โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา

โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา (อังกฤษ: Assumption College Sriracha; อักษรย่อ: อสช, ACS) ก่อตั้งโดย ภราดาเทโอฟาน (ชิน บุณยานันทน์) วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) และเป็นอันดับที่ 5 ใน 14 สถาบันของคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เปิดสอนในระบบสหศึกษา รับทั้งนักเรียนประจำและไป-กลับ

โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา
ที่ตั้ง
แผนที่
ข้อมูล
ชื่ออื่นอ ส ช, ACS
ประเภทโรงเรียนเอกชน
คำขวัญLABOR OMNIA VINCIT
ความวิริยะ อุตสาหะ นำมาซึ่งความสำเร็จ
สถาปนา18 พฤษภาคม พ.ศ. 2487
ผู้ก่อตั้งภราดาเทโอฟาน (ชิน บุณยานันทน์)
ผู้อำนวยการภราดา ดร.พิสูตร วาปีโส
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอนภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน ไทย ภาษาไทย
สหราชอาณาจักร ภาษาอังกฤษ
จีน ภาษาจีนกลาง
ญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่น
สี███ แดง ███ ขาว
เพลงมาร์ชอัสสัมชัญศรีราชา, สดุดีอัสสัมชัญ
เว็บไซต์www.acs.ac.th
(พ.ศ. 2496-2503)
ภราดามงฟอร์ต เดลโรซาริโอ อธิการนักสร้างของยุคลงหลักปักฐาน

ประวัติ แก้

ในระหว่างปี พ.ศ. 2484-2486 ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานที่ต่างๆ ในพระนคร รวมทั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ(บางรัก) ได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดอย่างหนัก โรงเรียนจึงปิดทำการชั่วคราว คณะภราดาเห็นว่าถ้ายังอยู่ในพระนคร อาจได้รับอันตรายจึงได้พยายามหาสถานที่ที่ปลอดภัย เพื่อเปิดทำการสอนต่อไป ในราวเดือนธันวาคม 2485 คณะภราดาจึงได้ตัดสินใจอพยพนักเรียนส่วนหนึ่งซึ่งเป็นเด็กกำพร้า และนักเรียนประจำ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดที่ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ มาเปิดทำการสอนที่ศรีราชาชั่วคราว คณะภราดา ครู และนักเรียนรุ่นแรก เรียกว่า “รุ่นบุกเบิก” ต่างช่วยกันแผ้วถางปรับพื้นป่าให้เป็นโรงเรียน เปลี่ยนไร่ตะไคร้เป็นไร่สับปะรดจนกลายเป็นไร่สับปะรด เอ ซี ที่มีชื่อเสียงเป็นอันมากและนำผลผลิตจากไร่ไปจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้มาจุนเจือโรงเรียน และเลี้ยงดูนักเรียนในระหว่างสงคราม กลางปี พ.ศ. 2486 สงครามโลกสิ้นสุดลงโรงเรียนอัสสัมชัญ (บางรัก) เปิดทำการสอนตามเดิม แต่อาคารนอนของนักเรียนประจำถูกทำลายได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก จึงไม่สามารถย้ายเด็กกำพร้า และนักเรียนประจำจากศรีราชากลับไปอยู่ที่พระนครได้ จึงจำเป็นต้องเปิดทำการสอนที่ศรีราชาต่อไป ประกอบกับเยาวชนในท้องถิ่นสมัครเข้าเป็นนักเรียน ไป – กลับ จำนวนมากขึ้น คณะภราดาจึงตัดสินใจเปิดทำการสอนอย่างจริงจังครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 โดยมีภราดาเทโอฟาน (ชิน บุณยานันทน์) เป็นอธิการผู้ก่อตั้ง และได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้จัดตั้งโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2491 และได้รับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาลเมื่อ วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เป็น 1 ใน 17 สถาบันของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในระบบสหศึกษา รับนักเรียนทั้งประเภทประจำและไป – กลับ

จากโรงเรียนกลางป่า พัฒนาเป็นอุทยาน สืบสานสู่การเป็น “เพชรบูรพา” ร่มรื่นตระการตาในเนื้อที่กว่า 550 ไร่ มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ให้ทันต่อความก้าวหน้าของโลกยุคปัจจุบัน เป็นแหล่งขุมทรัพย์ทางปัญญา ที่ผลิตเยาวชนและบุคลากรสู่การเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่ายิ่งต่อสังคมไทย[1]

ความหมายของตราโรงเรียน แก้

 

ตราสัญลักษณ์ชื่อภาษาอังกฤษของโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชามีลักษณะ เป็นตราโล่สีแดงคาดสีขาว มีตัวอักษร ACS สีน้ำเงินอยู่กึ่งกลาง และมีปีคริสต์ศักราช 1944 สีนำเงินอยู่ใต้ตัวอักษร สีแดงและขาวนี้ให้ความหมายคือชาวอัสสัมชัญศรีราชา ทุกคนต้องรู้จักเสียสละ กล้าหาญ และ ทำในสิ่งที่ดีงาม

ความหมาย
สีแดง ขาว น้ำเงิน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
สีแดง เสียสละ กล้าหาญ อดทน
สีขาว บริสุทธิ์ จริงใจ
ACS Assumption College Sriracha
1944 ก่อตั้ง

ความหมายของตราคณะภราดาเครือเซนต์คาเบรียล แก้

 

ตราของภราดาเซนต์คาเบรียล ซึ่งสถาบันการศึกษาในเครือคณะภราดาเซนต์คาเบรียลทั้งหมดใช้ตรานี้เป็นตราประจำสถาบันร่วมกัน ตรงกลางตราเป็นรูปโล่แบ่งสี่ซีก มีสัญลักษณ์ดังนี้

