เสือโคร่ง

(เปลี่ยนทางจาก Panthera tigris)

เสือโคร่ง หรือ เสือลายพาดกลอน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอันดับสัตว์กินเนื้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera tigris ในวงศ์ Felidae จัดเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ และเป็นเสือชนิดที่ใหญ่ที่สุดด้วย เสือโคร่งถือเป็นนักล่าระดับสูงสุดของโซ่อาหาร โดยทั่วไปแล้วอาหารหลักของเสือโคร่งคือสัตว์กีบเท้า เช่น กวางหรือหมูป่า เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่รักสันโดษมักมีพฤติกรรมการล่าเหยื่อเพียงลำพัง แต่ต้องการถิ่นที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่เพื่อหาอาหารและเลี้ยงลูก โดยเสือแรกเกิดจะอยู่กับแม่ประมาณสองปีก่อนจะแยกตัวออกไปตั้งถิ่นฐานของตัวเอง

เสือโคร่ง
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Early Pleistocene – Present
เสือโคร่งเบงกอลเพศเมีย ในเขตอนุรักษ์เสือคันฮา, อินเดีย
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix I (CITES)[1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
Mammalia
อันดับ: สัตว์กินเนื้อ
Carnivora
อันดับย่อย: เฟลิฟอเมีย
Feliformia
วงศ์: เสือและแมว
Felidae
สกุล: สกุลแพนเทอรา

(Linnaeus, 1758)[2]
สปีชีส์: Panthera tigris
ชื่อทวินาม
Panthera tigris
(Linnaeus, 1758)[2]
ชนิดย่อย
P. t. tigris
P. t. sondaica
P. t. acutidens
P. t. soloensis
P. t. trinilensis
การกระจายพันธุ์ของเสือโคร่ง ณ ปี 2565
ชื่อพ้อง[3]

เสือโคร่งได้รับการจำแนกสายพันธุ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1758 โดยครั้งหนึ่งเคยอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นตั้งแต่ทางตะวันออกของอานาโตเลีย ไปจนถึงทางตะวันออกของแม่น้ำอามูร์ รวมถึงทางใต้ของเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงหมู่เกาะซุนดา ทว่านับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งอย่างน้อย 93% ได้ถูกคุกคามในภูมิภาคเอเชียตะวันตกและเอเชียกลาง หมู่เกาะชวาและบาหลี และในพื้นที่ขนาดใหญ่ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และจีน โดยในปัจจุบัน เสือโคร่งขยายพันธุ์และอาศัยในป่าเขตอบอุ่นของไซบีเรียไปจนถึงป่ากึ่งเขตร้อนและป่าเขตร้อนในอนุทวีปอินเดีย อินโดจีน และสุมาตรา

เสือโคร่งถูกระบุในบัญชีสัตว์ชนิดใกล้สูญพันธุ์ในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น[4][5] จากการประมาณการใน ค.ศ. 2015 คาดว่าประชากรทั่วโลกเหลือเพียง 3,062 ถึง 3,948 ตัว ในปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรเสือโคร่งมากที่สุด[6] สาเหตุหลักที่ทำให้เสือโคร่งลดจำนวนลงอย่างมาก ได้แก่ การรุกล้ำและการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย รวมถึงการล่าโดยมนุษย์[7] เสือโคร่งยังเป็นเหยื่อของความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า (Human–wildlife conflict) โดยเฉพาะในประเทศที่มีพื้นที่ห่างไกลซึ่งมีประชากรหนาแน่น[8][9]

เสือโคร่งเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีเสน่ห์ดึงดูดและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก มีอิทธิพลในตำนานและนิทานพื้นบ้านในวัฒนธรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ และยังปรากฏในภาพยนตร์และวรรณกรรมสมัยใหม่[10] โดยมักปรากฏบนธง เสื้อผ้า และตัวนำโชคสำหรับทีมกีฬา เสือโคร่งยังถือเป็นสัตว์ประจำชาติของอินเดีย[11] บังกลาเทศ มาเลเซีย และเกาหลีใต้[12]

ที่มาของชื่อ

แก้

ชื่อ Tigre ซึ่งเป็นคำภาษาอังกฤษสมัยกลาง และ Tigras ซึ่งเป็นคำในภาษาอังกฤษเก่า เชื่อว่าทั้งสองคำมาจากการแผลงคำในภาษาฝรั่งเศสเก่า Tigre และภาษาละติน Tigris ซึ่งเป็นการยืมคำมาจากภาษากรีกโบราณ τίγρις หมายถึง เสือ และยังสื่อถึงแม่น้ำไทกริส[13] และยังมีการตั้งสมมติฐานว่าคำว่า Tiger ที่ใช้กันในปัจจุบันอาจมีที่มาจากภาษาเปอร์เซีย Tigra ซึ่งแปลว่า "แหลม หรือ คม" รวมถึงภาษาอเวสตะ Tigrhi ซึ่งหมายถึง "ลูกศร" โดยเชื่อกันว่าผู้คนในยุคนั้นใช้เรียกเสือโคร่งเนื่องจากพฤติกรรมการเคลื่อนที่และการกระโดดที่ว่องไว แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าทั้งสองคำนี้มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับเสือโคร่งโดยตรง[14]

ในส่วนของชื่อสามัญของเสือโคร่ง Panthera มาจากคำภาษาละติน panthera และคำภาษากรีกโบราณ πάνθηρ และภาษาสันสกฤตคำว่า पाण्डर pāṇḍ-ara ซึ่งทั้งหมดมีความหมายว่า "เหลืองซีด และ ขาวซีด"[15]

กายภาพและลักษณะ

แก้

เสือโคร่งมีโครโมโซมจำนวน 38 โครโมโซม (2 N = 38) มีความยาวโดยเฉลี่ยจากหัวไปจนถึงโคนหาง 1.4–2.8 เมตร หางยาว 60–95 เซนติเมตร น้ำหนักตัว 130–260 กิโลกรัม มีขนลำตัวสีน้ำตาลเหลืองหรือเหลืองอมส้ม มีลายสีดำ พาดขวางตลอดทั้งลำตัวเป็นจุดเด่น ซึ่งลายเส้นนี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เสือโคร่งแต่ละตัวจะมีลายไม่เหมือนกันเช่นเดียวกับลายนิ้วมือของมนุษย์ ส่วนหางมีแถบดำเป็นบั้ง ๆ หรือวงสีดำสลับน้ำตาล ปลายหางมีสีดำ โดยไม่มีพู่เหมือนสิงโต (Panthera leo) ซึ่งเป็นสัตว์ในสกุลเดียวกัน หางของเสือโคร่งมีความยาวประมาณครึ่งหนึ่งของลำตัว ใช้สำหรับการทรงตัวโดยเฉพาะเวลากลับตัวกระทันหัน นอกจากนี้แล้วการขยับของหางเสือโคร่งยังสามารถใช้บ่งบอกถึงอารมณ์ ความรู้สึกเหมือนกับแมวบ้าน (Felis catus) ใช้ในการสื่อสารกับเสือโคร่งตัวอื่น[16] ขนใต้คาง คอ และใต้ท้องเป็นสีขาว ขนเหนือบริเวณตาเป็นสีขาวหรือเป็นแถบหรือเส้นสีดำพาดขวางเช่นกัน หลังใบหูมีสีดำและมีจุดสีขาวนวลอยู่ตรงกลาง อายุโดยเฉลี่ย 15–20 ปี

พฤติกรรม

แก้

เสือโคร่งมีพฤติกรรมและอุปนิสัยชอบอยู่เพียงลำพังตัวเดียวโดด ๆ ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์จึงจะจับคู่กัน อายุที่พร้อมจะผสมพันธุ์ได้นั้นคือ 3–5 ปี โดยตัวเมียจะเป็นสัดทุก ๆ 50 วัน และจะส่งเสียงร้องดังขึ้น ๆ และถี่ขึ้นเรื่อย ๆ การผสมพันธุ์ของเสือโคร่งนั้นใช้เวลาเร็วมาก คือ ใช้เวลาเพียง 15 วินาทีเท่านั้น เมื่อเสร็จแล้วตัวผู้จะแยกจากไป และอาจไปผสมพันธุ์กับตัวเมียตัวอื่น ตัวเมียที่ปฏิสนธิแล้วจะตั้งท้องนานประมาณ 105–110 วัน คลอดลูกครั้งละ 1-6 ตัว และจะเลี้ยงลูกเองตามลำพังโดยไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้ประมาณ 2 ปี

ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทึบสลับกับทุ่งหญ้าโล่ง ชอบว่ายน้ำและแช่น้ำมาก ซึ่งแตกต่างจากเสือสายพันธุ์อื่น ล่าเหยื่อได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ส่วนใหญ่ในเวลากลางวันจะนอนพักผ่อน ล่าเหยื่อในเวลาเย็น พลบค่ำ กลางคืน หรือขณะที่อากาศไม่ร้อนจัด มีสายตาที่มองเห็นได้ทั้งที่มืดและสว่าง จะคืบคลานเข้าหาเหยื่อในระยะใกล้ 10–25 เมตร จนกระทั่งได้ระยะ 2–5 เมตร จึงกระโดดใส่ หากเป็นเหยื่อขนาดเล็กจะกัดที่คอหอย หากเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น เก้ง หรือ กวาง จะกัดที่ท้ายทอยหรือหลังด้านบน และอาจจะล่าได้ถึงช้าง ในตัวที่เป็นยังลูกช้างหรือยังเป็นช้างที่ยังเล็กอยู่ โดยเสือโคร่งตัวที่ล่าช้างได้ ต้องเป็นเสือที่มีความเฉลียวฉลาดและพละกำลังพอสมควร จึงจะสามารถล่อลูกช้างให้พลัดออกจากโขลงได้ และเมื่อฆ่าจะกัดเข้าที่ลำคอเพื่อให้ตัดหลอดลมให้ขาด ซึ่งช้างตัวอื่น ๆ จะไม่กล้าเข้าไปช่วยได้แต่ยืนดูอยู่ห่าง ๆ และส่งเสียงร้อง เสือโคร่งจะยังไม่กินช้างหมดภายในทีเดียว แต่จะเก็บหรือทิ้งซากไว้และกลับมากินเรื่อย ๆ ในระยะเวลา 7–10 วัน[17] เสือโคร่งวิ่งได้เร็วกว่า 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสามารถกระโจนในระยะทาง 500 เมตรได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที[18]

เสือโคร่งมักจะกัดที่คอหอยเหยื่อจากทางด้านบนหรือด้านล่าง บางทีกระโดดตะปบหลังและตะปบขาหลังเหยื่อให้ล้มลงก่อนที่จะกัดคอหอย และเมื่อได้เหยื่อแล้ว จะเริ่มกินเนื้อบริเวณคอก่อน แล้วจึงมากินที่ท้องและกล้ามเนื้อหลัง โดยมักจะไม่กินหัวและขาของเหยื่อ เหยื่อที่เหลือจะถูกฝังกลบโดยใช้ใบไม้ หรือกิ่งไม้ หรือเศษหญ้า และตัวเสือโคร่งเองจะหลบนอนอบู่บริเวณใกล้ ๆ นั้น และบางตัวอาจคาบเหยื่อขึ้นไปขัดไว้ตามคบไม้เหมือนเสือดาว (P. pardus) ด้วยก็ได้ เสือโคร่งมีกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรงมาก สามารถตามเหยื่อได้ไกลถึง 100–200 เมตร เพศผู้มีพื้นที่ในการหากินกว้างถึง 200–300 ตารางกิโลเมตร ขณะที่ตัวเมียมีเพียง 60 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น เพื่อเลี้ยงตัวเองและลูกน้อย

นิสัยปกติจะหวงถิ่น โดยการหันก้นปัสสาวะรดตามต้นไม้ โขดหิน เพื่อให้กลิ่นของตนเองติดอยู่ เพื่อประกาศอาณาเขตและสื่อสารกับเสือโคร่งตัวอื่น ซึ่งกลิ่นใหม่จะมีกลิ่นค่อนข้างหอม[16] ในบางครั้งอาจจะข่วนเล็บกับเปลือกไม้ด้วยเพื่อเป็นการลับเล็บและประกาศอาณาเขต หากมีเสือโคร่งตัวอื่นหรือสัตว์อื่นที่มีขนาดใหญ่รุกล้ำมา จะต่อสู้กัน โดยปกติแล้ว เสือโคร่งจะกลัวมนุษย์ จะหลบหนีไปเมื่อพบกับมนุษย์ แต่จะทำร้ายหรือกินเนื้อมนุษย์ได้ เมื่อบาดเจ็บหรือจนตรอก หรือเป็นเสือที่อายุมากแล้วไม่สามารถล่าเหยื่อชนิดอื่นได้ หากได้กินเนื้อมนุษย์ก็จะติดใจและจะกลับมากินอีก จนกลายเป็นเสือกินคน[19]

การแพร่กระจายพันธุ์

แก้

เสือโคร่งกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในทวีปเอเชีย ตั้งแต่เอเชียตะวันออกจนถึงตะวันออกกลาง เป็นสัตว์ที่ปรับตัวให้อยู่ในภูมิประเทศต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี แม้แต่ในพื้นที่หนาวเย็นอย่างไซบีเรีย หรือแห้งแล้งเป็นทะเลทราย อีกทั้งยังอยู่ได้ตามเกาะแก่งกลางทะเลอีกด้วย หากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีรายงานว่า เสือโคร่งสามารถว่ายน้ำข้ามไปมาระหว่างเกาะต่าง ๆ ได้ด้วย

ปัจจุบัน ปริมาณเสือโคร่งในธรรมชาติในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกจำนวน 3,890 ตัว กระจายทั่วไปใน 13 ประเทศของทวีปเอเชีย ได้แก่ บังกลาเทศ, ภูฏาน, กัมพูชา, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, เนปาล, รัสเซีย, เวียดนาม และไทย[20] สำหรับในประเทศไทยมีราว 250 ตัว ส่วนใหญ่กระจายพันธุ์อยู่ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และผืนป่าตะวันตก เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร, อุทยานแห่งชาติแม่วงก์, อุทยานแห่งชาติคลองลาน[21] รวมถึงอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา-บาลา ที่มีปริมาณรองลงมา ส่วนป่าแถบอื่นพบน้อยมาก[20]

รูปแบบสี

แก้
 
เสือโคร่งขาวในสวนสัตว์ไฮฟา
 
เสือโคร่งขาวที่มีแถบดำเชื่อมต่อกัน

เสือโคร่งดำเป็นเสือโคร่งที่มีสีดำ เป็นที่กล่าวถึงมาเป็นเวลาช้านาน แต่ยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่ชัดว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เพราะขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามยังมีรายงานพบเห็นตัวอยู่นาน ๆ ครั้ง หลักฐานหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดคือการพบหนังเสือโคร่งดำในขณะที่มีการจับกุมการค้าหนังสัตว์เถื่อนที่เดลฮีในปี 2535 หนังผืนนั้นมีสีดำสนิทที่บริเวณกระหม่อมและกลางหลัง และค่อย ๆ จางลงไล่ลงมาตามข้างลำตัวจนถึงสุดแถบ หนังผืนนั้นไม่ได้เกิดจากความปกติของเม็ดสีแบบเมลานิซึมอย่างที่พบในเสือดำหรือจากัวร์ดำหรือเสือชนิดอื่น ๆ ซึ่งดำปลอดทั้งตัว แต่เชื่อว่าเป็นลักษณะของยีนอากูตี ซึ่งทำให้แถบดำเชื่อมต่อกัน ตัวอย่างของเสือที่มีลักษณะแบบนี้เคยมีผู้ถ่ายภาพได้ในอุทยานแห่งชาติกันนาของอินเดีย

