูตร รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำเร็จการศึกษาและเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รัฐศาสตรมหาบัณฑิต เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2551[1]

ธุรกิจแก้ไข

หลังจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ชูวิทย์หันมาทำธุรกิจของตัวเองเช่น สร้างหมู่บ้านจัดสรรและเปิดอาบอบนวดชื่อ วิคทอเรีย ซีเคร็ท และขยายกิจการจนเป็นเจ้าของอาบอบนวด 6 แห่ง ในเครือเดวิสกรุ๊ป และก่อตั้งมูลนิธิต้นตระกูลกมลวิศิษฎ์ ให้การสนับสนุนก่อสร้างป้อมที่พักเจ้าหน้าที่ตำรวจตามแยกไฟแดง ต่อมาได้เกิดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกมาเปิดเผยเรื่องส่วย เป็นเรื่องที่เกรียวกราว จนได้รับฉายาว่า เสี่ยอ่าง หรือ จอมแฉ จนเกิดผลกระทบกับธุรกิจอาบอบนวด ถูกคดีค้าประเวณีเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี ในสถานอาบอบนวด แต่ศาลสั่งยกฟ้องเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ

นอกจากนั้น ชูวิทย์ เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ภาติฌาน จำกัด, บริษัท ซี.ดี แลนด์ จำกัด, เจ้าของ บริษัท สุขุมวิท ซิลเวอร์สตาร์ จำกัด, กรรมการบริษัทสุขุมวิท ซิลเวอร์สตาร์ และ ประธานบริษัท เดวิสกรุ๊ป ซิลเวอร์สตาร์ จำกัด

 
ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ในปี พ.ศ. 2554

ชูวิทย์เป็นเจ้าของโรงแรม The Davis Bangkok Hotel ที่ตั้งอยู่บนถนน สุขุมวิท 24 มีพื้นที่ขนาด 7 ไร่ ความพิเศษของพื้นที่ตรงนี้คือมีหน้ากว้างต่างจากที่ดินต่างรอบบริเวณ โรงแรมขนาดใหญ่แบ่งเป็น Main Wing และ Corner Wing อีกทั้งยังแบ่งเป็นส่วนบ้านไทย และมีร้านอาหารและสปาในส่วนของ avenue โรงแรม The Davis Bangkok Hotel โดยเฉพาะที่ดินคาดว่าจะมีมูลค่าหลายพันล้านบาท เพราะสุขุมวิท ซอย 24 เป็นซอยที่ติดอันดับราคาที่ดินที่แพงที่สุดในเมืองไทย

ชูวิทย์ยังเป็นเจ้าของที่ดินขนาด 7 ไร่ อันเป็นที่ตั้งของ "สวนชูวิทย์" ตั้งอยู่บริเวณระหว่างถนนสุขุมวิท ซอย 8 และ ซอย 10 โดยที่ดินดังกล่าวเคยเกิดกรณีการขับไล่เป็นข่าวใหญ่เมื่อปี 2546 เป็นการรื้อทำลายร้านค้าบาร์เบียร์จำนวนกว่าร้อยร้านค้า ปัจจุบันชูวิทย์เปิดเป็นสวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการ ที่ดินแปลงดังกล่าวมีมูลค่ามากกว่า 5,500 ล้านบาท และเป็นที่ดินแปลงใหญ่แปลงเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในบริเวณถนนสุขุมวิทตอนต้น

มีชื่อเสียงแก้ไข

ชูวิทย์เป็นที่รู้จักในกลางปี พ.ศ. 2546 เมื่อปรากฏเป็นข่าวว่าได้หายตัวไปอย่างลึกลับ ขณะมีคดีรื้อบาร์เบียร์ที่ถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นคดีที่มีคู่ความเป็นตำรวจนครบาล ไม่กี่วันต่อมาชูวิทย์ก็ปรากฏตัวข้างถนนย่านชานเมืองแห่งหนึ่งด้วยสภาพอิดโรย มีการนำตัวส่งโรงพยาบาล เมื่อร่างกายเริ่มฟื้นแล้ว ชูวิทย์ได้แฉว่าถูกตำรวจกลุ่มหนึ่งอุ้มตัวไป