A.M. และ ช่อดอกซ่อนกลิ่นสีขาว แก้

A.M. มาจากคำละตินว่า "Ave Marie" หมายถึง "วันทา มารี" พระนางมารีย์พรหมจารีมารดาของพระเยซูคริสต์ หรืออีกนัยหนึ่ง A.M. หมายถึง "Alma Mater" หมายถึง "โรงเรียนแม่" — ส่วนดอกซ่อนกลิ่น แสดงถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ที่นักเรียนทุกคนต้องพยายามทำตนให้เป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา และ ใจ อยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม — ในส่วนนี้จึงมีความหมายรวมว่า โรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านเกิดที่ทุกคนเป็นสมาชิกในครอบครัว มีพระนางมารีอาเป็นที่รักเคารพและบูชาร่วมกันไม่แยกแยะว่าใครมีหรือจน ความรักและความสุขที่มีต่อครอบครัว ต่อแม่ที่มีร่วมกันเป็นความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา และใจเสมอ ละรักใคร้สามัคคี ไม่ว่าอยู่ ณ ที่แห่งใด

รูปเรือใบ และ ดาวเหนือเรือ แก้

เปรียบได้กับ "นาวาชีวิต" ที่จะต้องต่อสู้คลื่นลมและแสงแดดไปจนถึงฝั่ง เป็นคติให้ได้คิดเสมอว่า "ชีวิตคือการต่อสู้" มีดวงดาวอยู่ในท้องฟ้าเหนือเรือที่กำลังสู้คลื่นลม หมายถึงแสดงแห่งความหวัง ได้แก่ แสงธรรมแห่งศาสนา กับแสดงแห่งปัญญา จากสรรพวิทยาการที่ได้รับจากโรงเรียนรวมกันเป็นดวง ประทีป ส่องนำชีวิต (คือคนที่อยู่ในเรือ) ไปสู่จุดหมายปลายทางได้ด้วยคุณธรรม และปัญญา

อักษร DS และไม้กางเขน แก้

ย่อจากภาษาฝรั่งเศส "Dieu Seul" หมายความว่า จะทำงานทุกอย่างเพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระเจ้า เป็นคติพจน์ของนักบุญ[หลุยส์ เดอ มงฟอร์ต] ผู้สถาปนาคณะภราดาเซนต์คาเบรียล — โดยอีกนัยหนึ่ง D หรือ Divinity หมายถึงศาสนา ซึ่งเราทุกคนต้องมีศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ, เครื่องหมายไม้กางเขน เป็นเครื่องหมายแห่งความรัก และความเสียสละ ดังที่พระคริสต์ได้ทรงสละชีวิตของพระองค์ด้วยความรัก ที่จะช่วยไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์, S หรือ Science หมายถึงวิทยาการ ความรู้ที่ทำให้เรามีเหตุผล เราทุกคนควรจะมุ่งหาความรู้อยู่เสมอ ยิ่งเรามีความรู้ฝ่ายโลกมากขึ้นเท่าได เราก็ยิ่งควรสนใจหาความรู้ฝ่ายธรรมให้มากขึ้นเท่านั้น

สำหรับพวงดอกไม้ที่ประดับโล่ เป็นมาลัยเกียรติยศที่จะเตือนใจทุกคนให้กระทำความดีให้เชิดชู และจรรโลงไว้ซึ่งเกียรติยศ ชื่อเสียงของสถาบันมิให้เสื่อมสูญสลายไป

ทำเนียบเจษฎาธิการ แก้

2487-ปัจจุบัน

อันดับ รูป รายนาม ยุค วาระ
1
 
เทโอฟาน บุกเบิก 2487-2496
2
 
มงฟอร์ต ปักฐาน 2496-2504
3   โฮโนรา กีฬา 2504-2509
4
 
ซีเมออน รักษา 3 เดือน
5
 
ฟรังซัว ปฏิรูป 2509-2514
6
 
ยอห์น แมรี่ รักษาการณ์ 2514-2517
7
 
หลุยส์ ชาแนล ฟื้นฟู 2517-2520
8
 
เลโอ ประหยัด 2520-2526
9
 
วิจารณ์ ทรงชัย สร้างสรรค์ 2526-2531
10
 
ชุมพล ดีจิต การณ์ 1 ภาคเรียน
11
 
อานันท์ ปรีชาวุฒิ ไฮเทค 2532-2534
12
 
หลุยส์ ชาแนล บูรพา 2535-2540
13
 
ศักดา กิจเจริญ ระเบียบ 2541-2543
14
 
อาจิณ เต่งตระกูล ปฏิรูป 2544-2546
15
 
สุรสิทธิ์ สุขชัย องค์กร 2547-2549
16
 
ศักดา กิจเจริญ บูรณาการ 2550-2553
17
 
เลอชัย ลวสุต อนุรักษ์ 2553-2554
18
 
ศิริชัย ฟอนซีกา พัฒนา 2554-2555
19 ชำนาญ เหล่ารักผล การศึกษา 2556-2561
20 วีรยุทธ บุญพราหมณ์ - 2562-2565
21 พิสูตร วาปีโส 2565-ปัจจุบัน

