อำเภอเมืองนนทบุรี
เมืองนนทบุรี เป็นอำเภอศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา เศรษฐกิจ และการสาธารณสุขของจังหวัดนนทบุรี
อำเภอเมืองนนทบุรี | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Mueang Nonthaburi |
หอนาฬิกานนทบุรี | |
แผนที่จังหวัดนนทบุรี เน้นอำเภอเมืองนนทบุรี | |
พิกัด: 13°51′44″N 100°30′48″E / 13.86222°N 100.51333°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | นนทบุรี |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 77.018 ตร.กม. (29.737 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566) | |
• ทั้งหมด | 359,949 คน |
• ความหนาแน่น | 4,673.57 คน/ตร.กม. (12,104.5 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 11000 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 1201 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี ซอยรัตนาธิเบศร์ 6 (ศูนย์ราชการ) ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้อำเภอเมืองนนทบุรีตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้[2]
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอปากเกร็ด มีคลองบางบัวทอง, คลองแม่ร่องกร่าง, คลองวัดแดง, แนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองบางตลาดเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตหลักสี่และเขตจตุจักร (กรุงเทพมหานคร) มีคลองประปาเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศใต้ ติดต่อกับเขตบางซื่อ (กรุงเทพมหานคร) และอำเภอบางกรวย มีคลองบางเขน, แนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยา, คลองบางกรวย, คลองธรรมบาล, ถนนบางไผ่พัฒนา, ซอยบางไผ่ ซอย 3 (วัดรวกบางสีทอง), ซอยบางกรวย-ไทรน้อย 30 (วัดรวกบางสีทอง), คลองบางสีทอง, คลองวัดสนาม, ถนนบางศรีเมือง 1, แนวรั้วหมู่บ้านเยาวพรรณ, คลองวัดแดง และคลองบางกอกน้อยเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอบางใหญ่และอำเภอบางบัวทอง มีคลองวัดยุคันธราวาส, ถนนหลังวัดยุคันธราวาส, ซอยบางกร่าง 25 (หน้าค่าย), ทางหลวงท้องถิ่น นบ.ถ 1-0010 (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการฯ - วัดสวนแก้ว), คลองวัดประชารังสรรค์, คลองอ้อม และคลองบางรักใหญ่เป็นเส้นแบ่งเขต
ประวัติศาสตร์
แก้อำเภอเมืองนนทบุรีในครั้งแรกนั้นมีชื่อว่า อำเภอตลาดขวัญ ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีฐานะเป็นอำเภอตั้งแต่เมื่อใด แต่ปรากฏชื่ออำเภอนี้ในชื่อเอกสารที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2445 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอนนทบุรี โดยปรากฏชื่อเอกสารเกี่ยวข้องกับชื่ออำเภอนี้ในราชกิจจานุเบกษาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2466 ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ในตัวอาคารศาลากลางเมืองนนทบุรี ข้างวัดท้ายเมือง ตำบลตลาดขวัญ[3] (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลสวนใหญ่)
เนื่องจากอำเภอนนทบุรีมีอาณาเขตกว้างขวาง บางท้องที่อยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอมาก กระทรวงนครบาล (หน่วยงานที่ดูแลหัวเมืองต่าง ๆ ในมณฑลกรุงเทพขณะนั้น) จึงพิจารณาโอนตำบลท่าอิฐซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปขึ้นกับอำเภอปากเกร็ดใน พ.ศ. 2463[4] และโอนตำบลบางเลนซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกสุดของอำเภอไปขึ้นกับอำเภอบางแม่นางใน พ.ศ. 2464[5] ณ พ.ศ. 2470 อำเภอนนทบุรีจึงเหลือท้องที่การปกครองอยู่ 12 ตำบล ได้แก่ ตำบลตลาดขวัญ ตำบลบางกระสอ ตำบลท่าทราย ตำบลลาดโตนด ตำบลบางเขน ตำบลบางตะนาวศรี (สวนใหญ่) ตำบลบางไผ่ ตำบลบางสีเมือง (บางศรีเมือง) ตำบลบางกร่าง ตำบลบางข่า ตำบลบางรักน้อย และตำบลไทรม้า[6] เมื่อถึง พ.ศ. 2471 อำเภอนนทบุรีได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาอยู่ที่โรงเรียนราชวิทยาลัย บ้านบางขวาง ตำบลบางตะนาวศรี (ปัจจุบันคือศาลากลางจังหวัดหลังเก่าบริเวณท่าน้ำนนทบุรี ตำบลสวนใหญ่)[3]
ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2475 ทางราชการได้โอนพื้นที่บางส่วนของตำบลลาดโตนดไปขึ้นกับอำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร เพื่อความสะดวกในการตรวจตราของเจ้าหน้าที่และความสะดวกในการติดต่อราชการของประชาชน[7] และในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2480 ได้โอนพื้นที่หมู่ 1, 3 (ในขณะนั้น) ของตำบลลาดโตนด และหมู่ที่ 1 (ในขณะนั้น) ของตำบลท่าทราย เฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตหวงห้ามของคลองประปาฝั่งตะวันตกไปขึ้นกับตำบลสองห้องของอำเภอบางเขน โดยใช้แนวเขตหวงห้ามของคลองประปาฝั่งตะวันตกเป็นเส้นเขต[8] หมายความว่าแนวเขตการปกครองระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับจังหวัดพระนครได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากแต่เดิมจังหวัดนนทบุรีมีอาณาเขตด้านตะวันออกติดต่อกับจังหวัดพระนครโดยใช้คลองเปรมประชากรตั้งแต่สี่แยกบางเขนขึ้นไปจนถึงคลองบ้านใหม่ตลาดเนื้อเป็นเส้นแบ่งเขต[9]
ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่ออำเภอนนทบุรีเป็น อำเภอเมืองนนทบุรี[10] เนื่องจากทางราชการมีนโยบายเปลี่ยนชื่ออำเภอที่เป็นที่ตั้งจังหวัดเป็น "อำเภอเมือง..." อย่างไรก็ตามใน พ.ศ. 2486 จังหวัดนนทบุรีก็ถูกยุบลงเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณราชการ[11] เนื่องจากขณะนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อำเภอเมืองนนทบุรีจึงย้ายไปขึ้นกับจังหวัดพระนครและได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอนนทบุรี"[12] จนกระทั่งวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดนนทบุรีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง[13] อำเภอนนทบุรีจึงเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น "อำเภอเมืองนนทบุรี"[14] ตั้งแต่นั้น
ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงเขตการปกครองระดับตำบลภายในท้องที่อยู่เนือง ๆ เช่น ตำบลบางไผ่ถูกยุบรวมเข้ากับตำบลบางศรีเมือง ตำบลบางข่าถูกยุบรวมเข้ากับตำบลบางกร่าง เป็นต้น จนกระทั่งในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งตำบลขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยแบ่งพื้นที่หมู่ที่ 6–10 (ในขณะนั้น) จากตำบลบางศรีเมืองมาจัดตั้งเป็นตำบลบางไผ่ และรวมพื้นที่หมู่ที่ 6–10 (ในขณะนั้น) ของตำบลไทรม้าและหมู่ที่ 11 (ในขณะนั้น) ของตำบลบางกร่างมาจัดตั้งเป็นตำบลบางรักน้อย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ปีเดียวกัน[15] อำเภอเมืองนนทบุรีจึงแบ่งออกเป็น 10 ตำบลจนถึงทุกวันนี้
เมื่อ พ.ศ. 2535 ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรีได้ย้ายที่ตั้งอีกครั้งหนึ่งจากบริเวณโรงเรียนราชวิทยาลัยเดิม ไปอยู่ที่ศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ถนนรัตนาธิเบศร์ ใกล้ทางแยกแคราย หมู่ที่ 8 ตำบลบางกระสอ
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้อำเภอเมืองนนทบุรีแบ่งเขตการปกครองย่อยเป็น 10 ตำบล แต่ละตำบลแบ่งออกเป็นหมู่บ้าน รวมทั้งหมด 32 หมู่บ้าน (หรือ 26 หมู่บ้าน หากไม่นับรวมในเขตเทศบาลเมืองบางศรีเมืองซึ่งไม่มีตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้านแล้ว) ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[16] |
สี | แผนที่ |
---|---|---|---|---|---|---|
1. | สวนใหญ่ | Suan Yai | ยกเลิกระบบหมู่
|
35,061
|
||
2. | ตลาดขวัญ | Talat Khwan | ยกเลิกระบบหมู่
|
45,831
|
||
3. | บางเขน | Bang Khen | ยกเลิกระบบหมู่
|
40,830
|
||
4. | บางกระสอ | Bang Kraso | ยกเลิกระบบหมู่
|
56,753
|
||
5. | ท่าทราย | Tha Sai | ยกเลิกระบบหมู่
|
66,762
|
||
6. | บางไผ่ | Bang Phai | 5
