หนังแผ่น (อังกฤษ: direct-to-video) เป็นภาพยนตร์ที่ไม่เคยได้ออกอากาศทางโทรทัศน์หรือออกฉายในโรงภาพยนตร์ แต่ถูกเผยแพร่ครั้งแรกในรูปแบบวีดีโอเทป, วีซีดี, ดีวีดี หรือสื่ออื่น ๆ ไม่มีการกำหนดมาตรฐานความยาว โดยผลิตทั้งรูปแบบวางขายทั่วไปและรูปแบบเช่า ซึ่งแตกต่างกับภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ ที่มีการฉายรอบปฐมทัศน์ทางโทรทัศน์

หนังแผ่นในประเทศต่าง ๆ แก้

ประเทศไทย แก้

หนังแผ่นในประเทศไทย เริ่มต้นตั้งเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2532 และเป็นที่นิยมเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2543 ซึ่งบริษัทที่ผลิตหนังแผ่นมีหลายบริษัทตั้งแต่ ไรท์บียอนด์, อาร์เอส, จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, เอสทีวิดีโอ, แมงป่องและบริษัทอื่นๆ โดยชื่อของหนังแผ่นในไทยเรียกว่า เทเลมูวี่ (Telemovies) เนื่องจากเป็นภาพยนตร์ที่ลงทุนน้อยกว่าภาพยนตร์ที่เข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไป โดยภาพยนตร์หนังแผ่นเรื่อง พระอภัยมณี ที่นำแสดงโดย หญิง จุฬาลักษณ์ ถือเป็นผู้บุกเบิกหนังแผ่นรายแรก ๆ ทำยอดขายในประเทศไทยถึง 8 แสนแผ่น จนทำให้เกิดหนังแผ่นเจ้าอื่น ๆ ตามออกมาอีกมากมาย[1]

อุตสาหกรรมเทเลมูวี่ของประเทศไทยที่นิยมเฟื่องฟูนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวัฒนธรรมมัลติเพล็กซ์ ซึ่งมักจะฉายหนังใหญ่เรื่องเดียวในโรงมากกว่าครึ่งโรง โดยรูปแบบภาพยตร์ที่นิยมทำกันส่วนใหญ่จะทำออกมาในแนว สยองขวัญ, ระทึกขวัญ, คอเมดี้, การสืบสวน, ลึกลับ, ความรัก เป็นต้น

ปัจจุบันหนังแผ่นในไทยไม่มีการทำออกมาแล้วเนื่องจากผลกระทบต่อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และปัญหาของผูัผลิตหนังที่มักจะทำรูปแบบเนื้อหาที่ซ้ำมากเกินไป จนในปัจจุบันรูปแบบเนื้อหาของเทเลมูวี่ปรับเปลี่ยนมาเป็นผลงานต้นฉบับของสื่อส่งผ่านสัญญาณต่อเนื่องแทน

ประเทศญี่ปุ่น แก้

หนังแผ่นในประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า ออริจินัลวิดีโอ (オリジナルビデオ) มีชื่อย่อว่า โอวี (OV) และมีชื่ออีกแบบคือ วิดีโอเอกะ (ビデオ映画), วีซินีมา (Vシネマ), วีซิเน (Vシネ) นอกจากนี้ ออริจินอลวิดีโอครอบคลุมธีมที่หลากหลาย แต่ประเภทเนื้อหาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสามประเภท ได้แก่ ยากูซ่า, การพนัน และ อิโรติก[2] ทั้งนี้ในรูปแบบอนิเมชันถูกเรียกแยกอีกว่า ออริจินัลวิดีโอแอนิเมชัน หรือ โอวีเอ (OVA)

อ้างอิง แก้