สถานที่สำคัญ แก้

 
ตึกอำนวยการ

โบสถ์เดล โรซาริโอ “นี่คือคฤหาสน์ของพระเป็นเจ้าและประตูแห่งสวรรค์” สถาปัตยกรรมรูปทรงพัดคลี่แห่งนี้ ภายในออกแบบเหมือนโรงละคร เพราะภายในโบสถ์ไม่มีเสากลาง อาศัยหลักการทางวิศวกรรมทำให้หลังคาและเพดานคงอยู่ได้โดยไม่พังทลายลงมา ด้านในสุดของตัวอาคารเป็นที่ตั้งของแท่นบูชา เหนือขึ้นไปเป็นรูปแกะสลักพระเยซูถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขนขนาด 5.50 เมตร ทำจากไม้สัก สองฝั่งซ้ายขวามีรูปปูนปั้นแม่พระและนักบุญยอแซฟประดับอยู่อย่างสง่างาม ซึ่งรูปปั้นทั้ง 2 องค์นี้ปั้นด้วยปูนขึ้นมาเองตามจินตนาการของช่างปั้นโดยไม่ได้ใช้แม่พิมพ์อะไรเลย โบสถ์เดล โรซาริโอ นับเป็นสถานที่สำคัญของโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา สร้างขึ้นในสมัยภราดามงฟอร์ต ดำรงตำแหน่งอธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2503 ทำพิธีเสกเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 โดย ฯพณฯ พระสังฆราช สงวน สุวรรณศรี โบสถ์เดล โรซาริโอใช้ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณให้กับคณะภราดาและสัตบุรุษที่อาศัยอยู่รอบๆ โรงเรียน ในสมัยก่อนเมื่อมีพิธีการสำคัญ เช่น พิธีแต่งงาน ต้องไปใช้โบสถ์ที่โรงเรียนดาราสมุทรซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามาก จึงเกิดเป็นคำเรียกโบสถ์ที่โรงเรียนดาราสมุทรอย่างติดปากว่า “วัดใหญ่” ส่วนโบสถ์ของอัสสัมชัญศรีราชาจึงเรียกกันว่า “วัดน้อย” และได้มีชื่อเรียกเป็นทางการเมื่อจัดฉลองโบสถ์ครบ 50 ปี ในสมัยภราดาเลอชัย ลวสุต ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ (พ.ศ. 2553) โดยใช้ชื่อศาสนนามของภราดามงฟอร์ต เดล โรซาริโอ มาเป็นชื่อโบสถ์ว่า “โบสถ์ เดล โรซาริโอ”

ตึกวัชรสมโภช สร้างขึ้นในสมัย ภราดาหลุยส์ ชาแนล มี 2 ชั้น ชั้นบนเป็นหอประชุมที่ชื่อว่าหลุยส์ ชาแนล เป็นหอประชุมขนาดใหญ่สุดในโรงเรียน ความจุที่รับได้ 1,000 คน มีเก้าอี้พร้อม ชั้นล่างเดิมเป็นห้องสมุดกลางของโรงเรียนปัจจุบันได้จัดทำให้เป็นห้องพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียน มีชื่อว่า "ห้องเกียรติประวัติอัสสัมชัญศรีราชา" บริเวณด้านหน้าห้องเกียรติประวัติฯ มีห้องรับรอง และห้องประชุมออกัสติน ด้านทิสตะวันออกของตึกประกอบด้วยห้องวารสารและสิ่งพิมพ์ ห้องแต่งตัวสำหรับนักแสดงและทางขึ้นเวที ด้านหน้าประดิษฐานรูปหล่อของเจษฎาธิการมงฟอร์ด

ตึกอำนวยการ เป็นตึกที่มีขนาดเล็กกะทัดรัดที่สุดในโรงเรียน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่แปลกตาอีกอย่างหนึ่งในโรงเรียน เรียกกันว่า ตึกผอม มีทั้งหมด 3 ชั้น ชั้น 1 จะเป็นห้องติดต่อสอบถามของแผนก MLP ชั้น 2-3 เป็นที่พักของคณะภราดา

อาคารโอเซ่ Ose Memorial Building เป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโรงเรียน หลังปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยภราดาศักดา กิจเจริญ อาคารมีทั้งหมด 2 ชั้น ชั้น 1 เป็นสำนักงานของศูนย์พัฒนา ชั้น 2 เป็นห้องประชุม

