โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

เลขที่ 92 ถนนอัสสัมชัญ แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร 10160

โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
Assumption College Thonburi
ข้อมูล
ชื่ออื่นอ.ส.ธ. / A.C.T.
ประเภทเอกชน
คำขวัญวินัยดี กีฬาเด่น เน้นคุณธรรม นำวิชาการ
สถาปนาพ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961)
ผู้ก่อตั้งภราดายอห์นแมรี่ เยซู ซาลาส เอสควิโรส
ผู้อำนวยการภราดา ดร. ศักดา สกนธวัฒน์
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอนภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน ไทย ภาษาไทย
สหราชอาณาจักร ภาษาอังกฤษ
จีน ภาษาจีนกลาง
ญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่น
สี  แดง   ขาว
เว็บไซต์http://www.act.ac.th

คุณไถง สุวรรณทัต ศิษย์เก่าอาวุโสอัสสัมชัญ ผู้ก่อตั้ง หมู่บ้านเศรษฐกิจ มอบที่ดิน 56 ไร่ 1 งาน 9 ตารางวา ปัจจุบันมีขนาด 80 ไร่ 27 ตารางวา

ผู้อำนวยการ คนปัจจุบัน ภราดา ดร.ศักดา สกนธวัฒน์

ตราสัญลักษณ์

แก้

เครื่องหมายโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี มีลักษณะ เป็นตราโล่สีแดงคาดสีขาว กึ่งกลางมีตัวอักษร ACT สีน้ำเงินไขว้กันอยู่ และปีคริสต์ศักราช 1961 สีนำเงินอยู่ใต้ตัวอักษร ซึ่งเป็นปีก่อตั้งโรงเรียน นอกจากนี้ สีที่ปรากฏบนโล่ยังเตือนใจให้รำลึกถึงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์[1]

ความหมาย
ตราโล่ เครื่องป้องกันศาสตราวุธทั้งปวง
สีขาว ความบริสุทธิ์
สีแดง ความกล้าหาญในการต่อสู้อุปสรรคต่างๆ
ACT ย่อมาจาก ASSUMPTION COLLEGE THONBURI

ประวัติ

แก้

โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2504 เป็นโรงเรียนเอกชนลำดับที่ 8 ที่ก่อตั้งโดยเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์(F. Hilaire)และเจษฎาธิการ ภราดายอห์น แมรี่ เยซู ซาลาส เอสควิโรส ภารดาในมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย จากความประสงค์ของภราดาผู้ใหญ่ที่ต้องการให้มีโรงเรียนในฝั่งธนบุรี หรือจังหวัดธนบุรี ในสมัยนั้น เพราะในขณะนั้นโรงเรียนอัสสัมชัญและโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ทั้ง 2 โรงเรียนไม่สามารถรองรับจำนวนนักเรียนที่มาสมัครเข้าเรียนเป็นจำนวนมากได้เพียงพอ ด้วยเหตุนี้เอง เจษฎาธิการ ภราดายอห์น แมรี่ และเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ จึงได้นำเรื่องนี้ หารือกับนายไถง สุวรรณทัต ศิษย์เก่าอาวุโสโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่กำลังเปิดโครงการจัดสรรที่ดินขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย นายไถง สุวรรณฑัต จึงได้บริจาคที่ดินเนื้อที่ทั้งหมด 56 ไร่ 1 งาน 9 ตารางวา ในบริเวณหมู่บ้านเศรษฐกิจ เพื่อก่อสร้างโรงเรียน ต่อมาทางโรงเรียนได้มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ จึงได้มีการจัดซื้อที่ดินเพิ่มอีกเป็นจำนวน 80 ไร่ 27 ตารางวา ทางทิศเหนือของโรงเรียน จนถึงปัจจุบัน [2][3][4]

ในปี พ.ศ. 2504 ภราดาอาซีเนียว อานเกล อินฟานเต ได้ดำรงตำแหน่งอธิการคนแรก และภราดาประทีป ม. โกมลมาศ เป็นครูใหญ่คนแรก ปีการศึกษา 2504 สร้างเรือนไม้ 2 ชั้น คือ บ้านพักภราดาและอาคารเรียน เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ความยาว 104 เมตร มี 13 ห้องเรียน สอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงประโยคมัธยมศึกษาตอนต้น ครูรุ่นแรกของโรงเรียนมีจำนวน 5 ท่าน เปิดเรียนวันแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2504 มีจำนวนนักเรียน 95 คน โดยในวันเปิดเรียน คุณไถง สุวรรณฑัต ได้ทำพิธีมอบที่ดินโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีให้แก่มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2505 ได้มีการสร้างโรงอาหารและได้ต่อเติมอาคารเรียนเรือนไม้ให้มีห้องเรียนมากขึ้น ทำให้อาคารหลังนี้ยาวถึง 176 เมตร นอกจากนั้น ยังได้ขุดคูระบายน้ำรอบโรงเรียนและได้สร้างสนามฟุตบอลและสนามบาสเกตบอล สร้างบ้านพักภราดาขึ้นใหม่ เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น ปรับปรุงบ้านพักภราดาหลังเดิมให้เป็นบ้านพักครู มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์พร้อมกล้องส่องดูดาวขนาดใหญ่ และได้ตั้งชมรมดาราศาสตร์ขึ้น ขณะเดียวกัน ภราดามาร์ติน ประทีป โกมลมาศ และมาสเตอร์ทวี ปัญญา ได้ฝึกฝนเปียโนและไวโอลินให้กับนักเรียน จนหลายคนสามารถสอบวิชาดนตรีของ The Trinity College of Music, London University ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เกรด 4 พร้อมได้รับประกาศนียบัตร ในระหว่างนี้ ภราดามาร์ติน ได้นำไม้ยืนต้น จากกรมป่าไม้โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจากคุณเขตร์ ศรียาภัย ศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ มาปลูกในโรงเรียนกว่า 500 ต้น และในปีการศึกษา 2508 ได้เริ่มสร้างอาคารคอนกรีตทรงญี่ปุ่น ขนาด 10 ห้องเรียน ความยาว 80 เมตร สำหรับนักเรียนที่จะศึกษาในปีการศึกษา 2509 และเรียกอาคารนี้ว่า “ตึกญี่ปุ่น”

ปี พ.ศ. 2508 ได้ปรับปรุงอาคารเรียนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเพิ่มจำนวนห้องเรียน ปรับพื้นที่บริเวณโรงเรียน สร้างสนามบาสเกตบอลคอนกรีต 2 สนาม สร้างสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน สร้างบ้านพักครู 5 หลัง สำหรับครูที่มีครอบครัวแล้ว 4 หลัง และบ้านครูโสด 1 หลัง จำนวน 5 ห้อง ซึ่งเรียกว่า “บ้านชายโสด” ปรับปรุงเรือนไม้ที่เคยใช้เป็นบ้านพักภราดา โดยให้ชั้นบนเป็นห้องเรียนและห้องสมุด นับเป็นห้องสมุดแห่งแรกของโรงเรียน สำหรับชั้นล่างเป็นห้องพักครู จากนั้นได้เริ่มก่อสร้างอาคารคอนกรีต 3 ชั้น 12 ห้องเรียน แต่สร้างไม่ทันเสร็จ ท่านอธิการก็ได้ไปดำรงตำแหน่งอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมาเสียก่อน

ปี พ.ศ. 2510 ได้มีการสร้างอาคาร 3 ชั้น ต่อจนเสร็จ และเปิดใช้ในปีการศึกษา 2512 เรียกว่า “ตึกอำนวยการ” ปัจจุบัน คือ “อาคารเซนต์คาเบรียล” จากนั้นได้ปรับปรุงเรือนไม้ให้เป็นห้องประชุม ห้องสมุด ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องวิทยาศาสตร์ และห้องจำหน่ายอุปกรณ์การเรียน ราวต้นปีการศึกษา 2512 ภราดาราฟาแอล ภักดี ทุมมกานน เห็นว่าถนนตั้งแต่วงเวียนทะเลสาบถึงโรงเรียน เป็นหลุมเป็นบ่อจึงได้รวบรวมทุนทรัพย์จากผู้ปกครองและให้บริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด มาลาดยางมะตอยเส้นทางดังกล่าว เรียกถนนสายนี้ว่า “ถนนอัสสัมชัญ” ต่อมาภราดาเลโอได้สร้างอาคารคอนกรีต 3 ชั้น เรียกว่า “ตึกวิทยาศาสตร์” ปัจจุบันเรียกว่า “อาคารอิลเดอฟองโซ” ใช้เป็นห้องวิทยาศาสตร์ 2 ห้อง ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องพิมพ์ดีด และห้องพักครู เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2514 ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดอาคาร ต่อมา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2515 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศรับรองวิทยฐานะโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ในปีนี้ เริ่มมีการแข่งขันกีฬาประเพณีระหว่างโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีกับโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ในปีการศึกษา 2516 ภราดาราฟาแอล ได้ซื้อที่ดินด้านหลังสนามฟุตบอลใหญ่เพิ่มอีก 10 ไร่ 9 ตารางวา

ปี พ.ศ. 2518 ได้มีการปรับปรุงและพัฒนางานด้านวิชาการครั้งใหญ่ ได้ขยายห้องสมุดขนาด 6 ห้องเรียนให้ได้มาตรฐาน จัดหาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เพื่อให้นักเรียนได้ทดลองด้วยตนเองจำนวนมาก สร้างกำแพงโรงเรียนด้านหน้าและด้านข้างบางส่วน แทนรั้วลวดหนามและรั้วเฟื่องฟ้าเดิม ปรับปรุงโรงเรียนอัสสัมชัญอาชีวศึกษา ที่เลิกกิจการไปให้เป็นนวกสถาน ปรับปรุงเป็นหอพักนักเรียนประจำ นำบ้านมงฟอร์ตมาเป็นสถานที่อบรมเยาวชนที่จะบวชเป็นภราดา ก่อนที่จะส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย ในระหว่างนี้ ภราดาราฟาแอลได้ซื้อที่ดินที่ติดกับพื้นที่ด้านหลังโรงเรียนเพิ่มอีก 11 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา และได้ซื้อที่ดินแปลงเล็ก ๆ เพิ่มอีก จนกระทั่งปัจจุบัน โรงเรียนมีเนื้อที่ทั้งหมด 80 ไร่ 27 ตารางวา

ปี พ.ศ. 2520 ได้มีการเปลี่ยนวันหยุดประจำสัปดาห์ จากเดิมหยุดวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ มาเป็นหยุดในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ในปีการศึกษา 2522 ได้ก่อตั้ง กองลูกเสือสำรองและสามัญขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาปีการศึกษา 2523 มาสเตอร์ทวี ปัญญา ได้แต่งเพลงมาร์ชอัสสัมชัญธนบุรี และภราดาพีรพงศ์ ดาราไทย ได้ตั้งคณะโขนขึ้น ในส่วนของอาคารสถานที่ ได้ปรับปรุงสนามตะกร้อ สร้างสนามกรีฑา สนามเทนนิส ห้องน้ำนักเรียน ถนนรอบโรงเรียน และหอพักนักเรียนประจำ ขยายจำนวนห้องเรียนจากชั้นละ 4 ห้องเรียน เป็น 5 ห้องเรียน รื้ออาคารไม้หลังแรกออก และได้เริ่มก่อสร้างอาคารเรียนคอนกรีต 4 ชั้น 21 ห้องเรียน สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2525 เรียกว่า “อาคาร 4” ปีการศึกษา 2525 เปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทย์และสายศิลป์ อย่างละ 1 ห้อง เป็นปีแรก ซึ่งนักเรียนรุ่นแรก สามารถสอบเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาลได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังได้ตั้งวงดนตรีไทยวงใหญ่ขึ้น ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดดนตรีไทยประเภทขับร้องเดี่ยว ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ทั่วประเทศ ได้รับรางวัลโล่ชนะเลิศจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ต่อมา ได้ตั้งวงโยธวาทิตพร้อมเครื่องดนตรีใหม่ครบชุด 36 ชิ้น ขึ้นเป็นครั้งแรกในโรงเรียน

ปี พ.ศ. 2526 ได้มีการจัดทำแผนแม่บทระยะ 12 ปี ได้สร้างอาคารเรียน 4 ชั้น ทางด้านทิศตะวันออกเชื่อมกับอาคาร 4 เดิม แล้วเสร็จในปีการศึกษา 2529 ซึ่งเป็นโอกาสที่โรงเรียนก่อตั้งครบ 25 ปี และได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานพิธีเปิด ภราดามีศักดิ์ ยังได้ก่อตั้งสมาคมผู้ปกครองและครูฯ ก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่าอัสสัมชัญธนบุรี สร้างกำแพงด้านข้างและด้านหลังโรงเรียนต่อจากของเดิม ทำให้โรงเรียนมีกำแพงล้อมรอบโรงเรียนครบทั้ง 4 ด้าน สร้างโรงอาหารขนาดมาตรฐาน 2 ชั้น เริ่มจัดทำวารสารประจำโรงเรียน จัดให้มีงานราตรีสัมพันธ์เป็นครั้งแรก จัดตั้งโรงเรียนคอมพิวเตอร์อัสสัมชัญธนบุรี สร้างสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกเป็นสระลอย 2 สระ โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานพิธีเปิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2535 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อสระว่ายน้ำว่า “เทิดเทพรัตน์’ 36” ในวโรกาสที่พระองค์ท่านมีพระชนมายุ 36 ชันษา นอกจากนั้น ยังได้สร้างเรือนไทยคีตวัณณ์ สำหรับฝึกซ้อมวงดนตรีไทย ได้ปรับปรุงวงโยธวาทิตโดยจัดหาเครื่องดนตรีเพิ่มเติมหลายชิ้น และมีการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง จนได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันวงโยธวาทิตนักเรียน นิสิต นักศึกษา เขตการศึกษากรุงเทพมหานคร ประจำปีการศึกษา 2533 นอกจากนั้นยังได้รับเชิญให้ไปร่วมแสดงงานดนตรีเยาวชน 90 ในโอกาสที่ประเทศสิงคโปร์เฉลิมฉลองเอกราชครบ 25 ปี ได้สร้างสนามกรีฑาขนาดมาตรฐานพร้อมอัฒจันทร์และกระถางคบเพลิง ปรับปรุงสนามฟุตบอล สร้างอาคารมัธยมศึกษาตอนปลายชั่วคราว สร้างอาคารเก็บพัสดุครุภัณฑ์ต่าง ๆ ปรับปรุงประตูทางเข้า พัฒนาโรงอาหารจนได้รับรางวัลโรงอาหารมาตรฐานระดับดีเยี่ยม ริเริ่มให้มีการแข่งขันกีฬาครูสัมพันธ์อัสสัมชัญ 4 สถาบัน ขึ้นเป็นครั้งแรก

ปี พ.ศ. 2534 ได้มีการปรับปรุงแผนแม่บทในการพัฒนาโรงเรียน ปีการศึกษา 2538 ได้ร่วมกับ The Bell Educational Trust จากสหราชอาณาจักร เปิดศูนย์ภาษาอังกฤษอัสสัมชัญธนบุรี Bell โดย ดร.เจริญ คันธวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานพิธีเปิด นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างจริงจัง โดยให้บุคลากรทุกคนอบรมการใช้คอมพิวเตอร์ ปีการศึกษา 2539 ในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ร่วมกับคณะผู้ปกครอง ได้ร่วมกันสมทบทุนสร้างสวนกาญจนาภิเษก จากนั้น ได้เริ่มโครงการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้โดย นาย ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ และพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู อัครมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ เป็นประธานพิธีเสกอาคาร และเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2540 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดอาคาร และได้พระราชทานนามอาคารหลังนี้ว่า “รัตนบรรณาคาร” แปลว่า อาคารแห่งหนังสือที่รุ่งเรือง พร้อมกันนี้ โรงเรียนได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายห้องทรงงานบนชั้น 3 ของอาคาร โดยได้รับพระราชานุญาต ให้ใช้นามห้องนี้ว่า “สิรินธร” และในคราวเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ มีพระกรุณาธิคุณผสมเกสรดอกกล้วยไม้ระหว่างพันธุ์มาดามวิภากับพันธุ์เขียวบางเลน และได้พระราชทานนามกล้วยไม้ที่ผสมนี้ว่า “พันธุ์อัสสัมชัญ” ปีการศึกษา 2540 ได้เปิดการเรียนการสอนแบบสหศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรก โดยรับนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นปีแรก จากนั้นได้ก่อสร้างอาคาร “ราฟาแอล” โดยมีศิษย์เก่า คือ ฯพณฯ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ และมุขนายกยอร์ช ยอด พิมพิสาร เป็นประธานพิธีเสกอาคาร จากนั้น ได้ก่อสร้างอาคารหอประชุมหลุยส์ มารี เดอ มงฟอร์ต ในโอกาสที่ก่อตั้งโรงเรียนครบ 36 ปี นับได้ว่ายุคนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งการเข้าสู่ยุคการศึกษาสมัยใหม่อย่างแท้จริง

ปี พ.ศ. 2541 ได้มีการก่อสร้างหอประชุมหลุยส์ มารี เดอ มงฟอร์ต จนแล้วเสร็จ ในปีการศึกษา 2542 มุขนายกไมเกิ้ล ประพนธ์ ชัยเจริญ ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีเสกอาคาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานพิธีเปิด เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2543 จากนั้น ภราดาเลอชัยได้ก่อสร้างอาคารบ้านพักภราดาหลังใหม่แทนบ้านพักภราดาหลังเดิม ก่อตั้งทุน “ลวสุต” เพื่อมอบให้กับนักเรียนในชุมชนโดยรอบที่เรียนดีแต่ขาดแคลน สร้างบรรยากาศคาทอลิกโดยการติดตั้งรูปปั้นพระนางมารีย์พรหมจารี รูปปั้นนักบุญหลุยส์ เดอ มงฟอร์ ตามบริเวณต่าง ๆ ของโรงเรียน ทำรูปหล่อคุณไถง สุวรรณฑัต และภราดายอห์น แมรี่ ถมคลองทำถนนรอบโรงเรียน ปรับปรุงสถานที่ด้านหลังโรงเรียนให้เป็นสวนเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฏีใหม่ สร้างแปลงนาสาธิต ตลอดจนสร้างแหล่งเรียนรู้ที่มีสัตว์เลี้ยงนานาชนิด สนับสนุนการแข่งขันกีฬาฟุตบอลภายใน ให้ชื่อว่า “ตากสินคัพ” ริเริ่มโครงการนักกีฬาฟุตบอลช้างเผือกโดยใช้หอพักเดิมที่อยู่ในบริเวณวัดนักบุญหลุยส์ฯ เป็นที่พัก สนับสนุนพัฒนาห้องสมุดเป็นอย่างมาก โดยปีการศึกษา 2543 สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ได้มอบรางวัลห้องสมุดดีเด่นระดับประถมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษให้กับโรงเรียน นอกจากนั้น ยังได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ได้จัดตั้งกองทุนต่าง ๆ อาทิ กองทุนสวัสดิการครู กองทุนถาวรครูไม่สูญสลาย กองทุนครูเกษียณ และเริ่มก่อสร้างอาคาร “ยอห์น แมรี่”

ปีพ.ศ. 2544 ได้มีการสร้างอาคาร “ยอห์น แมรี่” จนแล้วเสร็จ เพื่อเป็นสถานที่จำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเขียน ห้องอาหาร ที่ทำการสมาคมผู้ปกครองฯ ที่ทำการสมาคมศิษย์เก่า และห้องประชุม ปีการศึกษา 2544 สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ได้มอบรางวัลห้องสมุดดีเด่นระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ให้กับโรงเรียน ปรับปรุงอาคาร “มาร์ติน” ให้เป็นหอพักนักกีฬาฟุตบอลช้างเผือก ส่งเสริมสนับสนุนทีมนักกีฬาฟุตบอลจนกระทั่งได้รับชัยชนะหลายรายการ ได้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนและประเทศชาติ โดยเป็นตัวแทนโซนเอเชีย ไปแข่งขันในรายการ “แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด พรีเมียร์คัพ 2003 เวิลด์ไฟนัล” ที่รัฐโอเรกอนประเทศสหรัฐอเมริกา ได้อันดับที่ 5 จาก 20 ทีมทั่วโลก สนับสนุนให้คณะครูแต่งเครื่องแบบของโรงเรียน เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับสถาบัน Knoten Welmar สาธารณรัฐเยอรมัน โดยนำเศษกิ่งไม้ใบไม้มาทำปุ๋ยหมักเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ปรับปรุงสวนสัตว์โดยการสร้างกรงนกขนาดใหญ่ และได้ก่อสร้างอาคารเซนต์แอนดรูว์สำหรับเป็นบ้านพักครูต่างชาติ ได้เช่าสถานที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลที่คลองทวีวัฒนา เพื่อทำสนามฝึกซ้อมให้กับนักกีฬาฟุตบอลช้างเผือก นอกจากนั้นยังได้นำหลักสูตรภาษาจีนเข้ามาสอนในโรงเรียน และเริ่มวางแผนการเปิดหลักสูตร English Program