|
12,848
|
||
7. | บางศรีเมือง | Bang Si Mueang | 5
|
24,678
|
||
8. | บางกร่าง | Bang Krang | 10
|
32,964
|
||
9. | ไทรม้า | Sai Ma | 6
|
24,180
|
||
10. | บางรักน้อย | Bang Rak Noi | 6
|
21,218
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรีประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลนครนนทบุรี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลในอำเภอเมืองนนทบุรีฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ตำบลสวนใหญ่ ตำบลตลาดขวัญ ตำบลบางเขน ตำบลบางกระสอ และตำบลท่าทรายทั้งตำบล
- เทศบาลเมืองบางศรีเมือง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางศรีเมืองทั้งตำบลและตำบลบางกร่าง (เฉพาะหมู่ที่ 1 และบางส่วนของหมู่ที่ 2, 3, 9)
- เทศบาลเมืองบางกร่าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางกร่าง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลเมืองบางศรีเมือง)
- เทศบาลเมืองไทรม้า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไทรม้าทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบางไผ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางไผ่ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักน้อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางรักน้อยทั้งตำบล
การคมนาคม
แก้ทางบก
แก้รถยนต์
แก้ถนนสายสำคัญของอำเภอ ได้แก่
- ถนนประชาราษฎร์ เริ่มตั้งแต่ทางแยกติวานนท์ ตัดผ่านทางแยกศรีพรสวรรค์ สิ้นสุดที่บริเวณหอนาฬิกาท่าน้ำนนทบุรี
- ถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 301) เริ่มตั้งแต่ทางแยกติวานนท์ ตัดผ่านตำบลบางเขน ก่อนเข้าสู่เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
- ถนนงามวงศ์วาน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 302) เริ่มตั้งแต่ทางแยกแคราย ตัดผ่านทางแยกพงษ์เพชร ก่อนเข้าสู่เขตหลักสี่และเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
- ถนนรัตนาธิเบศร์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 302) เริ่มตั้งแต่ทางแยกแคราย ผ่านศูนย์ราชการจังหวัด ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตัดผ่านทางแยกไทรม้าและทางแยกต่างระดับบางรักน้อย ก่อนเข้าสู่ท้องที่อำเภอบางบัวทอง
- ถนนพิบูลสงคราม (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 306) เริ่มตั้งแต่ทางแยกศรีพรสวรรค์ ตัดผ่านตำบลสวนใหญ่ ก่อนเข้าสู่เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
- ถนนติวานนท์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 306) เริ่มตั้งแต่ทางแยกติวานนท์ ผ่านทางแยกแคราย ก่อนเข้าสู่ท้องที่อำเภอปากเกร็ด
- ถนนนนทบุรี 1 เริ่มตั้งแต่บริเวณใกล้ท่าน้ำนนทบุรี ผ่านเรือนจำจังหวัดนนทบุรี (บางขวาง) วัดท้ายเมือง โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ทางแยกสะพานพระนั่งเกล้า สิ้นสุดที่ทางแยกสนามบินน้ำ (ถนนติวานนท์)
- ถนนประชาชื่น เริ่มตั้งแต่ทางแยกประชาชื่นในเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เข้าสู่อำเภอเมืองนนทบุรีที่ตำบลบางเขน ตัดผ่านทางแยกพงษ์เพชรและทางแยกสามัคคี-ประชาชื่น ก่อนเข้าสู่ท้องที่อำเภอปากเกร็ด
- ถนนบางกรวย-ไทรน้อย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3215) เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 7 ในอำเภอบางกรวย เข้าสู่อำเภอเมืองนนทบุรีที่ตำบลบางกร่าง จากนั้นเข้าสู่ท้องที่อำเภอบางใหญ่
- ถนนนครอินทร์ เริ่มตั้งแต่ทางแยกติวานนท์ ผ่านตำบลตลาดขวัญ ตำบลสวนใหญ่ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่ตำบลบางไผ่ ตำบลบางศรีเมือง จากนั้นเข้าสู่ท้องที่อำเภอบางกรวย
- ถนนราชพฤกษ์ เริ่มตั้งแต่ทางแยกตากสิน เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เข้าสู่เขตจอมทอง ตัดผ่านเขตภาษีเจริญ เขตตลิ่งชัน อำเภอบางกรวย เข้าสู่อำเภอเมืองนนทบุรีที่ตำบลบางกร่าง ตัดผ่านถนนบางกรวย-ไทรน้อยและถนนรัตนาธิเบศร์ ก่อนเข้าสู่ท้องที่อำเภอปากเกร็ด
- ถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี เริ่มตั้งแต่ถนนพิบูลสงครามใต้ตัวจังหวัดเก่า ตัดผ่านถนนประชาราษฎร์ที่ตำบลตลาดขวัญ อ้อมตัวจังหวัดเก่า ไปสิ้นสุดที่ถนนนนทบุรี 1 เหนือตัวจังหวัดเก่า
- ถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี-สนามบินน้ำ เริ่มตั้งแต่ถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรีใกล้ตลาด อตก.3 เก่า ตัดผ่านถนนรัตนาธิเบศร์ที่ตำบลบางกระสอ ไปสิ้นสุดที่ถนนสนามบินน้ำที่ตำบลท่าทราย
ถนนสายรอง ได้แก่ ถนนเรวดี (ตำบลตลาดขวัญ) ถนนสามัคคี (ตำบลท่าทราย) ถนนบางศรีเมือง ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ดอนพรหม (ตำบลบางศรีเมืองและตำบลบางกร่าง)
ปัจจุบัน อำเภอเมืองนนทบุรีมีทางพิเศษ 1 สาย คือ ทางพิเศษศรีรัช และมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แห่ง คือ สะพานพระนั่งเกล้า สะพานพระราม 5 สะพานคู่ขนานสะพานพระนั่งเกล้า และสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์
รถไฟฟ้า
แก้- สายสีม่วง
- สายสีชมพู
- สายสีน้ำตาล (โครงการ)
ทางน้ำ
แก้การสัญจรทางน้ำยังคงมีความสำคัญอยู่มากในอำเภอเมืองนนทบุรี โดยเฉพาะสำหรับผู้คนที่ต้องเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนและต้องการหลีกเลี่ยงการจราจรทางบกที่ติดขัด ปัจจุบันมีเส้นทางเดินเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา (เริ่มตั้งแต่อำเภอปากเกร็ด ผ่านอำเภอเมืองนนทบุรี ไปยังกรุงเทพมหานคร) และในคลองอ้อม
- ท่าเรือด่วนเจ้าพระยา
- ท่ากระทรวงพาณิชย์
- ท่าน้ำนนทบุรี
- ท่าบางศรีเมือง
- ท่าพิบูลสงคราม 2
- ท่าวัดเขียน
- ท่าวัดตึก
- ท่าวัดเขมาภิรตาราม
- ท่าพิบูลสงคราม 1
หน่วยงานราชการที่สำคัญ
แก้- เรือนจำกลางบางขวาง
- ศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ตั้งอยู่ริมถนนรัตนาธิเบศร์
- กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานในสังกัด ตั้งอยู่ริมถนนนนทบุรี 1
- กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานในสังกัด ตั้งอยู่ในซอยติวานนท์ 4 และซอยติวานนท์ 14 ถนนติวานนท์
- กรมพลาธิการทหารบก กองบัญชาการกองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ตั้งอยู่ริมถนนติวานนท์
- แขวงทางหลวงนนทบุรี กรมทางหลวง ตั้งอยู่ริมถนนรัตนาธิเบศร์ เชิงสะพานพระนั่งเกล้า
สถานที่สำคัญแบ่งตามตำบล
แก้ตำบลสวนใหญ่
แก้- ศาลากลางจังหวัดนนทบุรีหลังเก่า ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ท่าน้ำนนทบุรี สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นที่ตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัย ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงเรียนนี้ถูกยุบเลิกเนื่องจากประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ อาคารโรงเรียนจึงได้ใช้เป็นศาลากลางจังหวัดนนทบุรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 เป็นอาคารตึกไม้ 2 ชั้น ทรงไทยประยุกต์ ประดับด้วยงานไม้ลายวิจิตร ทำด้วยไม้สักทั้งหลัง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2535 ส่วนราชการทั้งหมดได้ย้ายออกไปตั้งที่ศูนย์ราชการจังหวัดแห่งใหม่ริมถนนรัตนาธิเบศร์ กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนศาลากลางแห่งนี้เป็นโบราณสถาน
- พิพิธภัณฑ์มนุษยชาติวิทยา ตั้งอยู่หลังศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ซอยประชาราษฎร์ 19 (พิพิธภัณฑ์) ถนนประชาราษฎร์ เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยชั้นล่างจัดแสดงประวัติของโลก พืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิต ส่วนโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูป เครื่องลายครามต่าง ๆ เป็นต้น จัดแสดงอยู่บนชั้น 2 นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดประชาชนตั้งอยู่ข้าง ๆ ด้วย
- วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยพิบูลสงคราม 3 (วัดเขมา) ถนนพิบูลสงคราม สันนิษฐานว่าในครั้งแรกนั้นมีชื่อว่า "วัดเขมา" สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) แห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาวัดนี้เป็นพระอารามหลวงชั้นโทและพระราชทานสร้อยพระนามต่อท้ายเป็น "วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร" สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้ ได้แก่ พระมหาเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา ตำหนักแดง และพระที่นั่งมูลมณเฑียร
ตำบลตลาดขวัญ
แก้- พิพิธภัณฑ์บ้านดุริยางคศิลป์ (บ้านครูมนตรี ตราโมท) หรือ "บ้านโสมส่องแสง" ตั้งอยู่ที่ซอยพิชยนันท์ 2 แยกซอยติวานนท์ 3 (พิชยนันท์) ถนนติวานนท์ เป็นบ้านพักของครูมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ สาขาดุริยางคศิลป์ ดนตรีไทย ประจำปี พ.ศ. 2528 ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 9 ทายาทของท่านได้อนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งศึกษาการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย รวมทั้งจัดแสดงชีวประวัติและผลงานเพลงต่าง ๆ ของครูมนตรีภายในบ้านด้วย (ผู้สนใจเข้าชมต้องติดต่อล่วงหน้า)
- พิพิธภัณฑ์เขาสัตว์ เป็นพิพิธภัณฑ์ของเอกชน ตั้งอยู่เลขที่ 27/8 หมู่ที่ 6 ถนนประชาราษฎร์ ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการเขาสัตว์และโบราณวัตถุจำนวนมากซึ่งมีอายุตั้งแต่ 16 ล้านปีถึง 100 ปีมาแล้ว โดยเฉพาะเขาของสัตว์กินพืชและสัตว์กินเนื้อที่พบในประเทศไทย ชิ้นที่โดดเด่นที่สุดชิ้นหนึ่งคือ งาช้างแมมมอทยาว 2 เมตร พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ตำบลบางเขน
แก้- ตำหนักประถม ตั้งอยู่ที่ซอยงามวงศ์วาน 2 (อัคนี) ถนนงามวงศ์วาน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2462 ในรูปแบบผสมผสานระหว่างศิลปะไทยกับศิลปะยุโรป เดิมตั้งอยู่ที่ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร (บริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่าในปัจจุบัน) โดยเป็นตำหนักหนึ่งในวังเพ็ชรบูรณ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสองค์ที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2527 จึงได้รื้อถอนและชะลอบางส่วนมาปลูกไว้ในรูปแบบเดิมที่นนทบุรี ในบริเวณเดียวกันยังมีตำหนักใหม่ซึ่งเป็นที่วางพิณฝรั่ง (harp) อายุกว่า 100 ปีของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ ด้วย (ผู้สนใจเข้าชมต้องติดต่อล่วงหน้า)
- พิพิธภัณฑ์และศูนย์ฝึกอบรมการแพทย์แผนไทย ตั้งอยู่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข ซอยติวานนท์ 4 (โรงพยาบาลศรีธัญญา) ถนนติวานนท์ ตัวพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารทรงไทย 3 ชั้นซึ่งออกแบบโดยศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ โดยชั้นที่ 2 แบ่งออกเป็น 7 ห้อง ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ กัน เช่น ประวัติและวิวัฒนาการของการแพทย์แผนไทย ปรัชญาการแพทย์แผนไทย และเครื่องยาแผนไทยต่าง ๆ (ผู้สนใจเข้าชมต้องติดต่อล่วงหน้า)
ตำบลท่าทราย
แก้- วัดตำหนักใต้ ตั้งอยู่ที่ซอยนนทบุรี 27 (วัดตำหนักใต้) ถนนสนามบินน้ำ ตามตำนานเล่าว่าก่อนที่จะมีการสร้างวัด พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นพลับพลาที่ประทับชั่วคราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาก่อน สันนิษฐานว่าพระวิหารและหอระฆังสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2367 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