เสือโคร่งขาวหรือเสือเบงกอลขาว มีรูปร่างเหมือนเสือโคร่งปรกติ แต่มีขนพื้นสีขาวและลายสีน้ำตาลเข้ม ม่านตาสีฟ้า เป็นเสือโคร่งที่คุ้นตาผู้คนมาก สามารถพบได้ในสวนสัตว์เกือบทุกแห่งรวมทั้งสวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ในเมืองไทย แต่อย่างไรก็ตามเสือโคร่งขาวได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของอินเดียแล้ว ตัวสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นเป็นลูกเสือตัวผู้ที่ถูกจับได้มาจากรีวา ในตอนกลางของอินเดียโดยมหาราชาแห่งรีวาในปี พ.ศ. 2494 มีชื่อว่า โมฮัน เสือโคร่งขาวเกือบทั้งหมดที่อยู่ในสวนสัตว์และแหล่งเพาะเลี้ยงต่าง ๆ ทั่วโลกในปัจจุบันล้วนแต่เป็นลูกหลานของโมฮันทั้งสิ้น

เสือโคร่งขาวไม่ใช่เสือโคร่งเผือกแท้ แต่เป็นอาการผิดปรกติที่ผิวหนังมีจำนวนเม็ดสีน้อย เสือโคร่งขาวลำตัวมีพื้นสีขาวปลอดและมีลายพาดกลอนเป็นสีน้ำตาลและมีตาสีฟ้า ซึ่งเรียกว่า chinchilla mutation

 
เสือโคร่งแคสเปียน (P. t. virgata) ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว
 
ภาพถ่ายเสือโคร่งบาหลี (P. t. balica) ตายเพราะถูกล่าด้วยฝีมือมนุษย์ ในปี ค.ศ. 1925

ชนิดย่อย

แก้

เสือโคร่งนั้นจากการที่มีจำนวนประชากรกระจายอยู่ทั่วทวีปเอเชีย ทำให้มีชนิดย่อยมากถึง 9 ชนิดด้วยกัน แต่สูญพันธุ์ไปแล้วถึง 3 ชนิด ส่วนที่เหลือก็อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์หรือใกล้สูญพันธุ์ในขั้นวิกฤตแทบทั้งสิ้น

โดยในแต่ละชนิดย่อยนั้น จะแตกต่างกันที่ขนาดรูปร่างและลวดลายบนลำตัว แต่พฤติกรรมและนิเวศวิทยาจะไม่แตกต่างกันมากนัก

ชื่อภาษาไทย ลักษณะ สถานที่พบ สถานะ
เสือโคร่งไซบีเรีย เป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยตัวผู้ที่โตเต็มที่อาจยาวได้ถึง 3 เมตร หนักได้กว่า 300 กิโลกรัม ไซบีเรีย, บางส่วนของจีนที่ติดกับรัสเซีย และบางส่วนของเกาหลีเหนือ ปัจจุบันคาดว่ามีเหลืออยู่ในธรรมชาติราว 500–600 ตัว
เสือโคร่งเบงกอล เป็นชนิดที่ขนาดใหญ่รองลงมา เป็นสายพันธุ์ที่มีปริมาณประชากรเหลือมากที่สุด และนิยมเลี้ยงกันตามสวนสัตว์เนื่องจากมีนิสัยดุร้ายน้อยที่สุด เอเชียใต้และบางส่วนของพม่า ประมาณ 2,000 ตัว ในธรรมชาติ
เสือโคร่งอินโดจีน เป็นชนิดที่แยกออกมาจากชนิดเบงกอล มีลักษณะใกล้เคียงกัน โดยมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย บางส่วนของพม่าที่ติดต่อกับไทย, สูญพันธุ์ไปแล้วจากตอนใต้ของจีน และภูมิภาคอินโดจีน ประมาณ 280–330 ตัวในธรรมชาติ
เสือโคร่งสุมาตรา เป็นชนิดที่มีขนาดเล็กที่สุดที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ พบได้เฉพาะบนเกาะสุมาตราที่เดียวเท่านั้น ประมาณ 350 ตัวในธรรมชาติ
เสือโคร่งจีนใต้ เป็นชนิดที่มีลวดลายน้อยและมีสีสันอ่อนที่สุด พบในประเทศจีนทางตอนใต้ ประมาณ 30 ตัวในธรรมชาติ จัดเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุด
เสือโคร่งแคสเปียน เป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ มีลักษณะใกล้เคียงกับชนิดไซบีเรีย พบตั้งแต่ที่ราบสูงแมนจูเรีย, เอเชียกลาง ไปจนถึงตะวันออกกลาง และอาจมีประชากรบางส่วนในซูดานหรืออียิปต์ด้วย สูญพันธุ์ไปแล้ว
เสือโคร่งชวา เป็นหนึ่งในสามชนิดที่พบได้ในอินโดนีเซีย พบเฉพาะบนเกาะชวาเท่านั้น สูญพันธุ์ไปแล้ว
เสือโคร่งบาหลี เคยเป็นชนิดที่มีขนาดเล็กที่สุด พบเฉพาะบนเกาะบาหลีเท่านั้น สูญพันธุ์ไปแล้ว
เสือโคร่งมลายู เป็นชนิดที่ถูกแยกออกมาจากชนิดอินโดจีน โดยเฉลี่ยแล้วมีรูปร่างที่เล็กกว่าเล็กน้อย พบเฉพาะบนคาบสมุทรมลายู 150–200 ตัว ในธรรมชาติ

ต้นกำเนิด

แก้
 
รูปจำลองกะโหลกศีรษะของPanthera zdanskyiซึ่งเป็นญาติที่สูญพันธุ์ไปแล้วของเสือโคร่งสมัยใหม่ ซึ่งเป็นซากฟอสซิลที่พบในทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

ในอดีตเคยมีเสือโคร่งอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังมีป่าไม้และทุ่งหญ้าอุดมสมบูรณ์ อันเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือโคร่ง อาณาเขตของมันพบได้ไกลถึงชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งแสดงถึงอาณาเขตที่กว้างขวางกว่าในปัจจุบันมาก ด้วยอุปนิสัยของเสือโคร่งที่เป็นสัตว์ขี้ร้อน ชอบอยู่กับน้ำและอาศัยอยู่ในป่าลึกที่เย็นชื้นในเวลากลางวัน ก็อาจทำให้สันนิษฐานได้ว่าเสือโคร่งมีต้นกำเนิดมาจากแดนที่หนาวเย็น

จากการศึกษาซากดึกดำบรรพ์โดยเฮมเมอร์ ในปี 2530 และ มาซัค ในปี 2526 สันนิษฐานว่าเสือโคร่งมีต้นกำเนิดจากเอเชียตะวันออก และเริ่มกระจายพันธุ์ออกไปเป็นสองเส้นทางหลัก ๆ เมื่อราวสองล้านปีก่อน ทางตะวันตกเฉียงเหนือเสือโคร่งค่อย ๆ ย้ายถิ่นไปตามลำน้ำและป่าไม้ลงมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทางใต้และตะวันตกเฉียงใต้ เสือโคร่งแพร่พันธุ์ผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางส่วนไปหมู่เกาะอินโดนีเซีย และบางส่วนไปถึงอินเดีย แนวคิดนี้สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้เป็นลูกหลานโดยตรงมาจากบรรพบุรุษเสือโคร่ง ซึ่งเคยอยู่ในพื้นที่เดียวกันมาก่อน เสือโคร่งพันธุ์จีนใต้มีลักษณะของกะโหลกที่แตกต่างจากพันธุ์อื่นอย่างเด่นชัด เช่นกะโหลกที่สั้น และเบ้าตาที่ชิดกันและชี้ตรงไปข้างหน้ามากกว่าพันธุ์อื่น