จากนั้นชูวิทย์ก็ปรากฏเป็นข่าวเป็นระยะ เมื่อเจ้าตัวเริ่มทำการแฉถึงพฤติกรรมการทุจริตต่าง ๆ ของตำรวจ เช่น การรีดไถ การรับส่วย เป็นต้น จึงทำให้เป็นจุดสนใจของสังคมในระยะนั้น โดยบุคลิกของชูวิทย์ขณะนั้นเป็นไปอย่างดุดัน ดุเดือด จริงจัง แต่หลังจากนั้นแล้ว ชูวิทย์เริ่มมีท่าทีที่เปลี่ยนไป กลายเป็นบุคคลที่สนุกสนานเฮฮา ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ทิ้งการแฉถึงเรื่องราวการทุจริตต่าง ๆ ในสังคม ทำให้เป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนเป็นจำนวนมาก และจากชื่อเสียงที่โด่งดังนี้ทำให้ในปีเดียวกันนั้น ได้มีผู้สร้างภาพยนตร์แผ่นที่มีเนื้อหาดัดแปลงมาจากชีวประวัติของชูวิทย์เอง ใช้ชื่อว่า เจ้าพ่ออ่างทองคำ โดยมี จรัล งามดี มารับบทเป็น ชูวิช ที่แปลงชื่อมาจากชื่อของชูวิทย์

อาชีพการเมืองแก้ไข

หลังจากนั้น ชูวิทย์ก็ได้ก้าวมาสู่วงการเมือง โดยขายหุ้นในกิจการอาบอบนวดทั้งหมด แล้วลงสมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้วยเบอร์ 15 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งตรงกับวันเกิดของตัวเอง แม้ไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ได้คะแนนเสียงกว่าสามแสนคะแนนและได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 3 ต่อมาชูวิทย์นำพรรคต้นตระกูลไทย ที่ตนเองเป็นผู้ก่อตั้ง เข้าร่วมกับพรรคชาติไทยและรับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคชาติไทย

ชูวิทย์ลงสมัครเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2548 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทย แต่ต่อมาถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นสมาชิกพรรคชาติไทยไม่ครบ 90 วัน จึงพ้นจากความเป็น ส.ส. ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ชูวิทย์ได้ลาออกจากพรรคชาติไทย เพื่อลงสมัครสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร แต่ก็ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิกถอนสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยระบุว่า ยังไม่พ้นจากสถานะภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครบกำหนด 1 ปี ก่อนที่จะลงสมัครสมาชิกวุฒิสภาตามกฎหมาย

พรรคชาติไทยแก้ไข

หลังจากเข้าสู่พรรคชาติไทยแล้ว ชื่อเสียงของชูวิทย์เริ่มหายเงียบไป แต่ปรากฏเป็นข่าวเป็นระยะๆ เช่น เป็นผู้หิ้วข้าวผัดและโอเลี้ยงไปเยี่ยม 3 อดีตกรรมการการเลือกตั้งที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก ในคดีทุจริตการเลือกตั้ง หรือ การออกป้ายหาเสียงแบบแปลกๆ แหวกแนวไม่เหมือนใคร เป็นต้น

ในระยะแรกๆ ที่เข้าร่วมกับพรรคชาติไทย ชูวิทย์เคยมีข่าวขัดแย้งกับ จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ ส.ส.หญิงของพรรคชาติไทย โดยมีข่าวว่า จณิสตา ไม่ยอมรับในตัวชูวิทย์ ที่เคยประกอบธุรกิจอาบอบนวดมาก่อน จนได้รับฉายาว่า นักการเมืองฝีปากกล้า

ชูวิทย์มักจัดทำป้ายขนาดใหญ่ มีข้อความซึ่งเขากล่าวว่าสะท้อนความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน[2]