- วัดชมภูเวก ตั้งอยู่ที่ซอยนนทบุรี 33 (วัดชมภูเวก) ถนนสนามบินน้ำ มีชื่อเดิมว่า "วัดชมภูวิเวก" เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีความเงียบสงบมาก ชาวมอญเป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2300 (สมัยอยุธยาตอนปลาย) ปัจจุบันยังคงมีจิตรกรรมฝาผนังพระวิหารและพระอุโบสถที่งดงามหลงเหลืออยู่ รวมทั้งซึ่งเป็นหมู่เจดีย์แบบมอญ (เรียกว่า "พระมุเตา") ที่สร้างโดยพระสงฆ์มอญเมื่อปี พ.ศ. 2460
ตำบลบางไผ่
แก้- วัดสังฆทาน ตั้งอยู่ที่ซอยวัดสังฆทานแยกถนนนครอินทร์ฝั่งขาออก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย มี "หลวงพ่อโต" พระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธานประดิษฐานในพระอุโบสถของวัด
- วัดโชติการาม ตั้งอยู่ที่ถนนบางไผ่พัฒนาแยกถนนนครอินทร์ฝั่งขาออก มีชื่อเดิมว่า "วัดสามจีน" สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2350 สิ่งที่สวยงามที่สุดในวัดนี้คือ พระวิหารทรงโรงที่มีจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน โดยเขียนภาพตั้งแต่พื้นขึ้นไปจรดเพดาน นอกจากนี้ยังมีพระอุโบสถทรงเรือสำเภาแบบอยุธยาตอนปลายอีกด้วย
ตำบลบางศรีเมือง
แก้- วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ฯ 4 ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นโทที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2390 เพื่ออุทิศถวายแด่พระอัยกา พระอัยกี และสมเด็จพระราชชนนี (แต่มาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระอารามแห่งนี้แสดงให้เห็นถึงพระราชนิยมในพระองค์ด้วย กล่าวคือ มีการผสมผสานรูปแบบศิลปะจีนไว้ในการก่อสร้าง เช่น พระอุโบสถหลังคามุงกระเบื้องแบบจีน โดยมีจิตรกรรมฝาผนัง บานประตูและหน้าต่างเขียนลายทองรดน้ำ ส่วนพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองแดงทั้งองค์ มีพระนามว่า "พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา" ประดิษฐานอยู่ภายใน นอกจากนี้ยังมีอาคารที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น พระวิหารหลวง (วิหารพระศิลาขาว) พระเจดีย์ทรงกลม (แบบลังกา) ศาลาการเปรียญหลวง กำแพงใบเสมาและป้อมปราการทั้งสี่มุมรอบวัด
- อุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษก ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ฯ 4 ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ฯ ใกล้วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ซึ่งอุทยานแห่งนี้นอกจากจะเป็นสวนสาธารณะที่มีทั้งร่มเงาและความเงียบสงบให้ผู้ที่ต้องการพักผ่อนแล้ว ยังมีศูนย์ศึกษาธรรมชาติ พืชพรรณ สัตว์ปีก และสัตว์น้ำนานาชนิดอีกด้วย อาคารที่โดดเด่นที่สุดคือ "วิมานสราญนวมินทร์" เป็นอาคารพลับพลาทรงไทยตั้งอยู่กลางสระน้ำของอุทยาน
ตำบลบางกร่าง
แก้- วัดปราสาท ตั้งอยู่ในซอยบางกร่าง 57 (วัดปราสาท) ถนนบางกรวย-ไทรน้อย สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จุดเด่นอยู่ที่ผนังพระอุโบสถ ตกแต่งด้วยจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายโดยฝีมือของสกุลช่างศิลปะนนทบุรี ในปัจจุบันถือว่าเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดซึ่งปัจจุบันเลือนหายไปมากแต่ก็ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างถูกวิธี นอกจากนี้ ที่ศาลาการเปรียญยังมีธรรมาสน์ที่มีลวดลายสวยงาม มีอายุตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายเช่นเดียวกัน ดังนั้น วัดแห่งนี้จึงคุ้มค่าต่อการเข้าเยี่ยมชมและการศึกษาทางโบราณคดีอย่างยิ่ง
ตำบลบางรักน้อย
แก้- ศูนย์เกษตรบางรักน้อย เป็นสวนผลไม้พื้นเมืองซึ่งยังคงรักษารูปแบบการปลูกและการผลิตแบบดั้งเดิมไว้ เช่น ทุเรียน มังคุด และมะม่วง เปิดให้เข้าชมและชิมผลไม้ได้โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที-1 ชั่วโมง
อ้างอิง
แก้- ↑ รัตนา ศิริพูล. นนทบุรี. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด, 2543, หน้า 49.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 115 (พิเศษ 34 ง): 76–103. May 6, 1998. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-13. สืบค้นเมื่อ 2012-09-09.