ลูกผสม

แก้

เสือโคร่งในที่เลี้ยงถูกผสมพันธุ์กับสิงโตเพื่อสร้างลูกผสมที่เรียกว่าไลเกอร์และไทกอน พวกมันได้คุณสมบัติทางกายภาพและพฤติกรรมของทั้งสองสายพันธุ์แม่ ปัจจุบันไม่สนับสนุนการผสมข้ามพันธุ์เนื่องจากเน้นการอนุรักษ์[22] ไลเกอร์เป็นลูกผสมระหว่างสิงโตตัวผู้กับเสือโคร่งตัวเมีย โดยทั่วไปแล้วไลเกอร์จะมีความยาวระหว่าง 3 ถึง 3.5 ม. (10 และ 12 ฟุต) และมีน้ำหนักระหว่าง 350 ถึง 450 กก. (800 ถึง 1,000 ปอนด์) หรือมากกว่านั้น[23] เนื่องจากพ่อสิงโตถ่ายทอดยีนที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต แต่ไม่มียีนยับยั้งการเจริญเติบโตจากเสือโคร่งตัวเมีย ไลเกอร์จึงมีขนาดใหญ่กว่าพ่อแม่สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งมาก[24] ไทกอนที่พบได้น้อยกว่าคือลูกผสมระหว่างสิงโตตัวเมียกับเสือโคร่งตัวผู้[22] เนื่องจากเสือโคร่งตัวผู้ไม่ถ่ายทอดยีนที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตและสิงโตตัวเมียจะถ่ายทอดยีนที่ยับยั้งการเจริญเติบโต ไทกอนจึงมีขนาดใกล้เคียงกับพ่อแม่ของมัน[24] ตัวเมียบางตัวที่ไม่เป็นหมันและบางครั้งก็ให้กำเนิดไลไทกอนเมื่อผสมพันธุ์กับสิงโตเอเชียตัวผู้[25]

การอนุรักษ์

แก้

ปัจจุบัน เสือโคร่งทุกชนิดจัดเป็นสัตว์ที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN[26]) โดยถูกล่าเพื่อนำเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ ขายในตลาดค้าสัตว์ป่าหรือตลาดมืด ซึ่งชิ้นส่วนของเสือโคร่งนับว่าเป็นที่ต้องการอย่างมากของทวีปเอเชียรองลงมาจากงาช้างและนอแรด

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์เบงกอล

แก้

ต้นศตวรรษที่ 20 ยังมีเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลอยู่ในประเทศอินเดียถึง 40,000 ตัว แต่ในปี 1964 พบว่าเหลือเพียง 4,000 ตัว พอถึงปี 2515 เหลืออยู่ไม่ถึง 2,000 ตัว โดยอยู่ในป่า 4 ผืนใหญ่ ผืนหนึ่งที่ตีนเขาหิมาลัยในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ผืนหนึ่งในภาคกลาง ผืนหนึ่งในภาคตะวันออก และอีกผืนหนึ่งเป็นแนวป่าแคบ ๆ ตามชายฝั่งภาคตะวันตกเฉียงใต้ หลังจากนั้นเพียงไม่นาน โครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง (Project Tiger) ก็ได้เกิดขึ้นโดยรัฐบาลอินเดียและราชวงศ์แห่งเนปาล ทำให้ป่าอนุรักษ์หลายแห่งถูกจัดตั้งขึ้น และมีกฎหมายคุ้มครองอย่างเข้มงวด ต่อมาโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีโดยกองทุนสัตว์ป่าโลก โครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจนประชากรเสือโคร่งเบงกอลในอินเดียเพิ่มขึ้นเป็น 4,334 ตัวในปี 2532 แต่อย่างไรก็ตาม การล่าเสือโคร่งอย่างหนักที่มีมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 ทำให้จำนวนเสือโคร่งลดลงจนเหลือเพียง 3,750 ตัวในปี 2536

ในประเทศเนปาล พบเสือโคร่งอยู่เฉพาะที่จิตวัน, บาร์เดีย, Royal Sukhla Phanta และ Parsa IV คาดมีอยู่ประมาณ 250 ตัวในปี 2536

ในบังกลาเทศ พบเสือโคร่งอยู่ทั่วไปในป่าชายเลนสุนทรวัน รวมทั้งป่าอนุรักษ์ผืนเล็ก ๆ ที่อยู่ติดกันซึ่งมีพื้นที่รวม 320 ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจในปี 2537 พบว่าอาจมีเสือโคร่งในพื้นที่นี้ 300-460 ตัว และเชื่อว่าอาจยังมีเหลืออยู่ดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ของเทกนาฟ ซึ่งติดกับชายแดนประเทศพม่า

ในภูฏาน เชื่อว่ามีเสือโคร่งอยู่ในป่าอนุรักษ์ที่ราบต่ำที่อยู่ตอนใต้ของประเทศทั้ง 9 แห่ง โดยเฉพาะป่ามานัสซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับป่ามานัสในอินเดีย มีพื้นที่มากที่สุด รัฐบาลของประเทศภูฏานระบุว่ามีประชากรเสือโคร่ง 237 ตัวในปี 2537 อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้บางส่วนซ้ำซ้อนกับเสือโคร่งในอินเดีย ส่วนตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการในปี 2536 ระบุว่ามีเพียง 20-50 ตัว

รวมจำนวนประชากรเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศอินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ และตะวันตกของพม่า ในปี 2536 คาดว่ามีไม่เกิน 4,500 ตัว

สรุปจำนวนของประชากรเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลในประเทศต่าง ๆ

แก้
ประเทศ ต่ำสุด สูงสุด
บังกลาเทศ 300 460
ภูฏาน 80 240
จีน 30 35
อินเดีย 2,500 3,000-3,750
เนปาล 150 250
รวม 3,060 3,985-4,735

* ข้อมูลจากไอยูซีเอ็น ในประเทศอินเดียมีป่าอนุรักษ์ 21 แห่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่งโดยเฉพาะ ทั้งหมดมีพื้นที่รวมกัน 30,000 ตารางกิโลเมตร มีเสือโคร่งในพื้นที่ 1,300 ตัว มากถึงหนึ่งในสามของเสือโคร่งทั้งหมดของประเทศ (3,750) กว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่นี้เป็นป่ากันชน ซึ่งมีทั้งหมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรและการทำปศุสัตว์ นอกจากพื้นที่นี้แล้ว เสือโคร่งยังคงมีอยู่ในป่าอื่นอีก 80 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าที่มีผู้คนอยู่อาศัย สถาบันสัตว์ป่าของอินเดียระบุว่ามีป่าขนาดใหญ่ 12 แห่งที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์พันธุ์เสือโคร่งในระยะยาว อย่างไรก็ตาม หนึ่งแห่งในจำนวนนี้คือที่เขตอนุรักษ์พันธุ์เสือโคร่งเมลกัต ซึ่งจัดตั้งโดยโครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง เขตนี้กำลังจะถูกลดพื้นที่ไปหนึ่งในสามหรือเหลือเพียง 1,046 ตารางกิโลเมตร เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชนที่เพิ่มจำนวนขึ้น มีป่า 56 แห่งที่มีจำนวนเสือโคร่งน้อยเกินไปและถูกกดดันจากมนุษย์จนเชื่อว่าจะไม่สามารถรักษาพันธุ์เสือโคร่งเอาไว้ในพื้นที่ได้และคงจะหมดไปจากพื้นที่ภายในไม่กี่สิบปีต่อจากนี้ นั่นหมายความว่า เมื่อถึงเวลานั้นเสือโคร่งจะลดไปอีกเกือบครึ่งหนึ่งของเสือโคร่งเบงกอลที่มีอยู่ 3,000-4,000 ตัวในขณะนี้

สถานภาพของเสีอโคร่งพันธุ์อินโดจีน

แก้
 
เสือโคร่งอินโดจีน

สถานภาพและจำนวนประชากรของเสือโคร่งอินโดจีนยังไม่เป็นที่รับรู้มากนัก เนื่องจากเขตกระจายพันธุ์ที่กว้างขวางของมัน ซึ่งกินอาณาบริเวณตั้งแต่จีนตอนใต้ เวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ไทย และพม่าตะวันตก เสือโคร่งจำนวนไม่น้อยอยู่ตามเทือกเขาสลับซับซ้อนตามชายแดนระหว่างประเทศ ทำให้การเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปได้ยาก มีหลายแห่งที่นักชีววิทยาเพิ่งจะได้รับอนุญาตเข้าไปสำรวจเมื่อไม่นานมานี้เอง ตามข้อมูลของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเสือและแมว (Cat specialist Group) ของไอยูซีเอ็น เนื่องจากในป่าของหลายประเทศ เสือโคร่งได้ถูกล่าอย่างหนักและขาดการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปมากมายการการพัฒนาของเมืองในช่วงทศวรรษ 80 ทำให้เสือโคร่งอินโดจีนส่วนใหญ่ในสูญพันธ์ไปในหลายประเทศ ปัจจุบันมีเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีนเหลืออยู่ในธรรมชาติทั้งสิ้นประมาณ 210-350 ตัว โดยมีเสือโคร่งส่วนหนึ่งอยู่ในป่ารอยต่อของพม่า และ ประชากรเสือโคร่งกลุ่มหลักอยู่ในเขตอนุรักษ์ของประเทศไทย สวนสัตว์ในเอเชียและในอเมริกามีเสือพันธุ์นี้ประมาณ 60 ตัว

ในเวียดนาม เสือโคร่งถูกลักลอบล่าอย่างหนักจากค่านิยมความเชื่อทางยาจีนแผนโบราณ และ ไม่มีมาตรการอนุรักษ์ ทำให้เสือโคร่งในเวียดนามลดลง จนในช่วงปี 2559 นักสำรวจไม่พบร่องรอยใดๆของเสือในป่าอนุรักษ์ทั้ง 9 แห่ง จึงคาดว่า เสือโคร่งในเวียดนามได้สูญพันธ์ไปแล้ว[27]

สถานภาพของเสือโคร่งในประเทศลาวไม่ชัดเจนนัก เพราะเพิ่งมีการจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์มาไม่นานมานี้เอง และพื้นที่ส่วนใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นมาก็เป็นเพียงร่างในกระดาษ บางแห่งไม่มีแม้แต่เจ้าหน้าที่ประจำ ในปี 2534 แซลเตอร์ได้สำรวจตามหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ 18 แห่งและรายงานว่าพบเสือโคร่งทุกพื้นที่ ๆ สำรวจ กรมสัตว์ป่าของลาวได้สำรวจป่าในปี 2535 ได้รายงานว่าพบเสือโคร่งในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 17 แห่ง อย่างไรก็ตาม แหล่งอาหารของเสือโคร่งในประเทศลาวไม่สมบูรณ์นัก จำนวนสัตว์เหยื่อมีอยู่น้อยมาก และป่าในพื้นที่ต่ำถูกทำลายจนเกือบหมด ทำให้เสือโคร่งต้องถอยร่นขึ้นไปหากินบนภูเขาสูงซึ่งมีเหยื่อน้อยกว่า ในขณะที่การล่าและการค้าขายสัตว์ป่าก็มีอย่างหนัก สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงอนาคตที่สิ้นหวังของเสือโคร่งในประเทศลาว

กรมสัตว์ป่าของกัมพูชามีศักยภาพต่ำมาก และประเทศนี้ไม่มีแม้แต่สวนสัตว์ มีการล่าเสือโคร่งอย่างหนัก กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเสือและแมวประเมินว่าในประเทศกัมพูชามีเสือโคร่งอยู่ประมาณ 100-200 ตัว และกำลังลดจำนวนลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม การสำรวจสัตว์ป่าครั้งแรกของเสือโคร่งเมื่อปี 2543 ที่ผ่านมาพบว่าอาจมีเสือโคร่งและสัตว์ป่าอื่น ๆ ในกัมพูชามากกว่าที่เคยคาดคิดไว้ แต่ภายหลังปี 2550 ก็ไม่มีหลักฐานการพบเสือโคร่งเพิ่มอีก จนปี 2559 จึงยอมรับว่าเสือโคร่งสูญพันธ์[28]

ราบิโนวิตช์ ได้สำรวจเสือโคร่งในป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยระหว่างปี 2530-2534 และประเมินว่ามีจำนวนประมาณ 250 ตัว ซึ่งตัวเลขนี้แตกต่างอย่างมากจากตัวเลขของทางการไทยที่ระบุว่ามีประมาณ 450-600 ตัว ในการสำรวจปี 2538 ทางการจึงได้ประกาศว่าเหลืออยู่ราว 250 ตัวซึ่งใกล้เคียงกับยอดของราบิโนวิตช์ แม้จะมีแผนการอนุรักษ์ แต่จำนวนเสือก็ไม่เพิ่มอย่างที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเขตอนุรักษ์ในไทย ส่วนมากเป็นป่าพื้นที่สูงและภูเขาซึ่งมีความเหมาะสมในระดับปานกลางในการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า

สรุปจำนวนของประชากรเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีนในประเทศต่าง ๆ

แก้

(ข้อมูลยังไม่แยกเสือโคร่งพันธุ์มลายู)

แก้
ประเทศ ต่ำสุด สูงสุด
กัมพูชา สูญพันธุ์
จีน สูญพันธุ์
ลาว <5
เวียดนาม สูญพันธุ์
มาเลเซีย 100 170
พม่า <30 80
ไทย 180 270
รวม 210 350

ข้อมูลจากไอยูซีเอ็น

ในประเทศมาเลเซีย นับตั้งแต่ปี 2519 กฎหมายของประเทศระบุให้เสือโคร่งเป็นสัตว์คุ้มครองอย่างเข้มงวดภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า ในปีนั้น กรมสัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติประเมินว่ายังมีเสือโคร่งอยู่ในประเทศประมาณ 300 ตัว มาเลเซียประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการควบคุมและลดปริมาณการล่าสัตว์ ในช่วงปี 2515-2519 มีการล่าเสือโคร่งถึง 19 ตัวต่อปีโดยเฉลี่ย แต่ในปัจจุบันเหลือประมาณ 1 ตัวต่อปีเท่านั้น และประชากรเสือโคร่งได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน (2550) ประเมินว่ามีเสือโคร่งพันธุ์มลายูตัวเต็มวัยอยู่ประมาณ 490 ตัว ส่วนใหญ่อยู่ใน กลันตัน ตรังกานู เปรัก และปะหัง พื้นที่ป่าเหล่านี้มักจะเป็นป่าผืนเล็ก ๆ และแต่ละแห่งมีประชากรเสือโคร่งไม่มาก เสือโคร่งพันธุ์มลายูชอบอยู่ตามป่าเต็งรังที่ต่ำ แต่ก็พบในป่าพรุด้วย

จนการสำรวจล่าสุดในช่วง พ.ศ. 2560-2561 กลับพบข้อเท็จจริงว่า เสือโคร่งมลายูมีจำนวนลดลงอย่างมาก ทั้งจากการลักลอบล่า และ เสียพื้นที่หากิน จนทำให้จำนวนพวกมันน้อยกว่าที่เคยประเมิน อาจจะเหลือเพียงไม่ถึง 200 ตัว[29][30]

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้

แก้

ประเทศจีนมีพื้นที่ครอบคลุมเขตกระจายพันธุ์ถึง 4 พันธุ์ คือพันธุ์ไซบีเรียบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศรัสเซียและเกาหลีเหนือตอนเหนือสุดของประเทศ พันธุ์จีนใต้ทางตอนใต้ของประเทศ พันธุ์อินโดจีนทางชายแดนที่ติดกับประเทศพม่า ลาว และเวียดนาม และพันธุ์เบงกอลบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศอินเดียและพม่า

ในทศวรรษ 1950 ยังมีเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้อยู่ประมาณ 4,000 ตัว แต่หลังจากนั้นก็ลดจำนวนอย่างรวดเร็วจากการถูกล่า สาเหตุหนึ่งเนื่องจากทางการจีนประกาศว่าเสือโคร่งเป็นสัตว์รบกวนที่ต้องกำจัด ภายในเวลาเพียง 30 ปีเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้ถูกล่าไปถึงประมาณ 3,000 ตัว ตัวเลขอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีนแสดงว่าจำนวนหนังเสือโคร่งที่จับยึดมาได้โดยเฉลี่ยต่อปีลดลงจาก 78.6 ในต้นทศวรรษ 1950 เหลือ 30.4 ในต้นทศวรรษ 1960 ในต้นทศวรรษ 1970 เป็น 3.8 และเหลือเพียง 1 ในปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลเริ่มประกาศห้ามล่า

การสำรวจป่า 19 แห่งในปี 2533 มี 11 แห่งที่พบร่องร่อยของเสือโคร่ง มีพื้นที่รวมกันเพียง 2,500 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น พื้นที่ ๆ พบอยู่ทางตอนใต้และตอนเหนือของมณฑลหูหนาน ตอนเหนือของกวางตุ้ง และตะวันตกของฟูเจี้ยน นอกจากนี้การสำรวจในปี 2534 และ 2536 ยังพบเสือทางตะวันออกของหูหนานและทางภาคกลางของเจียงซี พื้นที่หลักที่พบเสือโคร่งคือป่าดิบเขากึ่งร้อนชื้นตามรอยต่อระหว่างมณฑล ป่าที่พบถูกตัดขาดจากกันเป็นผืนเล็กผืนน้อย ส่วนใหญ่มีพื้นที่น้อยกว่า 500 ตารางกิโลเมตร ในปี 2538 ได้มีรายงานอย่างไม่เป็นทางการจากกรมป่าไม้ของจีนว่าเหลือเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้ในธรรมชาติไม่ถึง 20 ตัวเท่านั้น จัดเป็นเสือโคร่งพันธุ์ที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์มากที่สุด แม้แต่ในสถานเพาะเลี้ยงหรือตามสวนสัตว์ทั่วโลก 19 แห่งที่มีเสือโคร่งพันธุ์นี้ก็มีจำนวนเพียง 48 ตัวเท่านั้น ทั้ง 48 ตัวนี้เป็นลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากเสือโคร่งที่ถูกจับมาจากป่า 6 ตัว

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรีย

แก้
 
เสือโคร่งไซบีเรียในสวนสัตว์มึนส์เทอร์ เยอรมนี

เสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียเกือบทั้งหมดอาศัยอยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศรัสเซีย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อยู่บริเวณชายแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และอาจมีอยู่ทางเหนือของเกาหลีเหนือ เสือโคร่งในรัสเซียส่วนใหญ่อยู่ในแคว้นปรีมอร์เย และบางส่วนอยู่ในฮาบารอฟสค์ เสือโคร่งในรัสเซียประสบแรงกดดันมากจากการล่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมือง ในปี 2537 ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมโดย อา. อะมีร์ฮานอฟระบุว่ามีเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียในรัสเซียเหลือเพียง 150-200 ตัว ทั้งที่ในกลางทศวรรษ 1980 มียังมีอยู่ 250 ถึง 430 ตัว ก่อนหน้านั้นในทศวรรษ 1930 เสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียเคยมีจำนวนต่ำถึงประมาณ 20 ถึง 30 ตัวเท่านั้น แต่หลังจากเริ่มมีกฎหมายคุ้มครองในปี 1947 จำนวนเสือโคร่งก็ค่อยเพิ่มมากขึ้น

ช่วงปลายทศวรรษ 1980 มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีข้อเสนอให้มีการล่าเสือโคร่งเชิงกีฬาเพื่อลดจำนวนของมัน ฝ่ายที่ยื่นข้อเสนออ้างว่าจำนวนเสือโคร่งมีมากเกินไปจนไม่สมดุลกับจำนวนประชากรของสัตว์เหยื่อ และยังเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในฟาร์มของชาวบ้าน แต่ข้อพิพาทนี้ยุติในเวลาต่อมาเพราะมีการล่าอย่างผิดกฎหมายมากจนทำให้จำนวนเสือโคร่งลดลง หลังจากนั้นการคุ้มครองเสือโคร่งเริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการร่วมมือของรัฐบาลกับองค์กรพัฒนาเอกชน

ในประเทศรัสเซีย พบเสือโคร่งในซีโฮเตอะลิน (พื้นที่ 3,471 ตารางกิโลเมตร) ลาซอฟสกีย์ (พื้นที่ 1,165 ตารางกิโลเมตร) และ ทุ่งเคโดรวายา (พื้นที่ 179 ตารางกิโลเมตร) เสือโคร่งไซบีเรียในรัสเซียแตกต่างจากเสือโคร่งในที่อื่น ๆ เพราะส่วนใหญ่อาศัยอยู่นอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ ในต้นปี 2536 ได้มีการสำรวจในเขตลาซอฟสกี พบเสือโคร่ง 22 ตัว (ตัวเต็มวัย 14 ตัว และเสือวัยรุ่น 8 ตัว) ในจำนวนนี้มีประมาณ 10 ตัว (เสือเต็มวัย 8 ตัวและเสือวัยรุ่น 2 ตัว) ที่อาศัยอยู่ตามขอบของพื้นที่ ในปี 2529 บรากิน ได้สำรวจจำนวนเสือโคร่งในเขตอนุรักษ์ซีโฮเตอะลินพบว่าในจำนวนเสือโคร่งทั้งหมดที่พบ มี 25 ตัวหรือหนึ่งในสามประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและพื้นที่ป่าไม่เพียงพอ มีจำนวนเพียงไม่กี่ตัวที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ภายในเขตอนุรักษ์ ในปี 1991 คอร์คิชโค และ พิคูนอฟ ประเมินว่ามีเสือโคร่ง 9 ตัว (ตัวผู้เต็มวัย 3 ตัว วัยรุ่น 1 ตัว ตัวเมียเต็มวัย 4 ตัว วัยรุ่น 1 ตัว) อาศัยอยู่ในทุ่งเคโดรวายา

กล่าวโดยสรุปแล้ว มีเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียในรัสเซียประมาณ 20 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่อาศัยอยู่ภายในเขตอนุรักษ์ นอกนั้นอยู่ในพื้นที่ ๆ มีการทำป่าไม้และมีการล่าสัตว์กีบอย่างหนักและเพิ่มขึ้นทุกวัน

ที่ประเทศจีน ในปี 2533 มีการพบเห็นเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียในเทือกเขาฉางไป๋ (1,905 ตารางกิโลเมตร) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

ในเกาหลีเหนือ เชื่อว่ายังมีเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียหลงเหลืออยู่บริเวณภูเขาแปกดู ซึ่งเป็นบริเวณพรมแดนที่ติดต่อเทือกเขาฉางไป๋ของจีน

สรุปจำนวนของประชากรเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียในประเทศต่าง ๆ

แก้
ประเทศ ต่ำสุด สูงสุด
จีน 12 20
เกาหลีเหนือ <10 <10
รัสเซีย 562 600
รวม 584 600

ข้อมูลจากไอยูซีเอ็น

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์สุมาตรา

แก้
 
ลูกเสือโคร่งพันธุ์สุมาตราในสวนสัตว์เชสเตอร์ สหราชอาณาจักร

เสือโคร่งพันธุ์สุมาตราอาศัยอยู่บนเกาะสุมาตราเท่านั้น มันต้องเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายจากการถูกบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัยและจากการล่าเช่นเดียวกับเสือโคร่งพันธุ์อื่น ๆ จากการสำรวจประมาณว่ายังมีเสือโคร่งพันธุ์นี้อยู่ 600 ตัว ในจำนวนนี้ 400 ตัวอยู่ในป่าอนุรักษ์ผืนใหญ่ 5 แห่ง และอีก 200 ตัวอยู่กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่อื่น ๆ

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์แคสเปียน

แก้

เสือโคร่งพันธุ์แคสเปียนถูกล่าและสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยไปจนสูญพันธุ์ไปในช่วงต้นทศวรรษ 1970 มีบันทึกถึงเสือโคร่งตัวท้าย ๆ ในแต่ละท้องถิ่นดังนี้

เสือโคร่งตัวสุดท้ายในแถบคอเคซัสถูกฆ่าในปี 1922 ใกล้กับ ทบิลิซี จอร์เจีย มันถูกฆ่าหลังจากไปฆ่าสัตว์ในฟาร์มของชาวบ้าน เสือโคร่งตัวสุดท้ายในตุรกีถูกฆ่าในปี 2513 ใกล้กับอูลูเดเร จังหวัดฮักคารี

ในประเทศอิรักเคยพบเสือโคร่งเพียงตัวเดียว มันถูกฆ่าใกล้กับโมซุล ในปี 1887 ในประเทศอิหร่าน เสือโคร่งตัวสุดท้ายถูกฆ่าในปี พ.ศ. 2502 ในโมฮัมหมัดรีซาชา (ปัจจุบันคือโกลีสตาน) เสือโคร่งพันธุ์แคสเปียนตัวหนึ่งในลุ่มน้ำทาริม ของประเทศจีนถูกฆ่าในปี 1899 ใกล้กับแอ่งลอบนอร์ในมณฑลซินเจียง และหลังจากทศวรรษ 1920 ก็ไม่มีใครเห็นเสือโคร่งแคสเปียนในลุ่มน้ำนี้อีกเลย

เสือโคร่งหายไปจากลุ่มแม่น้ำมานัสในเทือกเขาเทียนซานทางตะวันตกของอูรุมชี ในทศวรรษ 1960 ที่แม่น้ำไอรี ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยสำคัญแหล่งสุดท้ายในบริเวณทะเลสาบบัลฮัช มีผู้พบครั้งสุดท้ายในปี 2491

เสือโคร่งที่อยู่ในตอนปลายแม่น้ำอะมู-ดาร์ยาบริเวณชายแดนระหว่างเติร์กเมนิสถาน อุสเบกิสถาน และอัฟกานิสถานเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 แล้ว แม้จะมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่าพบเสือโคร่งบริเวณทะเลเอรัลใกล้กับนูคัส ในปี 2511 ก็ตาม

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์ชวา

แก้

จากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและถูกล่าอย่างหนัก ทำให้เสือโคร่งพันธุ์ชวาลดจำนวนลงอย่างมาก ในทศวรรษ 1940 เหลือเสือโคร่งพันธุ์น้อยมาก จนถึงในปี 2513 เหลืออยู่เพียงในเมรูเบตีรีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น และหลังจากปี 2519 ก็ไม่มีใครเห็นเสือโคร่งพันธุ์ชวาอีกเลย

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์บาหลี

แก้

เสือโคร่งพันธุ์บาหลีมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียเท่านั้น พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกมีตัวอย่างซากของเสือโคร่งบาหลีเพียง 8 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะได้มาในช่วงทศวรรษ 1930 เสือโคร่งพันธุ์นี้ได้สูญพันธุ์ไปจากโลกในช่วงทศวรรษ 1940 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ไซเตสจัดเสือโคร่งไว้ในบัญชีหมายเลข 1 ไอยูซีเอ็นจัดเสือโคร่งไว้ในประเภทที่มความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ

ประเทศที่ห้ามล่า

แก้

บังกลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า เนปาล รัสเซีย ไทย เวียดนาม

อนาคตของเสือโคร่ง

แก้

แม้ว่าเสือโคร่งสามารถเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงได้มากจนแน่ใจได้ว่าเสือโคร่งจะไม่มีวันสูญพันธุ์ไปจากโลกแน่นอน แต่สำหรับอนาคตของเสือโคร่งในธรรมชาติยังอยู่ในความมืดมน เสือที่อยู่ภายนอกเขตอนุรักษ์มีโอกาสอยู่รอดน้อยมาก มันจะต้องถูกคนล่าอย่างน้อยเพราะเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงและมนุษย์ พื้นที่ที่เสือโคร่งอาศัยอยู่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในบริเวณที่มีมนุษย์อาศัยอยู่มากที่สุดของโลก นับตั้งแต่โครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง เริ่มขึ้นในประเทศอินเดียมา 20 ปี ประชากรในประเทศได้เพิ่มจำนวนกว่า 300 ล้านคนหรือเกือบ 50 เปอร์เซนต์และมีสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านตัว เสือโคร่งในภูมิภาคอื่นก็อยู่ในภาวะคล้ายคลึงกัน

ปัจจุบัน ประชากรของเสือโคร่งลดลงอย่างรวดเร็วจนแทบจะสูญพันธุ์ ถ้ายังปล่อยให้มีการล่าอย่างไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด เสือโคร่งคงจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติไปภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ ทุกคนล้วนมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์เสือโคร่งทั้งสิ้นแม้แต่คนในเมือง เราสามารถช่วยการดำรงเผ่าพันธุ์ของเสือโคร่งด้วยการเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเสือโคร่งเสียใหม่ เสือโคร่งมีสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในธรรมชาติอย่างผาสุข ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมประชากรและคุณภาพของสัตว์ชนิดอื่น และลูกหลานของเราทุกคนก็มีสิทธิที่จะเห็นเสือโคร่งในธรรมชาติเช่นกัน จงเลิกซื้อเลิกหายาหรือเครื่องประดับใด ๆ ที่ทำมาจากอวัยวะเสือโคร่ง เมื่อใดผู้ซื้อหยุด ผู้ล่าก็จะหยุดด้วย

ความเชื่อและความสัมพันธ์กับมนุษย์

แก้

เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ผูกพันกับมนุษย์มาช้านาน โดยเฉพาะในวัฒนธรรมของเอเชีย มีเรื่องราว ความเชื่อและนิทานเกี่ยวกับเสือโคร่งมากมาย ด้วยเป็นสัตว์ใหญ่มีพละกำลังมากมาย และมีความสง่างาม เช่น เรื่องราวของบู๋ซ้งสู้กับเสือด้วยมือเปล่า ของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในวีรบุรุษในวรรณกรรมเรื่อง 108 ผู้กล้าหาญแห่งเขาเหลียงซาน เป็นต้น[31]

แต่เสือโคร่ง ก็จัดได้ว่าเป็นสัตว์ที่ทำร้ายและกินมนุษย์ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในอินเดีย ในช่วงทศวรรษที่ 20 มีผู้ถูกเสือโคร่งฆ่าตายและกินไปกว่า 1,600 รายต่อปี แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังคงมีผู้ถูกทำร้ายและกินเป็นระยะ ๆ ในอดีตการล่าเสือโคร่ง ถือเป็นกิจกรรมของบุคคลชั้นสูงและระดับเชื้อพระวงศ์ แม้กระทั่งในยุคที่อังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย โดยการขี่หลังช้างล่าในทุ่งหญ้าทั้งหญ้าสูง และหญ้าต่ำ แต่เสือโคร่งก็สามารถกระโจนหรือโจมตีช้างหรือผู้ที่อยู่บนหลังช้างได้อย่างไม่เกรงกลัว โดยมากแล้ว เสือโคร่งที่กินมนุษย์ จะเป็นเสือโคร่งที่แก่หรือได้รับบาดเจ็บจนไม่อาจล่าเหยื่อที่เป็นสัตว์ชนิดอื่นได้ จึงหันมาโจมตีมนุษย์ เพราะเป็นเหยื่อที่อ่อนแอ โจมตีได้ง่ายกว่า และเมื่อได้กินเนื้อมนุษย์ครั้งแรกแล้วก็จะติดใจ ในบางพื้นที่ของอินเดีย จะมีวิธีการป้องกันเสือโคร่งโจมตีได้ด้วยการใส่หน้ากากไว้ข้างหลัง เพราะเสือโคร่งมักจะโจมตีเหยื่อจากด้านหลัง [18] ในสุนทรวันซึ่งเป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์เขตติดต่อระหว่างอินเดียและบังกลาเทศ เป็นที่รู้กันดีว่า เป็นสถานที่ที่เสือโคร่งโจมตีใส่มนุษย์มากที่สุด ชาวพื้นเมืองที่นี่มีความเชื่อว่า บอนบีบี ซึ่งเป็นเทพธิดาแห่งป่าช่วยคุ้มครองปกป้องมนุษย์ให้พ้นจากเสือโคร่ง แต่ก็มีรายงานการโจมตีใส่มนุษย์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา[32]

ในมาเลเซีย ได้ใช้เสือโคร่งเป็นตราแผ่นดินและสัญลักษณ์ของประเทศ โดยทีมฟุตบอลทีมชาติมาเลเซียก็ได้รับฉายาว่า "เสือเหลือง" ด้วยเช่นกัน[33]

สำหรับความเชื่อทางโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเสือโคร่ง เช่น กระดูก กะโหลก เขี้ยว เล็บหรือหนังใช้เป็นเครื่องรางป้องกันภูตผีปีศาจหรือเสนียดจัญไรได้ นอกจากนี้แล้วในตำรายาจีนอวัยวะของเสือโคร่ง เช่น อวัยวะเพศผู้ เชื่อว่าเป็นยาบำรุงกำลัง ยาอายุวัฒนะ หรือเสริมสร้างสมรรถนะทางเพศ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดเพราะจากการได้ศึกษาแล้วก็พบว่าเป็นเพียงอาหารให้โปรตีนเช่นเดียวกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ แต่จากความเชื่อนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เสือโคร่งถูกล่าจนเกือบสูญพันธุ์จากธรรมชาติเช่นในปัจจุบัน

ดูเพิ่มเติม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. กระโดดขึ้นไป: 1.0 1.1 Goodrich, J.; Lynam, A.; Miquelle, D.; Wibisono, H.; Kawanishi, K.; Pattanavibool, A.; Htun, S.; Tempa, T.; Karki, J.; Jhala, Y. & Karanth, U. (2015). "Panthera tigris". IUCN Red List of Threatened Species. 2015: e.T15955A50659951. doi:10.2305/IUCN.UK.2015-2.RLTS.T15955A50659951.en. สืบค้นเมื่อ 15 January 2022.
  2. Linnaeus, C. (1758). "Felis tigris". Caroli Linnæi Systema naturæ per regna tria naturæ, secundum classes, ordines, genera, species, cum characteribus, differentiis, synonymis, locis (ภาษาละติน). Vol. Tomus I (decima, reformata ed.). Holmiae: Laurentius Salvius. p. 41.
  3. Ellerman, J.R.; Morrison-Scott, T.C.S. (1951). "Panthera tigris, Linnaeus, 1758". Checklist of Palaearctic and Indian mammals 1758 to 1946. London: British Museum. p. 318.
  4. "IUCN Tiger Programme extended to 2023". IUCN (ภาษาอังกฤษ). 7 December 2018.
  5. "Tiger | Official website of UN World Wildlife Day". wildlifeday.org.[ลิงก์เสีย]
  6. "Countries With The Greatest Number Of Wild Tigers". WorldAtlas (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 25 April 2017.
  7. "Tiger | Species | WWF". World Wildlife Fund (ภาษาอังกฤษ).
  8. Says, Ssviprasanna. "Human – Tiger conflict: Cause, Consequence and Mitigation". Conservation India (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  9. Struebig, Matthew J.; Linkie, Matthew; Deere, Nicolas J.; Martyr, Deborah J.; Millyanawati, Betty; Faulkner, Sally C.; Le Comber, Steven C.; Mangunjaya, Fachruddin M.; Leader-Williams, Nigel; McKay, Jeanne E.; St. John, Freya A. V. (27 August 2018). "Addressing human-tiger conflict using socio-ecological information on tolerance and risk". Nature Communications (ภาษาอังกฤษ). 9 (1): 3455. doi:10.1038/s41467-018-05983-y. ISSN 2041-1723.
  10. "Tigers in Culture - Tiger Facts and Information" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  11. "National Animal of India - Important Facts on Tiger [UPSC]". BYJUS (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  12. "Talk Talk KOREA". www.korea.net.
  13. Considine, John (17 October 2019), "Liddell and Scott and the Oxford English Dictionary", Liddell and Scott, Oxford University Press, pp. 395–412, สืบค้นเมื่อ 27 November 2021
  14. Tiger, Adolphe. Benezit Dictionary of Artists. Oxford University Press. 31 October 2011.
  15. Turner, R. L. (June 1924). "A Practical Sanskrit Dictionary. By Arthur Anthony Macdonell. pp. ix, 382. Oxford University Press, 1924. £1 10s". Bulletin of the School of Oriental and African Studies. 3 (3): 594–595. doi:10.1017/s0041977x00148839. ISSN 0041-977X.
  16. กระโดดขึ้นไป: 16.0 16.1 "บันทึกพงไพร". ช่อง 5. 2017-01-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-23. สืบค้นเมื่อ 2017-01-15.
  17. หน้า 5, ตะลึงเสือกินช้างห้วยขาแข้ง. มติชนปีที่ 40 ฉบับที่ 14556: วันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560
  18. กระโดดขึ้นไป: 18.0 18.1 Tigers, "Biggest & Baddest". สารคดีทางอนิมอล พลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: พุธที่ 23 มกราคม 2556
  19. นิตยสาร SM@RTPET ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2545 คอลัมน์ สัตว์ป่าน่ารู้ หน้า 201-213 โดย พัชรินทร์ ธรรมรส
  20. กระโดดขึ้นไป: 20.0 20.1 "29 ก.ค.วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก คืน "เสือ" ให้ "ป่า"". ไทยรัฐ. 28 July 2015. สืบค้นเมื่อ 29 July 2015.
  21. ถอนพิษ (รีรัน), รายการทางบลูสกายแชนแนล โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, อัญชลีพร กุสุมภ์ และวิทเยนทร์ มุตตามระ: อาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2556
  22. กระโดดขึ้นไป: 22.0 22.1 Actman, Jani (24 February 2017). "Cat Experts: Ligers and Other Designer Hybrids Pointless and Unethical". National Geographic.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 February 2017. สืบค้นเมื่อ 27 August 2018.
  23. Markel, S.; León, D. (2003). Sequence Analysis in a Nutshell: a guide to common tools and databases (PDF). Sebastopol, California: O'Reily. ISBN 978-0-596-00494-1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 27 August 2018. สืบค้นเมื่อ 26 August 2018.
  24. กระโดดขึ้นไป: 24.0 24.1 "Genomic Imprinting". Genetic Science Learning Center, Utah.org. สืบค้นเมื่อ 26 August 2018.
  25. Singh, A. (1985). "Okapis and litigons in London and Calcutta". New Scientist (1453): 7.
  26. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ IUCN
  27. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 November 2019. สืบค้นเมื่อ 15 November 2019.
  28. https://mgronline.com/indochina/detail/9590000035497
  29. https://www.iucnredlist.org/species/136893/50665029
  30. https://www.nst.com.my/news/nation/2019/08/509651/malayan-tiger-teetering-brink-extinction-23-left-belum-temenggor-forest
  31. Li, Mengxia. 108 Heroes from the Water Margin, page 29. EPB Publishers Pte Ltd, 1992. ISBN 9971-0-0252-3.
  32. Killer Tigers, "World's Deadliest Towns". สารคดีทางแอนิมอลแพลนเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: ศุกร์ที่ 3 มกราคม 2557
  33. "อย่าประมาท!เฮงเตือนไทย'เสือเหลือง'ยุคใหม่อันตราย". โกลด์.คอม. 13 July 2013. สืบค้นเมื่อ 5 January 2014.

อ่านเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  •   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Panthera tigris (หมวดหมู่)
  •   ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Panthera tigris ที่วิกิสปีชีส์
  •   วิกิคำคม มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ Tigers
  •   คู่มือการท่องเที่ยว Tigers จากวิกิท่องเที่ยว (ในภาษาอังกฤษ)
  • "Tiger Panthera tigris". IUCN/SSC Cat Specialist Group. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-12. สืบค้นเมื่อ 2022-05-10.