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 ชูวิทย์ประกาศว่าจะไม่ขอลงเลือกตั้งในปลายปีไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตาม หลังได้รับการจัดให้เป็นตัวแทนพรรค สมัครรับเลือกตั้งแบบรายชื่อเป็นลำดับที่ 2 ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยยกลำดับที่ 1 ให้กับพลเอก อัครเดช ศศิประภา อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเชื่อว่าตนเองจะไม่ได้รับการเลือก รวมทั้งได้โจมตีการบริหารพรรคของบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคด้วย หลังการเลือกตั้ง เมื่อพรรคชาติไทยจากเดิมที่อยู่คนละข้างกับพรรคพลังประชาชนได้แสดงท่าทีจะไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับทางพรรคพลังประชาชน ชูวิทย์ก็ได้โจมตีบรรหารอย่างรุนแรงขึ้น และได้ลาออกจากพรรค

12 ธันวาคม 2555 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคดีที่บรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ฟ้องร้องชูวิทย์ข้อหาหมิ่นประมาท จากเหตุการณ์ที่พรรคชาติไทยเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน และชูวิทย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรองหัวหน้าพรรคชาติไทย ตั้งโต๊ะแถลงข่าววิจารณ์บรรหารว่า เคยให้สัมภาษณ์ก่อนการเลือกตั้งว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน แต่กลับเข้าร่วม และว่าบรรหารไร้สัจจะ ไร้จุดยืน นอกจากนี้ ยังชูวิทย์ยังติดป้ายประจานบรรหารทั่วกรุงเทพมหานคร โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยวิจารณ์การทำงานและความประพฤติของโจทก์ในฐานะบุคคลสาธารณะ เป็นการติชมโดยสุจริต มิได้หาประโยชน์ส่วนตน ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552[3]

สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแก้ไข

ในปี พ.ศ. 2551 ชูวิทย์ซึ่งได้ลาออกจากพรรคชาติไทยแล้ว ก็มาลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้ชูวิทย์ได้เบอร์ 8 หลังจากนั้นชูวิทย์ได้ดำเนินการหาเสียง โดยชูนโยบายการมองเห็นปัญหา และเน้นตรวจสอบการทำงานของอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เช่น การก่อสร้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ที่เขตดินแดง การติดตามคดีการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง เป็นต้น

วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เวลาประมาณ 12.45 น. ชูวิทย์ได้ไปออกรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในช่วงเกาะประเด็นร้อน แกะประเด็นลึก โดยมีวิศาล ดิลกวณิช เป็นพิธีกร หลังจบช่วงดังกล่าว ชูวิทย์ก็เข้าทำร้ายร่างกายวิศาล[4] ต่อมา ชูวิทย์ได้แถลงข่าวในเวลา 16.00 น. ของวันเดียวกัน โดยยอมรับในการกระทำ และอ้างว่าทำไปเพราะโมโหที่วิศาลถามคำถามไม่เป็นธรรมแก่ตน และแสดงกิริยาไม่ให้เกียรติ ส่วนวิศาลก็ได้เข้าแจ้งความที่ สน.ทองหล่อว่าถูกทำร้ายร่างกาย และพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมิติเวช[5]

วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ชูวิทย์ได้ยกเลิกกำหนดการหาเสียงในช่วงเช้า และเดินทางไปทำบุญถวายสังฆทานที่วัดศรีบุญเรืองแทน โดยปล่อยเต่า 19 ตัว พร้อมทั้งเขียนชื่อ-นามสกุล อายุของ ตนเองติดใต้ท้องเต่า ปล่อยนก 7 ตัว ปลาไหล 7 ตัว และหอยขมอีก 600 ตัว[6] ในวันเดียวกันนี้ ชูวิทย์ได้ส่งหนังสือถึงสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ สรุปใจความได้ว่า วิศาล ดิลกวณิช ผู้ดำเนินรายการ ใช้วาจาไม่สุภาพ เรียกชื่อโดยไม่ใช่คำว่า "คุณ" นำหน้า รวมทั้งยังตั้งคำถามยั่วยุว่า จุดด้อยของคุณคืออะไร ซึ่งไม่ได้ตั้งคำถามเดียวกันนี้กับผู้สมัคร 3 คนที่มาร่วมรายการก่อนหน้านี้ รวมทั้งอีกหลายกรณี จึงทำให้รู้สึกถูกข่มเหงอย่างรุนแรง และบันดาลโทสะ พร้อมยอมรับผิดในการทำร้ายร่างกายวิศาล แต่ขอความเป็นธรรมจากพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องของวิศาล ด้วยเช่นกัน[7]