- ↑ 3.0 3.1 หวน พินธุพันธ์. ประวัติศาสตร์เมืองนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2547, หน้า 17.
- ↑ "ประกาศกระทรวงนครบาล เรื่องเปลี่ยนนามตำบลบางบัวทอง เปนตำบลอ้อมเกร็ด ตำบลพระภิมลเปนตำบลบางบัวทอง แลโอนท้องที่ตำบลบางพลับ ตำบลอ้อมเกร็ด ตำบลท่าอิฐ ไปรวมในท้องที่อำเภอปากเกร็ด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 37 (0 ก): 434. 13 มีนาคม 2463.
- ↑ "ประกาศกระทรวงนครบาล เรื่อง ตั้งอำเภอบางแม่นาง จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 38 (0 ก): 23–24. 24 เมษายน 2464.
- ↑ กระทรวงมหาดไทย. ทำเนียบท้องที่ หัวเมือง กระทรวงมหาดไทย พระพุทธศักราช ๒๔๗๐. พระนคร: โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2471, หน้า 11.
- ↑ "พระบรมราชโองการ ประกาศ โอนตำบลลาดโตนด อำเภอนนทบุรี และตำบลทุ่งสองห้อง อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มาขึ้นอำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 49 (0 ก): 475–476. 26 ตุลาคม 2475.
- ↑ "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตต์จังหวัด พุทธศักราช ๒๔๗๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 54 (0 ก): 40–54. 1 เมษายน 2480. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-16. สืบค้นเมื่อ 2021-05-31.
- ↑ กรมแผนที่ทหาร. กองบัญชาการทหารสูงสุด. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2431–2474 = Maps of Bangkok, A.D. 1888–1931. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: กรมแผนที่ทหาร, 2542.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัด และอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช ๒๔๘๑" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 (0 ก): 658–666. 14 พฤศจิกายน 2481. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2008-05-16.
- ↑ "พระราชบัญญัติยุบและรวมการปกครองบางจังหวัด พุทธศักราช ๒๔๘๕" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 59 (77 ก): 2447–2449. 10 ธันวาคม 2485. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2021-05-31.
- ↑ "พระราชกริสดีกาเปลี่ยนชื่ออำเพอบางแห่ง พุทธสักราช ๒๔๘๖" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 60 (3 ก): 103–105. 12 มกราคม 2486.
- ↑ "พระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พุทธศักราช ๒๔๘๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 63 (29 ก): 315–317. 9 พฤษภาคม 2489. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-14.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่ออำเภอบางแห่ง พ.ศ. ๒๔๘๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 63 (63 ก): 486–488. 24 กันยายน 2498. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-14.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 64 (26 ง): 1114–1433. 10 มิถุนายน 2490. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-14.
- ↑ "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
บรรณานุกรม
แก้- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. "ข้อมูลท่องเที่ยวจังหวัดนนทบุรี." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.tat.or.th/province.asp?prov_id=12 เก็บถาวร 2007-05-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 2548. สืบค้น 14 พฤษภาคม 2551.
- คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2543.
- รัตนา ศิริพูล. นนทบุรี. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด, 2543.
- หวน พินธุพันธ์. ประวัติศาสตร์เมืองนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2547.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้13°51′44″N 100°30′48″E / 13.862222°N 100.513333°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ อำเภอเมืองนนทบุรี
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย