มลาอิกะฮ์
มลาอิกะฮ์[1] (อาหรับ: ملائكة) เป็นคำพหูพจน์ของ มะลัก (อาหรับ: ملك) ในไทยบางแห่งเรียก เทพบริวาร[2] มีความหมายเดียวกับทูตสวรรค์ในศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์ มีหน้าที่ถวายงานรับใช้แก่อัลลอฮ์[3]
ความเป็นมาของมลาอิกะฮ์
แก้คำว่า มลาอิกะฮ์ มีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับว่า มาลาอิก หมายถึง "บ่าวผู้สวามิภักดิ์ บ่าวผู้รับใช้ผู้ยินยอมจำนนตามพระประสงค์ของاللهพระผู้สร้างแต่เพียงหนึ่ง"
มลาอิกะฮ์จึงเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ที่ถูกสร้างจากรัศมี และมลาอิกะฮ์มีอยู่มากมายหาคณานับ[3]ไม่มีใครรู้จำนวนได้นอกจากอัลลอฮ์ มลาอิกะฮ์ไม่มีเพศ ไม่บริโภค และไม่ดื่ม มลาอิกะฮ์เป็นบ่าวที่ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ์ ไม่บิดพริ้ว ไม่ฝ่าฝืนคำสั่ง ไม่มีความคิดที่จะเลือกทำอะไรหรือทำสิ่งใดโดยลำพังได้ เพราะมลาอิกะฮ์มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ์เพียงอย่างเดียว
มนุษย์ปุถุชนทั่วไปมิอาจมองเห็นมลาอิกะฮ์ได้[3] เว้นแต่นบี เพราะมลาอิกะฮ์มีกายละเอียดเปรียบได้ดั่งลมที่มนุษย์มิอาจเห็นได้ แต่ลมนั้นสามารถทำให้ใบไม้พริ้วไหวได้ แต่มนุษย์สามารถเห็นมลาอิกะฮ์ได้ก็ต่อเมื่อมลาอิกะฮ์จำแลงกายมาเป็นมนุษย์เท่านั้น ด้วยเหตุที่มลาอิกะฮ์เป็นบ่าวผู้ถวายรับใช้ต่ออัลลอฮ์ ศาสนาอิสลามจึงกำหนดให้มุสลิมมีศรัทธาต่อมลาอิกะฮ์ด้วย[3]
มลาอิกะฮ์ทั้ง 10
แก้มลาอิกะฮ์ที่มุสลิมทุกคนควรทราบนั้นมีทั้งหมด 10 ตน
- ญิบรีล (นามูส, รูหูลกุดุส และรูหุลอะมีน) เป็นผู้นำในบรรดามลาอิกะฮ์ทั้งหลาย และเป็นผู้นำวะฮฺยูจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.)ไปยังบรรดานบีและเราะซูล
- มีกาอีล เป็นผู้ควบคุมระบบสุริยจักรวาล และนำปัจจัยยังชีพ (ริชกี) มาให้แก่บรรดามัคลูกทั้งหลาย
- อิซรออีล (มะลิกุลเมาตฺ) ทำหน้าที่ ถอดวิญญาณมัคโละตามเวลาที่กำหนดไว้
- อิสรอฟีล เป่าแตร (ศูรฺ) เมื่อถึงกำหนดวันสิ้นโลก (วันกิยามะฮฺ) และวันฟื้นคืนชีพ
- รอกีบ ผู้บันทึกอันมีเกียรติ อยู่ประจำข้างซ้ายและข้างขวาของมนุษย์ บันทึกความดี ความชั่วของมนุษย์
- อะตีด ผู้บันทึกอันมีเกียรติ อยู่ประจำข้างซ้ายและข้างขวาของมนุษย์ บันทึกความดี ความชั่วของมนุษย์
- มุนกัรฺ ทำหน้าที่ สอบสวนคนตายในสุสาน (กุโบรฺ)
- นะกีรฺ ทำหน้าที่ สอบสวนคนตายในสุสาน
- ริฎวาน คอยดูแลและเฝ้าประตูสวรรค์
- มาลิก (ซะบานียะฮฺ) คอยดูแลและเฝ้าประตูนรก
มลาอิกะฮ์อื่น ๆ
แก้นอกจากนี้อัลกุรอานระบุอีกว่า มีมลาอิกะฮ์จำนวนหนึ่งที่แบกหามพระบัลลังก์ของอัลลอฮ์ ซึ่งอัลกุรอานไม่ได้ระบุว่าในปัจจุบันมีจำนวนเท่าไหร่ แต่ระบุว่า ในวันอาคิเราะฮฺ มลาอิกะฮ์ผู้แบกบัลลังก์มีจำนวน 8 ตน นอกจากนั้นยังมีมลาอิกะฮ์อีกมากมายที่ห้อมล้อมพระบัลลังก์ คอยสรรเสริญสดุดีพระองค์และวิงวอนขอให้อัลลอฮ์ทรงอภัยให้แก่บรรดาศรัทธาชนผู้สำนึกผิด
อัลกุรอานได้เล่าเรื่องของมลาอิกะฮ์ที่ลงมาบอกข่าวดีแก่นบีอิบรอฮีม นบีซะกะรียา และมัรยัมมารดานบีอีซา และมลาอิกะฮ์ที่มาบอกให้ลูฏออกจากเมืองก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น เนื่องจากว่าเมืองโซโดมกำลังจะถูกทำลาย
นอกจากนี้อัลลอฮ์ยังได้ทรงส่งมลาอิกะฮ์ลงมาในนครบาบิโลน เพื่อเป็นข้อทดสอบสำหรับมนุษย์ในเรื่องไสยศาสตร์
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 68
- ↑ "ด้านศาสนา". ปลูกปัญญาเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่น. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-20. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 บรรจง บินกาซัน. อิสลามสำหรับผู้เริ่มสนใจอิสลาม. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสืออิสลาม, 2546, หน้า 23-24