พรรคสู้เพื่อไทยแก้ไข

ชูวิทย์ ได้จดทะเบียนตั้งพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551 ชื่อ “พรรคสู้เพื่อไทย” มีสัญลักษณ์รูปกำปั้น มีสโลแกนว่า “แตกต่างแต่ไม่แตกแยก”

พรรครักประเทศไทยแก้ไข

ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรองพรรครักประเทศไทย และรับรองสถานะชูวิทย์ให้เป็นหัวหน้าพรรครักประเทศไทย[8] มีสโลแกนว่า “ฉันรักคุณ”

โดยในการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2554 ชูวิทย์ได้แถลงข่าวเปิดตัวพรรครักประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศว่าจะเป็นฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบรัฐบาล[9]

ขณะหาเสียงชูวิทย์ ใช้สุนัขคู่ใจชื่อ "โมโต โมโต้" พันธุ์บูลเทร์เรียร์ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความซื่อสัตย์ ซึ่งชูวิทย์บอกว่า สุนัขซื่อสัตย์กว่านักการเมือง เพราะไม่เคยคอรัปชั่น รวมทั้งใช้โปสเตอร์ที่มีสีสัน และความหมายสะท้อนถึงการเมืองในขณะนั้น จนได้รับคำชมจากสื่อมวลชน และนักวิจารณ์ชาวต่างชาติ[10] ผลการเลือกตั้งพรรครักประเทศไทยได้คะแนนเสียงเกือบ 1 ล้านคะแนน ส่งผลให้ได้ ส.ส. เข้าสภาถึง 4 คน ในวันแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ชูวิทย์ได้นำคลิปวีดีโอแสดงถึงบ่อนการพนันขนาดใหญ่บริเวณถนนรัชดาภิเษกมาเปิดกลางห้องประชุมสภา ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปล่อยปละละเลย มีผลทำให้ พลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี หลุดออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ[11]

ชูวิทย์เป็นผู้นำการใช้คลิปวีดีโอมาประกอบการอภิปรายในสภา ทำให้เกิดกระแสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านอื่นต้องใช้คลิปประกอบทุกครั้งที่มีการอภิปราย โดยชูวิทย์ได้รับฉายา "เจ้าพ่อคลิป"[12] จากกรณีที่ชูวิทย์มีการใช้กล้องแอบถ่ายในบ่อนการพนัน สถานค้าบริการหลายสิบที่ และนำมาเปิดแถลงข่าว ส่งผลให้ตำรวจในพื้นที่นั่งไม่ติด เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงบ่อนการพนันซึ่งขยายตัวอย่างมาก และให้ความเชื่อถือกับข้อมูลของชูวิทย์ โดยเห็นว่าข้อมูลที่ชูวิทย์นำมาเปิดเผย เป็นประโยชน์ต่อสังคม[13]

การทำงานของชูวิทย์ในสภาในฐานะฝ่ายค้าน ชูวิทย์ทำหน้าที่อย่างโดดเด่น รวมทั้งรับหน้าที่รองประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 แสดงจุดยืนในการเป็นฝ่ายค้าน เปิดเผยข้อมูล บ่อนการพนัน สถานอบายมุข อันมีผลกระทบต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างมาก จนกระทั่ง ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องออกมาตอบโต้ และมีวาทะพิพาทกันในสภา จนทำให้ทั้งคู่ได้รับฉายาว่าเป็น "คู่กัดแห่งปี" ประจำปี 2555 จากสื่อมวลชน แม้ว่าทั้งคู่จะเคยมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก่อน[14]

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2555 นายชูวิทย์ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีระยะเวลาเหลืออีกเพียงเดือนเศษจะครบกำหนดสิ้นสุดสัญญา แต่ปรากฏว่าการก่อสร้างยังไม่คืบหน้าเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้รับเหมาทิ้งงาน สร้างได้แค่ฐานรากหรือตอม่อ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละโรงพัก ส่งผลให้ต่อมารัฐบาลพรรคเพื่อไทยนำโครงการดังกล่าวเป็นประเด็นการเมืองกล่าวหารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นผู้เซ็นสัญญาริเริ่มโครงการนี้เมื่อปี 2553 และร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสอบสวน[15]

31 มกราคม พ.ศ. 2556 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติวินิจฉัยกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 คนของพรรครักประเทศไทย คือ ชัยวัฒน์ ไกรฤกษ์ และ นายโปรดปราน โต๊ะราหนี เซ็นใบลาออกจากสมาชิกพรรค ชูวิทย์ได้นำยื่นกับคณะกรรมการการเลือกตั้งอันมีผลมาจากคลิปวีดีโอที่นายชูวิทย์อัดและเปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงการคอรัปชั่น กินเปอร์เซ็นต์งบประมาณของประเทศ โดยทั้งสองได้ยื่นหนังสือคัดค้านการลาออกอ้างว่าไม่ใช่ลายเซ็นของตัวเอง ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ไต่สวนมีผลสรุปว่าเป็นใบลาออกที่ทั้งสองลงลายมือชื่อด้วยตนเองจริง[16] อันมีผลให้ทั้งสองพ้นจากสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชูวิทย์อ้างว่าทั้งสองได้ทรยศต่ออุดมการณ์ พร้อมทั้งขอโทษต่อประชาชน และยืนยันว่าหากต่อไปพบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคของตนกระทำการทุจริตอีก ก็ยินดีจะลาออกและยุบพรรครักประเทศไทย[17]

8 ธันวาคม พ.ศ. 2556 หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์มีมติให้สมาชิกลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยกพรรค นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์[18] ชูวิทย์รักษาคำพูดโดยการลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันที[19] โดยระบุว่าสภาทำงานต่อไปไม่ได้ ทั้งนี้ชูวิทย์เคยแถลงข่าวแนะให้พรรคประชาธิปัตย์ลาออกยกพรรคเพื่อแสดงความจริงใจต่อประชาชน และไปช่วยสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ลาออกไปเป็นแกนนำหลักประท้วงขับไล่รัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และหากพรรคประชาธิปัตย์ลาออกยกพรรคตามที่ตนแนะนำจริง ตนและลูกพรรคจะลาออกตาม[20] เป็นเหตุให้ชูวิทย์ลาออกตามสัญญา

9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจประกาศยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

คดีทุนจีนสีเทาแก้ไข

ในปี 2565–2566 เขามีชื่อเสียงในฐานะเป็นผู้เปิดเผยและเร่งรัดการทำงานของกระบวนการยุติธรรมใน "คดีทุนจีนสีเทา" และเปิดโปงความเชื่อมโยงกับหลานประยุทธ์ จันทร์โอชา[ต้องการอ้างอิง]

งานบันเทิงแก้ไข

ละครแก้ไข

  • พระจันทร์ซ่อนดาว ช่อง 3 (พ.ศ. 2564)

พิธีกรแก้ไข

โทรทัศน์

  • พ.ศ. 2560 : รายการ ข่าวเย็นไทยรัฐ ช่วง ชูวิทย์ ตีแสกหน้า
  • พ.ศ. 2565 : รายการ ชูวิทย์สะกิดติ่ง

ครอบครัวแก้ไข

ชูวิทย์ สมรสครั้งที่ 1 กับเคต ดับเบิลยู จอห์นสัน (Kate W Johnson) หญิงชาวแคนาดา-อเมริกัน และมีบุตรด้วยกันสองคน คือ

  1. ลีนา ดับเบิลยู จอห์นสัน
  2. ลีแอน ดับเบิลยู จอห์นสัน

สมรสครั้งที่ 2 กับนางงามตา กมลวิศิษฎ์ (สุขนิรันดร์) ปัจจุบันแยกทางกันแล้ว มี บุตร-ธิดา 4 คน ตามลำดับ ดังต่อไปนี้