ยุวลัยเซนต์หลุยส์ แมรี่ มีชื่อเต็มๆว่า “ยุวลัยเซนต์หลุยส์แมรี่ศรีราชา” แต่คนส่วนมากจะเรียกชื่อสั้นๆว่าบ้านเณร มีอธิการท่านแรกชื่อภราดาหลุยส์ ลูโดวิโก มารี เป็นชาวสเปนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ท่านเป็นอธิการที่ยาวนานที่สุดถึง 12 ปี ส่วนนักเรียนที่มาสมัครเป็นยุวนิสซึ่งพวกเราเรียกว่า “เณร” จนติดปากมีตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เณรรุ่นแรกที่เป็นภราดา คือ ภราดาปัญญัติ โรจนารุณ และภราดาพิชิต พิทักษ์ (เสียชีวิตแล้วทั้งสองท่าน) อาคารบ้านเณรหลังแรก เป็นอาคารไม้ ตั้งอยู่ตรงบริเวณสะพานบาสเกตบอลในปัจจุบัน และถูกรื้อถอนไปเอาไม้ไปใช้ที่ขอนแก่น ต่อมาคณะนักบวชคณะคามิลเลี่ยนได้มาสร้างอาคารคอนกรีต 3 ชั้น เป็นโรงพยาบาล เมื่อภายหลังได้ยุติการดำเนินงานด้านโรงพยาบาล ทางโรงเรียนจึงได้ใช้ตึกนี้เป็นที่พักของเณรแทน ให้ชื่อว่า “ตึกลูโดวิโก” สระน้ำบริเวณบ้านเณร เรียกว่า “บ่อวิจารณ์” ถูกขุดในสมัยภราดา วิจารณ์ ทรงเสียงชัย อธิการโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และเป็นที่อาบน้ำของเด็กเณรโดยตักมาอาบตรงปากท่อ ถ้ำแม่พระประจักษ์แห่งนี้สร้างขึ้นปี พ.ศ. 2493 เพื่อเป็นที่ระลึกฉลอง 50 ปี ที่คณะเซนต์คาเบรียลเข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นถ้ำจำลองที่แม่พระประจักษ์ที่เมืองลูรด์ ชื่อถ้ำ “มัสชาเบียล” อยู่หน้าสุสานที่สร้างใหม่ ภายในถ้ำมีสิ่งสำคัญหลายสิ่ง ได้แก่ รูปภราดาที่เสียชีวิตในต่างประเทศ 5 ท่าน และมี 2 ท่าน ที่ได้เชิญศพมาผังที่สุสานแห่งนี้ด้วย อัฐิธาตุนักบุญหลุยส์มารี เดอ มงฟอร์ต ถือเป็นสิ่งที่มีค่าและสำคัญต่อจิตใจของภราดาและเณรเป็นอย่างยิ่ง จากคำบอกเล่าจากผู้ที่รู้ว่าเป็นอัฐิธาตุชั้น 1 (กระดูกหรือชื้นส่วนของร่างกาย) ที่ได้นำมาไว้ที่บ้านเณรแห่งนี้นานมาแล้ว บ้านพักรับรอง La Providence หรือที่เรียกกันติดปากว่า “บ้านใต้ต้นมะขาม” สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์การฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการก่อตั้งบ้านเณรยุวลัยฯ เป็นบ้านพักสำหรับรับรองแขกผู้มาเยี่ยม ประชุมสัมมนา หรือปฏิบัติกิจศรัทธา

ตึกอัสสัมชัญ ที่พักนักเรียนประจำระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่5-6บริเวญข้างตึกประดิษฐานรูปนักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ด ผู้ก่อตั้งภราดาคณะเซนต์คาเบรียล

 
ชีวิตนักเรียนประจำ

ตึกนฤมล เป็นตึกที่พักของนักกีฬาโครงการช้างเผือก

ตึกเคลเม้นต์ เป็นตึกที่พักของเณรยุวลัย

ตึกมงฟอร์ต เป็นตึกเรียน ม.ต้น MLP ลักษณะคล้ายกับตึกเซนต์หลุยส์และตึกเซนต์คาเบรียล เป็นตึกก่ออิฐถือปูนสองชั้น ชั้นล่างเป็นห้องเรียนสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนชั้นบนเป็นห้องเรียนสี่เหลี่ยมคางหมูเพื่อประหยัดพื้นที่ แต่ละห้องของตึกนี้จะมีชื่อเป็นนามสกุลของผู้บริจาคสร้าง เช่น ห้องพิบูลสงคราม ที่จอมพลแปลก พิบูลสงคราม บริจาคสร้างไว้ เป็นต้น ด้านบนเป็นถังน้ำฝน

ตึกเซนต์หลุยส์ เดิมเป็นตึกมัธยมศึกษาตอนต้น ลักษณะคล้ายกับตึกมงฟอร์ตและตึกเซนต์คาเบรียล เป็นตึกก่ออิฐถือปูนสองชั้น ชั้นล่างเป็นห้องเรียนสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนชั้นบนเป็นห้องเรียนสี่เหลี่ยมคางหมูเพื่อประหยัดพื้นที่ ด้านบนเป็นถังน้ำฝน ปัจจุบันปิดตึกปรับปรุง

ตึกเซนต์คาเบรียล เป็นตึกเรียนระดับประถมศึกษา MLP มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ห้องดนตรีไทย ห้องนาฏศิลป์ ลักษณะคล้ายกับตึกเซนต์หลุยส์และตึกมงฟอร์ต เป็นตึกก่ออิฐถือปูนสองชั้น ชั้นล่างเป็นห้องเรียนสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนชั้นบนเป็นห้องเรียนสี่เหลี่ยมคางหมูเพื่อประหยัดพื้นที่ ด้านบนเป็นถังน้ำฝน

ตึกอุดมประเสริฐ เรียกอีกชื่อว่า “ตึกกีฬา” โดยแตกต่างจากตึกในโรงเรียนที่ชื่อเป็นชื่อของนักบุญ ซึ่งเป็นชื่อที่มีความสำคัญทางศาสนาคริสต์ โดยตึกนี้ถูกสร้างเป็นพิเศษโดยไม่เสียเงิน เป็นการสร้างให้เปล่าของนายโกส่าย มอบให้เป็นของแถมแก่ภราดามงฟอร์ต เพราะ นายโกส่ายได้รับเหมาก่อสร้างตึกในโรงเรียนหลายหลัง คงได้กำไรมากพอสมควร จึงได้สร้างตึกเล็กๆ หลังหนึ่งเป็นของแถมให้กับภราดามงฟอร์ต เพื่อไว้ใช้ประโยชน์ทางด้านกีฬา โดยขออนุญาตใช้นามสกุลของตนเป็นชื่อตึก ดังนั้นตึกนี้จึงได้ชื่อว่า “ตึกอุดมประเสริฐ” สร้างเมื่อ พ.ศ. 2500 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 12 เมตร ชั้นบนมีฝาผนังด้านข้างเพียง 2 ด้าน ไม่กันแบ่งเป็นห้องใช้เป็นพื้นที่นั่งดูกีฬาและกิจกรรมสำคัญๆ เช่น พิธีถวายราชสักการะในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันสถาปนาลูกเสือ วันแต่งตั้งกัปตันสีของโรงเรียน และพิธีอื่นๆ ส่วนด้านหลังเป็นบอร์ดการจัดการเล่นออร์แกไนซ์เกมส์ประจำวัน ซึ่งเด็กประจำจะมาดูว่าวันนี้ทีมสีของตนจะไปเล่นกีฬาอะไร แข่งกับสีอะไร สนามอะไร และครูก็จะไปดูว่าจะต้องไปคุมสนามและกีฬาอะไร ป้ายนี้จะใช้จัดแข่งขันตลอดทั้งปี สำหรับชั้นล่างเคยใช้เป็นห้องทำงานของฝ่ายกิจกรรม ผนังด้านหน้าเป็นตู้โชว์ ถ้วย โล่รางวัล ที่ได้รับจากการแข่งขันกีฬาต่างๆ ด้านทิศตะวันตกของตึกเป็นเสาธงชาติขนาดใหญ่สูง 25 เมตร เป็นเสาธงชาติที่สูงที่สุดในภาคตะวันออก ปัจจุบันตึกชั้นล่างใช้เป็นที่อุปกรณ์กีฬาเล่นออร์แกไนซ์เกมส์และอุปกรณ์การสอนวิชาพลศึกษา

ตึกเทโอฟาน เดิมเป็นตึกเรียนของนักเรียนมัธยมปลายและชั้นบนสุดเป็นตึกนอนของนักเรียนประจำ ลักษณะเป็นสองปีกต่อกันคล้ายกับบูมเมอแรง มีบันไดตรงกลาง และบันไดเล็กบริเวณปีกต้านตะวันตก บริเวณหน้าตึกมีชาลายื่นออกไปเชื่อมกับ วงเวียนอนุสาวรีย์ภราดาเทโอฟาน ปัจจุบันเป็นตึกนอนของนักเรียนประจำ

ตึกสุวรรณสมโภช เป็นศูนย์ดนตรีและกีฬามีทั้งหมด 2 ชั้นครึ่ง ชั้น 1 เป็นสนามแบดมินตัน สนามปิงปอง ห้องทูบีนัมเบอร์วัน ห้องเก็บพัสดุ ชั้น 1 ครึ่งเป็น ห้องซ้อมดนตรีไทย ห้องดนตรีสากล ห้องศิลปะ ชั้น 2 เป็นสนามบาสเกตบอลขนาดมาตรฐานโอลิมปิคพร้อมอัฒจันทร์ จุผู้ชมได้ถึง 1,200 คน

ตึกเซนต์ เมรี่ เป็นตึกสามชั้นลักษณะเป็นรูปตัวแอล ด้านหน้าตึกมีสนาม ด้านหน้าตึกประดิษฐานรูปพระนางมารีอาเสด็จสู่สวรรค์ ใช้เป็นตึกเรียนของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 - 6

ตึกโดนาเซียง เป็นตึกเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 3 มี 4 ชั้น มีห้องโสตทัศนูปกรณ์ ห้องดนตรี ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ห้องคอมพิวเตอร์ ด้านหน้าตึกประดิษฐานรูปหล่อภราดาโดนาเซียง ตูลิเย อดีตภราดาที่มีหน้าที่เบิกจ่ายเงินแก่นักเรียนประจำ

ตึกราฟาแอล สร้างขึ้นในสมัยภราดาศักดา กิจเจริญ เป็นที่พักของนักเรียนประจำ ชั้น ม.3 - ม.4มี 2 ชั้น ชั้น 1 เป็นห้องอาบน้ำ ห้องรับประทานอาหาร ห้อง คอมพิวเตอร์ ห้อง Study ชั้น 2 เป็นห้องนอนนักเรียนประจำ 900 คน ห้องพยาบาล ห้องพักมาสเตอร์คุมตึก

เรือนแฟร์ เป็นเรือนพยาบาลภายในโรงเรียน ภายในมีอุปกรณ์ทางการรักษาพยาบาล ห้องพักผู้ป่วย เตียงนอน 30 เตียง

หอพักกาเบรียลลา เป็นหอพักนักเรียนหญิง ม.ปลาย สร้างในสมัยภราดาศักดา กิจเจริญ

โภชนาคารศักดา กิจเจริญ เป็นอาคาร 2 ชั้น ขนาดใหญ่ ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ก่อสร้างขึ้นเพื่อแทนอาคารโภชนาคารโฮโนราหลังเก่าสร้างมานานแล้วประมาณ 24 ปี ลักษณะของอาคารเป็นเหมือนโรงงานก่อสร้างชั่วคราว เพื่อกันการเวนคืนพื้นที่ มีการแก้ไขปรับปรุงดัดแปลงหลายครั้ง มีสภาพร้อนอบอ้าว และยากที่จะรักษาความสะอาด สถานที่คับแคบ เป็นอุปสรรคในการเตรียมปรุงอาหาร และการซื้ออาหารของนักเรียนที่เพิ่มขึ้นมาจำนวนมาก ดังนั้นภราดาศักดา กิจเจริญ จึงสร้างอาคารโภชนาการหลังใหม่ขึ้นบริเวณแนวที่ว่างระหว่างตึกเรยีนา เชลี กับตึกเซนต์เมรี่ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อรองรับนักเรียนและผู้ปกครอง ตลอดจนบุคคลภายนอกที่มาขอใช้สถานที่ของโรงเรียนจัดงานอยู่บ่อย ๆ โดย ภราดาศิริชัย ฟอนซีกา อธิการเจ้าคณะเซนต์คาเบรียลแขวงประเทศไทย ในสมัยนั้น ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2552 โดย พระสังฆราชซิลวีโอสิริพงษ์ จรัสศรี เป็นประธานเสกอาคาร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโภชนาคารศักดา กิจเจริญ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 ปัจจุบันชั้นบนเป็นโรงอาหาร และห้องสมุดกลาง ส่วนชั้นล่าง เป็นที่ทำการของฝ่ายธุรการ - การเงิน ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายนักเรียนประจำ ฝ่ายบริการทั่วไป ฝ่ายอาคารสถานที่ ห้องประชาสัมพันธ์ และสำนักผู้อำนวยการ

