อัครทูตสวรรค์[1][2] (อังกฤษ: Archangel) ในนิกายโรมันคาทอลิก หรือ หัวหน้าทูตสวรรค์ ในนิกายโปรเตสแตนต์[3] หมายถึงทูตสวรรค์ระดับสูง มีที่มาจากคำในภาษากรีก αρχάγγελος (arch- + angel) พบในความเชื่อของหลายศาสนาทั้งศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ในศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์ส่วนมากถือเหมือนกันว่า อัครทูตสวรรค์ประกอบด้วย มีคาเอล และ กาเบรียล ส่วนหนังสือโทบิตได้นับรวม ราฟาเอล เป็นอัครทูตสวรรค์ด้วย แต่หนังสือเล่มนี้เป็นที่ยอมรับเข้าในสารบบคัมภีร์ไบเบิลเฉพาะในคริสตจักรโรมันคาทอลิกและออร์ทอดอกซ์เท่านั้น ส่วนคริสตจักรในนิกายโปรเตสแตนต์ไม่ยอมรับ

อัครทูตสวรรค์ทั้งสามในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

ชาวโรมันคาทอลิกนิยมฉลองอัครทูตสวรรค์ทั้งมีคาเอล, กาเบรียล และราฟาเอล ในวันที่ 29 กันยายน (ในอดีตวันฉลองทูตสวรรค์กาเบรียลเป็นวันที่ 24 มีนาคม และฉลองทูตสวรรค์ราฟาเอลในวันที่ 24 ตุลาคม) อัครทูตสวรรค์ที่เป็นที่รู้จักในศาสนาอิสลาม คือ กาเบรียล, มีคาเอล, ราฟาเอล และอิสรออีล ส่วนจารีตอื่น ๆ ถือว่าอัครทูตสวรรค์มี 7 องค์ โดยนามจะแตกต่างกันไปตามแหล่งที่มา

ในศาสนาคริสต์

แก้
 
ภาพ อัครทูตสวรรค์มีคาเอลกำราบพญามาร
 
The Annunciation by Paolo de Matteis

คัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่พูดถึงทูตสวรรค์อยู่หลายครั้ง (เช่น ทูตสวรรค์ได้แจ้งสารแก่นางมารีย์ โยเซฟ และเหล่าคนเลี้ยงแกะ และมีทูตสวรรค์อยู่บริการพระเยซูหลังจากทรงถูกมารทดลองในถิ่นทุรกันดาร มีทูตสวรรค์เยี่ยมพระเยซูขณะทรงรับพระทรมาน ทูตสวรรค์ที่ถ้ำฝังพระศพของพระเยซู ทูตสวรรค์ที่ปล่อยนักบุญเปาโลอัครทูตและนักบุญซีโมนเปโตรอัครทูตออกจากคุก) แต่มีการเอ่ยถึง “อัครทูตสวรรค์” เพียงแค่สองครั้งเท่านั้น คือ "อัครทูตสวรรค์มีคาเอล" ในจดหมายของนักบุญยูดา 1:9 และในจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวเธสะโลนิกา ฉบับที่ 1 4:16 ระบุว่าเราจะได้ยิน "เสียงหัวหน้าทูตสวรรค์" ในเวลาที่พระคริสต์เสด็จกลับมา

แต่โดยนัยแล้ว ได้มีการกล่าวถึงชื่อของท่านอัครทูตสวรรค์อยู่อีกหลายครั้งหลายท่าน โดยเอ่ยแต่เพียงนาม เช่น "พระเจ้าผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ทรงฟังคำอธิษฐานของคนทั้งสอง พระองค์ทรงส่งราฟาเอล ให้ไปรักษาทั้งสองคน" หนังสือโทบิต หรือโดยกล่าวถึงเพียงแค่คำว่า 'ทูตสวรรค์' อาจเป็นเพราะผู้บันทึกให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่ตามมาซึ่งมีความสำคัญมากกว่า แต่ตัวผู้นำสารเองก็จัดเป็นผู้มีความพิเศษตามสารที่นำส่งนั้นๆ เช่น พระวรสารฉบับนักบุญลูกา 1:18 "ข้าพเจ้าคือคาเบรียล ซึ่งเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้ามาพูดกับท่านและนำข่าวดีนี้มาแจ้งให้ท่านทราบ แต่ท่านไม่เชื่อคำของข้าพเจ้าซึ่งจะเป็นจริงตามนั้น ดังนั้นท่านจะเป็นใบ้จนกว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นจริง" และที่ท่านอัครทูตสวรรค์คาเบรียลกล่าวแก่พระนางมารีอาว่า "จงยินดีเถิด ท่านผู้ที่พระเจ้าทรงโปรดปราน พระเจ้าสถิตอยู่กับท่าน" ลูกา 1:28

โรมันคาทอลิก

แก้

ศาสนจักรโรมันคาทอลิกนับถืออัครทูตสวรรค์ 3 องค์ และยกย่องให้เป็นนักบุญ ได้แก่

  • มีคาเอล (ไมเคิล, มิเกล, มิคาอิล) (ตามเสียงแต่ละภาษา, เสียงฐานคือ มีคา-เอล)
  • กาเบรียล (คาเบรียล, เกเบรียล) (ตามเสียงแต่ละภาษา, เสียงฐานคือ คาบริ-เอล)
  • ราฟาเอล (เสียงฐานคือ ราฟา-เอล)

โดย เอล หรือ อีล มีความหมายว่า -แห่งพระผู้เป็นเจ้า

ชื่อสุดท้าย ราฟาเอล ถูกระบุไว้ในหนังสือโทบิต บท 12:15 "เราคือราฟาเอล หนึ่งในทูตสวรรค์ทั้งเจ็ดผู้ยืนและรับใช้อยู่เบื้องหน้าพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเป็นเจ้า"

ในหนังสือเอดราสที่สี่ ได้รวมอูรีเอลเป็นอัครทูตสวรรค์ด้วย อย่างไรก็ตามหนังสือเอดราสนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในสารบบไบเบิลของคาทอลิก[4]

โปรเตสแตนต์

แก้

คัมภีร์ไบเบิลฉบับของโปรเตสแตนต์ระบุชื่อทูตสวรรค์เพียง 2 องค์ คือ อัครทูตสวรรค์มีคาเอล และ ทูตสวรรค์กาเบรียล ชาวโปรเตสแตนต์เห็นว่าอัครทูตสวรรค์มีเพียงองค์เดียวเท่านั้นคือมีคาเอล ดังที่ปรากฏคำว่า “อัครทูตสวรรค์มีคาเอล” อย่างชัดเจนเพียงองค์เดียวในสารบบคัมภีร์ฝ่ายโปรเตสแตนต์[5] (Jude 1:9) ส่วนกาเบรียลไม่เคยถูกเรียกว่าอัครทูตสวรรค์เลยแม้แต่ในพระวรสาร

มีชาวโปรเตสแตนต์บางกลุ่ม เช่น เซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์ มีทัศนะคล้ายๆ กันนี้[6] และมีแมทธิว เฮนรี นักเขียนอรรถาธิบายคัมภีร์คณะเพรสไบทีเรียน[7] ซึ่งเชื่อว่าอัครทูตสวรรค์มีคาเอลจริง ๆ แล้วไม่ใช่ทูตสวรรค์ แต่มีฐานะเป็นพระบุตรพระเป็นเจ้า ตามทรรศนะนี้เห็นว่าคำว่าอัครทูตสวรรค์หมายถึง “ผู้เป็นหัวหน้าของทูตสวรรค์” ไม่น่าใช่ “ทูตสวรรค์ที่เป็นหัวหน้า” และถือว่าเป็นตำแหน่งเดียวกับ “หัวหน้าดวงดาว” (ที่ปรากฏในหนังสือดาเนียล 8:11) แม้ว่าคริสตจักรเซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์โดยทั่วไปจะยอมรับแนวคิดนี้ แต่ฝ่ายนิกายแบปทิสต์กลับมีแค่ไม่กี่กลุ่มที่ยอมรับ

ในศาสนาอิสลาม

แก้

ในศาสนาอิสลาม ปรากฏชื่อมลาอิกะฮ์ที่มีบทบาทสำคัญหรืออัครทูตสวรรค์ ดังนี้

  • ญิบรีล (เสียงอาหรับ หรือ กาเบรียล ในภาษาฮีบรู) เป็นอัครทูตสวรรค์ที่มีหน้าที่เปิดเผยกุรอานแก่นบีมุฮัมมัดและสอนท่านอ่าน กาเบรียลมักเป็นที่รู้จักเพราะได้เป็นผู้ติดต่อกับเหล่าผู้เผยพระวจนะ ทูตสวรรค์องค์นี้จึงมีบทบาทสำคัญมากในศาสนาอิสลามดังเห็นได้จากหะดีษหลายเล่มได้เล่าถึงบทบาทของท่านว่าเป็นผู้ถ่ายทอดพระวจนะหลายบทของพระเจ้าสู่บรรดาผู้เผยพระวจนะ
  • มีกาอีล (เสียงอาหรับ หรือ มีคาเอล ในภาษาฮีบรู) ถือว่าเป็นอัครทูตสวรรค์แห่งความกรุณา และทำให้เกิดฝนและสายฟ้าบนโลก
  • อิสรอฟิล ตามหะดีษถือว่าเป็นทูตสวรรค์ที่เป่าเขาและแตรเพื่อประกาศสัญญาณของวันพิพากษา ในภาษาฮีบรูออกเสียงชื่อท่านว่า ราฟาเอล
  • อัศราอีล เป็นทูตสวรรค์แห่งความตาย ส่วนในกุรอาน (Surah al-Sajdah [อัลกุรอาน 32:11]) ระบุว่าเป็นผู้แยกวิญญาณจากร่าง
  • ริดวาน เป็นผู้เฝ้าสวรรค์ทั้ง 7 ชั้น โดยเฉพาะชั้น 'Jannathul Firdaus' ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดสำหรับผู้ที่ทำความดีมากที่สุด และละเว้นจากความชั่วทั้งทางกายและใจ ชื่อของทูตสวรรค์องค์นี้มักถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของเด็กชายมุสลิมในหลายประเทศเพราะเป็นชื่อที่แสดงคุณธรรมอันยิ่งใหญ่
  • มาลิก เป็นผู้เฝ้าขุมนรกทั้ง 7 ขุม
  • มุนกัรและนกีร เชื่อกันว่าทูตสวรรค์สององค์นี้มีหน้าที่สอบถามผู้ตายเมื่อศพลงหลุมทันทีเกี่ยวกับความศรัทธาต่อศาสนา ว่าเขาผู้นั้นเชื่อถึงองค์อำนาจสูงสุดอย่างไร ผู้นำด้านศีลธรรมที่เขาถือเป็นแบบอย่างคือใคร และคัมภีร์อะไรที่เขายึดถือ
  • รกิบและอติ๊ด ทูตสวรรค์สององค์นี้มีหน้าที่บันทึกความดีความชั่วที่แต่ละคนทำมาตลอดชีวิต เชื่อว่ารกิบจะสถิตอยู่บนใหล่ขวาของมนุษย์แล้วบันทึกเฉพาะความดีที่คนนั้นทำ ส่วนอติ๊ดจะสถิตบนใหล่ซ้ายบันทึกเฉพาะเรื่องความชั่ว

อ้างอิง

แก้
  1. พระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่, พิมพ์ครั้งที่ 3, คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนรรม แผนกพระคัมภีร์: กรุงเทพฯ, 2550, หน้า 801
  2. กีรติ บุญเจือ, แก่นปรัชญายุคกลาง, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: กรุงเทพฯ, หน้า 131
  3. "ยูดา 1:9". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-11. สืบค้นเมื่อ 2011-07-01.
  4. "Souvay, Charles. "Esdras." The Catholic Encyclopedia. Vol. 5. New York: Robert Appleton Company, 1909. 5 Aug. 2013". Newadvent.org. 1909-05-01. สืบค้นเมื่อ 2014-03-11.
  5. Graham, Billy (1975), Angels: God's Secret Agents, ISBN 0-8499-5074-0
  6. Questions on Doctrine: Christ, and Michael the Archangel
  7. Matthew Henry’s Concise Commentary at Christnotes.org, commentary on Daniel 12