  1. ต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ (ต้น) จบการศึกษาจาก โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก และ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  2. พลทหาร เติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ (เติม) สังกัดกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ จบการศึกษาจาก โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก และ คณะบริหารการโรงแรม จาก มหาวิทยาลัยศิลปากร (ภาคอินเตอร์) ปัจจุบันได้แต่งงานกับนักแสดงสาว หทัยภัทร สมรรถวิทยาเวช เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562
  3. ตระการตา กมลวิศิษฏ์ (ต๊ะ) จบการศึกษาจาก Millfiled school ประเทศอังกฤษ และ คณะเศรษฐศาสตร์ University of San Francisco ที่สหรัฐอเมริกา และกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท คณะ Consutruction Economics & Management ที่ University College London ประเทศอังกฤษ
  4. ต่อตระกูล กมลวิศิษฏ์ (ต่อ) จบการศึกษาจาก โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และ Millfiled school ประเทศอังกฤษ และ จบปริญญาตรี University of Arizona ประเทศสหรัฐอเมริกา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์แก้ไข

อ้างอิงแก้ไข

  1. "ชมภาพชื่นลูกแม่โดมรับปริญญาและชูวิทย์ (2)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2008-08-14.
  2. The people’s guard dog เก็บถาวร 2012-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - The Star Online
  3. ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดี'ชูวิทย์'หมิ่นฯ'บรรหาร'
  4. “ชูวิทย์” ยืดอกรับ ระบุรับไม่ได้โดนด่าไม่ใช่ลูกผู้ชาย[ลิงก์เสีย]
  5. ""วิศาล" สับ "ชูวิทย์" ป่าเถื่อน บอกคนมีสติปัญญาไม่ทำ ด้าน "ชูวิทย์" ขอโทษที่รุนแรง แต่ยันสื่อไม่มีจรรยาบรรณก่อน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2008-10-02.
  6. “เฮียชู” หนีเข้าวัดทำบุญถวายสังฆทาน หลังตบะแตกใส่พิธีกรช่อง 3[ลิงก์เสีย]
  7. "ชูวิทย์" รับผิดบันดาลโทสะ พร้อม จี้สอบกลับพฤติกรรม "วิศาล"[ลิงก์เสีย]
  8. 'ชูวิทย์'นั่งหน.พรรครักประเทศไทย
  9. [ลิงก์เสีย] “ชูวิทย์” ขอเป็นฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาล จาก MSN
  10. "สื่อนอกชม ชูวิทย์ ตั้งใจทำ ป้ายหาเสียง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-16. สืบค้นเมื่อ 2013-02-03.
  11. ""ชูวิทย์" ทำ ตร.ก้นร้อน โชว์คลิปบ่อนกลางกรุง ระหว่างถล่มนโยบายรัฐบาล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-27. สืบค้นเมื่อ 2013-02-02.
  12. เจ้าพ่อคลิปขู่แฉธุรกิจค้ากาม[ลิงก์เสีย]
  13. คนพอใจ'ชูวิทย์'แฉบ่อนพนัน เชื่อกระตุ้นจนท.ทำงานจริงจัง
  14. สื่อสภาตั้งฉายา ปธ.สภา ค้อนน้อยหมวกแดง คู่กัด เฉลิม-ชูวิทย์
  15. “ชูวิทย์” อภิปรายแล้ว ฉะ "เหลิม" ปมสร้างสถานีตำรวจ
  16. มติกกต. 'ชัยวัฒน์-โปรดปราน' สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
  17. “ชูวิทย์” จี้ กกต.ทวงเงิน “ชัยวัฒน์-โปรดปราน” ขู่ ส.ส.ซ้ำรอยยุบพรรคแน่[ลิงก์เสีย]
  18. "มติ "ประชาธิปัตย์" เอกฉันท์ ลาออก ส.ส.ยกพรรค! "อภิสิทธิ์" ย้ำ "ปู" จุดไฟเผาบ้าน ต้องดับไฟไล่ขโมย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-12. สืบค้นเมื่อ 2013-12-14.
  19. "ชูวิทย์"รักษาคำพูดลาออกตาม ปชป. เชื่อสภาทำงานไม่ได้อีก[ลิงก์เสีย]
  20. 'ชูวิทย์' เชื่อ 'สุเทพ' โค่นระบอบทักษิณไม่ได้ แนะปชป.ลาออกยกพรรค
  21. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๖, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๓๐ ข หน้า ๓๘, ๖ ธันวาคม ๒๕๕๖
  22. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔, เล่ม ๑๒๘, ตอน ๒๔ ข, ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔, หน้า ๑๙๓

แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข

เว็บไซต์
เครือข่ายสังคมออนไลน์