ตึกยอห์น แมรี่ เป็นอาคาร 5 ชั้น ขนาดใหญ่ ใช้เป็นอาคารเรียนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ชั้นล่างเป็นที่ทำการของฝ่ายกิจการนักเรียน ห้องควบคุมโสตทันูปกรณ์ ศูนย์ปริ้นเตอร์และคอมพิวเตอร์

อ่างเก็บน้ำหลุยส์ มารี (บ่อวิเชียร) เป็นอ่างเก็บน้ำที่อยู่ภายในโรงเรียน ทำหน้าที่เก็กกักน้ำไว้ใช้ในยามขาดแคลน กลางสระมีน้ำพุ ริมสระประดิษฐานรูปนักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ดผู้ก่อตั้งภราดาคณะเซนต์คาเบรียลและเป็นจุดหนึ่งที่มีความโรแมนติคที่สุดแห่งหนึ่งในโรงเรียน

สนามบาสเก็ตบอลโฮโนร่า (สนามบาสโหล) เป็นสนามบาสเก็ตบอล ขนาด 16 สนาม(จากเดิมที่มี 12 สนาม) ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าตึกสุวรรณสมโภช และโรงแบดมินตัน ซึ่งสนามบาสติดกับสนามสิรินธร สนามนี้เป็นสนามที่ใช้ในการแข่งขัน รวมถึงถ่ายทำภาพยนตร์ต่างๆมากมาย อาทิเช่น เด็กหอ เป็นต้น

สนามกีฬาสิรินธร สร้างในสมัยอธิการมงฟอร์ตจนถึงอธิการโฮโนร่า บริเวณหลังตึกเทโอฟานเคยเป็นสนามกรีฑามาก่อน สนามแห่งนี้เรียกว่าสนามกรีฑาเก่า สร้างขึ้นจากแนวคิดของบราเดอร์อาร์เธอร์ บัฟติสลุยโนที่จะปรับพื้นที่บริเวณนั้นสร้างเป็นสนามสำหรับการแข่งขันกรีฑาสี แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีผู้ชำนาญการเฉพาะทาง สนามที่ได้มาจึงผิดจากมาตรฐานของสนามกรีฑาทั่วไป ซึ่งจะต้องมีทางตรง 80 เมตร ทางโค้ง 120 เมตร แต่สนามนี้มีความยาวทางตรง 100 เมตร ทางโค้ง 100 เมตร ในยุคนั้นยังไม่มีอัฒจรรย์สำหรับนั่งชมหรือเชียร์ เมื่อมีการแข่งขันกรีฑาครั้งใด กองเชียร์ก็จะต้องหาใบมะพร้าวหรือใบไผ่มาทำเป็นซุ้มเชียร์อยู่โดยรอบสนาม ต่อมาในสมัยภราดาหลุยส์ ชาแนล ได้มีการย้ายสนามกรีฑามาสู่สนามแห่งใหม่ที่ด้านหน้าตึกเทโอฟาน เรียกว่าสนามหลุยส์ ชาแนล หลังจากนั้นในสมัยภราดาอานันท์ ปรีชาวุฒิ (ดำรงตำแหน่งอธิการ พ.ศ. 2532-2534) ได้ริเริ่มปรับปรุงสนามให้ดีขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยทำพื้นใหม่ และสร้างลู่วิ่งแบบถาวร สร้างอัฒจรรย์โดยรอบ โดยสร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัยภราดาหลุยส์ ชาแนล (ดำรงตำแหน่งอธิการเป็นวาระที่ 2 พ.ศ. 2535 - 2540) และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสนามอย่างเป็นทางการ และไดรับพระราชทานชื่อสนามว่า “สนามสิรินธร” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในการนี้ทรงปลูกต้นสาธรไว้ที่ริมสนาม แต่เป็นที่น่าเสียดายต้นสาธรต้นนี้ถูกตัดลงในสมัยภราดา ดร.ชำนาญ เหล่ารักผล สนามกรีฑาเก่าและสนามสิรินธร เป็นอีกหนึ่งสถานที่หนึ่งที่มีความทรงจำของนักเรียนอัสสัมชัญศรีราชาประทับอยู่ทุกตารางเมตร เพราะเป็นทั้งสถานที่แข่งขันกีฬาภายใน รวมถึงฝึกซ้อมเพื่อแข่งขันกับภายนอก เป็นพื้นที่ที่บ่มเพาะนักกีฬา สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน และเป็นความภาคภูมิใจของพี่น้องชาวอัสสัมชัญศรีราชาเสมอมา

สนามหญ้าเทียมอุดมประเสริฐหลังจากที่ นายโกส่ายได้ขอสร้างตึกเล็ก ๆ หลังหนึ่งเป็นของแถมให้อธิการมงฟอร์ตเป็นตึกที่ใช้ประโยชน์สำหรับการกีฬา แต่ขออนุญาตใช้นามสกุลของตนเป็นชื่อตึก ตึกนี้จึงได้ชื่อว่า “ตึกอุดมประเสริฐ” ซึ่งได้สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2500 ต่อมาได้มีการปรับพื้นที่บริเวณหน้าตึกอุดมประเสริฐและสร้างเป็นสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐานขึ้นสำหรับให้นักฟุตบอลทีมโรงเรียนได้ใช้ฝึกซ้อมและใช้แข่งขัน โดยมีมาสเตอร์ยงยุทธ วิทยนคร เป็นโค้ช สนามฟุตบอลนี้ยังไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการ แต่ก็เรียกกันว่า “สนามตึกอุดมประเสริฐ” เรียกชื่อนี้กันอยู่หลายปี ต่อมาก็เรียกชื่อนี้ให้สั้นลงโดยตัดคำว่า “ตึก” ออกไป กลายเป็น “สนามอุดมประเสริฐ” ลูกหลานของตระกูลอุดมประเสริฐจึงได้กำไรอีกต่อหนึ่งคือนอกจากตึกจะได้ชื่ออุดมประเสริฐแล้ว สนามฟุตบอลยังได้ชื่อเป็นสนามอุดมประเสริฐอีกด้วย ในสมัยภราดายอนห์ แมรี่ ดำรงตำแหน่งอธิการ ภราดาวีระ วัชรศิริ หัวหน้างานกีฬาในสมัยนั้น ได้มีการปรับปรุงสนามอุดมประเสริฐ เพื่อเป็นสนามฟุตบอลให้ได้มาตรฐาน พื้นที่หน้าดินเป็นลูกรัง ทำให้ปลูกต้อนหญ้าไม่ขึ้น จึงไปขุดดินหลังตึกอัสสัมชัญเป็นบ่อทำปุ๋ย เพื่อนำไปใส่หน้าดินที่บริเวณสนามฟุตบอลตึกอุดมประเสริฐ แล้วปลูกหญ้าแพรก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต้นหญ้าแพรกตายหมด ต่อมาในสมัย ภราดาหลุยส์ ชาแนล มาดำรงตำแหน่งอธิการในวาระที่ 2 ท่านได้ปรับปรุงสนามอุดมประเสริฐครั้งใหญ่ ด้วยการปรับระดับพื้นสนามให้ได้ระดับเดียวกัน ปลูกหญ้าญี่ปุ่น ทั้งสนาม ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านทุนทรัพย์จาก คุณปัญญา - คุณอดิศักดิ์ เบญจศิริวรรณ ศิษย์เก่า ACS รุ่น 2811 และ 3316 ตามลำดับ เพื่อให้สนามอุดมประเสริฐเป็นสนามฝึกซ้อมสำหรับนักกีฬาช้างเผือกในสมัยนั้น และเป็นสนามสำหรับแข่งขันฟุตบอลอีกด้วย ในสมัยภราดาศักดา กิจเจริญ มาดำรงตำแหน่งอธิการ วาระที่ 1 ท่านได้ปรับปรุงสนามอุดมประเสริฐ ด้วยการลอกหญ้าหน้าดินออกจนหมด นำหญ้าแพรกที่สนามไซบีเรียมาปลูก ด้วยการปักลงดินเป็นกอ ๆ แต่ไม่ค่อยได้ผเท่าที่ควร จนมาในสมัยที่ 2 ที่ ภราดาศักดา กิจเจริญ ท่านมาดำรงอีกวาระหนึ่ง ท่านได้ทำการปรับปรุงครั้งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการลอกหญ้าเก่าออกแล้วปูหญ้านวลน้อยเต็มสนาม พร้อม ๆ กับได้ทำการฝังระบบท่อรอบ ๆ สนาม เพื่อสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำหลุยส์ มารีย์ มารดหญ้าสนามอุดประเสริฐ ในสมัย ภราดา ดร.ชำนาญ เหล่ารักผล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ท่านได้เล็งเห็นว่า สนามฟุตบอลตึกอุดมประเสริฐ ซึ่งเป็นสนามฟุตบอลที่นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชาใช้ในการเล่นฝึกซ้อม และแข่งขัน อยู่คู่กับโรงเรียนมาตลอดกว่า 60 ปี มีการปลูกหญ้าทดแทนมาหลายครั้งแต่ก็จะตายหมดเมื่อถึงหน้าหนาว ดังนั้นท่านจึงปรับปรุงสนามอุดมประเสริฐใหม่อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ทำเป็นสนามหญ้าเทียม เพื่อจะใช้ประโยชน์ได้ตลอดปีโดยไม่ต้องกังวลว่าหญ้าจะตายอีกเมื่อใด ทั้งนี้ทางโรงเรียนได้รับการสนับสนุนทุนทรัพย์จากศิษย์เก่าและผู้ปกครองนักเรียนปัจจุบัน และบุคคลทั่วไป ให้การดำเนินการก่อสร้างสนามหญ้าเทียมอุดมประเสริฐ และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สนามหญ้าเทียม Assumption Soccer Fields สร้างขึ้นในสมัย ภราดา ดร.ชำนาญ เหล่ารักผล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ เป็นสนามหญ้าเทียมสนามที่ 2 ของโรงเรียน มี 4 สนาม

สนามไซบีเรีย เป็นสนามหญ้าหลังโรงเรียน บริเวณหลังตึกโดนาเซียง ติดกับทางรถไฟ เป็นสนามโล่งอเนกประสงค์

ค่ายลูกเสือลูโดวีโก เป็นค่ายลูกเสือที่มีพร้อมด้วย อุปกรณ์การละเล่น รวมถึงที่พัก และที่ใช้สำหรับการฝึกค่ายลูกเสือ อย่างสมบูรณ์แบบ

ศาลาเฉลิมพระเกียรติครองสิริราชย์สมบัติ 50 ปี เรียกสั้นๆว่าศาลาแปดเหลี่ยม เป็นศาลาที่ใช้ สำหรับจัดงานกิจกรรมต่างๆ อย่างกิจกรรม ร้องเพลง เล่นเกมส์ต่างๆ และยังเป็นสถานที่ถ่ายทำ เรื่องรถโรงเรียน ของคุณบี พีระพัฒน์ เถรว่อง เดิมศาลาแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของสระว่ายน้ำเลโอ และอยู่ด้านหลังสนามสิรินธร แต่ขณะนี้ศาลาแห่งนี้ได้ย้ายไปอยู่ที่ค่ายลูกเสือลูโดวีโดแทน และตรงที่ตั้งศาลาแปดเหลี่ยมเก่าได้ทำการสร้างสนามบาสเก็ตบอลหญิงทั้งหมด 3 สนามขึ้นแทน

สระว่ายน้ำเลโอ เป็นสระว่ายน้ำโอลิมปิคขนาดมาตรฐาน สร้างในสมัยภราดาเลโอ พร้อมอัฒจันทร์จุได้ 1200 คน อีกทั้งยังมีสระว่ายน้ำในร่มและกลางแจ้ง รวมถึงสระว่ายน้ำสำหรับเด็กอีกด้วย

สุสานภราดา สุสานภราดา เดิมเป็นสุสานที่ถูกย้ายมาจากสีลม เป็นที่ฝังศพของคณะภราดา สุสานเดิมอยู่หน้าถ้ำแม่พระ แบ่งเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งซ้าย เป็นศพของภราดายุคแรก ฝั่งขวาเป็นที่ฝังศพของภราดายุคหลัง แต่ภายหลังได้มีการย้ายสุสานมาสร้างใหม่ตรงบริเวณโรงแบดมินตันซึ่งถูกรื้อไป มีศาลาใหญ่เป็นโถง ติดรูปภราดา ด้านหน้ามีรูปพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนชีพ

โรงแบดมินตันเก่า เมื่อก่อนเป็นโบสถ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่มาในสมัยของภรามงฟอร์ต ท่านได้ทำการสร้างโบสถ์แห่งใหม่ขึ้น เลยย้ายโบสถ์เก่านี้ไปไว้โบสถ์ใหม่ และทำโบสถ์เก่านี้ปรับเปลี่ยนเป็นโรงแบดมินตัน ซึ่งขณะนี้ก็ยังดำรงไว้อยู่ ซึ่งเป็นอาคารเก่าที่โรงเรียนอนุรักษ์ไว้

 
สนามสิรินธร

รูปเคารพในโรงเรียน แก้

พระเยซูคริสตเจ้าตรึงกางเขน ในโบสถ์ เดล โรซาริโอ

แม่พระอัสสัมชัญ (แม่พระได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์) บริเวณหน้าโรงเรียน

แม่พระแห่งเหรียญอัศจรรย์ ที่หน้าตึกเซนต์แมรี

แม่พระแห่งเหรียญอัศจรรย์ ที่ชั้น 4 ครึ่งของตึกโดนาเซียง

พระนางพรหมจารีมารีอา ที่มุขตึกเซนต์คาเบรียล

แม่พระอัสสัมชัญ (แม่พระได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์) บริเวณหน้าโบสถ์ เดล โรซาริโอ

แม่พระมหาทุกข์ (la pietà) บริเวณมุมสนามบาสเกตบอลโฮโนร่า

อัครเทวดาราฟาแอล หน้าตึกราฟาแอล

นักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต มุมตึกอัสสัมชัญ ทิศตะวันตก

นักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต ที่อ่างเก็บน้ำหลุยส์ มารี

ภราดาเทโอฟาน หน้าตึกเทโอฟาน

ภราดามงฟอร์ด หน้าตึกวัชรสมโภช

ภราดายอห์น แมรี่ หน้าตึกยอห์น แมรี่ (เดิมอยู่หน้าตึกมงฟอร์ด)

ภราดาโดนาเซียง หน้าตึกโดนาเซียง


แผนการเรียน แก้

Assumption College Sriracha ได้มีแผนการเรียนให้เลือกได้หลายอย่างตามความถนัดของเรา ซึ่งแบ่งได้ดังน

ระดับชั้นประถมศึกษา

1. แผนการเรียนปกติ

2. Modern Language Program (MLP) เรียนวิชาวิทย์,คณิต,อังกฤษ เป็นภาษาอังกฤษ

3.Special English Program (SEP) เรียนวิชาอังกฤษ กับครูต่างชาติ แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อยใน 1 ห้องเรียน

  • ระดับชันมัธยมศึกษาตอนต้น

3. แผนการเรียนปกติ

4. Modern Language Program (MLP) เรียนวิชาวิทย์,คณิต,อังกฤษ เป็นภาษาอังกฤษ

5. Special English Program (SEP) เรียนวิชาอังกฤษ กับครูต่างชาติ แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อยใน 1 ห้องเรียน

  • ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

6. แผนการเรียนวิทย์-คณิต จำนวน 5 ห้อง

7. แผนการเรียนศิลป์-คำนวณ จำนวน 1 ห้อง

8. แผนการเรียนศิลป์-ภาษา อังกฤษ,จีน,ญี่ปุ่น,ดนตรี,art จำนวน 1 ห้อง

9. แผนการเรียนศิลป์ - การจัดการธุรกิจ จำนวน 1 ห้อง

10. แผนการเรียนสหศิลป์-นิเทศศาสตร์ จำนวน 1 ห้องเรียน

เพลงโรงเรียน แก้

รายนามศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงที่จบจากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา แก้

รายนามนักกีฬาที่มีชื่อเสียงที่จบจากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°09′56″N 100°56′16″E / 13.165484°N 100.937639°E / 13.165484; 100.937639

  1. "Home". www.acs.ac.th.