ปี พ.ศ. 2547ได้มีการเปิดสอนหลักสูตร English Program ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประถมศึกษาปีที่ 4 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 และได้ก่อสร้างอาคารบ้านพักครูต่างชาติเพิ่มอีก 1 หลัง สร้างศูนย์การเรียนสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 ปรับปรุงพื้นที่ใต้สระว่ายน้ำให้เป็นครัวลีลาวดี สร้างห้องเบเกอรี่ ห้องเซรามิค และห้องเบญจรงค์ สร้างแหล่งเรียนรู้โดยรอบโรงเรียน อาทิ สร้างโรงเพาะเห็ด วังมัจฉา โรงทำกระดาษ ไบโอดีเซล และปลูกพืชไฮโดรโปรนิก จัดตั้ง ACT Bank พัฒนาโรงเรียน จนได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานระดับประถมศึกษาขนาดใหญ่ ในปีการศึกษา 2548 และนายชวิน ชัยวัฒน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถทำคะแนนรวมเป็นที่ 1 ของประเทศในคณะแพทยศาสตร์ ต่อมาในปีการศึกษา 2549 ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่อีกครั้ง


ปี พ.ศ. 2550 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานใหม่ พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ นำเอา Interactive Board พร้อมระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย ตลอดจนจอ LCD ขนาดใหญ่ มาใช้ในห้องเรียน ปรับเปลี่ยนคอมพิวเตอร์จำนวนมาก นำระบบ School Web-based Information System SWIS มาใช้ในการบริหารงาน ติดระบบวงจรปิดเพื่อความปลอดภัยตามสถานที่ต่างๆ ของโรงเรียน ขยายหลักสูตร English Program ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพิ่มแผนการเรียนสหศิลป์ ดนตรี กีฬา คอมพิวแตอร์ จัดตั้งศูนย์ดนตรีและจัดหลักสูตรเรียนดนตรีในเวลาเรียนให้นักเรียนเลือกเรียนตามความสนใจ ขยายหลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษกับศูนย์ Bell ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และสอนภาษาจีนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นอกจากนั้นยังบูรณาการ การสอนภาษาอังกฤษในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และคอมพิวเตอร์ สนับสนุนให้ครูทำงานวิจัยและเขียนบทความ จัดทำห้องศูนย์การพิมพ์ให้ครูใช้ผลิตสื่อการสอน เปิดรับนักเรียนหญิงในทุกระดับชั้น นับว่าโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีเป็นโรงเรียนสหศึกษาโดยสมบูรณ์ ในด้านอาคารสถานที่ ได้ก่อสร้างอาคารเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเซนต์ปีเตอร์ ในคราวที่โรงเรียนก่อตั้งครบ 48 ปี และสร้างอาคารยิมเนเซียม ในโอกาสฉลอง 50 ปีโรงเรียน นอกจากนั้นยังได้ก่อสร้างอาคาร ลวสุต เป็นที่พักนักกีฬาโครงการพิเศษ (ช้างเผือก) สร้างอาคารสำนักงานฝ่ายอาคารสถานที่สำหรับเป็นที่เก็บวัสดุครุภัณฑ์ต่าง ๆ ปรับปรุงอาคารเซนต์คาเบรียล และอาคารอิลเดอฟองโซ ให้เป็นสถานที่เรียนอย่างเป็นสัดส่วนของนักเรียน English Program ปรับปรุงประตูทางเข้าและแนวรั้วด้านหน้าโรงเรียนใหม่ ปรับปรุงสนามกีฬา ลู่วิ่ง กระถางคบเพลิง และอัฒจันทร์ใหม่ ให้ชื่อว่า “สนามว่องประชานุกูล” ปรับปรุงอาคารมาร์ติน ให้เป็นสถานที่เรียนกิจกรรม ปรับปรุงสระว่ายน้ำ สถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนภูมิทัศน์โดยรอบโรงเรียนใหม่ให้สวยงาม นอกจากนั้น ยังได้นำบทสวดมนต์ภาษาอังกฤษมาใช้ในโรงเรียน ส่งเสริมสนับสนุนให้ฝึกซ้อมวงโยธวาทิตอย่างจริงจัง ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง รณรงค์ให้โรงเรียนเป็นแหล่งอนุรักษ์พลังงาน จนได้รับรางวัลสถานศึกษาดีเด่นด้านพลังงาน สนับสนุนให้นักฟุตบอลเข้าร่วมการแข่งขันในระดับประเทศ ส่งผลให้ทีมฟุตบอลโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ได้เลื่อนชั้นไปเล่นฟุตบอลอาชีพ ลีกดิวิชั่น 2 ในชื่อ “อัสสัมชัญธนบุรี เดอะแพค เอฟซี” นอกจากนั้นนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ยังได้รับรางวัลอื่น ๆ ในระดับชาติอีกมากมายหลายรายการ

ปี พ.ศ. 2556 ในสมัยผู้อำนวยการคนล่าสุดคือ ภราดา ดร.วีรยุทธ บุญพราหมณ์ ได้มีงานสำคัญ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเสด็จมาเป็นองค์ประธาน ในการเปิดอาคารเรียน ยิมเนเซียม และ อาคารเซนต์ปีเตอร์ ซึ่งอาคารยิมเนเซียมเป็นอาคารใหม่ เปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี 2555 เพื่อเป็น โรงอาหาร ห้องเรียนทำอาหาร ห้องเรียนเทควอนโด และชั้นบนเป็น สนามกีฬาในร่ม ซึ่งสามารถดัดแปลงไปเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ได้ และอาคารเซนต์ปีเตอร์ เป็นอาคารมัธยมปลาย เปิดใช้ในปี 2552 ภายในอาคารประกอบด้วยเทคโนโลยี ด้านสื่อการเรียนการสอนครบวงจร อาทิเช่น การใช้จอ iBoard หรือ กระดานเรียนที่ใช้ระบบสัมผัสได้ ในการเข้ามาประกอบการเรียน นอกจากนี้ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำซีรีส์ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น อีกด้วย

ปี พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน ผู้อำนวยการ คือ ภราดา ดร.ศักดา สกนธวัฒน์

ผู้ก่อตั้งโรงเรียน

แก้

เจษฎาธิการ ภราดายอห์น แมรี่ เยซู ซาลาส เอสควิโรส (Reverend Brother John Mary Jesus Salas Esquiroz) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2457[5] ที่เมือง ทาฟารา นาวารา (Tafalla Navarra) ประเทศสเปน สมัครเข้าศึกษาในยุวลัยคณะภราดาเซนต์คาเบรียล และได้ถวายตัวครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2474 จากนั้น ได้อาสามาปฏิบัติหน้าที่มิชชันนารีในประเทศไทย ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 และได้ถวายตัวตลอดชีวิต ที่วัดน้อย โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2481 พ.ศ. 2491 – 2494 เป็นอธิการโรงเรียนเซนต์หลุยส์ พ.ศ. 2496 - 2498 เป็นอธิการโรงเรียนเซนต์คาเบรียล พ.ศ. 2503 – 2505 เป็นอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ พ.ศ. 2498 – 2507 เป็นเจ้าคณะแขวงคณะภราดาเซนต์คาเบรียลไทย พ.ศ. 2508 2514 ผู้ช่วยอัคราธิการคณะเซนต์คาเบรียลที่กรุงโรม พ.ศ. 2515 2516 อธิการอัสสัมชัญศรีราชา พ.ศ. 2517 2540 ประจำอยู่วิริยานุชนสถาน ขอนแก่น พ.ศ. 2540 2546 เกษียณที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี พักเกษียณที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา 23 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ท่านได้มรณภาพอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลคามิลเลี่ยน รวมอายุได้ 88 ปี 7 เดือน 28 วัน จากนั้น ได้นำร่างฝังที่สุสานคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ยุวลัย นักบุญหลุยส์ มารี โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานดินฝังศพ เป็นกรณีพิเศษ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ รับพระราชทาน เชิดชูเกียรติ ราชอาณาจักรสเปน ดังนี้เครื่องหมายเชิดชูเกียรติที่ได้เป็นมิสชั่นนารีดีเด่น จากกระทรวงการต่างประเทศสเปน เมื่อ พ.ศ. 2505 ราชอิสริยาภรณ์ Great Cross of Isabel La Catolica ชั้นที่ 2 Mr.Castielle รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสเปน ราชอิสริยาภรณ์ Great Cross of Isabel La Catolica ชั้นที่ 1 สมเด็จพระราชาธิบดีควน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะ ระหว่างที่ท่าน ดำรงตำแหน่งอธิการเจ้าคณะแขวง ท่านได้ ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง โรงเรียนอัสสัมชัญอุบลราชธานี โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา นักบุญหลุยส์มารี ในปัจจุบัน ก่อสร้างศูนย์กลางแขวงไทยที่ซองทองหล่อ หลังเกษียณอายุแล้วได้ใช้เวลาในการเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติของคณะภราดาในประเทศไทย พระศาสนจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย หนังสืออื่นๆ เช่น 30 ปี ข่าวในวารสาร NOK ซึ่งเป็นวารสารในคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแขวงประเทศไทย

ผู้บริหาร

ที่ ชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง วาระการ
1 ภราดาอาซีเนียว อานเกล อินฟานเต ผู้อำนวยการ 2504 2505
2 ภราดาอิลเดอฟองโซ มารี ซีซีเรีย ผู้อำนวยการ 2506 2507
3 ภราดาอำนวย ปิ่นรัตน์ ผู้อำนวยการ 2508
4 ภราดาอารมณ์ วรศิลป์ ผู้อำนวยการ 2509 2510
5 ภราดาวิศิษฐ์ ศรีวิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ 2511 2512 2513 2514 2515 2516 2517
6 ภราดาบัญชา แสงหิรัญ ผู้อำนวยการ 2518 2519 2520
7 ภราดาสมพงษ์ ศรีสุระ ผู้อำนวยการ 2521 2522 2523 2524 2525 2526
8 ภราดามีศักดิ์ ว่องประชานุกูล ผู้อำนวยการ 2527 2528 2529 2530 2531 2532 2533 2534
9 ภราดาอานันท์ ปรีชาวุฒิ ผู้อำนวยการ 2535 2536 2537 2538 2539 2540 2541
10 ภราดาเลอชัย ลวสุต ผู้อำนวยการ 2542 2543
11 ภราดาเดชาชัย ศรีพิจารณ์ ผู้อำนวยการ 2544 2545 2546
12 ภราดาอาจิณ เต่งตระกูล ผู้อำนวยการ 2547 2548 2549
13 ภราดาชำนาญ เหล่ารักผล ผู้อำนวยการ 2550 2551 2552 2553 2554 2555
14 ภราดา ดร.วีรยุทธ บุญพราหมณ์ ผู้อำนวยการ 2556 2557 2558 2559 2560 2561
15 ภราดา ดร.ชำนาญ เหล่ารักผล (สมัยที่ 2) ผู้อำนวยการ 2562 2563 2564
16 ภราดา ดร.ศักดา สกนธวัฒน์ ผู้อำนวยการ 2565 ปัจจุบัน

สถานที่สำคัญในโรงเรียน

แก้

โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี มีอาคารหลักทั้งหมด 18 อาคาร เป็นอาคารเรียน 8 อาคาร และอาคารอเนกประสงค์ 10 อาคาร [6]

อาคารรัตนบรรณาคาร เป็นอาคารศูนย์การเรียนรู้ที่ครบวงจรขนาดใหญ่ พื้นที่ใช้สอยจำนวน 4 ชั้นโดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อว่า "รัตนบรรณาคาร" อีกทั้งยังมีพระกรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดอาคาร นอกจากนี้ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ และพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู อัครมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ เป็นประธานเสกอาคาร อาคารรัตนบรรรณาคาร ประกอบด้วย ห้องสมุดทวีปัญญา ซึ่งเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่พิเศษใช้พื้นที่บริเวณชั้น 3 และ ชั้น 4 ภายในประกอบไปด้วย ห้องสมุดเสียง ห้องสิรินธร ห้องฉายภาพยนตร์ และห้องพิพิธภัณฑ์ ในส่วนชั้นที่ 1 และ ชั้นที่ 2 ประกอบไปด้วย ห้องประชุมรัตนบรรณาคาร ห้องประชุมไถง สุวรรณฑัต ห้องวิจัยครู สำนักผู้อำนวยการ ห้องโสตทัศนูปกรณ์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องปฏิบัติการชีววิทยา ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ ห้องปฏิบัติการแมคอินทอช ห้องปฏิบัติการวินโดวส์ ตลอดจนห้องปฏิบัติการสาระการเรียนรู้วิชาต่างๆ ห้องเซิร์ฟเวอร์ ห้องเลขาผู้อำนวยการ ห้องแนะแนว ห้องปฏิบัติการเคมี

หอประชุมหลุยส์ มารี เดอ มงฟอร์ต เป็นอาคารศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัย สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณรำลึกบุญคุณของ นักบุญหลุยส์ เดอ มงฟอร์ ผู้ก่อตั้งคณะภราดาเซนต์คาเบรียล โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระกรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร อาคารดังกล่าว ประกอบด้วย ห้องประชุมอเนกประสงค์ขนาดใหญ่พิเศษที่สามารถใช้เป็นได้ทั้งสถานที่ประชุม สนามกีฬาในร่ม และโรงละคร สามารถจุคนได้มากกว่า 2,000 คน นอกจากนี้ยังมีห้องประชุมมงฟอร์ตออดิโธเรียม ตลอดจนศูนย์ดนตรี ซึ่งประกอบด้วยห้องเรียนดนตรีไทยและสากล 20 ห้อง [7]

อาคารอัสสัมชัญ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงเปิดอาคารในงานฉลองครบ 30 ปีของโรงเรียน เป็นอาคารเรียนที่มีความยาวที่สุดในโรงเรียน ขนาดความยาว 135 เมตร ปัจจุบันประกอบด้วย ห้องเรียนนักเรียนระดับชั้น ป.5 - ม.2 จำนวน 40 ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 6 ห้อง ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ 2 ห้อง ห้องเรียนภาษาญี่ปุ่น ห้องเรียนภาษาจีน

อาคารราฟาแอล เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ ภราดาราฟาแอล ภักดี ทุมมกานนท์ ภราดาอาวุโส เป็นอาคารเรียนขนาดใหญ่พิเศษ 6 ชั้น ประกอบไปด้วย ห้องเรียนนักเรียนระดับชั้น ป.1 - ป.4 ห้องเรียนเปียโน ห้องคอมพิวเตอร์ 4 ห้อง ห้องเรียนศิลปะ ห้องแล็บ ห้องเรียนภาษาจีน ห้องเรียนเซรามิค ห้องประชุมราฟาแอล ห้องเสริมทักษะพัฒนาการเรียนรู้ ตลอดจนโถงอเนกประสงค์ขนาดใหญ่[8]

อาคารเทิดเทพรัตน์ 36 เป็นอาคารเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 36 พรรษา โดยได้รับพระกรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร อาคารหลังดังกล่าวประกอบด้วยสระว่ายน้ำขนาด 25 เมตร และ 50 เมตร รวม 2 สระ ตลอดจนห้องเก็บอุปกรณ์พลศึกษา ห้องเก็บอุปกรณ์ศิลปะ ห้องพยาบาล และมีห้องอาหารอยู่บริเวณใต้อาคาร [9]

อาคารอิลเดอฟองโซ เดิมชื่ออาคารอำนวยการ หรืออาคาร 1 ต่อมาตั้งนามเพื่อเป็นเกียรติแด่ ภราดาอิลเดอฟองโซ มาเรีย ซีซีเรีย อดีตผู้อำนวยการคนที่ 2 ของโรงเรียน ประกอบด้วยห้องเรียนนักเรียนระดับชั้น EP (ENGLISH PROGRAM) และห้องปกครอง

อาคารเซนต์คาเบรียล เดิมชื่ออาคารวิทยาศาสตร์ หรืออาคาร 2 ต่อมาตั้งนามเพื่อเป็นเกียรติแด่อัครทูตสวรรค์กาเบรียล องค์อุปถัมภ์คณะภราดาเซนต์คาเบรียล ประกอบด้วยห้องเรียนนักเรียนระดับชั้น EP (ENGLISH PROGRAM) ห้องวิชาการ ห้องการเงิน และห้องธุรการ

อาคารยอห์น แมรี่ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์รำลึกถึงบุญคุณของ ภราดายอห์น แมรี่ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี อาคารหลังนี้เป็นที่ทำการของสมาคมศิษย์เก่าฯ ร้านค้าของโรงเรียน และห้องอาคารครัวต้นสน

อาคารเซนต์แมรี่ เดิมชื่ออาคารเซนต์หลุยส์ เปลี่ยนมาเป็นเซนต์แมรี่ ในสมัยภราดาเลอชัย ลวสุต เพื่อถวายแด่แม่พระ อาคารหลังนี้เป็นโรงอาหารขนาดใหญ่ 2 ชั้น ประกอบด้วยปีกซ้าย และ ปีกขวา โดยแต่ละด้านจะมีร้านอาหารด้านละ 25 ร้าน ส่วนชั้นบนจะเป็นที่รับรองของคุณครูและแขกทางโรงเรียน ในอดีตโรงอาหารชั้นบนจะเป็นของส่วนนักเรียนประถม และชั้นล่างจะเป็นของส่วนนักเรียนมัธยม ปัจจุบันส่วนรับประทานอาหารของนักเรียนประถม ได้ย้ายไปใช้โรงอาหารอาคารโกลเด้นจูบิลี่แล้ว

อาคารเซนต์ยอแซฟ เดิมเป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในงานช่างของโรงเรียน จึงตั้งนามเพื่อเป็นเกียรติแด่นักบุญโยเซฟ ภัสดาพระนางมารีย์ นักบุญองค์อุปถัมภ์กรรมกร ปัจจุบันอาคารหลังนี้เป็น อาคารเรียนโปรแกรมการเรียนภาษาอังกฤษพิเศษจากศูนย์ BELL ประเทศอังกฤษ

อาคารเซนต์มาร์ติน เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ ภราดามาร์ติน ประทีป โกมลมาศ ครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน อาคารหลังนี้เป็นที่พักของนักเรียนโครงการนักกีฬาช้างเผือก

อาคารเซนต์แอนดรูว์ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ภราดาแอนดรูว์ อารมณ์ วรศิลป์ อดีตอธิการของโรงเรียน อาคารหลังนี้เป็นที่พัก สำหรับครูชาวต่างประเทศ เป็นอาคารสูง 12 ชั้น ตกแต่งห้องพักเหมือนโรงแรมชั้นนำ

อาคารลวสุต เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ภราดาชาลล์ โบโรเมโอ เลอชัย ลวสุต อาคารหลังนี้ใช้เป็นบ้านพักนักกีฬาโครงการพิเศษ

อาคารเซนต์ปีเตอร์ เป็นอาคารเรียนขนาดใหญ่ของระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดอาคาร โดยอาคารนี้ตั้งนามเพื่อเป็นเกียรติแด่ภราดาเปโตร อานันท์ ปรีชาวุฒิ อธิการคนที่ 9 ของโรงเรียน ใช้เป็นอาคารเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยตั้งขนาบกับอาคารอิลเดอฟองโซและอาคารเซนต์คาเบรียล ประกอบด้วยห้องการเรียนที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน มีคอมพิวเตอร์ โปรเจกต์เตอร์ สมาร์ทบอร์ด ทุกห้องเรียน โดยในชั้นบนจะเป็นห้องประชุมเซนต์ปีเตอร์

อาคารโกลเด้นจูบิลี่ (ยิมเนเซียม) เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงรองรับกีฬาในร่มประเภทต่างๆได้โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดอาคาร ออกแบบโดยบริษัท ไทยโพลิคอนส์[10] โดยประกอบทั้งหมด 4 ชั้น ได้แก่ ชั้นใต้ดินเป็นลานจอดรถ ชั้น 1 เป็นโรงอาหารขนาดใหญ่ ชั้น 2 เป็น ห้องเรียนกอล์ฟ ห้องเรียนเทคอนโด ห้องเรียนการแสดงจากบางกอกแดนซ์ ห้องคหกรรม ห้องฟิตเนส เป็นต้น ส่วนชั้น 3 เป็นโรงยิมในร่มชื่อว่า มาร์ตินยิมเนเซียม ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนไปเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ได้ โดยสามารถรองรับได้ 1,000 คน

อาคาร Alexis Music Building ศูนย์ฝึกดนตรีวงโยธวาทิตซึ่งเป็นอาคารเรียนและฝึกซ้อมของนักเรียนวงโยธวาทิต

อีกทั้งยังมีสนามฟุตบอลใหญ่ 1 สนาม คือ สนามว่องประชานุกูล (เดิมชื่อสนามแอนดรูว์) สนามหญ้าเทียมบริเวณหน้าอาคารรัตนบรรณาคาร ลานอเนกประสงค์ ACT Sport Arena ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนเป็นสนามฟุตบอลเล็ก 2 สนาม หรือสนามบาสเก็ตบอล 2 สนาม หรือสนามเทนนิสได้ ในส่วนของจะประกอบไปด้วยสวนกาญจนาภิเษก โดยมีอาคารโดมแปดเหลี่ยม สร้างเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ใกล้ๆกันมีสวนสมุนไพร สวนพรรณไม้ในวรรณคดี สวนเศรษฐกิจพอเพียง บ้านดำรงไทย ตลอดจนอาคารขนาดกลางและขนาดเล็กอื่นๆ

อาคาร ACT Sport Arena เป็นสนามกีฬาในร่มอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ สามารถแบ่งเป็น สนามเทนนิสขนาดมาตรฐาน สนามบาสเกตบอล สนามตะกร้อ และสนามฟุตซอลสำหรับการเรียนการสอนได้

อาคารจอดรถ 7 ชั้น สร้างขึ้นบนบริเวณเดิมของที่จอดรถหลังโรงเรียนและสวนพฤษศาสตร์ โดยอยู่ใกล้กับ ACT Sport Arena และอาคารลวสุต เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรโดยรอบในช่วงเช้าและช่วงเย็น เนื่องจากทางโรงเรียนไม่สามารถรองรับรถยนต์ผู้ปกครองที่มีความประสงค์จะจอดภายในบริเวณโรงเรียนได้เพียงพอ จึงดำเนินการก่อสร้างอาคารจอดรถขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ปกครองและนักเรียนรวมถึงบุคลากรในโรงเรียน โดยแบ่งเป็น ชั้น 1 บริเวณจอดรถตู้รับส่งนักเรียนของโรงเรียนและร้านค้า ส่วนชั้น 2 - 7 บริเวณจอดรถของผู้ปกครองและบุคลากร โดยสามารถจอดรถได้ 565 คัน ทั้งนี้ยังมีการสร้างทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคารอีกด้วย โดยเปิดให้ใช้งานในปี 2562

วัดประจำโรงเรียน

แก้

วัดนักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต บางแค เป็นวัดคาทอลิกในเขตปกครองวัดที่ 3 ของ อัครสังฆมณทลกรุงเทพฯ มีคุณพ่อโยเซฟ ศุภศิลป์ สุขสุศิลป์ เป็นเจ้าอาวาส สถานที่ตั้ง 30/37 หมู่บ้านเศรษฐกิจ ถนนเพชรเกษม แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพฯ 10160

โดยวัดนักบุญหลุยส์ฯนี้ ถือเป็นวัดประจำโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เพื่อใช้ทำกิจกรรมที่สำคัญในวันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน และเป็นวัดคาทอลิกให้กับทางชุมชนในเขตบางแคอีกด้วย

แผนผังอาคารภายในโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

แก้

หลักสูตรที่เปิดสอน

แก้

โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี มีแผนการเรียนแบ่งได้ดังนี้ [11]

หลักสูตรต่างๆ

ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6

  1. แผนการเรียน IEP
  2. แผนการเรียน IEP - Bell
  3. แผนการเรียน English Program
  4. แผนการเรียน STEM KIDS

ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3

  1. แผนการเรียน IEP
  2. แผนการเรียน IEP - Bell
  3. แผนการเรียน English Program
  4. แผนการเรียน STEM (ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ตามแนวทาง สสวท และ สอวน)

ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6

  • หลักสูตรสามัญ
  1. แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ (วิทย์ – คณิต)
  2. แผนการเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ (ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ตามแนวทาง สสวท และ สอวน)
  3. แผนการเรียนอังกฤษ – คณิตศาสตร์ (ศิลป์ – คำนวณ)
  4. แผนการเรียนสหศิลป์ ได้แก่ สหศิลป์-จีน , สหศิลป์-ญี่ปุ่น , สหศิลป์-คอมพิวเตอร์ , สหศิลป์ดนตรีและการแสดง , สหศิลป์กีฬา(เฉพาะนักกีฬาโครงการพิเศษของโรงเรียน)
  • หลักสูตร English Program
  1. แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ (วิทย์ – คณิต)
  2. แผนการเรียนอังกฤษ – คณิตศาสตร์ (ศิลป์ – คำนวณ)

แนวทางจัดการเรียนการสอน

แก้

หลักสูตรสามัญ IEP (Interactive English Program) ป.1 - ม.6

ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น (ป.1 - ม.3) เรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เสริมทักษะด้านภาษาโดยบูรณาการการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ใน 5 วิชา ได้แก่ วิชาภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา และคอมพิวเตอร์ มีครูไทยสอนคู่กับครูต่างชาติเพื่อเพิ่มความเข้มข้นด้านภาษาอังกฤษให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลาย เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะครบทั้ง 4 ทักษะ ได้แก่ ฟัง พูด อ่าน เขียน นอกจากนั้นโรงเรียนได้ส่งเสริมทักษะภาษาจีนให้แก่นักเรียนอีกด้วยโดยนักเรียนจะได้เรียนภาษาจีน 2 คาบต่อสัมดาห์ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4 - ม.6) จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เสริมทักษะด้านภาษา โดยบูรณาการการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษใน 5 รายวิชา ได้แก่ วิชาภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา และคอมพิวเตอร์ โดยมีครูต่างชาติสอนคู่กับครูไทย แบ่งแผนการเรียนตามความถนัดของนักเรียน ดังนี้

  • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ เน้นการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาต่อเกี่ยวกับการแพทย์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
  • แผนการเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ตามแนวทาง สสวท. และ สอวน.

เน้นพัฒนานักเรียนทีมีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยมุ่งเน้น การศึกษาในเชิงลึกโดยผนวกเนื้อหาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายร่วมกับเนื้อหาในระดับอุดมศึกษา

  • แผนการเรียนคณิตศาสตร์ – ภาษาอังกฤษ (สายศิลป์คำนวณเน้นภาษาอังกฤษ) เน้นการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เรียน วิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษกับครูชาวต่างชาติเหมาะสำหรับผู้สนใจศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจ การทูต กฎหมาย นิเทศศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บัญชี สถาปนิก อักษรศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ฯลฯ
  • แผนการเรียนสหศิลป์ เน้นการเรียนด้านต่างๆซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกเรียนด้านใดด้านหนึ่งได้ตามความถนัดและความสนใจ แบ่งเป็น ด้านดนตรีและการแสดง คอมพิวเตอร์ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน และกีฬา(แผนกีฬาเฉพาะนักกีฬาโครงการพิเศษของโรงเรียน) เหมาะสำหรับผู้ที่จะศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา มัณฑนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์การจัดการ การท่องเที่ยว คณะพลศึกษา สื่อสารและเทคโนโลยี อักษรศาสตร์ บริหารธุรกิจ กฎหมาย ฯลฯ
  • หลักสูตรสามัญ – Bell (Interactive English Program - Bell) ป.1 - ม.3

โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีได้เข้าร่วมกับสถาบันสอนภาษา The Bell Educational Trust ประเทศอังกฤษ จัดการเรียนการสอนโดยครูต่างชาติที่เป็น Native Speaker ที่มีความเชี่ยวชาญในการสอนภาษาอังกฤษสำหรับคนต่างชาติ ด้วยการจัดนักเรียนเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 15-20 คน ต่อครู 1 คน มีการวัดมาตรฐานการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษโดยการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษตามมาตรฐานของ Cambridge ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก นอกจากนั้นยังเสริมทักษะภาษาอังกฤษโดยบูรณาการวิชาภาษาอังกฤษกับวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา และคอมพิวเตอร์ โดยมีครูไทยสอนร่วมกับครูต่างชาติ นักเรียนแผน IEP-Bell ป.1-ป.6 เรียนภาษาอังกฤษกับ Native Speaker 3 คาบต่อสัปดาห์ และภาษาจีน 2 คาบต่อสัปดาห์ / นักเรียน ม.1-ม.3 เรียนภาษาอังกฤษกับ Native Speaker 5 คาบต่อสัปดาห์ (ไม่มีเรียนภาษาจีน)

  • หลักสูตร English Program ป.1 - ม.6

โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เริ่มเปิดสอนนักเรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนด้านความรู้ภาษาอังกฤษและศาสตร์อื่นๆ โดยคณะครูผู้สอนได้แก่ ครูที่เป็นเจ้าของภาษา (Native English Speakers) ครูชาติอื่นๆ (Non- Native English Speakers) รวมทั้งครูไทยที่มีความสามารถด้านภาษา มีวุฒิการศึกษา และมีประสบการณ์ในการสอนตรงตามวิชาที่สอน โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีได้เปิดสอนหลักสูตร English Program ตั้งแต่ Grade 1-12 (ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6) โดยสอนทุกวิชาเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้นวิชาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทย ได้แก่ ภาษาไทย ศิลปะ นาฎศิลปื ดนตรี ส่วนวิชาสังคมศึกษาและคอมพิวเตอร์ดำเนินการเรียนการสอนตามหลักสูตรของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย


กีฬาสี

แก้

กีฬาสีประจำปี จัดขึ้นเพื่อให้รุ่นพี่และรุ่นน้องได้แข่งกีฬากันอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อีกทั้งยังมีกองเชียร์เป็นสำคัญ สำหรับการรวมคะแนนแข่งขันกีฬา สีที่ได้รับอันดับ 1 ของการแข่งขันฯในปีนั้นๆ จะได้รับรางวัลชนะเลิศ ครอบครองถ้วยรางวัลพระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (เป็นระยะเวลา 7 วัน และต้องนำส่งคืน) ซึ่งถือเป็นเกียรติแก่สีผู้ชนะ ด้วยเหตุนี้จึงมีการแข่งขันที่ดุเดือดและสมานฉันท์เพื่อให้เกิดความพร้อมเพียงกันมากที่สุด โดยกีฬาสีภายในโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี จัดขึ้น ณ สนามว่องประชานุกูล โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี และได้แบ่งออกตามประเภทสีและนักบุญต่างๆ โดยในอดีตจะมีนักบุญฯประจำสีต่างๆเพียงจำนวนสีเพียง 8 สีเท่านั้น และภายหลังทางร.ร.มีจำนวนนักเรียนมากขึ้น และยังมีนักเรียนกลุ่ม EP ทางโรงเรียนจึงเพิ่มอีก 1 ประเภทสี คือ สีขาว นักบุญฯเซนต์ราฟาแอล โดยปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 9 สี ได้แก่

  1. สีชมพู (PINK) นักบุญประจำสี ST.MARY (เซนต์แมรี่)
  2. สีเหลือง (YELLOW) นักบุญประจำสี ST.GABRIEL (เซนต์คาเบรียล)
  3. สีแดง (RED) นักบุญประจำสี ST.MICHAEL(เซนต์ไมเคิล) ในอดีตคือ ST.ILDEFONSO (เซนต์อิลเดอร์ฟองโซ)
  4. สีเขียว (GREEN) นักบุญประจำสี ST.MARTIN (เซนต์มาร์ติน)
  5. สีน้ำเงิน (BLUE) นักบุญประจำสี ST.LOUIS (เซนต์หลุยส์)
  6. สีม่วง (VIOLET) นักบุญประจำสี ST.PETER (เซนต์ปีเตอร์) ในอดีตคือ ST.JOSEPH (เซนต์โยเซฟ)
  7. สีแสด (ORANGE) นักบุญประจำสี ST.ANDREW (เซนต์แอนดรูว์)
  8. สีฟ้า (LIGHT BLUE) นักบุญประจำสี ST.JOHN (เซนต์จอห์น)
  9. สีขาว (WHITE) นักบุญประจำสี ST.RAPHAEL (เซนต์ราฟาแอล)
 

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

แก้

การเดินทาง

แก้

ทางถนนเพชรเกษม มีรถสองแถว "บางแค - หมู่บ้านเศรษฐกิจ" ซึ่งจะวิ่งจากหน้าโรงเรียน ผ่านวงเวียนภายในหมู่บ้านเศรษฐกิจ เลี้ยงขวาออกถนนเพชรเกษม โดยจะไปสิ้นสุดที่จุดกลับรถบริเวณห้างซีคอนบางแค

 
ปอ.สาย 91 (ม.เศรษฐกิจ–สนามหลวง) เดินรถโดยเขตการเดินรถที่ 6

รถโดยสารประจำทางสายปอ.91 (สนามหลวง - หมู่บ้านเศรษฐกิจ) และ รถโดยสารประจำทางสายปอ.509 (4-60) (สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) - หมู่บ้านเศรษฐกิจ) จะมีที่จอดประจำอยู่ที่หน้าวัดนักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต ซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียน

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-14. สืบค้นเมื่อ 2012-07-07.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-10. สืบค้นเมื่อ 2012-07-01.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-12. สืบค้นเมื่อ 2012-07-07.
  4. http://www.act.ac.th/dataedu/2549/school/history.html
  5. http://writer.dek-d.com/Writer/story/view.php?id=232333
  6. http://www.weekendhobby.com/act50th/webboard/Question.asp?ID=99
  7. http://www.icons.co.th/Architectsubdb.asp?name=6831[ลิงก์เสีย]
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-02. สืบค้นเมื่อ 2012-07-07.
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-06. สืบค้นเมื่อ 2012-07-07.
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-08. สืบค้นเมื่อ 2012-07-01.
  11. https://swis.act.ac.th/lib/get_file.php?id=MTZ4NGo0OTRpNGs0YzRzNXU1aDVqNDU0NDZtNHMzajVoNHE1ajUxMzQ0MjN1Mjg0eDJ4Mjg0ZDQzNDQzYzRnNG00ZTRyNHY0YTRvNHY1ODYzNHMzYjNlM3YzNjRnNHI1ajV3NTY0ZDRtNTQzbzQyNHcyMjRtM2s3djczNm43dzdjNnI3eTdkNno4bzYxN3M3bjZlNjA5cDZ3NXk4djc0NzE5bzYwNW83eDdhNnI3djc5NzI5bDZ2NTE5ajZuN3g4bzYwN3k4ZzZoN3M3ajY5N283bjZxNzE5djc4NXo4bzYyNjkyMDlwNnY1NjQwNGM0YTR1Mmo0ODRuNQ..
  • คณะกรรมการจัดทำหนังสืออนุสรณ์ 30 ปี, สามทศวรรษ อัสสัมชัญธนบุรี 2534, อนุสรณ์ 50 ปี 2554

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°43′58″N 100°22′11″E / 13.732788°N 100.369695°E / 13.732788; 100.369695